xs
xsm
sm
md
lg

แพ้น้ำตานารี! "พี่ศานิตย์" หนุน "น้องแอนนา"?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"อยากให้โอกาส คนเมาไม่ใช่คนไม่ดี" คำพูดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโลกออนไลน์ หลัง "ท่านผบช.น." เอ่ยปากระหว่างสอบปากคำดารานางแบบสาว ฉาวซ้ำสอง "แอนนา รีส" จุดกระแสดราม่า "สองมาตรฐาน" พร้อมกับตั้งคำถาม ถ้าไม่ใช่คนดังจะบีบน้ำตาเรียกความสงสารแบบนี้ได้หรือไม่ เช่นเดียวกับคดีความทั้งเก่า และใหม่ รวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมไทยที่กำลังถูกจับตาจากสังคมอย่างไม่กะพริบ

พี่ให้กำลังใจหนูนะ...

"...เหตุการณ์แบบนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ขอให้ทุกคนได้ตระหนัก และเดี๋ยวจะให้ความเป็นธรรมกับน้อง (แอนนา รีส) ให้มากที่สุด อย่าไปเสียอกเสียใจ พลาดไปแล้ว เราก็ต้องเดินหน้าต่อไป ให้กำลังใจนะ ให้กำลังใจหนูนะ..." เป็นข้อความตอนหนึ่งของ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่พูดกับดารานางแบบสาวขณะอยู่ในอาการเศร้าโศกเสียใจระหว่างสอบปากคำ หลังถูกจับข้อหาเมาแล้วขับ


นอกจากนั้น ยังมีการระบุผ่านสื่อ โดยอ้างคำพูดของ "ท่านศานิตย์" ว่า "...อยากให้โอกาส คนเมาไม่ใช่คนไม่ดี ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ไม่อยากให้มีครั้งที่ 3..." แม้บางคนจะมองว่า ทุกคนย่อมมีความผิดพลาดกันได้ แต่หลายคนมองว่า คดีเก่าชนตำรวจตายยังรอลงอาญาอยู่เลย มาคราวนี้แผลงฤทธิ์ซ้ำอีก ไม่แปลกที่สังคมจะตั้งคำถาม "โอกาสควรให้กันได้สักกี่ครั้ง" โดยเฉพาะผู้กระทำผิดซ้ำซาก แถมยังเป็นดาราด้วย




"ไม่เป็นไรหรอกครับ เราควรให้โอกาสเขาน่ะ เพราะขนาด คดีข่มขืน กระทำชำเรา ยังมีมากกว่า 3 ครั้ง ในคนเดียวเลย ประเทศเราต้องให้โอกาสคนอื่นสิครับ นี่แค่เมาละขับเอง น่าๆ คนไทยยิ้มง่าย ลืมง่าย"

"คนเมาคนขับจะได้รับโอกาสกี่ครั้งก็ได้เหรอ ถ้าเกิดอุบัติเหตุเพราะความเมาขึ้นมา ไม่ว่าครั้งไหนก็ไม่สามารถเยียวยาร่างกายและจิตใจคนบาดเจ็บ คนเสียชีวิต และครอบครัวเขาคืนมาหรอกนะ"


"รอบที่แล้วตำรวจเสียชีวิต รอบนี้ดีนะที่ไม่มีใครเป็นอะไร กร่างจริง มุกเดิม ร้องไห้ สังคมไทย"


"ยึดใบขับขี่่ตลอดชีวิตได้แล้ว คนอย่างนี้ไม่ควรให้มีใบขับขี่ อันตรายต่อสังคม และชีวิตผู้อื่น ซ้ำซากนะกระบวนการยุติธรรมไทย Thailand only"


"ทีคนอื่นที่เป่าตรวจแอลกอฮอล์ไม่ผ่าน จับขังก่อนแล้ว ตอนเช้าไปขึ้นศาลปรับ 2 หมื่น"


ด้าน ดารานางแบบสาว เปิดเผยทั้งน้ำตาระหว่างการสอบปากคำว่า เธอมีหลายเรื่องหลายปัญหาเข้ามาจึงทำให้รู้สึกแย่ ประกอบกับน้องของตนเป็นเด็กพิเศษจึงดูแลน้องจนน้องดีขึ้นแต่ทำให้ตนกลับเป็นคนแย่ลง ก่อนจะยอมรับว่าดื่มสุราจริง แต่ยืนยันว่าไม่ได้เสพยาเสพติด




เบื้องต้นถูกนำตัวไปตรวจหาสารเสพติดที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งในชั้นพนักงานสอบสวนได้ยื่นประกันตัววางหลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 20,000 บาท ทางเจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้ประกันตัว เนื่องจากได้ผัดฟ้องไปก่อน เพราะต้องรอผลการตรวจร่างกายเพิ่มเติมประกอบสำนวนคดี และการตรวจสอบประวัติในคดีก่อนหน้านี้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐานส่งฟ้องศาลภายใน 30 วัน

จับตากระบวนการยุติธรรมไทย!


อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวข้างต้น หลายคนยังเฝ้าจับตามองไม่กะพริบ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมของไทย


"อยากจะดูว่าเคสนี้กระบวนการยุติธรรมของไทยจะดำเนินการต่อไปอย่างไร จับปรับส่งฟ้องศาลยื่นประกันแล้วก็ปล่อยตัวออกมาสู้ความ หรือส่งฟ้องศาลแล้วขังทันทีโดยไม่มีการรอลงอาญา เนื่องจากมีการกระทำความผิดก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เรื่องเก่าก็กำลังส่งฟ้องศาลอยู่ คดีนี้จะเป็นตัวช่วยชี้วัดอย่างหนึ่งให้ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยกำลังเดินหน้าหรือถอยหลังลงคลองกันแน่ จับตาดูให้ดีๆ"


"คอยดูกรณีนี้ไว้เป็นตัวอย่างนะครับ แล้วดูว่าหลังจากนี้มีกรณีแบบนี้ตำรวจจะว่าไง กฎหมายบังคับใช้กับทุกคน นี่มัน 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรกก็มีคนเสียชีวิต ครั้งที่ 2 ไม่มีหรือจะรอให้คนอื่นๆ ต้องเดือดร้อนเพราะคนแบบนี้อีก เป็นโอกาสดีๆ ที่จะทำตัวอย่างให้เห็น เชือดไก่ให้ลิงดู เมาแล้วขับยึดใบขับขี่และห้ามขับรถตลอดชีวิต เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกแล้ว"




ทั้งนี้ เมื่อมาดูข้อกฎหมาย กำหนดห้ามผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุรา (ปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) หากฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

สำหรับกรณีดารานางแบบสาวตรวจวัดแอลกอฮอล์พบว่า มีแอลกอฮอล์ 141 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ เกินที่กฎหมายกำหนดที่ปกติอยู่ที่ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์แถมยังขับรถชนรถผู้อื่นแล้วหลบหนี แต่เบื้องต้นถูกแจ้งข้อหาเมาแล้วขับ เนื่องจากยังไม่มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความ


อย่างไรก็ดี กับข้อสงสัยที่หลายคนอยากรู้ ผิดครั้งนี้สามารถนำโทษที่ศาลรอไว้ในคดีเดิมเมื่อปี 2558 มาบวกกับโทษที่ศาลจะลงในคดีหลังได้หรือไม่ "เดชา กิตติวิทยานันท์" ทนายความอาวุโส ให้ความรู้ผ่านเพจ "ทนายคลายทุกข์" ว่า ตามกฎหมายประมวลกฏหมายอาญามาตรา 58 วรรคสอง ถ้าภายในเวลาที่ศาลได้กำหนดไว้ผู้นั้นไม่ได้กระทำความผิดให้ผู้นั้นพ้นจากการถูกลงโทษ เมื่อพ้นระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ 1 ปี ผู้นั้นไม่ได้ทำผิดจึงไม่สามารถนำโทษคดีเดิมมาบวกได้




ส่วนประเด็น ดารานางแบบสาวกระทำความผิด 2 ครั้งศาลจะรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ถ้ามีเหตุบรรเทาโทษตามกฎหมายศาลก็อาจจะรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษได้หรือจะลงโทษ จำคุกก็ได้

คดีแอนนา..คนไทยเรียนรู้อะไร?


แน่นอนว่า คดีนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย ทั้งความสำนึกของผู้กระทำความผิด และกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งเรื่องนี้ พ.ต.ต.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้มุมมองไว้น่าสนใจ โดยมีการตั้งข้อสังเกตในบางประเด็นที่ได้แต่สงสัยเช่นเดียวกับใครหลายคน


"กรณีของคุณแอนนา รีส มีหลายประเด็นที่ถกเถียงกัน อย่างครั้งก่อนมีคดีชนตำรวจตาย ทำไมไม่ติดคุก คือต้องอธิบายก่อนว่าในความผิดฐานประมาทเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ทางกฎหมาย ถ้าศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ ศาลอาจจะมองว่าการนำคนที่ประมาทพลั้งพลาดในครั้งแรกไปอยู่ในเรือนจำคงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่ติดคุก คุณจะกระทำความผิดซ้ำอีกได้ ตรงนี้มันไม่ใช่ละ ต้องมีมาตรการลงโทษอย่างอื่นตามมาเพื่อให้ผู้กระทำความผิดเกิดความสำนึก และทำให้คนที่คิดจะกระทำความผิดเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าทำความผิด


อย่างไรก็ดี ในเหตุการณ์ครั้งนั้น ส่วนตัวไม่แน่ใจว่ามีการเจาะเลือดไปตรวจหรือเปล่า ถ้าเจาะเลือดไปตรวจแล้วพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าคุณขับรถขณะเมาสุรา อันนี้เป็นสาเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษได้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะขั้นตอนการรวบรวมหลักฐาน หรือเกินกำหนดระยะเวลาตรวจไป 2 ชั่วโมง ซึ่งคงต้องไปดูในคดีก่อนหน้านี้"




ส่วนคดีล่าสุดที่เกิดเป็นข่าว เป็นที่แน่ชัดว่า เมาแล้วขับ มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์พบว่า ระดับแอลกอฮอล์อยู่ที่ 141 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ซึ่งเกินที่กฏหมายกำหนด หลังจากนี้คงต้องขึ้นอยู่กับพนักงานสอบสวน การรวบรวมหลักฐาน และอัยการในการฟ้องเพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจดูว่าควรจะมีการลงโทษถึงขั้นจำคุกหรือไม่

"ผมมีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ตอนนี้เรามีผู้ต้องขัง 300,000 คน ซึ่งเกินกว่าความจุที่จะรับได้ถึง 3 เท่า ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศมองว่า การนำคนไปอยู่ในคุก หรือในเรือนจำไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร ดังนั้น จึงมีมาตรการอื่นๆ ตามมา เช่น ใช้สายรัดข้อมือ หรือสายรัดข้อเท้าเข้ามาควบคุมพฤติกรรมผู้ต้องคดีเมาแล้วขับ ซึ่งสามารถวัดค่าได้จากเหงื่อของนักดื่มที่ไหลออกมาหากค่าออกมาเกินที่กฎหมายกำหนด มันจะส่งสัญญาณแจ้งไปยังผู้ดูแลระบบว่าคนนี้ละเมิดคำสั่งศาล


กลับมาที่ประเทศไทย ถ้าเทคโนโลยีมันดีก็ต้องลงทุน หากรัฐติดขัดเรื่องงบประมาณในการลงทุน อาจมีบทกำหนดให้ผู้เมาแล้วขับมาช่วยออกค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้แก่รัฐบาล ถ้ายังเมาแล้วขับซ้ำซาก คราวนี้ก็คงต้องมาดูว่าจะต้องถูกจับเข้าคุกหรือไม่" พ.ต.ต.ดร.กฤษณพงค์เสนอแนะ พร้อมกับฝากถึงการรณรงค์ในโครงการ "เมาไม่ขับ" ที่ไม่ใช่ทำเฉพาะช่วงเทศกาล หรือเข้มงวดเมื่อมีข่าวใหญ่ แต่ควรมีการติดตาม และมีมาตรการเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง นั่นเพราะ "เมาแล้วขับ" ยังคงครองแชมป์สาเหตุการเจ็บ และการตายบนท้องถนนมาตลอด





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น