ปัญหาการหลงลืมของคนสูงวัย หรือผู้สูงอายุนั้นถือเป็นเรื่องปกติก็ว่าได้ เพราะด้วยวัยและสังขารของร่างกาย ย่อมอ่อนล้าและเสื่อมไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงวัยแล้วมีปัญเรื่องการทานยาผิดบ้างถูกบ้างมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ
ล่าสุด กลุ่มเภสัชกร รพ.ระยอง จึงได้คิดค้นฉลากยาแบบใหม่ ด้วยการใช้รูปภาพเพื่อบอกการกินยาช่วยคนแก่กินยาถูกต้องเพิ่มขึ้นกว่า 90 % หลังพบปัญหาคนไข้อ่านหนังสือไม่ออก ใช้ยาไม่เป็น ทำยาที่แพทย์ให้ไปทานเหลือบาน
ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การพัฒนาฉลากยารูปภาพ เพื่อลดปัญหาการใช้ยาในผู้สูงอายุ มีวัตถุประสงค์ให้ผู้สูงอายุที่สายตาพร่ามัวหรืออ่านหนังสือไม่ได้ สามารถเข้าใจและอ่านฉลากยาเองได้อย่างถูกต้องจากการเห็นเพียงภาพ หรือสัญลักษณ์ ซึ่งผลจากโครงการนี้มีผู้สูงอายุที่อ่านฉลากยาและใช้ยาได้ถูกต้องเพิ่มขึ้นกว่า 91% โดยทีมงานผู้พัฒนาคาดว่าจะขยายผลให้แก่ รพ.อื่นที่สนใจและขยายผลไปที่ยากลุ่มอื่นที่ผู้สูงอายุมีปัญหาการใช้ยาที่บ้านได้นำไปลองใช้ต่อไป
ขณะที่ ภญ.ขัตติยา ชัยชนะ เภสัชกรงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ รพ.ระยอง เผยว่า เภสัชกรปฐมภูมิ รพ.ระยองได้พัฒนารูปแบบฉลากยารูปภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาจากการใช้ยาในผู้สูงอายุที่บ้าน กรณีที่ผู้ป่วยอยู่คนเดียวไม่มีใครช่วยจัดยาให้ทาน ประกอบกับอ่านหนังสือไม่ออก หรือผู้ป่วยบางรายอ่านหนังสืออกแต่ด้วยวัยที่มากสายตาไม่ดี จึงไม่สามารถอ่านข้อความบนฉลากยาได้ชัดเจน เช่นนั้นแล้วจึงได้ใช้รูปแบบแสดงแทนวิธีการใช้ยาขึ้นมา ได้แก่ หลังอาหาร ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน เย็น เนื่องจากทีมเภสัชกร รพ.ระยอง ได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น พบว่าปัญหาจากการใช้ยาส่วนใหญ่ คือ การบริหารยาผิด เช่น การกินยาผิดวิธีที่ระบุ การฉีดอินซูลินผิดวิธีที่ระบุ การใช้ยาสูดพ่นผิดวิธีที่ระบุ เป็นต้น จากปัญหาเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยใช้ยาไปในทางที่ผิด เช่น บางท่านมีการใช้ยาจำนวนมากเกินไป หรือใช้ยาไม่ครบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริหารยาของผู้ป่วยได้
ทั้งนี้ จากข้อมูลของโรงพยาบาลระยอง พบว่า มีจำนวนผู้สูงอายุโรคเรื้อรังจำนวนมากเช่นกันที่เข้ามารักษาพยาบาลจำนวนมาก เช่น ปี 2559 จำนวน 90,686 ครั้ง จากผู้สูงอายุทั้งหมด 17,693 คน การใช้งานฉลากยารูปภาพนี้เบื้องต้นใช้นำร่องในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ใน จ.ระยองหลายแห่ง เช่น รพ.สต.บ้านเพ รพ.สต.บ้านไร่จันดี เป็นต้น
นับเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยของผู้ที่มีปัญหาด้านสายตาที่ต่อจากนี้จะได้ทานยาได้อย่างถูกต้อง ไม่ต้องใช้วิธีจำจากลักษณะของเม็ดยาอีกต่อไป หากยังจำกันได้ย้อนไป 2-3 ปีที่แล้วได้มีการตั้งกระทู้ชื่อว่า “เภสัช! เตรียมจ่ายยา เจอคนไข้ยื่นซองยาเก่าให้ แต่ดันวาดรูปเลอะเทอะบนซองยา..กำลังจะต่อว่า! แต่ ...”
พร้อมเล่าว่า เรื่องที่จะกล่าวถึง กลายเป็นเรื่องราวดีๆ บนโลกออนไลน์ที่หลายคนมีการแชร์กันอย่างแพร่หลายจากสมาชิกเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อ Jarunee Tongwun ได้แชร์เกี่ยวกับการป้องกันการหลงลืมยาที่ตัวเองต้องทานว่า ## ชื่นชมความน่ารักของผู้ป่วยค่ะ ## ระบุข้อความว่า
วันนี้เช็กยาผู้ป่วยใน เจอซองยาเดิมผู้ป่วย วาดรูปอะไรไม่รู้บนซองยา ดูคล้ายมด แวปแรกที่เห็นก็เอ๊ะ! วาดอะไร วาดทำไม ซองยาดูเลอะเทอะหมด (แอบติคนไข้ในใจ) แต่พอหยิบยาอีกซองมาดูเอ๊ะ! ซองนี้ก็วาดอีก นั่งดูอยู่พักนึง หันไปเห็นอายุผู้ป่วย 79 ปี ก็เลยถึงบางอ้อค่ะ...ยายแกไม่ได้วาดรูปมด และยายไม่ได้วาดเล่นๆ แต่มันคือ รูปคนกำลังนอนต่างหาก (มีหมอนด้วย อิอิ) คงจะเป็นวีธีช่วยจำของยายว่ายา2ซองนี้ให้กินก่อนนอนนั่นเอง เมื่อเภสัชคิดออกก็แอบขอโทษยายในใจที่เข้าใจยายผิดไป กลับชื่นชมยายด้วยซ้ำยายน่ารักมากที่หาวิธีต่างๆเพื่อช่วยให้ตัวเองกินยาได้ถูกต้อง
ขอฝากถึงเภสัชกรทุกคนนะคะ ก่อนเราจ่ายยาให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ (มากๆ) ถามแกสักหน่อย ว่าแกหยิบยากินเองมั้ย อยู่กับใคร มีคนช่วยแกดูเรื่องยามั้ย อ่านฉลากยาเห็นมั้ย อ่านฉลากยาออกมั้ย ฯลฯ คำถามเหล่านี้ เป็นสิ่งที่นำไปสู่การค้นหาปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อเราจะได้หาแนวทางหรือวิธีการช่วยเหลือ ให้ผู้ป่วยที่รับยาไปแล้วนำยาไปใช้ยาให้อย่างถูกต้องและปลอดภัย นี่แหละคืออีกบทบาทหนึ่ง ที่แท้จริงของเภสัชกร ไม่ใช่เพียงแค่จ่ายยาให้เร็ว ให้ผู้ป่วยหมดทันเวลา
ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ควรได้รับการสนับสนุนและควรกระจายการแจกฉลากยารูปภาพแก่ผู้สูงวัยให้ได้ใช้กันอย่างทั่วถึง เพราะเชื่อได้เลยว่ามีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่ต้องจัดยากินเองบางครั้งก็จำไม่ได้ว่ายาตัวไหนต้องกินตอนไหน เพราะตัวหนังสือที่เขียนบนหน้าซองยาช่างตัวเล็กซะเหลือเกิน แต่หากเป็นรูปภาพ หรือสัญลักษณ์ จะช่วยให้ผู้สูงวัยเข้าใจมากขึ้น
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754