คุณค่า และศักดิ์ศรี คงจะถามหาไม่ได้จากกลุ่มคนที่ใช้เงินซื้อได้แม้กระทั่ง "ใบปริญญา" โดยเฉพาะดีกรีการศึกษาสูงสุดอย่าง "ปริญญาเอก" ที่ค่อยๆ เสื่อมค่าลงจนกลายเป็นความฉาวโฉ่ และถูกตั้งคำถามจากสังคมพร้อมๆ กับถูกหยามเหยียดถึงคุณภาพและระดับความรู้ในหัวสมอง
ล่าสุด วงการด็อกเตอร์ไทยต้องเหม็นเน่าอีกครั้ง เมื่ออาจารย์รายหนึ่งถูกแฉว่าซื้อวุฒิปริญญาเอกปลอมจากเว็บไซต์มาสมัครงานตำแหน่งอาจารย์ และผู้ทรงคุณวุฒิในรั้วมหาวิทยาลัยดัง แถมยังมีข้อมูลพบ "ด็อกเตอร์เก๊" เกลื่อนเมือง แม้หลายคนชิงลาออก โดนไล่ออก แต่บางคนถูกจับได้ ไล่ทัน มีการเปลี่ยนชื่อเยอะแยะเต็มไปหมด...แล้วแบบนี้อนาคตการศึกษาไทยจะเป็นอย่างไร นับเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย
แฉด็อกเตอร์ (เก๊) รายล่าสุด
"...ตอนนี้บรรดาคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เริ่มทยอยส่งข้อมูลมาหลังไมค์อย่างมากครับว่ามีกรณีศึกษาแบบนี้ในหน่วยงานตนเอง แต่ชิงลาออก โดนไล่ออก และจับได้ ไล่ทัน เปลี่ยนชื่อ เยอะแยะไปหมด แล้วอุดมศึกษาไทยจะไปอย่างไร เมื่อครูใช้วุฒิปลอมมาสมัครงานทำหน้าที่สอน สอนสิ่งปลอมๆ ให้นิสิต-นักศึกษา แต่นิสิตจบจริงไปกับอาจารย์วุฒิปลอม สังคมจะมีคำตอบอย่างไร..."
เป็นปฏิกิริยาตอบกลับหลังจากที่ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ได้โพสต์แฉเรื่องปริญญาเอกปลอมผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังได้รับแจ้งทางแหล่งข่าวทางภาคเหนือว่ามีผู้ใช้วุฒิปลอมโดยอ้างชื่อมหาวิทยาลัยดังจากประเทศอังกฤษ มาสมัครงานที่มหาวิทยาลัยดังทางภาคเหนือ พร้อมกับส่งเอกสารวุฒิบัตรดังกล่าวมาให้ดู
เมื่อตรวจสอบไปที่เว็บไซต์ขายปริญญาปลอม ซึ่งเคยมีการโฆษณาว่า หากจ่ายเงินประมาณ 225,000 บาท เรียน 6 เดือน จะได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชื่อดังต่าง ๆ ในต่างประเทศ (เจ้าของเว็บไซต์ถูกจับไปแล้ว) พบว่า มีชื่ออาจารย์รายนั้นปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ด้วย จึงตรวจสอบไปยังประเทศอังกฤษ และได้รับคำตอบว่า มหาวิทยาลัยในอังกฤษแห่งนั้นไม่ทราบว่ามีนักเรียนไทยชื่อนี้เรียนอยู่จริง กระทั่งได้ตรวจสอบวิทยานิพนธ์ก็ไม่พบชื่อในสารบบ แต่อาจารย์รายนี้กลับมีชื่อเป็นอาจารย์บัณฑิตศึกษาเรียบร้อยในวุฒิปริญญาเอกปลอมฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ
นอกจากนั้น ยังอ้างอิงถึงอีเมลจากสำนักกฎหมาย ซึ่งเป็นบางส่วนในหลักฐานที่ระบุว่าอาจารย์บางท่านที่มาสมัครงานในมหาวิทยาลัยยักษ์ใหญ่ใช้วุฒิปริญญาเอกปลอมมาสมัครงาน และที่น่าตกใจคือ สอนมาเป็นปีแล้วด้วย
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ข้อมูลเพิ่มเติมที่ส่งเข้ามาหลังไมค์ รศ.ดร.วีรชัย โพสต์ระบุด้วยว่า มี 1 รายต้องการข่มขู่ให้หยุดการสืบค้นประวัติของอาจารย์ และอดีตอาจารย์ที่ใช้ปริญญาปลอมรายหนึ่งด้วย แต่ด้วยความเป็นห่วงอนาคตคุณภาพการศึกษาไทย และอนาคตของชาติ ล่าสุดได้เตรียมยื่นหนังสือที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ 16 ม.ค. นี้ โดยเบื้องต้นตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าของเว็บไซต์ขายปริญญาปลอมอาจมีความเกี่ยวข้องเป็นเครือข่ายเดียวกับมหาวิทยาลัยสันติภาพโลกที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี
สำหรับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ทางดีเอสไอเป็นหน่วยงานที่เข้ามาคลายปมนี้ให้กระจ่าง โดยรับเป็นคดีพิเศษ และมีการสืบสวนกันอย่างเข้มข้นจนพบเข้ากับความจริงที่ว่า ไม่ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และได้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด
ดังนั้น การใช้คำว่า "มหาวิทยาลัย" ประกอบซึ่งในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย เอกสาร หรือสิ่งอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน จึงเป็นความผิดตามมาตรา 22 ประกอบ มาตรา 109 นอกจากนี้ยังได้จัดเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งนักแสดง ศิลปิน นักการเมือง รวมไปถึงพระสงฆ์ ให้ได้รับปริญญาบัตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โดยที่ไม่ได้ผ่านการเรียนการสอน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำรายละ 15,000-350,000 บาท
นอกจากนั้น ยังมีเปิดเผยข้อมูลจากทางด้านดีเอสไออีกว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยสันติภาพโลก มีลักษณะเหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่นทุกประการ และยังนำข้อมูลดังกล่าวไปลงโฆษณา ในคอมพิวเตอร์ เว็บไซต์ เพื่อโฆษณาให้ประชาชนหลงเชื่อ เข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มาตรา 341 และมาตรา 343 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อีกด้วย
ด็อกเอ๋ย...ด็อกเตอร์กำมะลอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลประโยชน์ รายได้ บารมี ความเกรงใจ ความนับหน้าถือตา ความเชื่อถือ คุณสมบัติเหล่านี้ล้วนได้มาจากคำนำหน้าว่า "ด็อกเตอร์" หรือ "ดร." แทบทั้งสิ้น เพราะแสดงถึงความเป็นผู้ทรงความรู้ รอบรู้ และอื่นๆ แต่ทุกคนใช่ว่าจะเป็นแบบนั้น เนื่องจากบางคนได้มาด้วยการควักเงินแสน "ซื้อใบปริญญา" แม้จะสอนคนอื่นได้ แต่ก็ไม่อาจมั่นใจในคุณภาพ และประสิทธิภาพของคนกลุ่มนี้
ที่สำคัญ ผู้ที่ทำใบปริญญาปลอม และซื้อใบปริญญาปลอมมาใช้สมัครงานเป็นอาจารย์ ถือเป็นความผิดอาญาฐานปลอมแปลงเอกสารราชการ ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงาน องค์กรมีความเข้มงวดในเรื่องนี้มากขึ้น หลายรายถูกจับได้ และโดนไล่ออก ในขณะที่บางรายถูกจับได้ ไล่ทัน และมีการเปลี่ยนชื่อเยอะแยะเต็มไปหมด
หากใครยังจำกันได้กับกรณีอาจารย์ ม.อุบลฯ ฉาวโฉ่ ถูกทางมหาวิทยาลัยตรวจสอบพบเป็นด็อกเตอร์เก๊ อ้างใบปริญญาเอกปลอมที่ลงเป็นข่าวใหญ่โตตามสื่อต่างๆ เมื่อต้นปี 2558 โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างแพร่หลายว่าไม่น่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แถมยังปล่อยให้ใช้วุฒิดังกล่าวล่วงเลยมาเป็นเวลากว่า 14 ปี
หรือเมื่อปลายปีที่แล้ว มีการตรวจสอบพบอาจารย์สาขาดนตรีสากลของมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งในภาคกลาง ใช้วุฒิปริญญาปลอมเข้ามาสมัครเป็นอาจารย์ และทำงานมาเกือบ 3 ปี ซึ่งมีการปลอมแปลงทั้งวุฒิปริญญาโทและปริญญาเอกโดยอ้างว่าจบปริญญาจากประเทศอังกฤษ แต่กว่าที่ผลการตรวจสอบรอบสองของมหาวิทยาลัยจะออกมา เจ้าตัวก็ชิงลาออกไปเสียก่อน ในขณะที่ทางมหาวิทยาลัยได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้แล้ว นอกจากนั้นยังมีข้อมูลที่น่าตกใจพบว่า อาจารย์รายนี้มีการเปลี่ยนชื่อ-สกุลมาแล้ว 4-5 ครั้ง
ยังไม่นับรวมกรณีที่ยังจับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน และเชื่อว่ายังมี "ด็อกเตอร์เก๊" ไร้คุณภาพชอนไชอยู่ทุกวงการ ตั้งแต่ราชการยันธุรกิจเอกชน ซึ่งถ้าปลอมแล้วเอาไปแปะฝาบ้านเพื่อหลอกตัวเองไปวันๆ ว่าตัวฉันนั้นจบ "ด็อกเตอร์" ก็คงไม่มีใครว่าอะไร แต่ถ้าเอาไปใช้มาสมัครงานเป็นอาจารย์ หรือทำผิดกฎหมายก็คงจะปล่อยไว้ไม่ได้ เช่นเดียวกับรายล่าสุดนี้ที่ต้องติดตามกันต่อไปถึงการตรวจสอบ และดำเนินคดีทั้งขบวนการผลิตและผู้ที่ใช้วุฒิการศึกษาปลอม
เช็กง่ายๆ ด็อกเตอร์แท้-เทียม
อย่างไรก็ดี ท่ามกลาง "ด็อกเตอร์" ที่มีอยู่เกลื่อนกล่น จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นด็อกเตอร์ที่พอจะยกย่องได้บ้าง เรื่องนี้ ดร.สมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อในเครือผู้จัดการไว้อย่างน่าสนใจ และยังคงใช้ได้ดีในยุคที่ "ด็อกเตอร์" ถูกตั้งคำถาม
เริ่มแรก นักวิชาการท่านนี้มองว่า ถ้าเรียนปริญญาเอกจบภายใน 2 ปี ไม่ใช่ด็อกเตอร์ตัวจริงอย่างแน่นอน เพราะคำนิยามของด็อกเตอร์ คือ นักปรัชญา ผู้รู้แจ้งเห็นแจ้ง ผู้ที่สร้างสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกใบนี้ เป็นความคิดที่ไม่เคยมีมาในโลก เป็นเรื่องราวที่ไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน ซึ่งการที่จะทำได้แบบนี้ต้องใช้เวลาในการอ่านหนังสือไม่ใช่น้อย เพื่อกลั่นองค์ความรู้ให้ตกตะกอนก่อน และนำมาผ่านขั้นตอนการวิจัย การศึกษาข้อมูลการวิเคราะห์ พบผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ และต้องมีการลงภาคสนาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ใช้เวลาในการทำแค่ 2 ปี
ต่อมาคือการประเมินด้วย "ทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ" เริ่มจากสื่อสารตั้งแต่สมัครเข้าทำงาน หรือให้ลองเขียนเรียงความ (Essay) เรื่องหนึ่ง หรือให้นำผลงานวิทยานิพนธ์มาให้ดู หรืออีกส่วนที่สำคัญ และไม่ควรมองข้ามเลยก็คือ การตรวจสอบกลับไปยังมหาวิทยาลัยที่เจ้าตัวศึกษา ซึ่งในส่วนนี้ไม่ค่อยมีมหาวิทยาลัยใดในไทยทำ เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมพี่น้องเพื่อนฝูง จึงไม่มีใครกล้ามาบอกว่าคนนี้เป็นด็อกเตอร์กำมะลอ
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวประเมินเบื้องต้นเท่านั้น คงยากที่ฟันธงได้ในทันทีว่าใครแท้ ใครเทียม ซึ่ง "เวลา" เท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์คน
ขอบคุณข้อมูล และภาพประกอบบางส่วนจากเฟซบุ๊ก Weerachai Phutdhawong, www.freepik.com และ https://pixabay.com/
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754