เห็นภาพถุงอาหารที่ยังสดใหม่ล้นทะลักในถังขยะแล้วก็หดหู่ใจ ยิ่งรู้ว่าใครทิ้งก็ยิ่งอึ้ง! คาดเป็น“พระสงฆ์” นั่นเอง โลกโซเชียลฯ แห่แชร์ภาพในช่วงวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันพระใหญ่ ศาสนิกชนส่วนใหญ่ก็มักจะตื่นแต่เช้าเข้าครัวปรุงอาหารหรือซื้อเพื่อนำมาใส่บาตรถวายพระในตอนเช้า แต่อาหารที่ได้มาไม่ได้ฉัน แต่กลับลงถังขยะซะงั้น ส่วนซองปัจจัย(เงิน)นำกลับ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นพระจริงหรือแก๊งพระปลอมห่มเหลืองกันแน่! อาหารเยอะขนาดนี้ทำไมไม่นำไปให้ผู้ยากไร้ ไม่มีจะกิน!
หดหู่! ทิ้งอาหารที่ญาติโยมใส่บาตร
เป็นประเด็นฮอตกระแสแรงเกิดขึ้นหน้าปากซอยรามคำแหง 123 หลังผู้ใช้เฟซบุ๊กนามว่า Chaloemchai Phanbut ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ และรูปภาพ พร้อมระบุว่า มีคนนำอาหารที่ได้จากการบิณฑบาตมาทิ้งไว้ในถังขยะขนาด 200 ลิตร จนเกือบเต็มถัง แล้วนำแต่ซองปัจจัยกลับไป
"สวัสดีครับเพื่อนๆชาวเฟซฯ ทุกคนวันนี้เป็นวันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ แต่วันนี้มีเรื่องที่น่าหดหู่ใจ คือมีคนที่มาบิณฑบาตกับพระได้เอากับข้าวมาทิ้งถังขยะหน้าร้านผมจำนวนมาก มากขนาดไหนดูเอาครับสงสารคนจนไม่มีข้าวจะกินแต่มีคนเอาอาหารมาทิ้ง ”
นอกจากนี้ ยังเปิดเผยว่า ทุกตอนเช้าเวลาประมาณ 09.00 น.ตนจะมาเปิดร้านตามปกติ แล้วนำขยะมาทิ้ง และในถังขยะนั้นไม่มีขยะอยู่เลย แต่วันดังกล่าวกลับพบว่า บริเวณถังขยะมีถุงขนมตกเกลื่อนอยู่ที่พื้น นอกจากนี้ ยังพบถุงอาหาร และถุงข้าวถุงขนมทิ้งอยู่เต็มถัง และสังเกตเห็นว่า มีดอกไม้ไหว้พระทิ้งอยู่ด้วย จึงคาดว่า จะเป็นคนที่มากับพระสงฆ์ นำอาหารบิณฑบาตมากมายมาทิ้งไว้ในถังขยะ ตนเห็นว่าอาหารยังไม่เสียจึงเรียกให้คนงานก่อสร้างนำอาหารที่ถูกทิ้งมาทานต่อ
อย่างไรก็ดี หลังจากที่ข่าวได้แพร่สะพัดออกไป คุณ Chaloemchai Phanbut ได้ไปขอดูกล้องวงจรปิดจากร้านข้างๆ ที่คาดว่าจะเห็นภาพว่าใครเป็นผู้นำมาทิ้งกันแน่ แต่เมื่อขอดูภาพวงจรปิดแล้วกลับมองไม่เห็น เนื่องจากกล้องหันไปอีกทาง
สำหรับกรณีดังกล่าวมีผู้ออกมาแสดงความคิดเห็นมากมาย โดยส่วนใหญ่ตั้งคำถามว่า โดยปกติพระสงฆ์ขณะบิณฑบาต ภาพที่พบเห็นกันจนชินตา คือจะมีเด็กวัดเดินตามพระ และคอยช่วยถืออาหาร บางทีเป็นรถเข็นเพื่อเก็บอาหารออกจากบาตรพระนำมาใส่ไว้ในรถเข็นนำกลับวัด แน่นอนพระฉันไม่หมด อาหารที่เหลือก็จะให้คนในวัดนำไปกิน รวมถึงให้คนยากจนมิใช่นำมาทิ้งในถังขยะแบบนี้
แก๊งห่มเหลืองจ้องเอาแต่เงิน!
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้จัดการ Live ลองค้นหาข่าวเมื่อปี 2558 ก็พบเหตุการณ์คล้ายกันจำนวนมากคือ พระสงฆ์เทอาหารข้าวของที่ชาวบ้านใส่บาตรทิ้งข้างทาง เก็บแต่เงิน สร้างความสลดใจแก่ชาวพุทธ เมื่อสืบค้นจึงพบว่า เป็นแก๊งพระปลอม!
ตร.ภาค 3 แถลงผลการจับกุม พระเขมร จำนวน 11 รูป พร้อมหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ประเทศกัมพูชาปลอม ที่มีรอยตราประทับของด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จ.สระแก้ว รวมทั้งเครื่องใช้ของสงฆ์หลายรายการ เช่น บาตร จีวร อุปกรณ์อื่นๆ และเงินธนบัตรใบละ 20 บาทอีกจำนวนมาก
การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีพระสงฆ์พฤติกรรมน่าสงสัย อาศัยอยู่ในบ้านร้างไม่มีเลขที่ ตั้งอยู่ในป่ากระถินข้างทางห่างจากถนนมิตรภาพ-หนองคาย ประมาณ 500 เมตร ในเขต ต.บ้านเกาะ อ.เมือง จ.นครราชสีมา พร้อมออกเรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน โดยมีพฤติกรรมไม่เหมือนพระสงฆ์ทั่วไป จึงวางแผนเข้าจับกุม
จากการตรวจสอบพฤติกรรมระหว่างบิณฑบาต พบว่าพระทั้งหมดมีอาการไม่สำรวม โดยจะเดินเท้าไปเรื่อย ไม่เลือกเวลา เมื่อเห็นคนอยู่ในบ้านจะยืนรอจนกว่าจะมีคนนำสิ่งของมาถวายจึงจะเดินทางต่อไป นอกจากนี้ ยังเห็นว่ามีพระบางรูปนำข้าว อาหาร และสิ่งของที่ชาวบ้านใส่บาตรนำไปเททิ้งข้างทาง และเดินออกบิณฑบาตต่อเพราะต้องการเงินมากกว่าสิ่งของ แตกต่างกับพระสงฆ์ทั่วไป เจ้าหน้าที่จึงสะกดรอยตามจนพระเขมรทั้งหมดเดินทางกลับเข้าที่พัก จึงนำกำลังเข้าตรวจค้นจับกุม
เมื่อสอบถามแก๊งพระห่มเหลืองได้ความว่า จากการออกบิณฑบาตในแต่ละวันรายได้เฉลี่ยวันละ 300-600 บาท ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพว่า ใช้ความศรัทธาของคนไทยเป็นช่องทางหาเงิน โดยมีคนที่เข้ามาทำก่อนแนะนำจึงลักลอบเข้าประเทศไทย
ทว่า เรื่องราวสุดหดหู่ของเหล่ามารศาสนาก็ไม่ได้ทำให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติดีดูหม่นหมอง เช่นเรื่องราวที่ถูกแชร์บนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558เป็นเรื่องราวสุดประทับใจของพระสงฆ์ในโครงการพระธรรมจาริกสัญจร(นำธรรมะห่มดอย) ออกจาริกขึ้นดอยเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาและสงเคราะห์พี่น้องชาวเขาบนดอย โดยท่านจะออกบิณฑบาตและนำอาหารมาเลี้ยงเด็กๆผู้ยากไร้ในชนบท เป็นที่น่ากราบเคารพบูชา
ไขข้อข้องใจ บาปหรือไม่!? กินอาหารพระ
สำหรับปัญหาของอาหารใส่บาตรที่มีปริมาณเยอะ โดยเฉพาะในวันพระใหญ่นั้น เป็นสิ่งที่สั่งมามานานแล้ว โดยเฉพาะวัดในกรุงเทพฯ แต่โดยมากพระสงฆ์จะให้อาหารที่เหลือหลังจากฉันแล้วแก่ผู้ที่มาช่วยภายในวัด และให้นำไปแจกจ่ายเพื่อนบ้าน รวมทั้งให้บรรดาน้องหมา น้องแมว ภายในวัด ประเด็นนี้เคยมีผู้แชร์ประสบการณ์รับอาหารจากพระที่บิณฑบาตแล้วเหลือจากการฉันในเว็บไซต์ dhammahome พร้อมทั้งตั้งคำถามว่า จะบาปไหมที่นำกับข้าวที่วัดมากินเองหรือแจกชาวบ้าน
“ผมเดินตามพระบิณฑบาตบ่อย ๆ คอยเก็บของออกจากบาตรพระ คนใส่บาตรเยอะจนเกินกว่าที่หลวงพ่อจะฉันหมด ถึงจะให้เจ้าตูบเจ้าด่างแล้วก็ยังเหลือเยอะ ยิ่งถ้าเป็นวันพระด้วยแล้วล้นทั้งเข่ง ล้นทั้งตะกร้าหน้ารถ(ใช้เข่งผลไม้ ขนาด 14 X 21 X 11 นิ้ว ผูกติดท้ายมอเตอร์ไซด์) ต้องช่วยกันสองคนถึงจะนำกลับวัดได้หมด เมื่อถึงวัดก็จะแยกใส่ถาดนำประเคนพระอีกครั้งหนึ่ง หลวงพ่อจะพิจารณาอาหารใส่ลงไปในบาตร(ฉันในบาตร)ที่เหลือก็ส่งถาดคืนให้
หลวงพ่อจะบอก “ดูกับข้าวไปให้ลูกให้เมียด้วย” ผมก็เลือกที่เป็นของคาวไว้ให้เจ้าตูบเจ้าด่าง ที่เหลือก็นำกับข้าวมาแจกเพื่อนบ้าน ถ้าเจอคนงานรับจ้างก็ให้เขาไป นมก็ให้ลูก ขนมก็นำไปให้เพื่อนร่วมงาน ถ้าเจอเด็กยากจนก็ให้เขาไป ถุงก๊อบแก๊บก็นำไปให้แม่ค้า
ผมรู้สึกไม่สบายใจ และเคยถามหลวงพ่อ หลวงพ่อก็บอกว่า “มันเหลือทิ้งเปล่า ๆโยมนำไปให้คนอื่นก็เป็นกุศลกับโยม” ตอนแรก ๆ วันที่หลวงพ่อไม่บอก ผมไม่ได้นำกลับบ้าน หลวงพ่อก็จะถาม “ ไม่ได้เอากับข้าวไปหรือ” ตอนหลัง ๆ ก็เลยเอามาหลวงพ่อก็บอกมั่งไม่บอกมั่ง (เหมือนเป็นอันรู้กัน) จะทำไงดี จะไม่เอาก็ขัดใจหลวงพ่อ จึงขอถามท่านผู้รู้ว่า การนำกับข้าวที่วัดมากินเองหรือให้ลูก รวมถึงแจกเพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน บาปไหมครับ
อย่างไรก็ดี เว็บไซต์ลานธรรม ได้เคยหยิบยกคำสอนของ หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า อาหารที่พระภิกษุรับประเคนและนำมาฉันแล้ว อาหารที่เหลือนั้นจะหมดอายุตอนเที่ยงวัน ญาติโยมสามารถนำอาหารนั้นมารับประทานได้โดยไม่ผิด แม้ว่าพระจะไม่ได้อนุญาตก็ตาม เพราะอาหารนั้นได้ขาดจากความเป็นของสงฆ์แล้วในเวลาเที่ยงวัน แต่ท่านสอนเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ดี สิ่งที่ควรทำก่อนก็คือ การขออนุญาตต่อพระภิกษุสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นเวลาก่อนหรือหลังเที่ยงก็ตาม เมื่อท่านอนุญาตแล้ว ก็สามารถรับประทานได้
สำหรับเรื่องที่ต้องอปโลกน์ก่อนหรือไม่ อันนี้ขึ้นกับผู้ที่ถวาย หากเป็นเพียงอาหารใส่บาตรมา หรือนำมาถวายที่วัด โดยไม่กล่าวคำถวายเฉพาะว่า ให้เป็นสังฆทานหรือเป็นของสงฆ์ (คือ พระ4 รูปขึ้นไป) ถือเป็นเพียงทานที่ถวายเฉพาะบุคคล พระไม่จำเป็นต้องอปโลกน์ เมื่อท่านอนุญาตแล้วก็สามารถแจกจ่ายกันไปรับประทานหรือใช้ประโยชน์ได้เลย แต่หากเป็นอาหารหรือของที่ผู้ถวายเจาะจงให้เป็นสังฆทานแล้ว พระต้องอปโลกน์เสียก่อน จึงจะแจกจ่ายกันได้ครับ ตามหลักพระวินัยจริงๆ หากไม่อปโลกน์ ต้องรอหลังเที่ยง อาหารหมดอายุแล้ว จึงจะนำมากินได้โดยไม่ผิดวินัยและไม่เป็นบาป
ถ้ามีผู้สังเกตดีๆ จะพบว่า ในงานทำบุญใหญ่ๆในที่ต่างๆ ที่มีคนมาร่วมงานมากๆ เช่น มูลนิธิพระอาจารย์มั่น ฯลฯ ผู้จัดงานเป็นผู้ฉลาด เวลากล่าวคำถวายอาหาร จะไม่กล่าวถวายเป็นสังฆทาน คือ ไม่ปรากฎ คำว่า "สังโฆ" และ "สังฆัสสะ" ที่แปลว่า "สงฆ์" ในคำถวาย แต่จะกล่าวคำถวายเป็นทานที่ถวายเฉพาะบุคคล คือ ใช้คำว่า "สีละวันตัสสะ" และ "สีละวันโต" ที่แปลว่า "ท่านผู้ทรงศีล" เพื่อให้ญาติโยมรับประทานอาหารที่เหลือจากถวายพระได้ โดยไม่ต้องขอให้พระท่านอปโลกน์ก่อน และไม่ต้องเป็นต้องกังวลเรื่องบาปใดๆ
ดังนั้น นอกจากการรับประทานอาหารของพระสงฆ์จะไม่บาปแล้ว ยังจะสามารถเผื่อแผ่ไปยังผู้ยากไร้ เพราะสำหรับบางคนข้าวสวยเพียงถุงเดียว หรือนมเพียง 1 กล่อง เขาก็ไม่สามารถจะซื้อกินได้!
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754