ดีไซน์แค่งาน แต่ไม่ดีไซน์ความรับผิดชอบต่อสังคม!! ชาวกรุงบ่นระงม รถติดเป็นกิโลฯ เพราะ “ช่างชุ่ย” แหล่งฮิปแห่งใหม่ย่านฝั่งธนฯ ครอบครองพื้นที่ออกจะกว้างใหญ่ แต่กันที่ไว้ให้ “ที่จอดรถ” กระติ๊ดเดียว เล่นเอาคนมางานต้องจอดรถกินเลนถนน จนเดือดร้อนกันไปทั่ว!! ขู่หนักถ้าไม่รีบแก้ไข ระวังจะเจ๊งไม่รู้ตัว ซ้ำรุมถามด้วยความสงสัย ที่เปิดโครงการขึ้นได้ ทำ EIA ศึกษาผลกระทบต่อชุมชนเรื่อง “การจราจร” บ้างหรือยัง!!?
พร้อมแก้ไขความชุ่ย! วอนชาวกรุงให้โอกาส
[ถ.สิรินธร เป็นอัมพาต เพราะ "ช่างชุ่ย"]
“เรียน ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน... ตามที่ ช่างชุ่ย ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันศุกร์ที่ 23 มิ.ย. เป็นต้นมา และมีผู้มีเข้าชมเป็นจำนวนมาก ทำให้ส่งผลต่อการจราจรในพื้นที่โดยรอบ
ช่างชุ่ย ใคร่ขอแสดงความเสียใจ และขออภัยในความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น และขอเรียนให้ท่านทราบว่า เราจะพยายามทุกวิถีทางในการแก้ไขเพื่อบรรเทาสถานการณ์ให้ดีขึ้นโดยเร็วที่สุด และขอน้อมรับผิดในทุกกรณี
ขอขอบคุณทุกความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และคำแนะนำ และเราสัญญาว่าจะแก้ไขทุกปัญหาเพื่อให้ทุกท่านได้รับผลกระทบน้อยที่สุด”
นี่คือความเคลื่อนไหวล่าสุดจากแฟนเพจ “ช่างชุ่ย ChangChui” หลังสร้างปรากฏการณ์การจราจรเป็นอัมพาต เพราะไม่มีการบริหารจัดการเรื่อง “ที่จอดรถ” อย่างเพียงพอ เป็นเหตุให้ผู้ใช้รถใช้ถนนละแวกนั้น ต่างร่วมกันก่นด่า “โครงการบนเนื้อที่ 11 ไร่” แห่งใหม่บนถนนสิรินธร แขวงบางพลัด แห่งนี้จนไม่เหลือชิ้นดี
โดยเฉพาะคำแนะนำของทางทีมงาน ที่โพสต์เอาไว้ว่า “มาช่างชุ่ย Taxi ดีที่สุด!” แทนที่จะทำให้หลายๆ คนใจเย็นลง กลับทำให้ถูกมองว่าโบ้ยความรับผิดชอบยิ่งไปกว่าเดิมเสียอีก และบรรทัดต่อจากนี้คือความเดือดส่วนหนึ่งที่ฝากเอาไว้บนโลกออนไลน์
"ชุ่ย! คิดวิธีแก้ปัญหาได้แค่เนี้ยะ รถมันติดคุณรู้มั้ย!? กีดขวางการจราจรไปหมด ไปห้ามคนเอารถมาได้เหรอ? สร้างอลังการ แต่ดันแก้ปัญหาที่จอดรถแค่เนี้ยะ มาบอกให้คนไปแท็กซี่ คิดชุ่ยๆ โครงการคุณน่ะมันชุ่ย! ชาวบ้านเขาเดือดร้อน รถติดแม่งตั้งแต่บ่าย! คนใช้ถนนคนอื่นต้องทำไง เปลี่ยนเส้นทางเหรอ เพี้ยน! ชุ่ยมาก!! ถนนสิรินธรติดบรรลัย!! คุณแก้ปัญหาด้วยการบอกให้นั่งแท็กซี่ไป ใช้ติ่งอะไรคิด!!"
"จอดกันสะท้านโลกมาก ยึดถนนหลวงเป็นที่จอดกันอย่างหน้าด้านๆ คนใช้ถนนส่วนรวมต้องมาลำบากเพราะความเห็นแก่ตัวของพวกหน้าด้านได้มามาเที่ยว ถ่ายรูปลงโซเชียลเป็นพอ ใครจะเดือดร้อนก็ช่าง อนาถใจประเทศไทยทุกวันนี้"
"เส้นจรัญฯ ทำรถไฟฟ้า รถติดถนนพัง เส้นบรมฯ ติดหน้าเซ็นทรัลฯ คือปกติอยู่แล้ว สิริธรตอนนี้เจอช่างชุ่ย คือติดบรรลัยค่ะ มีปัญญาสร้างกัน แต่ไม่มีปัญญาแก้ไขปัญหาการจราจรก็ไม่ไหวนะคะ #thailandonly"
[แหล่งฮิปที่ถูกประณามว่า สร้างความเดือดร้อนให้สังคมด้านการจราจร]
"หาทางแก้รถติด ที่เกิดจากการจอดไม่เป็นที่ดีกว่านะครับ เรื่องที่จะเดินทางแบบไหนสะดวกกว่า ให้ลูกค้าเป็นคนคิด ส่วนคุณมีหน้าที่ปรับปรุงในจุดที่สร้างผลเสียต่อชุมชน-สังคมนะครับ เนื้อที่ 11ไร่ ใหญ่โต แต่โอ้โหทำรถติด (ติดเพราะคนไปเยอะไม่ว่า ดันติดเพราะสันดานของคนที่จอดรถไม่เป็นที่)"
เกี่ยวกับประเด็นร้อนนี้ ทางทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้ลงพื้นที่ไปหาคำตอบจากทางโครงการ จึงได้ความคืบหน้าล่าสุดมาจาก “แชมป์” ฝ่าย Marketing ของ “ช่างชุ่ย” กลับมาว่ารับรู้ทุกเสียงตำหนิและกำลังพยายามหาทางแก้ไขที่ดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่อง “ที่จอดรถ” ที่ได้จัดเตรียมเอาไว้เพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว
"จากปัญหาเรื่องรถติด ทางเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเลย คุยกับทางตำรวจตลอด หารือกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง ทั้งเรื่องปัญหาที่จอดรถ หรือเรื่องการจราจรติดขัด ซึ่งได้คำตอบว่าทางตำรวจทำงานหนักมาก ตลอดวันที่ 23-25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนรถที่จอดล้ำเข้ามาในเลน ทางตำรวจก็มาเคลียร์ออกให้หมดแล้ว และให้ใบสั่งล็อกล้อไป แต่เนื่องจากแถวมันยาวมาก คนเลยเข้าใจผิดว่าทางเราให้จอดรถกันตรงนั้นหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลย
["ลิ้ม-สมชัย ส่งวัฒนา" เจ้าของ "ช่างชุ่ย"]
ทาง “คุณลิ้ม (สมชัย ส่งวัฒนา เจ้าของช่างชุ่ย)” กับทีมผม ทำงานกันทุกวันเลยครับ เราแก้ปัญหากันแบบเรียลไทม์เลย ตอนนี้ก็กำลังดูแลเรื่องการจราจรและหาพื้นที่เพิ่มเรื่องที่จอดรถ เพื่อรองรับคนในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจากที่คำนวณแล้ว คนที่มาเยี่ยมชมที่นี่ วันจันทร์-พฤหัสฯ จะไม่เยอะเท่าช่วง ศุกร์-อาทิตย์ เราก็เลยจะมีเวลาในการจัดการ แต่ศุกร์-อาทิตย์ที่จะถึงนี้ (30 มิ.ย. - 2 ก.ค.) ผมมั่นใจว่าเส้นทางเดินรถทุกอย่างจะลื่นไหลแน่นอน
จริงๆ แล้วเรื่องที่จอดรถ เราวางแผนเอาไว้ก่อนอยู่แล้ว เพื่อให้เพียงพอต่อคนที่เข้ามา แต่พูดจริงๆ ครับว่า เราไม่คิดว่าคนจะมากันถึง 15,000 คนในวันแรก พอมีปัญหา เราก็รณรงค์ให้เดินทางกันมาโดยรถโดยสารสาธารณะ ทั้งรถเมล์, เรือ หรือแท็กซี่
ขอชี้แจงว่าทางเราเตรียมที่จอดรถเอาไว้ 1,000 คัน ที่จอดรถของเราจะเป็นแนวยาว เลียบทางรถไฟบางบำหรุ แล้วก็ตรงสถานีรถไฟบางบำหรุอีกจุดหนึ่ง ซึ่งทางเรามีรถ Shuttle Bus คอยหมุนวนรับส่งคนมาด้วย (แต่ก็ยังไม่เพียงพอ)
ส่วนเรื่องการแก้ปัญหาของเราหลังเกิดกระแสทั้งหมดนี้ ประการแรกคือจัดการเรื่อง Traffic ก่อน เนื่องจากตรงบางกรวย การจราจรเป็นทางเดียว ทำให้รถติดมาก เป็นคอขวด เราก็คุยกับทางตำรวจแล้วว่าจะแบ่งทางเข้า กระจายทางไหนได้บ้าง
ประการที่สองคือ เราจะเพิ่มที่จอดครับ ตอนนี้ได้ติดต่อเช่าพื้นที่จอดอีกหลายจุดของเอกชนเอาไว้แล้ว เช่น ทางสายใต้เก่า, ตั้งฮั่วเส็ง, ปั๊มน้ำมันเก่า (จอดได้ 80-100 คัน) และร้านยกยอ (70-100 คัน) ด้วยครับ คือรวมแล้ว น่าจะจอดได้ทั้งหมด 2,000 คันครับ"
วางแผนแค่ไหน? “ที่จอดรถ” เพียงพอไหมถามใจดู!!
[ลูกศรสีเหลือง คือสิ่งที่โลกออนไลน์พยายามประจาน สภาพการจอดรถที่ไร้ความรับผิดชอบเพราะ "ช่างชุ่ย"]
“อยากทราบว่าก่อนจะเริ่มทำธุรกิจ มีการทำ EIA (Environmental Impact Assessment) ไหมครับ ว่าจะกระทบกับพื้นที่ใกล้เคียงอย่างไรบ้าง? หน่วยงานรัฐปล่อยให้สร้างโดยไม่ทำอะไร หรือถ้าทำแล้ว EIA นี้ผ่านมาได้อย่างไร? คนในพื้นที่ได้แสดงความคิดเห็นกับ EIA หรือไม่?”
ข้อความข้างต้นนั้น คือความคิดเห็นยอดนิยมที่คนโหวตให้มากที่สุด ซึ่งฝากเอาไว้ใต้โพสต์ชี้แจงและขอโอกาสจากแฟนเพจ “ช่างชุ่ย ChangChui” และเพื่อตอบเรื่องที่หลายคนคาอกคาใจ ว่าการสร้างแหล่งฮิปเชิงพาณิชย์แห่งนี้ มี “การออกแบบเพื่อรับผิดชอบต่อเรื่องสังคม” มากน้อยแค่ไหน ทางทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงขอความรู้ไปยังสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญอย่าง “สราวุธ กาญจนพิมาย” จึงได้คำตอบที่น่าจะพอคลายข้อสงสัยให้แก่หลายๆ คนได้ดังต่อไปนี้
“ปกติแล้ว ก่อนจะสร้างอะไรขึ้นมาบนพื้นที่ไหน ต้องเสนอแผนการจราจร ต้องติดต่อที่หน่วยงานรัฐเพื่อประสานให้ช่วยเหลือ เวลาจะจัดอีเวนต์อะไรขึ้นมา แต่ถ้าจะมีผลในระยะยาว ก็ต้องมีการทำแบบสำรวจให้คนในพื้นที่แสดงความคิดเห็นกันก่อนจะก่อสร้างอาคาร หรือที่เรียกว่า "EIA" ดูผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ถ้าเป็นเรื่องสังคม ก็ดูว่ากระทบเรื่องเสียงดังหรือการจราจรมากน้อยแค่ไหน
ผมไม่ทราบรายละเอียดว่าทางโครงการ เขาเตรียมแก้ไขปัญหาเรื่องสิ่งปลูกสร้างถาวรเพื่อรองรับคนที่จะเข้ามาใช้บริการพื้นที่เอาไว้แค่ไหน หรือเรื่องกิจกรรมที่เกิดขึ้น มันเป็นกิจกรรมถาวรและชั่วคราว ถ้าทางโครงการทราบรายละเอียดครบถ้วน รู้จุดบอดแล้ว ยังปล่อยให้เกิดปัญหา ก็ถือเป็นเรื่องน่าตำหนิ แต่ถ้าเขารู้ไม่ครบ หรือรู้ครบแต่ยังบริหารจัดการไม่ดี ก็ต้องไปแก้ไขตรงนั้น ก็คงจะต้องให้เวลาเขาปรับตัว
ก็คงต้องให้พิจารณาดูว่า โครงการที่เขาทำ มันมีประโยชน์ต่อชุมชนบ้างหรือเปล่า คนละแวกนั้นต้องการแค่ไหน เพราะการจะตั้งโครงการอะไรขึ้นมาสักอย่าง ก็ต้องสำรวจเรื่องเหล่านี้เอาไว้บ้างแล้ว นอกนั้นก็เป็นเรื่องของการลงทุน แต่บางครั้งอาจจะมองพลาดไปก็มี แต่ถ้าคิดมาดี เตรียมการดี การตลาดดี การจัดการดี ทุกอย่างก็จะเดินหน้าไปด้วยกันได้
[เพจตรวจสอบเส้นทางจราจร ถึงกับแจ้งเตือนผู้ติดตาม]
ส่วนเรื่อง “ที่จอดรถ” ว่าพื้นที่ 11 ไร่ของโครงการ ควรจะกันเป็นที่จอดรถกี่เปอร์เซ็นต์ คงจะคำนวณแบบนั้นไม่ได้ครับ ต้องดูว่าเขามีการใช้สอยพื้นที่แต่ละส่วนยังไงบ้าง ถ้ามีโรงหนัง-โรงละคร อาจจะคำนวณว่าต้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 0.9 ตร.ม ต่อคน เพราะฉะนั้น จำนวนคนที่จะมาใช้ได้ก็จะถูกจำกัดจากตัวพื้นที่ แต่ถ้าเป็นกิจกรรมอื่นๆ ที่ต้องการจำนวนคนหลวมๆ กว่านั้น ก็ต้องลดจำนวนคนลงไปอีก ต้องดูรายละเอียดว่าโครงการของเขาแบ่งสัดส่วนใช้สอยเอาไว้ยังไงบ้าง
ถ้ามีข้อมูลทั้งหมดนี้ เราจะสามารถเอาไปเข้าโปรแกรม หาคำตอบตัวเลขที่เหมาะสมออกมาได้ สมมติว่าพื้นที่นั้นรองรับจำนวนคนได้ 1,000 คน โปรแกรมอาจจะคำนวณออกมาว่า ต้องมีพื้นที่จอดรถอย่างน้อยๆ 200 คัน เพราะฉะนั้น ต้องรู้สัดส่วนทุกอย่างในพื้นที่แน่ชัดก่อนครับ ถึงจะวิเคราะห์กันออกมาเป็นตัวเลขได้จริงๆ
แต่ถ้ามีคนที่เดือดร้อนจากเหตุการณ์นี้มากจริงๆ คุณสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานได้ก่อนเลยครับ ให้ร้องไปที่ "คณะกรรมการควบคุมอาคาร" หรือ "สำนักงานเขต" ให้เข้ามาช่วยดูว่าสิ่งที่โครงการนี้ทำอยู่ มันถูกต้องตามกฎหมายไหม แล้วเดี๋ยวเจ้าหน้าที่เขตเขาจะลงมาไล่ดูเองว่า สิ่งที่ทำได้มาตรฐานไปตามที่ระบุหรือเปล่า
ส่วนเรื่องระยะเวลาในการแก้ไข ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาต้องแก้ไขอะไร ถ้าต้องแก้ไขเรื่องการบริหารจัดการ อาจจะทำได้เลย อาทิตย์เดียวอาจจะรู้ผลแล้ว แต่ถ้าคำตอบออกมาว่า เขาจำเป็นต้องก่อสร้างอาคารจอดรถเพิ่ม ให้ได้พื้นที่เพิ่มอีกหลายร้อยคัน เราก็ต้องให้เวลาเขาก่อสร้างตามจริง ระหว่างนี้ก็ดูว่าจะจัดการยังไง คนที่ไปอาจจะต้องนั่งแท็กซี่ตามที่เขาบอกหรือเปล่า เดี๋ยวถ้ามันดีจริง คนก็อยากไปครับ แต่ถ้าผลออกมามันไม่ดี เดี๋ยวก็เจ๊งไปเอง”
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพบางส่วน: แฟนเพจ “ช่างชุ่ย ChangChui”
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754