สำหรับชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินก็หวังจะเข้า รพ.รัฐ เพราะค่าใช้จ่ายที่ "พอรับได้" แม้การบริการจะไม่ได้ดีเลิศแต่ก็โอเค ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลเอกชนมาตรฐานดี แต่ราคาก็เศรษฐี ค่ารักษาแพงกระเป๋าฉีก แต่บริการดี๊ดี รวดเร็ว ล่าสุด มีผู้ร้องทุกข์ น้องประสบอุบัติเหตุต้องเข้า ไอ.ซี.ยู อยู่ในช่วงโคม่า เธอพยายามติดต่อ รพ.รัฐแต่ติด "เตียงเต็ม" ทั้งที่ผ่านมากว่า 10 วันแล้ว จึงจำเป็นต้องนอน รพ.เอกชน ขณะนี้ค่ารักษาทะลุล้านแล้ว!
เมื่อไหร่หนอ “เตียงจะว่าง”?
“เงินไม่ใช่ทุกอย่างแต่ทุกอย่างต้องใช้เงิน..แลกกับ1ชีวิต” เป็นกระทู้ที่พี่สาวของน้องคนหนึ่งที่กำลังโคม่าตั้งขึ้นในเว็บบอร์ดชื่อดัง กระทั่งเพจดังอย่าง Drama-addict เอามาแชร์ วอนผู้เกี่ยวข้องช่วยเหลือให้ได้เตียงจากโรงพยาบาลรัฐ หลังผ่านมา 10 กว่าวันจนแบกรับภาระค่ารักษาหลักล้านไม่ไหวแล้ว
เธอเล่าว่า น้องของเธอเกิดอุบัติเหตุช็อกน้ำตาลสูง วันที่ 20 ก.พ. ขณะขี่มอเตอร์ไซค์จนล้มคว่ำ จากนั้นได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง ประมาณ 2 วัน กระทั่งอาการดีขึ้นทางโรงพยาบาลจึงส่งตัวน้องเธอไปโรงพยาบาลย่านนทบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง 30 บาท
อาการที่ดูเหมือนว่าจะดีขึ้น จู่ๆน้องของเธอก็เกิดอาการแน่นหน้าอก และหยุดหายใจแพทย์ตามโรงพยาลสิทธิจึงปั๊มหัวใจขึ้น โดยใช้เวลาประมาณ 2 นาที จากนั้นก็มีอาการชักตลอดตั้งแต่ 22.00 น.ของคืนวันศุกร์ที่ 24 ก.พ. จนถึงเวลาประมาณ15.00ในวันรุ่งขึ้น ทางโรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง ได้พยายามติดต่อไปที่โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่สุดใน จ.นนทบุรี ให้มารับคนไข้เนื่องจาก รพ.ตามสิทธิไม่มีห้อง ไอ.ซี.ยู. และพยาบาลแจ้งว่ายากันชักมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะใช้รักษาคนไข้เคสนี้
โรงพยาบาลรัฐนั้นก็ตอบแต่ว่า "เตียงเต็ม" เธอจึงพยายามติดต่อทุกโรงพยาบาลรัฐให้มาช่วยรับรักษา ทั้งโทรหา และไปติดต่อไปที่โรงพยาบาลทุกวัน แต่ได้คำตอบเหมือนกันคือ “เตียงเต็ม"
เมื่อหมดหนทาง เธอจึงลองติดต่อโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งไป สอบถามเบื้องต้น ค่าห้องประมาณหลักพันบาทในตอนนั้นเธอไม่มีทางเลือกและประมาณการค่ารักษาจากโรงพยาบาล คิดว่าไม่น่าจะเกิน 100,000 บาท เธอจึงให้ทาง รพ.เอกชนมารับตัวน้องไปรักษา
ทาง รพ.เอกชนดูแลและรักษาน้องเธอดีมาก แต่ราคาที่แจ้งเป็นยอดกลมๆ ไม่มีรายละเอียดในการคิดค่าบริการ ซึ่งมันเกินกว่างบที่เธอตั้งไว้มาก ระหว่างนั้นเธอได้พยายามติดต่อไปที่ สปสช. ละเดินทางไปติดต่อ รพ.ของรัฐ แทบจะทั่วกรุงเทพฯ ก็ได้คำตอบเดิมๆคือ"เตียงเต็ม"
ผ่านมา 12 วันแล้ว อาการของน้องยังคงโคม่าอยู่ ไม่รู้สึกตัว ใส่ท่อช่วยหายใจ และให้ยากันชัก กระทั่งตอนนี้ก็ยังหาเตียงไม่ได้ ค่าใช้จ่ายแทบจะขึ้นเป็นนาที ปัจจุบัน ค่ารักษาทะลุล้านแล้ว
“หน่วยงานรัฐพูดเพียงว่าตอนนี้กำลังประสานงานให้อยู่ค่ะ แต่เตียงเต็ม เราควรทำไงดีคะ การรักษาชีวิต 1 ชีวิต กับค่าใช้จ่ายที่มหาศาล และไม่รู้ รพ จะคิดราคาอีกเท่าไหร่พยายามไกล่เกลี่ยกับ รพ. แล้ว แต่ฝ่ายการเงินก็พูดเพียงว่า ให้พยายามหาเงินมาจ่าย และเค้าจะช่วยหา รพ. รัฐให้ และย้ายออกได้”
ปัญหาอันเป็นนิรันดร์
“เตียงเต็ม” นี้เป็นปัญหามาเนิ่นนาน ขนาดที่ว่า แพทย์เอง ยังบอกว่า “ปัญหาอันเป็นนิรันดร์” ชมรมแพทย์เพื่อวิชาชีพแพทย์ (ชพพ.) เคยแชร์ข้อความของแพทย์ผู้หนึ่ง ที่ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า Ukris Utensute แชร์ประสบการณ์ตรงจากการถูกปฏิเสธรับคนไข้โดยโรงพยาบาลใหญ่ ด้วยคำว่า "เตียงเต็ม" จนคนไข้ตาย! พร้อมระบุว่า เป็นปัญหาที่รู้อยู่แก่ใจ แต่ไม่มีใครอยากพูดถึง
“...ผมอยากให้คนที่ ไม่เคยรับรู้เหตุการณ์ได้มีโอกาสซึมซับความรู้สึกเหล่านี้ไว้บ้างครับ จะได้ฉุกคิดซักนิดก่อนที่จะตอบพวกผมว่า “เตียงเต็มค่ะ”
ผมขอเล่าเป็นราย ๆ แล้วกัน เริ่มตั้งแต่…ผู้ป่วยรายแรก เมื่อนานมาแล้ว อุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์ล้มไม่มีบัตรประชาชน ตรวจพบกระโหลก ศีรษะแตกและหมดสติ เนื่องจากมีเลือดคั่งในสมอง พวกผมก็ใส่ท่อช่วยหายใจและรับนำส่งโรงพยาบาลของรัฐ ที่มีเครื่อง CT scan เพื่อที่จะได้ดูตำแหน่งของเลือดที่คั่งในสมองว่าสามารถผ่าตัดได้หรือไม่ เมื่อรถพยาบาล ไปถึงโรงพยาบาลของรัฐ ดังกล่าวก็มีเจ้าหน้าที่มาถามว่าโทรประสานงานมาหรือยังเจ้าหน้าที่ผมก็ตอบว่า ยังครับเห็นอาการหนัก ก็เลยรีบนำคนไข้มาส่งก่อน เกิดอะไรขึ้นรู้มั้ยครับ เจ้าหน้าที่เค้าบอกว่าไม่ได้ประสาน มาไม่สามารถรับได้ ซึ่งตอนนี้ "เตียงเต็ม" จึงให้นำคนไข้ขึ้นรถพยาบาลกลับมาที่ผมอีกครั้ง ผู้ป่วยรายนี้ก็ไม่มีอะไร มากหรอกครับ ก็แค่กลับมาตายที่โรงพยาบาลของผมไงครับ
ข้ามมาดูผู้ป่วยรายที่สองก่อนนะครับ ผู้ป่วยมาด้วยอ่อนแรงเป็นอัมพาตครึ่งซีก ตรวจพบมีความดัน โลหิตสูงร่วมด้วย มีสิทธิ์บัตรทองโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทางผมก็โทรไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิบัตรทอง เพื่อจะขอส่งตัวไปรับการรักษาและทำ CT scan เนื่องจากโรงพยาบาลผมไม่มีเครื่อง ก็ได้รับคำตอบว่า “เตียงเต็มค่ะ” แต่ยังไงผมก็ต้องหาทางส่งคนไข้ไปทำ CT scan ให้ได้เพื่อหาสาเหตุ บังเอิญเกิดความคิดว่า ถ้าอย่างงั้นโทรไปที่เดิมแล้วบอกว่า ขอส่งคนไข้ไปทำ CT scan ที่โรงพยาบาลของคุณตามสิทธิ์นะครับ ไม่มีเตียงไม่เป็นไร เดี๋ยวผมรับกลับมา ดูแลต่อให้เองครับ ขอแค่ให้รู้ว่าคนไข้เส้นเลือดแตกหรือตีบก็พอ จะได้วางแผนต่อได้ว่าต้องผ่าตัดสมองหรือไม่ ทางโรงพยาบาลตอบว่าไงรู้มั้ยครับ ตอบว่า “เครื่อง CT scan เสียค่ะ” ผมเลยไปต่อไม่ถูกเลยครับ
แต่ทันใดนั้นเองก็มีญาติคนไข้ เดินเข้ามาเหมือนสวรรค์มาโปรด บอกว่าคนไข้สามารถเบิกได้ค่ะ ลูกเพิ่งเข้ารับราชการในระบบคอมพิวเตอร์จึงยังไม่เปลี่ยนสิทธิ์จากบัตรทอง มาเป็นเบิกได้ ด้วยความข้องใจ ผมก็เลยโทรกลับไปที่โรงพยาบาลแห่งเดิมเป็นครั้งที่สาม แต่คราวนี้โทรไป ที่แผนกเอกซเรย์โดยตรง แล้วบอกว่ามีคนไข้เบิกได้ต้องการทำ CT scan ทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่า “ส่งมาทำ ได้เลยค่ะ” ผมฟังเสร็จก็งงครับ งงเป็นไก่ตาแตกเลย
ผู้ป่วยรายที่สามครับ เด็กสำลักอาหาร หัวใจหยุดเต้น หลังปั๊มหัวใจและใส่ท่อช่วยหายใจ เด็กเริ่มรู้สึกตัว และ ICU ในโรงพยาบาลเต็ม เนื่องจาก ICU ของโรงพยาบาลมีแค่ 4 เตียง และต้องใช้ร่วมกันกับแผนกอื่น ๆ คือ อายุรกรรม ศัลยกรรม และสูติกรรมครับ ที่สำคัญคือญาติต้องการไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลใหญ่ที่มีเครื่องมือ พร้อมกว่านี้ เด็กมีสิทธิ์บัตรทองต่างจังหวัดครับ สำหรับรายนี้ไม่มีอะไรมากหรอกครับ ก็แค่โทรไปตาม โรงพยาบาลต่าง ๆ ในกทม. ทั้งโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และโรงเรียนแพทย์ เชื่อไหมครับ โทรติดต่อ ทั้งหมด 22 โรงพยาบาลครับใช้เวลาแค่ 3 ชั่วโมงกว่า ๆ เองครับ (บางครั้งผมเคยใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมงในการ ติดต่อส่งตัวก็มีครับ) คำตอบเกือบจะเหมือน กันหมดคือ “เตียงเต็มค่ะ”
หมอวอน ช่วยรับคนไข้เอาบุญ!
นอกจากนี้ แพทย์ผู้มีประสบการณ์ตรงยังยกตัวอย่างคำตอบของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลใหญ่เมื่อโทรไปขอให้รับตัวคนไข้ไว้ด้วย กับประโยคคลาสสิก “เตียงเต็ม” ทว่า เมื่อแพทย์ผู้นี้โทรไปหา ผอ.โรงพยาบาล กลับมี “เตียงว่าง” เฉย!
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลผมโทรไปบอกว่า “พี่คะ ช่วยรับหน่อยนะคะ โทรมา 10 โรงพยาบาลแล้วค่ะ”
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลใหญ่ตอบว่า “น้องโทรไปตั้งสิบโรงพยาบาลแล้ว ถ้างั้นน้องก็โทรไป โรงพยาบาลที่ 11 ต่อเลยแล้วกันนะคะ โรงพยาบาลพี่เตียงเต็ม”
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลผมโทรไปบอกว่า “พี่คะ ช่วยรับหน่อยนะคะ โรงพยาบาลพี่เป็นแม่ข่ายที่จะคอย รับ ผู้ป่วยให้กับโรงพยาบาลหนูนะคะ นี่พวกหนูโทรติดต่อมาแล้วตั้ง 20 โรงพยาบาลค่ะ”
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลใหญ่ตอบว่า “พี่เป็นโรงพยาบาลแม่ข่ายก็จริง แต่ผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้อยู่ในข้อตกลง 4 โรคหลักที่เคยตกลงกันไว้ น้องโทรไปโรงพยาบาลอื่นแล้วกัน”
เป็นไงครับ “รั้วที่มองไม่เห็น” ผมไม่ได้ต้องการนำมาเล่าให้เกิดการฟ้องร้องกันนะครับ ไม่ได้เอาใคร มาประจาน เพียงแต่ผมต้องการให้มองประเด็นบางอย่าง คนรับโทรศัพท์มักไม่ใช่แพทย์ครับ จะเป็นพยาบาลที่รับหน้าที่เป็นหัวหน้าเวรในวันนั้น ๆ หลายครั้งที่โทรหาแพทย์แล้วแพทย์รับผู้ป่วย แต่หัวหน้าเวรแจ้งว่าเตียงเต็ม แต่ซักพักพอผมโทรถึงท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลแต่ละแห่งกลับมีเตียงว่างเฉยเลย
เคยได้ยินคำนี้มั้ยครับ “ตายโรง (พยาบาล) เล็กเรื่องใหญ่ ตายโรง (พยาบาล)ใหญ่เรื่องเล็ก” ผมยกตัวอย่าง เช่นเด็กป่วยเป็นไข้เลือดออกรุนแรงแล้วเกิดตายในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ พี่ ๆ ว่า ญาติรับได้มั้ยครับ แล้วกลับกันถ้าเป็นอาจารย์แพทย์ที่เก่งที่สุด มารักษาเด็กคนเดียวกันแล้วเด็กเกิดตาย ขึ้นมา แต่ตายในโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง พี่ว่าญาติจะรับได้มั้ยครับ ไม่รู้ว่าจะมีหมอตามโรงพยาบาล ใหญ่ ๆ หรือโรงเรียนแพทย์ซักกี่คนที่คิดเรื่องนี้ ก่อนที่จะตอบพวกผมว่า “เตียงเต็มค่ะ”
สุดท้ายนี้อยากบอกแพทย์ทั้งหลายว่า ผมก็เป็นแค่หมอธรรมดาคนหนึ่งที่อยู่ในโรงพยาบาลที่กำลัง จะโตครับ ผมเองไม่สามารถรักษาได้ทุกโรค สำหรับพี่ ๆ ทั้งหลายที่เป็นหมอเฉพาะทางหรือมีเครื่องมือ ที่พร้อมและสามารถรักษาคนไข้ได้ดีกว่าผม เวลาที่พวกผมขอความช่วยเหลือ ก็ช่วยรับให้หน่อยเถอะครับ ถือว่าช่วยคนไข้เพื่อเอาบุญแล้วกันนะครับ”
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเตียงไม่พอสำหรับคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ก็ดูจะเป็นภาพชินตา กับการที่เห็นเตียงเสริมคนไข้บริเวณระเบียง บางทีก็ล้นออกมาจนถึงหน้าลิฟต์ บ้างก็ปูเสื่อนอน นอกจากนี้ ยังชินตากับภาพคลื่นฝูงชนสุดแออัดยัดเยียดเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อยื่นบัตรรับบัตรคิว รอแพทย์ตรวจ ต้องออกจากบ้านแต่เช้ามืด เพียงเพื่อพบหมอ 5 นาที ได้รับยาในเวลาบ่ายแก่ๆ กลับบ้านตอนเย็นถึงค่ำ
ดังนั้น การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เป็นจริงที่สุด เพราะคนที่มาโรงพยาบาลล้วนแต่เป็นคนที่มีความทุกข์ทั้งสิ้น!
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754