เปิดใจ "ป้าเนเน่- นัยเนตร” นักวิ่งมาราธอนรุ่นเดอะ ที่ไม่ว่าจะปรากฏตัวครั้งใดก็เรียกรอยยิ้มจากคนรอบข้างได้ เพราะเธอจัดเต็มทุกงานวิ่ง ด้วยเสื้อผ้าแฟนซีชุดใหญ่ไฟกะพริบ แถมเธอยังมาเคล็ดลับว่าทำไมยังดูสดใสไม่แพ้สาวรุ่น แม้อายุจะล่วงเลยเข้าเลข 6 แล้ว!!
สีสันของงาน ความสุขของป้าเนเน่
สิงห์สนามวิ่งทั้งหลาย คงจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดี กับนักวิ่งสาววัยดึก ที่จะปรากฏตัวด้วยชุดแฟนซีสุดอลังการตั้งแต่หัวจรดเท้า ที่นอกจากจะสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ร่วมงานแล้ว ยังสร้างความสุขให้กับผู้สวมใส่เอง แม้ตนเองจะอยู่ในชุดจะพะรุงพะรังหรือหนักขนาดไหนก็ตาม
เจ้าของชุดแฟนซีที่กำลังพูดถึงอยู่นี้คือ “ป้าเนเน่ - นัยเนตร แสงศักดิ์ศรี” นักวิ่งมาราธอนวัย 60 ปี เธอเปิดบ้านต้อนรับทีมข่าวผู้จัดการ Live ให้ได้มาพูดคุยถึงที่มาที่ไปที่ ว่าเพราะอะไร ที่ทำให้คุณป้านักวิ่งมาราธอนธรรมดาคนหนึ่ง ผันตัวมาเป็นนักวิ่งสายฟรุ้งฟริ้ง จนหลายคนยกตำแหน่งให้เธอเป็น “เจ้าหญิงแห่งวงการวิ่งแฟนซี”
“ตอนแรกๆ ที่วิ่ง ป้าก็ใส่เสื้อวิ่งของชมรมปกติค่ะ จุดเปลี่ยนที่ทำให้แต่งแฟนซีคือ ป้าเห็นในสนามวิ่งจะมีนักวิ่งแฟนซีแต่งกันอยู่แล้ว เขาก็ชวนป้าให้มาแต่ง แรกๆ ก็ยังไม่แต่งหรอก ไม่กล้า อาย(หัวเราะ) แต่ชอบนะ ชอบดูเขา เวลาเขาแต่งแฟนซีมาวิ่งกัน มันมีสีสันกับงานดี
ป้าเริ่มวิ่งปี 48 พอวิ่งปกติได้ประมาณ 6 ปี ก็อยากลองแต่งแฟนซีดูบ้าง ครั้งแรกที่แต่งคืองานวิ่งที่ตาดหมอก จ.เพชรบูรณ์ ตอนนั้นใส่ชุดชาวเขาเผ่าม้งค่ะ อายมาก(ลากเสียงยาว) ไปกางเต็นท์นอนอยู่บ้านตาดหมอก ก็ไม่กล้าออกจากเต็นท์เลย พอใกล้เวลาจะปล่อยตัวนักวิ่ง ถึงจะออกมา อายมากจริงๆ(หัวเราะ) แต่พอผ่านครั้งแรกไปแล้ว ครั้งต่อมาก็เริ่มชิน มันก็หายอาย ทีนี้ก็เลยกลายเป็นชอบแต่งเลยค่ะ”
จากชุดชาวม้งในวันนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ป้าเนเน่ สร้างสรรค์ชุดแฟนซีแปลกใหม่สะดุดตา มาประดับงานวิ่งมาราธอนอยู่เสมอ ทั้งชุดซุปเปอร์ฮีโรจากภาพยนตร์ชื่อดัง ชุดไทยประยุกต์ให้เข้ากับเทศกาลสำคัญต่างๆ ชุดที่นำเอาของดีท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดที่ไปวิ่งมาผสมผสาน รวมทั้งชุดแฟนซีที่ป้าเนเน่ประดิษฐ์ขึ้นเอง เพื่อให้เข้ากับคอนเซปต์งานวิ่งโดยเฉพาะ!
“ตอนสมัยเรียน ป้าเป็นคนชอบเย็บปักถักร้อย เคยคิดจะไปเรียนตัดเสื้อนะ แต่ก็ไม่ได้ไปเรียน ก็เลยเอาความสามารถตรงนั้นมาทำชุดวิ่งเอง จะใช้เวลาว่างไปเดินหาซื้ออุปกรณ์ทำชุดย่านสำเพ็งกับพาหุรัดค่ะ ถ้าจะให้นับชุดทั้งหมดที่มี ทุกวันนี้มีประมาณ 100 กว่าชุดได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกสนามจะไม่ซ้ำกันเลยนะคะ ก็มีจะซ้ำเป็นแบบกันบ้าง เอาชุดนู้นมาใส่ชุดนี้ ดัดแปลงใหม่เพิ่มเข้าไป
ชุดแฟนซีในธีมนักรบ
ล่าสุดที่ไปวิ่งคือที่เทศบาลอำเภอปากช่อง เป็นงานวิ่งวันชัยชนะของย่าโม ซึ่งในคอนเซปต์ของเขา ให้แต่งเป็นนักรบก็คือย่าโม ชุดที่ป้าเน่เตรียมไปจะเป็นโจงกะเบนและตะเบงมานสีทอง มีดาบ 2 เล่ม ส่วนข้างในจะใส่บอดี้สูทไว้ซับเหงื่อและกันแดด เป็นชุดออกศึกค่ะ(หัวเราะ) เวลาทำชุดเสร็จแล้วก็จะได้น้องเปา ลูกชายคนเล็กช่วยเช็กรายละเอียดอีกทีนึงค่ะ แต่ก่อนหน้านี้ทางผู้จัดงาน เขาเอารูปป้าไปทำป้ายประชาสัมพันธ์งานนี้แล้ว ประมาณว่าเป็นผู้นำทัพค่ะ(หัวเราะ)
ตอนแรกที่เริ่มแต่งแฟนซี ลูกๆ ก็จะถามว่า “แม่ ค่าชุดหมดไปเท่าไหร่แล้ว”(หัวเราะ) แต่พอหลังๆ เขาก็ไม่ถาม เขารู้ว่าเป็นความสุขของป้า พอทำเสร็จก็จะถามลูกๆ ว่าสวยมั้ย เขาก็ยิ้มๆ กัน ส่วนค่าใช้จ่ายเรื่องชุดก็หมดไปเยอะมาก(ลากเสียงยาว) น่าจะหมดไปหลายบาทอยู่ แต่ป้าจำไม่ได้หรอกเพราะไม่เคยจดไง ถ้าจดไว้เดี๋ยวจะตกใจว่าหมดไปเยอะ(หัวเราะ)”
เน้นได้ใจ ไม่เน้นที่ 1
เมื่อกวาดตามองไปภายในบ้านของนักวิ่งแฟนซีผู้นี้แล้ว ก็จะพบกับตู้และชั้นวางของที่อัดแน่นไปด้วยถ้วยและเหรียญรางวัลจากการวิ่งมากมาย และบริเวณใกล้เคียงกันก็จะมีอุปกรณ์ ของประดับตกแต่งกระจุกกระจิก รวมทั้งเสื้อผ้าแฟนซีที่ใช้ในการลงสนาม แขวนเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งป้าเนเน่เปิดเผยความอารมณ์ดี ว่ารางวัลที่เห็นอยู่นี้ ไม่ได้มาจากการเข้าเส้นชัยลำดับต้นๆ หากแต่ได้มาจากชุดแฟนซีล้วนๆ
“รางวัลที่เห็นส่วนใหญ่จะได้จากวิ่งแฟนซีนี่แหละค่ะ(หัวเราะ) ถ้าเป็นถ้วยรางวัลที่วิ่งตามรุ่นอายุเนี่ย ก็จะได้น้อยมาก ป้าจะได้ก็ต่อเมื่อนักวิ่งรุ่นเดียวกันไปไม่ครบ(หัวเราะ) ถ้วยรางวัลของป้าจึงมาจากวิ่งแฟนซีมากกว่า ทางผู้จัดงานเขารู้อยู่แล้วว่า แต่ละงานจะมีนักวิ่งแฟนซี เขาก็จะทำเองไว้ให้ จะเข้าเส้นชัยรั้งท้ายหน่อย
สำหรับนักวิ่งที่ช่วงอายุเท่าป้ามีเยอะเหมือนกัน หลายคนเป็นแนวหน้าวิ่งเร็วก็มี รุ่น 60 ปีเนี่ย วิ่งเร็วไม่ได้แพ้คนรุ่นๆ เลย ส่วนนักวิ่งแฟนซี สนามนึงก็จะมีประมาณ 20 คน ก็จะแบ่งๆ รางวัลกันไป อย่างป้าถือว่ายังไม่ใช่คนที่อายุมากที่สุดนะ มีนักวิ่งอายุมากกว่าป้าอีกที่แต่งแฟนซี อายุ 70 กว่าเห็นจะได้
ไม่มีงานไหนที่เข้าเส้นชัยเร็วเลย(หัวเราะ) เพราะส่วนมากแฟนซีเนี่ย ตามทางคนก็จะขอถ่ายรูปไง แล้วถ้าไปวิ่งตามสนามที่มีชาวบ้านเยอะ อย่างจอมบึงมาราธอน ชาวบ้านก็จะออกมาเชียร์ ทุกจุดเลยต้องโดนถ่ายรูป ก็จะทำให้เวลาเพิ่มขึ้น เลยทำให้เวลาเข้าเส้นชัยช้าออกไป แต่ทางทีมผู้จัดงานก็จะรอคนสุดท้ายเข้าทุกครั้งค่ะ(ยิ้ม)”
เมื่อถามถึงธรรมเนียมการแต่งชุดแฟนซีวิ่งว่ามีมานานแล้วหรือไม่ ป้าเนเน่ให้คำตอบว่า มีมานานแล้ว เนื่องจากในสมัยที่เธอลงสนามวิ่งแรกๆ นั้น ก็ได้พบกับกลุ่มนักวิ่งที่แต่งชุดแฟนซีมาวิ่งกันอยู่แล้ว เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างใหญ่และแต่งกันแบบจัดเต็มเลยทีเดียว แต่ทุกวันนี้นักวิ่งรุ่นนั้นกลับไม่ได้แต่งแฟนซีกันแล้ว ป้าเนเน่เลยกลายมาเป็นผู้สานต่อแทน
แม้อุปสรรคระหว่างการใส่ชุดแฟนซีและวิ่งไปด้วย จะเหนื่อย ร้อน หรือหนักมากเพียงใดก็ตาม แต่อุปสรรคเหล่านั้นก็ไม่ได้บั่นทอนกำลังใจในการแต่งชุดแฟนซีไปวิ่งแม้แต่น้อย เพราะทุกครั้งที่เธอปรากฏตัวในสนาม ก็มักจะได้รับก็ได้คำชื่นชมและรอยยิ้มจากนักวิ่งรอบข้างอยู่เสมอ ป้าเนเน่ยอมรับด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า ‘เลิกแต่งไม่ได้จริงๆ’
ถือมะขามมาขนาดนี้ รู้เลยว่าไปวิ่งที่จังหวัดใด
“ตอนแรกป้าก็กะว่าจะแต่งเล่นๆ สัก 2 - 3 ปี พอไปๆ มาๆ มันเลิกไม่ได้ เลยมันก็แต่งอยู่นั้น(หัวเราะ) กะว่าเดี๋ยวจะหยุดแล้วนะ พอแล้ว แต่เด็กๆ รุ่นน้องที่เขาแต่งด้วย เขาก็ไม่ให้เลิก ตอนนี้เลยคล้ายกับว่าจะเป็นแกนนำให้เด็กรุนใหม่ไปเลย
เวลาเราแต่งชุดแฟนซีไปวิ่ง ก็จะเห็นผู้คนรอบข้าง อย่างเพื่อนๆ นักวิ่งเนี่ย เขาก็จะมีความสุขไปกับป้าด้วย เขาจะบอกว่า “ขอบคุณนะครับ ที่ทำให้ผมยิ้มได้ ทำให้ผมหายเหนื่อย” อย่างผู้จัดงาน ก็มีของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้กับนักวิ่งแฟนซีกลับมาค่ะ ปกติเวลาป้าเน่ไปวิ่ง จะเข้าเส้นชัยลำดับนู้นน่ะ คนสุดท้าย(หัวเราะ) เข้าปลายๆ ตลอด ไม่ได้จะแข่งเอาที่ 1 วิ่งไปเรื่อยๆ สร้างสีสันในสนามวิ่งก็พอแล้วค่ะ(ยิ้ม)”
ถ้าไม่ป่วย...คงไม่วิ่ง
ย้อนกลับไป 12 ปี ก่อนที่จะมาเป็นนักวิ่งแฟนซีชื่อดังอย่างทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ป้าเนเน่ออกวิ่งนั้น มีสาเหตุมาจากการที่ “ลุงย่องแย่ง - สมปอง แสงศักดิ์ศรี” สามีของป้าไม่สบาย ซึ่งภายหลังจากที่ไปพบแพทย์ นอกเหนือจากยาที่แพทย์จ่าย ยังมียาดีอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป นั่นก็คือ ‘การออกกำลังกาย’
“เหตุผลที่เริ่มวิ่ง เริ่มมาจากตอนต้นปี 48 ลุงย่องแย่งไม่สบาย ตรวจพบว่าเป็นเบาหวาน น้ำตาล 300 กว่า ไปหาหมอ หมอก็บอกว่า ให้มาออกกำลังกาย นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นค่ะ โดยเริ่มจากการวิ่งเหยาะ แล้วก็วิ่งเร็วขึ้นไปเรื่อยๆ เริ่มวิ่งปลายปี 48 นับแล้วก็วิ่งมาได้ประมาณ 12 ปีแล้วค่ะ ป้าก็ไปวิ่งเป็นเพื่อนลุง ทุกวันนี้อาการเบาหวานของลุงหายเป็นปกติเลย ไม่ต้องกินยาแล้ว(ยิ้ม)”
ป้าเนเน่และลุงย่องแย่ง คู่รักนักวิ่ง
เมื่อป้าและลุง เลือกที่จะใช้วิธีการวิ่ง เป็นการออกกำลังกายพิชิตโรคเบาหวานแล้ว อีก 1 บททดสอบความสามารถของตนเองคือ การลงแข่งวิ่งมาราธอน โดยสนามแรก ที่ทั้งสองลองสมัครประเดิมกำลังขา นั่นก็คือการวิ่ง ไทย - ซิกส์ ด้วยความที่ในตอนนั้นเป็นนักวิ่งหน้าใหม่ เพียงระยะ 5 กิโลเมตรที่ได้ลงแข่ง ป้าเนเน่ยอมรับโดยดุษฎีว่า ‘เหนื่อยมากจริงๆ’
แต่ความเหนื่อยในวันนั้น ได้กลายเป็นความชื่นชอบในวันนี้แทน เพราะนับตั้งแต่วันแรกที่ได้ลงสนามจนถึงปัจจุบัน นักวิ่งวัยดึกผู้นี้ได้ไปพิชิตมาแล้วทั้งสิ้นกว่า 500 สนามทั่วทั้งประเทศ มีงานวิ่งที่ไหน รับรองว่าต้องได้เจอป้าเนเน่พร้อมชุดแฟนซีที่นั่น
นอกจากชุดแฟนซีที่กลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของนักวิ่งสายฟรุ้งฟริ้ง ยังมีอีกคนที่คอยอยู่เคียงข้างจนแทบจะเป็นเงาตามตัว แม้ป้าเนเน่จะวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายก็ตาม ซึ่งเป็นภาพที่นักวิ่งคนอื่นๆ เห็นจนชินตา คนคนนั้นก็คือ ลุงย่องแย่งคู่ชีวิตนักวิ่ง ที่คอยเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันในทุกสนาม
“เรื่องแต่งแฟนซี เมื่อก่อนลุงเขาก็แต่งนะ นานแล้ว(หัวเราะร่า) แต่พอหลังๆ มีนักวิ่งแฟนซีเยอะ ลุงเลยไม่แต่งเลย ส่วนมากลุงเขาจะแต่งให้งานคนที่รู้จักกัน คนที่พอจะคุ้นๆ กัน เขาขอมาก็แต่งให้ ที่ลุงเคยแต่งก็จะเป็นชุดนักเรียน เป็นชาวเขา เป็นมนุษย์ไฟฟ้า เป็นนักรบ เป็นคนญี่ปุ่น เขาก็จัดเต็มไม่แพ้ป้าเน่เลยค่ะ(หัวเราะ)
เวลาไปวิ่ง เราทั้งคู่ไม่เคยเข้าเส้นชัยพร้อมกันเลยค่ะ เพราะวิ่งคนละประเภท จะมีก็แต่ไปรอรับกัน แล้ววิ่งเข้าเส้นชัยพร้อมกันมากกว่า เพราะว่าของป้าเน่จะวิ่งช้าไงแต่จะระยะสั้น ของลุงจะวิ่งเร็วหน่อยแต่ระยะทางยาวกว่า ถ้าป้าเน่เข้าก่อน ป้าเน่ก็จะเดินออกไปสักครึ่งกิโล หรือว่า 500 เมตร แล้วก็วิ่งเข้ามาด้วยกันกับลุง ให้กำลังใจกันค่ะ”
เมื่อถามคู่รักนักวิ่งทั้งสองว่า จะวิ่งไปจนถึงอายุเท่าใด คนทั้งคู่ตอบแทบจะเป็นเสียงเดียวกันว่า “จะวิ่งจนกว่าขาจะวิ่งไม่ไหว”
“ตอนนี้ถ้ามีมาราธอนก็วิ่งไหวค่ะ แต่ว่าใช้เวลาเยอะมากมากหน่อย อย่าง 42 กิโลที่วิ่งผ่านมา ใช้เวลา 8 ชั่วโมง วิ่งเรื่อยๆ เดินบ้าง สลับกับหยุดพัก ปีก่อนโน้น 9 เกือบ 10 ชั่วโมง เพราะว่าแวะถ่ายรูป แวะคุย แวะกิน มีแวะกินด้วยนะ(หัวเราะ) ป้ากับลุงตั้งใจว่าจะวิ่งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะวิ่งไม่ไหวค่ะ เพราะทุกวันนี้ยังแข็งแรง ยังวิ่งได้ คนอายุ 80 แล้ว เขายังวิ่งไหวเลย 84 ยังวิ่งไหว วิ่งเร็วด้วย เป็นแนวหน้าเลยค่ะ(ยิ้ม)”
นับตั้งแต่วันที่ก้าวขาลงสู่สนามวิ่งจนถึงวันนี้ ผ่านมา 12 ปี กว่า 500 สนาม ที่ป้าเนเน่และลุงย่องแย่งได้ไปพิสูจน์กำลังขามา เป็นเครื่องการันตีแล้วว่า แม้อายุจะมาก แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่มาบั่นทอนการรักสุขภาพเลยแม้แต่น้อย
แม้ทั้งคู่จะไม่ได้เป็นที่ 1 ในสนาม แต่อย่างน้อยก็ถือว่าเอาชนะใจตัวเองที่สามารถก้าวผ่านทั้งอุปสรรคเรื่องอายุ รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักวิ่งรุ่นใหม่ รวมถึงคนรักสุขภาพคนอื่นๆ อย่างทุกวันนี้
เมื่อเห็นประโยชน์ของการวิ่งอย่างนี้แล้ว สละเวลาว่างในช่วงเย็นสัก 1 ชั่วโมงต่อวัน หยิบรองเท้าผ้าใบออกมาปัดฝุ่น ชวนคนในครอบครัวออกไปวิ่งกัน จะสร้างสุขภาพดี เริ่มต้นวันนี้ก็ยังไม่สาย...
“เทรล ภูทับเบิก” สนามที่โหดที่สุด ป้าเนเน่ก็ถือได้ว่าเป็นขาประจำคนหนึ่งของสนามวิ่ง ไม่ว่าจะออกตกเหนือใต้ ล้วนผ่านมาหมดแล้วสบายๆ แต่แน่นอนว่าต้องมีสักสนามที่ทรหดและท้าทายกำลังขาของนักวิ่งวัย 60 ปีผู้นี้ สำหรับป้าเนเน่แล้ว ขอยกตำแหน่งสนามสุดหินให้กับ ‘เทรล ภูทับเบิก’ ซึ่งเป็นสนามที่หินชนิดที่ว่า เธอและสามีนักวิ่งถึงกับถอดใจมาแล้ว “ป้าว่า ‘เทรล ภูทับเบิก’ นะ ทางมันจะค่อนข้างขรุขระ เป็นภูเขา เป็นดิน เป็นทราย เป็นป่า อะไรพวกนี้ ไม่ใช่ทางเรียบ เป็นทางขึ้นเขา ลงเขา เข้าป่า ปล่อยตัวตอนตี 1 แต่สนุกมากเลย สนุกไปอีกแบบนึงค่ะ เวลาปล่อยตัว ระยะยาวจะปล่อยตัวก่อน ลุงกับป้าวิ่งคนละประเภทกัน ของลุง 45 กิโลเมตร แต่ก็เป็นเส้นทางเดียวกัน ระยะยาวจะเลยขึ้นเขาไปอีกไกล หลายลูก ถ้ามินิมาราธอน 10 กิโลเมตร ก็ขึ้นไปแค่จุดวัดอุณหภูมิค่ะ” ส่วน ‘ลุงย่องแย่ง’ ผู้เป็นสามี ก็คิดเห็นเช่นเดียวกัน และยังช่วยป้าเนเน่ถ่ายทอดประสบการณ์การวิ่งในสนามสุดโหดให้เห็นภาพชัดเจนมายิ่งขึ้น “เราออกตัวกันตอนตี 1 ตี 2 ทางมันก็มืด ต้องใช้ไฟฉายส่องดูตามทาง ตอนนั้นมันได้ยินทั้งเสียงกบมั่ง เสียงจิ้งหรีดมั่ง มีน้ำค้างตกแปะๆ ด้วยนะ ลุงเลยรู้สึกว่า โห...ทำไมมันดีอย่างนี้ ตอนที่วิ่งไปไม่รู้สึกว่าเหนื่อยเลย จะมารู้สึกเหนื่อยก็โน้นเลย 3 - 4 โมงเช้า ตอนวิ่งไม่เหนื่อยหรอก มันสนุกมากกว่า บรรยากาศมันน่าวิ่งมาก สำหรับลุงก็ถือว่าเป็นสนามที่หินอีกสนามนึงเลย 45 กิโลเมตร ขึ้นเขาลงเขาเป็นลูกๆ นึกในใจ ก็ท้อเหมือนกันนะ เมื่อไหร่จะถึง(หัวเราะ) เข้าเส้นชัยเกือบ 10 โมง เท่ากับว่าใช้เวลาวิ่งไปเกือบ 10 ชั่วโมง แล้วตอนนั้นร่างกายเราก็ไม่ค่อยจะไหวแล้ว แต่เหมือนกับนักวิ่งเขาจะให้กำลังใจกันไปตลอดทาง พี่ไปด้วยกันๆ ไม่นาน เดี๋ยวก็ถึงแล้ว ก็ไป ไปด้วยกัน ไปจนถึง พอไปถึงแล้วรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่มีความสุข เหมือนกับมัน เราประสบความสำเร็จแล้ว สนามนี้ลุงกับป้าไปวิ่งมา 2 ปีแล้ว ปีแรกล้มเหลว ขึ้นรถกลับ ไม่ไหว พอปีที่ 2 มาแก้มือไง คิดว่าปีนี้ต้องเอาให้ถึง ด้วยสภาพอากาศและบรรยากาศมันดี ไปวิ่งตอนตี 1 มันได้ยินเสียงธรรมชาติ มันสวยนะ สวยมาก(ยิ้ม)” |
เผยเคล็ดลับ สุขภาพกายสดใส สุขภาพใจ Strong! เมื่อถามถึง เคล็ดลับที่ทำให้ป้าเนเน่ดูแข็งแรงสดใส กระฉับกระเฉง แม้อายุจะล่วงเข้าสู่หลัก 6 แล้ว เคล็ดลับของเธอไม่มีอะไรพิเศษนอกจากการวิ่ง เพราะการวิ่งก็ถือได้ว่าเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยทั้งเรื่องสุขภาพกายที่ไม่ต้องไปพบแพทย์อีกเลย รวมทั้งได้ในเรื่องสุขภาพจิตที่ดี เพราะได้เพื่อนใหม่ทุกครั้งที่ได้ออกวิ่งอีกด้วย “เรื่องการดูแลตัวเอง ป้ากินหมดเลย ยิ่งวิ่งยิ่งหิว ยิ่งกินเยอะ(หัวเราะ) แต่จะหลีกเลี่ยงพวกที่มีไขมัน เน้นกินปลา พอมาวิ่งก็ได้เผาผลาญไปในตัว ดีค่ะ พอได้ออกกำลังแล้ว ได้เหงื่อได้อะไร ป้ารู้สึกว่าร่างกายมันสดชื่นขึ้น ไม่อย่างนั้นมันจะรู้สึกกะปกกะเปลี้ยยังไงไม่รู้(หัวเราะ) ถ้าไม่ได้ยืดเส้นยืดสาย” มีนะเพื่อนๆ ป้าที่ไม่ได้เป็นนักวิ่ง เขาก็ต้องไปหาหมอทุกเดือนเลย ตรวจสุขภาพ เป็นนั่นเป็นนี่ ป้าก็ชวนมาวิ่ง แต่เขาก็บอกว่าไม่มีเวลา ป้าเลยบอกไปว่า ถ้าไม่มีเวลาต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องหาเวลามาออกกำลังกาย ส่วนตัวป้าเองวิ่งแล้วติดนะ เสาร์ - อาทิตย์เนี่ย ต้องออก อาทิตย์ไหนไม่ไปมันรู้สึกเหมือนขาดอะไรไป” “ถ้าถามว่าชอบวิ่งแบบไหนมากกว่า ป้าเน่ชอบวิ่งตามงานมากกว่าวิ่งตามสวนสุขภาพนะ เพราะรู้สึกว่ามันมีเป้าหมาย ได้เห็นธรรมชาติ ได้เจอเพื่อน ได้จิตใจที่สดชื่นแจ่มใส แต่ถ้าคนไหนไม่มีเวลา ก็วิ่งเอาตามสวนสุขภาพใกล้บ้านเอา ก็ได้สุขภาพดีเหมือนกันค่ะ” ส่วนลุงย่องแย่งในวัย 55 ปี เล่าว่า หลังจากที่วิ่งแล้ว ทุกวันนี้รู้สึกว่าแข็งแรงกว่าเมื่อก่อนมาก เมื่อก่อนตนเองทั้งดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ แต่ปัจจุบันนี้ได้เลิกทุกอย่างแล้ว เพราะส่วนมากคนที่เป็นนักวิ่งใส่ใจสุขภาพมากกว่า และหากใครที่ไม่ชอบวิ่ง ลุงย่องแย่งแนะนำให้ลองเต้นแอโรบิกดู เพราะเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ ลงแค่แรงกับรองเท้าผ้าใบอีก 1 คู่ ก็สามารถสร้างสุขภาพดีให้ตนเองได้ ไม่ว่าจะอายุมากขนาดไหนก็ยังไม่สายที่จะออกกำลังกาย |
สุขใจทุกครั้งที่ได้กราบพ่อ เปลี่ยนสีชุดแฟนซีเป็นสีดำ ในช่วงของการไว้อาลัย “เวลาไม่ได้ไปวิ่ง ป้าก็จะเตรียมตัวทำชุดแฟนซี ไปเดินสำเพ็ง เดินพาหุรัด แล้วก็จะเข้าไปกราบพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ไปกราบพระองค์มา 200 กว่าครั้งแล้ว เวลาไปจะจดวันที่และครั้งที่ไปไว้ ถ้าวันไหนคนน้อยก็จะวนกราบจนเวลาหมด ประมาณ 3 ทุ่ม วันนึงบางทีก็ได้ 5 - 6 รอบ ก็จะเดินกราบอยู่อย่างนั้น เดินทั้งวัน เพราะว่าอยู่บ้านก็ไม่ได้ทำอะไร ก็ไปเดินกราบพระองค์ท่านดีกว่า พอขึ้นไปเห็น ความรู้สึกข้างในมันมีความสุข มันบอกไม่ถูก มันทำให้ป้ารู้สึกว่าเดี๋ยวมาอีกดีกว่า คนก็น้อย รอก็แป๊บเดียวเอง เพราะว่าตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ โอกาสที่จะเฝ้าแบบนี้ไม่มีนะ ไม่ได้เข้าเฝ้า ตอนนี้ถึงจะมีแต่ร่าง แต่ก็มีความสุขที่ได้มากราบ ทุกคนที่ไปจะถามเหมือนกันหมด มาทำไมทุกวัน ป้าก็บอกไม่รู้เหมือนกัน ตอบไม่ได้ แต่รู้ว่ามาแล้วมีความสุข เจ้าหน้าที่ก็จำได้ แรกๆ ก็ไปด้วยกันกับลุง แต่ตอนนี้ลุงไม่ค่อยว่างก็เลยไปคนเดียว ป้าตั้งใจว่าจะไปเรื่อยๆ จนกว่าพระเมรุจะเสร็จ ส่วนเรื่องวิ่งการกุศลเพื่อพระองค์ ถ้ารู้ว่าที่ไหนมีก็ไปทุกครั้ง การแต่งกายก็จะเป็นชุดแฟนซีที่มีรูปในหลวง ลักษณะชุดตอนที่ท่านมีชีวิตอยู่ก็จะเป็นพวกชุดไทยออกสีเหลือง สีทอง สีของพระองค์ท่าน แต่หลังจากที่พระองค์สิ้นแล้ว ชุดก็จะเปลี่ยนเป็นสีดำบ้าง ขาวบ้าง ประดับเลข ๙ บ้าง นักวิ่งคนอื่นก็จะประมาณนี้ แต่งขาว-ดำกัน แต่ก็ยังคงความเป็นแฟนซีเล็กน้อยค่ะ” |
สัมภาษณ์โดย : ผู้จัดการ Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก “เนเน่ กะ ย่องแย่ง”
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754