พระผู้ทรงเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ฝั้น, พระผู้ไม่มีรถส่วนตัวใช้, พระผู้ทรงฉันภัตตาหารในบาตรเหมือนพระวัดป่าทั่วๆ ไป, พระผู้ทรงถือพรรษา แต่ไม่ทรงถือสมณศักดิ์สูงใหญ่, พระผู้ทรงละทางโลก-ใฝ่ทางธรรม, พระผู้ทรงนำปัจจัยจากญาติโยมไปสร้างโรงเรียน-หนุนมูลนิธิ, พระผู้ทรงได้รับการสรรเสริญว่าเป็น “พระแท้-พระจริง” แห่งยุคสมัย
พระผู้ทรงเป็น “ราชาแห่งคณะสงฆ์” องค์ใหม่ “สมเด็จอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร)” สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระผู้ทรงพร้อมนำความสงบร่มเย็นมาสู่ผืนแผ่นดินธรรม-ผืนแผ่นดินไทยโดยแท้...
พระสายวัดป่า ผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาธรรม
[สมเด็จพระสังฆราช เมื่อครั้งยังทรงเป็น “พระมหาอัมพร อมฺพโร” บิณฑบาตร่วมกับ “หลวงปู่ฝั้น” ณ วัดถ้ำขาม จ.สกลนคร]
“เราได้มีสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีโอกาสกราบท่านอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง เวลาทำบุญให้น้องพุ่ม เพราะอัฐิของน้องพุ่มบรรจุอยู่ที่นั่น ท่านเมตตาใจดีมาก สาธุ”
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงโพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมส่วนพระองค์ @nichax ด้วยภาพของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ แนบสัญลักษณ์ “พนมมือไหว้” เพื่อร่วมแสดงความปลื้มปีติในวาระที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 โดยมีพระราชทินนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก”
[จากอินสตาแกรมของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ]
ผู้ได้เคยมีโอกาสนมัสการหรือนิมนต์สนทนาธรรมต่อเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันถึงคุณสมบัติเรื่อง “ความสมถะ” ที่ปรากฏเด่นชัดของพระองค์ท่าน เนื่องด้วยสมเด็จพระอริยสงฆ์ผู้นี้ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หลายต่อหลายครั้งจึงต้องเดินทางด้วยแท็กซี่เพื่อไปรับกิจนิมนต์ บางครั้งเดินด้วยเท้าเปล่า และมักจะถือฉันในบาตรเหมือนพระกรรมฐานสายวัดป่าทั่วๆ ไป
เมื่อว่างเว้นจากภาระธุระทางธรรมคราใด พระองค์มักจะเสด็จไปเยือนวัดป่าสายกรรมฐานตามจังหวัดต่างๆ อยู่เสมอๆ ทั้งยังเป็นพระผู้ไม่เคยแบ่งแยกถือตัว สนทนาธรรมได้ทั้งพระสายธรรมยุติและมหานิกาย แม้ในคราวที่ได้ขึ้นเป็น “สมเด็จ” แล้ว ท่านก็ยังคงกราบพระเถระผู้ใหญ่ที่มีอายุพรรษามากกว่าท่านเสมอๆ ด้วยจิตใจที่นอบน้อม จึงเป็นที่มาของคำสรรเสริญที่ว่า พระสมเด็จผู้นี้คือพระผู้ถือพรรษา ไม่ถือสมณศักดิ์ ช่างน่าชื่นชม
“เจ้าพระคุณสมเด็จชอบสนทนาธรรมกับพระสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ในวัยหนุ่ม ท่านเดินทางไปสักการะและสนทนาธรรมกับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่ดูล อตุโล, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ฯลฯ พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานชื่อดังเป็นประจำ
[ทรงฉันในบาตร เดินตามทางธรรมพระวัดป่า พ.ศ.2508]
[ช่วงหยุดพัก ถวายน้ำปานะระหว่างทางเดินธุดงค์ จากวัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ไปวัดถ้ำขาม จ.สกลนคร เพื่อภาวนากับ "หลวงปู่ฝั้น"]
มีเรื่องเล่าว่า เวลาท่านเดินทางไปภาคอีสาน ท่านจะฉันในบาตรเพียงมื้อเดียว เหมือนสายพระป่า และชอบปฏิบัติกัมมัฏฐาน ใช้ชีวิตเรียบง่ายสมถะ ท่านไม่มีรถยนต์ส่วนตัว ทาง พศ. (สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) จะจัดรถยนต์ถวายเวลาท่านเดินทาง เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย” พระพรหมเมธี (จำนงค์ ธมฺมจารี) โฆษกและกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) บอกเล่าเอาไว้เช่นนั้น
[สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 (รูปที่ 1 จากซ้าย) ทรงถือ “หนังสือวินัยมุข” ไว้ในมือเพื่อใช้ตรวจสอบความถูกต้องในการสวดสมมติสีมา เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ "พระเทพเมธาภรณ์" ร่วมกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19]
เช่นเดียวกับ “หลวงปู่อุทัย สิริธโร” เจ้าอาวาสวัดเขาใหญ่ (เจริญธรรม) ญาณสัมปันโน ที่ย้อนรอยอดีตเอาไว้ ถึงเมื่อครั้งเคยธุดงค์ปฏิบัติธรรมร่วมกันกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระมหามุนีวงศ์” ว่า “ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หมั่นปฏิบัติธรรมเป็นนิจ มีนิสัยอ่อนโยน มีเมตตา ปฏิบัติตนเคร่งครัด”
ศิษย์หลวงปู่ฝั้น “ทำใจให้สบาย”
"...เราไม่มีแม้สักแดงเดียวนะ เราไม่สะสม แม้แต่เหรียญท่านอาจารย์ฝั้น สักเหรียญเรายังไม่มี รถเราก็ไม่มี..."
นี่คือส่วนหนึ่งจากโอวาทธรรมของสมเด็จพระสังฆราช ในช่วงที่ยังถูกเรียกว่า “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร)” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสมถะเรียบง่ายของพระองค์เป็นอย่างมาก ประชาชนสายธรรมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เหมาะสมแล้วที่เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” แห่งวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร ซึ่งเป็นพระอริยสงฆ์ที่ประชาชนทั่วทั้งแผ่นดินเคารพศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติโดยแท้
ในฐานะหนึ่งในศิษย์ของหลวงปู่ฝั้น เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช เคยได้กล่าวถึงพระอาจารย์ใหญ่เอาไว้ ระหว่างแสดงพระธรรมเทศนาเนื่องในวันแสดงมุทิตาจิตแด่หลวงปู่อุทัย สิริธโร ณ วัดเขาใหญ่ญาณสัมปันโน ต.โป่งตาลอง จ.นครราชสีมา เอาไว้ดังนี้
“...อาตมาได้เคยฟังธรรมจากท่านอาจารย์ใหญ่ฝั้น อาจาโร ตั้งแต่ครั้งที่ได้มากราบท่าน ท่านกล่าวว่า “ทำใจให้สบาย” ซึ่งยังปรากฏติดอยู่ในใจจนป่านนี้ คำว่าทำใจให้สบายในสำเนียงของท่าน รู้สึกว่าจับใจ ฟังแล้วทำให้ใจมันสบายตาม ซึ่งไม่ทราบว่าจะถ่ายทอดคำนี้ออกมาให้ท่านทั้งหลายทราบกันได้อย่างไร
ถ้าเราศึกษาค้นคว้า ปฏิบัติธรรม เราคงจะได้อย่างที่อาจารย์ใหญ่ท่านบอกให้ฟังว่า ทำใจให้สบายได้ ก็ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ คือความสบายใจ ทำใจให้สบาย”
ไม่ใช่เพียงคำบอกเล่าจากพระสงฆ์องค์เจ้าเท่านั้นที่คอยย้ำถึงคุณงามความดีของสมเด็จพระสังฆราชลำดับที่ 20 พระองค์นี้ แม้แต่ประชาชนผู้เคยมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับท่านยังบอกเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า พระองค์เหมาะสมกับคำว่า “พระแท้” มากเพียงใด เรื่องราวจาก “ม.ล.ชัยนิมิตร นวรัตน” ที่บอกเล่าผ่านแฟนเพจเอาไว้ คืออีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องราวที่เล่าจากประสบการณ์ตรง เมื่อครั้งเคยบวชเณรใหม่ๆ และเคยมี “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” หรือชื่อเรียกในสมัยนั้นคือ “พระมหาอัมพร” มาเป็นพระพี่เลี้ยง
“ผมยังจำครั้งแรกที่ท่านมหาอัมพรพาออกบิณฑบาตได้ หลังจากบวช 2-3 วัน ท่านเห็นว่าเดินไกลๆ แล้วจีวรไม่หลุดลุ่ยแน่ จึงนำวนไปทางวัดสุทัศนฯ มีโยมรายหนึ่งตั้งโต๊ะใหญ่มากหน้าบ้าน พระเณรยืนล้อมวงอยู่ห่างๆ เพื่อผลัดกันเข้าไปรับบาตรทีละองค์
รอสักครู่หนึ่ง พอเมื่อยก็ถึงคิวท่านอัมพร รับบาตรเสร็จ ผมเห็นพี่สองคนรีรออยู่ กลัวจะชักช้าก็เลยก้าวออกไปรับบาตรต่อทันที เสร็จแล้วก็เดินไปสมทบกับท่าน
โดนท่านดุว่าเณรไปตัดคิวพระท่านทำไม พอผมได้สังเกตจึงเห็นว่า พระท่านยืนแยกสายกันตามใครมาซ้ายมาขวา แล้วสลับเข้ารับบาตรซ้ายทีขวาที ผมไปเบิลเป็นขวาๆ ท่านมหาอัมพรเลยต้องเดินไปขอโทษพระองค์นั้น ซึ่งท่านก็ไม่ว่าอะไร...
จนมาเมื่อบวชครั้งสำคัญในชีวิต ผมได้บวชนาคหลวงในพระอุโบสถวัดพระแก้ว... ออกพรรษาแล้ว ผมลาท่านไปอยู่วัดราชบพิธฯ ระยะหนึ่งก่อนลาสิกขา ได้มีโอกาสเข้าร่วมปาติโมกข์ ซึ่งสงฆ์จะมอบหมายให้พระองค์หนึ่งเป็นผู้สวดบาลีเป็นเวลาร่วมชั่วโมง โดยจะต้องไม่ผิดแม้แต่คำเดียว ซึ่งหน้าที่นี้เป็นของ “ท่านอัมพร” แต่ไหนแต่ไรมา
ว่ากันว่าสมองและความจำของท่านเป็นเลิศกว่าพระทุกรูปในวัดราชบพิธ ผมรู้สึกเป็นบุญที่มีคุณสมบัติครบที่จะได้ร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของสงฆ์และได้ฟังท่านอัมพรหลับตาสวดรวดเดียวไม่มีพักยก ตั้งแต่ต้นจนจบ
ครั้งสุดท้ายที่ไปกราบ (ท่านมหาอัมพร) นั้น ท่านเป็นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ สมเด็จอัมพรท่านก็เป็นหลักในทางธรรมให้พวกเราได้ยึดเหนี่ยวต่อ เวลาเรากราบท่านทุกครั้ง เราสำนึกอยู่เสมอว่าเราโชคดีที่มีสงฆ์อย่างท่านเป็นเนื้อนาบุญ นำทางชีวิตให้ตั้งแต่เด็กจนแก่
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมยังไม่เห็นจริยวัตรของท่านเปลี่ยน นอกจากจะงดงามขึ้น ท่านไม่เคยหลุดกิริยาวาจาอันใดเลยที่จะทำให้ใจเราสะดุดแม้แต่นิดเดียว ท่านเป็นพระที่สำนึกของเราบอกว่า พระแท้คือพระอย่างนี้”
ไม่ต่างไปจากแฟนเพจ "พระอริยเจ้า" ที่เขียนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระสังฆราชพระองค์ใหม่เอาไว้ด้วยความเคารพจากใจ โดยตั้งชื่อบทความว่า “เมื่อครั้งคนบุญน้อยได้เข้าใกล้สมเด็จท่าน” บอกเล่าความประทับใจจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง กับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้ว เมื่อครั้งได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมในงานพระราชทานเพลิงสรีรสังขารหลวงปู่บุญมี โชติปาโล ณ วัดสระประสานสุข จ.อุบลราชธานี
“เวลาล่วงไปถึงช่วงที่ประธานสงฆ์จะเดินทางมาร่วมในงาน ก็ได้มีพระเถระผู้เฒ่าหน้าตาแจ่มใสยิ้มแย้มองค์หนึ่งเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์แล้วเข้ามานั่งอยู่ตรงเก้าอี้ติดกับตรงที่ผมนั่งอยู่ ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสมาก หากแต่มีระเบียบเคร่งครัด และสิ่งที่แอดมินได้พบกับตนเองคือ พระองค์นี้ท่านมิรับของถวายใดๆ เลย แล้วยังกล่าวกับคนที่มาถวายด้วยน้ำเสียงเปี่ยมเมตตาว่า "ที่วัดมีแล้ว ไม่เอาหรอก"
ผลคือท่านมิรับสิ่งใดเลยครับ ท่านเข้ามาท่านก็นั่งสนทนากับพระที่เข้ามากราบท่าน สนทนากับญาติโยมบริเวณนั้นอย่างเป็นกันเอง และภาพที่ทุกคนในบริเวณนั้น รวมถึงแอดมินที่ได้นั่งอยู่เงียบๆ ใกล้ๆ ท่านได้เห็น ก็คือใบหน้าของพระองค์นี้จะยิ้มแย้มตลอด เคร่งครัดหากแต่เมตตา
และพระองค์ที่แอดมินกล่าวถึงนั้นแล คือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”
[สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์]
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล: แฟนเพจ “ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน”, fb.com/buddhistarhat, fb.com/luangtatang และ www.dhammajak.net
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754