xs
xsm
sm
md
lg

ปังปะหล่ะ? หนุ่มไฟแรงลาออกจากงาน ทำเสื้อยืดขาย สร้างรายได้วันละครึ่งแสน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดล,แชมป์
“ผมเป็นคนหนึ่งที่มีความใฝ่ฝันที่อยากจะมีร้านเล็กๆ เป็นของตัวเอง มีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง ผมพยายามจะเปิดร้านเล็กๆ หลายครั้งกับเพื่อน แต่ล้มเหลวทุกที จนเรียนจบและทำงานมาได้ปีกว่าๆ ผมตัดสินใจ “ลาออก” จากงานประจำด้วยเหตุผลที่ผมคิดว่า “งานที่ทำอยู่นั้นไม่เหมาะกับผมเลย” คงถึงเวลาแล้วที่ผมจะต้องเดินตามฝัน ด้วยการเปิดร้านขายเสื้อผ้าและมีแบรนด์เป็นของตัวเอง”

ดล-นพดล คล้ายแก้ว อายุ 27 ปี ชายหนุ่มที่หลงรักในการแต่งตัว แม้เขาจะบอกว่าชอบแต่งตัวในระดับหนึ่ง ถึงจะไม่จัดจ้านอะไรนัก แต่ก็ถือว่าชื่นชอบ เคยวาดฝันอนาคตของตัวเองไว้ตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัยว่าอยากจะมีร้านเล็กๆ เป็นของตัวเอง มีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง และพยายามที่จะเปิดร้านเล็กๆ อยู่หลายครั้งกับเพื่อน ทว่าก็ล้มเหลวทุกที ด้วยเหตุผลล้านแปดข้ออ้าง ไม่มีเวลาว่างบ้าง เพื่อนไม่ว่างบ้าง เนื่องจากต่างคนต่างมีงานประจำเป็นของตัวเอง และปัญหาใหญ่สุดคือ ไม่มีเงินลงทุน แต่แล้วก็มีเหตุการณ์ให้ดลต้องกลับมาคิดเรื่องการมีธุรกิจของตัวเองอย่างจริงจัง

“ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว ผมเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผมจบมายังไม่ทันได้ทำเรื่องจบการศึกษา ก็ได้งานทำทันที เป็นงานด้านเขียนโปรแกรม ซึ่งเป็นงานที่ตรงสายกับที่ผมเรียนมาทางด้านนี้โดยตรง โดยเงินเดือนได้ประมาณ 18,000 บาท ผมทำงานมาเกือบ 1 ปี เงินเดือนขึ้นมาเป็น 21,000 บาท ถือว่าเงินเดือนขึ้นไว แต่ตลอดเวลาที่ผมทำงานอยู่นั้น ผมก็รับสอนพิเศษวันเสาร์-อาทิตย์ควบคู่ไปด้วย ซึ่งงานสอนพิเศษผมรับสอนมาตั้งแต่สมัยยังเรียนไม่จบ แต่ด้วยงานประจำที่ทำนั้น ไม่สามารถควบคุมเวลาในการทำงานได้เลย เพราะงานประจำที่ผมทำไม่ได้เป็นการทำงาน8 โมงเช้า เลิก 6 โมงเย็น บางทีก็เลิก 1-2 ทุ่ม บางทีงานกว่าจะเสร็จก็ล่วงเลยไปเช้าอีกวันก็มี หรือบางทีงานมาวันศุกร์ลูกค้าจะเอางานวันจันทร์ ผมก็ต้องมานั่งปั่นงานในวันเสาร์-อาทิตย์”

จากการทำงานที่ไม่เป็นเวลาของดล เขาไม่สามารถล็อกเวลาได้ ทำให้ต้องลาออกจากงานสอนพิเศษ ประกอบกับช่วงนั้นคุณพ่อไม่สบาย และตัวเขาเริ่มเห็นถึงปัญหาว่าเขาไม่มีเวลาให้ครอบครัวเลย เมื่อทำงานได้ 1 ปี เขาจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาทำอะไรของตัวเองดูดีกว่า ประกอบกับช่วงนั้น “เศรษฐกิจดี” เขามองดูแล้วว่า “การทำธุรกิจของตัวเอง” เห็นเงินมากกว่า “การทำงานประจำ” จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาสร้างธุรกิจของตัวเองดีกว่า

“ก่อนที่จะตัดสินใจเขียนใบลาออกจากงานประจำ ผมก็ดูว่าสายงานที่เราทำอยู่นั้นจะสามารถโตได้ถึงไหน หากสมมุติว่าเรายังเป็นลูกจ้างเขาอยู่ตอนนี้ จริงๆ ตอนที่ลาออกจากงานมา กะว่าจะแค่ลองเปิดร้านเสื้อผ้าดูก่อนว่าจะไปรอดมั้ย รวมถึงแค่ต้องการจะทำฆ่าเวลาเฉยๆ เผื่อหางานอื่นที่เราสามารถล็อคเวลาที่ชัดเจนได้ ก็จะกลับไปทำงานประจำดังเดิม แต่เมื่อมาทำธุรกิจของตัวเองแล้วกลับกลายเป็น “ขายดี” ผมเลยตัดสินใจในตอนนั้นว่าขอลุยทำธุรกิจอย่างเดียวเลยดีกว่า”

ดล เล่าต่ออีกว่า ช่วงที่ลาออกจากงานมาใหม่ๆ โดนเพื่อนและคนรอบข้างต่อว่ามากมาย ทุกคนล้วนถามเหมือนๆ กัน คำถามเดิมๆ ว่า ทำงานประจำก็ดีอยู่แล้วจะลาออกมาทำไม? เขาไม่เข้าใจว่าทำไมถึงตัดสินใจเช่นนี้

“ระหว่างรอเวลาถึงสิ้นเดือนที่เราจะต้องออกจากบริษัท ผมก็หาร้าน ทำเล ที่คิดว่า มันโอเคกับผม คือ ไม่ต้องเก็บร้านเยอะ ใกล้บ้าน ผมเลยได้มาเปิดที่เอเชียทีค เพราะใกล้กับบ้าน เนื่องจากบ้านผมอยู่ฝั่งธนฯ ตอนนั้นผมมีเงินก้อนสุดท้ายคือเงินเดือน 21,000 บาท ตอนนั้นเครียดมาก จะเอาเงินจากไหนมาเปิดร้าน ไม่บ้านี่ทำไม่ได้จริง ๆ นะ ลาออกมาลอยคอตัวเอง แต่ให้ผมกลับไปทำงานก็ไม่เอาแล้ว จึงเริ่มหยิบยืมเงินจากคนที่รู้จักที่จะพอช่วยเราได้ รวมๆ แล้วประมาณ 5 หมื่นบาท และได้ชวนเพื่อนมาร่วมหุ้นด้วยคือ แชมป์-รตฤน ศรีวัฒนาปิติกุล อายุ 27 ปีเท่ากัน ด้วยเงินลงทุน 2 หมื่นบาท รวมเป็น 7 หมื่นบาท ถือเป็นทุนในการเปิดร้านที่น้อยมาก”

ด้วยความที่เงินลงทุนน้อย ดังนั้น ทุกอย่างที่สามารถประหยัดได้ ดล และ แชมป์ จึงรอบคอบกับการใช้จ่ายเป็นอย่างมาก เนื่องจากครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนหมดไปกับค่าเช่าพื้นที่ ดังนั้น เงินส่วนที่เหลือจึงนำไปเลือกเสื้อผ้าในสไตล์ที่เขานั้นชื่นชอบมาขายในร้านก่อน เพราะตอนนั้นยังไม่สามารถทำแบรนด์ของตัวเองได้ จึงเริ่มต้นด้วยการไปรับเสื้อผ้ามาแล้วขายไปก่อนโดยไปซื้อจาก สวนจตุจักร ประตูน้ำ ทั้ง เสื้อยืด เสื้อโปโล เสื้อเชิ้ต กางเกงขาสั้น กางเกงขายาว โดยเน้นขายผู้ชาย หรือถ้าเป็นเสื้อผ้ามือสอง เช่น แจ๊กเกตยีนส์ จะไปเลือกซื้อเองที่ โรงเกลือ จ.สระแก้ว เพื่อให้หลากหลาย แต่ตอนหลังๆ มาก็ทำเสื้อผ้าให้ออกมาเป็นแบบที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถใส่ได้ทั้งคู่

เมื่อเส้นทางในการทำธุรกิจกำลังไปได้สวย เงินที่เขาหยิบยืมคนอื่นมาเขาทยอยใช้หนี้จนหมดในเวลาไม่กี่เดือน จากนั้นไม่นานเขาตั้งชื่อแบรนด์ของตัวเองได้สำเร็จในชื่อ Jack A Dandy และออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยตัวเอง เพื่อเน้นขายชาวต่างชาติที่มาเลือกซื้อที่เอเชียทีค กับออกงานตามอีเว้นต์ต่างๆ รวมถึงขายผ่านโซเชียลมีเดียทั้งใน เฟสบุ๊ก IG และตามร้านขายออนไลน์ที่หักเปอร์เซ็นต์เราไป โดยหันมาเน้นกลุ่มวัยรุ่น นักศึกษา และวัยทำงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้เสื้อผ้าแบรนด์ Jack A Dandy เป็นที่รู้จักถึงขนาดที่ ดลนั้นไม่สามารถที่จะตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อขายได้ทัน ต้องไปจ้างร้านให้ช่วยเย็บ แต่เขาก็ยังคงเป็นคนออกแบบและตัดผ้าอยู่ เพียงแต่แค่จ้างร้านให้ช่วยเย็บให้เท่านั้น โดยทุกวันนี้ธุรกิจขายเสื้อผ้าของเขาสร้างเม็ดเงินให้เขาอยู่พอสมควร ยิ่งช่วงที่ไปออกอีเว้นต์ขายเสื้อผ้าได้มากสุดไม่ต่ำกว่า 5-6 หมื่นบาทต่อวัน ทว่าช่วงเศรษฐกิจไม่ดีก็ขายได้ไม่ถึงเป้าที่วางไว้ 

“ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่มีวันไหนเลยที่ผมจะรู้สึกเบื่อ แต่กลับสนุกกับการทำธุรกิจที่ร้านมากกว่า คือผมจะบอกว่า ผมไม่ได้สนับสนุนให้ทุกคนลาออกมาเปิดร้านของตัวเอง เพราะมันเหนื่อยมาก และการเป็นเจ้านายตัวเองมันไม่ได้ง่ายเลย แต่ผมก็อยากที่จะทำงานเป็นเจ้านายตัวเองแบบจริงจังดู และผมก็คิดว่าผมคิดและตัดสินใจถูกแล้วที่เลือกแบบนี้ เพราะกว่าจะมาถึงวันนี้ได้นั้นผมต้องใช้ทั้งพรสวรรค์ พรแสวง แล้วก็โอกาส โดยเฉพาะ คำว่า “โอกาส” นี่สำคัญมาก ผมว่าถ้ามันมาเมื่อไหร่ อยากให้คุณรีบคว้าเอาไว้เลย ตอนนี้ผมก็ถือว่าผมยังไม่ประสบความสำเร็จนะ แต่ผมทำได้เท่านี้ก็ภูมิใจแล้ว”

ดล ยังฝากถึงใครที่กำลังลังเลว่าจะทำธุรกิจของตัวเองดี? หรือว่าควรที่จะทำงานประจำดี? ขอเพียงมีความมั่นใจในตัวเอง หากเราคิดว่าเราทำได้ เราก็ต้องลองลงมือทำดู สำหรับตัวเขาเองนั้นด้วยวัยเพียง 27 ปี เขายังคงมีโปรเจกต์ที่อยากทำต่ออีกหลายอย่าง ทั้ง เสื้อผ้าผู้หญิง หากแต่ยังไม่มีประสบการณ์ในด้านนี้ จึงขอศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอีกหน่อย รวมถึงเสื้อผ้าเด็ก ก็เป็นอีกโปรเจกต์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้





มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น