xs
xsm
sm
md
lg

ร้อนจัด...ขาดโอกาส..วิกฤตนศ. ที่ต้องแห่เปิดเรียนตามอาเซียน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับการศึกษาระดับอุดมศึกษา เมื่อรัฐบาลปรับเปลี่ยนการเปิด-ปิด เทอม ตั้งแต่ปี 2557 โดยเลื่อนจากการเปิด-ปิด เทอม จากเดือนมิ.ย. - ต.ค. เป็นเดือน ก.ย. - ธ.ค. ส่วนเทอมสองเลื่อนจากเดือน พ.ย.- มี.ค. เป็นเดือน ม.ค. - พ.ค. นั้น ทำให้เกิดปัญหาหลายๆ ด้าน

โดยเฉพาะการเรียนในหน้าร้อน ล่าสุด เกิดกรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นลม ระหว่างเรียนในห้องแล็ป เนื่องจากอากาศร้อนจัดและต้องใส่ชุดปฎิบัติการ จึงทำให้เกิดกระแสร้องเรียนให้ย้ายช่วงเวลาเปิด-ปิด เทอม กลับไปแบบเดิม

ที่ผ่านมานั้น ปัญหาหลักๆ ที่นักศึกษาและมหาวิทยาลัยกำลังเผชิญหลังจากปรับเปลี่ยนระยะเวลาเปิด-ปิดเทอม ได้แก่ ปัญหาการเรียนการสอนที่ตรงกับช่วงเทศกาลวันหยุดเยอะ และสภาพอากาศที่ร้อนในเดือนเมษายน ปัญหาวงรอบปีงบประมาณ และการประเมินผลงานของอาจารย์ที่ไม่สอดคล้องกับส่วนราชการ ปัญหาการเกณฑ์ทหาร การสอบรรจุครู การสมัครงาน ซึ่งส่วนใหญ่นศ.จะจบไม่ทัน ปัญหาการเปิดเรียนไม่ตรงกันระหว่างอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษาขั้นพื้นฐาน ส่งผลต่อการเข้าศึกษาของนักเรียน โดยเฉพาะวิชาชีพครู และการเปิดภาคเรียนในระยะเวลาดังกล่าว ก็ยังไม่สอดคล้องกับการเปิดเรียนตามอาเซียนทั้งสิบประเทศ อย่างที่กล่าวอ้างไว้ในตอนแรก

จากปัญหาดังกล่าว จึงมีการศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนการเปิดภาคเรียนของสถาบันอุดมศึกษาภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน" (รัฐกรณ์ คิดการ และคณะ.2559.) พบว่า คณาจารย์บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา นักศึกษา และผู้เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษา(ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า ผู้ประกอบการ ร้อยละ 86.33 ไม่เห็นด้วยกับการเปิดภาคเรียนตามอาเซียน ร้อยละ 62.33 เห็นว่าการเปิดภาคเรียนตามอาเซียนส่งผลกระทบกับวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี สังคมและวัฒนธรรมของไทย

ทั้งนี้ผลการวิจัยโดยละเอียดได้นำเสนอผ่านสื่อมวลชนไปก่อนหน้านี่แล้ว รวมทั้งได้นำเสนอผลการวิจัยไปยังทปอ.(ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย)ทปอ.มรภ.(ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ)ทปอ.มทร.(ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล) เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สภานิติบัญัญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จนล่าสุดมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้งหมด มหาวิทยาลัยราชภัฏประมาณสิบกว่าแห่ง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยเอกชนอีกหลายแห่งทยอยกลับมาเปิดแบบเดิมแล้ว

ม.เกษตร อ่วม เด็กไม่มีน้ำใช้ในการเรียน-ทดลอง

หลังจากมีกรณีนักศึกษา ม.เกษตรเป็นลมคาห้องเรียนแล้ว ทางสถาบันแห่งนี้ยังประสบปัญหาและอุปสรรคอีกมากมาย โดยเฉพาะการเกษตรซึ่งต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง

ล่าสุด ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กรณีการเปิดปิดมหาวิทยาลัยตามอาเซียนว่า ขณะนี้ มก.(มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ประสบปัญหามาก โดยเฉพาะวิทยาเขตในต่างจังหวัด ซึ่งอากาศร้อนมาก ขณะเดียวกันการที่เราบอกว่าต้องการเด็กในประเทศอาเซียนจะมาเรียน ก็ไม่เห็นผลที่ชัดเจนนัก อีกทั้งนิสิตคณะครุศาสตร์มีปัญหาเรื่องการฝึกสอน คณะเกษตรศาตร์ ก็ไม่มีน้ำให้นิสิต ทำการฝึกปฏิบัติในการเพาะปลูกในฤดูแล้งได้

ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ทางทปอ. นำประเด็นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งข้อเสนอของรักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 24 เมษายน 2560 ที่จะจัดประชุมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมขอให้เปิดเผยผลการวิจัยของทปอ. ต่อสาธารณะด้วย
มทร. ไม่สนวิจัย นำร่องกลับไปเปิด-ปิดแบบเดิม ในปี 60

ปีที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ปรับเปลี่ยนกลับไปเปิด-ปิดเทอมตามระบบเดิม อาทิเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้งหมด มหาวิทยาลัยราชภัฎบางแห่ง และมหาวิทยาลัยเอกชน

รศ.สุภัทรา โกไศยกานนท์ อธิการบดี มทร. พระนคร กล่าวว่า สภามหาวิทยาลัย มทร. พระนคร ได้มีมติให้มหาวิทยาลัยกลับไปเปิด-ปิด เรียน แบบเดิม เนื่องจากเห็นว่า หลังจากที่มหาวิทยาลัยเปลี่ยนมาเปิด-ปิด ตามอาเซียนส่งผลกระทบในด้านลบตามมาหลายเรื่อง ทั้งช่องว่าเรื่องเวลาเด็กที่จบ ม.6 ต้องเคว้ง รอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนานหลายเดือน เรื่องสภาพอากาศที่ไม่เหมาะกับบ้านเรา อีกทั้งประชาคมมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยที่จะไปเปิด-ปิดเรียน ตามอาเซียน มทร. พระนคร จึงได้เตรียมที่จะกลับไปเปิด-ปิด เรียน เหมือนเดิมในปี 2560 เช่นเดียวกับ มทร. อีกหลายๆ แห่ง โดยไม่รอผลวิจัยในเรื่องดังกล่าว โดยขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว

เห็นพบปัญหาระดับชาติของการศึกษาจากคนในประเทศแบบนี้แล้ว ยังจะต้องหวังแห่ตามอาเซียนอีกหรือ!?




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น