จากจุดเริ่มต้นของกะเทยภูธร ม๊าเดี่ยว-อภิเชษฐ์ เอติรัตนะ ฝันอยากจะเป็น “นางแบบ” เดินบนแคทวอร์คสวยๆ เริ่มสานฝันของตัวเองด้วยการนำเอาสิ่งของเหลือใช้ที่มีอยู่ใกล้ตัวมาประดิษฐ์ตกแต่งเป็นชุด โพสต์ท่าถ่ายรูป สุดสตรอง เลียนแบบนางแบบมืออาชีพ จนเพิ่งพบว่าตนเองนั้น “มีดี” ด้านการเป็น “ดีไซเนอร์” ชนิดที่ผลงานแต่ละคอลเลกชันที่ประดิษฐ์ออกมามีความโดดเด่น แปลก แหวกแนว และถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในวงการแฟชั่น จนได้รับโอกาสโกอินเตอร์ โชว์ผลงานผงาดให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ในฝีมือเด็กไทยที่มีอายุเพียง 18 ปี
** ประตูบานแรกสู่การโกอินเตอร์
แค่เพียง 5 เดือน หลังจาก ม๊าเดี่ยว กะเทยภูธร เริ่มเป็นที่รู้จักจากการออกแบบดีไซน์ชุดจากวัสดุเหลือใช้ โด่งดังจนเป็น “เน็ตไอดอล” ได้รับโอกาสให้เป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการรายการระดับโลกอย่าง Asia's Next Top Model ติดต่อให้ม๊าเดี่ยวเป็นผู้ออกแบบชุดให้กับบรรดาผู้เข้าแข่งขันในซีซั่นที่ 4 จำนวน 9 ชุดที่เป็นชุดที่คิดและออกแบบใหม่หมด พร้อมกับให้ม๊าเดี่ยวเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินตอนดังกล่าวด้วย
“ตอนนั้นยังไม่ได้ดังเท่าไหร่เลย เพราะเพิ่งเป็นที่รู้จักแค่ 5 เดือน โดยเหตุผลที่เขาเลือกไปนั้นทราบมาว่า เขาต้องการหา the next gen ไปในรายการ Asia's Next Top Model บ้าง อยากได้นักออกแบบรุ่นใหม่ และมีความคิดสร้างสรรที่มีความเป็นไทย ทางรายการจึงอยากได้คนไทยไปร่วมในรายการ เราจึงไปเคสติ้ง โดยที่ตอนเคสติ้งเราก็แสดงความสามารถของเราทั้งหมดที่มีให้สื่อออกมาผ่านผลงานให้ทางคณะกรรมการได้ตัดสิน ในที่สุดเราก็ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในรายการ Asia's Next Top Model”
“ม๊าเดี่ยวใช้เวลาในการคิดออกแบบชุดเพียงไม่กี่วัน สเก็ตซ์ภาพให้ทางทีมงานได้ดูว่าโอเคมั้ย ปรากฏผ่านอย่างง่ายดาย เมื่อถึงขั้นตอนของการเตรียมชุด อุปสรรคเริ่มมาเยือนเนื่องจากอุปกรณ์ที่ต้องใช้ใช่ว่าจะหากันง่ายๆ อย่างเช่น การหา “ว่าวจุฬา” ซึ่งมีขนาดใหญ่มาก ต้องให้พ่อเป็นคนตัดไม้แล้วขึ้นโครงว่าวให้ โดยที่ต้องสามารถพับและนำมาประกอบขึ้นใหม่ได้ง่ายเมื่อเวลาที่ต้องขนไปที่สิงคโปร์ สิ่งต่อมาคือการคิดหาวิธีว่าเราจะทำอย่างไรกับ “สุ่มไก่” เพราะสุ่มไก่มีขนาดใหญ่เกะกะ จึงตัดครึ่งและเอาของทุกอย่างใส่เข้าไปจากนั้นแว็กซ์อย่างดี แค่วิธีการเตรียมวัสดุอุปกรณ์เรียกได้ว่าต้องผ่านขั้นตอนการหาวิธีหลากหลายขั้นตอนเหมือนกัน”
การได้เป็นตัวแทนของประเทศไทย ย่อมส่งผลให้ต้องแบกรับความกดดันในการทำงานอยู่ไม่น้อย โดย ม๊าเดี่ยว ได้เล่าย้อนถึงประสบการณ์การไปทำงานยังต่างประเทศว่า ด้วยความที่รายการ Asia's Next Top Modelเป็นรายการระดับโลกอยู่แล้ว ดังนั้นเรื่องของการประสานงานจึงไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะในการทำงานจะมีตารางเวลาที่เป๊ะมาก สำหรับม๊าเดี่ยวการไปทำงานในครั้งนั้นมีเวลาให้เราได้รีแลกซ์ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชื่นชอบมาก เพราะเวลาที่ทำงาน ถ้ามีอะไรอยู่ในหัวเราจะไม่สามารถทำงานได้เลย หรือไม่งานที่ทำก็จะออกมาไม่ดีเลย
** การทำงานของคนไทยและฝรั่ง แตกต่างกันมาก
นอกจากจะต่างที่ต่างถิ่นในการทำงาน ประกอบกับภาษาที่ไม่ชำนิชำนาญ ส่งผลให้ในการทำงานย่อมมีอุปสรรคเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะการทำงานของคนไทยและฝรั่ง ดีไซเนอร์หน้าใหม่ บอกว่า การทำงานกับคนไทยนั้นเราสามารถยืดหยุ่นได้ แต่ถ้าเป็นการทำงานกับฝรั่ง เราจะมาชักช้าเอื่อยเฉื่อยแบบเวลาที่ทำงานกับคนไทยไม่ได้ เพราะฝรั่งนั้นเขาจะต้องเป๊ะทุกอย่าง เช่น ถ้าฝรั่งบรีฟงานเรามาอย่างนี้ เราจะทำตัวเก่งแล้วทำเกินกว่าสิ่งที่เขาบรีฟมาก็ไม่ได้ รวมถึงเราจะทำงานน้อยกว่าสิ่งที่เขาบรีฟมาก็ไม่ได้
อีกทั้งในเรื่องของเวลา การทำงานกับฝรั่งจะต้องเป๊ะในเรื่องของเวลามาก เพราะเขาถือว่าเรื่องของเวลา คือ สิ่งสำคัญ ทุกอย่างถูกวางแผนเอาไว้หมดแล้ว หากเราช้าแผนงานทุกอย่างที่เขาวางไว้จะเสียหมด ดังนั้นเราจะช้าไม่ได้เลย เพราะเขาซีเรียสมาก
การที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาให้ตรงตามแพลนที่ถูกวางไว้ ม๊าเดี่ยว ยังได้เล่าถึงอุปสรรคของการไปทำงานในรายการ Asia's Next Top Model ณ ประเทศสิงคโปร์ในครั้งนั้นว่า ด้วยความที่ชุดที่เราออกแบบไปนั้นก็ค่อนข้างโหด ในส่วนของนางแบบ บางคนก็จะมี “ความเยอะ” บ้างก็แพ้นู่น แพ้นี่ แพ้ดอกไม้ แพ้เสื่อ อย่างนี้เป็นต้น หรือไม่นางแบบบางคนก็ไม่อยากใส่ชุดนี้บ้าง ชุดนู้นบ้าง บางคนก็กลัว เพราะอย่างที่เราบอกว่าบางชุดมีความโหด คือ ต้องจุดไฟเวลาเดินด้วย ซึ่งสำหรับตัวม๊าเดี่ยวเองแล้วมองว่าการจุดไฟที่ชุดถือว่าไม่โหดมาก เราจึงบอกเขาว่า
“คนเป็นถึงนางแบบ ต้องทำได้ทุกอย่าง รวมถึง การเข้ามาถึงรายการ Asia's Next Top Model แล้วจะมาบอกว่าแพ้นู่นนี่นั่น หรือเลือกที่จะไม่ใส่ชุดที่เราเลือกให้ เรามองว่า ปัญหาที่คุณพูดมานั้นเป็นปัญหาที่เล็กน้อยมาก สำหรับอาชีพนางแบบ เพราะการที่คุณอยากที่จะเป็นนางแบบนั้น เขาให้คุณใส่ชุดอะไรคุณก็ต้องใส่ให้ได้ ทั้งนี้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้น เราก็บอกผู้เข้าแข่งขันเลยว่า ถ้าคุณไม่ใส่ชุดที่ฉันเป็นคนออกแบบมา ฉันก็จะให้คุณตกรอบเลย เพราะฉันก็เป็นหนึ่งในกรรมการที่จะตัดสินคุณในการแข่งขันครั้งนี้ด้วยเหมือนกัน แน่นอนว่ามันก็จะมีคนที่เยอะๆ เราก็ให้คะแนนตามจริงที่เขาควรจะได้รับ”
** คำชื่นชมเป็นดั่งกำลังใจให้ทำตามฝัน
ทันทีที่งานออกแบบดีไซน์ชุดของม๊าเดี่ยว ได้ออกสู่สายตาของทุกคน ก็สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก พร้อมได้รับฟีดแบกดีๆ กลับมา
“ฟีดแบกหลังรายการออนแอร์แล้ว สิ่งที่ทำให้เรารับรู้ได้ว่าผลงานเราก็มีคนชื่นชอบ และส่งผลให้เราได้ “โกอินเตอร์” ขึ้นอีก โดยเฉพาะคนสิงคโปร์ ค่อนข้างที่จะฮือฮามาก ในรายการให้นางแบบที่ใส่ชุดที่เราออกแบบไปยืนเป็นคอสเพลย์ในกล่องกลางห้าง ทำให้ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาเข้ามาดูกันเป็นจำนวนมาก รวมถึงชาวต่างชาติหรือว่าคนไทยเอง ที่เป็นกล่มๆ หนึ่งที่ติดตามดูรายการนี้เมื่อได้เห็นผลงานเรา ชื่อของม๊าเดี่ยวก็ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และอัพระดับตัวเราขึ้นไปอีก ถือว่าเป็น “ความสำเร็จ” อีกระดับหนึ่งของเรา”
จากจุดเริ่มต้นของเด็กบ้านนา ที่หยิบจับอะไรก็ได้มาทำเป็นชุด เมื่อมาเจอการทำงานกับมืออาชีพทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ ทำให้งานออกแบบของเด็กบ้านนาคนนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง มีการคิดการครีเอทมากขึ้น มีกระบวนการทำงานที่มากขึ้น จึงทำให้ม๊าเดี่ยวได้รู้จักว่าคนอื่นเขาทำงานจริงๆ กันอย่างไร นำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นมาปรับใช้ในการทำงานจนถึงทุกวันนี้
ยิ่งเวลาที่ได้รับคำชมจากคนมีชื่อเสียง ยิ่งทำให้เกิดแรงบันดาลใจและมีกำลังใจในการทำงาน ตัวม๊าเดี่ยวเองก็เช่นกัน ทันทีที่ได้รับคำชมจาก ยู ไซ (Yu Tsai ) ซึ่งเป็นผู้กำกับการถ่ายภาพ จากรายการ America's Next Top Model ดีไซเนอร์น้องใหม่ไฟแรงคนนี้ถึงกับกรี๊ดลั่นกับการเข้ามาคอมเมนท์ใน IG ว่า “ชุดสวยมาก มหัศจรรย์จริงๆ” รวมถึง นางแบบชื่อดัง ซินดี้-สิรินยา ที่บอกว่า “ดีมาก ให้ทำต่อๆ ไป ให้ตั้งใจทำ เพราะการที่เราตั้งใจทำ ผลงานที่ออกมาก็จะออกมาดี”
** ทุ่มเททั้งปีเพื่อสร้างแบรนด์ KOxMA
กลับจากการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยและตัวเองได้ไม่ทันข้ามคืน ม๊าเดี่ยวก็ได้รับการติดต่อให้สร้างแบรนด์เสื้อผ้าคู่กับศิลปินรุ่นใหญ่ชื่อดังของเมืองไทย อย่าง พี่โอ่ง-กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์ ในชื่อแบรนด์ KOxMA ภายใต้คอลเลกชัน The Magical Realism of Thainess ว่าด้วยเรื่องของความไม่ธรรมดาของสิ่งธรรมดาๆ ในวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นโปรเจ็กส์ของ WeHaveFund.com
ในการทำงานเพื่อสร้างแบรนด์ของตนเองนั้น ม๊าเดี่ยวเล่าว่าต้องลงมือคิดและทำเองทุกขั้นตอน พร้อมเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานในครั้งนั้นว่า เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก สอนม๊าเดี่ยวในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของเวลาและการกล้าที่จะถาม
“วันนั้นเป็นวันแฟชันโชว์เลย ซึ่งจริงๆ วันนั้นควรจะเป็นวันที่เราแฮปปี้ แต่วันนั้นเป็นวันที่เราโดนดุ โดยเหตุการณ์คือ ไม่มีใครนัดเวลาเราว่าควรจะไปถึงสถานที่จัดงานตอนกี่โมง ด้วยความที่ห้างสรรพสินค้าเปิด 10 โมง แฟชันโชว์เริ่มประมาณ 1 ทุ่มของวันนั้น เราก็ไปตั้งแต่ห้างเปิด ทันทีที่ไปถึงงาน ม๊าเดี่ยวตกใจมาก เพราะทุกคนมาพร้อมหมดแล้ว และด้วยความที่เราไม่เคยทำงานแฟชันใหญ่ๆ แบบนี้มาก่อน ประกอบกับเราไม่รู้เวลาว่าต้องมากี่โมง ทำให้วันนั้นเราไปสาย เลยโดนพี่โอ่งดุเสียงดัง จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ม๊าเดี่ยวรู้ว่า ถ้าเราไม่รู้อะไร เราต้องถาม ยอมรับเลยว่า ณ ตอนนั้น นอยส์มาก แต่ก็รวบรวมสมาธิแล้วกลับมาทำหน้าที่ของเราต่อให้เสร็จ”
งานที่ออกมาดี เราก็แฮปปี้ เสียงตอบรับจากคนในวงการแฟชัน ส่วนใหญ่จะบอกว่า ดูแล้วสนุกดี ชอบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะมี “ด้านเสีย” คือ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งเขาไม่เข้าใจ แม้ว่าเขาจะกำลังเรียนทางด้านแฟชันอยู่ แต่เขาก็จะไม่เข้าใจ “เฮ้ย นังเนี่ย ทำอะไรของมัน ฉันเรียนมา ฉันยังไม่ได้ทำเลย นังนี่ทำแล้ว ไม่เห็นสวยเลย” ซึ่งพวกเขามีความเห็นว่า มันเป็นเหมือนงานรีไซเคิล โดยมีการเอาไปแชร์ในเฟซบุ๊กพร้อมกับข้อความด่าเราต่างๆ นาๆ
ส่วนตัวม๊าเดี่ยวเองไม่ได้สนใจอะไร เพราะเราชอบงานแบบนี้ ฉะนั้นการที่คุณจะเป็นดีไซเนอร์ แต่คุณไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น ด้วยการเอาไปด่า หรือเอาเขาไปโพสต์ด่าแล้วแชร์ต่อๆ กัน ติติง ผลงานของคนอื่นเขา ม๊าเดี่ยวมองว่า สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นทำลงไป แค่นี้เขาก็ “ไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นดีไซเนอร์แล้ว” ฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องไปฟังเขา เราจะฟังเฉพาะคนที่ชอบเราแล้วติงานเราเพื่อที่เราจะได้ปรับปรุงงานให้ดีขึ้นดีกว่า
จากการทำโปรเจ็คส์นี้กว่า 1 ปี ม๊าเดี่ยวได้ประสบกาณ์เยอะมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงานร่วมกับผู้อื่นว่า เวลาเราคิดอะไรต้องกล้าพูด และต้องแสดงความคิดเห็นให้เต็มที่ เพราะถ้าเราไม่ออกความคิดเห็นให้เต็มที่ มันจะไม่มีความคิดเห็นเราอยู่ในนั้นเลย ดังนั้นเราต้องกล้าที่จะพูด กล้าที่จะไฟว์ เพราะหากผู้ใหญ่คนนั้นมีวุฒิภาวะพอ เขาจะเข้าใจเรา และรับฟังความคิดเห็นของเรา
** ประวัติศาสตร์บันทึกได้ลง Time Magazine
ใครจะไปคิดว่าจากการชอบเดินแบบ ได้เป็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไฟแรง โลดแล่นจนได้โกอินเตอร์ ม๊าเดี่ยว ได้เป็นคนไทยคนที่ 2 และเป็นคนที่ 6 ของเอเชีย ในการถูกบันทึกลงใน Time Magazine กว่า1 คอลัมน์
“การที่ได้ลงในนิตยสาร time ทำให้เรารู้สึกว่า มันถือว่าเราเป็นประวัติศาสตร์ เราต้องไม่ทำอะไรที่เสียหาย หรือเรื่องที่ไม่ดีต่อมาในอนาคต เพราะภาพลักษณ์ของเราที่ถูกนำเสนอออกมานั้น เป็นเสมือนเราคือ ตัวอย่างที่เป็นอินสไปเรชันให้กับคนอื่น ดังนั้นเราต้องทำสิ่งที่ดีต่อๆ ไป”
นอกจากนี้ ม๊าเดี่ยว ยังมีโอกาสได้ถ่ายแบบและสัมภาษณ์ลง นิตสาร มาจิรุ (MAZIRU) ซึ่งเป็นนิตยสารฟรีกอปปี้ของญี่ปุ่น ซึ่งทั้งเล่มเป็นเรื่องราวของม๊าเดี่ยวคนเดียวทั้งเล่มเลยกว่า 20 หน้า เป็นเหมือนหนังการ์ตูน ด้วยการเล่าเรื่องราวตั้งแต่แรกของเด็กคนหนึ่ง ว่ามีนิสัยเป็นยังไง เวลาทำงานเป็นยังไง แล้วเวลาที่ไม่ได้ทำงานเป็นยังไง รวมถึงเวลาทำงานเสร็จเขาเป็นยังไง เหมือนหรือแตกต่างกับการทำงานมั้ย ครอบครัวที่ทำให้เป็นแบบนี้ และทำไมถึงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ด้วยการเล่าเป็นเรื่องราว เพราะเขาคิดว่าเรื่องราวของม๊าเดี่ยวนั้นเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายๆ คนได้
** เกลียดระบบงานคนไทย ณ จุดนี้ขอโกอินเตอร์
ใช่ เราไม่ชอบการทำงานที่เมืองไทยเลย เพราะมีหลายๆ อย่างในเมืองไทยที่ไม่โอเคสำหรับเราเอามากๆ ไม่ว่าจะเป็นคน (ซึ่งเราสัมผัสมาแล้ว) กระบวนการทำงาน รวมถึงสภาพแวดล้อม ส่งผลให้ ม๊าเดี่ยว มีความคิดตั้งแต่อายุได้เพียง 5 ขวบว่า “จะไม่อยู่เมืองไทย และแม่ก็สนับสนุนว่าไม่ต้องอยู่ที่นี่”
คนไทย อันดับแรกมักจะมองคนที่เปลือกนอก รูปลักษณ์ภายนอก ด้วยความที่เราแปลกกว่าคนอื่นเขาก็จะมองเราไม่เหมือนคนอื่นแล้ว กลับกัน ถ้าเราไปที่เมืองนอกเขาจะ อู้หู! มาก งานยูช่างมหัศจรรย์ แต่สำหรับคนไทย จะเป็นคำว่า อื้อหือ! ความหมายต่างกันนะ โดยเฉพาะ อื้อหือ อารมณ์ประมาณว่า นี่มันชุดอะไร? ช่างแปลกและตลกสิ้นดี ทำนองนี้
อีกส่วนหนึ่งของความแตกต่างระหว่างคนไทยกับต่างประเทศ คือ หากเป็นคนไทย เมื่อมองภาพๆ หนึ่ง ปฏิกิริยาจะประมาณว่า นี่! ดูชุดดีไซเนอร์คนนี้สิ แต่สำหรับคนต่างประเทศ เขาจะมองว่า องค์ประกอบภาพใช้ได้นะ มีการเลือกสีที่เข้ากัน อินเนอร์ของนางแบบสื่ออารมณ์ การเลือกชุด อะไรต่างๆ มีเรื่องราว คนต่างประเทศเขามองกันขนาดนี้เลย ซึ่งแตกต่างกับคนไทยมาก
ทั้งนี้ทั้งนั้น คนที่เมืองไทยเองก็มีบางส่วนที่มองงานของเราเหมือนต่างชาติ แต่มีเพียงกลุ่มน้อย เพราะเมืองไทยเราเองนั้นจะติดกับ “เน็ตไอดอล” ติดภาพของกะเทยที่ตลก เพราะทุกคนก็จะเห็นเราผ่านสื่อต่างๆ ที่ทำให้เราดูเป็นตัวตลก ซึ่งจริงๆ เราไม่ชอบเลย เพราะเวลาคนที่มองเรามาก็จะมองเราเป็นตัวตลกไปหมดเลย ถึงแม้ว่าใครจะทำดีมาก็จะถูกเหมารวมว่าเป็นตัวตลกไปหมดเลย
เพราะเราเป็นแค่คนตัวเล็กๆ ที่อยู่ในสังคมนี้ เราไม่สามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์ในตรงนี้ได้ ดังนั้นแล้วสิ่งที่เราทำได้ คือ การที่เราย้ายออกไปจากสังคมนี้ซะ! ง่ายที่สุด เพราะเราไม่มีสิทธิ์เลือก และเราไม่มีสิทธิ์ไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้เยอะ เราทำได้เพียงการทิ้งแมสเซสต่างๆ ให้เขารู้ว่า การที่เราไปนั้น เพื่ออะไร? ให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเขาเองบ้าง เพราะบางทีเราพูดเยอะไป ทำเยอะไป เขาก็ยังคิดว่าเขาดีกว่าอยู่แล้ว เราไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นเขาได้ เราทำได้อย่างน้อยแค่ให้เขา “ฉุกคิด” เท่านั้น
สำหรับตัวเราเอง เราสามารถ “เลือกได้” ที่จะอยู่ที่ไหน การที่เราไม่ชอบที่นี่ ไม่ใช่ว่าเรา “เลว” เราไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาบอกมา หรือเราไม่ได้เห็นด้วยกับคนส่วนมากที่เขาเห็นด้วยกัน เมื่อเราไม่เห็นด้วยเราก็จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี ฉะนั้นแล้วเรามีสิทธิ์เลือก
หากพูดถึง กระบวนการทำงาน ของคนไทยและต่างประเทศ ม๊าเดี่ยว บอกว่า มันจะมีความเป็นเส้น ที่ไม่ได้วัดกันที่ความสามารถจริงๆ แต่จะวัดกันที่ ความมีชื่อเสียง รูปลักษณ์ภายนอก การใส่หน้ากากเข้าหากัน สำหรับคนไทย จะมองสิ่งที่ม๊าเดี่ยวทำเป็นสิ่งที่ “ตลก” มาอันดับ 1 ซึ่งเราไม่เคยให้เขามองเราตรงนั้นเลย แต่ถ้าเขาอยากมองมันก็ไม่ผิด เพียงแต่เราคิดว่า เราเอางานชิ้นเดียวกันกับที่คนไทยเห็นไปให้คนต่างประเทศเปรียบเทียบเป็นอะไรที่ต่างกันมาก
“คนต่างประเทศมองผลงานเราเป็นสิ่งที่ดีมาก มีความคิดสร้างสรร แต่สำหรับคนไทยจะขำ หัวเราะ ในทันทีที่เห็นผลงาน”
** กะเทย...แล้วไง ใครแคร์
การที่คนอื่นมาเรียกเราว่า กะเทย เราไม่เซนซิทีฟ แต่ถ้าคนที่มาว่าเราว่า กะเทยเป็นคนไม่มีความคิด เฮ้ย! คุณอยู่ในยุคนี้แล้วคุณต้องให้เกียรติคนอื่นสิ เพราะถ้าคุณไม่ให้เกียรติคนอื่น คุณพูดแบบนี้ ถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติมนุษยชน ซึ่งเราก็เห็นว่าคุณไม่ได้เป็นคนที่ดีเลิศประเสริฐศรีอะไรที่เราต้องมาใส่ใจในคำพูดของคุณ ถ้าคุณกล้าว่าเราแบบนี้ เราไม่จำเป็นต้องไปฟังเขา ให้เขาอยู่ในโลกของเขา ถ้าเขามีความสุขก็ขอให้เขามีความสุขตลอดไปแล้วกัน
ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เวลาโพสต์ภาพลงในเฟซบุ๊ก หรือ อินสตราแกรม จะโดนสังคมด่าเรื่องชุดที่เราออกแบบว่า เป็นชุดที่ไม่สามารถใส่ได้จริง ซึ่งเราก็ไม่เห็นด้วย เพราะเราเองก็ใส่ เรามีกลุ่มทาร์เก็ทของเรา ซึ่งเขาเหล่านั้นอยากใส่ชุดของเรา แต่สำหรับคนโลกสวย คือไม่ชอบ ไม่อยากใส่ แล้วมาติง มาต่อว่าผลงานคนอื่นเขา เราก็อยากจะบอกเขาเหมือนกันว่า คุณไม่ชอบ คุณก็ไม่ต้องใส่ เพราะเราก็ไม่ได้ทำมาเพื่อให้คุณใส่ เราทำให้คนที่เขาอยากใส่ได้ใส่จริงๆ เท่านั้น
ซึ่งส่วนมากคนที่มาด่าเรา เขาเองก็ใส่เสื้อผ้าตลาดนัด แต่ก็ยังมาว่าเรา ซึ่งม๊าเดี่ยวเองไม่ได้จะไปบังคับให้เขาใส่เลย จริงๆ เขาก็มีสิทธิ์ว่าเรา เพราะมันมีช่องให้เขามาแสดงความคิดเห็น ดังนั้น ในเมื่อเขามีสิทธิ์มาแสดงความคิดเห็น เราเองก็มีสิทธิ์ที่จะไม่อ่าน และไม่นำสิ่งเหล่านั้นเก็บมาคิด
รวมถึง คนที่ชอบลอกเลียนแบบหรือกอปปี้งานของคนอื่น แล้วโมเมว่าตนเองเป็นคนออกแบบ ม๊าเดี๋ยวอยากฝากถึงเยาวชนรุ่นใหม่ว่า หากเราเริ่มต้นจากการกอปปี้ เราก็จะไม่เป็นตัวเอง
“เพราะคนรุ่นใหม่เป็นตัวแทนของเรา เป็นตัวแทนของม๊าเดี่ยวในการมาทำงานดีไซน์ เป็นม๊าเดี่ยวในอนาคต พอเรามาเห็นการกระทำที่ชอบกอปปี้งานของคนอื่นแบบนี้แล้ว เราคิดว่ามันไม่ดีเลย เราไม่อยากให้คนแบบนี้ หรือว่าพฤติกรรมแบบนี้แล้วเห็นคนอื่นทำ มันไม่โอเคเลย แม้มันจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันก็เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ได้ในอนาคต ถ้าสมมุติเขาเริ่มต้นด้วยการกอปปี้ ในอนาคตเขาก็คิดงานเองไม่ได้ เขาก็จะต้องกอปปี้ผลงานคนอื่นไปเรื่อยๆ”
มันคงไม่ผิดหากใครต่างก็วาดฝันอนาคต บางคนฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการ บางคนฝันอยากเป็นนักกีฬา เป็นต้น มันคงจะดีหากฝันเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถทำมันให้เกิดขึ้นจริงได้กว่าจะเป็นแค่การฝันลมๆ แล้งๆ ใช่มั้ยล่ะ!
เรื่องโดย : ผู้จัดการ Live
สัมภาษณ์โดย : นับดาว รัตนสูรย์
ขอบคุณภาพประกอบ : IG @madaew99
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754