โลกโซเชียลฯ จวกยับ "The Face Thailand 3" เผยแพร่คำพูดเด็กสาววัย 16 ในใบสมัครที่ระบุว่า “กลัวกะเทย” ซ้ำยังปล่อยคลิปตอกย้ำ จนผู้ประกวดรายดังกล่าวถูกรุมทึ้งแทบไม่เหลือที่ยืน นักสิทธิวงการสีรุ้งชี้ ผิดที่สุดคือตัวรายการที่สร้างดรามาเพื่อขาย ละเมิดสิทธิเด็ก!!
ยิ่งดรามายิ่งเรตติ้งดี
กลายเป็นประเด็นดรามาร้อนระอุโซเชียลฯ ที่สุดในขณะนี้ สำหรับรายการ The Face Thailand season 3 ที่เกิดกรณีของผู้เข้าประกวดเป็นสาวน้อยวัย 16 ปี ระบุข้อมูลของตนเองลงในใบสมัครว่า “กลัวกะเทย” จนถูกเมนเทอร์ตำหนิว่าหากไม่เปิดใจก็ทำงานในวงการนี้ไม่ได้ พร้อมกับแนะให้กลับไปทบทวนแล้วกลับมาใหม่ปีหน้า ก่อนที่จะตัดสินว่าไม่ผ่านเข้ารอบต่อไป
หลังจากที่รายการนี้ออกอากาศไป ก็ทำให้เด็กสาวคนดังกล่าว ถูกโลกโซเชียลฯ โจมตีอย่างหนัก จนในเวลาต่อเธอจึงต้องออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ว่า คำว่ากลัวของตนเองหมายถึงกลัวผู้เข้าแข่งขันที่เป็นกะเทยที่สวยและมีความสามารถ ตนกลัวจะสู้ไม่ได้ ไม่ใช่เกลียดแต่อย่างใด และถึงแม้เธอจะชี้แจงถึงที่มาของคำว่า “กลัวกะเทย” แล้ว กระแสดรามาก็ยังคงคุกรุ่นอยู่ ทำให้โลกโซเชียลฯ พากันแสดงความคิดเห็นถึงเนื้อหารายการในเทปนี้ว่า เป็นการละเมิดสิทธิเด็กหรือไม่?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้ต่อสายตรงไปยัง พงศธร จันทร์แก้ว หรือ กอล์ฟ นักสังคมสงเคราะห์อิสระ เพื่อพูดคุยถึงประเด็นที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในขณะนี้ ซึ่งกอล์ฟเองมองว่า รายการเลือกที่ไม่นำคำพูดของน้องออกอากาศก็ได้ แต่ก็ยังทำ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กด้วยการหาผลประโยชน์จากคำพูดเพียงไม่กี่คำ
“ผมบอกเลยว่ารายการผิด เพราะตอนนี้รายการได้ทำการละเมิดเด็กไปแล้ว ทำไมผมถึงมองว่าเป็นการละเมิด การละเมิดมันมีด้วยกันหลักๆ ประมาณ 5 รูปแบบ คือ 1.ทางร่างกาย 2.ทางจิตใจ 3.ทางวาจา 4. การแสวงประโยชน์จากเด็ก และ 5.คือการละเลยทอดทิ้ง ผมมองว่าตรงนี้สิ่งที่รายการทำเห็นชัดๆ คือการแสวงประโยชน์จากน้องเขา โดยการตัดต่อคลิปตัวนั้นแล้วนำมาออกอากาศ ซึ่งรายการรู้แน่ๆ อยู่แล้ว ถ้าออกอากาศ ทุกคนก็จะแชร์ แล้วผลลัพธ์ที่ตามาก็คือรายการได้รับการพูดถึงมาก ซึ่งรายการเลือกที่จะไม่ทำก็ได้ แต่ก็ยังทำ
ความเห็นบนโลกโซเชียลฯ มีหลายคนตามไปด่าน้องเยอะมาก บางคนคอมเม้นต์ถึงขั้นจะไปทำร้ายร่างกายก็มี ซึ่งสื่อโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่น้องสามารถเข้าถึงได้อยู่แล้ว ลองนึกถึงสภาพจิตใจของเด็กผู้หญิง อายุ 16 ปี นั่งอ่านคนด่าตัวเองสิ ผมเลยมองว่า เฮ้ย...เราไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ทำไมเราถึงด่ากันได้ขนาดนี้
คอนเม้นส่วนหนึ่งบนโลกโซเชียลฯ
สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือผลกระทบหลังจากคลิปนี้ แล้วน้องเขาจะอยู่ยังไง เพราะแล้วอะไรที่มันลงสื่อออนไลน์ มันจะคงอยู่ไปตลอด มันไม่หายไปไหน แล้วคลิปนี้มันก็จะกลับมาทำลายน้องเขาอีกไม่รู้กี่ครั้ง ต่อให้รายการจะออกมาขอโทษน้องหรือจะทำอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้น้องเขาดีขึ้น แต่ผลกระทบที่มันต้องสูญเสียไป มันไม่สามารถเยียวยาได้แล้ว น้องมีแผลเป็นตรงนี้ไปแล้ว แล้วมันจะติดตัวน้องไปตลอดชีวิตครับ”
สำหรับทางออกของเรื่องนี้ กอล์ฟได้ทิ้งท้ายไว้ว่า เป็นหน้าที่ของสื่อ ที่ต้องตระหนักถึงเรื่องสิทธิให้มากยิ่งขึ้น เพราะเหตุการณ์การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่สื่อได้กระทำลงไป เกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
“เราถามหาจรรยาบรรณสื่อกันหลายครั้งมาก ตั้งแต่เรื่องของ ปอ-ทฤษฎี สหวงศ์ ที่กลายเป็นว่าทั้งแม่โบว์ ทั้งน้องมะลิถูกคุกคาม มันเป็นเรื่องสิทธิล้วนๆ ที่เราก้าวผ่านพื้นที่ส่วนตัวของคนบางคนเพื่อให้ได้ข่าว หรือสามารถทำลายใครก็ได้เพื่อให้ได้ข่าวแล้วก็สร้างประโยชน์ให้แก่ตัวเอง มีหลายเหตุการณ์แต่ไม่ได้เอามาปรับใช้ มันก็กลายเป็นเมื่อมีเหตุการณ์ออกมาปุ๊บ พูดถึงแล้วก็เงียบไป แต่ก็ไม่มีใครมานั่งทำกันจริงจังว่าบทบาทหน้าที่สื่อที่ดีควรทำยังไง”
เพราะเป็นเด็กจึงต้องยิ่งคุ้มครอง
“ผมไม่ค่อยซีเรียสว่าน้องจะพูดอะไรออกมา เพราะผมมองว่า คนเราทุกคนมีสิทธิที่จะกลัว แล้วเราทุกคนสามารถพูดได้ว่าเรากลัวอะไร ซึ่งต่อให้เด็กอายุ 16 ปีคนนี้ เกลียดแล้วก็ด่ากะเทยต่อหน้าสื่อแบบนั้น น้องก็ควรที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองอยู่ดี”
สำหรับประเด็นการละเมิดสิทธิเด็ก แม้จะมีคนจะบอกว่าอายุ 16 ปีก็ถือว่าโตแล้ว น่าจะคิดได้มากกว่านี้ แต่สำหรับตัวเองกอล์ฟมองว่า อายุแค่ 16 ปี ถือว่าเด็กมากในกระบวนการทางความคิดหรือตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ซึ่งต้องถูกขัดเกลาและต้องได้รับการคุ้มครองมากยิ่งขึ้น
“บางคนบอก16 โตแล้ว แต่สำหรับผม อายุ 16 ปียังไงก็เป็นเด็ก แล้วต่อให้คนที่พูดว่า “กลัวกะเทย” เป็นผู้ใหญ่ ผมก็ไม่เห็นด้วยอยู่ดีที่จะเอามาเรียกกระแส แต่พอเป็นเด็กปุ๊บ ความเปราะบางของเด็กมันจะมีมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ แต่เด็กยังไงก็ต้องได้รับการคุ้มครองมากกว่า แล้วการที่มีคนโดนวิพากษ์วิจารณ์แล้วโดนตัดสินไปตลอดชีวิต แค่ไม่กี่นาทีที่ถูกฉายออกไป มันไม่โอเคครับ
อันนี้เป็นกฎหมายนะครับ ว่าทำไมเราถึงต้องคุ้มครองเด็ก เพราะโดยปกติแล้ว เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เขายังไม่มีวิจารณญาณที่เพียงพอเท่ากับผู้ใหญ่ เราลองนึกย้อนกลับไปตอนเด็กๆ เราทำอะไรผิดพลาดไปเยอะมาก คือเราทุกคนที่เติบโตขึ้นมาได้ต้องผ่านการขัดเกลาทางสังคม ว่าสังคมมองโลกยังไง สังคมเป็นยังไง แต่การขัดเกลาแบบไหนที่มันรุนแรงกับคนคนหนึ่งมากเกินไป มันก็กลายเป็นผลกระทบ ตอนนี้สิ่งที่ผมกำลังบอกก็คือ ทุกคนไม่พอใจที่น้องกลัวกะเทย แต่ทำไมต้องเอาอารมณ์ไปลงกับเด็กคนนี้ สมมตินะครับว่าการกลัวกะเทยเป็นสิ่งไม่ดี แล้วในฐานะคนดูหรือผู้ใหญ่อย่างเรา จะทำยังไง
สิ่งที่ควรทำคือการมอบประสบการณ์ทางความคิดใหม่ๆ ให้น้องสิ ว่ากะเทยเป็นยังไง ถ้าเราบอกว่าไม่ควรกลัว ไม่ควรกลัวเพราะอะไร ไม่ใช่กลับไปด่า ยิ่งจะทำให้กลัวมากกว่าเดิมมั้ยครับ ตอนแรกอาจจะไม่กลัวเท่าไหร่ ตอนนี้เริ่มน่ากลัวจริงๆ แล้ว คราวนี้ไม่ใช่แค่กะเทย มนุษย์ข้างนอกทุกคนน่ากลัวแทน”
นักสังคมสงเคราะห์หนุ่มยังฝากประเด็นฉุกคิดถึงเรื่องการใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนยุคปัจจุบัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ต้องอะไรกับดาบ 2 คม ที่สามารถย้อนกลับมาทำลายชีวิตคนคนหนึ่งได้เช่นกัน
สาววัย 16 ปี ออกมาชี้แจง
“ผมอยากให้ทุกคนลองนึกย้อนกลับไปตอนที่เรายังเป็นเด็ก เราต่างทำผิดพลาด แล้วสักวันเราจะได้เรียนรู้จากบทเรียนตรงนั้นเอง อีกเรื่องคือ ถ้าอยากจะมอบประสบการณ์ทางความคิดใหม่ๆ หรือเราไม่พอใจกับความคิดของใคร สิ่งที่เราต้องทำไม่ใช่ไปด่าเขา แต่เราต้องเสนอทางเลือกใหม่กลับไปสิ ทำไมการสื่อสารของพวกเรามันมีแต่ทางลบ ทำไมเราไม่เลือกที่จะสื่อสารทางบวก การทำแบบนี้มันมีแต่จะยิ่งทำให้น้องเขาถอยห่าง ออกไปแล้วมีแต่ความกลัว ซึ่งมันไม่ได้อะไรกับใครเลย
เราเพลินกับการใช้โซเชียลมีเดีย จนกลายเป็นว่าไม่เคารพซึ่งกันและกัน คือมันเพลิน มันสนุก แต่เราลืมที่จะคิดกลับไปว่า เวลาเราพิมพ์ลงไปแล้ว มันจะอยู่ตรงนั้น แล้วมันสามารถกลับมากระทำซ้ำได้ทุกเมื่อ ถ้าไม่มีสติก่อนพิมพ์ อย่างกรณีของน้องที่กรีดข้อมือแล้วจะผูกคอตาย ชาวเน็ตก็เขายุให้ผูกเลยๆ พิมพ์เสร็จด่าเสร็จ ก็ไปกินข้าว กลับไปทำอะไรของตัวเอง แต่คนที่โดนด่า เขาก็จะกลับมาอ่านเรื่อยๆ ความเข้มแข็งของแต่ละคนไม่เท่ากัน กลายเป็นความเครียดอีก ดังนั้น เรื่องการควบคุมตนเองเวลาใช้สื่อออนไลน์ที่จะไม่ไปละเมิดคนอื่น และเรื่องการเคารพคนอื่นกับเรื่องการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างอันนี้สำคัญมากครับ”
หรือเพศที่ 3 ต้องสวยและเก่งถึงถูกยอมรับ?
ไม่เพียงแค่เรื่องการละเมิดสิทธิเด็กเท่านั้นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง สำหรับรายการ The Face Thailand ปีนี้ยังเปิดพื้นที่ให้แก่ผู้สมัคร ทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) เป็นปีแรก และแม้ว่าจะให้โอกาสเพศทางเลือกในสังคมไทยให้แสดงความสามารถ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมิวายมีประเด็นดรามาเกิดขึ้นมาให้สังคมได้ถกเถียงกันอีกประเด็น
“ผมมองว่า The Face Thailand ปีนี้ มันสะท้อนอะไรเยอะมากเกี่ยวกับเพศที่ 3 เพราะเป็นปีแรกที่เอาทรานเจนเดอร์มาแข่งขัน ซึ่งเขาคงพยายามจะโปรโมตเรื่องความเท่าเทียมมั้ง ว่าทรานส์เจนเดอร์และผู้หญิงที่เขาต้อนรับเหมือนกัน แต่ผมกลับมองว่าในตัวรายการเองก็กำลังละเมิดและไม่ได้สะท้อนออกมาจริงๆ ว่าคุณกำลังยอมรับเพศที่ 3 เท่ากันกับผู้หญิง
อย่างเมนเทอร์เอง พูดกับผู้สมัครที่เป็นเพศที่ 3 ว่า "มีงูมั้ย?" หรือ "เขาเป็นกะเทยเขายังสวยกว่าผู้หญิงเลย" ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าจะโปรโมตความเท่ากันระหว่างเพศ พยายามละลายเพศออก แล้วมองทุกคนที่เข้ามาแข่งขันเหมือนกัน คำพูดเหล่านั้นไม่ควรออกมาแล้ว แต่ในรายการมันยังมีอยู่ แสดงว่ายังมองคนที่เป็นทรานส์เจนเดอร์หรือเพศที่ 3 ต่างออกไปจากเพศหญิง ที่เป็นเพศหญิงโดยกำเนิด
ใน The Face Thailand มันจะมีประเด็นกะเทยอยู่รอดต้องสวยอีก คือการยอมรับเพศที่ 3 ในสังคมไทย ทุกคนอาจจะคิดว่าถูกยอมรับแล้ว แต่ในความเป็นจริง มันเป็นการยอมรับภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง คือกะเทยจะถูกยอมรับภายใต้เงื่อนไข ต้องสวย ต้องตลก หรือไม่ก็ต้องเรียนเก่ง แต่ถ้ากะเทยที่ไม่สวยล่ะ เขาจะได้รับการยอมรับมั้ย เพราะจริงๆ แล้ว ถ้าตัดคำว่าเพศออก ทุกคนคือเท่ากัน ดังนั้น ผมว่าสังคมไทยเองควรจะเรียนรู้เรื่องการยอมรับทางเพศมากขึ้นกว่าเดิมครับ”
นอกจากนี้กอล์ฟยังเปิดเผยว่า ตนเองก็เป็นแฟนคลับอย่างเหนียวแน่นคนหนึ่งของรายการนี้มาทุกซีซัน เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เมนเทอร์และรายการ ได้ทำการละเมิดสิทธิของผู้เข้าแข่งขัน หากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้ก็มีผู้เข้าแข่งขันที่มีอายุเพียง 13 ปี ถูกเรียกว่า “น้องสะดือดำ” จนทำให้ผู้เข้าแข่งขันคนนั้นถูกล้ออยู่พักใหญ่
“ทุกคนก็รู้ใช่มั้ยครับว่ามันสนุกด้วยการขายดรามา จริงๆ มันขายดรามามากกว่าขายความสามารถของผู้เข้าแข่งขันอีก แล้วตัวชูโรงอยู่ที่เมนเทอร์ด้วยซ้ำ นั่นแหละที่ทำให้ใครหลายคนติด มาดูว่าเมนเทอร์จะฟาดฟันอะไรกัน ถ้าเอาแค่ความสนุกคือมันสนุก แต่ในฐานะที่เป็นแฟนคลับ แล้วมีประเด็นพวกนี้มา มันจำเป็นต้องพูด มันเริ่มไม่สนุกตรงที่มันเอาความรู้สึกของเด็กมาเป็นกระแส ซึ่งก่อนหน้านี้มันก็มีประเด็นน้องสะดือดำ แต่สะดือดำมันเป็นการทำร้ายทางวาจาที่อาจมีผลทางจิตใจ แต่มันไม่ส่งผลกระทบต่อน้องคนนั้น เพราะมันไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่ถูกทั้งสังคมไปจิกหัวด่าแล้วรุมทึ้งทางอินเตอร์เน็ตเหมือนน้องวัย 16 ปีคนนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ มันไม่โอเคสำหรับผม ในฐานะแฟนคลับนะ ถามว่าจะดูต่อไปมั้ย ยอมรับโดยดุษฎีว่าจะดู(หัวเราะ) เพราะเราชอบ เราสนุกที่จะได้ดู แต่ในฐานะที่เรามีส่วนในการสนับสนุนในการเพิ่มเรตติ้งให้รายการนี้ เราจึงต้องออกมารับผิดชอบ ว่ารายการทำอะไรไม่ดี เพื่อที่จะสะท้อนกลับไป อย่างน้อยเราก็ส่งฟีดแบกกลับไป แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีใครได้รับรู้บ้าง
แต่ข้อดีของคลิปนี้ ผมมองว่ามันเปิดพื้นที่ให้สังคมได้ถกเถียงกันมากขึ้น เพราะถ้าไม่ออกมา มันก็จะเป็นปัญหาใต้พรมที่ไม่ได้ถูกจุดประเด็นแล้วไม่ได้ถูกพูดคุยกันมากขนาดนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเหมือนประเด็นกะเทย ประเด็นของทรานส์เจนเดอร์ที่อยู่ในรายการมันไม่เท่าไหร่ แต่ประเด็นน้องนี่สิ มันต้องแลกด้วยต้นทุนมหาศาลมาก ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันคุ้มรึเปล่ากับการที่เด็กคนหนึ่งถูกทำลาย แล้วเป็นประเด็นที่ทำให้เราได้มีโอกาสมาพูดคุยกันถึงเรื่องการเคารพสิทธิเด็ก ความเป็นกะเทย มันมีความละเอียดอ่อนมาก ที่เราต้องมาเรียนรู้ร่วมกันครับ” นักสังคมสงเคราะห์อิสระกล่าวทิ้งท้าย.
ขอบคุณภาพประกอบ : แฟนเพจ The Face Thailand และทวิตเตอร์@cy_jarinnie
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754