xs
xsm
sm
md
lg

"อย่าโง่เหมือนผม" ไมโลคิวบ์ทำกริ้ว หวังได้ของถูก แต่เสียค่าโง่เป็นแสนๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฮิตจนได้เรื่อง! ไมโล เอเนอร์จี้ คิวบ์ หรือ ไมโลก้อน หลังเกิดดรามาโก่งราคาสูงลิ่ว 2-3 เท่า จนหลายคนตกเป็นเหยื่อ ล่าสุดมิจฉาชีพหัวใส ใช้ความฮอตของขนมสุดฮิตนี้ตุ๋นพ่อค้าแม่ขายตัวแทนรับพรีออเดอร์ บอกว่านำเข้าราคาถูกจนหลงเชื่อโอนเงินรวมหลักแสน สุดท้ายหนีหายปิดทุกช่องทางการติดต่อ เสียค่าโง่ไปเต็มๆ เบื้องต้นมีเหยื่อโดนตุ๋นไปแล้ว 6 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึงหลักล้านบาท ขณะนี้มีการออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีแล้ว

จำไว้! "อย่าโง่เหมือนผม"

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การมาถึงของขนมช็อกโกแล็ตก้อนเหลี่ยมในนาม "ไมโล เอเนอร์จี้ คิวบ์" หรือ "ไมโลก้อน" สร้างกระแสความอยากรู้อยากลองที่วันนี้ไม่ใช่เพียงขนมกินเล่นอีกต่อไป แต่ยังเกิดกระแสการบริโภคที่รุนแรง การปั่นราคา และความปลอดภัยของผู้บริโภคโลกอินเทอร์เน็ต เพราะด้วยความต้องการที่มีมาก แต่ยังหาซื้อไม่ได้ในประเทศไทย ทำให้มีคนแสวงหากำไรด้วยการรับพรีออเดอร์ นำเข้าจากประเทศมาเลเซียมาขายผ่านออนไลน์ในราคาที่แพงขึ้น 
บางเจ้าโก่งราคากันสุดฤทธิ์ 2-3 เท่าตัว (จากปกติราคาประมาณ 250 บาท ขณะนี้ทะยานแตะ 800 บาทต่อห่อ) จนหลายคนตกเป็นเหยื่อมาแล้ว 

ล่าสุด เกิดกรณีโกงจนกลายเป็นดราม่าสนั่นโซเชียลฯ เมื่อมีคนใช้ความฮอตของขนมสุดฮิตนี้ตุ๋นพ่อค้าแม่ขายตัวแทนรับพรีออเดอร์ ล่าสุดมีหลายคนตกเป็นเหยื่อ คิดมูลค่าความเสียหายนับล้านบาท

"...ผมขับรถอยู่ได้ยินแฟนผมกับเพื่อนเขาคุยกัน แขนขาผมแทบหมดแรงขับรถกลับบ้าน ไม่นึกไม่ฝันว่าจะโดนกับตัวจริงๆ ยอดเป็นแสนๆ และเท่าที่รู้มา ตอนนี้คนที่ติดต่อซื้อขายไมโลอัดเม็ด'กับคนชื่อน้ำอีกหลายรายโดนเหมือนกันหมด มูลค่าความเสียหายหลายล้านบาท..." เป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่หนุ่มรายหนึ่งโพสต์บอกฝากไว้เป็นอุทาหรณ์ หลังลงทุนรับขนมเจ้าปัญหามาจำหน่ายและรับออเดอร์จากลูกค้าทั่วประเทศ โดยเขายอมรับว่า ยอดรับออเดอร์ดีมากถล่มทลายในคืนเดียวเกือบ 300,000 บาท แต่ถูกสาวรายหนึ่งอ้างคุณพ่อทำงานอยู่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จ.สงขลา บอกว่านำเข้าราคาถูกจนหลงเชื่อโอนเงินหลักแสน สุดท้ายหนีหายปิดทุกช่องทางการติดต่อ



"ผมกับแฟนได้รับการแนะนำจากบุคคลที่น่าเชื่อถือให้ติดต่อไปรับไมโลคิวบ์มาจากบุคคลคนหนึ่ง ที่กล่าวอ้างว่านำเข้าจากมาเลเซียมาได้ในราคาถูกเพราะเขามีพ่อเป็นจนท. ที่ด่านสะเดา เขาใช้ชื่อเฟซบุ๊ค ชื่อเล่นว่าน้ำ ผมกับแฟนจึงเชื่อใจติดต่อไปตกลงทำธุรกิจร่วมกัน มีการโอนเงินให้กันหลายครั้งจากการรับออเดอร์เพื่อให้เขาส่งสินค้าให้ลูกค้า รวมยอดที่โอนทั้งหมด 167,900บาท ช่วงเวลาที่ติดต่อกันอยู่ก็ไม่มีพิรุธใดๆ ให้เห็น จน 4 โมงเย็นของวันที่ 18 เม.ย. มีพรรคพวกกันที่ขายและรับจากคนชื่อน้ำเหมือนกันทักแฟนมาว่าให้รีบเปิดเฟซคนชื่อน้ำว่าโดนเหมือนเขาไหม คือ โดนบล็อกเฟซ ปิดเครื่อง ปิดไลน์ ติดต่อไม่ได้ แฟนผมจึงรีบเปิดเฟซบุ๊คดู สรุปคือ แฟนผมก็โดนเหมือนกัน

...ตอนนี้เดือดร้อนมาก ต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่ออกไปเพื่อโอนเงินคืนให้ลูกค้าก่อน ตอนนี้เหลือยอดอีก 7 หมื่นกว่าบาทที่ต้องโอนคืนให้ลูกค้าเพื่อรักษาชื่อเสียงตัวเองเอาไว้ แต่ก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหน เพราะหมดตัวแล้วจริงๆ เดือดร้อนมากครับ และเมื่อตอนเที่ยงคืนเมื่อวาน ผมได้รวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งหมดแจ้งความที่ สภ.ขอนแก่นแล้ว"


ทั้งนี้ เขายังย้ำทิ้งท้ายด้วยว่า "ไม่เห็นของอย่าซื้อ อย่าโอนเงินเด็ดขาด อย่าโง่เหมือนผมที่โดนหลอก เจอครั้งแรกเล่นซะจุกพูดไม่ออกเลย"


บทเรียนจาก "ไมโลก้อน" คนไทยได้อะไร?

เขียนถึงเรื่องนี้ ชวนให้นึกถึงบทเรียนจากตุ๊กตาช่างพูด "ตุ๊กตาเฟอร์บี้" ที่ครั้งหนึ่งความต้องการทางการตลาดพุ่งสูงจนติดเพดาน กลายเป็นตลาดที่เต็มไปด้วยความยั่วยวนของผลกำไรที่หากจับติดมือย่อมได้มาง่ายได้มาเร็ว ไม่แปลกที่จะมีมูลค่าความเสียหายสูงจนน่าตกใจถึง 6-7 ล้านบาท พร้อมทั้งการโกงที่เกิดขึ้นในการซื้อขายกันผ่านทางอินเทอร์เน็ต

เช่นเดียวกับบทเรียนจากขนมสุดฮิตในครั้งนี้ที่ "ความเสี่ยง" ถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการซื้อ และการลงทุน โดยเฉพาะนักการค้าที่พร้อมจะซื้อเพื่อมาขายต่อทำธุรกิจ ต้องยอมรับว่า ตลาดในโลกออนไลน์ก็เหมือนตลาดๆ หนึ่งที่มีทั้งพ่อค้าที่จะขายของจริงๆ และพ่อค้าที่เป็นมิจฉาชีพ

ดังนั้น หากความไว้วางใจในการใช้บริการร้านค้าบนอินเทอร์เน็ตอยู่บนการตัดสินใจที่มีหลักฐานเพียงไม่กี่อย่าง กลไกที่จะใช้ในการช่วยเหลือหากตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพจึงไม่มี เรื่องนี้หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค "อิฐบูรณ์ อ้นวงษา" เคยเผยวิธีต้มตุ๋นของมิจฉาชีพในโลกออนไลน์เอาไว้ แม้ในครั้งนั้นจะพูดถึงกรณีตุ๊กตาเฟอร์บี้ แต่ก็สามารถนำมาเป็นข้อเตือนใจในกรณีล่าสุดนี้ได้เป็นอย่างดี

"มิจฉาชีพพวกนี้จะใช้วิธีตั้งราคาของให้ถูกกว่าปกติมากเป็นพิเศษ ถ้าเจอแบบนี้ต้องระวังไว้ก่อนเลย เริ่มแรกพวกนี้จะยอมขาดทุนกับของล็อตแรก เหมือนเป็นการวางเหยื่อล่อไว้ให้ลูกค้าไปบอกต่อ ยิ่งราคาถูกคนก็ยิ่งสั่งเยอะ อาศัยความโลภของคนจากนั้นเมื่อมีออเดอร์เข้ามา มีเงินโอนเข้ามากพอก็จะปิดตัวหนีหายไปในทันที"
นี่คือสิ่งที่หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเตือนให้ระวัง เพราะที่ผ่านมามีปัญหาหลายๆ แบบเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสินค้าคุณภาพไม่ตรงกับที่โฆษณา และปัญหาไม่ได้รับสินค้า

ดังนั้นถ้าขาดสติ ไม่มีการวิเคราะห์และศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน อาจตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้
ส่วนใครที่ตกเป็นทาสการตลาด และได้เจ้าขนมก้อนสี่เหลี่ยมนี้มาครอบครองแล้วก็อย่าลืมระวังโทษของการกินน้ำตาลมากจนเกินไปด้วย




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น