ร้อนระอุกับประเด็นเหตุไฟไหม้มูลนิธิพัฒนาจิตเจริญปัญญา เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา เพราะถูกสังคมตั้งข้อสงสัยหลังมูลนิธิฯ ขอเรี่ยไรเงินบริจาคทำบุญสร้างที่อยู่อาศัยให้เด็กกำพร้า ผู้มีจิตศรัทธาร่วมพลังบริจาคตรึม เพจดังแฉ! พิรุธหลายจุด จัดฉากเด็กถ่ายภาพสภาพเนื้อตัวมอมแมมดูน่าสงสารในที่เกิดเหตุ มูลนิธิไม่จดทะเบียนมูลนิธิเด็กกำพร้า แต่ดรามาว่าไฟไหม้บ้านเด็กกำพร้า ทั้งที่เป็นสถานปฏิบัติธรรม ด้านบ้านเด็กกำพร้าของจริง อย่างมูลนิธิบ้านนกขมิ้น หวั่นโดนเหมารวม “หากินกับเด็ก”
ผู้มีจิตศรัทธาจ๋า...โอนเงินช่วยหนูหน่อย
“จากเหตุการณ์ไฟไหม้ มูลนิธิพัฒนาจิตเจริญปัญญา ทำให้มูลนิธิขาดที่ทำการ ขาดที่อยู่อาศัยของเด็กกำพร้า ขาดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ชุดนักเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์กีฬามูลนิธิพัฒนาจิตเจริญปัญญาขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค ทำบุญสร้างที่อยู่อาศัยให้เด็กกำพร้า และเครื่องนุ่งห่มอุปกรณ์การเรียน”
ข้อความข้างต้นได้ถูกแชร์ออกไปในโลกโซเชียลฯ อีกทั้งภาพของเด็กน้อยนับสิบที่มีสภาพเลอะเทอะคลุกฝุ่นคลุกขี้เถ้าเนื้อตัวเปรอะเปื้อนด้วยคราบเขม่าสีดำ ประหนึ่งรอดตายอย่างหวุดหวิดมาจากไฟไหม้ ส่งผลให้ผู้มีจิตศรัทธาโอนเงินบริจาคกันล้นหลามเพราะทนสงสารเด็กไม่ได้ กระทั่งเพจเฟซบุ๊ก “แหม่มโพธิ์ดำ” ออกมาตั้งข้อสงสัยระวังจะถูกหลอก เพราะล่าสุดประกาศงดรับบริจาคแล้ว หลังจากถูกสังคมตั้งข้อสงสัยอย่างหนัก
“มูลนิธิพัฒนาจิตเจริญปัญญา นี่จดทะเบียนเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าเหรอ? นี่ค้นในกูเกิลมาหลายชั่วโมงแล้วไม่เจอเลย ตามต้นข่าวไฟไหม้ที่เช็คมา บอกเป็นสถานปฏิบัติธรรม ช่างอ็อคเหล็กไปติดเสื่อแล้วไฟไหม้
ทีนี้ไฟไหม้ ทำไมเด็กต้องเลอะโคลนขนาดนี้ แถมสื่อหลักไม่เล่นเลย มีแต่เว็บไซต์คลิกเบตเล่น สถานที่ดูหรูหรา มูลค่านับร้อยล้าน แต่น้องเลอะโคลนปลักควายดูไม่เมคเซนส์ ขอสงสัยหน่อยนะ เพราะรู้สึกว่ายอดบริจาคบ้าคลั่งมาก ถ้าเกิดเป็นสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าจริงๆ ก็บริจาคต่อไป อนุโมทนาบุญด้วย แต่ถ้าไม่ใช่ล่ะ เราอยู่ในยุคที่ควรสงสัยให้มากก่อนโอนเงินให้ใครนะคะ”
นอกจากนี้ ยังมีคนที่เคยเข้าไปดูสถานที่เกิดเหตุสถานที่ไฟไหม้มูลนิธิพัฒนาจิตเจริญปัญญาออกมาแสดงความคิดเห็นว่า เด็กที่เห็นไม่ได้กำพร้า!
“วันนี้มีโอกาสเข้าไปดูมูลนิธิบ้านเด็ก ทีแรกกะว่าจะไปสำรวจว่าขาดเหลืออะไรเผื่อจะช่วยได้บ้าง ไปถึงคือเหมือนไม่ใช่มูลนิธิ หรือศูนย์ปฏิบัติธรรมอะไรเลย ลักษณะคือเป็นโรงงานหรือบริษัทมากกว่า แล้วปิดประตูเหล็กไว้เหมือนไม่ต้องการให้คนนอกเข้าไปยุ่ง มีเด็กราวๆ 6-7 ขวบ อยู่ประมาณเกือบสิบคน ถามไปถามมาไม่ได้กำพร้า คนดูแลก็พูดจางงๆ บอกว่ามีคนมาปฏิบัติธรรมแล้วชอบใจ เลยเอาลูกมาฝากให้ดูแล เด็กก็เรียนโรงเรียนรัฐตามปกติ ไม่ได้ว่ากินนอนที่เดียวกันเหมือนบ้านเด็กทั่วๆไป อาคารที่ไฟไหม้ก็เป็นบริษัทที่เอื้อเฟื้อสถานที่เฉยๆ แล้วอาคาร 50 ล้าน ไม่มีประกันเป็นไปได้เหรอคุยไปคุยมาคนดูแลบอกว่าไม่ต้องการเงินหรืออาหารอะไร ขาดแค่ชุดนักเรียน เจริญพรเลย คนดูแลขับเบนซ์ จะซื้อชุดนักเรียนให้ 10 ชุดก็ยังได้!”
ล่าสุด ตั้ม ศิษย์ฉ่อย พี่ชาย ต๋อง ศิษย์ฉ่อย อดีตนักสนุ้กเกอร์ชื่อดังเห็นความไม่ชอบมาพากลจึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบมูลนิธิฯ ด้วยตัวเอง พร้อมโพสต์ผ่านทางเฟซบุ๊ก Tong Snooker Club ชี้แจงเหตุผลถึงข้อครหาต่างๆ ต่อมูลนิธิฯ ยันไฟไหม้จริง ส่วนสาเหตุที่เด็กเนื้อตัวมอมแมมเพราะมาช่วยเก็บของ โดยพื้นที่ในบริเวณที่แบ่งจากเจ้าของที่มาทำมูลนิธิ เป็นดินโคลน รวมทั้งเขม่าควันไฟ ผสมกันจนเด็กๆ ดูเลอะเทอะ
ทั้งนี้ ยังเปิดเผยว่า มูลนิธิฯ จะแถลงข่าวยอดเงินบริจาค ในวันที่ 1 พ.ค.โดยทางมูลนิธิฯ พร้อมที่จะคืนเงินให้กับท่านที่ได้บริจาคมาก่อนหน้านี้ โดยจะต้องมีหลักฐานการโอนเงิน
“บ้านเด็กกำพร้า”ซวย! โดนเหมารวม “หากินกับเด็ก”
สำหรับกรณีนี้ที่โดนผลกระทบอย่างจังนั้นคงจะหนีไม่พ้นมูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าที่ช่วยเหลือเด็กจริงๆ เพราะทำให้ชื่อ “บ้านเด็กกำพร้า” เสื่อมเสีย ทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงขอต่อสายตรงถึง ครูอ๊อด -สุรชัย สุขเขียวอ่อน ผู้อำนวยการมูลนิธิบ้านนกขมิ้น ผู้เป็นทั้งครูและพ่อของเด็กกำพร้ากว่า200คนที่ถูกทอดทิ้ง ผู้ซึ่งทุ่มเทแรงงานกายแรงใจ เพื่อช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน กำพร้า มายาวนาน 27 ปี ครูอ๊อดนำเสื้อผ้าของผู้มีจิตศรัทธาที่มาบริจาคนำมาขายเพื่อนำรายได้เข้าบ้านเด็กกำพร้า
“ผมเห็นภาพเด็กที่แชร์กันในโลกโซเชียลฯ เด็กเนื้อตัวมอมแมมเปื้อนขี้โคลน แต่ก็แปลกใจว่าทำไมเป็นสถานปฏิบัติธรรมเด็กที่เห็นอาจจะตามพ่อแม่มาปฏิบัติธรรมหรือไม่ เป็นเด็กยากจนหรือเด็กกำพร้าจริงหรือไม่ จึงเข้าไปค้นข้อมูลข่าวเกี่ยวกับไฟไหม้ก็ดูแล้ว แต่ก็ไม่เห็นมีเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับการเลี้ยงเด็ก จึงมีความสงสัยข้อสังเกต มูลนิธิฯบอกว่าต้องปิดรับการโอนเงินบริจาคเงินเพราะกลัวมิจฉาชีพแอบแฝงทั้งที่เป็นเลขบัญชีของมูลนิธิฯเอง
จริงๆแล้ว ทางมูลนิธิบ้านนกขมิ้นกำลังจะเตรียมเสื้อผ้าของเด็ก ข้าวสารอาหารแห้ง เตรียมจะไปบริจาค แต่พอมีข่าวออกมา มีการตั้งข้อสังเกตในสังคมจึงระงับไว้ก่อน”
นอกจากนี้ ในการก่อตั้งมูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีใบอนุญาตจากทางราชการ
“ถ้าจะทำมูลนิธิสถานสงเคราะห์ หรือสถานรับเลี้ยงต้องมีใบอนุญาต การเปิดสถานสงเคราะห์ภายใต้มูลนิธิต้องไปขออนุญาตจากกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก่อน สำหรับความแตกต่างของสถานสงเคราะห์ กับสถานรับเลี้ยงเด็กก็ไม่เหมือนกัน เพราะสถานสงเคราะห์คือเด็กที่กำพร้าพ่อแม่ไม่มีใครดูแล มากินนอนใช้ชีวิตอยู่กับเราเลย แต่สถานรับเลี้ยงเด็ก คือรับเลี้ยงเด็กยากจนฝากลูกให้เราเลี้ยงในช่วงกลางวัน
สำหรับพวกมิจฉาชีพที่หลอกลวงคนโดยใช้ความน่าสงสารของเด็กนั้น ครูอ๊อดบอกว่า ส่งผลกระทบกับมูลนิธิบ้านเด็กกำพร้าเต็มๆ
“ผมรู้สึกไม่สบายใจ เวลาที่ข่าวนำเสนอออกไป หากเป็นมิจฉาชีพเป็นเรื่องไม่จริงขึ้นมา คำว่า “บ้านเด็กกำพร้า” คนในสังคมอาจมองว่า เอาเด็กมาหากินหรือเปล่า ส่งผลกระทบถึงตัวผมมาก ครูอ๊อดเป็นแบบนี้หรือเปล่า หากินกับเด็กหรือเปล่า โดนเหมารวม คนที่ทำงานช่วยเหลือเด็กอย่างจริงจังก็ลำบากใจ ความเชื่อถือของคนในสังคมจะหายไป อย่างคนที่จะมาบริจาค ผมจะบอกเลยว่ามาเยี่ยมเราก่อนครับ ก่อนตัดสินใจ เรามีตัวตนจริง มีเอกสารทางราชการจริง ตรวจสอบได้ เพื่อความมั่นใจ
สำหรับการตรวจสอบระดับที่หนึ่งคือก่อนโอนเงินบริจาคเข้าบัญชีส่วนตัว หรือมูลนิธิ จากนั้นตรวจสอบว่า มูลนิธินั้นทำเกี่ยวกับเด็กหรือไม่ อาจจะต้องไปดูในเว็บไซต์
การเป็นมูลนิธิที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องจำเป็นต้องรายงานงบดุล ยอดเงินในบัญชีบริจาค ให้ทางราชการ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ รับทราบทุกปี เป็นการตรวจสอบของทางภาครัฐ และประชาชน มูลนิธิที่เชื่อถือจะได้ใบลดหย่อนภาษี ไม่ได้หมายความว่าใครจะไปขอใบอนุญาตตั้งมูลนิธิก็ได้ เพราะค่อนข้างยากมีการตรวจสอบจากภาครัฐ”
ตั้งสติ...ก่อนบริจาค
“ค่าใช้จ่ายของมูลนิธินั้นจะมีค่าอาหารการกิน ค่าการศึกษาดูแลชีวิตประจำวันเด็กซึ่งใช้หมดไปในแต่ละวันแต่ละเดือนทางมูลนิธิก็ต้องหา การหาสำหรับผม จะเปิดเผย คือขอเสื้อผ้ามาขาย บางคนก็เข้ามาบริจาคถึงที่ เอาเสื้อผ้ามาให้ก็ได้พบกับเด็ก ทั้งเด็กยากจน และเด็กกำพร้า หลายคนที่ผมขอความช่วยเหลือไปผ่านสื่อโซเชียลฯ บางคนไม่เชื่อมาขอดูด้วยตาตัวเอง
ดังนั้นการที่เราจะบริจาคขอให้ตั้งสติ คนไทยใจดี ส่วนใหญ่จะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจเมื่อได้เห็นรูปภาพน่าสงสาร ได้เห็นข้อมูลก็ตัดสินใจโอนเงินบริจาคเลย ผมคิดว่าบางครั้งเราต้องตั้งสติ ควรจะติดตามตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจ
ถ้าคุณบริจาคไป แล้วมารู้ที่หลังว่าเป็นพวกมิจฉาชีพ จะรู้สึกเสียใจผิดหวังทำให้คุณรู้สึกท้อใจในการช่วยเหลือมูลนิธิต่างๆที่เขาทำจริงทำดี จะทำให้มูลนิธิที่ช่วยเหลือเด็กจริงเสียโอกาส”
ครูอ๊อด กล่าวปิดท้ายด้วยว่าการบริจาคไม่จำเป็นต้องเป็น “เงิน” แต่ขอให้ทำด้วย “ใจ”
“จริงๆแล้วการบริจาคไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเท่านั้น คุณสามารถนำเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้มาบริจาคก็ได้ หรือจะเข้ามาที่มูลนิธิมาอาสาสอนการบ้านให้เด็กก็ได้ การทำบุญทำด้วยใจได้ทั้งนั้น”
ปัจจุบันบ้านนกขมิ้นประสบปัญหาผลกระทบจากสังคมและการเมืองทำให้มีผู้บริจาคเงินค่าอาหารให้เด็กน้อยลงอย่างหน้าใจหาย จนไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เพื่อให้มีอาหารและค่าใช้จ่ายที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูเด็กกำพร้ากว่า 200 ชีวิต ในทางกลับกันกลุ่มมิจฉาชีพกลับฉกฉวยโอกาสความน่าสงสารของเด็กกำพร้าไปอย่างหน้าตาเฉย
แน่นอนสมัยนี้การขอรับบริจาค เรี่ยไรเงินในโลกโซเชียลฯ นั้นมีมากเหลือเกิน จนแยกไม่ออกว่าใครควรได้รับความช่วยเหลือจริง ดังนั้นจะทำบุญในแต่ละทีนอกจากจะใช้ความรู้สึกแล้วยังต้องใช้วิจารณญาณให้ถี่ถ้วน
…..คงจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า งานนี้จะของจริง หรือปลอม กันแน่!
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754