xs
xsm
sm
md
lg

ไม่แก่เกินจะ “วิ่ง” สุนิสา สังขะโพธิ์ 69 ปียังสตรอง! มาราธอน100 กม. ใกล้แค่เอื้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพการวิ่งของนักร้องชื่อดัง ตูน บอดี้แสลม เพื่อหารายได้ซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ให้ รพ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยังคงตราตรึงใจทุกคนอยู่ไม่เสื่อมคลาย และในการวิ่งครั้งนั้นนอกจากนักร้องหนุ่มแล้วยังมีนักวิ่งผู้หญิงที่คอยวิ่งเคียงข้างอยู่ตลอดเส้นทาง เพื่อดูแลในเรื่องของอาหารและอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในระหว่างได้ระหว่างการวิ่ง เธอคือ พญ. สมิตดา สังขะโพธิ์ หรือ หมอเมย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู ประจำ รพ.พระรามเก้า และเจ้าของเพจ Goodhealth สุขภาพดีอย่างมีกึ๋น ที่หลายคนรู้จักเธอดีในเรื่องงของการวิ่ง เธอชื่นชอบการวิ่งเป็นชีวิตจิตใจ แต่ทราบหรือไม่ว่า ความหลงใหลในการวิ่งของหมอเมย์นั้น ขณะนี้ได้ส่งต่อมาถึงคุณแม่ของเธอเข้าซะแล้ว

จากความเบื่อหน่ายที่ต้องไปนั่งรอลูกสาววิ่งมาราธอนครั้งละ 4 ชม. ก่อเกิดเป็นแรงผลักดันให้ คุณแม่วัย 69 ปี หันมาดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงด้วยการวิ่งออกกำลังกายเพื่อที่จะได้วิ่งไปพร้อมๆ กับลูก เธอเริ่มจากเดินในระยะทาง 2.5 กม. จากวิ่งรอบเดียวเพิ่มเป็น 2-3 รอบ เข้าสู่การวิ่งมาราธอนระยะทาง 10 กม. เพียงครั้งแรกก็สามารถผ่านไปด้วยดี ซ้อมวิ่งอย่างมีวินัยตลอดเวลา 1 ปี เพิ่มระยะทางเป็นฮาล์ฟมาราธอนระยะทาง 21.5 กม. จนล่าสุดสามารถผ่านการวิ่งมาราธอนครั้งแรกในชีวิตระยะทาง 42.195 กม. สำเร็จเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

คุณแม่นักวิ่ง กับ ลูกสาว (หมอเมย์)

++ เบื่อที่จะรอ เปลี่ยนความคิดให้ต้องออกวิ่ง

สุนิสา สังขะโพธิ์ หรือ คุณแม่นักวิ่งในวัย 69 ปี เลือกที่จะมาวิ่งแทนการนอนดูโทรทัศน์สบายๆ อยู่บ้าน เพราะลูกสาว (พ.ญ.สมิตดา สังขะโพธิ์ หรือ หมอเมย์) ชื่นชอบการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ทว่า หากการวิ่งของลูกสาวเธอนั้นแค่ออกไปวิ่งธรรมดาทั่วๆ ไปก็คือจบ ไม่มีอะไร แต่นี่ลูกสาวดันชอบไปวิ่งมาราธอน ซึ่งการวิ่งมาราธอน คือ การไปวิ่งตามสนามแข่งต่างๆ ครั้งหนึ่งลูกสาวมีโปรแกรมไปวิ่งมาราธอนที่ จ.ภูเก็ต ต้องนั่งเครื่องบินไป ต้องเช่าโรงแรมอยู่ เธอจึงชวนพ่อกับแม่ไปด้วย กึ่งหนึ่ง คือ พาไปเที่ยว และอีกกึ่งหนึ่ง คือ ไปเป็นเพื่อน

เวลากว่า 4 ชม. ที่ลูกสาวของเธอใช้สำหรับการวิ่งมาราธอนระยะทาง 42.195 กม. คุณแม่นักวิ่งต้องนั่งคอยส่งลูกสาวตั้งแต่จุด start กระทั่งลูกวิ่งกลับมาถึงจุด finish เป็นประจำทุกครั้ง แต่ครั้งนี้กลับกลายเป็นไม่เหมือนดังเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะระหว่างนั่งรอลูกสาว 4 ชม. นั้นเองจู่ๆ เธอเกิด “ความเบื่อหน่าย” และคิดว่า “ทำไมเราต้องมานั่งรอให้เครียด ทำไมเราไม่วิ่งเองบ้างนะ” ความคิดเหล่านี้ก็ผุดเข้ามา

หลังจากเดินทางพ่อแม่ลูกเดินทางกลับมาจาก จ.ภูเก็ต คุณแม่สุนิสา จึงเอ่ยปากบอกกับลูกสาวว่า เดี๋ยวแม่วิ่งบ้างดีกว่า?

ลูกสาวผู้หลงรักในการวิ่งรีบตอบกลับผู้เป็นแม่ว่า “เอาสิแม่! แม่จะไปวิ่งกับลูกได้ก็ต่อเมื่อแม่แข็งแรง แม่เดินได้ แล้วลูกจะพาแม่ไปทุกแห่งไม่ใช่แค่เมืองไทย เมืองนอกลูกก็จะพาแม่ไป เราจะได้ไปวิ่งด้วยกัน”

ส่วนอีกหนึ่งเหตุผลที่เป็นเสมือนแรงกระตุ้นให้คุณแม่สุนิสาหันมาดูแลเรื่องสุขภาพมากขึ้น น่าจะมาจากคำพูดของลูกสาวที่บอกกับเธอว่า อย่าเพิ่งแบ่งมรดกให้ลูกชาย? (เนื่องจากมีลูก 2 คน คือ หมอเมย์กับน้องชาย) เมื่อได้ยินเช่นนั้นกลับยิ่งทำให้เธอไม่เข้าใจความหมายเข้าไปใหญ่ว่าเพราะเหตุใดลูกสาวถึงพูดเช่นนี้ออกมา
แต่แล้วเธอก็ค้นพบคำตอบ เมื่อลูกสาวได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนที่แม่จะแบ่งมรดกแม่ต้องเก็บเงินเป็น “ทุนตาย” ไว้ให้ลูกคนละ 5 ล้านบาทก่อน คือในส่วนของพ่อกับแม่ 2 คนรวมกันต้องเก็บเงินทั้งหมด 10 ล้านบาท ด้วยเหตุผลที่ลูกสาวเป็นหมออยู่โรงพยาบาลที่ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เพราะไม่ได้รับข้าราชการ
เมื่อเราได้ยินลูกพูดเช่นนั้น เราสวนกลับแบบไม่ต้องใช้ความคิดใดๆ “โอเค! เรื่องอะไรที่เราต้องไปเก็บเงินตั้ง 10 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนตาย ฉันขอเลือกที่จะออกกำลังกาย ให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่ต้องไปนอนโรงพยาบาล หรือหากจำเป็นจะต้องตาย ขอตายแบบ ไม่ต้องนอนป่วย เพราะถ้านอนป่วยหมอจะมาสั่งยานู่นนี่นั่นมากมาย บิลค่ารักษาพยาบาลออกมาแต่ละครั้งไม่ใช่น้อยๆ หลายหมื่นบาททีเดียว ถ้าเลือกได้ขอเลือกตายแบบ วิ่งๆ อยู่ แล้ว “หัวใจวาย” ตายไปเลย ตายแบบรวดเร็วไม่สร้างความทรมานให้กับลูกที่ต้องมาดูแลเรา แถมไม่ต้องเสียเงิน 5 ล้านบาท หรือถ้าออกไปวิ่งแม่ขอเลือกการวิ่งแบบ Trail คือ การวิ่งในป่า ชอบธรรมชาติ หากเกิดอุบัติเหตุตกเขาเสียชีวิต ร่างก็ไม่ต้องไปเก็บ เพราะเก็บไม่ได้แล้ว ประหยัดไปอีก 5 ล้านบาท แม่จะไม่ทำให้ลูกของแม่ต้องเสียเงินแน่ๆ”

จากการพูดเล่นๆ ของคุณแม่สุนิสา กลับทำให้เธอนั้นฉุกคิดขึ้นมาอีกว่า เมื่อพูดไปเช่นนั้นแล้ว เราต้องทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง จะได้ไม่ต้องจ่ายเงินให้ลูก 5 ล้านบาท และเมื่อเรามีสุขภาพแข็งแรงเราก็มีโอกาสไปเที่ยวกับลูกได้ทุกแห่งหน

++ ค่อยๆ เริ่มจาก “เดิน” เป็น “วิ่ง”

ย้อนไปเมื่อ 2 ปีครึ่ง ตอนนั้นคุณแม่สุนิสาอายุ 67 ปี เริ่มต้นออกกำลังกายที่สวนลุมพินีจากการเดินช้าๆ เปลี่ยนเป็นเดินให้เร็วขึ้น เมื่อเดินเร็วขึ้นกลับรู้สึกว่า ทำไมช้าจัง เราต้องทำให้มันเร็วขึ้นกว่านี้จึงค่อยๆ “วิ่ง”

แต่การวิ่ง ของเรา ไม่เหมือนการวิ่งที่เด็กๆ วิ่งกัน เราอายุมากแล้วจะให้วิ่งปรืดป๊าดแบบเด็กๆ เห็นทีจะไม่ได้ จึงวิ่งคล้ายๆ การวิ่งจอกกิ้ง ประกอบกับการมีวินัยในการออกไปวิ่งทุกวัน ผ่านไป 3-4 เดือน ลูกสาวได้ลองให้ไปวิ่งตามสนามแข่งต่างๆ โดยลองลงโปรแกรมวิ่งให้ที่ระยะทาง 10 กม. ที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

“ลูกบอกว่าจะไปวิ่งมาราธอนที่สัตหีบ เลยลงให้แม่วิ่งด้วย 10 กิโลเมตร แม่ลองวิ่งดูนะ เมย์เชื่อว่าแม่ทำได้ เราบอกโอเค ลองดู แม้เราจะซ้อมมาแค่ระยะทาง 5 กิโลเมตร ใจสู้ซะอย่าง ซึ่งการไปวิ่งที่นาวิกโยธิน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ถือเป็นรายการวิ่งแรกที่ไป เป็นการวิ่งแบบ Trail รอบชายหาด แต่ว่า 10 กิโลเมตร ที่วิ่งไปนั้นแทบไม่เห็นชายหาด เห็นแต่ภูเขาเพราะวิ่งขึ้นลงเขาก่อนจะเข้าเส้นชัยด้วยสถิติ 1.40 ชม.”

++ สุขที่จะวิ่ง จาก 10 กม. สู่ 21.5 กม.

หลังจากนั้นคุณแม่นักวิ่งก็ลงวิ่งอีกหลายรายการที่ระยะทาง 10 กม. ได้ถ้วยรางวัลมาครอบครองมากมาย จึงขยับไปวิ่งที่ระยะทาง 21.5 กิโลเมตร หรือที่เราคุ้นชื่อว่า ฮาล์ฟมาราธอน สนามแรกที่ไปลองวิ่ง คือ จอมบึงมาราธอน ครั้งที่ 31 เมื่อปีที่แล้ว เมื่อรู้แล้วว่าต้องวิ่งที่ระยะทางเท่าไหร่ จำเป็นที่ต้องมีการเตรียมตัวเพื่อฟิตซ้อมร่างกาย

“ เราจะต้องมีระเบียบวินัยกับตัวเอง โดยทุกครั้งจะมีตารางวิ่งชัดเจนว่าวันนี้ต้องทำอะไรบ้าง จากการเซิร์ทหาเองจากอินเตอร์เน็ตถึงวิธีเตรียมตัวก่อนไปวิ่งที่ระยะทางเท่านี้ จากนั้นปริ๊นซ์ตารางออกมาแปะข้างฝาบ้าน และซ้อมตามที่ตารางบอกทุกขั้นตอนไม่เคยขาดตกบกพร่อง โดยที่ไม่ต้องไปวุ่นวายกับลูกสาวเนื่องจากลูกงานเยอะมากอยู่แล้ว เป็นทั้งหมอและต้องซ้อมวิ่งเหมือนกันอีกด้วย เราไม่อยากรบกวนลูก เขาไปทำงานคนอื่นก็ใช้งานลูกเรามากพอแล้ว ดังนั้นเราจะไม่รังแกลูกเราอีก สิ่งไหนสามารถทำเองได้จะทำด้วยตัวเอง และหลีกเลี่ยงการสร้างภาระให้ลูก”

แต่ด้วยระยะทางที่เพิ่มมากขึ้น ทุกวันที่ซ้อมวิ่งที่สวนลุมวันละ 4 รอบระยะทางเพียง 10 กม.เท่านั้น (สวนลุม 1 รอบเท่ากับ 2.5 กม.) ดังนั้นถ้าจะไปวิ่งที่ระยะทาง 21.5 กม. ต้องวิ่ง 8-10 รอบสนามสวนลุม การวิ่งหลายๆ รอบสวนลุมทำให้รู้สึกเบื่อ ลูกสาวจึงชวนไปวิ่งที่ โรงเรียนนายร้อย จปร. อ.สามพราน จ.นครนายก ชิงถ้วยพระราชทานของในหลวง ร.9 เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ โดยคิดซะว่าเป็นการไปซ้อมวิ่งระยะทาง 21.5 กิโลเมตร ปรากฎว่าครั้งนั้นทำสถิติ 3.20 ชม. ได้ที่ 2 ประเภทบุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป จากนั้นก็วิ่งอีกหลายรายการ และการวิ่งฮาล์ฟมาราธอนรายการสุดท้ายที่ระยะทาง 21.5 กม. ก่อนอัพมาเป็นการวิ่งแบบมาราธอน สามารถเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 ประเภทบุคคลอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ อ.บางแสน จ.ชลบุรี ด้วยสถิติ 2.59 ชม.

++ ฉันทำได้! มาราธอนครั้งแรกในชีวิต 42.195 กม.

นี่คือมารอธอนครั้งแรกในชีวิตของคุณแม่นักวิ่งกับระยะทาง 42.195 กม. ไม่ใช่เล่นๆ เลยสำหรับหญิงสูงวัย 69 ปี อย่าง สุนิสา สังขะโพธิ์ ที่จะต้องวิ่งในระยะทางที่ถือว่าไกลมาก ดังนั้นก่อนถึงวันจริงของการวิ่งเธอต้องเตรียมตัวเพื่อฝึกซ้อมและเตรียมฟิตร่างกายให้พร้อมอย่างจริงจังตลอดระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะไป จอมบึงมาราธอน 2017 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ

คุณแม่นักวิ่ง เล่าย้อนถึงการเตรียมตัวก่อนไปมาราธอนว่า ในตารางฝึกซ้อมมีการซ้อมวิ่งแทบทุกวันสูงสุดอยู่ที่ระยะทาง 34 กม. ทำอย่างไรก็ได้ให้เราวิ่งต่อเนื่องให้ได้ 34 กม. โดยห้ามหยุดพัก เช็กดูว่าใช้เวลาไปเท่าไหร่ เพื่อคำนวณเวลาโดยประมาณหากวันจริงต้องวิ่งที่ระยะทาง 42.195 กม. จะได้รู้ว่าใช้เวลาในการวิ่งทั้งสิ้นเท่าไหร่ ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องเผื่อความเหนื่อย และความร้อนของอากาศในวันวิ่งจริงด้วย

“วันที่ซ้อมวิ่ง 34 กม. เริ่มวิ่งตั้งแต่ตี 5 จนถึง 11.05 น. แบบไม่หยุดพักเลย ถ้าเหนื่อยก็วิ่งให้ช้าลงเท่านั้น แต่จะไม่หยุด จำได้ว่าวันนั้นใช้เวลาไป 5 ชม. ดังนั้นจึงสามารถคำนวณเวลาในการวิ่งมาราธอนได้ว่าเราจะต้องใช้เวลาประมาณ 7 ชม. ไม่น่าจะเกิน cutoff ที่ตั้งไว้ที่ 9 ชม. และเรามั่นใจเลยว่ามาราธอนครั้งแรกในชีวิตฉันรอดแน่ๆ ฉันต้องทำได้”

การซ้อมมาอย่างหนัก เมื่อถึงวันจริงของการวิ่งมาราธอนครั้งแรกในชีวิตของคุณแม่นักวิ่งวัย 69 ปี เริ่มขึ้น สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเริ่มปล่อยตัววิ่งตั้งแต่เวลา 04.30 น. ฟ้ามืดสนิท บวกกับสายตาของหญิงสูงวัย ทำให้วิ่งไปเหยียบก้อนหินทำให้เกิดอุบัติเหตุ “ขาพลิก”

ตอนที่วิ่งไปเหยียบก้อนหิน ขาข้างซ้ายพลิกและขาขวาบิดทำให้กล้ามเนื้อแข็งตัวเจ็บมาก ในใจคิดว่า ไม่ได้นะ ซ้อมมาตั้งขนาดนี้แล้วจะยอมแพ้ง่ายๆ ได้ยังไง จึงนำสเปย์ที่เตรียมไว้ที่กระเป๋ารอบเอวมาฉีดเพื่อบรรเทาอาการ จากนั้นก็พยายามยืดขา คลายกล้ามเนื้อ พร้อมบอกกับตัวเองว่า

“ฉันต้องไปได้ เพราะฉันซ้อมมาเยอะมาก ฉันจะไม่ยอมให้ขาข้างนี้ฉันเป็นอุปสรรค”

เมื่ออาการบาดเจ็บดีขึ้น สองเท้าก็พร้อมก้าวเพื่อออกวิ่งต่อจนถึงเส้นชัยในที่สุด ด้วยเวลา 7.06 ชม. ซึ่ง 6 นาทีที่เลยไปนั้น คุณแม่นักวิ่งบอกว่า เป็นช่วงที่ต้องหยุดวิ่งเพื่อฉีดสเปย์คลายกล้ามเนื้อ ฉะนั้นแล้ว การวิ่งมาธาธอนครั้งแรกในชีวิตของเธอ ถือว่าสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ตามเป้าที่วางไว้

“วินาทีที่มาถึงเส้นชัยดีใจมาก ทุกคนมารอรับ ก่อนที่จะถึงวันวิ่งมาราธอนกดดันมาก ทั้งในเฟซบุ๊ก ในไลน์ จะคอยดูแม่ แม่จะจบยังไง จะใช้เวลากี่ชั่วโมง ในใจตั้งเป้าเอาไว้ว่าฉันจะต้องวิ่งให้ถึงเส้นชัยให้ได้ภายใน 7 ชม. เพราะตอนที่ซ้อม ระยะทาง 34 กม. ใช้เวลาไป 5 ชม. ที่เหลือน่าจะใช้เวลาอีก 2 ชม.ที่เหลือ อาจจะเหนื่อย อาจจะล้า แต่ไม่คิดว่าจะมีอาการบาดเจ็บ ถ้าไม่สะดุด แม่คิดว่าแม่ถึงเส้นชัยภายใน 7 ชั่วโมง แต่ก็ไม่เสียใจกับ 6 นาทีที่เกินมา แค่เราปลอดภัยสามารถวิ่งจนถึงเส้นชัย ขาไม่เดี้ยง และไม่มีใครมาเจ็บเพราะเรา รถพยาบาลที่คอยขับตามอยู่ข้างหลังเราก็เฝ้าถามอยู่ตลอดเวลาว่าคุณยายไหวมั้ย? จะขึ้นรถพยาบาลมั้ย? แค่นี้รู้สึกภูมิใจ ประทับใจในตัวเองที่สุดแล้ว”

เมื่อถามถึงช่วงที่เกิดคุณแม่นักวิ่งเกิดอุบัติเหตุ แล้วหมอเมย์ซึ่งเป็นลูกสาวไปไหน?

คุณแม่นักวิ่ง เล่าว่า จริงๆ แล้วลูกสาวจะวิ่งเป็นเพื่อน แต่เนื่องจากระดับความเร็วในการวิ่งของแต่ละคนไม่เท่ากัน เราวิ่งช้าส่วนลูกวิ่งเร็ว ถ้าลูกเปลี่ยนมาวิ่งช้าเพื่อประกบเรา ยิ่งเป็นการกดดันเรา เป็นห่วงลูก เพราะลูกต้องปรับระดับความเร็งในการวิ่งให้ช้าเหมือนเราจะยิ่งทำให้ลูกปวดขา จึงบอกให้ลูกวิ่งไปก่อน แล้วค่อยเจอกันที่เส้นชัย

++ ตั้งเป้าอนาคตวิ่ง 100 กม. ฉันจะวิ่งจนฉันตาย!
 
ตลอดเวลา 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา คุณแม่นักวิ่งท่านนี้ผ่านรายการวิ่งมาแล้วหลายสนาม เธอมองว่า เสน่ห์ของการวิ่งสำหรับเธอนั้นเริ่มต้นมาจากการที่รู้สึกเบื่อที่จะต้องมานั่งรอลูกวิ่ง เกิดคำถามมากมายในสมอง ทำไมเราต้องรอ? ทำไมเราต้องอยู่เฉยๆ? แล้วถ้าเราไม่ยืนเฉยๆ เราจะทำอะไร? อ่านนิยายหรือ? เราก็ไม่ใช่หนอนหนังสือ หรือจะหันมาฟังวิทยุ เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีอะไรที่ทำแล้วดีขึ้นมาเลย พลันแต่จะเสียเวลาเปล่าๆ

ฉะนั้นแล้วทำไมเราไม่ลุกขึ้นมาทำร่างกายของเราให้แข็งแรง ซึ่งการเลือกที่จะ “วิ่ง” มองว่าเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ ทำแล้วมีความสุข การวิ่งแต่ละครั้งจะบอกกับตัวเองเสมอว่า ห้ามล้ม ขาต้องก้าวไปตลอด ในขณะที่วิ่ง จิตจะอยู่กับขาที่ และลูกตาที่เรามอง ฉะนั้นเรื่องอื่นตัดทิ้งไปให้หมด ความทุกข์ ความเจ็บปวด อย่าไปคิดถึง อยู่แต่กับลมหายใจ ทำให้เราเป็นสุขมีโลกส่วนตัวของเรา และจดจ่ออยู่แต่กับการวิ่ง อีกทั้งการวิ่ง ยังสามารถช่วยให้เราหลีกเลี่ยงการไปหาหมอที่โรงพยาบาลอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บแล้วต้องนอนอยู่บนเตียง เพราะหากต้องเป็นเช่นนั้นคงรับสภาพตัวเองไม่ได้ เราไม่อยากเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้ใครต้องมาดูแล หรือต้องมาสร้างภาระให้ลูกหลานและคนใกล้ชิดต้องเดือดร้อน

ในอนาคตข้างหน้าได้ตั้งเป้าไว้ว่าอยากไปวิ่งที่ระยะทาง 100 กม. แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำให้ได้ในวันนี้ พรุ่งนี้ หรือปีหน้า เราไม่รู้หรอกว่าจะทำได้เมื่อไหร่ รู้เพียงว่าตอนนี้ “ฉันจะวิ่งจนฉันตาย” อย่างน้อยต้องมีสักวันหนึ่งที่ฉันจะวิ่งได้ 100 กม. การที่คนเรามีเป้าหมาย ยิ่งทำให้มีกำลังใจในการฝึก ถ้าไม่มีเป้าหมายอะไรเลย เมื่อผ่านการวิ่งมาราธอนมาแล้ว พรุ่งนี้กินอีก อ้วนเหมือนเดิม ป่วย สุขภาพแย่ สุดท้ายก็ต้องจบที่การตายอยู่บนเตียงเหมือนเดิม

ขอเพียงมีความมั่นใจ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ คุณก็สามารถทำได้ พาหัวใจออกมาค่ะ แล้วเราจะได้พบกันในที่ๆ พวกเรามีความสุข ที่ตรงนั้นคือ “สนามวิ่ง” นั่นเอง
 
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่องโดย: นับดาว รัตนสูรย์


ขอบคุณภาพประกอบจาก facebook: Samitada May Sungkapo และ Sunisa Sungkapo
ขอบคุณคลิปจากรายการ ฟิตไปด้วยกัน ไทยพีบีเอส





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น