ดิบดวลดิบ! สังเวียนนี้ ไม่มีแพ้-ไม่มีชนะ-ไม่สร้างศัตรู-ไม่เสียมิตรภาพ... เวลา 3 นาที ที่ปล่อยให้หมัดแลกหมัดอย่างลูกผู้ชาย บนพื้นที่ที่ไม่ใช่ผืนผ้าใบ แต่เป็นผืนดินสาธารณะทั่วๆ ไป ที่มีระบบรองรับความปลอดภัยอย่างเข้มงวด แม้จะถูกขนานนามว่า “มวยข้างถนน” แต่กลับเหนือชั้นกว่า “มวยเถื่อน” ทั้งยังมี “สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย (กกท.)” รับรองมาตรฐานอีกต่างหาก
บอกได้เลยว่านักสู้ฟุตเวิร์กกลุ่มนี้ไม่ธรรมดา และวันนี้ พวกเขาพร้อมแล้วที่จะผสานพลังสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ๆ แสดงพลังบนพื้นที่เปิดภายใต้อุดมการณ์ “เปลี่ยนความรุนแรง ให้กลายเป็นมิตรภาพ” เพื่อขยายมุมมองและปล่อยของให้คอมวยได้รับรู้!!
คิดมุมกลับ ใช้ความรุนแรง ยุติความรุนแรง!!
[ดุเดือด! งาน “สงกรานต์(สาดหมัด)บ้านเจ้าพระยา” ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ซ.มวยไทยสตรีท ถ.พระอาทิตย์]
"ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ "Fight Club Thailand (FCTH)" สังเวียนที่จะเปลี่ยนความรุนแรง ให้กลายเป็นมิตรภาพ สังเวียนนี้ 1 ยก 3 นาที ผมไม่ได้เลือก คุณไม่ได้เลือก แต่นักสู้เหล่านี้เท่านั้นที่เป็นคนเลือก!!"
นี่คือถ้อยคำคุ้นหู ที่พวกเขาใช้เปิดตัว ประกาศจุดยืนในทุกๆ คลิปของการสาดหมัดสำแดงฤทธิ์วิชา “มวยข้างถนน” ซึ่งอัปโหลดรายการปะทะหมัด-แข้ง-เข่า กันแบบเนื้อๆ เน้นๆ ผ่านแชนแนล “Fight Club Thailand” บน Youtube ที่มีผู้ติดตามถึง 90,000 กว่ารายในปัจจุบัน หลังเปิดตัวครั้งแรกในเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งหมายความว่ากลุ่มดิบๆ กลุ่มนี้ เพิ่งมีอายุได้ไม่ถึงขวบปีเลยด้วยซ้ำ
อะไรทำให้เวทีมวยเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจากคนไม่มีเส้นมีสายในวงการแม่ไม้มวยไทย ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนเติบโตอย่างก้าวกระโดดมาได้ภายในเวลาเพียง 9 เดือนเท่านั้น? คงเป็นเพราะ “ความดิบ” ตั้งแต่ยุคแรกของการก่อตั้ง ที่อนุญาตให้คนอยากออกหมัดมวยมาปะทะกันได้อย่างอิสระที่สุดตั้งแต่เคยมีมาในประเทศไทย ส่งให้คลิปการต่อสู้ของพวกเขากลายเป็น Talk of The Town เพียงแค่ชั่วข้ามคืน
[คุมเข้มความปลอดภัยด้วยทีมงาน พร้อม “รถพยาบาล” คอย Standby ในทุกโชว์]
ย้อนกลับไปในวันที่ภาพความดิบของนักสู้จากสองฝั่งภายใต้ชื่อ "Fight Club Thailand" คือภาพที่คอรายการคุ้นชิน มันคือการประจันหน้ากันบนลานซีเมนต์แข็งๆ แบบไร้อุปกรณ์ป้องกันใดๆ, ไม่ใส่ฟันยาง, ไม่สวมนวม, ไม่มีกันกระแทก, มีแค่ผ้าพันมือง่ายๆ กับกรรมการห้ามทัพแบบบ้านๆ
ถ่ายคลิปต่อยกันแบบไม่ต้องจัดฉาก เมื่อสิ้นสุดเวลา 3 นาทีแห่งการปะทะ จะไม่มีผู้แพ้-ผู้ชนะ หลงเหลือเพียงร่องรอยแห่งนักสู้ กับมิตรภาพ-การเชิดชูในฐานะ “ลูกผู้ชาย” นี่แหละคือจุดขายที่ทำให้กลุ่มคนดิบเหล่านี้ ได้ใจใครต่อใครไปเต็มๆ!!
“มันเริ่มจากซอกตึกเล็กๆ ตรง สามเสนซอย 2 ครับ ผมโทร.ไปชวนเพื่อนมาต่อยกันเล่นๆ ถอดเสื้อเอามาพันมือ มาถึงก็ต่อยกันตรงนั้นเลย แล้วเพื่อนอีกคนที่ไปด้วยก็ขอ live สด แล้วมันก็กลายเป็นประเด็นขึ้นมาเร็วมาก จนตัดสินใจตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา
[คู่ประวัติศาสตร์ คู่ชกคู่แรกที่ทำให้เกิดรายการนี้ขึ้น]
[ตอนนี้เปลี่ยนไปจากการต่อสู้ยุคแรกมาก สมัยที่ยังไม่มีการปูพื้นและการเซตระบบความปลอดภัยอย่างเข้มงวดอย่างในปัจจุบัน]
ตอนแรกไม่ได้คิดด้วยครับว่ามันจะเติบโตอะไร เพราะเราเริ่มจากคน 2 คน ก็คิดว่าคงค่อยๆ เพิ่มไปทีละนิด แต่กลายเป็นคนเข้ามาทีเดียว 20,000 แล้วก็กลายเป็น 40,000 ผลมันตอบรับดีเกินคาด จนเราต้องมานั่งคิดระบบให้ทุกอย่างได้มาตรฐาน มีการแยกน้ำหนัก จับฉลากคู่ชกเพื่อให้ได้ต่อยกันจริงจังตามความเหมาะสม จนกลายมาเป็นรูปแบบที่เรายึดมาจนถึงทุกวันนี้”
[เบียร์-โสภณ นาถนุกุล ผู้ก่อตั้ง "Fight Club Thailand" และช่างภาพวิดีโอ]
“ที่นี่เป็นเหมือนค่ายปลดอาวุธ คนส่วนใหญ่ที่มา เด็ก ปวช.-เด็กช่าง ที่เกเรๆ มา ก็กลับไปเปลี่ยนนิสัย ก่อนหน้าอาจจะเคยใช้อาวุธ พอมานี่ เขาก็เลิกจับอาวุธกันไปเลย”
เบียร์-โสภณ นาถนุกุล หนุ่มร่างสูงในเคราครึ้ม ผู้ก่อตั้งกลุ่มคนรักหมัดมวยในนาม "Fight Club Thailand" ช่วยเหวี่ยงเข็มนาฬิกาให้หมุนย้อนกลับ ก่อนเปิดใจพูดถึงเบื้องหลังทั้งหมดว่า มาจากความเบื่อหน่ายวงจรเดิมๆ ของ “ชีวิตเด็กช่าง” ที่เห็นการรุมยำ-ใช้อาวุธโจมตีกัน จนกลายเป็นวัฒนธรรมสถาบันไปเสียแล้ว
“มันมีหลายๆ อย่างที่เดินไปผิดทางอยู่ คิดดูว่าคนสมัยนี้ แค่เดินเฉี่ยวกันก็เอาปืนยิงกันแล้ว พูดตรงๆ ว่าผมเองก็เคยมีประสบการณ์การรุมตีกันแบบนั้น ทำร้ายคนอื่นไว้เยอะ คนอื่นก็เคยทำร้ายผมไว้ด้วย จนคิดว่ามันถึงเวลาที่จะพอได้แล้วล่ะ (ยิ้มเนือยๆ) นี่มันยุคใหม่แล้ว ไม่ใช่ว่าเอะอะอะไรเด็กช่างก็ต้องยกพวกตีกัน มันไม่มีแล้วยุค “2499 อันธพาลครองเมือง” ลบไปได้แล้วระบบนักเลง-มาเฟีย
บอกได้เลยว่าที่นี่เป็นเหมือนค่ายปลดอาวุธ คนส่วนใหญ่ที่มา ตอนแรกๆ จะเป็นเด็กนักเรียน เด็ก ปวช.-เด็กช่าง ที่เกเรๆ นี่แหละครับ แต่พอมาแล้ว เขาก็กลับไปเปลี่ยนนิสัย ก่อนหน้าอาจจะเคยใช้อาวุธ พอมานี่ เขาก็เลิกจับอาวุธกันไปเลย”
เหมือนกำลังจะบอกว่าคลับแห่งนี้ ช่วยลดปัญหาความรุนแรงในวัยรุ่น ได้ด้วยการชวนพวกเขามาออกหมัดแบบมีกฎกติกาแทน? ทันทีที่ความสงสัยในข้อนี้ถูกถามออกไป เพื่อนร่วมสถาบันเดียวกันอย่าง เม้ง-ปวริศร ภาณุวงศกร ก็ช่วยเสริมในทันที
[ระบบ Safety พร้อม ทั้งปูพื้นยาง ทั้งมีทีมงานคอยกั้นทุกมุม]
“ผมคิดว่าความรุนแรงที่อยู่ข้างนอก อยู่ข้างถนน มีทั้งมีด, ไม้, ปืน ฯลฯ เมื่อคุณมีอารมณ์แล้ว ความรุนแรงมันสามารถเกิดได้แบบไม่มีขีดจำกัด แต่ถ้าเราเปลี่ยนให้ความรุนแรงมาอยู่ในขอบเขตของ Fight Club มันก็จะจบแค่ตรงนี้ครับ แค่หมัดกับมือ
จริงๆ แล้ว เราไม่สามารถไปปรับเปลี่ยนกลุ่มมาเฟียบางกลุ่มได้หรอกครับ แต่เราแค่เป็นเหมือนตัวจุดประกายให้คนรุ่นหลังได้เห็นว่า เฮ้ย! พวกพี่เขาต่อยกันหมัดต่อหมัดเลยนี่หว่า แล้วมันอาจจะทำให้เขาฉุกคิดได้ว่า เอ้อ..พวกพี่เขาแม่งเจ๋งว่ะ พี่แม่งใจ ไม่ใช้อาวุธกันเลย”
[เม้ง-ปวริศร ภาณุวงศกร ฝ่ายประสานงานและวางแผนอีเวนต์]
“ห้ามคนดูออกเสียงเชียร์ให้ออกอาวุธ ห้ามยุให้เขาเตะหรือต่อยกันเด็ดขาด เพราะเรามาต่อยกันเพื่อมิตรภาพ แล้วก็ถือเป็นการให้เกียรตินักสู้ด้วย”
“ซึ่งผลที่ได้ มันต่างกันคนละขั้วเลยนะครับ กับการใช้ความรุนแรงใส่กันแบบไม่มีขอบเขต” เป้-ชนะ วรศาสตร์ น้องคนสุดท้องของทีม ผู้ทำหน้าที่กรรมการและพิธีกรของรายการ ขอแลกเปลี่ยนมุมความคิดของเขาบ้าง
“ความรุนแรงที่อยู่ข้างถนน มันไม่มีวันจบสิ้น มีแต่จะแก้แค้นกันไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามาที่นี่ เราต่อยกันแล้วก็จบ พอเสร็จกิจกรรมทุกคนก็ให้เกียรติกัน ต่อยกันเลือดแตก ยังกอดคอไปกินข้าวกันได้ ผมไม่เห็นจะมีใครมาเก็บเป็นความแค้นต่อเนื่องอะไรกันเลย”
ทั้งสี่หนุ่มกลุ่มดวลดิบ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าวัตถุประสงค์ที่ตั้งเอาไว้สูงสุดของในการแลกหมัดแห่งมิตรภาพในครั้งนี้ อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “หนามยอก ต้องเอาหนามบ่ง” เพราะพวกเขาเชื่อเหมือนๆ กันว่า “ถ้าปัญหาความรุนแรง แก้ไม่ได้ด้วยการให้ใช้ความรุนแรงมาดัดหลัง ให้เขาได้มีพื้นที่ปลดปล่อยอารมณ์อย่างเหมาะสม ผมว่าก็คงไม่เหลือวิธีไหน ที่จะแก้ได้แล้วล่ะครับ”
3 นาที! วิถีลูกผู้ชาย
[สังเวียนแห่งมิตรภาพระหว่างลูกผู้ชาย]
“Fight Club ของเรา เวลาชกเสร็จจะไม่มีผลแพ้-ชนะ เวลาคลิปออกไป เราจะไม่ให้ใครไปโอ้อวดเลยว่า ไปต่อยที่นี่มานะ อีกฝั่งเละเลย (ห้ามแม้แต่โพสต์หน้าเฟซบุ๊ก) เราจะต้องให้เกียรติกัน
หรืออย่างนวมของเรา ก็ใช้แบบ “นวมเปิดนิ้ว” ข้อห้ามสำหรับคนชกก็คือ ห้ามเอานิ้วไปจิ้มตาเพื่อน, ห้ามโจมตีลูกกระเดือก, ห้ามโจมตีอวัยวะเพศ, ท้ายทอย-แนวกระดูกสันหลัง คือจุดอันตราย, คู่ชกให้พยายามต่อสู้ อย่าหันหลัง, ถ้าเพื่อนหันหลังให้ก็พยายามอย่าซ้ำ แล้วก็ห้ามจับทุ่มด้วย”
กรรมการประจำสนาม หนุ่มล่ำในรอยสักอย่างเป้ บอกเล่ากฎกติกาด้วยท่วงทำนองการพูดที่ช่ำชอง เพื่อเผยวิถีความเป็น “ลูกผู้ชาย” ของคนในนี้ว่า ภายใต้เปลือกนอกของความระห่ำ พวกเขาให้เกียรติกันมากเพียงใด โดยเฉพาะ “ข้อห้ามเรื่องการยุแหย่ ท้าทาย ให้เกิดอารมณ์” ซึ่งเป็นกฎเหล็กอีกข้อสำคัญที่จะปล่อยผ่านไปไม่ได้
“เอาง่ายๆ เลยครับคือ ห้ามถ่อย (ยิ้ม)” ว่าแล้วเม้งก็ช่วยอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ตามสไตล์ฝ่ายประสานงานของทีม “คนดูจะส่งเสียงเฮหรือปรบมือได้นะ ถ้าเจอลูกที่ถูกใจ แต่ห้ามยุให้เขาเตะหรือต่อยกันเด็ดขาดครับ อย่างที่บอกว่าเรามาต่อยกันเพื่อมิตรภาพ ถ้ามีคนมายุแหย่ หรือพูดยุยงให้คนทำร้ายซึ่งกันและกันมากขึ้น มันก็จะไม่ตอบโจทย์อุดมการณ์ที่เราตั้งไว้
ที่ต้องตั้งกฎกันไว้แบบนี้ ส่วนนึงเป็นเพราะต้องการควบคุมคนหมู่มากด้วยครับ เพราะถ้าเราปล่อยให้ฝั่งนั้นเฮ ฝั่งนี้เฮ ถ้าเกิดฝั่งคนเชียร์เพื่อนตัวเองไม่พอใจขึ้นมา แล้วตีกัน เราเองนี่แหละที่จะซวย ก็เลยต้องลดปัญหา ด้วยการห้ามออกเสียงเชียร์ให้ออกอาวุธ แล้วก็ถือเป็นการให้เกียรตินักสู้ไปด้วย”
สังเกตดูดีๆ จะเห็นว่ากฎกติกาทุกข้อของคลับที่ยึดถือมาถึงทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มองเรื่องจิตใจของคู่ชกเป็นสำคัญ นั่นเป็นเพราะแกนนำที่อยู่ในวงสนทนากับเราทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เคยผ่านประสบการณ์การแลกหมัดมาแล้ว อย่างน้อยคนละ 1 ครั้ง
ลองให้พูดถึงช่วงเวลา “3 นาที” บนสังเวียนดิบในฐานะนักสู้ว่ามีความหมายต่อพวกเขามากน้อยแค่ไหน จึงได้คำตอบที่น่าสนใจฝากเอาไว้ โดยเฉพาะจากมุมมองของ “เบียร์” นักสู้สุดดิบรุ่นบุกเบิกและช่างภาพ-ช่างวิดีโอประจำทีม ตามมาด้วย “บูม-หฤษฎ์ เชิดชู” ฝ่ายประสานงานและโปรดิวเซอร์ของรายการ ที่ถึงแม้จะไม่เคยลงไปฟุตเวิร์กในสังเวียน แต่ก็ซึมซับความรู้สึกทั้งหมดได้ดีไม่แพ้กัน
[หมัดแลกหมัด เวทีนี้ “ไม่มีแพ้-ไม่มีชนะ”]
“ผมเคยโดนน็อกหลับไปรอบนึงด้วยนะ (หัวเราะ) รอบล่าสุดนี่แหละครับ เพราะไม่ได้ซ้อมแล้วก็ลงไปต่อย มันทั้งโคตรเหนื่อย แถมเจ็บด้วย ทั้งต้องหนี ทั้งต้องสู้ แต่เวลา 3 นาทีนั้น อย่างน้อยผมก็ได้เพื่อนกลับบ้านคนนึงแล้วล่ะ (ยิ้ม)
ที่นี่ เราจะไม่ให้ค่าคำว่า “แพ้-ชนะ” เลยครับ เพราะเรามองว่าคู่ที่ลงมาชก “นายมันแน่ทั้งคู่เลยว่ะ” และเวลาที่ชกกันใน 3 นาทีนั้น เราจะไม่แนะนำให้เหยาะแหยะๆ ใส่กันด้วย จะบอกเลยว่าอีกฝ่ายเขาก็อยากยืน 3 นาทีเท่าคุณ คุณใส่เขาให้เต็มที่ ไม่ว่าเขาจะเป็นหรือไม่เป็นมวยก็เถอะ ถ้าคุณเป็นมวย คุณสอนเขาเลย เดี๋ยวพอหลังจากนี้ เขาก็จะกลับไปซ้อมเอง
คือบางคนที่เข้ามา เป็นเพราะเขาโดนแกล้งมาตั้งแต่เด็กไงครับ เลยไม่กล้าออกหมัด ไม่กล้าต่อยคนอื่น ผมเห็นน้องหลายคน พอลงไปก็โดนตุบตับๆ เป็นชุดเลย แต่พอครั้งหน้า มาลงอีกรอบ 2 คราวนี้แหละกล้าแล้ว และมันก็เปลี่ยนไปเลย คนบางคน เขามาที่นี่เพราะมีความอ่อนแอเป็นแรงผลัก เขาไม่ได้มาเพราะกระสันอยากจะมีเรื่องอย่างเดียว คนในนี้มีหลายแบบมากๆ”
[บูม-หฤษฎ์ เชิดชู ฝ่ายประสานงานและโปรดิวเซอร์]
“ผมให้เกียรติทุกคนที่มาเลย เรามองเห็นแววตาหรือท่าทางของเขา จนรู้ว่าเขาตั้งใจเพื่อมาทำบางสิ่งบางอย่างตรงนี้จริงๆ”
“ส่วนผมจะเป็นคนนึงที่นั่งติดขอบเวทีตลอด ผมจะคอยมองหน้าคู่ชกตลอดครับว่าคนไหนไหว-ไม่ไหว เผื่อกรรมการมองไม่เห็น ผมจะมองทั้งผ่านกล้องแล้วก็ผ่านตาตัวเองตลอด และสิ่งที่ผมเห็นใน 3 นาทีนั้นก็คือ ผู้ชาย 2 คนที่มีความตั้งใจมากจริงๆ
เหมือนเขาตั้งใจทำอะไรสักอย่างที่ไม่สามารถจะกลั่นกรองออกมาเป็นคำพูดได้ แม้แต่ตอนผมสัมภาษณ์เขา เขาก็ยังไม่สามารถพูดออกมาได้ แต่เรามองเห็นแววตาหรือท่าทางของเขา จนเรารู้ว่าเขาตั้งใจเพื่อมาทำบางสิ่งบางอย่างตรงนี้จริงๆ ผมก็เลยคิดว่า 3 นาทีนั้นมันมีค่ามากสำหรับทุกคน ผมให้เกียรติทุกคนที่มาเลยครับ
เชื่อไหมว่ามีอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นฝรั่งอยู่ท่านนึงก็มาร่วมกับเราด้วย เขาบอกว่าเขามาเพราะคิดว่า ถ้าเขากล้าต่อยตรงนี้ ก็คงไม่มีเรื่องอะไรที่เขาต้องกลัวอีกแล้วในชีวิตนี้ เหมือนเขาอยากมาพิสูจน์ตัวเองผ่านเวทีของพวกเรา”
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “วิถีหมัดมวย” คือวิธีเดียวที่จะช่วยให้พิสูจน์ “ความเป็นลูกผู้ชาย” ได้ เพียงแต่ตัวแทน Fight Club Thailand ทั้งสี่คนนี้ มองว่าเป็นวิถีที่เหมาะกับพวกเขามากที่สุดเท่านั้นเอง “คุณอาจจะบอกว่าคุณไม่ทำร้ายผู้หญิง คุณก็เป็นลูกผู้ชายก็ได้ คุณได้ทำเรื่องดีๆ ช่วยคนอื่นๆ ในสังคม คุณก็เป็นลูกผู้ชายได้ แต่วิธีนี้มันคือวิธีของพวกผมไงครับ” เป้บอกเล่าความคิดเขาผ่านน้ำเสียงห้าวๆ
[คุ้มค่า "3 นาที" ที่เสียไป เทียบกับ "มิตรภาพ" ที่ได้มา]
“หรืออย่างวิธีการหาเพื่อน คนอื่นอาจจะถามว่าทำไมต้องหาเพื่อนด้วยการต่อยกัน ทำไมไม่ทำอย่างอื่น ก็จะบอกว่ามันไม่เหมือนกันครับ ถ้าคุณชอบเตะบอล คุณก็ได้เพื่อนชอบเหมือนกัน ถ้าผมชอบมวย ผมชอบหมัด ผมก็หาเพื่อนทางนี้ ก็แค่วิธีของเราไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง”
อยู่ที่จะ “เลือก” หรือ “ไม่เลือก” วิถีลูกผู้ชายแบบนี้... ผู้ก่อตั้งกลุ่มนักสู้ริมทาง บอกเอาไว้ชัดเจนว่าไม่เคยคิดบีบบังคับหรือเปรียบเทียบกับใคร
“ถ้าคุณไม่เลือกมัน คุณก็มีสิทธิไม่เลือก แต่ถ้าคุณเลือกแล้ว เราก็มีสิทธิที่คุณเลือกได้ เรามีพื้นที่ให้ ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับคุณ ไม่ใช่ผม ถามว่าทำไมลูกผู้ชายต้องหมัดต่อหมัด งั้นผมถามกลับว่า แล้วทำไมต้องพกปืน ทำไมต้องมีตำรวจที่ร้านทอง ถ้าบอกเพื่อความปลอดภัย ก็ต้องถามว่าเราจะป้องกันกันไปเพื่ออะไร มันจะดีกว่าไหมถ้าเรายุติที่การก่อเหตุได้ แก้กันที่ต้นเหตุเลย”
มิติใหม่แห่งการสาดหมัด! ปล่อยของสู่สาธารณชน!!
[งาน “สงกรานต์(สาดหมัด)บ้านเจ้าพระยา” มิติใหม่ที่คอมวยชื่นชอบ]
“ถ้าเป็นยุคแรกๆ เรายังต้องต่อยกันหลังวัด ต้องถอดเสื้อมาพันมือแทนนวม จนมาตอนนี้มีพื้นยาง, มีฟันยาง, มีกระจับ, มีกรรมการ, มีรถพยาบาล ฯลฯ มีทุกอย่างครบ เรียกว่ามวยของเราได้มาตรฐานเลยล่ะครับ เพียงแต่รูปแบบจะแตกต่างจากมวยสากล ตรงที่ไม่ได้ชกกันหลายๆ ยก แล้วก็ไม่ได้อยู่บนเวทีเท่านั้นเองครับ” หนุ่มร่างใหญ่ในเคราครึ้ม ผู้ก่อตั้งคลับช่วยชี้จุดโฟกัสให้คู่สนทนามองเห็นชัดขึ้น
ต้องถือว่าเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน เมื่อเทียบกับความเป็น “Fight Club Thailand” เวอร์ชันดิบๆ ในยุคบุกเบิก อาจเป็นเพราะพวกเขารู้ตัวมาตลอดว่า การรวมตัวแลกหมัดหยัดยืนเพื่อผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันนั้น ถูกสังคมเพ่งเล็งเรื่องความปลอดภัยอยู่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะการถกเถียงในประเด็น พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542
แต่ล่าสุด เจ้าหน้าที่ทางฝั่งสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย (กกท.) ก็ได้ออกมาเป็นปากเป็นเสียง ช่วยยืนยันอย่างหนักแน่นแล้วว่า การรวมตัวดวลหมัดแบบดิบๆ ตามสไตล์ของพวกเขา ไม่มีความผิดตามกฎหมายแต่ประการใด ทั้งยังมีมาตรฐานความปลอดภัยที่น่าสนับสนุนอีกต่างหาก
[มี “หน่วยแพทย์” คอยดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดการแข่งขัน]
“ทุกวันนี้เราก็ปูพื้นยางแล้ว จากเดิมต่อยกันบนพื้นซีเมนต์เลย ซึ่งถ้าเทียบกับตัวเวทีมวยที่คนเห็นกัน อันนั้นเขาก็ใช้แผ่นยางแบบเดียวกันนี่แหละครับปูรองไว้ แล้วก็เอาผ้าใบปูคลุมอีกที เพราะฉะนั้น เราถึงพูดได้เต็มปากว่ารายการของเราเซฟทุกอย่าง พื้นยางก็ไม่ได้ปลอดภัยน้อยกว่ายืนชกกันอยู่บนเวทีเลย
ส่วนเรื่องเชือกกั้นเวที เราก็ใช้คนคอยกั้น คอยรอง คอยรับน้ำหนักแทน แล้วก็มีฝ่าย Safety ช่วยเซฟ ซึ่งคนของเราก็ได้รับการอบรมมาอย่างดีเลยว่า เวลาเซฟต้องห้ามล็อก-ห้ามดัน-ห้ามผลัก คู่ชกเด็ดขาด ทุกอย่างเราเซตไว้จนเป็นระบบไปหมดแล้วครับ”
โปรดิวเซอร์วัย 27 อย่างบูม ยืนยันความพร้อมของทีมด้วยน้ำเสียงมั่นใจ พร้อมบอกความลับเล็กๆ ให้ฟังว่าแท้จริงแล้วทุกวันนี้ ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีกที่หันมารวมตัวแลกหมัดตามรูปแบบของพวกเขา แตกต่างกันตรงที่ว่า “อุดมการณ์” นี่เอง ที่ดูเหมือนจะมีกลุ่มนี้เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ที่ยึดรูปแบบ “ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ ไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไร” แต่ทำเพื่อหล่อเลี้ยงมิตรภาพและหัวใจเท่านั้นเอง
[คู่มวยหญิง ดุเดือดไม่แพ้กัน!!]
ทุกสิ่งทุกอย่างถูกวางระบบด้วยคำว่า “ความปลอดภัย” และ “มาตรฐาน” รวมถึงระยะเวลา 3 นาทีต่อยก ซึ่งเป็นเวลาการต่อสู้ที่ยึดตามหลักสากลมาแล้วด้วย ไหนจะเรื่องการรับสมัครคู่ชกของพวกเขาอีก ที่มีการแบ่งรุ่นกันตามน้ำหนักอย่างชัดเจน โดยซอยย่อยออกเป็น รุ่น “S” (52-57 กก.), “SS” (58-63 กก.), “M” (64-69 กก.), “MM” (70-75 กก.), “L” (76-81 กก.), “LL” (82-87 กก.), “XL” (88-93 กก.) และ “XXL” (100 กก.ขึ้นไป-ไม่จำกัดน้ำหนัก)
ส่วนเรื่องความสุ่มเสี่ยงต่อการรวมตัวเพื่อสร้างแหล่งมั่วสุมนั้น ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรให้น่าหนักใจเลย เพราะกฎเหล็กของที่นี่อีกข้อก็คือ “ห้ามเล่นการพนัน” ทั้งยังจัดโซนพิเศษสำหรับการแข่งขัน คืออย่างน้อยๆ ตลอดพื้นที่รอบขอบสนาม 7x7 เมตร จะถูกเซตให้เป็นโซนปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่อย่างเคร่งครัด
“ถามว่ารายการของเราสุ่มเสี่ยงต่อการมั่วสุมหรือการพนันไหม ก็อยากให้ลองมองในแง่ของคนเล่นพนันก่อนครับว่ามันเป็นไปได้ไหม ในเมื่อเราไม่มีการประกาศผลแพ้-ชนะหลังการชกจบลง ถามว่าเขาจะเล่นพนันกันได้ยังไง จริงไหมครับ (ยิ้ม)
หรือถ้าจะบอกว่าตัดสินด้วยตาเปล่าก็ได้ ดูไปเลยว่าใครได้แผลกลับไปมากกว่า อันนั้นมันก็วัดอะไรไม่ได้อยู่แล้วครับ เพราะถ้าจะเล่นการพนัน ผลของมันต้องชัดเจนมากพอให้ตัดสินได้ว่า ใครได้-ใครเสีย เขาถึงจะยอมแทง
อย่างช่วงที่คลับของเราก่อตั้งใหม่ๆ สมัยที่ยังต่อยกันบนพื้นปูนอยู่ตั้งแต่ช่วงก่อนเป็นข่าว ผมมั่นใจเลยว่าต้องมีสายสืบเข้ามาสังเกตการณ์กลุ่มพวกผมแล้วระยะนึง เข้ามาดูว่าเราทำอะไรกันบ้าง มีการมั่วสุมอะไรกันไหม มีการพนันหรือเปล่า และถ้าเราทำอย่างนั้นจริง เราไม่มีวันรอดมาจนถึงทุกวันนี้แน่นอนครับ” บูมยังคงทำหน้าที่อธิบายเบื้องลึกเบื้องหลังของระบบต่อไป
ที่ตลกร้ายก็คือยังมีบางคนมองว่า ทุกวันนี้พวกเขาร่ำรวยมาจากแชนเนล “Fight Club Thailand” บน Youtube ไปแล้ว จากการชวนคนมาต่อยกัน ถ่ายคลิป แล้วอัปคลิปขายยอดวิวแลกค่าโฆษณา ทั้งๆ ที่ความจริง ยอดผลตอบแทนรวมทั้งหมด 3 เดือนของช่องดังกล่าว ช่วยให้มีเงินงอกเงยขึ้นมาได้เพียงเดือนละ 1,000 กว่าบาทเท่านั้นเอง
ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ช่วงหลังรายการของพวกเขาต้องลดความถี่ในการจัดลงไป จากเคยจัดเสาร์เว้นเสาร์ ก็เปลี่ยนมาเป็นจัดเดือนละครั้งแทน เพราะต้องเอาเวลาไปรวมตัวกันหารายได้จากทางอื่นๆ มาหนุนความฝันตรงนี้ให้ยังอยู่รอดได้ต่อไป
“พวกเราเริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรมาก ทุกคนมาแต่ตัว ฟันยางตอนแรกก็ยังไม่มี รถพยาบาลก็เพิ่งมามีทีหลังนี่แหละครับ พื้นยางแต่ก่อนก็ไม่มี แล้วพอหลังๆ ก็ให้ต่างคนต่างช่วยกันถือนวมมา ช่วยๆ กันหามา เราก็เลยไม่คิดว่ามันจะต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย
แต่หลังจากเราไปทำงานอีเวนต์มาครั้งนึง จนได้เงินมาก้อนนึง ก็มีผู้ใหญ่แนะให้พวกเราเอาเงินตรงนี้ไปพัฒนา Fight Club ให้มันได้มาตรฐานและดูไม่สุ่มเสี่ยง พวกเราก็เลยกลับมาเซตระบบใหม่หมด จนเป็นภาพที่ออกมาให้เห็นตอนนี้” เม้งเผยเบื้องหลังให้ฟังแบบไม่มีปิด ก่อนโยนให้เบียร์เป็นคนบอกเล่ารายละเอียดเพิ่มเติม
[เป้-ชนะ วรศาสตร์ กรรมการและพิธีกรของรายการ]
"คุณอาจจะบอกว่าคุณไม่ทำร้ายผู้หญิง คุณได้ทำเรื่องดีๆ คุณก็เป็นลูกผู้ชายได้ หรือคนอื่นอาจจะถามว่าทำไมต้องหาเพื่อนด้วยการต่อยกัน ก็ผมชอบมวย ผมก็หาเพื่อนทางนี้ แค่วิธีของเราไม่เหมือนกัน แต่วิธีนี้มันคือวิธีของพวกผมไงครับ”
“ทุกวันนี้ ต้องบอกว่าเราแยกการทำ “Fight Club Thailand” แบบดั้งเดิม กับการรับ “งานอีเวนต์มวย” ออกจากกันอย่างชัดเจนครับ และที่ต้องทำอย่างหลังมาเพิ่ม ก็เพราะว่าพวกผมต้องการเอาเงินรายได้ตรงนี้ ไปหนุนให้ตัวคลับของเรายังอยู่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าวันนี้ผมจะหันมาจับเรื่องการจัดอีเวนต์มวยเพิ่ม มันก็ไม่น่าจะแปลกอะไรนะ
ผมว่ามันดีซะอีกครับ ที่เราได้ทำตรงนี้เพิ่ม เพราะถ้าต่อไปเราสามารถพัฒนามันให้เป็นลีค (league) ได้จริงในอนาคต เราก็จะสามารถต่อยอดให้คนที่เคยต่อยในคลับของเราได้ คืออาจจะส่งคนที่มีแววและอยากพัฒนาตัวเองขึ้นไปเป็นนักมวยอาชีพ ไปสู่ลีคของเราเองได้เลย ถ้าต่อไปเรามีเวทีมวยอาชีพเป็นของตัวเอง”
แต่ก่อนจะถึงวันแห่งความฝัน วันที่จะได้มีลีกมันๆ เปิดพื้นที่เร้าใจให้พี่น้องชาวไทยได้ตามมาเชียร์กันอย่างเป็นทางการ พวกเขาก็ไม่พลาดโอกาสในการทดลองมันก่อน โดยการเปิดพื้นที่จำลองลีก “สงกรานต์สาดหมัด” โชว์ไฮไลต์สุดดุดันฝากเอาไว้ในงาน "สงกรานต์บ้านเจ้าพระยา" ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13-14 เม.ย.ที่ผ่านมา ส่งให้คอมวยหลากชีวิตที่แวะเวียนเข้ามา ได้เห็นลีลาการต่อสู้ผสานความดิบระหว่าง “Fight Club Thailand (FCTH)” กับ “Muay Thai Street” ขึ้นเป็นครั้งแรก!!
[คอมวยทะลัก ตามมาเชียร์โชว์เปิดพื้นที่มวยมิติใหม่ ซ.มวยไทยสตรีท ถ.พระอาทิตย์]
การจัดเต็มมวยอาชีพ 2 คู่พิเศษให้มา สาดแข้ง-สวนหมัด-เขย่าความมัน กันบนพื้นที่ 7x7 เมตร ตามสไตล์การไฟต์ของ FCTH แบบดั้งเดิม ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหน แถมด้วยการแลกหมัดจากชาวแก๊งร่วมก๊วน Fight Club แห่งนี้อีกหลากคู่หลายสไตล์ เล่นเอา ซ.มวยไทยสตรีท ถ.พระอาทิตย์ กลายเป็นพื้นที่แห่งการปลดปล่อยความเป็นลูกผู้ชาย ที่ร้อนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เลยทีเดียว
“ครั้งนี้ เราทำงานกับทาง “Muay Thai Street” จับเอารูปแบบของ “Fight Club Thailand” มาเป็นตัวชูโรงนำเสนอ ให้แปลกใหม่และแตกต่างจากรูปแบบมวยบนเวทีแบบเดิมๆ ที่ทุกวันนี้ค่อนข้างตันไปหมดแล้ว เราลองหยิบเอานักมวยจริง มาใส่ในรูปแบบมวยสมัครเล่นข้างถนนของเราดู ก็ถือเป็นการพบกันนัดทดลองครับ และถ้าหลายๆ อย่างไปได้ดีต่อจากนี้ เราก็อาจจะร่วมกันพัฒนาให้เป็นลีก ไปฉายบนช่องเคเบิลในอนาคต”
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วชิร สายจำปา, พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ: fb.com/pagefightclubthailand
ขอบคุณสถานที่: “เจริญทองมวยไทยยิม” ซ.มวยไทยสตรีท ถ.พระอาทิตย์
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754