xs
xsm
sm
md
lg

ชะตากรรมเภสัชฯ หวังดีจนถูกย้าย หรือคนไทยอยากตายเพราะ “เชื้อดื้อยา?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพราะความหวังดี ไม่อยากจ่ายยาตามลูกค้าสั่ง(แบบผิดๆ)ให้ แต่กลับกลายเป็นต้องถูกย้ายจากสาขา หลังถูกร้องเรียนว่า เภสัชกรคนนี้ “ไม่มี Service Mind” เอาเสียเลย จึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงเร่าร้อน สะท้อนสังคมไทยว่าสรุปแล้ว มีแค่ Thailand Only อีกแล้วใช่ไหม ที่มองเห็น “ยาปฏิชีวนะ” เป็นเหมือนอาหาร-ขนม ดูเหมือนลูกค้าจะ ขอซื้อ-ขอสั่ง-ขอกิน กันได้แบบง่ายๆ ทั้งๆ ที่มันอันตราย เสี่ยงต่อ “เชื้อดื้อยา” ที่คร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 30,000 คน!!



เป็นเภสัชฯ ไทยต้องทำใจ เพราะลูกค้าคือพระเจ้า!!

[เภสัชกรสาว ตั้งกระทู้ระบาย]
สิ่งที่เราได้รับจากลูกค้าคนนี้คือ ตารางงานของเดือนหน้าที่ลงสาขานี้ ถูกยกเลิกทั้งหมด และห้ามไปทำงานสาขานี้ตลอดชีวิต บริษัทคงกลัวว่าถ้าลูกค้าคนนี้มาแล้วเจอเราอีก ลูกค้าจะไม่พอใจและคิดว่าบริษัทไม่จัดการอะไร ทั้งที่ใจจริงเราไปสาขานี้ เราแฮปปี้กับ พนักงานทุกคนมาก

ตอนนี้เราลาหัวหน้าสาขาเรียบร้อย ถ้าผ่านแถวนั้น เราคงจะแวะไปหาทุกคนที่ร้านที่ยังไม่ได้ลา ถือว่ายังโชคดีนะคะ ที่ไม่โดนไล่ออก ยังไงก็ยังไปทำสาขาอื่นได้ตามปกติ

ร้านยาที่เราทำเป็นร้านยา chain ขนาดใหญ่ เราจะรับงานร้านยาตามเส้น BTS และ MRT แต่เพื่อเป็นการเซฟตัวเอง ต่อไปนี้ ทุกครั้งที่จ่ายยา เราคงต้องระลึกไว้ค่ะว่า ลูกค้าคือพระเจ้า

นี่คือบทสรุปของชะตาชีวิต “เภสัชกรสาว” รุ่นใหม่ไฟแรงคนหนึ่ง ซึ่งเพิ่งมาทำงานได้เพียง 10 เดือน แต่กลับต้องถูกแจ็กพ็อตจากความหวังดี เพราะขอไม่จ่ายยาปฏิชีวนะผิดๆ ให้ลูกค้าตามที่สั่ง จนสุดท้ายต้องถูกร้องเรียน และถูกย้ายสาขาทำงานไปในที่สุด


ส่วนต้นเหตุของความขัดอกขัดใจกันครั้งนี้ ก็เนื่องมาจากลูกค้ารายนั้น ต้องการมาซื้อยา “Amoxicillin” เพื่อไปรักษาอาการเจ็บคอเพราะเชื้อไวรัส (โรคหวัด) ทั้งๆ ที่ตัวยาดังกล่าวคือ “ยาปฏิชีวนะ” ซึ่งไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัสแต่อย่างใด มีแต่จะไปฆ่าเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ซึ่งไม่เกี่ยวกับอาการของโรค และยังอาจส่งผลให้เกิด “เชื้อดื้อยา” ขึ้นภายหลังอีกต่างหาก

แต่ไม่ว่าเภสัชกรผู้หวังดีรายนี้ จะพยายามอธิบายเท่าไหร่ว่าตัวยาที่คุณลูกค้ารายดังกล่าวต้องการ ไม่ได้ช่วยรักษาอาการเจ็บคออย่างที่เป็นอยู่ ลูกค้าก็ไม่ยอมเข้าใจ ดื้อแพ่งจะซื้อไปกินให้ได้ ด้วยจรรยาบรรณในวิชาชีพที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้น จึงไม่อยากขายยารักษาโรคผิดๆ ให้

ทีแรกเธอกะว่าจะตัดปัญหาด้วยการจ่ายยาให้ แต่โดสของยาชนิดนี้คือต้องกินให้หมด 2 แผง เพื่อไม่ให้เกิดอาการดื้อยา แต่กลับถูกลูกค้าคนดังกล่าวปฏิเสธ ขอซื้อไปแผงเดียวอีก สุดท้าย เภสัชกรสาวจึงเดินเลี่ยงออกไป แล้วเรียกพนักงานอีกคนมาคิดเงินให้แทน จึงส่งให้เรื่องราวทั้งหมดมาคุขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นการร้องเรียนต่อบริษัทผู้ดูแลร้านขายยาจนเป็นเรื่องเป็นราวอย่างที่กล่าวมา


“ณ จุดนั้นยอมรับค่ะว่าเราโมโห ไม่อยากคิดตังค์ โดสมันผิด ใช้ไปก็ดื้อยา ถ้าเราขายให้เขาไป ก็เท่ากับเราจะเพิ่มจำนวนคนดื้อยาอีก 1 คนบนโลกใบนี้ เราจึงบอกให้น้องพนักงานอีกคนช่วยคิดตังค์ให้หน่อย เราไม่อยากคิดตังค์ เรื่องมันก็ประมาณนี้แหละค่ะ โอเค เราผิดเพราะเรื่อง Service Mind อย่างที่เขาว่ากันแหละค่ะว่า ลูกค้าคือพระเจ้า

เรายอม Service Mind แย่ค่ะ หรือว่าเราเห็นว่าผู้ป่วยใช้ยาในทางที่ผิด เราต้องแสร้งทำเป็นยิ้มมีความสุข บริการทุกระดับประทับใจหรือคะ เราทำไม่ได้ค่ะ สมแล้วที่เราโดน complain สมน้ำหน้าตัวเองเนอะ
ป.ล.ใครที่มีคนรู้จักที่บ่นเรื่องเภสัชฯ ไม่อยากคิดตังค์ให้ฟัง ฝากบอกเขาด้วยนะคะว่า ให้ไปซื้อยาอีกแผงนึง แล้วกินให้ครบ 2 แผงนะคะ”



ยาแรงที่สุด-แพงที่สุด-ดีที่สุด ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา!!

หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมเภสัชกรสาวคนดังกล่าว ถึงได้ซีเรียสเรื่องอาการ “ดื้อยา” มากมายนัก เพื่อให้เข้าใจถึงผลกระทบใหญ่หลวงของโรคดังกล่าว ลองพิจารณาข้อมูลจาก "โครงการควบคุมและป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย (Antimicrobial Resistance Control and Prevention - AMR-CP)” ที่เผยสถิติที่น่าขนลุกเอาไว้ ดังนี้

"คนไทยติดเชื้อดื้อยาปีละกว่า 100,000 คน และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละกว่า 30,000 คน ส่งให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเชื้อดื้อยา ปีละมากกว่า 40,000 ล้านบาท”

นอกจากนี้ ยาที่ใช้รักษาเชื้อดื้อยาก็มีราคาแพงมากและมีพิษรุนแรงมาก ที่สำคัญที่สุดคือเชื้อดื้อยาหลายชนิดไม่มียารักษาให้หาย ดังนั้น หากเราไม่ช่วยกันควบคุมและป้องกันเชื้อดื้อยา จะมีคนตายจากเชื้อดื้อยาทั่วโลก ปีละกว่า 10 ล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งมากกว่าจำนวนคนตายจากโรคมะเร็งเสียอีก

เช่นเดียวกับกรณีของ “คุณวาณี” ที่ทางองค์กรดังกล่าวออกมาเปิดเผยว่า เธอต้องเสียชีวิตจาก “เชื้อดื้อยา” ที่ทางเดินปัสสาวะและกระแสเลือด ในวัยเพียง 40 ปี เธออยู่ในห้องไอซียูเพียง 5 วันก็ไม่อาจสู้ต่อไหว แถมค่าใช้จ่ายก็บานปลายไปเกือบ 300,000 บาท

ถามว่าคุณวาณีติดเชื้อดื้อยามาจากไหน หลักๆ เลยคือการใช้ยาปฏิชีวนะจากร้านยา, ร้านชำ, คลินิก และโรงพยาบาล โดยเฉพาะการใช้โดยไม่จำเป็น เช่น ใช้ยาเมื่อเป็นหวัด ทั้งๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย หรือใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อท้องเสีย ซึ่งหายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยา หรือใช้ยารักษาการอักเสบ ซึ่งไม่ได้เกิดจากแบคทีเรีย


[คุณวาณี คนไข้ที่เสียชีวิตจากอาการ “ดื้อยา” หลังเข้าไอซียูได้เพียง 5 วัน]
เมื่อคุณวาณีได้รับยาปฏิชีวนะ ยาก็ชักนำให้ร่างกายสร้างเชื้อดื้อยา โดยเฉพาะเชื้อในลำไส้ ซึ่งแพร่เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะด้วย เมื่อกลั้นปัสสาวะนานๆ ทำให้เชื้อดื้อยาในนั้นเพิ่มจำนวนจนติดเชื้อ และลุกลามไปที่ไต และกระแสเลือด กระทั่งเกิดอาการช็อกจากการติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด เพราะเชื้อก่อโรคของคุณวาณีดื้อยาต่อโรคที่ใช้รักษา การรักษาจึงไม่ได้ผล

สอดคล้องกับคำแนะนำจาก นพ.อนุวัฒน์ กีระสุนทรพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่อธิบายสาเหตุของอาการดื้อยาเอาไว้ ผ่านแชนแนลยูทูปของโรงพยาบาลเอาไว้ ถึงความน่ากลัวของมันว่าน่าขนลุกเกินกว่าที่หลายๆ คนจะคาดถึง

"สมมติ คนไข้เป็นหวัดมา เจ็บคอ มีน้ำมูกนิดหน่อย เรียกว่าเกือบจะร้อยทั้งร้อย เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่ต้องรักษาอะไร สามารถหายเองได้ ถ้ามีน้ำมูกก็กินยาลดน้ำมูก หรือถ้ามีอาการไอก็กินยาแก้ไอ แต่แทนที่จะกินแค่นี้ บางคนก็ไปกินยาปฏิชีวนะเข้าไป หรือบางที แม้แต่เวลาคนไข้มาพบแพทย์เอง คนไข้ก็คิดว่าต้องได้ยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะ ถึงจะดีขึ้น ถ้าไม่ได้ใช้จะไม่ดีขึ้น ทำให้เขาได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น


ปกติแล้ว ร่างกายของคนเรามีเชื้อแบคทีเรียอยู่ในร่างกายอยู่แล้ว ตามลำคอ ในลำไส้ แล้วเวลาเรากินยาปฏิชีวนะเข้าไป มันก็จะไปฆ่าเชื้อโรคทั้งตัว พอกินยาเข้าไปบ่อยๆ เข้า เชื้อโรคที่อยู่ตามร่างกายของเราก็จะสัมผัสกับยาบ่อยๆ ซึ่งเชื้อพวกนี้มันฉลาด พออยู่นานๆ เข้า เจอยาเดิมๆ บ่อยเข้า มันก็คุ้นเคย พอถึงเวลาที่ร่างกายติดเชื้อแบคทีเรียจริงๆ และต้องใช้ยาตัวนั้นเพื่อฆ่าเชื้อ กลับรักษาไม่ได้ด้วยยาตัวเดิม เพราะเรามีเชื้อดื้อยาอยู่ในตัวไปเรียบร้อยแล้ว

สุดท้าย การดื้อยาก็สามารถเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตได้ เพราะมันเป็นอุปสรรคให้ไม่สามารถจ่ายยาที่เหมาะสมให้คนไข้ได้ ทำให้มีผลต่อการรักษา ดังนั้น เราจึงควรใช้ยาให้เหมาะสม ถ้าเจ็บป่วยอะไรก็น่าจะมาพบแพทย์ และไม่ควรกินยาปฏิชีวะโดยไม่มีข้อบ่งชี้ หรือไม่มีความจำเป็น"

ถึงแม้ว่ากรณี “ดรามาการจ่ายยา” ในครั้งนี้ ผลของความหวังดีต่อลูกค้า จะถูกตอบแทนกลับมาเป็นการถูกย้ายสาขาของเภสัชกรสาวก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ การถ่ายทอดประสบการณ์จากใจของเธอ ผ่านกระทู้ที่ชื่อว่า “เหตุเกิดเมื่อความหวังดีของเภสัชกรกลายเป็นความ เ-ือก” ก็ได้กลายเป็นแสงสว่างให้อีกหลายๆ ชีวิต ได้เข้าใจความต่างระหว่าง “ยาปฏิชีวนะ” กับ “ยาแก้อักเสบ” และคำว่า “ดื้อยา” ได้มากขึ้น และนี่คือส่วนหนึ่งในถ้อยคำสำคัญที่เธอได้ฝากเอาไว้ด้วยความห่วงใยในเพื่อนมนุษย์ทุกคน

“ตั้งแต่เราทำงานมา เรารู้สึกได้ว่าคนไทยเนี่ยเอะอะอะไรก็ใช้ยา และมักเรียกหายาที่แรงที่สุด-แพงที่สุด-ดีที่สุด แต่ฝรั่งส่วนใหญ่จะปฏิเสธการใช้ยาปฏิชีวนะ และต่างประเทศยาปฏิชีวนะเป็นยาที่ไม่ได้จ่ายกันง่ายๆ นะ คนไข้ฝรั่งส่วนมาก เขาบอกว่าเขาแปลกใจ ทำไมในไทยซื้อได้เลย ประเทศเขาต้องมีใบสั่งแพทย์เป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่ควรจะเลือกยาตัวที่แรงที่สุด-แพงที่สุด-ดีที่สุด

ถ้าใครเคยซื้อยากับเรา เรามักพูดเสมอว่า “เราไม่ควรจะเลือกยาตัวที่แรงที่สุด-แพงที่สุด-ดีที่สุด แต่ควรเลือกยาตัวที่อ่อนที่สุดที่สามารถทำให้เราหายจากอาการนั้นได้” นั่นแปลว่าเราสามารถหายจากโรคได้ โดยได้รับผลข้างเคียงจากยาน้อยที่สุด แน่นอนเภสัชฯ ทุกคนรู้ว่ายาทุกตัวมีผลข้างเคียง

[กินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ เชื้อเดิมจะกลายพันธุ์เป็น "เชื้อดื้อยา" ในภายหลัง]


ลองคิดดูสิว่า ถ้าเกิดคุณเลือกตัวที่แรงสุดๆ ไปแล้ว แถมยังใช้ไม่ถูกต้อง กินตามอารมณ์เหมือนกินขนม แล้วถ้าไม่หายขึ้นมา จะมียาอะไรในโลกรักษาให้คุณหายได้อีกไหมล่ะ เวลาจ่ายยาด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพแล้ว เภสัชฯ ทุกคนจะแนะนำการใช้ยาให้คุณแน่นอน แต่ถ้าคุณไม่ได้รับคำแนะนำ คุณอาจจะกำลังซื้อยาจากคนที่ไม่ใช่เภสัชฯ อยู่ก็เป็นได้







ข่าวโดย ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น