xs
xsm
sm
md
lg

จริงแค่ไหน? เล่นเกมต่อสู้ออนไลน์ เซลล์สมองตายไม่รู้ตัว!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อันตราย! “โมบ้า” ประเภทเกมฮิตออนไลน์ ทำลายสมองส่วนหน้า เสี่ยงเด็กเสพติดจนเข้าข่ายป่วยทางจิต!! หลังอธิบดีกรมสุขภาพจิตปล่อยวาทะนี้ออกไป คอเกมก็ส่งแรงต้านกลับมาระลอกใหญ่ ฉะแหลกเบื่อการโยนขี้ให้เกม จริงแค่ไหนเอาผลการวิจัยออกมาดู!!


 

เกมแบบไหน ทำลายสมองส่วนหน้า?

“เกมลักษณะโมบ้า (Multiple Online Battle Arena : MOBA) นี้มีอันตรายต่อสมอง ที่บริเวณสมองส่วนหน้าของเด็กและวัยรุ่น ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดวิเคราะห์ สมาธิ ความจำ และการตัดสินใจด้วยเหตุผล มีผลต่อการควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมโดยตรง
 
สมองส่วนนี้จะทำงานลดลง ในขณะที่สมองส่วนอยาก หรือที่เรียกว่า “ระบบลิมบิก” จะทำงานเพิ่มขึ้น เมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยความอยากความสนุกตื่นเต้นความท้าทาย จากการต่อสู้และการได้คะแนนหรือชัยชนะในเกมบ่อยๆ ซ้ำๆ ต่อเนื่องนานๆ จะนำไปสู่วงจรสมองติดเกมในที่สุด”
 
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้ยกตัวอย่างเอาไว้ชัดเจนว่า ประเภทเกมออนไลน์ยอดฮิต “โมบ้า (Multiple Online Battle Arena : MOBA)” คือเกมต่อสู้ออนไลน์เสมือนจริง ที่เหล่าผู้ปกครองควรเฝ้าระวัง และคอยกันบุตรหลานของตัวเองให้อยู่ห่างๆ หรือไม่ก็เล่นวันละไม่เกิน 1 ชั่วโมงเข้าไว้ เพราะถ้ามากไปกว่านั้น อาจเสี่ยงต่อการถูกทำลายสมอง และปรับพฤติกรรมให้เสี่ยงเป็น “เด็กติดเกม” ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

“เรื่องที่น่ากังวลคือ ขณะนี้ประชาชนไทยยังเข้าใจผิดคิดว่า เกมบนสมาร์ทโฟน, เกมออนไลน์ หรือการแข่งขันเกมต่อสู้ออนไลน์ คือของเล่นของเด็กทุกวัย และที่น่าวิตกยิ่งไปกว่านั้น ยังเข้าใจผิดว่าการแข่งขันเกมต่อสู้ออนไลน์ในลักษณะที่รู้จักกันว่า “โมบ้า” เป็น “กีฬาทางสมอง (E-Sports)" แต่กลับไม่ใช่”

ผู้ต้องหาอย่าง “เกมโมบ้า” ที่ถูกเพ่งเล็งอยู่ขณะนี้ เป็นเกมที่มีลักษณะจำลองการต่อสู้ในโลกเสมือนจริง โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายจะประกอบด้วยผู้เล่นหลายคนในทีม แต่ละคนจะต้องควบคุมฮีโร่ของตัวเองให้ช่วยต่อสู้ฝ่าด่านต่อไปให้ได้เรื่อยๆ

ด้วยลักษณะการร่วมเล่นเป็นทีม และต้องวางกลยุทธ์การบุกฝ่ายตรงข้ามเช่นนี้ หลายคนสงสัยว่ามันไปมีผลร้าย “ทำลายสมองส่วนหน้า” ได้อย่างไรกัน? เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ก็เปิดเผยงานวิจัยฉบับหนึ่งเอาไว้เช่นกัน


“สมองของเด็กจะมีขนาดใหญ่ที่สุดตอนอายุ 12-15 ปี จากนั้นเซลล์สมองบางส่วนจะลดลง เนื่องจากถูกกำจัดโดยเส้นประสาทและสมอง ถ้าไม่มีการคิดลุ้นหรือเสี่ยงตัดสินใจตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป เซลล์สมองประเภทใช้เรียน อ่าน จำ คิดวิเคราะห์ ก็จะถูกสลายทิ้งไป

แต่ถ้าสมองถูกกระตุ้นด้วย “เกม” หรือ “การพนัน” จะพบว่าสมองส่วนดังกล่าวถูกฝึกฝน ส่งผลให้มีความว่องไวในการทำงานก็จริง แต่กลับส่งผลร้ายในอนาคต เพราะจะทำให้ “สมองสูญเสีย” ความสามารถในการควบคุมตนเอง และการตัดสินใจในระยะยาว ส่งผลให้เด็กคนนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดวุฒิภาวะในอนาคต

ทางที่ดีจึงควรห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบดูโทรทัศน์ เพราะอาจทำลายเซลล์และเนื้อสมองบางส่วน แล้วก็ห้ามเล่นเกมเกินวันละ 1 ชั่วโมงในคนทุกช่วงอายุ เพราะอาจทำลายสมองและความสามารถในการยับยั้งชั่งใจได้”

โดยปกติแล้ว สมองของคนเราแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ สมองส่วนหลัง, สมองส่วนกลาง และสมองส่วนหน้า ซึ่งแพทย์ชี้ว่า “สมองส่วนหน้า” คือส่วนที่จะถูกทำลายถ้าเล่นเกมต่อสู้ในลักษณะนี้

ถามว่าสมองส่วนนี้มีความสำคัญอย่างไร มันคือส่วนควบคุมเกี่ยวกับเรื่องการเรียนรู้และความทรงจำ ซึ่งปัจจัยที่จะมีผลต่อระบบการทำงานเหล่านั้น ก็คือเรื่องอารมณ์, สภาพร่างกาย และสภาพสติปัญญา

ตามตำราวิชาการกล่าวไว้ว่า การทำงานของสมองคนเราจะถูกทำลาย ถ้าหากต้องตกอยู่ในภาวะเครียดตลอดเวลา เพราะร่างกายจะสั่งให้หลั่งสาร “คอร์ทิซอล (cortisol)” ออกมา ซึ่งถ้ามีสารชนิดนี้อยู่มากเกินไปเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้ระบบการทำงานของสมองถูกยับยั้ง เพราะถูกสารดังกล่าวเข้าไปทำลายใยประสาท และทำลายส่วนสนองที่เก็บหน่วยความจำในนั้นด้วย

“ถ้าร่างกายเกิดภาวะเครียดมากๆ เป็นประจำทุกวัน จะเป็นสาเหตุที่เกิดการทำลายเซลล์ประสาท (Khalsa, 1997)” ดังนั้น คนที่มีความเสี่ยงที่สมองจะถูกทำลายจากการเล่นเกมมากที่สุด น่าจะเป็นกลุ่มคอเกมที่เล่นกันอย่างเอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตาย จนทำให้เกิดความเครียดในความบันเทิงแบบไม่รู้ตัว


 

เด็กเล่นเกม vs เด็กติดเกม

“อาการแสดงของพฤติกรรมเสพติด จะเริ่มจากความอยากกระหายที่จะเล่นเกม ใช้เวลาเล่นนานขึ้น เมื่อไม่ได้เล่นเกมจะมีลักษณะอาการถอนคือ มีอารมณ์หงุดหงิด วิตกกังวล กระวนกระวาย จนถึงขั้นพฤติกรรมก้าวร้าว และเสียหน้าที่ในชีวิตประจำวัน เช่น ผลการเรียนแย่ลง ขาดสมาธิในการเรียน-การทำงาน แยกตัวไม่เข้าสังคม และสัมพันธภาพในครอบครัวแย่ลง จึงไม่แนะนำให้เล่นเกมชนิดนี้”

อธิบดีกรมสุขภาพจิตยังคงยืนยันหนักแน่นว่า ไม่สนับสนุนให้ลูกหลานของครอบครัวไหนเล่นเกมในลักษณะนี้ เพราะเสี่ยงต่ออาการ “เสพติดเกม” จนอาจส่งผลให้มีอาการทางจิตได้ในที่สุด ซึ่งขณะนี้ มีผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 53 คนแล้ว ภายใน 3 เดือน (1 ม.ค.-31 มี.ค.60) ซึ่งถือเป็นสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 เท่าตัวในรอบ 3 ปี

เด็กกลุ่มนี้จะมีโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น โรคดื้อต่อต้าน โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคกล้ามเนื้อตากระตุก โรคบกพร่องทักษะการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังพบปัญหาพฤติกรรมโกหก ขโมยเงิน เล่นการพนัน หนีเรียน ไม่ยอมไปโรงเรียน และหนีออกจากบ้าน

ส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 14 - 16 ปี และมีแนวโน้มว่าอายุจะน้อยลงเรื่อยๆ ด้วย โดยน้อยที่สุดขณะนี้คือเด็ก 5 ชวบ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยด้วย นับว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก

สอดคล้องกับความเป็นห่วงของ พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ที่อธิบายอาการของเด็กติดเกมเอาไว้ตามนี้

“เด็กจะใช้เวลาหมกมุ่นอย่างมากกับการเล่นเกม-อินเทอร์เน็ต จนเกิดการกระหายโอกาสในการเข้าถึง เด็กใช้เวลาเล่นนานกว่า 2 ชั่วโมง และมีอาการถอนคือ อาการหงุดหงิด กระวนกระวาย อาละวาดเมื่อบอกให้หยุดเล่นเกม เด็กอาจมีอาการแตกต่างกันเช่นบางคนแค่หงุดหงิด บางคนรุนแรงทำลายข้าวของ ทำร้ายพ่อแม่ ทำร้ายตัวเอง ขาดสมาธิการเรียน โดดเรียน ไม่ยอมไปโรงเรียน บางคนอดนอน ขโมยเงิน ท้อแท้สิ้นหวังในโลกความเป็นจริง


ลองมองอีกมุมหนึ่ง จากสายตาของเจ้าของเพจดังซึ่งเป็น “คอเกม” และมีศักดิ์เป็นแพทย์เหมือนๆ กันอย่าง “จ่าพิชิต” ผู้ดูแลแฟนเพจ “Drama-addict” ดูบ้าง เขามองว่าเด็กทุกคนที่เล่นเกม ไม่จำเป็นต้องกลายเป็น “เด็กติดเกม” หรือผู้ป่วย “จิตเวช” อย่างที่ถูกกล่าวหา

“สำหรับพ่อแม่ที่ดูข่าวเกมที่สื่อประโคมช่วงนี้แล้วกังวลว่า ไอ้โมบ้านี่มันเกมอะไรวะ เล่นแล้วลูกจะเสียผู้เสียคนไหมเนี่ย อธิบายง่ายๆ ครับ มันคือเกม Multi-Player Online Battle Arena ที่แบ่งเป็น 2 ทีม แต่ละทีมมีฮีโร่จำนวนนึง ส่วนมาก 5 คน แล้วก็แบ่งแผนที่เป็นสองฝั่ง วางแผนรุกรับกัน ใครฐานแตกก็แพ้ไป

เอาง่ายๆ มันก็คือเกมวางแผนธรรมดาๆ น่ะครับ แต่มันฮิต คนเล่นเยอะ แถมหลังๆ มีให้เล่นทั้งในคอมพ์, ในคอนโซล, ในมือถือ, ในแท็บเล็ต เล่นที่ไหนก็ได้ ถ้าเห็นลูกหลานเล่นเกมโมบ้าอยู่ ไม่ต้องตกใจ ลูกหลานคุณไม่เสียผู้เสียคนติดเกมเพราะมันหรอก

แต่ถ้าพื้นฐานครอบครัวไม่ดี ชีวิตไม่มีความสุข อยู่ที่บ้าน-อยู่ที่โรงเรียน ไม่มีใครยอมรับเขา แต่เขาเล่นเกมแล้วมีความสุข นั่นล่ะ เด็กถึงจะมีโอกาสติดเกมโมบ้า แต่ถ้าเป็นงั้น สาเหตุมันอยู่ที่เกมโมบ้าไหม? ฝากให้คิดกัน


โปรดอย่าเหมารวมว่า “เกม” ต้องเป็น “ผู้ร้าย” และโปรดอย่ามองอย่างผิวเผินว่า “เด็กเล่นเกม” มีความหมายเดียวกับ “เด็กติดเกม” มันคือใจความสำคัญที่คนเล่นเกม และยังมีชีวิตที่ดี มีความรับผิดชอบในชีวิตตัวเองหลายๆ รายขอฝากเอาไว้

ที่บอกว่าถ้าไม่ได้เล่นโมบ้าแล้วหงุดหงิดนี่ ไม่ใช่เรื่องจริงครับ กลับกันต่างหาก เล่นโมบ้านั่นแหละ ตัวทำหงุดหงิดหัวร้อน เจอคนเล่นไม่เป็น แจกหัวร้อน จากใจผู้เล่นจริง จนตอนนี้ผมไม่ค่อยได้แตะเกมโมบ้าละครับ หันมาเล่นเกมเบาสมองแทน”

ถ้าคนไม่อคติ มาลองเล่นดู เขาก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองแหละว่า เกมมันใช้สมอง วางแผน หากคุณเล่นแบบโง่ๆ ไม่คิดอะไรเลย แป๊บเดียวก็เบื่อ เพราะจะแพ้ตลอด เล่นสู้คนที่วางแผน มีทีมเวิร์กไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเล่นแบบไหน ถ้าเล่นแบบโง่ๆ คุณก็จะโง่จริงๆ”

“คนมันจะติดอะไร มันก็ติดได้หมดแหละ อยู่ที่รู้จักมีความรับผิดชอบต่อตัวเองหรือเปล่า เหมือนไอ้พวกที่ "ติดโง่" อยู่นี่ไง ดึงสติเยอะๆ เสพข้อมูลแล้วก็ใช้ปัญญาไตร่ตรองสักหน่อย ช่วยแก้โรคติดได้!!

ข่าวโดย ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น