อึ้ง!!! หญิงไทยมีลูกน้อยลง กลายเป็นปัญหาน่าตกใจ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาเชิญชวนชวนคนไทยปั๊มลูกเพื่อชาติ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนไทยไม่สนใจจะมีลูก ทั้งที่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ผ่านนโยบายต่างๆ มากมาย หลากหลายความคิดเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า ผู้หญิงไทยแต่งงานน้อยลง และช้าลง จนน่าเป็นห่วง ส่วนใหญ่นิยมอยู่เป็นโสดกันมากขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาที่สูงขึ้นนั่นเอง
ย้อนหลังกลับไปเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว นักประชากรศาสตร์เปิดเผยว่า ครอบครัวคนไทยนิยมมีลูกเฉลี่ยประมาณ 5-6 คน จัดเป็นยุค “เบบี้บูม” ของเมืองไทย อัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในปี 2512 มีจำนวนเด็กเกิดมากถึง 1.2 ล้านคน ประกอบกับอัตราการตายที่ลดลง อันเป็นผลมาจากการสาธารณสุขที่ดีขึ้น สร้างความวิตกระลอกใหม่ว่า จำนวนประชากรที่มากเกินไปจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ถนอม กิตติขจร ประกาศใช้นโยบายชะลออัตราการเพิ่มประชากร ภายใต้สโลแกนการรณรงค์ “ลูกมาก ยากจน”
จากนั้นมาประเทศไทยก็เข้าสู่ยุคที่มีอัตราการเกิดต่ำสมใจ!! คือ จากร้อยละ 2.7 ในปี 2513 ลดลงเหลือ ร้อยละ 0.4 ในปี 2558 ซึ่งหากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ภายใน 10 ปีข้างหน้า อัตราการเกิดจะค่อยๆต่ำลง จนมีอัตราการเกิดเท่ากับอัตราการตาย สุดท้ายการเกิดเท่ากับร้อยละ 0.0!! ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกมารณรงค์ขอให้คนไทยร่วมกันปั้มลูกช่วยชาติ โดยผุดนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ
นโยบายดังกล่าวจะเน้นใน 3 เรื่องคือ 1.การเพิ่มจำนวนการเกิด เพื่อทดแทนจำนวนประชากร โดยส่งเสริมการเกิดในหญิงอายุ 20-34 ปี ที่มีความพร้อมและตั้งใจที่จะมีครรภ์ 2.การเกิดทุกรายมีความพร้อม มีการวางแผน และได้รับความช่วยเหลือในการมีบุตร และ 3.ทารกเกิดมาอย่างแข็งแรง พร้อมเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยส่งเสริมให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี
ทว่า ทันที่ที่ข่าวนี้ออกมา หลากหลายเว็ปต์ไซต์ในโลกโซเซียลก็มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการมีลูกสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยส่วนใหญ่ยังคงยืนยันไม่อยากมีลูก เพราะเป็นห่วงเรื่องของรายได้ และเศรษฐกิจ
“ลูกคือภาระ เป็นการลงทุนที่ยังไงๆ ก็ขาดทุน เต็มที่ก็เสมอตัว มีลูกคนนึงกว่าจะเลี้ยงให้มันรู้จักทำมาหากินเองก็ 20 ปีขึ้นไป ระหว่างนั้นจะเจออะไรต่อมิอะไรสารพัน ถ้าคิดว่าแก่ตัวไปจะได้คอยให้ลูกคอยช่วยดูแล ถามว่าทุกวันนี้แต่ละคนได้อยู่ดูแลพ่อแม่ตัวเองกันเท่าไหร่ เต็มที่ก็แค่วันหยุดเทศกาล ถึงได้เดินทางไปหาทีนึงไม่นับที่ไม่ได้ไป-ไปไม่ได้นะ ส่วนเรื่องอนาคตที่ประเทศจะกลายเป็นประเทศของคนแก่ถึงวันนั้นผมคงตายไปก่อนแล้วล่ะ อีกอย่างถ้ามีลูกมาแล้วรัฐช่วยเรื่องค่าเลี้ยงดูอันนี้ก็น่าสนอยู่นะ”
“อยากมีลูกสอง แต่คิดหนักเรื่องงบประมาณไม่เอื้ออำนวย มีคนเข้าเรียน1คน ต้องหาทางเก็บตังค์เพิ่มสำหรับค่าเทอมเดือนละ7-8พันยังไม่รวมค่ากินอยู่และจิปาถะ ถ้ามีลูกอีกคน มีหวัง ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เพื่อหาเงินเพิ่มอีกเท่าตัว แถมไม่มีเวลาให้ลูกทั้งสองเพราะมัวแต่เอาเวลาไปหาตังค์หมด นี่เลยเป็นเหตุให้ยังไม่ปล่อยให้มีคนที่สองคะ”
“ผมไม่อยากมีลูก การมีลูกคือการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งผมมองว่าไม่คุ้มเลย สนใจแค่ตอนแก่เรามีเงินพอจะดูแลตัวเองหรือจ้างใครมาดูแลเราได้หรือเปล่า เรื่องสืบสกุลอะไรนี่ สำหรับผมไร้สาระครับ ผมตายไปก็ไม่ต้องสนใจนามสกุลผมแล้วครับ"
ขณะที่บางคนยังไม่มั่นใจในคู่ครอง และบางรายก็กลัวเหนื่อย
“สำหรับตัวเราเอง ต้องดูพ่อของลูกก่อน ถ้าเขาดีก็คงอยากมี แต่ถ้าไม่ดีนี่คิดหนัก”
“พึ่งฟังคำบรรยายเรื่องนี้เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เท่าที่เห็นพี่สาวเลี้ยงลูก บอกตรง ๆ เหนื่อยแทน เรายังได้รับผลพลอยได้ คือต้องเลี้ยงหลานช่วงเย็นบางวัน ขนาดเรานาน ๆ เลี้ยงทียังรู้สึกเหนื่อยเลย ส่วนตัวก็คิดไว้ว่า อาจจะอยู่คนเดียว เลี้ยงน้องหมาไปด้วย พอแก่หน่อยก็อาจจะไปอยู่บ้านพักคนชรากะคนวัยเด๊ยวกัน ไม่ก็เข้าวัดปฎิบัติธรรมค่ะ”
ดูเหมือนว่า แนวคิดคนรุ่นใหม่ต่อการมีลูก จาก “คุณค่า” เป็น “ภาระ” ยังคงเป็นเรื่องฝังใจคนไทยในปัจจุบัน การรณรงค์ให้คนไทยช่วยกันปั้มลูกครั้งใหม่จะเป็นผลหรือไม่ รัฐบาลจะล้างความคิดเหล่านี้ได้หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไป
ขอบคุณภาพจาก https://pixabay.com
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754