รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานจัดงานงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮ.ศ. 1438 กล่าวว่า การจัดงานในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) จากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน สู่วิถีฮาลาล" โดยภายในงานจะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอัลกุรอาน มีการนำอัลกรุอานโบราณมาให้ชมกว่า 10 เล่ม โดยไฮไลท์พิเศษที่สุดในงาน คือ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อาหรับกูฟี ที่มีอายุกว่า 1,137 ปี นำมาจัดแสดงให้ได้ชมของจริงกัน นับเป็นอัลกุรอานที่มีความเก่าแก่มากเป็นอันดับ 2 ของโลก
คัมภีร์อัลกุรอานโบราณที่ได้นำมาจัดแสดงให้ชมนี้ เป็นคัมภีร์ที่ได้มาจากพื้นที่ภาคใต้ของไทย จากคาบสมุทรมลายูนูซันตารา และจากบางประเทศในโลกมุสลิมที่เคยมาติดต่อค้าขายกับประเทศไทยในอดีต มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ราว 150-1,200 ปี ทำการการค้นพบและรวบรวม โดย “อาจารย์มาหะมะลุตฟี หะยีสาแม” หรือ “อาจารย์ลุตฟี” ผู้บริหารสถานศึกษาสอนศาสนาอิสลามโรงเรียนสมานมิตรวิทยา
ที่มาของการรวบรวมคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ เนื่องจากได้เดินทางไปที่มาเลเซีย เห็นคัมภีร์ไม่กี่เล่มถูกนำมาจัดแสดงอย่างดี และมีคนมาเที่ยวชม จึงมานึกดูว่าบ้านเราก็มีและมีมากกว่าด้วย น่าจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ จึงมาบอกต่อชุมชน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชาวบ้านในพื้นที่และชาวมุสลิมในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย นำคัมภีร์โบราณและเอกสารเก่าแก่มาบริจาคให้ช่วยเก็บรักษาดูแลและนำไปทำประโยชน์กันเป็นจำนวนมากรวมแล้วกว่า 70 เล่ม คัมภีร์อัลกุรอานเก่าแก่เหล่านี้ ส่วนหนึ่งสันนิษฐานว่าได้มาจากการที่คนในสมัยก่อนไปเรียนหนังสือที่ต่างประเทศแล้วนำคัมภีร์และเอกสารกลับมา เพราะที่ปัตตานีเคยเป็นปอเนาะโบราณ และบ้างได้สันนิษฐานว่า น่าจะเดินทางติดตัวมาจากผู้ที่มาทำการค้าขายแลกเปลี่ยน ซึ่งสมัยนั้นมีปัตตานีเป็นศูนย์กลาง มีท่าเรือใหญ่สำคัญอยู่ที่นั่น
สำหรับ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อาหรับกูฟี ที่มีอายุกว่า 1,137 ปี ที่ถือเป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่เป็นอันดับสองของโลก ที่ได้นำมาจัดแสดงให้ได้ชมกันในงาน เป็นคัมภีร์ที่ถูกเขียนขึ้นด้วยลายมือในสมัยอาณาจักรปัตตานี มีขนาด 25x18 เซนติเมตร มีความหนา 11 เซนติเมตร มีทั้งหมด 532 หน้า ปกทำด้วยหนังสัตว์ เนื้อในทำด้วยกระดาษและเปลือกไม้ เขียนด้วยตัวอักษรโดยใช้หมึกสีดำ เขียนด้วยตัวอักษรลายกูฟี เป็นคัมภีร์ที่ไม่มีการเย็บเล่ม เขียนเสร็จในปีฮิจเราะห์ศักราช 301 (พ.ศ.1432) โดยอิหม่ามมาฮีร อาบี อับดุลเลาะห์ ยามาลุดดิน มูฮัมหมัด อิบนุอาลี
นอกจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อาหรับกูฟี อายุกว่า 1,137 ปี แล้ว ยังมี อัลกุรอานจุฬาราชมนตรีคนแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นอัลกุรอานที่คัดด้วยลายมือ ประดับด้วยทองคำเปลว ขนาด 8x11 เซนติเมตร หนา 2 เซนติเมตร เป็นของ มุฮัมมัดมะฮ์ซูม (ก้อนแก้ว) จุฬาราชมนตรีคนแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ และเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 5 ของประเทศไทย เขียนเสร็จเมื่อวันที่ 7 เดือนเชาวัล ปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 1128 (พ.ศ.2250) คัมภีร์ฉบับนี้มีอายุกว่า 310 ปี
อัลกุรอานจากอำเภอรูสะมิแล จ. ปัตตานี อายุกว่า 307 ปี เป็นอัลกุรอานที่เขียนด้วยลายมือ มีลายกรอบที่สวยงาม ประดับด้วยทองคำเปลว เป็นคัมภีร์ที่มีการประดับลวดลายทุกๆ ช่วงแรกของซูเราะห์ (บท) มากถึง 30 ลวดลาย แสดงถึงศิลปะการผสมผสานของความหลากหลายในกลุ่มประเทศนูซันตรา และเป็นคัมภีร์อัลกุรอานที่ได้รับการคัดเลือกขากสถาบันหอสมุดสุไลมานียะห์ นครอิสตัลบูล ประเทศตุรกี ในปี 2016 ว่าเป็นคัมภีร์ที่มีความสวยงามมากที่สุดในประเทศโลกมุสลิม
พิเศษอีกเล่มคือ คัมภีร์อัลกุรอานฉบับแปล-อรรถาธิบายภาษาไทยเล่มแรก โดย อาจารย์ต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีคนที่ 15 ของประเทศไทย ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชกระแสแก่ นายต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรีคนที่ 15 ของประเทศไทยว่า “อยากจะให้แปลความหมายของ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย ให้ปรากฏขึ้นเป็นสง่าราศีแก่ประเทศชาติให้ทัดเทียมกับหลายๆประเทศ ซึ่งเขาเคยจัดการแปลพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาประจำชาติกันมาแล้ว” โดยคัมภีร์ฉบับนี้ รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนในการจัดพิมพ์
นอกจากการจัดแสดงคัมภีร์อัลกุรอานที่สะสมในประเทศไทยแล้ว ยังมีอัลกุรอานจากประเทศต่างๆ อาทิ จากประเทศอิหร่าน อียิปต์ ตุรกี เยเมน อินโดนีเซีย และ ประเทศจีน มาจัดแสดงภายในงานด้วย
คัมภีร์อัลกุรอานโบราณเหล่านี้จะจัดแสดงและเปิดให้เข้าชมใน งาน เมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ฮ.ศ. 1438 ระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย. 60 นี้ ณ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ คลองเก้า หนองจอก
โดยหลังจากจบงาน คัมภีร์โบราณเหล่านี้จะถูกนำไปจัดแสดงให้ได้ชมที่ พิพิธภัณฑ์ศูนย์การเรียนรู้อัล-กุรอาน นูซันตารา ณ โรงเรียนสมานมิตรวิทยา (ปอเนาะศาลาลูกไก่) อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บรวบรวมคัมภีร์อัลกุรอานที่เขียนด้วยลายมือ จำนวนกว่า 74 เล่ม อายุราว 150-1,200 ปี นับเป็นแหล่งเรียนรู้แนวใหม่ด้านมรดกวัฒนธรรมอิสลาม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาหาความรู้ เพื่อเป็นสื่อนำไปสู่ความร่วมมือประสานประโยชน์ร่วมกัน ในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีบนความหลายหลายของวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมุสลิมอันจะนำไปสู่ความสันติสุขในการอยู่ร่วมกัน สร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติต่อไป
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754