ใครได้ยินข่าวนี้มีเฮ เมื่อ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า ครม. เห็นชอบแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินปี 2551-2556 (ฉบับปรับปรุง) ของการไฟฟ้านครหลวง ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ วงเงินลงทุน 9,088.8 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ วงเงิน 5,400 ล้านบาท และเงินรายได้ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) วงเงิน 3,688.8 ล้านบาท
วงเงินจำนวน 9,000 ล้านบาทนี้ ใช้ดำเนินโครงการแค่ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ปทุมวัน จิตรลดา และพญาไท โดยจะมีการเปลี่ยนวิธีก่อสร้างท่อร้อยสายหลักเป็นการก่อสร้างอุโมงค์ จากเดิม 24 ท่อ เป็น 30 ท่อ ในถนนพระราม 3 ช่วงสถานีต้นทางถนนตก-สะพานพระราม 9 ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร เพื่อสำรองท่อร้อยสายรองรับความต้องการไฟฟ้าในอนาคต เนื่องจากไม่สามารถก่อสร้างท่อร้อยสายเพิ่มได้อีก และเพื่อปรับสภาพภูมิทัศน์ให้สวยงาม โดยจะใช้เวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2551-2564
แม้หลายฝ่ายจะออกมาแสดงความรู้สึกด้านลบกับงบประมาณที่สูงมาก เมื่อเทียบกับการปรับปรุงสายไฟฟ้าแค่ 3 เขต แต่ก็ไม่เท่ากับความรู้สึกของหลายคนที่เฝ้ารอว่า “เห็นชอบเสียที!”
รอมาหลายสิบปี ก็ไม่เห็นสายไฟย้ายลงดินซักที
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 คนกรุงต่างดีใจ เมื่อค.ร.ม. เห็นชอบแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ภายใต้งบประมาณ 48,000 ล้านบาท เพื่อเปลี่ยนภูมิทัศน์และปัญหาอันตรายจากสายไฟที่ห้อยระโยงระยางบนเสาไฟฟ้า โดยกำหนดให้แล้วเสร็จในอีก 10 ปีข้างหน้า หลังจากนั้นก็ได้มีการเร่งรัดโครงการจาก 10 ปี ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปีให้ได้ โดยให้มีการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ของหน่วยงานราชการ และเอกชน ซึ่งใช้เวลาร่วมปี กว่าจะลงนามกันสำเร็จ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.), สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.), สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัทเอกชนอีก 6 แห่ง ได้แก่ บริษัท แอ็ดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด, บริษัท ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์ จำกัด, บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด, บมจ.ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น และ บมจ.เอแอลที เทเลคอม
ปัจจุบันนี้ โครงการสายไฟฟ้าใต้ดินได้ดำเนินการแล้ว 6 โครงการ ได้แก่ โครงการสีลม โครงการปทุมวัน โครงการจิตรลดา โครงการพหลโยธิน โครงการพญาไท และสุขุมวิทบางส่วน และอยู่ระหว่างการดำเนินการอีก 6 โครงการ ได้แก่ โครงการสุขุมวิทเฟสต่อเนื่อง โครงการปทุมวัน โครงการจิตรลดา และโครงการพญาไทเฟสต่อเนื่อง โครงการนนทรี โครงการพระรามสาม โครงการรัชดาภิเษก-อโศก และโครงการรัชดาภิเษก-พระรามเก้า
แม้ทางกฟน. แจ้งว่า ได้ดำเนินการแล้วในบางโครงการ แต่คนกรุงก็ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์บนท้องฟ้าเท่าไหร่นัก
หลายฝ่ายลุ้น กฟน. จัดการสายระโยงระยางให้เรียบ!
ที่ผ่านมาหลายฝ่ายพยายามผลักดันให้มีการจัดการกับสายไฟที่ระโยงระยางอยู่บนเสาไฟฟ้า อ้างอิงจากคำพูดของ นายสมชาย โรจน์รุ่งวศินกุล ผู้ว่า กฟน. กล่าวว่า กฟน. ได้เริ่มโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2530 และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ศ.ดร.เอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ อุปนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนแนวติดการนำสายไฟฟ้าลงดินมานานกว่า 30 ปี แต่โครงการฯ ก็ยังดำเนินไปอย่างล่าช้า
แม้แต่เจ้าพ่อไอที บิล เกตต์ เจ้าของไมโครซอฟท์ ยังเคยโพสรูปสายไฟฟ้าอันยุ่งเหยิงของเมืองไทย บนเฟซบุ๊คตัวเองเมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมระบุข้อความว่า “เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีข้อบกพร่อง ทำให้หลายเมืองประสบปัญหาไฟดับอยู่บ่อยๆ สายไฟฟ้าและหม้อแปลงไม่มีการตอบสนองความต้องการของผู้ใช้เลย ผมมีโอกาสได้เดินทางไปเยือนในหลายๆ เมือง ที่มีสายไฟฟ้ายุ่งเหยิง และอย่างในรูปที่เห็นคือ ประเทศไทย ประชาชน มักจะลักลอบเอาอุปกรณ์บางอย่างเชื่อมกับกระแสไฟฟ้าหลัก เพื่อนำเข้าไปใช้ในบ้านของตัวเอง โดยที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยเลยสักนิด”
แต่กระนั้น ทุกวันนี้คนกรุงก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของการจัดระเบียบสายไฟเหล่านี้เสียที เรายังเห็นสายไฟม้วนไขว้กันระโยงระยาง แม้แต่หม้อแปลงไฟฟ้าที่ตั้งเอียงจะหล่นมิหล่นแหล่อยู่บนเสาไฟฟ้า การเห็นชอบของค.ร.ม.ครั้งนี้ จึงทำให้คนกรุงได้เห็นความพยายามของกฟน. บ้าง แม้บางกลุ่ม อาจยังข้อขัดแย้งว่า หากสายไฟอยู่ใต้ดินแล้วเกิดปัญหา และจะใช้เวลาในการซ่อมแซมนานแค่ไหน
ทั้งนี้หากไปดูเมืองต้นแบบอย่าง จังหวัดตรัง ที่มีการจัดการกับสายไฟเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2545 นั้น จนถึงปัจจุบันนี้ ชาวตรังได้มายืนยันผ่านเฟซบุ๊ก เน็ตชาวตรัง ว่า นอกจากเมืองตรังจะมีทิวทัศน์ที่สวยงามแล้ว ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีปัญหาเกี่ยวกับไฟฟ้าขัดข้องแต่อย่างใด
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754