xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตโครงการต้นแบบ! “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” น้อมนำคำสอนพ่อหลวง ร.๙

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
"...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้..." ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสในหลวง รัชกาลที่ ๙
 
“ไอคอนสยาม”- มูลนิธิชัยพัฒนา - องค์กรพันธมิตรต่างๆ เปิดตัวโครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” ร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบ เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและสังคม โดยน้อมนำหลักคำสอนพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ เพื่อนำมาพัฒนาอย่างยั่งยืน





สำหรับนโยบายหลักของทางไอคอนสยาม ได้มีความต้องการที่จะสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนให้อยู่คู่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน


“ไอคอนสยามให้ความสำคัญในการร่วมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและอยู่คู่เคียงแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างสมศักดิ์ศรีสืบไป” - นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าว

โดยมีการดำเนินงาน 3 เรื่องหลักๆ ครอบคลุมไปตั้งแต่ “การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบ” ส่วนต่อมาคือ “การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและส่งเสริมต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนอย่างยั่งยืน” และ “การสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงามที่อยู่คู่กับวิถีคนริมน้ำเจ้าพระยามาช้านาน”
กังหันชัยพัฒนาจำลอง
ถังดักไขมัน
 
ซึ่งได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายจำนวนคลอง 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 เขตของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตคลองสาน เขตตลิ่งชัน และเขตบางกอกน้อย นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกันระหว่าง “มูลนิธิชัยพัฒนา” ในการถ่ายทอดความรู้ แนวคิด ทฤษฎี และการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย ตรงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกด้วย
 
“ศาสตราจารย์ ดร. เกษม จันทร์แก้ว” ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิชัยพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า มูลนิธิชัยพัฒนาได้นำความรู้ในด้านการบำบัดน้ำเสีย โดยยึดตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า

“...ให้ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เป็นเทคโนโลยีอย่างง่าย ใครๆ ก็สามารถทำได้ และมีวัสดุหาได้ในท้องที่...” มาดำเนินการในโครงการนี้ ทั้งยังใช้เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียที่เรียบง่ายและใช้ธรรมชาตินี้ แบ่งเป็น 2 ระบบ

นั่นคือ “วิธีการพึ่งพาธรรมชาติ” โดยใช้สาหร่ายสังเคราะห์แสงเพื่อเติมออกซิเจนให้จุลินทรีย์หายใจและย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย และ ระบบที่สองคือ “ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย” โดยใช้พืชและหญ้าที่มีคุณสมบัติกรองและดูดซับของเสียที่อยู่ในน้ำ

โครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” ยังได้มีความร่วมมือกันจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กองทัพเรือ, กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรมเจ้าท่า, สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา, สมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา และ ชุมชนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อีกด้วย
คณะงาน ทำความสะอาดคลองวัดทองเพลง
สยามคลองทองเพลงปัจจุบัน
 
ถือเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการให้ความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ได้ร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในช่วงปีแรก 2560 ระหว่างเดือนมีนาคม-ธันวาคม มีการลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมแหล่งน้ำ วิเคราะห์สภาพค่าความสกปรก เพื่อหาค่าบีโอดี

ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจในเขตคลองสาน “คลองวัดทองเพลง” เป็นแห่งแรก และ “คลองสมเด็จเจ้าพระยา” เป็นแห่งที่ 2 และคลองเป้าหมายอีก 5 แห่ง เช่น คลองวัดสุวรรณ คลองสาน คลองวัดทอง คลองลัดมะยม และ คลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยจะแล้วเสร็จภายในปี 2560

สำหรับวิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียเชิงอนุรักษ์ มีตั้งแต่ การจัดเก็บเศษขยะต่างๆ ในคลอง, การขุดลอกคลอง, การตกแต่งกิ่งไม้เพื่อเปิดให้แสงลงสู่แหล่งน้ำ, การใช้วัชพืชหรือพืชบำบัดน้ำเสีย,การติดตั้งถังดักไขมันในบ้านเรือน, การติดตั้งเครื่องกังหันชัยพัฒนาหรือ และ การติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศ
 
นอกจากนี้โครงการฯ ยังเน้นการมีส่วนร่วมจากประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ โดยการให้ความรู้ความเข้าใจเป็นแนวทางปฏิบัติในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจะเป็นโครงการต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่อื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไปนั่นเอง




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น