เหลืออีกเพียงไม่กี่วัน ชุดประจำชาติไทย ในชื่อ “Jewel of Thailand” อันวิจิตรเรียบหรู ก็จะถูกอวดโฉมบนเวทีระดับโลก ให้ได้ชมความงามของชุดไทยไทยศิวาลัยโบราณประยุกต์กันอย่างเต็มตา โดยมี “น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2016 ผู้ถ่ายทอดความงามของชุดประจำชาติไทย ในการประกวดรอบชุดประจำชาติ บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2016 ณ มอลล์ ออฟอารีน่า กรุงมะนิลา ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
ความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชุดประจำชาติบนเวทีการประกวดสาวงามระดับโลก “มิสยูนิเวิร์ส” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศที่เข้าร่วมการประกวด ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน โดยหลายปีที่ผ่านมา “ชุดไทย” ถูกนำมาดัดแปลงใหม่ในหลากหลายรูปแบบ แต่ทำไม? เวอร์ชั่นการออกแบบชุดไทยโบราณที่ผสมผสานกับศิลปะร่วมสมัย จากดีไซน์เนอร์หนุ่มคนนี้ ถึงได้มาแรงแซงทุกโค้ง เดี๋ยวได้รู้แน่?!! เพราะวันนี้เราจะมาเจาะทุกมุมคิดแบบ 360 องศา กับ “ส้มโอ -หิรัญกฤษฏิ์ ภัทรพิบูลย์กุล” ดีไซน์เนอร์สุดติสท์ ผู้ออกแบบชุดไทยศิวาลัย Jewel of Thailand ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากแสงอันระยิบระยับของฉลองพระองค์ชุดไทย ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
**เปิดประวัติ ข้าราชการนักดีไซน์ ผู้ฉีกกฎชุดประจำชาติไทย
เกือบจะในทันทีที่เราก้าวเข้ามาถึงที่นัดหมาย ส้มโอ-หิรัญกฤษฏิ์ ดีไซน์เนอร์คนดัง ก็ฉีกยิ้มทักทายอย่างเป็นกัน เขาเริ่มต้นบอกเล่าประวัติส่วนตัวให้ฟังอย่างรวบรัด ว่า เป็นชาวบุรีรัมย์ โดยกำเนิด หลังจบมัธยมปลายที่โรงเรียนประโคนชัยพิทยาคม อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์แล้ว เขาได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนถึงปี 2541 หลังจากเรียนจบปริญญาตรี จึงเริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์ที่ร้าน Surface ก่อนออกมาเป็น Freelancee รับจ้างออกแบบ/ผลิตชุดทั่วไป
“ปี 2547 โอได้รับคัดเลือกให้รับทุนรัฐบาล (ทุน ก.พ.) ไปเรียนต่อด้านออกแบบและตัดเย็บที่เมืองมิลาน อิตาลี เรียนอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 4 ปี (รวมเรียนภาษาอิตาเลี่ยน 1 ปี) สมัยอยู่อิตาลีเคยเป็นผู้ช่วยดีไซเนอร์ให้กับแบรนด์ Rosamosario หลังจากนั้นกลับมาเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นระยะเวลา 3 ปี และมาบรรจุเป็นข้าราชการที่กระทรวงวัฒนธรรมครับ” ส้มโอ กล่าว
**จาก ‘ตุ๊กตุ๊ก’ ถึง "Jewel of Thailand" แรงบันดาลใจที่เปี่ยมล้น
สิ่งของบางอย่างที่ผู้คนมักมองข้าม ถ้าผ่านการขบคิด ผ่านฝีมือการออกแบบของหนุ่มมาดเข้มคนนี้แล้ว ของที่แสนธรรมดาสามารถกลายเป็นเสื้อผ้าสวยหรู สื่อให้รู้ที่มาที่ไปได้ทันทีเช่นกัน เฉกเช่น ชุด ตุ๊ก ตุ๊ก ไทยแลนด์ ชุดประจำชาติไทย เมื่อปี 2015 ที่เขาตั้งใจออกแบบให้ แนท-อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ ใส่ขึ้นประกวดบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2015 ก็สามารถคว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมจนได้
ส้มโอยอมรับว่า ลังเลใจอยู่พักใหญ่ว่าจะส่งผลงานอีกครั้งหรือไม่?! ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นแชมป์ทำให้เกิดความกลัว ว่าถ้าไม่ชนะ!! แล้วจะทำอย่างไร แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจส่งประกวด เพราะเห็นว่า “น้องน้ำตาล” มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2016 มีโครงหน้าและสีผิวในแบบสาวไทยแท้ ประกอบกับเคยเห็น “น้องน้ำตาล” ใส่ชุดนางรำเพื่อรำแก้บนแล้ว ก็มีความคิดว่าน้องน้ำตาลเหมาะกับการสวมใส่ชุดไทย จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้นำสิ่งที่คิดไว้ มาออกแบบจนมาเป็น “ชุดไทยศิวาลัยสีทอง”
“ส่งสเก๊ตช์เป็นชุดไทยศิวาลัยสีทองไป เพราะเป็นชุดที่อยากทำมาก อยากทำมานานแล้ว ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการที่วันหนึ่งได้มีโอกาสไปชมนิทรรศการ “งามสมบรมราชินีนาถ” ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และได้ไปยืนชมวีดิทัศน์เมื่อครั้งทรงเสด็จเยือนยุโรปและอเมริกา มีอยู่ตอนหนึ่งที่ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยและเสด็จดำเนินเคียงคู่กับในหลวง (รัชกาลที่ 9) โดยที่ฉลองพระองค์ชุดไทยนี้เปล่งประกายวาววับจับตามาก เพราะปักประดับด้วยคริสตัลเม็ดใหญ่ๆทั้งชุด ทำให้เราเกิดความปลาบปลื้มปิติในความงดงามของภาพที่เห็น ที่ประกอบไปด้วยพระสิริโฉมและแสงระยิบระยับที่สะท้อนออกมาจนเราหยุดมองดูไม่ได้ ตั้งแต่วันนั้นก็คิดมาตลอดจนถึงวันนี้ ก็คิดว่านี่ล่ะเป็นโอกาสสำคัญ”
**กว่าจะเป็น “Jewel of Thailand” 46 วัน รวมกำลังทำเพื่อชาติ
ทันทีที่กองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2016 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ชุดไทยศิวาลัย “Jewel of Thailand” ของส้มโอ- หิรัญกฤษฏิ์ เป็นชุดประจำชาติไทยในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2016 เขาจึงมีเวลาเพียง 46 วันเท่านั้น ในการตัดเย็บชุดนี้ให้ออกมาสวยงามและสมบูรณ์แบบมากที่สุด
“ต้องทำงานหลายส่วนพร้อมๆกัน ตั้งแต่วันแรกหลังจากวันประกาศผลการประกวดฯจนถึงวันแถลงข่าวเปิดตัวชุดประจำชาติ ทำทุกวันตั้งแต่เช้าจนมืดค่ำ แม้กระทั่งปีใหม่ก็ไม่ได้หยุด เป็นการทำงานที่เหนื่อยมาก (ลากเสียง) และมีความเครียดพอสมควรกับเรื่องของเวลา ความยากของการทำชุดนี้ จึงเป็นการบริหารจัดการงานแต่ละส่วนอย่างไร ให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด ซึ่งก็ผ่านมาได้แบบหวุดหวิด ฉิวเฉียดมากๆ”
ส้มโอ ยอมรับว่า การออกแบบชุดประจำชาติ “Jewel of Thailand” มีความยากในทุกขั้นตอน เนื่องจากเป็นการออกแบบใหม่ทั้งหมด วัสดุต่างๆต้องทำขึ้นมาเอง เริ่มตั้งแต่การเลือกเนื้อผ้า การย้อมผ้าตาข่าย การออกแบบลายผ้าและอื่นๆ
“ถ้าจะถามว่าส่วนไหนยากบ้าง มันยากทุกส่วน เพราะเป็นงานที่เราออกแบบและทำขึ้นใหม่ทั้งหมด ไม่ได้ใช้วัสดุที่ทำมาสำเร็จรูปเลย เริ่มตั้งแต่การเลือกผ้ามาใช้ เราต้องย้อมผ้าตาข่ายเองให้ได้สีทองที่ถูกใจ จากนั้นก็เริ่มออกแบบลายผ้าก่อนจะนำไปผ่านกระบวนการปักจักรระบบคอมพิวเตอร์เป็นลำดับต่อไป”
ส้มโอ ยังเล่าต่อไปว่า ระหว่างปักจักรคอมพิวเตอร์ อีกฝ่ายก็จะออกแบบลายเพชรรีด ซึ่งต้องสอดคล้องกับลายปักจักร ในส่วนนี้เขาต้องแก้ไขลายเพชรรีดเป็นสิบรอบ โดยใช้นักออกแบบลายกราฟิกถึง 3 คน หนึ่งในนั้นคือพี่เก่ง (หรือเจ๊เก่ง) ผู้ชนะเลิศการประกวดออกแบบชุดประจำชาติ ชุด “Shadow of Siam” ในปี 2014 เหตุที่ต้องแก้ไขหลายครั้ง เพราะลายที่ออกแบบมีความหนาแน่นของเพชรมากเกินไป บางครั้งเมื่อนำไปทดลองรีดรวมกับลายผ้าทำให้ออกมาไม่สวยงามตามที่ต้องการ ประกอบกับสีสันของเพชรรีดด้วยเช่นกัน
”ตอนแรกตั้งใจจะใช้สีคริสตัลทั้งชุด แต่กลัวว่าถ่ายรูปออกมาชุดจะกลายเป็นสีขาว เลยเปลี่ยนมาใช้เป็นสีเหลือบรุ้งเพื่อให้เกิดแสงที่มลังเมลือง เนื่องจากเพชรแบบนี้เมื่อสะท้อนแสงในมุมที่ต่างกันก็จะให้แสงที่ต่างกัน โดยหากมองในมุมตั้งฉากกับชุด เราจะเห็นเป็นสีเหลืองทองอมเขียว ซึ่งช่วยให้สีของชุดดูเป็นสีเหลืองทองมากขึ้น”
เมื่อทั้ง 2 ส่วนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นำผ้ามาปักประดับด้วยวัสดุตกแต่งอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเพชร/คริสตัลรูปแบบต่างๆที่หาซื้อได้จากตลาดสำเพ็ง/พาหุรัด เช่น คริสตัลที่มีตัวเรือน (หนามเตย) คริสตัลสำหรับปักประดับ เลื่อมแบบต่างๆ เลื่อมจาน เลื่อมปล้องอ้อย และลูกปัด โดยคุมสีให้อยู่ในโทนสีทองและสีเพชร
“ช่างปักกว่า 30 คนที่อาสามาช่วยกันปักชุดนี้ เพราะเราประเมินแล้วว่า หากไม่วางแผนกระจายงานไปปักหลายๆที่ก็คงจะเสร็จไม่ทันเวลาแน่นอน เพราะชุดนี้ใช้คริสตัลประดับ (ตั้งแต่ไซส์เล็กที่สุด 2 มิลลิเมตร ไปจนถึงใซส์ใหญ่ที่สุด) รวมจำนวนกว่า 300,000 เม็ดคนที่มาช่วยปักก็เป็นเพื่อนๆพี่ๆน้องๆที่เรารู้จัก บางคนเป็นเพื่อนของเพื่อนที่มาด้วยใจ และอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุดประจำชาติในครั้งนี้ บางชิ้นเราส่งทางรถทัวร์ไปปักที่ร้าน Tik Couture ที่บุรีรัมย์ พอปักเสร็จก็นำชิ้นส่วนต่างๆมาตัดเย็บที่ร้าน Emotions Atelier ของพี่เกียรติ เร่งประกอบชุดเสร็จในวันที่ 30 และนัดให้น้องน้ำตาลมาลองชุดในวันที่ 31 และจากนั้นก็นำไปปักเก็บรายละเอียดต่อในคืนวันนั้นเลย ปักไปด้วย เค้าท์ดาวน์กันไปด้วย เค้าท์ดาวน์เสร็จก็ปักต่อไปจนถึงตีสามตีสี่ เป็นอย่างนี้ทุกวันจนถึงวันที่ 4 ม.ค. 2560”
**เครื่องประดับ ปรับเก่า-เล่าใหม่!! สุดอลัง!!
สำหรับ “เครื่องประดับ” ประกอบด้วย รัดเกล้ายอด, ต่างหู, สร้อยคอ (ดัดแปลงจากทับทรวง), พาหุรัด (เครื่องประดับต้นแขน), ปั้นเหน่ง (หัวเข็มขัด), สายเข็มขัด และแหวนอีกสองวง ซึ่งเป็นงานที่ยากพอสมควร เพราะต้องมีความละเอียดพิถีพิถัน เพื่อให้งานออกมาสวยงามเข้ากับชุดไทยโบราณแต่ขณะเดียวกันก็ต้องประยุกต์ศิลปะร่วมสมัยเข้าไปด้วย เพื่อให้ลงตัวมากที่สุด
ดีไซน์เนอร์หนุ่มหยุดดื่มน้ำตรงหน้าก่อนจะยิ้มสดใสแล้วเล่าถึงกระบวนการและขั้นตอนการออกแบบจัดทำเครื่องประดับ ว่า ในส่วนนี้ได้มอบให้ “น้องทศ-พลัฏฐ์ จิรพุฒินันท์” ซึ่งเป็น Co-producer ดูแลเกือบทั้งหมด เพราะเขาต้องดูงานในส่วนของชุดและรองเท้า โดยให้ไอเดียว่าอยากได้งานเครื่องประดับที่มีความผสมผสานระหว่างงานแบบไทยแท้กับเส้นสายที่ดูสมัยใหม่ มีกลิ่นอายของ Art Deco พร้อมกับเอาภาพ reference ที่ชอบจากในอดีตและภาพเครื่องประดับในปัจจุบันให้ดู จากนั้น “ทศ” ก็เริ่มสเก๊ตช์แบบชิ้นส่วนต่างๆ หลายขนาดและหลายรูปทรง เพื่อจะนำมาใช้กับเครื่องประดับทุกชิ้น ยกเว้น “รัดเกล้ายอด” ที่ยังไม่ได้สเก๊ตช์ เพราะยังคิดไม่ออกเหมือนกัน
“จะว่าแปลกก็ใช่นะครับ เพราะระหว่างที่คิดไม่ออก จู่ๆก็ได้รับข้อความจาก ครูบิ๊ก-พีรมณฑ์ ชมธวัช ว่าเขามีรัดเกล้ายอดโบราณ ถ้าคิดว่าเป็นประโยชน์ก็ให้เข้าไปศึกษาที่อาภรณ์งามสตูดิโอได้ ในวันนั้นดีใจมาก รีบาไปหาครูบิ๊ก ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิราภรณ์-เครื่องประดับไทยได้ศึกษารัดเกล้ายอดโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนปลาย อายุกว่า 120 ปี ของคณะละคร Prince Theartre ก่อตั้งโดยพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ซึ่งเป็นยุคที่ศิลปะไทยรับอิทธิพลจากศิลปะ Art Deco จากยุโรปเข้ามา งานเครื่องประดับไทยจะมีความตัดทอนและโชว์โครงสร้างเป็นหลัก”
นอกจากนั้น “ส้มโอ” ยังศึกษาวิธีการสวมใส่เพื่อหาข้อจำกัดในเรื่องน้ำหนักและตำแหน่ง รวมทั้งออกแบบรัดเกล้ายอดให้ร่วมสมัย โดยใช้งานสลักดุนโบราณแบบช่างสิบหมู่ มีอาจารย์ชาติชาย คันธิก อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบเครื่องประดับ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ทั้งหมด ผสมผสานกับงานออกแบบเครื่องประดับด้วยเทคโนโลยีสามมิติ (3D CAD) ใช้การประกอบตัวเรือนด้วยช่างฝีมือที่ทำงานเครื่องประดับเพชรแท้ (fine jewelry) และได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์ Diamante โดยคุณกัญจน์ ตันสุหัช ในการทำรัดเกล้ายอด
“รัดเกล้ายอดชิ้นนี้เราได้ออกแบบให้มีขนาดที่ใหญ่กว่าปกติโดยคำนึงถึงการใช้งาน/การนำเสนอในลักษณะ stage costume คือ เพื่อให้สามารถมองเห็นแต่ไกล และสร้างอารมณ์ให้กับผู้ชมให้รู้สึกถึงความสง่างามและยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีความ dramatic โดยมีพี่เฟียต ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการทำเครื่องประดับศีรษะมาดูแลด้านการออกแบบ ปรับแก้แบบ และร่วมผลิต และได้นำเทคนิคงาน Stage Adornment มาประยุกต์ใช้กับเครื่องประดับลักษณะไทย เพื่อความเหมาะสมในการสวมใส่ ซึ่งรัดเกล้ายอดที่ออกแบบมาใหม่ชิ้นนี้ถือเป็น Masterpiece ของชุดนี้”
ชิ้นที่สองคือ ช้องผมและปิ่นดอกไม้ไหว คือเครื่องประดับที่ใช้ประกอบกับการรวบผมเป็นหางม้าที่บริเวณท้ายทอยประดับให้สวยงาม จึงออกแบบให้สอดคล้องกับรัดเกล้ายอดซึ่งใช้ประดับศีรษะคู่กัน โดยออกแบบใหม่ให้มีความตัดทอนและอิงศิลปะ Art Deco เช่นเดียวกัน ต่างหูออกแบบโดยใช้โครงสร้างของต่างหูแบบไทย แต่นำชิ้นส่วนต่างๆที่ได้ออกแบบไว้สำหรับเครื่องประดับทั้งหมด มาจัดเรียงประกอบเข้ากันใหม่ให้มีความยาวพิเศษคล้ายกับต่างหูของชุดราตรี เพื่อส่งเสริมให้คอของน้องน้ำตาลดูระหงขึ้น
“สร้อยคอ เราออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากกรองพระสอของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งออกแบบโดย Van Cleef & Arpels นำโครงสร้างของลายกรวยเชิงของวัดใหญ่สุวรรณาราม มาใช้เป็นไอเดียในการออกแบบใหม่ และออกแบบให้มีขนาดใหญ่กว่าปกติเช่นเดียวกัน เพื่อการใช้งานในลักษณะ stage costume ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว พาหุรัดหรือเครื่องประดับต้นแขน ได้แรงบันดาลใจจากความงดงามของสุพรรณหงส์ ประกอบเข้ากับปีก และชิ้นส่วนเครื่องประดับไทยประยุกต์ มีความพิเศษคือ ชิ้นศีรษะและปีกหงส์ใช้เทคนิคการสลักดุนลายแบบโบราณ และมีลูกเล่นที่ปีกหงส์สามารถขยับสั่นไหวได้ ปั้นเหน่ง (หัวเข็มขัด) นำชิ้นส่วนเครื่องประดับที่ออกแบบไว้มาประกอบรวมกันให้มีความงดงามในโครงสร้างของลายประจำยาม และทำให้มีขนาดใหญ่พิเศษเช่นกัน” ดีไซน์เนอร์หนุ่มบอกเล่าพร้อมรอยยิ่้มสดใส
เพชรที่ใช้ทำเครื่องประดับทั้งหมด ได้รับการสนับสนุนจาก Swarovski Gemstones โดยบริษัท Signity Thailand ซึ่งพี่ฉอม-นิภาพร ประกอบ และคุณฝ้าย-ปรมา จีรดิษฐ์ ให้ความอนุเคราะห์ จึงได้เพชร CZ (Cubic Zirconia) คุณภาพอันดับหนึ่งมีประกายเทียบเท่าเพชรแท้ จำนวนกว่า 5,000 เม็ดในการทำเครื่องประดับทั้งหมด
“ในส่วนของรองเท้า ได้รับการสนับสนุนจากพี่โม Maneesilp Handmade ซึ่งเราได้ตัดรองเท้าทั้งหมด 2 คู่ คือ คู่แรกเป็นรองเท้าต้นแบบ (prototype) สำหรับใช้ฟิตติ้ง และคู่ที่สองซึ่งเป็นคู่จริงที่มีการปักประดับด้วยดิ้นทองและเพชร/คริสตัลแบบต่างๆให้สอดรับกับตัวชุด โดยเฉพาะบริเวณส้นรองเท้า เนื่องจากผ้าถุงมีลักษณะเป็นกระโรงสอบ และเราไม่ต้องการผ่าบริเวณหน้านางด้านหน้า จึงตัดสินใจผ่ากลางหลังสูง เพื่อให้บริเวณหน้านางคงรูปดูสวยเสมอขณะก้าวเดิน และเพื่อความสะดวกในการเดินอีกด้วย จึงทำให้เห็นส้นของรองเท้าในขณะเดิน ซึ่งเราสามารถโชว์รายละเอียดบริเวณนั้นได้อีก โดยประยุกต์ลายกรวยเชิงมาใช้ในการประดับรองเท้า”
กว่าจะได้เป็น “Jewel of Thailand” ชุดประจำชาติไทยที่สวยสง่า ต้องละเอียดพิถีพิถันในทุกขั้นตอน และทุกส่วนของชุด ตั้งแต่การออกแบบ การประดับตกแต่ง ตลอดจนการทดลองสวมใส่เมื่อพบปัญหาหรือจุดบกพร่องที่ทำให้ชุดไม่มีความสมบูรณ์ ก็ต้องเร่งรีบในการแก้ไขให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะการสวมใส่รัดเกล้ายอดซึ่งมีน้ำหนักราว 1 กิโลกรัม
หนุ่มส้มโอยังเล่าอีกว่า ได้ทดลองสวมใส่ชุดครั้งสุดท้ายในวันที่ 4 ม.ค. 2560 ซึ่งพบปัญหาบางจุดและเราก็แก้ไขทันทีหลังจากนั้น ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดที่เราต้องทดลองและวางแผนให้รอบคอบคือการสวมใส่รัดเกล้ายอดซึ่งมีน้ำหนักเกือบ 1 กิโลกรัม และมีมูลค่าสูงมาก ซึ่งในวันฟิตติ้งก็ได้ครูบิ๊กมาช่วยสอนและแนะนำการใส่ที่ถูกวิธี อีกทั้งยังนำช้องผม (วิกผม) ที่เป็นชิ้นเดียวกันกับของคุณอุบล ในละครเรื่องพิศวาส มาให้ยืมใช้อีกด้วย
“ชุดนี้ ไม่อาจประเมินค่าได้ หากนำเงินล้านมาแลกก็คงไม่ได้ เพราะนอกจากคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมไทยแล้ว สิ่งที่มีค่ามากที่สุด คือ การร่วมใจของทีมงานกว่า 100 ชีวิตที่มาช่วยกันทำ ไม่ว่าจะชนะหรือไม่ก็ตาม แต่ได้พิสูจน์น้ำใจคนไทยแล้ว หายเหนื่อย” ดีไซน์เนอร์หนุ่มคนเดิมกล่าว
**แรงบันดาลใจที่รายทาง
ถึงวันนี้เรียกได้ว่า “ส้มโอ-หิรัญกฤษฎิ์” มีเลือดศิลปินอยู่เต็มเปี่ยม เพราะแรงบันดาลใจและไอเดียเด็ดๆ ของเขามักจะเกิดขึ้นแบบฉับพลัน กับสิ่งต่างๆรอบตัว โดยเฉพาะงานศิลปะทั้งยุคเก่าและยุคใหม่ ของนักออกแบบและศิลปินท่านอื่นๆ สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือ การท่องเที่ยวไปยังสถานต่างๆ ประเทศใหม่ๆ ทำให้ได้สัมผัสและเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนธรรมชาติ ซึ่งเขาบอกว่า มันเป็นแรงบันดาลใจที่ดีมาก
การนำเสนอไอเดียความเป็นไทยไปในระดับอินเตอร์นั้น ส้มโอบอกว่า สามารถ นำเสนอได้หลายรูปแบบ แต่ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส จะเน้นเอกลักษณ์ไทยที่ต่างชาติรู้จักเป็นอย่างดีมาใช้ เพราะหากเราดึงเอกลักษณ์หรือลักษณะไทยที่มีความเฉพาะตัวหรือรู้จักกันเฉพาะแต่คนไทยเท่านั้นมาใช้ อาจจะไม่สามารถ get attention ของสื่อต่างประเทศหรือจากคณะกรรมการในการประกวดได้ดีนัก
การค้นพบในสิ่งที่ชอบ ทั้งยังหมั่นฝึกฝนด้วยพรแสวงรวมกับพรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวตน จนกลายเป็นอาชีพที่รัก หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของความเป็นศิลปินยุคใหม่ที่ฝังลึกด้วยรากเหง้าของความเป็นไทยแท้ ทำให้ “ส้มโอ-หิรัญกฤกษณ์” รังสรรค์งานออกแบบผืนผ้าธรรมดาให้เป็นชุดประจำชาติไทยที่มีความวิจิตร หรูหรา เป็นเอกลักษณ์ อวดสู่สายตาชาวโลกด้วยความภาคภูมิใจนั่นเอง
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: วรกัญญา สมพลวัฒนา
ภาพ: ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพบางส่วน: ส้มโอ และภาพจากเฟสบุ๊ค Miss Universe Thailand
ขอบคุณสถานที่ ร้านกับข้าวกับปลา
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754