ถูกนำภาพไปตัดต่อสร้างเรื่องเท็จ ถูกขุดคุ้ยชีวิตส่วนตัวในอดีต ถูกโหนกระแสหยิบโยงการเมือง... ทั้งหมดนี้คือผลของการออกมาดีเบตแฉ “ลัทธิธรรมกาย” จน “อัยย์ เพชรทอง” คู่โต้ตัวพ่อแพ้หลุดลุ่ย และส่งให้ชื่อของ “อุ๋ย-นที เอกวิจิตร” กลายเป็นชื่อที่ได้ยินแล้วเหล่าศิษยานุศิษย์ขมคอที่สุดในวินาทีนี้!!
แม้จะมี “พวกห้อยพวกโหน” มากมายพยายามเข้ามาโยงประเด็น แต่ “นักธรรมในคราบศิลปิน” รายนี้บอกเลยว่าไม่แคร์ และไม่ขอบ้าจี้วิจารณ์ “พระพุทธะอิสระ” อีกรูปให้เสียเวลา ไม่ใช่ไม่กล้า แต่ขออย่าเบี่ยงประเด็น ใครจะเป็น “พระแท้” หรือไม่ “ปาราชิก” หรือเปล่า วัดกันได้เองตามหลักพระธรรมวินัย ประกาศชัด ตั้งใจออกมาวิจารณ์เฉพาะคนที่ “เป็นภัยอย่างใหญ่หลวงต่อศาสนา” เท่านั้น
ล่าสุด ขอประกาศตัวยุติทุกดีเบต เพราะไม่อยากโต้เถียงเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ให้เปลืองน้ำลาย ขอปฏิเสธทุกสื่อที่ต่อคิวปันบทสนทนา ลั่นเลิกเอาเวลาไปชี้ “น้ำเสีย” แล้วทำหน้าที่ดัน “น้ำดี” ต่อไปดีกว่า ทีมข่าวผู้จัดการ Live จึงได้เป็นทีมสื่อมวลชนชุดสุดท้าย ที่เขายอมเปิดใจอัปเดตทุกซอกความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา
และนี่คือบทสนทนาระหว่างผู้ชายที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “ยาขม” ที่สุดในวินาทีนี้ สำหรับผู้ที่มี “ธัมมชโย” เป็นศาสดาของชีวิต!!
จาก “เพื่อนหายเพราะขายตรง” สู่ “ยาขมธรรมกาย”
[ดีเบตร้อน ที่ส่งให้ชื่อ "อุ๋ย" กลายเป็นยาขมต่อสาวกธรรมกาย]
รับมือกับชีวิตหลังออกตัวดีเบตไปแล้วอย่างไรบ้าง?
ก็ไม่ยังไงครับ ถ้าใครที่หยาบคายมา ผมก็ไม่ตอบ จะมองข้ามไป เพราะบางคนเหมือนเขาไม่ได้มาถาม เขาตัดสินเราไปแล้ว ก็ไม่รู้จะไปตอบเขาทำไม แต่ถ้าคนที่เข้ามาแบบสุภาพ อันไหนตอบได้ ผมก็จะตอบครับ ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
แต่ด้านดีๆ ก็มีเยอะเหมือนกันนะครับ มีน้องๆ หลายคนบอกผมว่า ก่อนหน้านี้สนใจศาสนาพุทธแค่เรื่อง “บาป” กับ “บุญ” ไม่เคยรู้เลยว่าสอนอะไรบ้าง และไม่เคยอยากจะรู้ด้วย แต่พอได้ดูดีเบตแล้ว ก็ทำให้เขาได้รู้ว่าศาสนาพุทธจริงๆ แล้วสอนอะไรบ้าง (ยิ้ม) โห..ผมดีใจมากนะ รู้สึกว่านี่แหละคือสิ่งที่ผมอยากให้มันเกิดขึ้น
อยากให้คนเห็นความเป็นจริงว่า ทำไมปัญหาของ “ธัมมชโย” ถึงเป็นปัญหาที่ควรได้รับความสนใจจากทุกๆ คน อยากให้คนมองเห็นเรื่องแก่นของพระพุทธศาสนา ให้เห็นว่าอะไรคือแก่นของการทำบุญจริงๆ และสิ่งที่ธรรมกายสอนอยู่มันนำไปสู่วิถีทางแห่งพุทธหรือเปล่า พระพุทธศาสนาสอนว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ไม่เคยสอนให้ไปยึดบุญ-บ้าบุญ ผมว่าถ้าคนในสังคมได้ดูดีเบต ก็จะสามารถตอบได้เอง
แต่ประเด็นที่คนสนใจไม่แพ้กันก็คือ
ใครแพ้-ใครชนะ ในการดีเบตครั้งนี้
จริงๆ ไม่อยากให้มองว่าเป็นการ “เอาชนะ” หรือ “พ่ายแพ้” อะไรกันเลย เพราะคุณอัยย์ เขาก็เป็นพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาแรงกล้า แต่ผมว่าเขา “ศรัทธา” มากจนนำ “ปัญญา” ปัญญาในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า “โง่-ฉลาด” นะครับ อย่าไปเข้าใจผิด ปัญหาหมายถึงปัญญาในการพิจารณาไตร่ตรองว่า มันถูกต้องตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาแล้วหรือยัง? แต่ขอยืนยันว่าที่ออกมาพูด ผมไม่เคยคิดอยากโต้แย้งเพื่อเป็นศัตรูกับใครเลย
ถ้าสารที่ส่งไปเดินทางถึงสาวกธรรมกาย คาดหวังไหมว่า
จะช่วยให้เขาหัน “หัวเรือแห่งศรัทธา” มาถูกทางเสียที?
พูดตรงๆ ผมไม่ได้คาดหวังใหญ่โตว่าเขาจะเปลี่ยนความเชื่อนะ แต่ก็มีแอบหวังอยู่ลึกๆ ว่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ช่วยให้คนได้มองเห็น แต่สำหรับคนที่กำลังลังเลว่าควรเชื่อดีไหม ถ้าเขาได้ฟังผมและเอาไปคิดวิเคราะห์ต่อ ไปหาข้อมูลเพิ่ม และตัดสินใจได้ว่าจะเชื่อแบบไหน จุดนี้แหละครับที่ผมอยากจะให้เกิดขึ้นมากที่สุด
มีคนขนานนามว่าคุณอุ๋ยเป็นเหมือน “ยาขมของธรรมกาย” ไปแล้ว
รู้สึกอย่างไรบ้าง?
ไม่จริงหรอกครับ ผมไม่ได้มีอิทธิพลอะไรกับเขาขนาดนั้น เขากับอาณาจักรของเขายิ่งใหญ่กว่านั้นเยอะ คนที่มีความรู้ความสามารถมากกว่าผมในเรื่องพระไตรปิฎก เรื่องข้อกฎหมายและความเข้าใจในธรรม มีอีกเยอะแยะหลายคน เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปรียบเทียบว่าใครคือ “ยาขมของธรรมกาย” ก็น่าจะเป็นคนกลุ่มนั้นมากกว่า ผมก็แค่คนคนนึงแค่นั้นเอง ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรขนาดนั้น
นอกจากจุดยืนเรื่องศาสนาแล้ว ตอนนี้เริ่มมีคนหยิบเอาไปโยง
เรื่องการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ อยากบอกอะไรกับคนเหล่านั้นบ้างไหม?
ผมพูดเรื่องศาสนา ผมก็อยู่ในเรื่องศาสนา ผมไม่ได้มาพูดเรื่องการเมือง ถ้าจะให้พูดเรื่องการเมือง พูดไปก็ไม่จบหรอกครับ ผมเห็นดีเบตกันกี่รอบแล้ว ไม่เห็นจบเสียที ผมรู้สึกว่าผมเมื่อยแล้วอะ (ยิ้มเนือยๆ) ผม “โดนโหน” จนเมื่อยแล้ว ไม่เอาแล้ว ก็แค่นั้นเอง
อะไรทำให้ศิลปินคนนึงยอมออกมาแสดงตัวในเรื่องเหล่านี้
โดยไม่กลัวผลกระทบต่อฐานแฟนเพลงเลย?
ธงชาติบ้านเราก็ประกอบไปด้วย “ชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์” นะครับ ถึงจะไม่ได้บอกว่าศาสนาไหนสำคัญที่สุด แต่ศาสนาที่คนนับถือมากที่สุดในประเทศเราก็คือ “ศาสนาพุทธ” ผมเองก็นับถือพุทธ และรู้สึกว่าปัญหาเหล่านี้มันคาราคาซังมานานมากแล้ว และมันมีผลกระทบจริงๆ ไม่ใช่แค่เป็นข่าวรายวันแล้วก็จบไป
พอดีผมค่อนข้างสนใจเรื่องศาสนาพุทธอยู่มากพอสมควรในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่เราศึกษามา เราอินกับมัน เราก็เลยอยากออกมาพูดคุยในเรื่องที่เราคิดว่ามีข้อเคลือบแคลงสงสัย และไม่น่าจะใช่อย่างที่ควรจะเป็น แค่นั้นเอง ไม่เคยมานั่งคิดว่าออกมาแล้วต้องแลกกับเรื่องฐานแฟนเพลง ทำแล้วจะคุ้มหรือไม่คุ้ม ไม่ได้คิดถึงตรงนั้นเลย
ถูกพูดถึงอย่างหนักมาตั้งแต่ประเด็น “เพื่อนหายเพราะขายตรง”
จนมาเรื่องธรรมกาย อะไรทำให้กล้าออกมาแสดงจุดยืนในเรื่องที่
มีความขัดแย้งทางความคิดสูงขนาดนี้?
(ยิ้มรับบางๆ) ไม่รู้เหมือนกันครับ... อาจจะต้องมองแยกเป็นเรื่องๆ ไป อย่างเรื่องธรรมกาย ที่ออกมาดีเบตก็เพราะผมมีเจตนาบริสุทธิ์ต่อพระพุทธศาสนา
ส่วนเรื่องสมัย “เพื่อนหายเพราะขายตรง” (ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อเพลงเป็น “เพื่อนขายเพราะขายอ้อม” หลังกลายเป็นดรามา) มันเป็นเรื่องที่ผมเจอมากับตัว คนรอบตัวก็โดน และเวลามีคนมาพยายามล้างสมองเรา จะรู้สึกไม่ชอบ ก็เลยเขียนออกมาเป็นเพลง มองในมุมขำๆ ฮาๆ ไม่คิดเลยครับว่ามันจะกลายเป็นประเด็นสังคมอะไร แต่เรื่องมันก็แพร่ออกไปเร็วมากเพราะอินเทอร์เน็ต
[เพลง "เพื่อนหายเพราะขายอ้อม" ที่อุ๋ยเคยเปิดประเด็นสะท้อนสังคมจนเกิดดรามามาแล้ว]
มองอย่างไรบ้างกับภาพของตัวเองในตอนนี้ ที่เหมือนกลายเป็น
“ไอดอล” ด้านตีแผ่ปัญหาสังคมไปแล้ว?
(หัวเราะรับเบาๆ) อย่าเลยครับ อย่ามองแบบนั้น ผมก็คนเหมือนกัน มนุษย์ทุกคนมีสิทธิทำผิดพลาดได้ การไปยกให้ใครคนนึงเป็นไอดอล แล้วไปล็อกเขาว่าจะทำอะไรผิดพลาดไม่ได้อีกเลย มันอันตรายนะ อยากให้ลองใช้ปัญญาพิจารณา ไตร่ตรองแยกแยะเป็นเรื่องๆ ไปจะดีกว่าว่าเห็นด้วยกับผมเรื่องไหนบ้าง
ผมว่าเราอย่าไปยึดที่ตัวบุคคลเลยครับ เพราะคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามกฎของธรรมชาติ อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา ไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-เสื่อมลง-ดับไป ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ผมถึงได้บอกว่าอย่าฟังคำพูดอย่างเดียว ให้ดูการกระทำควบคู่กันไปด้วย ดูกันไปยาวๆ อย่ายึดที่ตัวบุคคล ให้ยึดความถูกต้องตามหลักเหตุผลดีกว่า
แต่ก็มีคนบางส่วนมองว่า “คิดว่าตัวเองดีแล้วเหรอ ถึงกล้าออกมาวิจารณ์”
และพยายามขุดประเด็นมายำเราให้เละ
การจะมองคน ต้องมองให้มีหลายมุมนะ อย่างตัวผมเองก็ไม่เคยมองว่าตัวเอง “บริสุทธิ์ 100 เปอร์เซ็นต์” ถามว่ามีใครในโลกเป็นแบบนั้นได้ไหม? ก็ไม่มีหรอกครับ มันคือการมองคนแบบเหมารวมและง่ายไปหน่อย ดูกันเป็นเรื่องๆ ไปดีกว่าว่า เราพูดถึงเรื่องอะไรกันอยู่ เราก็ตัดสินกันเรื่องนั้น แค่นั้นเองครับ
แม้แต่ “ธัมมชโย” เอง ถึงเขาจะฉ้อโกง แต่ผมก็ยังมองเห็นมุมดีๆ ที่เขาเคยทำมา เขาสามารถพาคนที่ไม่เคยเข้าวัด มาเข้าวัดได้ มารู้จักศีล 5 ได้ หรือแม้แต่โครงการดีๆ ที่ธรรมกายเคยทำก็มีเยอะแยะ แต่สิ่งที่ทำแล้วส่งผลกระทบในระยะยาวต่อพระพุทธศาสนามันขยายวงออกไปกว้างมาก ทั้งบิดเบือนคำสอน ทั้งทำให้คนงมงาย เมาบุญ เห็นบุญเป็นสินค้าจนบริจาคกันจนหมดตัว ฯลฯ
“พระแท้” หรือแค่ “ปาราชิก”!!
เหล่าสาวกเขาสงสัยว่า คุณอุ๋ย “รู้ดี” แค่ไหน ถึงได้ออกมาวิเคราะห์
ทั้งพระสงฆ์, วัดพระธรรมกาย และพระไตรปิฎก?
ผมไม่ได้ยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง ผมยึดพระธรรมวินัย ถ้าถามว่าคนคนนี้ทำผิด “ศีล 5” ไหม ชาวพุทธจะตอบได้ไหม ก็ตอบได้โดยที่ไม่เห็นต้องรู้ทั้งพระไตรปิฎกเลย หรือถ้าถามว่าพระรูปนี้ “ปาราชิก” ไหม ก็เอาหลัก “ปาราชิก 4” จากพระไตรปิฎกมาเทียบสิครับ ระบุไว้ในนั้นชัดเจนแล้วว่าการกระทำแบบไหนถึงจะเรียกว่า “พ้นจากความเป็นพระ”
แค่ลองเอาการกระทำของพระรูปนั้นๆ ไปเทียบในพระธรรมวินัยดู ก็ได้คำตอบแล้วครับในหลายๆ เรื่อง ไม่เห็นต้องจำได้ทั้งพระไตรปิฎกเลย ส่วนคนที่จบ “เปรียญ 9 ประโยค” ก็คือคนที่แตกฉานภาษาบาลีค่อนข้างสูง จนสอบได้ขั้นนั้น ซึ่งต้องอาศัยเรื่องความจำเป็นหลักเท่านั้นเอง
จะบอกว่า ถ้ามีความเคลือบแคลงสงสัยเรื่องอะไรในพระพุทธศาสนา
ให้เอาพระไตรปิฎกไปเทียบได้เลย ไม่ต้องกลัวว่าจะผิดบาป?
ใช่ครับ ก็ต้องดูเจตนาเราว่าทำเพื่ออะไร เพื่อต้องการเอาชนะคะคาน คิดว่าเขาเป็นฝั่งตรงข้ามทางความคิด หรือมองแค่ว่าเขาเป็นเหมือนพระรูปอื่นๆ ในพระพุทธศาสนา และอยากรู้ว่าการประพฤติแบบนี้ถูกหรือผิดตามหลักพระวินัย
ถามว่า “พระจับเงิน” หรือ “พระรับเงิน” ผิดไหม? ถ้าเห็นพระทำแบบนั้น แล้วจะบอกว่า “อาบัติ” ทันทีหรือเปล่า สำหรับผมแล้ว ยังตอบแบบนั้นไม่ได้ ทุกอย่างต้องดูที่ “เจตนา” ต้องดูว่าเงินที่ท่านจับนั้น ท่านมีเจตนาที่จะเอามาเป็นของตัวหรือเปล่า
ถ้าท่านแค่รับมาโดยเจตนาไปส่งเงินต่อให้ที่วัด ตามความประสงค์ของญาติโยม รับไปก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะท่านไม่ได้มีเจตนาที่จะเอาไปเป็นของตัวเอง สุดท้าย เงินในซองนั้นก็จะเป็นแค่ “กระดาษ” แผ่นนึง เพราะท่านไม่ได้มีจิตคิดจะไปยึดติดกับมัน คือต้องมาดูกันอีกว่ายึดเอาทรัพย์นั้นมานานแค่ไหน ได้สละออกไปให้วัดทันทีหรือเปล่า หรือถือครองไว้เป็นปีๆ
ถ้าเทียบกับกรณีของ “ธัมมชโย” มองว่าอย่างไรบ้าง?
“อาบัติปาราชิก” แล้วใช่หรือไม่?
ต้องดูกันตามพระวินัยว่ามี “เถยจิต (จิตคิดจะขโมย)” มีจิตคิดจะครอบครองเอาไว้เป็นของตัวหรือเปล่า ซึ่งก็อยู่ที่การตีความ บางคนบอกไม่คิดว่าท่านจะเอามาเป็นของตัวหรอก ก็ต้องมาพิจารณากันดูว่าแบบไหนที่จะเรียกว่า “เจตนา” ซึ่งสำหรับผม การถือครองทรัพย์สิ่งของที่ไม่ใช่ของตัวเองอยู่ได้นานถึง 7 ปี มันก็คือปาราชิกเรียบร้อยแล้ว
คำว่า “พระแท้” สำหรับคุณอุ๋ยคือแบบไหน?
ยึดจากพระธรรมวินัยเลยครับ ถ้าพระที่ปฏิบัติตามพระวินัยได้ครบถ้วน บวชมาเพื่อลดความยึดมั่นถือมั่นจากสิ่งของนอกกาย จนสุดท้ายลดความยึดมั่นถือมั่นภายในกายและใจตัวเองได้ ลดอัตตาได้จนหมดสิ้น ถ้าบวชมาเพื่อการนั้น ก็จะตรงกับเป้าหมายของศาสนาพุทธที่สุด
และถ้าระหว่างที่เดินถือเป้าหมายนั้นไปยังปลายทาง พระรูปนั้นปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบทุกอย่างของพระธรรมนัย สำหรับผมก็เรียกว่า “พระแท้” ได้แล้ว
ปัญหาก็คือ มีคนมากล่าวอ้างว่า “พุทธแท้” ไม่มีจริง เพราะพระไตรปิฎกก็เกิดจากการสังคายนาร่วมกันของพระภิกษุ 500 รูป ไม่ได้เขียนมาจากพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้าเอง ทุกอย่างจึงเป็นการจำต่อๆ กันมา ถ้าจะคิดแบบนี้ก็เท่ากับปฏิเสธพระไตรปิฎกทั้งเล่ม เราก็ไม่ต้องมีศาสนากันแล้ว เพราะไม่มีอะไรเชื่อถือได้อีกต่อไป และถ้า “พุทธแท้” ไม่มี “พระแท้” ก็มีไม่ได้เหมือนกัน
แต่ในเมื่อบ้านเรายอมรับพระไตรปิฎกฉบับนี้และนำมาเป็น “กฎหมายในการควบคุมหมู่สงฆ์” นั่นก็แสดงว่าพระวินัยในพระไตรปิฎกฉบับปัจจุบัน ก็ต้องมีผลบังคับใช้กับพระสงฆ์ทั่วประเทศ ซึ่งถ้ามหาเถรสมาคมลงความเห็นว่าพระรูปนั้นๆ ขาดจากคุณสมบัติทั้ง 4 ข้อของความเป็นพระแล้ว นั่นก็แสดงว่าพระรูปนั้นต้อง “อาบัติปาราชิก” ตามพระวินัยที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล
คุณอุ๋ยมักจะพูดถึงพระสาย “วัดป่า” บ่อยๆ เป็นเพราะมองว่า
มีความเป็น “พระแท้” มากที่สุดแล้วหรือเปล่า?
ผมว่าพระสายนี้ตรงทางที่สุดแล้วครับ พระพุทธศาสนาไม่ได้เน้นให้สร้างวัตถุ อย่างสมัยท่านพุทธทาสฯ โบสถ์ของท่านก็เป็นโบสถ์ธรรมชาติ คือ “เขาพุทธทอง” ไม่มีหลังคา มีแต่ต้นไม้ แต่ก็ยังสามารถทำสังฆกรรมได้ทุกอย่างอย่างถูกต้องตามกฎ ไม่จำเป็นต้องสร้างให้หมดเงินกันเป็นล้านๆ
หรือแม้แต่สมัยพุทธกาลเองก็เป็นแบบนั้น พระพุทธเจ้าสละพระราชสมบัติเป็นล้านๆ ออกมาสู่ธรรมชาติ แม้กระทั่ง “ธุดงค์วัตร 13 ข้อ” ก็ยังมีข้อที่ระบุเอาไว้ว่า “อยู่โคนไม้เป็นนิจ” หมายถึงให้อยู่กับธรรมชาติ แสดงว่าพระองค์เน้นย้ำเรื่องนี้มาตลอด คือตรัสสอนให้มีความสมถะ-เรียบง่าย นี่แหละครับคือวิถีพุทธที่แท้จริง
แต่ถ้าพระรูปนั้นมีแต่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการปลุกเสก หรือวุ่นวายแต่กับพิธีทางโลกมากๆ ทำให้คนหันมางมงายกับเรื่องของวัตถุ ก็รู้เอาไว้เลยว่านั่นไม่ใช่วิถีพุทธที่ใกล้เคียงกับหลักคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดั้งเดิม
พระภิกษุสงฆ์ที่แท้จริงไม่ได้มีหน้าที่ตระเวนสวดรับซอง แต่มีหน้าที่ขัดเกลาตัวเองในทุกขณะจิต อาจจะเป็นตอนที่กวาดลานวัดอยู่ก็ได้ เพ่งสมาธิให้รู้ตัวอยู่เสมอในการปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าต้องอยู่ในท่าทำสมาธิตลอดเวลา ถึงจะบอกว่าท่านกำลังปฏิบัติ เพราะแม้แต่การนั่งหายใจของท่าน ก็เป็นการปฏิบัติได้แล้ว แค่ท่านพิจารณาลมหายใจ รู้ลมหายใจตัวเอง
[ขอบคุณภาพ: อินสตาแกรม @guioui]
ช่วยยกหลักคำสอนของพระที่ตัวเองนับถือ
และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันบ่อยๆ หน่อยได้ไหม?
ถ้าเป็นคำสอนของ “ท่านพุทธทาสภิกขุ” น่าจะเป็นคำสอนเรื่อง “ตัวกู-ของกู” ครับ ท่านสอนไว้ว่าต้องไม่มีตัวกู-ของกู แค่คำเดียวทุกอย่างจบแล้ว คือถ้าไม่มีอัตตาเมื่อไหร่ปุ๊บ เราก็ไม่ต้องไปยึดอะไรอีกต่อไป ถ้าหมดตัวกู-ของกูเมื่อไหร่ ก็จะไม่เหลือความทุกข์ ผมก็พยายามยึดหลักนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ทุกวินาทีหรอกนะครับ เพราะถ้าได้แบบนั้นก็ต้องเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว
และก่อนจะไปถึงตรงนั้น ก็ต้องผ่านการฝึกฝนมาแล้วอย่างยาวนาน ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เวลาโกรธ-หงุดหงิด-โมโห ก็ให้เห็นก่อนว่าใครกำลังโกรธอยู่ ถ้าตัวกูเป็นคนโกรธ ก็ต้องมาดูว่าความโกรธนั้นมันเป็นของเราหรือเปล่า ถ้าเรารู้ตัว เห็นมันเกิดขึ้น ก็ให้มองว่ามันมีอยู่ตอนนี้ เดี๋ยวมันก็ดับไป ถ้าเราไม่ได้เข้าไปยึดความรู้สึกนั้นไว้ สุดท้ายเราก็จะไม่โกรธ นี่แหละครับคือคอนเซ็ปต์ง่ายๆ ที่เอามาใช้ได้
น่ากลัว!! ปล่อย “ศรัทธา” นำ “ปัญญา”
หรืออย่างเรื่องความเชื่อ ก็มีคำสอนของ “หลวงปู่ชา” ที่ท่านสอนเอาไว้และผมชอบมากๆ ซึ่งมันเอามาใช้ได้ดีกับโลกทุกวันนี้ครับ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ผมไม่อยากให้มานั่งตัดสินกันว่าจะเชื่อ-ไม่เชื่ออะไร ไม่อยากให้มีคำตอบแค่ 2 ทางนี้เท่านั้น เพราะศาสนาพุทธสอนเอาไว้ว่า “ศรัทธา” และ “ปัญญา” ต้องเสมอกัน อย่าให้อย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่ากัน
“ศรัทธา” ในที่นี้ของผมหมายถึงการตั้งสมมติฐาน อย่างเช่นมีโยมถามหลวงปู่ชาว่า “ชาติหน้ามีจริงไหมครับหลวงปู่” หลวงปู่ก็ถามกลับว่า “แล้วโยมคิดว่าพรุ่งนี้มีจริงไหม” โยมตอบว่า “มีจริงครับ” ท่านก็ตอบมาอีกว่า “งั้นพาอาตมาไปดูพรุ่งนี้หน่อยสิ” (ยิ้ม) สรุปคือต้องรอพรุ่งนี้ ยังพาไปดูเดี๋ยวนี้ไม่ได้
เพราะฉะนั้น เรื่องชาติหน้าก็เหมือนกัน อะไรที่เรายังพิสูจน์ในวันนี้ไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งไปฟันธงว่ามันไม่มี แต่เราสามารถตั้งสมมติฐานไว้ได้ หลักการนี้ก็คือการคิดตามหลัก “ศรัทธา” นี่แหละครับ คือการตั้งสมมติฐานว่ามันอาจจะมีอยู่จริง และใช้เวลาพิสูจน์ (ใช้ “ปัญญา” หาคำตอบ)
บางคนอาจไม่ถึงกับต้องรอให้มีชาติหน้าก็ได้ แค่ในชาตินี้ทำตามหลักคำสอน ทำสมาธิ-วิปัสสนาแล้ว อาจจะมีญาณรู้เห็นว่ามันมีจริงก็ได้ ซึ่งผมไม่ได้มีตรงจุดนั้น ผมก็แค่เป็นคนตั้งสมมติฐาน แต่ไม่ได้ฟันธงว่ามีหรือไม่มี เราก็รอดูกันไป เช่นเดียวกับสัญญาณ Wi-Fi ที่ตาเปล่าเรามองไม่เห็น แต่มันก็มีอยู่จริง เมื่อร้อยปีที่แล้วยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่วันนี้เราสามารถพิสูจน์ได้ สามารถนำมันมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งๆ ที่ตาเปล่ามองไม่เห็น
มีคนเตือนสาวกธรรมกายว่า “ให้ใช้ปัญญานำศรัทธา”
แบบนี้ถูกต้องไหม?
(ส่ายหน้า) ไม่ถูกครับ คนที่ “ปัญญา” มากกว่า “ศรัทธา” ก็จะมีแต่ถก-เถียง-ถาม (เน้นเสียง) ต่อสู้เอาชนะคะคานกันไม่จบไม่สิ้น โดยที่ไม่มีศรัทธาเลย เช่น ไม่มีการตั้งสมมติฐานเบื้องต้นเอาไว้ก่อนเลยเรื่องของชาตินี้-ชาติหน้า ก็จะมีแต่มาตัดสินว่าไม่มีจริงหรอก เพราะยังไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ มองว่าไม่มีทฤษฎีไหนมารองรับได้เลย ก็จะถกเถียงหาเหตุผลแบบไม่จบไม่สิ้น เพราะมี “ปัญญา” นำ “ศรัทธา” มากเกินไป
สุดท้ายคนที่มีปัญญานำแบบนั้น ก็ไม่ได้พ้นจากทุกข์เหมือนกันนะครับ กลายเป็นทุกข์เข้าไปอีกด้วยซ้ำไป และถ้าไปยึดปัญญาอย่างเดียวมากๆ โดยที่ไม่มีศรัทธาเลย ก็จะไม่มีแรงมาทดลองประพฤติปฏิบัติเพื่อหาคำตอบ มันเลยควรจะต้องเสมอกันไงครับ
และขอให้อย่าดูถูกคนธรรมกายว่าเขา “มีศรัทธามากเกินไป” ว่ามันไม่ดีเสียทีเดียวนะครับ เพราะคนที่มีศรัทธามาก ผมเปรียบเหมือนรถยนต์ที่มีกำลังสูงมาก แต่หันผิดทิศ วันนึงถ้าเขาหันถูกทิศ เขาจะไปได้ไกลกว่าผมอีกนะครับ เพราะแรงขับเคลื่อนเขามีมากกว่า ศรัทธาเขามีสูงมาก
การที่คนธรรมกายออกมาถกเถียงกันเรื่องนี้ มันเป็นเพราะตัวเขาเองก็ “รักพระพุทธศาสนา” เหมือนกัน ผมเองก็รัก แต่ศรัทธาเราแตกต่างกัน เพราะคนธรรมกายจะศรัทธาใน “ตัวบุคคล” เป็นหลักด้วย แต่อย่างผม ถึงผมจะนับถือตัวหลวงปู่-หลวงพ่อหลายๆ รูป แต่สุดท้ายแล้ว ผมก็นับถือ “พระธรรม” ที่สุด เพราะการยึดถือที่ตัวบุคคลมันไม่จีรังยั่งยืน
คนที่วันนี้เป็นคนดี พอวันนึงที่มีอำนาจมากๆ เข้า หรือมีเงินอยู่ในมือมากๆ เข้า ก็สามารถเปลี่ยนได้ พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสเอาไว้ว่าไม่ให้พระสงฆ์ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของเงินทอง เพราะเจตนาในการบวชเริ่มแรกคือการอยากเป็นพระที่ดี แต่พอมาจับเงินจับทองแล้ว อาจจะเปลี่ยนได้
ทางธรรมกายมักจะบอกว่า “อย่าเพิ่งตัดสิน ให้เข้าไปลองศึกษาในวัดดูก่อน”
แต่คุณอุ๋ยยืนยันมาตั้งแต่ตอนดีเบตว่าไม่จำเป็น
ถึงตอนนี้ยังคิดแบบเดิมอยู่หรือเปล่า?
ใช่ครับ ผมคิดว่าถ้าเราถือพระไตรปิฎกเล่มเดียวกัน ถ้าเขาไม่ได้มีเขียนเล่มใหม่ของเขาขึ้นมา แล้วคำสอนในนั้นจะต่างอะไรกันล่ะครับ ผมต้องไปวัดอื่นอีกเหรอ ไม่อย่างนั้น ทุกคนที่ไม่ได้เข้าวัดธรรมกายจะถือว่าไม่ได้เข้าถึงพระธรรมหรือเปล่า? ถ้าพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้สามารถเข้าถึงได้นอกวัดธรรมกาย แปลว่านอกธรรมกายไม่ใช่ศาสนาพุทธเหรอครับ
เขามักจะอ้างว่า อาจมีข้อมูลที่ผิดพลาด-บิดเบือนบนโลกโซเชียลฯ จึงต้องไปรับข้อมูลจากภายในวัดเอง
ผมก็ดูจากข้อมูลที่ออกมาจากปากท่านธัมมชโยเอง กับทางช่อง DMC เอง ไม่ว่ามันจะออกมาทางไหนก็แล้วแต่ จะใน youtube ก็ตาม แต่มันก็คือการบันทึกวิดีโอการเทศน์-การสอน (ที่แน่ใจว่าไม่ได้ตัดต่อ) แล้วของแบบนั้นยังเชื่อไม่ได้อีกเหรอครับ ผมต้องเดินไปถึงสถานที่เลยเหรอ
ตกลงแล้ว เรายึดกันที่ “สถานที่” หรือยึดที่ “หลักคำสอน” กันแน่... ถ้าจะยึดกันที่สถานที่ก็ต้องบอกว่าพระพุทธเจ้าไม่เคยสอนแบบนั้นครับ
เรื่องการยึดบุญ-บ้าบุญ คือสิ่งที่เรามองว่า
เป็นปัญหาหนักของธรรมกายเลยใช่ไหม?
ใช่ครับ ถ้าจะบอกว่านอกวัดธรรมกายก็ยังมีวัดอีกมากมายที่เป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศ มันก็ใช่ครับ แต่ในบรรดาวัดเหล่านั้น “ธรรมกาย” คือวัดที่มีอิทธิพลที่สุดแล้ว ถือว่าเป็นหัวหน้าทางสายนี้ สาย “บริจาคเอาบุญ” เอาบุญนำทุกอย่าง
คือการที่ทำให้คน “ยึดบุญ” เป็นที่ตั้งโดยไม่สนอย่างอื่นเลย เน้นศรัทธานำปัญญา และคนที่มีศรัทธาแรงกล้าเนี่ย เขาพร้อมแลกทุกอย่างโดยที่ไม่สนผิดถูกแล้วครับ แม้กระทั่งการเบียดเบียนชีวิตตัวเองก็ทำได้ อันนี้ไม่ได้พูดถึงแค่ธรรมกายนะครับ ทุกศาสนาเลยที่ดึงให้คนใช้ศรัทธานำหน้า มันน่ากลัวทั้งนั้น
อย่างในต่างประเทศก็มีลัทธิที่พาคนไปฆ่าตัวตายหมู่ คนก็ยังทำเลย เพราะฉะนั้น ความศรัทธาในมนุษย์เนี่ย ถ้าไม่ประกอบไปด้วยปัญญาแล้ว จะน่ากลัวมาก ทำได้ทุกอย่าง
มองกรณีของคุณลุงที่ออกมาฆ่าตัวตาย เพราะอยากให้
ยกเลิก ม.44 เพื่อธรรมกายอย่างไรบ้าง?
(ถอนหายใจอยู่กับตัวเองพักใหญ่ๆ แล้วจึงให้คำตอบ) เห็นใจครอบครัวและญาติพี่น้องของเขานะครับ แล้วก็รู้สึกว่าเสียดายครับ... เสียดายศรัทธาที่สูงขนาดนั้น และศาสนาพุทธก็บอกเอาไว้อยู่แล้วว่าการฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ไม่ควรอย่างยิ่ง แต่พอศรัทธามันนำทุกอย่าง นำจนสูงโด่งเกินปัญญา มันก็จะเกิดเรื่องน่ากลัวมากได้แบบนี้แหละ
["เหยื่อศรัทธา" ลุงผู้ยอมพลีชีวิตเพื่อลัทธิธรรมกาย]
ถามว่าสาวกธรรมกายเป็นคนดีของสังคมไหม เขาเป็นคนดีนะครับ ถ้าไม่ได้ออกมาขัดขวางเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ถ้าเขามาเพื่อปฏิบัติธรรมให้เกิดความสงบ มาทำบุญโดยที่ไม่ได้เดือดร้อนตนเองและครอบครัว เขาก็ถือเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ซึ่งก็มีคนแบบนี้ในธรรมกายเหมือนกัน
ผมก็เลยไม่อยากก้าวล่วงไปเหมารวม “คนธรรมกาย” ไงครับ เพราะคนในนั้นมีหลายมิติมาก ผมถึงได้พยายามโฟกัสไปที่ “ธัมมชโย” คนเดียว เพราะเป็นคนที่ให้คำสอน ให้ความคิดที่บิดเบือนพระพุทธศาสนา
แสดงว่าต้นตอของปัญหาไม่ใช่ “คนนับถือ” ธรรมกาย
แต่อยู่ที่ “คนเผยแผ่”?
ถ้าจะบอกว่าปัญหาอยู่ที่คนนับถือ มันคือปัญหาของคนในสังคมไทยเลยครับ ไม่ใช่คนในธรรมกายอย่างเดียว คนในสังคมไทยที่คิดว่าบุญมันคือการซื้อขาย เพราะนอกวัดธรรมกายก็มี วัดอื่นก็มีแบบนี้อีกเยอะแยะที่เป็นพุทธพาณิชย์ นั่นก็เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่ควรจะต้องได้รับการแก้ไข
ธรรมกายชอบ “เอาสวรรค์มาล่อ” ให้คนทำทาน
ถ้าเทียบกับหลักพระพุทธศาสนาแล้ว มุมมองเรื่องสวรรค์ต่างกันแค่ไหน?
พระไตรปิฎกมีพูดถึงเรื่องของสวรรค์แค่บอกว่ามีทั้งหมดกี่ชั้น มีนรกกี่ขุม แต่บรรยายเอาไว้เพื่อต้องการให้คนอยากหลุดพ้นออกจากทุกข์ ออกจากวงจรเวียนว่ายตายเกิด ศาสนาพุทธไม่มีคำว่าตายครับ มีแต่การเปลี่ยนสถานะ จากคนไปเกิดเป็นหมา เป็นแมว เป็นเทวดา เป็นสัมภเวสี ฯลฯ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
จนกว่าจะบรรลุเป็นพระอรหันต์ ถึงจะออกจากวัฏสงสารได้ ดังนั้น การนิพพานจึงเป็นเป้าหมายของพุทธศาสนา และ “นรก-สวรรค์” ก็ไม่ใช่เป้าหมายทางที่เราจะไป
แต่ธรรมกายอ้างว่า ถ้ายิ่งทำบุญมากๆ
ก็จะยิ่งได้เลื่อนขั้นชั้นสวรรค์ขึ้นไปเรื่อยๆ
เขาพยายามเอาเรื่องนี้แหละครับมาโฆษณาผลของมัน เพื่อเน้นให้คนบริจาค แล้วก็จะชอบกล่าวอ้างว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนเองว่า เป็นเพราะคนนั้นทำอย่างนั้นนะ ถึงได้ไปสวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ใช่คำสอนที่มาจากเจตนาของพระองค์โดยตรงครับ แต่เป็นเพราะมีคนมาถามท่าน ท่านก็เลยตอบคำถามไป
พระพุทธเจ้าไม่เคยบอกให้ต้องหมั่นบริจาคแบบนี้ๆ นะ เพื่อให้ได้ไปสวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ ไม่เคยมีสอนแบบนั้นในพระไตรปิฎกเลย พระองค์ท่านจะเน้นที่เหตุ สอนให้ทำเหตุให้ดี แต่ไม่ได้มาคอยบอกว่าต้องพยายามทำ เพื่อให้ได้รับผลดีแบบนี้ๆ นะ ท่านไม่เคยมาชักชวนคนให้ขึ้นสวรรค์ ไม่มีเลย มีแต่ผลักคนให้ออกจากทุกข์
ส่วนเรื่องบริจาคเพิ่ม-ทำบุญเพิ่ม แล้วจะได้เลื่อนชั้นสวรรค์ ในพระไตรปิฎกเองก็ไม่มีสอนเรื่องนี้ล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะการทำ-การคิดแบบนั้น แค่ตอนทำบุญก็ถือว่าหวังผลแล้ว
จริงๆ แล้วการทำบุญแล้วหวังผล ได้บุญไหม?
ก็ได้นะครับ แต่ได้น้อยเพราะอานิสงส์ต่ำ ผมว่าความคิดเรื่องทำบุญแล้วหวังผล เหมาะกับคำว่า “การลงทุน” มากกว่า “การทำบุญ” เสียอีก
ยกตัวอย่างการทำบุญกับเด็กขอทาน ถ้าเราให้โดยที่ไม่คิดอะไรเลย ให้แล้วรู้สึกสบายใจ แค่นั้นก็เป็นบุญแล้ว แต่ถ้าเด็กที่ได้รับเงินจากเรา เอาเงินไปซื้อกาวดม อานิสงส์ที่ได้ก็จะไม่เยอะ เพราะทานที่เราให้ไป มันไม่ได้เกิดผลดีสักเท่าไหร่ ได้แค่ความสบายใจของเราในตอนนั้นเท่านั้นเอง
แต่ถ้าเด็กเอาเงินไปลงทุน ไปซื้อลูกอมมาขายต่อทำกำไร แล้วเอาเงินนั้นมาเลี้ยงตัวเองหรือครอบครัวได้ แบบนี้ถึงจะได้อานิสงส์สูง มันคือการมองประโยชน์ที่เกิดขึ้น
เนื้อนาบุญไม่เจริญ เพราะทำทานกับพระผิดรูป!!
สาวกเชื่อว่าทำทานกับ “ธัมมชโย” แล้ว
จะได้อานิสงส์สูง จริงหรือเปล่า?
ถ้าเขาเลือกแบบนั้น เขาใช้วิจารณญาณแบบนั้น มันก็เป็นสิทธิของเขาไงครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราห้ามไม่ได้ แต่ถ้าให้มองกันจริงๆ ตามหลักพุทธ ก็ต้องมาดูว่าเขาหวังอะไรที่ไปทำบุญกับธัมมชโย หวังสวรรค์ หวังนิพพานหรือเปล่า
เปรียบเทียบว่าการทำทานคือ “การหว่านเมล็ดพืช” คนที่รับทานจากเราไปคือดิน ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านเปรียบเอาไว้ว่าคือ “เนื้อนาบุญ” ถ้าเมล็ดที่เราหว่านลงไป มาจากเจตนาที่ดี ก็จะเป็นเมล็ดที่ดี พอหว่านลงไปในดินที่ดี ก็จะเจริญงอกงาม
แต่ถ้าเจตนาของเราไม่ดี คือเมล็ดไม่ดี แถมยังหว่านลงไปในดินที่ไม่ดีอีก สุดท้ายก็จะไม่เจริญงอกงามหรือแทบไม่โตเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น เราจึงต้องเลือกเนื้อนาบุญที่ดี เลือกคนที่จะทำทานด้วย ถ้าคนฝั่งธรรมกายใช้ปัญญาพิจารณาดีแล้วว่า ธัมมชโยเป็นเนื้อนาบุญที่ดีของเขา และเขาหว่านเมล็ดลงไป มันก็เป็นสิทธิที่เขาจะเลือก แต่อานิสงส์ที่จะได้รับจะเป็นยังไง ก็ต้องรอดูเอาเอง
ถ้าเขายังเชื่อว่าการทำทานกับธัมมชโยยังได้ผลเจริญงอกงามอยู่ มันก็เป็นสิทธิของเขาที่จะทำต่อไป แต่ตามหลักพุทธแล้ว ถ้าหว่านเมล็ดลงไปเพื่อหวังจะได้ผลดีๆ ตอบกลับมา มันก็ไม่ได้เรียกกว่าการทำบุญแล้วครับ มันเรียกว่าการลงทุนมากกว่า
หัวใจสำคัญของ “การทำทาน” คือการฝึกละ คือการสละออก เป้าหมายของศาสนาพุทธบอกเอาไว้แล้วว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะยึดเมื่อไหร่ ทุกข์เมื่อนั้น ก็เลยต้องฝึกสละออก การบริจาคคือการฝึกสละออก เน้นไปที่การทำเหตุ โดยไม่ได้หวังผล
แต่ถ้าเป็นจิตที่สละออกเพื่อหวังว่าจะได้กลับ ในระหว่างบริจาคก็อธิษฐานในใจว่าขอให้ได้นู่นนี่นั่นกลับมา ทำเพื่อหวังผล นี่ก็ถือว่ายึดแล้วไงครับ ยึดในผลของการทำทาน ยึดในตัวเงินที่ลงทุนไป หวังว่าจะได้กลับมา สุดท้ายมันก็กลายเป็น “การลงทุน” มากกว่า “การทำบุญ” เพราะหวังว่าจะได้กลับมามากกว่าที่ทำลงไป
ถามว่าทำทานแบบนั้น มันใกล้เคียงทางพุทธตรงไหนล่ะครับ มันใกล้เคียงเป้าหมายของศาสนาเรายังไง ไม่ได้ใกล้เลย... การกระทำเดียวกัน แต่เจตนาไม่เหมือนกัน ก็ให้ผลแตกต่างกันแล้ว
[ภาพจากแฟ้ม]
มีทางบ้างไหมที่จะทำให้คนที่คิดแบบนี้เปลี่ยนมา
“ทำทาน” ตามหลักพระพุทธศาสนา?
ก็ต้องเข้าใจคอนเซ็ปต์ของศาสนาพุทธก่อน และอยู่ที่ว่าจะสามารถแก้ไขนิสัยเดิมได้ไหม บางคนทำด้วยความเคยชินไปแล้ว ก็ต้องมาฝึกใหม่ แต่ถ้าไม่อยากแก้และคิดว่าทำแบบนั้นแล้วสบายใจ ก็ให้เขาทำต่อไป แปลว่าเขาไม่เชื่อหรือไม่เข้าใจ มันก็เป็นสิทธิของเขา เพราะจะไปบังคับให้ทุกคนเข้าใจเหมือนกันหรือเชื่อเหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว
แต่ถ้าอยากหลุดพ้นจากการ “บ้าบุญ” ก็ต้องทำกุศลในแบบที่ให้พ้นจากทุกข์ ซึ่งตามวิถีพุทธก็คือการทำทานเพื่อลดความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็ต้อง “ละบาป” ไปด้วย รักษาศีล 5 เป็นขั้นพื้นฐานก็ได้ ส่วนเรื่องการ “ทำทาน” ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเสมอไป
ยังมีบุญที่ได้อานิสงส์มากกว่าใช้เงินอยู่อีก ก็คือ “ธรรมทาน” ให้ธรรมะเป็นทานแก่คนอื่นๆ และ “อภัยทาน” ให้อภัยผู้คนจากใจจริงเพื่อเป็นทาน แบบนี้อานิสงส์สูงกว่าการบริจาคเงินอีกนะครับ เพราะการให้อภัยจะทำให้ใจเราเบาขึ้น และทำให้ทุกข์น้อยลง ซึ่งตรงทางพุทธที่สุดแล้วครับ เพราะเป้าหมายของศาสนาพุทธก็คือการหลุดพ้นจากความทุกข์
แต่ผมไม่ได้ไปฟันธงบอกว่าไม่ให้บริจาคอะไรเลยนะครับ เพราะ “ทาน-ศีล-ภาวนา” 3 อย่างนี้ต้องเอื้อกันหมด คนที่ไม่ทำทานเลยก็เป็นคนตระหนี่ ยังยึดมั่นถือมั่นในทรัพย์สมบัติของตัวเองอยู่เลย ก็ถือว่ายังยึดติดอยู่ดี ตรงข้ามกับทางพุทธที่เน้นให้ “ละ”
เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเริ่มจากการทำทานก่อน แต่ต้องทำทานให้อยู่ในความ “พอดี” ศาสนาพุทธมีสอนไว้หมดว่า ได้เงินมาให้แบ่งเป็น 4 ส่วน คืออีก 2 ส่วนให้เก็บไว้ใช้ลงทุนต่อยอดในอาชีพตัวเอง ส่วนที่ 3 ไว้กินไว้ใช้ อีกส่วนนึงเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนเอาไว้หมดแล้วครับ ไม่ได้บอกว่าต้องให้จนหมดตัวถึงจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ส่วนที่มีเรื่องเล่าสมัยพุทธกาลว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งเคยเป็นยาจกมาก่อน ที่ได้เป็นเศรษฐีเพราะเคยบริจาคจนหมดตัว อันนั้นก็ต้องมาดูว่าตอนที่เขาบริจาคเจตนาคืออะไร เขาไม่ได้บริจาคเพื่อหวังเป็นเศรษฐีไงครับ เขาก็เลยได้รับอานิสงส์นั้น แต่เขาทำเพราะเขาอยากเอาข้าวให้พระฉัน ให้พระมีแรงปฏิบัติจนพ้นทุกข์ เจตนาเขาเป็นแบบนั้น
ก็ต้องมาถามว่าคุณมีเจตนาแบบนั้นไหมครับ ในตอนตัดสินใจบริจาคจนหมดตัว หรือคุณมีเจตนาแค่หวังว่าอยากจะได้กลับมา อยากไปได้สวรรค์ชั้นนั้นชั้นนี้ ถ้าเจตนาแบบนั้น มันก็คนละเรื่องกันเลยนะครับ
รู้สึกอย่างไรกับคำพูดที่ว่า “ไม่มีหรอก คนบริจาคหมดตัว
มีแต่ยิ่งบริจาคมาก ยิ่งได้มาก”?
ถ้าดู DMC เองจะเห็นเลยว่าเขาจะมีคำว่า “ปิดบัญชีทางโลก เปิดบัญชีทางธรรม” คนที่บริจาคมากจนหมดตัวก็มีที่มาออกข่าว แต่ส่วนใหญ่ถ้าเจ้าตัวบริจาคหมดตัวเอง ไม่ค่อยมีใครกล้าออกมาหรอกครับ เพราะคนธรรมดาก็ต้องอายอยู่แล้ว ถ้าหมดตัวแล้วเดือดร้อน อยู่ไม่ได้ คิดว่าไม่ใช่ทางแล้ว จะมีใครสักกี่คนกล้าออกมายอมรับว่า “ฉันหมดตัวแล้ว”
ส่วนใหญ่ก็จะมีแต่ญาติพี่น้องแหละครับที่ออกมาบอกเอง หรือหลายๆ รายที่อาจจะไม่ถึงกับหมดตัว แต่บริจาคแล้วเดือดร้อนตัวเองและครอบครัว ก็มีเยอะแยะมากมายเหมือนกัน
ถึงบางรายไม่ได้หมดตัว ก็ทำให้เกิดความทุกข์และเดือดร้อนอยู่ดี
(พยักหน้ารับ) อย่างช่อง DMC จะชอบเอาคนที่บริจาคแล้วประสบความสำเร็จทางธุรกิจมาพูดให้ฟัง บอกว่าบริจาคเช็คใบสุดท้าย บริจาคไปหมดตัวเลย 10 ล้าน หลังจากนั้นก็ทำมาค้าขึ้นตลอด จะชอบเอาคนแบบนี้มาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง
แต่กับคนที่บริจาคจนบ้านแตกสาแหรกขาด ผัวเมียทะเลาะกันเพราะเอาเงินไปบริจาคและไม่มีเงินค่าเทอมให้ลูก เคยเชิญคนแบบนั้นมาออกช่อง DMC ไหมครับ ไม่มีหรอกครับ ในเมื่อมันมีทั้งสองด้าน ลองเอาอีกด้านนึงมาออกรายการบ้างสิ
ธรรมกายเป็นภัยต่อศาสนาตรงไหน
ในเมื่อเขาไม่ได้ไปบังคับขู่เข็ญใครให้มาบริจาค?
ผมมองว่าถ้าเอาพระไตรปิฎก เอาผ้าเหลืองมาใช้แล้ว แปลว่ายอมรับพระพุทธศาสนา ยอมรับคำสอนของท่าน งั้นก็ทำตามที่ท่านสอนสิครับ ดูว่าพระวินัยสอนอะไรบ้าง ให้พระมุ่งปฏิบัติไปทางไหนบ้าง ถ้าสอนผิดบิดเบือนจากนั้น แปลว่าไปยืมชุด ยืมคู่มือมา “ทำมาหากิน” หาประโยชน์เข้าตัว แล้วแบบนี้ไม่เป็นภัยเหรอครับ และกลายเป็นว่าการทำแบบนี้มีคนมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเข้าไปอีก
ถ้าการไปยืมยูนิฟอร์มของพระสงฆ์ เอาผ้ากาสาวพัสตร์มาใส่ตัว แล้วหากินกันเอิกเกริก เป็นสิ่งถูกต้องและแตะต้องไม่ได้ ถามว่ามันไม่เป็นภัยต่อศาสนาพุทธเดิมแท้เหรอครับ ที่พระบวชเพื่อ “ละ” ไม่ได้มาบวชเพื่อ “สะสม”
อยากให้คนจำภาพเราแบบไหน จากการออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้?
ไม่ได้อยากให้คนจำเราในภาพไหนเลยครับ อยากให้มองในฐานะมนุษย์คนนึงเท่านั้นเอง แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดก็คือ อย่ามาคอยเพ่งมองที่ตัวผมเลยครับ ดูการกระทำของตัวเองดีกว่า จริงๆ แล้ว ผมเองก็ไม่อยากมาพูดเรื่องเดิมๆ อีกแล้ว มันเหมือนคนไม่จบไม่สิ้น
ผมตั้งใจว่าผมจะไม่พูดประเด็นนี้กับสื่ออีกแล้วด้วย คือถ้าต่อไปจะพูด คงพูดสิ่งที่มีประโยชน์ จะให้ธรรมะในฝั่งที่ถูกต้องดีกว่า ถ้าจะไล่ “น้ำเสีย” เราต้องใช้ “น้ำดี” ไล่ แต่ที่ออกมาดีเบตตอนแรก ผมแค่อยากให้คนคัดแยกให้ได้ก่อนว่าอะไรคือน้ำเสีย ให้เขาเห็นก่อนว่านี่คือน้ำเสียนะ แต่ตอนนี้ผมคิดว่าผมใช้น้ำดีไล่ไปเรื่อยๆ ดีกว่า
ผมว่าผมควรจะเลิกไปจี้ได้แล้วล่ะว่า “น้ำเสียๆๆ” ไม่หยุดสักที มันก็จะเหมือนคนประสาทน่ะครับ ก็ในเมื่อออกมาบอกแล้วนะว่าอย่างนี้คือน้ำเสียนะ คนเขาก็พิจารณาเองได้แล้วว่ามันคือน้ำเสียจริงหรือเปล่า หลังจากนี้ผมก็จะดันน้ำดีเข้าไป ถ้าจะให้ผมออกมาพูดอะไรต่อจากนี้ ให้ผมพูดเรื่อง “ธรรมะ” อย่างเดียวดีกว่า นอกนั้นก็ปล่อยให้คนเขาไปเลือกกันเอาเองแล้วกัน
เอาอะไรกันมาก อีกไม่นานก็ตาย ครอบครัวผมคุยเรื่อง “ความตาย” กันบ่อยๆ ครับ ทุกวันนี้นั่งกินข้าวกันอยู่ยังถามเลย สมมติว่าถ้าเกิดนั่งอยู่แล้วคนในครอบครัวเกิดน็อคขึ้นมา และเกิดหมิ่นเหม่จะมีสภาพเป็นเจ้าหญิง-เจ้าชายนิทรา จะให้ใส่เครื่องช่วยหายใจไว้ไหม หรือให้ถอดเลย เพราะถ้าใส่เครื่องเข้าไปตอนแรก แล้วตอนหลังต้องมาให้ตัดสินใจถอดนี่ ไม่ไหวนะ (ยิ้มบางๆ) เลยต้องคิดกันก่อน คุยกันไว้ก่อน หรือแม้แต่เรื่อง “บริจาคร่างกาย” เราก็เคยคุยกันครับว่าน่าจะบริจาคทั้งครอบครัว เพราะก็ไม่รู้จะเก็บร่างตัวเองไว้ทำไม คุณพ่อคุณแม่เองก็มองว่าดีด้วยซ้ำ จะได้ไม่ต้องเตรียมพิธีทางศาสนาเองให้วุ่นวาย เพราะทางโรงพยาบาลเขาจะจัดการให้อยู่แล้ว สำหรับผม ตายก็คือตาย ร่างของเราก็กลายไปเป็นปุ๋ย สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นกับร่างของเราหลังจากตายไปแล้วก็คือ อยากให้เอาอวัยวะของผมส่วนไหนก็ได้ ไปปลูกถ่ายให้คนที่ต้องการ ให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าทำได้แบบนั้นผมจะดีใจมาก เพราะมันคือการต่อชีวิตคนคนนึงเลยนะ อันนี้ผมไม่ได้มองเรื่องได้บุญเลย ไม่ได้สนเลย แต่มองว่ามันคือประโยชน์มหาศาลที่จะเกิดขึ้น ลองนึกดูสิว่าถ้าเกิดคนที่รออวัยวะเหล่านั้นอยู่ เป็นพ่อเป็นแม่ของเรา เขาจะรู้สึกยังไง มันคงจะโคตรสุดยอดเลยนะผมว่า มันคือการเปลี่ยนชีวิตคนเลยนะ แล้วจะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่ให้ล่ะครับ มันจำเป็นนะครับที่เราต้องหัดรำลึกถึงความตาย เป็นข้อที่ศาสนาพุทธสอนเอาไว้เสมอ เพื่อให้รู้ว่าเรามีโอกาสตายได้ทุกวินาที พระพุทธเจ้าเคยตรัสถามพระสงฆ์ว่า “ท่านคิดถึงความตายบ่อยแค่ไหน?” มีพระรูปหนึ่งตอบว่า “คิดว่าพรุ่งนี้อาจจะไม่อยู่แล้วก็ได้” ส่วนอีกรูปหนึ่งตอบว่า “เดี๋ยวพระอาทิตย์ตก อาจจะตายแล้วก็ได้” แต่ท่านบอกว่าคำตอบแบบนี้ยังถือว่าประมาทอยู่ ที่ไม่ประมาทก็คือให้คิดว่า “หายใจเข้า” ไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะมี “หายใจออก” มาอีกหรือเปล่า [สมัยเดินทางไปบวช ค้นหาทางสงบที่อินเดีย] พอคนเราคิดถึงเรื่องความตายอยู่เสมอ ก็จะช่วยลดเรื่องการ “ยึดมั่นถือมั่น” ไปได้โดยอัตโนมัติ สมมติว่าเคยโกรธเกลียดใครอยู่ ถ้าคิดว่าพรุ่งนี้ต้องตายแล้ว เราจะมีเวลามานั่งโกรธนั่งแค้นใครไหม ก็ไม่ใช่ไหม สู้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า เอาเวลามาบอกรักคนที่อยู่ใกล้ๆ เราดีกว่า หรือถ้ารู้ว่ากำลังจะตายอยู่แล้ว เราจะยังบ้าอยากได้เงินมหาศาลอยู่อีกหรือเปล่า เอาแค่พอกินพอใช้ไหม เอาเวลามาดูแลครอบครัวลูกเมียก่อนดีไหม ถ้าเรารำลึกถึงเรื่องความตายอยู่เสมอ มันจะช่วยให้เราสามารถลดความยึดมั่นถือมั่น ลดความทะยานอยากลงไปได้มากเลยครับ ถ้าคิดว่าตายขึ้นมาตอนนี้หรือพรุ่งนี้ เราก็ไม่เหลืออะไรเลยนะ และสุดท้ายทุกคนก็ต้องตาย โดยที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ “มรณานุสติ” จึงมีประโยชน์มาก ถ้าหมั่นคิดได้บ่อยๆ หรือถ้าพูดเป็นภาษาวัยรุ่นให้เข้าใจง่ายๆ อย่างที่ผมเคยพูดกับเพื่อนก็คือ “จะอะไรกันนักกันหนาวะ เดี๋ยวก็ตายห่ากันหมดแล้ว” |
[เพลงจากวง "Buddha Bless" ที่ได้รับรางวัล "ต้นโพธิ์ทอง" จากสภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย]
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่องและตัดต่อคลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพนิ่ง: พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร
ภาพเคลื่อนไหว: พิมพรรณ มีชัยศรี
ขอบคุณภาพบางส่วน: อินสตาแกรม @guioui และ fb.com/ouibuddhabless
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754