xs
xsm
sm
md
lg

แทบเป็นลม! รพ.ไม่รักษา ขอทองมัดจำก่อน ชีวิตมาทีหลัง!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพงไปไหม? ญาติล้มหัวฟาดหมดสติ แอดมิท รพ.เอกชน 2 ชั่วโมง บิลมาเกือบ 5 หมื่น เงินไม่พอจนต้องถอดสร้อยทองมัดจำไว้ โซเชียลฯ จวกยับ ถ้าไม่มีเงินคงป่วยตาย ด้านนักเคลื่อนไหวพิทักษ์สิทธิผู้ป่วยชี้ คนไทยมีสิทธิฉุกเฉินใช้แต่ไม่รู้ เพราะรัฐเก็บเงียบ!

ถอดทองจ่ายค่าหมอ อย่างนี้ก็มีด้วย!

กลายเป็นประเด็นดรามาขึ้นมาทันที หลังผู้ใช้เฟซบุ๊ก “หมออ้อย เสือ ตัวที่สิบสอง” โพสต์ระบายความอัดอั้นใจ หลังจากญาติของตน เกิดอุบัติเหตุลื่นล้มหัวฟาดพื้นจนหมดสติ จึงจำเป็นต้องนำส่งโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่อยู่ใกล้ที่สุด แต่เมื่อค่ารักษาออกมาก็ถึงกับอึ้ง เพราะเพียงแค่แอดมิทไป 2 ชั่วโมง แต่กลับมียอดค่าใช้จ่ายถึง 40,945 บาท



หนำซ้ำเมื่อขอทำเรื่องย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาล ที่มีสิทธิประกันสังคม แต่ไม่ได้รับการตอบรับ จนในที่สุดต้องถอดสร้อยทองคำน้ำหนัก 3 บาท กับเงินอีก 21,000 บาท เพื่อวางมัดจำโรงพยาบาลไว้ ซึ่งเจ้าของโพสต์ได้โพสต์ภาพใบเสร็จแจกแจงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับสร้อยทองที่วางอยู่ข้างกัน ในโพสต์นี้ยังทิ้งท้ายคำถามไว้ว่า “ถ้าคนไม่มีเงินสงสัยปล่อยให้ตาย...นี่หรือหมอนี่หรือโรงพยาบาลที่คอยช่วยคน”

หลังจากที่โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไปบนโลกออนไลน์ ก็มีผู้คนเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์ถึงค่ารักษาที่แพงเกินกว่าเหตุไปหรือไม่ รวมถึงบอกให้เจ้าของโพสต์ทำใจเมื่อต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน บางส่วนก็เข้ามาแบ่งปันประสบการณ์การใช้บริการจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งอื่นที่ค่าใช้จ่ายสูงลิบลิ่วไม่แพ้กัน และบรรทัดต่อจากนี้คือความคิดเห็นบนโลกโซเชียลฯ ที่มีต่อเหตุการณ์นี้



“เรื่องแพงไม่เท่าไหร่ครับ ให้เคลียร์ค่าใช้จ่ายให้หมดก่อน ถึงจะขนย้ายผู้ป่วยไปโรงบาลอื่นได้ ฉุกเฉินขนาดนั้น เตรียมตัวไม่ทัน จนต้องเรี่ยรายกันเอาทองจำนำไว้ 3 บาท เงิน 21,000 บาท เสียเวลา 2 ชั่วโมงในการเคลียร์ ส่งตัวไปถึงอีกโรงบาลคนป่วยแย่แล้ว”
“กระทรวงสาธารณสุขไม่ออกมาดูแลเรื่องนี้บ้างเลยเหรอ ปล่อยให้เขาเอารัดเอาเปรียบประชาชนไปถึงไหน...”
“กฎหมายใหม่ห้ามโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกกรณีค่ะ”


“ถ้าเป็นไรมา คงตายแน่ ตายเพราะไม่มีตังค์จ่ายค่ารักษา แพงเกินพี่น้อง ทำงานทั้งเดือนยังไม่พอจ่าย”
“เฮ้อ ทุกวันนี้มันอยู่อยากจริงๆ ถ้าไม่มีเงิน คนป่วยก็คง ตาย คงอยู่ได้เฉพาะคนมีเงิน”
“นิยามความฉุกเฉิน เคยถามอยู่ มันแบ่งเป็น 3 สี แดง เหลือง เขียว ถ้าแดงนี่คือฟรีหมด ไม่ว่าจะเข้าเอกชนรึเปล่า ขอแค่ไปถึง รพ. ก่อน แต่คนที่พิจารณาคือหน่วยงานรัฐ(สพฉ.) ถ้ามันพิจารณาว่าไม่ใช่แดง คือเสร็จเลย จ่ายเองจ้า แถมบางอย่างพวกอุปกรณ์หรือยาบางตัว ถ้าไม่ครอบคลุมในสิทธิ์ เอกชนเขาเลยไม่อยากรับความเสี่ยงตรงนี้เพราะทุกอย่างคือเงิน เพราะเวลาแพทย์เริ่มรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน แพทย์ไม่แคร์สิทธินะ ใช้ทุกอย่างที่จะช่วยผู้ป่วยได้ ไม่รู้ว่าตอนนี้เปลี่ยนแปลงอะไรบ้างรึยัง สรุปคือต้องมีเงินก่อนนั่นแหละ”

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีท่าทีจากทางโรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้ออกมาเคลื่อนไหวแต่อย่างไร ซึ่งเหตุการณ์นี้คงถือได้ว่าเป็นกรณีตัวอย่างที่ประชาชนหาเช้ากินค่ำ ต้องระวังตัวเองให้มากขึ้นกว่าเดิม หากไม่อยากเสียเงินให้กับค่ารักษาพยาบาลที่แพงหูฉี่ขนาดนี้...

“สิทธิฉุกเฉิน” สิทธิที่คนไทย(แทบ)ไม่รู้

จากกรณีดังกล่าวนี้เอง ทำให้ประชาชนต้องหันกลับมามองหาสิทธิประโยชน์ที่ตนเองควรจะได้รับในการรักษาพยาบาลในฐานะที่เป็นคนไทย เพราะนอกจากสิทธิพื้นฐานอย่างบัตรทอง,ประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการแล้ว ยังมีอีกสิทธิหนึ่งที่เป็นประโยชน์มากในกรณีผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งก็คือ สิทธิฉุกเฉิน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ก็คือ คนไทยส่วนใหญ่แทบไม่เคยทราบมาก่อนว่า มีสิทธินี้อยู่ด้วยหรือ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้พูดคุยกับ อุ้ย - ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ถึงประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้น เธอกล่าวว่า สาเหตุที่ทุกวันนี้คนไทยยังไม่ทราบถึงสิทธิฉุกเฉิน นั่นก็มาจากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งก็คือกระทรวงสาธารณสุข ขาดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ และมีประชาชนจำนวนมากต้องมาแบกรับค่ารักษาพยาบาลที่สูงลิบลิ่วเองเช่นนี้


ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์

“ดิฉันคิดว่าที่ประชาชนไม่ทราบว่ามีสิทธิฉุกเฉิน มาจากการขาดการประชาสัมพันธ์ค่ะ จึงทำให้ไม่ทราบว่าหน่วยงานรัฐมีมาตรการรองรับปัญหานี้อะไรบ้าง ก็เลยไม่มีข้อมูลที่จะไปโต้แย้งกับทางโรงพยาบาลได้ ส่วนอีกเรื่องคือ ทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เขาแก้ไขกฎหมาย พรบ.สถานพยาบาลแล้ว ว่าถ้าโรงพยาบาลใดเรียกเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉิน จะมีโทษตามกฎหมายทันที แต่ขณะเดียวกัน ทางกรมก็ควรจะขอความร่วมมือกับโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลนะคะว่าไม่ให้เก็บเงิน ซึ่งกรณีที่เป็นประเด็นตอนนี้ ดิฉันบอกเลยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินสีแดงค่ะ เพราะเขาหมดสติ พอไปอีกโรงพยาบาลก็ได้ผ่าตัดค่ะ แต่การวางสร้อยทองมัดจำ ดิฉันว่าน่าเกลียดมาก ในเมื่อทางกระทรวงมีมาตรการแล้ว เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดอีกแล้ว”

ประธานเครือข่ายฯ ยังได้ยกตัวอย่างกรณีเมื่อปี 2555 ที่รัฐบาลในสมัยนั้น ประกาศนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน “เข้าได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ์ ไม่ต้องถามสิทธิ์ ไม่ต้องสำรองจ่าย” สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)จะเป็นเคลียริ่งเฮาส์จ่ายให้ทั้งหมด แต่ปัญหาเริ่มโผล่ในปี พ.ศ.2556 มีประชาชนถูกโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงิน แม้จะเข้าเงื่อนไขเจ็บป่วยฉุกเฉินก็ตาม บางรายถูกโรงพยาบาลเอกชนฟ้องเรียกค่ารักษา บางรายฟ้อง สปสช.และโรงพยาบาลเอกชนเรียกค่ารักษาคืน จนป่านนี้ปี พ.ศ. 2560 แล้ว คดีก็ยังไม่จบ



“ดิฉันเชื่อว่าสาเหตุที่กรมไม่ชัดเจน เนื่องจาก 1.ขอความร่วมมือกับเอกชนไม่ได้ทุกแห่ง 2.ราคากลางตกลงกันได้รึยังจริงๆ แล้ว รู้สึกว่าจะยังไม่ 100% 3.หน่วยงานที่ที่จะมาเป็นเคลียริ่งเฮาส์ยังไม่ชัดเจน งบมีรึยัง เลยมาตกที่ประชาชนเต็มๆ เมื่อกรมเคลียร์ทุกๆ ปมปัญหาได้แล้วก็ควรจะประกาศ แถลงต่อสื่อเลย ให้ประชาชนทราบว่า เมื่อมีเรื่องแล้วควรจะติดต่อสายด่วนที่ไหน แล้วหน่วยงานรัฐก็ควรจะเตรียมคนให้พร้อม ในการลงพื้นที่ช่วยประชาชน”

สำหรับทางออกของปัญหานี้ประธานเครือข่ายฯ มองว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ควรจะมีสายด่วนฉุกเฉิน เพื่อเวลาประชาชนเจอปัญหานี้จะได้ติดต่อได้ทันท่วงที ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐควรจะเป็น “กันชน” ให้ และประชาชนก็ไม่ต้องไปเผชิญหน้ากับโรงพยาบาลเองเนื่องจากไม่มีอำนาจการต่อรอง

เมื่อสอบถามถึงประเด็นที่มีวางสร้อยทอง วางเงินไปแล้ว จะสามารถใช้สิทธิฉุกเฉินได้อีกหรือไม่ได้ เธอกล่าวว่าเป็นหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)ที่จะต้องจัดการเรียกเงินคืน ส่วนการลงโทษหรือไม่ลงโทษสถานพยาบาลก็ต้องลองใช้กฎหมายพิจารณาดู



“หากเข้าไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลตามสิทธิ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 72 ชั่วโมง ก็ถือว่าเข้าตามสิทธิฉุกเฉิน เขาก็ไม่ต้องจ่ายเลย กองทุนจะเป็นผู้จ่ายให้ แต่สร้อยทองและเงินที่วางมัดจำไปแล้ว ต้องได้คืน แต่ถ้าไม่รู้สิทธิก็ต้องจ่ายเต็ม แล้วดิฉันเชื่อว่าก็มีอีกเยอะที่ต้องจ่ายเต็มเพราะไม่รู้สิทธิ และเชื่อว่ามีหลายคนเลือกที่จะเงียบไว้ เพราะไม่อยากมีปัญหากับโรงพยาบาล

ดิฉันไม่อยากเห็นประชาชนกับสถานพยาบาลต้องมาทะเลาะกันในเรื่องเหล่านี้ และหน่วยงานรัฐก็ควรมีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา ในเมื่อมีมาตรการออกมาแล้วแต่ประชาชนยังเดือดร้อนอยู่อย่างนี้ ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แสดงศักยภาพออกมา และก็เวลาเรียกประชุมก็ควรเชิญดิฉันด้วย เพราะดิฉันเป็นตัวแทนประชาชนนำปัญหานี้ขึ้นสู่ที่ประชุมโดยตรง เมื่อไม่เรียกดิฉันเข้าประชุม ก็กลายเป็นว่าประชาชนขาดตัวเชื่อมและที่ประชุมก็ขาดโอกาสที่จะรู้ว่าปัญหาจริงๆ ประชาชนต้องการอะไร ก็เลยเหมือนยังแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุดค่ะ” ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ทิ้งท้าย

ภาพประกอบ : เฟซบุ๊ก “หมออ้อย เสือ ตัวที่สิบสอง”




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น