เกิดเป็นดรามาสนั่นโซเชียลฯ กรณีเพจดังแฉ "หมอนักเขียน" เจ้าของคลินิกสมุนไพรชื่อดัง เขียนหนังสือบิดเบือนข้อมูลการแพทย์แผนปัจจุบันแบบซึ่งๆหน้า แถมยังโจมตีแพทย์แผนไทย การใช้สมุนไพรไทย แต่ให้ซื้อสมุนไพรราคาแพงๆ ที่ตัวเองขายแทน แถมยังห้ามผู้ป่วยมะเร็งทำคีโม เลิกใช้ยาเองโดยไม่ต้องแจ้งหมอ ล่าสุดแพทยสภารับเรื่องร้องเรียนแล้ว เบื้องต้นพบหลายประเด็นต้องพิจารณา ด้านคุณหมอผู้เขียนหนังสือทราบเรื่องแล้ว เตรียมรวบรวมข้อมูลชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป
"สมุนไพร วิธีดูแลสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก" คือข้อความส่วนหนึ่งที่เขียนไว้ในหนังสือเจ้าปัญหาของแพทย์แผนปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์แผนจีน และเจ้าของคลินิกสมุนไพรชื่อดัง โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของยาสมุนไพร และการโฆษณายา ซึ่งมีการร้องเรียนจากเพจ "แหม่มโพธิ์ดำ" ที่โพสต์เตือนภัยเนื้อหาในหนังสือ พร้อมวิพากษ์ถึงจรรยาบรรณแพทย์ ทั้งบิดเบือนข้อมูลการแพทย์แผนปัจจุบันแบบซึ่งๆหน้า แถมยังโจมตีแพทย์แผนไทย การใช้สมุนไพรไทย แต่ให้ซื้อสมุนไพรราคาแพงๆ ที่ตัวเองขายแทน
นอกจากนั้น ยังห้ามผู้ป่วยมะเร็งทำคีโม โดยให้เหตุผลว่า เคมีบำบัดจะไปร่วมมือกับมะเร็งทำให้มะเร็งลุกลามขึ้น แถมยังเขียนบอกให้เลิกใช้ยาเองโดยไม่ต้องแจ้งหมอ ซึ่งทางเพจดังกล่าวเห็นว่า เป็นการบิดเบือนข้อมูลการแพทย์เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองอย่างชัดเจน ก่อนจะฝากพลังโซเชียลฯ กดดันเรื่องนี้เพื่อให้แพทยสภาตั้งกรรมการสอบ เพราะเป็นการเสี้ยมคนแบบผิดๆ จนนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้
ด้าน "แพทยสภา" เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียนก็เร่งสอบ "หมอ" เจ้าของหนังสือที่ตกเป็นข่าวฉาว โดยกรรมการแพทยสภา "พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ" เผยว่า หากผิดกฎหมายของ อย. ในเรื่องการโฆษณายาจริง ก็จะเข้าข่ายผิดข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 2 หลักทั่วไป ในข้อ 5 ระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมดำรงตนให้สมควรในสังคมโดยธรรม และเคารพต่อกฎหมายของบ้านเมือง
ขณะที่ทางฝั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) "ภก.ประพนธ์ อางตระกูล" บอกว่า หากเป็นการเขียนถึงการดูแลสุขภาพตัวเองให้หันมากินหรือมาใช้สมุนไพรธรรมดา เช่น กระชาย ขมิ้นชัน เป็นต้น ก็ไม่เข้าข่ายโฆษณาผลิตภัณฑ์ ส่วนที่ระบุว่าเป็นแพทย์แต่กลับเขียนให้ประชาชนเลิกใช้ยา ให้มาใช้สมุนไพรแพงๆ คงต้องให้แพทยสภาพิจารณาว่าละเมิดการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบรายละเอียดหนังสือเบื้องต้นของฝ่ายจริยธรรม แพทยสภา พบว่า มีหลายประเด็นที่จะต้องพิจารณา โดยทางแพทยสภารับเรื่องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยผ่านอนุกรรมการบริหารและกรรมการแพทยสภา เพื่อตั้งคณะกรรมการจริยธรรม ไต่สวนข้อเท็จจริงในเนื้อหาที่ถูกกล่าวโทษว่าจะเข้าข่ายผิดข้อบังคับจริยธรรมในมาตราใด โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบสวน และผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลต่อไป ประกอบคดีต่อไป ส่วนในกรณีมีผู้เสียหายที่ต้องการร้องเรียนเพิ่ม กรุณาแจ้งได้ที่ email tmc@tmc.or.th ฝ่ายจริยธรรม แพทยสภา
เมื่อสอบถามไปยังร้านหนังสือแห่งหนึ่ง มีการระบุถึงหนังสือที่ตกเป็นข่าวฉาวในครั้งนี้ว่า ยอดขายเริ่มลดลงหลังขึ้นแท่นหนังสือขายดีอยู่ช่วงหนึ่ง โดยเชื่อว่าน่าจะมีผลจากกรณีข่าวที่เกิดขึ้น ขณะที่บางความเห็นในโลกโซเชียลฯ แม้จะไม่เห็นด้วยกับการชวนให้ชื้อสมุนไพรราคาแพงๆ แต่ส่วนหนึ่งมองว่า การรักษาด้วยยาสมุนไพร ถือเป็นทางเลือก และความหวังของผู้ป่วยบางรายหากใช้ยาเคมีไม่ได้ผล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สมุนไพรต้องมีผลการวิจัยรองรับสรรพคุณและไม่มีผลตกค้างหรือผลข้างเคียงต่ออวัยวะร่างกาย ที่สำคัญคือ ราคาต้องไม่แพงกว่ายาเคมี มีองค์การอาหารและยาให้การรับรอง
สำหรับคุณหมอผู้เขียนหนังสือเจ้าปัญหานี้ หลังตรวจสอบพบว่า เป็นแพทย์จริง มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ปัจจุบันเป็นเจ้าของคลินิกสมุนไพรชื่อดัง และเขียนหนังสือมาแล้วหลายเล่ม แต่เล่มเจ้าปัญหา ไม่ได้ถูกตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ที่ใครหลายคนคุ้นเคยกันดี ทว่าเป็นชื่อของสำนักพิมพ์ที่ใช้ชื่อเดียวกับคลินิกสมุนไพรที่คุณหมอท่านนี้เป็นเจ้าของ
นอกจากนั้น ยังเคยตกเป็นที่สนใจของสื่อต่างๆ จนถูกคว้าตัวมาสัมภาษณ์เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ และรายการโทรทัศน์หลายต่อหลายหน โดยเฉพาะศาสตร์ "แมะ" ซึ่งเป็นการตรวจจับชีพจรเพื่อตรวจดูการทำงานของอวัยวะภายใน แค่ใช้นิ้วมือกดจับชีพจรเพียงไม่ถึง 2 นาทีก็สามารถวินิจฉัยโรคได้แล้ว
ทั้งนี้ ภายหลังจากเกิดกระแสข่าว ทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้พยายามติดต่อไปยังนายแพทย์ผู้เขียนหนังสือเจ้าปัญหานี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ จนเมื่อติดต่อไปยังภรรยาของคุณหมอ ได้รับการตอบกลับมาว่า ทราบข่าวแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล และเตรียมชี้แจงข้อเท็จจริงผ่านสื่อต่อไป
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754