เสื้อกาวน์ถึงกับสั่น! หมอโพสต์โวยคนไข้ มาโรงพยาบาลตอนตี 3 ด้วยเหตุ ‘ไม่ฉุกเฉิน’ จนทำให้ไม่มีเวลานอน คนไข้โต้กลับ “ไม่ป่วยก็คงไม่มา” สรุปแล้วงานนี้ใครควรสำนึก ระหว่าง "แพทย์" ที่ไม่พร้อมบริการ กับ "คนไข้" ที่แบ่งแยกระหว่างอาการ "ฉุกเฉิน-ไม่ฉุกเฉิน" ไม่เป็น!!
เสียงโอดครวญจากแพทย์คนหนึ่ง กลายเป็นประเด็นดรามาขึ้นมาทันที หลังจากที่ตัวเขาทวิตข้อความระบายความอัดอั้นตันใจของตัวเอง ถึงคนไข้ที่มาโรงพยาบาลตอนกลางดึกด้วยอาการไม่ฉุกเฉินว่า “ลดความเป็นหมอให้น้อยลง เพิ่มความเป็นคนให้มากขึ้น กูก็คนโว้ย เลิกมาหาตอนตี 3 ด้วยอาการไม่ฉุกเฉินได้แล้ว กูก็ต้องนอน!!!! #จงอย่าเรียนหมอ" จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในทวิตเตอร์ และมีผู้ใช้งานพากันติดแฮชแท็ก #จงอย่าเรียนหมอ" กันให้เพียบ
แอดมินของเพจ “Drama-Addict” ผู้ซึ่งเคยทำงานในวงการแพทย์ ได้หยิบยกข้อความของแพทย์คนนี้ขึ้นมาพูดคุย พร้อมอธิบายว่า ระบบสาธารณสุขของไทย ใช้งานบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมอและพยาบาลอย่างหนัก เมื่อแพทย์เข้าเวรช่วงกลางคืนถึงเช้าแล้ว ก็ต้องมาทำงานในตอนเช้าต่อ ซึ่งไม่ได้ออกเวรแล้วไปพักผ่อนอย่างแพทย์ในต่างประเทศ
เวลาอยู่เวรกลางดึก หากไม่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน แพทย์และพยาบาลอาศัยช่วงเวลานี้พักผ่อน แต่ปัญหาที่พบอยู่ขณะนี้ คือมักจะมีคนไข้มาด้วยอาการเล็กน้อย เช่น เจ็บคอ ท้องเสีย ในเวลาตี 2 ถึงตี 3 บ้างก็มาช่วงเวลานี้เพื่อขอใบรับรองแพทย์ไปสำหรับลางาน ปัญหาเหล่านี้ทำให้แพทย์ปวดหัวเป็นอย่างมาก ซึ่งจะแตกต่างกับในต่างประเทศที่คนไข้จะพบแพทย์ ก็ต่อเมื่อมีอาการฉุกเฉินเท่านั้น
พร้อมกันนี้ ผู้โพสต์ยังแสดงความคิดเห็นต่อระบบสามสิบบาทรักษาทุกโรคไว้ว่า หากจะให้ระบบนี้เดินหน้าไปได้ด้วยดี ประชาชนต้องดูแลตัวเองให้ได้เป็นอันดับแรก เมื่อป่วยก็ต้องดูอาการของตัวเองให้เป็น ว่าระดับไหนควรไปโรงพยาบาล หรือระดับไหนสามารถใช้ยาสามัญประจำบ้านเองได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาช่วยแก้ปัญหา
หลังจากที่ประเด็นดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ทำให้ความคิดเห็นของสมาชิกบนสังคมออนไลน์แตกออกเป็น 2 ฝ่าย
โดยฝ่ายที่หนึ่งมองว่า เห็นใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ที่มีจำนวนน้อยกว่าคนไข้มาก ทั้งทำงานในเวลาและอยู่เวรจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน และเห็นด้วยกับแอดมินเพจดังในเรื่องของการดูแลตัวเองให้แข็งแรง ก่อนที่จะพึ่งพาการรักษาจากแพทย์
ในขณะที่อีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มองว่า คนไข้ไม่มีทางรู้ว่าตัวเองเป็นเบาหรือหนัก จึงคิดว่า เมื่ออยู่ในการดูแลของแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ยังไงก็ต้องปลอดภัยกว่าการกินยารักษาอาการด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อการใช้ยาผิดอีกด้วย และคงไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาล หากไม่ได้เจ็บป่วยจริงๆ
หากสงสัยว่า ‘อาการที่เข้าข่ายฉุกเฉิน’ มีอาการใดบ้าง เบื้องต้นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤตที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ไว้ 10 อาการ คือ
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม
4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
6. ได้รับบาดเจ็บ ต่อสมอง ต่อกระดูกสันหลังมีแขนขาอ่อนแรง มีบาดแผลที่เสียเลือดมาก ถูกไฟฟ้าแรงสูง แผลไฟไหม้บริเวณกว้าง
7. ถูกยิง ถูกแทง ที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะสำคัญ
8. งูพิษกัด ซึม หายใจลำบาก หนังตาตก
9. ตั้งครรภ์และชัก ตกเลือดมาก มีน้ำเดิน เด็กโผล่
10. บาดเจ็บต่อดวงตาจากสารพิษ มองไม่ชัด และผู้ป่วยสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 หรือผ่านแอปพลิเคชัน 1669 ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง
ดูเหมือนว่าปัญหานี้คงจะไม่มีข้อยุติ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลจากมุมของตนเอง ยังไงต้องค่อยๆ แก้กันไปที่ละขั้นตอน ทางที่ดีที่สุดสำหรับตอนนี้ คงต้องรักษาร่างกายให้แข็งแรง รวมทั้งรู้วิธีในการรักษาตัวเองเบื้องต้น วิเคราะห์อาการป่วยให้เป็น ซึ่งเมื่อร่างกายแข็งแรงแล้ว ก็จะได้ไม่ต้องพาตัวเองไปพบแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีฉุกเฉินหรือไม่ฉุกเฉินก็ตาม...
ขอบคุณข้อมูลและภาพ : เฟซบุ๊กแฟนเพจ “Drama-addict”
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754