ประชาชนว่าไง?! ม.44 สั่งด่วน นั่งหลังต้องคาดเข็มขัด-ไม่จ่ายค่าปรับไม่ต่อภาษีให้ มาตรการใหม่เพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน นักวิชาการชี้ คาดเข็มขัด + จ่ายค่าปรับ ยิ่งปลอดภัยแถมป้องกันการกระทำผิดซ้ำ!
ไม่คาด ไม่จ่ายค่าปรับ ไม่รอดแล้วนะ!
ใครที่ไม่ชอบคาดเข็มขัดนิรภัยหรือไม่ยอมจ่ายค่าปรับคงได้มีเสียวสันหลังวาบ ก็เพราะคำสั่งล่าสุดของ คสช. ได้มีการบังคับใช้มาตรา 44 ให้ผู้ที่นั่งเบาะหลังต้องคาดเข็มขัดด้วย และใครก็ตามที่ได้รับใบสั่ง แต่ไม่ยอมไปชำระค่าปรับ นายทะเบียนจะไม่ให้ต่อภาษีให้ มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป!
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่งเรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาปัญหาจราจรในปัจจุบันที่ผู้ขับขี่มักจะฝ่าฝืนและไม่ทำตามกฎหมายอยู่บ่อยครั้ง จนส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน ทั้งของตนเองและผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ จึงมีการปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติมให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น
เนื้อหาหลักๆ ที่มีการปรับปรุงล่าสุดที่ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องจำให้ขึ้นใจหากไม่อยากถูกเรียก นั่นก็คือ ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถยนต์ “ต้อง” คาดเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์ทุกครั้ง ซึ่งก็หมายความว่า หากผู้โดยสารที่นั่งเบาะหลัง ก็ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วยเช่นกัน รวมทั้งเรื่องการถูกออกใบสั่ง หากใครทำเฉย ไม่ไปจ่ายค่าปรับตามใบสั่งในระยะเวลาและขั้นตอนที่ที่กำหนด ก็จะไม่สามารถต่อทะเบียนรถ ต้องตามไปดำเนินการต่อในชั้นศาล
แต่สิ่งที่ทำให้ประชาชนตั้งข้อสังเกตกัน คือการนำมาตรา 44 บังคับใช้กับเรื่องนี้ ซึ่งภายหลังจากที่คำสั่งที่เผยแพร่ออกไปบนสังคมออนไลน์ ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง จนทำให้สมาชิกโลกโซเชียลฯ มีความคิดเห็นแยกออกเป็น 2 ฝั่ง โดยฝั่งที่เห็นด้วยมองว่า เพราะทุกวันนี้ผู้ใช้รถใช้ถนนในบ้านเราก็คำนึงถึงความปลอดภัยกันน้อยมาอยู่แล้ว เป็นเรื่องดีที่ใช้มาตรา 44 มาบังคับใช้ให้เกิดความเด็ดขาดไปเลย
“แปลกแต่จริง คนไทยส่วนใหญ่ด่าเรื่องวินัยจราจรของคนไทยด้วยกัน แต่พอบังคับใช้กฎหมายก็ไม่สนใจกัน แล้วเมื่อไรเอาแค่เรื่องวินัยจราจรถึงจะเจริญเหมือนประเทศอื่น ในเมื่อคนส่วนใหญ่ยังไม่คิดทำตามกฎหมายจราจร แต่ด่าว่าจราจรไทยห่วยทั้งๆ ที่ตัวเองทำให้มันห่วย”
“ถ้าไม่บังคับเด็ดขาดก็คงไม่ทำกัน”
“ถ้าเราเคารพวินัยจราจร ใช้รถใช้ถนนกันอย่างมีวินัย เราคงไม่ต้องมาถึงจุดนี้ม.44 คงไม่มี”
“คือดีนะ ก็เห็นด้วย ลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ”
ส่วนฝั่งที่ไม่เห็นด้วยก็โต้กลับว่า เป็นการใช้มาตรา 44 พร่ำเพรื่อเกินไปหรือเปล่า จนทำให้กฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ แถมยังไปเป็นการเอื้อผลประโยชน์ต่อตำรวจในการจับผู้ฝ่าฝืนอีกด้วย
“เรารักการทำงานของท่านนายกนะคะ แต่การใช้ม.44 กับเรื่องนี้ กลายเป็น ม.44 ไม่ขลังเอาซะเลย หยุมหยิมไปหรือเปล่าคะ”
“แก้ปัญหาจราจร? เพิ่มรายได้มากกว่ามั้ง?? ทีกฎหมายเก่าๆ ที่ล้าสมัยทำไมไม่ใช้มาตรา 44 แก้บ้าง”
“ผมว่าเรื่องเข็มขัดนิรภัยนี่ถือว่าใช้กฎหมายอย่างพร่ำเพรื่อมาก คือต่อให้คนในรถตายเพราะไม่ได้คาด ก็ไม่ได้ไปหนักหัวพ่อใครที่ไหน เปิดช่องให้ตำรวจทำมาหากินเพิ่มชัดๆ พวกสวมหมวกกันน็อกก็เหมือน พวกนี้เขาไม่รักชีวิตตัวเองอยู่แล้ว ทำไมถึงต้องไปเสือกเขาว่าจะคาดหรือไม่คาด สวมหรือไม่สวม”
ก็ต้องดูกันต่อไปว่า หลังจากที่มีการบังคับใช้คำสั่งนี้แล้ว จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุการจากการไม่คาดเข็มขัดได้มากน้อยเพียงไร รวมถึงการจ่ายค่าปรับของผู้กระทำผิดด้วย
“คาดเบลท์+จ่ายค่าปรับ” ตัดวงจรกระทำผิดซ้ำ
สำหรับประเด็นมาตรา 44 ถูกนำมาบังคับใช้เกี่ยวกับปัญหาการจราจร ทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงต่อสายตรงไปยัง นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อสอบถามถึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา หากดำเนินการตามแนวทางที่ทางรัฐบาลเสนอมา
“สำหรับผม ผมมองว่าการนำมาตรา 44 มาใช้ จะเป็นตัวเสริมที่สำคัญที่จะช่วยจัดการบางปัญหาได้ อย่างในกรณีเมาแล้วขับและถูกยึดรถ ที่ผ่านมาข้อจำกัดที่ทำให้การบังคับใช้มันไม่เวิร์กเพราะว่าทางตำรวจจะมีภาระเยอะในการยึดรถ ตั้งแต่การดูแลรักษา เอารถไปเก็บ เพราะฉะนั้น รอบนี้ตัวมาตรา 44 ก็จะเขียนให้ตำรวจสามารถที่จะกำหนดให้ภาระของการนำรถไปเก็บรักษาเป็นของผู้กระทำความผิด พูดง่ายๆ ก็คือถ้าผมเมาขับ แล้วถูกยึดรถ นอกจากผมจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ผมต้องควักกระเป๋าเป็นค่าใช้จ่ายในการลากรถและเก็บรักษาด้วย คือโดน 2 เด้ง อันนี้ก็จะทำให้ผู้กระทำความผิดคิดหนักขึ้น
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์
ประเด็นถัดมาคือ ที่ผ่านมา คนที่ได้รับใบสั่ง โดยเฉพาะทางไปรษณีย์จากเครื่องตรวจจับความเร็วก็ดี จากการผ่าสัญญาณไฟก็ดี คนส่วนใหญ่มักจะเพิกเฉย ซึ่งอัตราการมาชำระมีไม่ถึง 20 % ก็เพราะมันไม่มีผลต่อการไปต่อทะเบียน แต่ครั้งนี้ถูกเขียนไว้ชัดว่า ถ้าภายใน 15 วันที่แจ้งไป ต้องตอบสนอง แล้วถ้าถึงรอบของการต่อทะเบียนแล้วยังไม่ตอบสนอง ก็จะทำให้ไม่สามารถต่อทะเบียนได้ทันที ก็เหมือนถ้าผมไม่ไปชำระ แล้วไปเกิดเหตุขึ้นมาก็จะโดน 2 ต่อเลย เพราะฉะนั้นข้อนี้จะช่วยตัดวงจรเรื่องผู้กระทำผิดซ้ำๆ
ประเด็นสุดท้ายสำคัญมากและประโยชน์มาก คือการคาดเข็มขัดนิรภัยให้ครอบคลุมผู้โดยสารทุกคน ซึ่งจะมีประโยชน์ 2 ต่อ คือต่อที่ 1 ทำให้ผู้โดยสารตอนหลังปลอดภัย ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่จะละเลย แต่ถ้าไปดูกรณีที่เกิดขึ้นหลายครั้งพบว่า ผู้เสียชีวิตคือผู้โดยสารตอนหลังที่ไม่คาดเบลท์ ถูกเหวี่ยงจนออกมานอกรถ จริงๆ ผู้โดยสารที่ไม่คาดเบลท์ เขาอาจจะทำให้คนที่คาดเบลท์ได้รับอันตรายไปด้วย เพราะแรงเหวี่ยงที่มากระแทก ต่อที่ 2 จะทำให้รถคนนั้นไม่สามารถบรรทุกเกินได้ ในกรณีของรถโดยสารส่วนบุคคล 2 ตอน ซึ่งจะมี 5 ที่นั่ง เพราะเขียนไว้ชัดว่า ‘ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย’ ครับ “
สำหรับรถโดยสารสาธารณะอย่างรถเมล์ที่วิ่งในกรุงเทพฯ นพ.ธนะพงศ์ ให้คำตอบว่า เป็นรถใช้ความเร็วไม่มาก และผู้โดยสารมีการขึ้น - ลงอยู่ตลอดเวลา จึงไม่จำเป็นต้องใช้เข็มขัด แต่หากเป็นรถสาธารณะในกลุ่มรถทัวร์ที่มีการวิ่งข้ามจังหวัด ก็ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย เพราะหากไม่มี เจ้าของรถจะถูกปรับตาม พ.ร.บ.ขนส่งไม่เกิน 50,000 บาท ในทางกลับกัน หากผู้โดยสารไม่ยอมคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งๆ ที่บนรถโดยสารมีให้คาด ผู้โดยสารเองถือว่ามีความผิด หากพบเจอก็จะถูกปรับเช่นกัน สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
ส่วนประเด็นที่มีการพูดถึงการนำมาตรา 44 มาบังคับใช้กับการจราจรนั้น ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มองว่า หากเป็นการรอบังคับใช้กฎหมายตามขั้นตอนปกติ จะยิ่งทำให้การแก้ปัญหาล่าช้าออกไป จึงอยากให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคำนึงถึงความปลอดภัยมากกว่ามาจับผิดการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
“การใช้มาตรา 44 มันเกินไปมั้ย ผมคิดว่าคำสั่งที่ออกมามันไม่ได้มีหลายข้อ สิ่งที่ต้องใส่ใจคือออกไปแล้วจะบังคับใช้ยังไงมากกว่า เพราะสิ่งที่ตามมา คนมักจะคิดว่าไปเอื้อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีผลประโยชน์มากขึ้น ผมจึงอยากเสนอว่า อย่าเพิ่งรีบร้อนในการปรับใช้ทันที ควรจะตักเตือนและมีเวลาสัก 3 - 4 เดือนในการปรับเพื่อลดแรงต้าน และควรใช้วิธีรณรงค์ให้ประชาชนยอมรับและเห็นประโยชน์ของเบลท์ แน่นอนว่ามีประโยชน์อยู่แล้ว ในการเกิดเหตุการณ์การปะทะ เบลท์ช่วยเซฟชีวิตได้ 34 % ซึ่งถูกพิสูจน์มาแล้วทั่วโลก ผมคิดว่าเรื่องดีๆ ถ้าไม่อยากให้เสียของต้องค่อยเป็นค่อยไปครับ”
สุดท้าย นพ.ธนะพงศ์ ได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่มีผู้โดยสารเป็นเด็กอายุต่ำว่า 7 ปีไว้ว่า ผู้ปกครองควรให้เด็กนั่ง “คาร์ซีท” หรือที่นั่งสำหรับเด็ก เพราะหากให้เด็กใช้เข็มขัดนิรภัยแบบผู้ใหญ่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เข็มขัดจะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดอันตรายยิ่งกว่าเดิม
คาร์ซีทที่ผลิตขึ้นมาเพื่อให้เด็กนั่งหันหน้าไปทางด้านหลังของรถ-ภาพจากเดลี่เมลล์
“สำหรับรถรุ่นเก่าที่ไม่มีเบลท์ด้านหลังก็ควรไปติดตั้งครับ ผมอยากมองเรื่องของความปลอดภัยมาก่อน เพียงแต่ว่าเรื่องนี้มีช่องว่างในเด็กที่อายุน้อยกว่า 7 ขวบ การคาดเบลท์จะเป็นอันตราย เพราะเด็กมีสรีระเล็ก ถ้าคาดไปแล้วเกิดอุบัติเหตุ ตัวเด็กจะลอดออกจากเบลท์ และอาจถูกเบลท์พันคอได้
เด็กเล็กๆ ควรนั่งคาร์ซีทครับ แต่ครั้งนี้กฎหมายยังไม่ได้พูดถึงคาร์ซีทเพราะว่ามันค่อนข้างแพง เพราะฉะนั้นตำรวจก็ต้องเข้าใจว่า ที่เด็กเล็กไม่คาดเพราะมันยิ่งอันตราย แต่ถ้าออกคำสั่งไปตอนนี้ต้องถูกต้านแน่นอน ก็ต้องค่อยๆ ปรับแก้กฎหมายกันต่อไปครับ”
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754