xs
xsm
sm
md
lg

สานต่อพ่อหลวง “สาวชาวนาสุดฮิป” หัวใจไร้สารพิษ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เธอคือสาวน้อยหัวใจสีเขียว กระดูกสันหลังของชาติยุคใหม่ ที่หันหลังให้เมืองหลวง และกลับมาสานต่ออาชีพชาวนาโดยไม่พึ่งสารเคมี อีกทั้งยังสร้างแหล่งเรียนรู้ ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ ๙

“เพียง พอ สุข” แหล่งเรียนรู้ควบคู่ผืนนา

“หนูเริ่มทำนาตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่ปี 2 ถึงวันนี้ก็ประมาณ 5 ปีกว่าๆ แล้วค่ะ”
เสียงใสๆ ของ “หนูดี-จิตชนก ต๊ะวิชัย” สาวสวยวัย 26 ปี บอกเล่าถึงระยะเวลาที่กว่า 5 ปีที่เธอประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เธอจบการศึกษาจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่กลับเลือกที่จะกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว ด้วยการยึดอาชีพเป็นชาวนา ที่อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย สวนทางกับหนุ่มสาวยุคใหม่ที่เลือกตามฝันเข้าสู่ป่าคอนกรีตเป็นมนุษย์เงินเดือนกันแทบทั้งสิ้น

[ บัณทิตคนเก่งจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ]
“จริงๆ แล้ว ถ้าถามถึงจุดเปลี่ยน มาจากการที่ที่บ้านของหนูทำที่พักเล็กๆ ชื่อ ภูเรือเรือนไม้รีสอร์ต และร้านกาแฟเล็กๆ ชื่อ คาเฟ ดี มีนา ด้านหลังที่พักก็จะเป็นแปลงนา ที่ชาวบ้านละแวกนี้ให้ เพราะเขาเริ่มไม่ไหวกับการแบกรับต้นทุน แล้วเขาเริ่มเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม เข้าเมืองไปอะไรประมาณนั้นค่ะ เราก็เลยหาวิธีว่าจะทำยังไงกับนาแปลงนี้ที่เราได้มา มันเลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำมาเรื่อยๆ จนเรารู้สึกรักมันไปเองค่ะ ทั้งหมดนี้ตัวหนูเองกับแม่ช่วยกันดูแล แล้วก็จะมีคนงานที่อยู่ด้วยกันมา รวมถึงเพื่อนๆ ที่มาช่วยกัน เหมือนเป็นระบบครอบครัว ทุกคนอยู่กันแบบครอบครัวค่ะ

ตอนนี้มีควาย 2 ตัว ที่หนูไถ่ชีวิตมาจากโรงฆ่าสัตว์ค่ะ แล้วก็ผสมเทียมให้เขาได้ลูกมา ในส่วนนี้ตัวแม่สามารถไถนาได้จริง ควายตัวแม่ชื่อ “แช่มช้อย” ตัวลูกชื่อ “มงคล” ค่ะ เกิดวันพืชมงคลพอดี แล้วเราได้ปุ๋ยจากเขา ก็เป็นเหมือนทำให้ทุกอย่างมันเบ็ดเสร็จในนี้ได้ ในเรื่องของการทำนาโดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยภายนอก”

[ เจ้ามงคล ลูกควายที่เกิดจากการผสมเทียม ]
ไม่เพียงแต่รีสอร์ตและร้านกาแฟเท่านั้น ชาวนาคนสวยยังนำความรู้ที่ตนเองมี ผนวกกับองค์ความรู้ทางด้านสังคมสงเคราะห์ที่ตนเองได้ศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี ส่งต่อไปยังเด็กๆ ในชุมชนใกล้เคียง จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ “เพียง พอ สุข” ศูนย์การเรียนรู้เล็กๆ แต่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ ซึ่งทุกกระบวนการเรียนรู้ต้องเกิดขึ้นจริงตามฤดูกาลทำนา อีกทั้งยังต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเด็ก เพื่อรับมือกับคนนอกที่เข้ามา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อยสำหรับผู้หญิงตัวเล็กๆ เพียงคนเดียว...

“เมื่อก่อนที่เข้ามาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่หลายคนทราบว่า หนูมีแหล่งเรียนรู้ที่ให้ใครๆ เข้ามาชมก็ได้ มีเด็กๆ ในชุมชน คอยต้อนรับด้วย เลยทำให้ถูกเข้าใจไปว่า อยากเข้ามาตอนไหนก็ได้ จะเจอเด็กตอนไหนก็ได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว มันกลายเป็นว่า หนูไปสร้างบาดแผลให้เด็ก ด้วยการเอาเขามาต้อนรับคนนอกเร็วเกินไป โดยที่เด็กยังไม่มีความพร้อม



สิ่งที่เกิดขึ้นคือพวกเด็กๆ มีความเงียบ ไม่พูด ไม่ได้สนุก ไม่ได้สดชื่นเหมือนที่เขาเคยเป็น แล้วภาพที่สื่อออกไปให้คนข้างนอกเขาเห็น เหมือนเราไปบังคับเด็กรึเปล่า สิ่งที่หนูพยายามทำตอนนี้คือ เราค่อยๆ สร้างภูมิคุ้มกันร่วมกันไปเรื่อยๆ จะดีกว่า จนวันหนึ่งที่น้องเข้มแข็งพอ ซึ่งหนูก็ไม่รู้เลยว่า มันอาจจะปี สองปี หรือนานกว่านั้น

ทำให้ตอนนี้หนูกำลังฟอร์มทีมกับเด็กๆ ว่า เรามาสร้างความเข้มแข็งร่วมกันก่อน เอาทุกอย่างให้คุ้น ให้ชิน กับสิ่งที่เรากำลังจะทำ แล้วก็ให้ทุกอย่างมันไหลลื่นไปด้วยกันได้ เด็กๆ จะต้องรับรู้ทุกกระบวนการตั้งแต่คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ เริ่มเพาะ และก็โยน จนกระทั่งทำปุ๋ย จนกระทั่งเกี่ยว แล้วก็เอามาแปรรูปยังไง”

เด็กที่กำลังพูดถึงนั้น คือเด็กๆ จากโรงเรียนบ้านลาดค่าง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ชาวนาคนสวยบังเอิญไปเจอเข้ากับอาคารที่ใกล้ผุพัง หนูและเพื่อนๆ พี่ๆ ที่รู้จัก จึงตัดสินใจเข้าไปซ่อมโรงเรียนนี้ให้ เมื่อการซ่อมโรงเรียนดำเนินไปเรื่อยๆ ก็ทำให้หนูดีและทีมซ่อม ได้รู้จักและผูกพันกับเด็กๆ มากขึ้น ทั้งยังได้มีโอกาสทำหน้าที่ “ครูอาสา” ในวิชาเกษตรอีกด้วย

“เด็กที่โรงเรียนตอนนี้มี 26 คนค่ะ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมาก มีผู้อำนวยการ 1 คน ครูแค่ 2 คน แต่มีถึง 6 ชั้นปี ถ้าเป็นชั่วโมงเกษตร หนูก็จะพาน้องมาเรียนที่แหล่งเรียนรู้ เหมือนกับว่าช่วยครูไปด้วย ครูก็จะได้ขยับขยายไปสอนชั้นอื่นได้ด้วยค่ะ ตอนนี้มีเด็กประมาณ 20 กว่าคนที่หนูต้องดูแล คือหนูไม่ได้บังคับเลยนะว่าน้องจะต้องทำ แต่หนูสอนให้น้องรู้ว่า สิ่งที่น้องจะต้องทำในอนาคต ถ้าเกิดโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วต้องทำแบบนี้เหมือนที่พ่อแม่กำลังทำ ทำนา ทำสวน มันไม่ได้มีแค่กระบวนการที่สนุกอย่างเดียว

ในศูนย์การเรียนรู้ เพียง พอ สุข จะไม่มีคำว่าแปลงสาธิตให้เด็กสับสน เขาอาจจะยังแยกแยะไม่ได้ว่าอันไหนแปลงนาจริง อันไหนคือแปลงนาสาธิต ไม่งั้นสุดท้ายเขาก็จะรับรู้ไปในแบบที่ไม่ถูกต้องค่ะ ส่วนใหญ่แล้วเป็นตามฤดูกาลจริง คือถ้าเกิดว่าไม่มีการทำนาจริงๆ เราก็จะไม่เอาเด็กมา อย่างบางรายการที่เข้ามาสัมภาษณ์ อยากเห็นน้องทำอันนี้ๆ หนูก็ต้องแจ้งไปว่า มันทำแบบนี้ไม่ได้ นามันไม่มีนะคะ ข้าวมันปลูกไปแล้ว ทุกอย่างต้องเกิดขึ้นจริง”

ไม่เพียงแค่การทำนาตามฤดูการจริงเท่านั้น เด็กๆ ที่เข้ามาในศูนย์การเรียนรู้ยังต้องทำทุกกระบวนการ ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ด หยอดกล้า จนถึงการทำนาโยน ซึ่งหากใครก็ตามที่มาเข้ามาตรงกับเวลาที่หนูดีและเด็กๆ กำลังทำอยู่ ก็สามารถลงมือร่วมกันได้

“เรื่องแหล่งเรียนรู้ตอนนี้อยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมระหว่างคนในองค์กรก่อนค่ะ หนูมีแค่คนเดียว ไม่สามารถจะทำทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน จึงต้องมีตัวแทนที่เค้ารู้สึกอินกับสิ่งที่ทำ เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันร่วมกันก่อน แหล่งเรียนรู้จริงนี้มันถึงจะสมบูรณ์แบบ ซึ่งในอนาคตต้องมีสักคนที่เลือกทางแบบเรา เขาจะกลายเป็นหนูดี 2 เป็นทายาท อะไรประมาณนั้น(หัวเราะ) สุดท้ายเราก็จะมีทีมที่สามารถร่วมมือแล้วอยู่ด้วยกันได้ โดยที่เป็นเด็กๆ ที่หนูดูแลมาตั้งแต่แรก สำหรับหนูแบบนั้นจึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จค่ะ

ถ้าถามว่าอยากทำเกี่ยวกับที่เรียนจบมามั้ยก็อยากนะคะ แต่ว่าด้วยความรู้สึกที่เราต้องกลับมาดูแลทั้งแม่ ทั้งสถานที่ ทุกอย่างที่แม่สร้างมา เพราะฉะนั้นหนูเลยเลือกเป็นทำความรับผิดชอบ แล้วสิ่งที่เรียนมา ที่หนูได้ใช้คือหนูเรียนสังคมสงเคราะห์ หนูก็มีวิธีที่จะอยู่ยังไงกับเด็กให้มีความสุขร่วมกันได้ มันก็คือเอาที่เรียนมามาใช้ค่ะ”
รู้ใจที่นา เคล็ดลับผลผลิตดี

ย้อนกลับมาที่เรื่องการทำนา สาวหัวใจสีเขียว ได้เล่าย้อนกลับไปถึงความเป็นมาก่อนที่จะมีแหล่งการเรียนรู้ รวมถึงแปลงนาที่ได้ผลผลิตเป็นข้าวออแกนิกอย่างทุกวันนี้ ต้องลองผิดลองถูกมาไม่น้อย เพราะแต่เดิมผืนนาตรงนี้ ผ่านการทำนาแบบเคมีมาแบบเต็มที่ การที่จะเปลี่ยนจากเคมี มาเป็นอินทรีย์ จึงเป็นเรื่องที่เหนื่อยเอาการสำหรับชาวนาตัวเล็กๆ อย่างเธอ

“ช่วงปีแรกๆ หลังจากได้ที่นามา หนูก็ให้คนงานที่บ้านช่วยทำ แต่คนงานทำเขาก็มาเบิกซื้อปุ๋ย ซื้อยา คือเราเป็นคนจ่ายต้นทุน หนูก็เอะใจแล้วว่า จะทำข้าวกิน มันต้องเป็นข้าวที่ปลอดภัยนะ ทำไมมันต้นทุนต้องสูงขนาดนี้ เห็นเขาฆ่าหญ้า หญ้าตาย แล้วข้าวจะอยู่ได้หรอ มันจะไม่สะสมหรอ แล้วผลร้ายมันต้องไปค้างอยู่ที่ข้าวของเราสิ

หนูทำให้เป็นออแกนิกทุกอย่างตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธ์ หนูติดต่อไปที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ สอบถามจาก อ.เชาว์วัช หนูทอง ตลอด เมล็ดพันธ์ตั้งต้นก็เอามาจากศูนย์ฯ แล้วเราก็ค่อยๆ เก็บเมล็ดพันธุ์เอง ตลอดจนการปลูก หนูใช้น้ำหมักชีวภาพ หนูหาทุกสูตรน้ำหมักที่จะเอามาใช้ในกนการสลายตอซัง แล้วทำให้ดินดีขึ้น หักดิบจากเคมีมาเป็นอินทรีย์ ซึ่งปีแรกๆ ได้ผลไม่ค่อยดีเลย ไม่ดีมากๆ เพราะว่ามันยังเป็นเคมีที่ยังค้างอยู่

จนค่อยๆ ปรับมาเรื่อยๆ มันก็ดีขึ้น หนูมีปุ๋ยที่หมักเศษอาหาร เศษผักจากในครัวที่เราทำที่พัก มีควาย 2 ตัว ก็ได้มูลสัตว์จากควาย ที่จังหวัดเลยมีถ้ำค้างคาว ก็ได้มูลค้างคาว หนูมีร้านกาแฟ ก็ได้กากกาแฟ ได้กากชา เราทำปุ๋ย ข้าวเราปลูกเราเกี่ยวขึ้นมา เราเอาไปสี เข้าโรงสีเล็ก เราได้แกลบ ได้รำ เอามาทำปุ๋ยต่อ ทุกอย่างทุกกระบวนการที่อยู่ในนี้ มันเบ็ดเสร็จด้วยตัวเองได้

และตอนนี้ตลาดการทำออแกนิกของแถวนี้ยังมีน้อยอยู่ เพราะฉะนั้นโรงสีที่มีอยู่ในชุมชนที่เป็นของเจ้าอื่น ก็ยังมีข้าวที่เป็นเคมีเข้าไปสี หนูก็เลยตัดสินใจซื้อโรงสีเล็กๆ เป็นของตัวเอง เพื่อที่เราจะได้ไม่ไปปนเคมีกับคนอื่นค่ะ”

นอกจากการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์แล้ว ชาวนาคนเก่ง ยังใส่ใจไปถึงการจัดสรรพื้นที่บนผืนนาประมาณ 10 ไร่ของเธอ โดยจะมีส่วนเล็กๆ ที่เธอแบ่งไว้สำหรับทดลองปลูก เพื่อดูว่าข้าวพันธุ์นี้เหมาะกับพื้นที่ของเธอหรือไม่ ส่วนที่เหลือคือส่วนที่ต้องการได้ผลผลิตจริง ซึ่งแต่ละแปลง แต่ละรอบ จะลงข้าวไม่พร้อมกัน โดยจะดูตาม อายุของข้าว ประเภทของข้าว รวมถึงความไวแสงของข้าวอีกด้วย

“หนูเลือกทำนาโยน เพราะว่าเราจัดการได้ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ เราใช้เมล็ดพันธ์ุน้อยมาก นาดำจะใช้กระสอบนึงสำหรับทำกล้าข้าวเพื่อที่จะดำนา 1 ไร่ค่ะ นาดำต้องหว่านกล้าลงไปเป็นกระสอบเลย แต่นาโยนของหนูใช้ประมาณ 1.5 - 2 กิโลกรัม ไม่เกินนั้น แค่ทุนเริ่มต้นมันก็ต่างกันแล้ว แล้วมันทำให้เราต้อง เป็นความพิถีพิถันมากกว่า เพราะกว่าเราจะได้กล้าข้าวของนาโยนมา เราค่อยๆ หยอด 3 เมล็ดต่อ 1 หลุม กว่าจะได้ 1 ต้นกล้า แล้วแตกออกมา 3 ต้น นั่นแหละมันก็เลยจะเป็นความละเอียดตั้งแต่เริ่มต้น แล้วปริมาณผลผลิตที่ได้รับเมื่อเทียบกับขนาดของแปลง หนูว่าค่อนข้างดีนะ หนูทำให้เกิด 1 ไร่ 1 ตัน ได้จริงๆ แต่ต้องดูด้วยนะว่าเป็นข้าวพันธุ์ไหนค่ะ

เมื่อก่อนหนูเคยทดลองไรซ์เบอร์รี่ที่กำลังฮอตๆ กัน พอมาปลูกที่ของเราเอง จนรู้ว่ามันเหมาะสมกับนาของเรานะ เพราะว่าพื้นที่ของเราเป็นอากาศหนาว เราก็สร้างเม็ดสีของเขาให้ดำสนิทได้ ส่วนตอนนี้ที่ทดลองอีกพันธุ์คือสังข์หยดค่ะ เป็นพันธุ์ที่เพื่อนส่งให้จากพัทลุง หนูก็เลยเอามาลองดูว่า ข้าวจากใต้มาปลูกที่นี่จะเป็นยังไง ในนาของหนูตอนนี้ก็มีสังข์หยด ไรซ์เบอร์รี่ แล้วก็มีหอมปทุมฯที่เพิ่งเกี่ยวไป แล้วก็มีข้าวเหนียวปกติค่ะ

เรารู้ใจพื้นที่ของเรา ที่นาของหนูเป็นนาในที่ดอน มันจะค่อนข้างสูง เลยคุมระดับน้ำได้ เราสามารถปล่อยลงคลองที่อยู่ข้างหลัง แล้วก็ปล่อยลงแก้มลิงเรากักเก็บไว้ คือเราใช้ความพิถีพิถันตั้งแต่เริ่มต้นในการเลือกเมล็ดแล้วก็เพาะกล้า การทำเป็นออแกนิก แล้วจัดการทุกอย่างให้มันลงตัวตั้งแต่แรก หนูว่านั่นน่ะ มันเป็นปัจจัยหลักๆ เลย ที่ทำให้ผลผลิตดี”

ส่วนการแปรรูป นอกจากการขายข้าวสารออแกนิกตามออเดอร์แล้ว หนูดียังนำข้าวที่ได้ไปแปรรูปสร้างมูลค่า ด้วยการนำมาใช้ในส่วนของร้านอาหาร ขายเป็นปิ่นโตเซ็ต มีกิมมิกเก๋ๆ ว่า ‘ทุกเมนูที่นี่ก็จะเป็นข้าวทั้งหมด’ โดยนำข้าวมาทำเป็นข้าว 5 สี อาหารเส้นก็จะทำเป็นพวกขนมจีน และทำแบบผูกปิ่นโต ลูกค้าสามารถเลือกอาหารได้ หากชอบก็ซื้อกลับไปได้ นอกจากจะได้อิ่มท้องกับข้าวออแกนิกแล้ว ยังมีวิวผืนนาสวยๆ ของทางร้านเป็นอาหารตาอีกด้วย หากใครได้ลองมา คาเฟ ดี มีนา แล้ว รับรองว่าจะได้ทั้งอิ่มท้องและอิ่มใจในเวลาเดียวกัน
รวมกลุ่ม+เปลี่ยนอำนาจการต่อรอง = ทางออกวิกฤติราคาข้าว

ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวนาต้องเผชิญมาช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่แล้ว ที่ราคาข้าวดิ่งลงชนิดที่ว่าไม่ต่างกับราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ครั้นจะให้ชาวนามีโรงสีเป็นของตัวเอง ก็ยิ่งเป็นการสร้างภาระให้มากขึ้นไปอีก สำหรับตัวหนูดีนั้น เสนอความคิดเห็นไว้ว่า ทางออกของปัญหานี้ คือชาวนาต้องรวมกลุ่มกัน เพื่อย้ายอำนาจการต่อรองจากพ่อค้าคนกลางมาอยู่ในมือเจ้าของข้าวให้ได้

“ทุกวันนี้ปัญหาของชาวนาบ้านเราคือขาดการรวมกลุ่มค่ะ ถ้าชาวนาทุกคนแต่ละพื้นที่รวมกลุ่มกันให้ได้ สร้างความสามัคคีร่วมกันให้ได้ นั่นแหละมันถึงจะเป็นทางออก ถ้าเกิดเราเข้มแข็ง แล้วก็ปัดอำนาจการต่อรองมาอยู่ที่เราได้ ก็เราจะขายในราคาเท่านี้ถึงจะสมเหตุสมผลกัน อยู่ระหว่างกัน หนูว่ามันน่าจะเป็นทางออกสำหรับกัน มากกว่าทุกคนจะไปแบกรับการมีโรงสีเป็นของตัวเอง

อีกอย่างชาวนาแต่ละคนมีที่ดินไม่เท่ากัน บางคนมีมาก บางคนมีน้อย ถ้ายิ่งคุณมีที่นาเยอะมาก โรงสีคุณก็ต้องใหญ่มากพอที่จะสีข้าวจากนาได้ เพราะฉะนั้นการมีโรงสีจะต้องมีการจัดการ ไหนจะซ่อมบำรุง ไหนจะคนงาน แล้วคุณจะแบกรับภาระตรงนี้ไหวมั้ย ถ้าเกิดเราผ่านตรงนี้ไปได้ แล้ววันหนึ่งเราเข้มแข็งมากพอ ปัจจัยต่อไปที่ทำให้เราสามารถมีโรงสี มีอะไรเป็นของตัวเอง ที่ดูแลตัวเองได้ทั้งหมด มันคือเป็นสเตปที่ 2 แต่เราต้องทำสเตปแรกให้ได้ก่อน คือปัดอำนาจการต่อรองมาที่เรา แล้วก็สร้างความเข้มแข็ง ต่อไปคนที่ยึดอาชีพนี้จะมั่นคงขึ้น มันจะง่ายขึ้น คือการพัฒนาที่ยั่งยืนจริงๆ ค่ะ

ถ้าพูดถึงในเชิงธุรกิจ เราคือคู่ค้ากัน ไม่มีชาวนาคนไหนหรอกที่ไปขอให้ขายข้าวในราคา 6 บาท มันก็ต้องวิน-วินกันทั้งคู่ คุณไม่ได้อยู่เหนือห่วงโซ่อาหาร เราอยู่ในภาวะที่พึ่งพาอาศัยในระบบนิเวศน์ เราบวก-บวกนะ ไม่ใช่บวก-ลบ ในเมื่อฝั่งคนที่น้อยกว่าสร้างปัญหา มันก็ถึงเวลาที่จะต้องแก้แล้วค่ะ”

สำหรับสถานการณ์ข้าวที่ผ่านมา แม้จะมีหลายฝ่ายยื่นมือเข้ามาช่วยให้ชาวนาขายข้าวได้ด้วยตัวเองได้ แต่ชาวนาคนสวยกลับมองอีกมุมว่า แม้จะเป็นสัญญาณที่ดี แต่ก็ไม่ควรรอคอยโอกาส ที่จะให้ทุกคนเข้ามาช่วยเหลือ และที่สำคัญ ชาวนาต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเองให้ได้

“โครงการให้ช่วยเหลือชาวนา หนูว่าตรงนี้เป็นทางหนึ่งที่กระตุ้นให้เราต้องเริ่มช่วยเหลือตัวเอง ไม่ใช่ว่าต้องรอโอกาส เราต้องเริ่มคิดเองแล้วว่า จะทำยังไงให้อยู่รอด ให้เราขายข้าวได้ในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนที่ลงไป แล้วก็เหมาะสมกับผลิตที่เราได้ และกลายเป็นว่าสถานการณ์ที่รุนแรงในปีนี้เหมือนเป็นใบเบิกทาง เหมือนเป็นสัญญาณที่ดี เพราะถ้าเราช่วยเหลือตัวเองได้ อำนาจการต่อรองมันจะกลับมาที่เราแล้ว เราจะมีสิทธิ์บอกว่าจะขายข้าวในราคาเท่าไหร่ ไม่ใช่ให้เขามาบอกว่ากิโลละ 6 บาทค่ะ”

และสุดท้ายนี้ชาวนายุคใหม่ ยังได้ฝากข้อคิดสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดอยากจะกลับบ้านเกิดมาสานต่ออาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษครัว ซึ่งตรงนี้เธอย้ำอย่างหนักแน่นว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรู้ต้นทุนของบ้านเกิดตัวเอง และไม่ควรทำอะไรตามกระแส

“คนเรามีต้นทุนที่ต่างกัน มีลูกชาวนาหลายคนที่มีต้นทุนดีกว่าหนูเยอะมาก พ่อแม่สร้างมาให้หมดแล้ว ถ้าคิดว่าจะกลับมาทำได้จริงๆ นั่นคือมันดีมากเลยนะคะ ซึ่งถ้าจะกลับมาทำ เราต้องรู้สึกอยากทำจริงๆ แล้วคิดว่าตัวเองจะมีความสุขสิ่งที่ทำ ไม่ใช่กลับมาเพื่อว่าเห็นเป็นกระแส หรือทำตามคำยุยงของใคร เพราะอะไรที่ทำตามกระแสรึว่าเป็นความฉาบฉวย เราจะอยู่กับมันได้ไม่นาน สุดท้ายมันก็จะหมดไป แล้วกลายเป็นว่าเราจะรักษาผืนนาของตัวเองไม่ได้

อีกอย่างมันไม่จำเป็นต้องมาทำแค่เกษตรเพียงอย่างเดียว เพราะแต่ละจังหวัด มันมีอะไรตั้งหลายอย่าง เช่น ทอผ้ามาก่อน ย้อมคราม ทำจักสาน นั่นน่ะคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรคิดที่จะกลับมาสร้างมูลค่า คือมันไม่จำเป็นต้องเป็นวิถีเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่ละพื้นที่มีกิมมิกของตัวเองทั้งนั้นค่ะ

ส่วนอยากทำนาแบบหนู ทางหนึ่งก็คือการค้นคว้าด้วยตัวเอง มีความรู้มากมายมีอยู่ในอินเตอร์เน็ต หลายคนก็ทำนาผ่านเน็ตเหมือนหนูนี่แหละ แล้วถ้าใครอยากมาเรียนรู้ที่ เพียง พอ สุข ก็เข้ามาได้ แต่ต้องเป็นช่วงฤดูกาลจริงๆ มาศึกษาร่วมกับเด็กๆ ก็มาได้ค่ะ”
เสียงจากลูกปลายนา ถึงพ่อหลวงรัชกาลที่ ๙

“ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระองค์คือยอดมนุษย์ที่เก่งในทุกด้านจริงๆ แล้วด้านการเกษตร จะมีพระมหากษัตริย์ซักกี่พระองค์ที่เอาบ้านตัวเองเป็นแปลงทดลองเพื่อเกษตรกร เหมือนพระองค์ท่านเห็นว่า เกษตรกรคือประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเราไม่เคยรู้หรอกว่าแต่ละโครงการใช้เวลานานแค่ไหน ทุกอย่างมันทีการบ่มเพาะ มีระยะการฟักตัวจนเห็นผล

ตัวหนูเองได้ข้อคิดจากตรงนี้ กว่าพระองค์ท่านจะคิดทฤษฎีแต่ละอย่างออกมาให้เราเดินตามรอย ต้องใช้เวลานานขนาดไหน เพราะฉะนั้นก่อนที่หนูจะเปลี่ยนแปลงเคมีจากที่ดินเดิมที่เคยซื้อ กว่าจะมาเป็นอินทรีย์ที่ได้ผลผลิตได้ หนูต้องใช้เวลานานมาก เหมือนเราต้องอดทน ทุกอย่างควรจะไม่เป็นไปอย่างเร่งร้อนเกินไป ค่อยๆ เดินเหมือนที่พระองค์ทำให้เราเห็นก่อนหน้า”

ชาวนาคนสวย กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นแบบอย่างให้แก่เกษตรกรชาวไทยมาช้านาน ซึ่งภายในแปลงนาของเธอ ยังได้น้อมนำพระราชดำริ ‘เกษตรทฤษฎีใหม่’ มาประยุกต์ใช้ เกิดเป็นข้าวออแกนิกที่ให้ผลผลิตดี จนทำให้เธอยึดเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้

“คำว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ที่หนูรู้สึกว่าต้องเอามาใช้ หลังจากที่หนูมีทั้งนา มีทั้งที่พัก แล้วก็เริ่มขาดน้ำในช่วงแรกๆ ทำให้หนูรู้สึกว่า เราต้องการอะไรสักอย่างที่ทำให้เราไม่ขาดแคลนน้ำ พระองค์ท่านไม่ได้บอกว่าจะต้องใช้เป็น 30:30:30:10 เป๊ะไปเลย เราต้องมีการปรับเปลี่ยนตามพื้นที่ของเรา หนูก็แบ่งเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำ แก้มที่ 1 แก้มที่ 2 หนูมีพื้นที่ของนา พื้นที่ของที่อยู่อาศัย ที่อยู่ของหนูก็อาจจะมากหน่อยประมาณ 40 เพราะหนูทำกิจการเกี่ยวกับพวกนี้ เลี้ยงสัตว์อาจจะแค่ 10 ปลูกพื้นอื่นๆ ก็อาจจะลดลง หนูก็เลยทำให้เห็นว่า ในนี้มันมีครบทุกอย่าง แล้วหนูสามารถดูแลตัวเองได้ไปเรื่อยๆ ค่ะ

เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข มีความพอประมาณ มีเหตุผล แล้วก็มีภูมิคุ้มกัน ตอนนี้พอประมาณเราสามารถประคองตัวเองไปได้แล้ว มีเหตุผล เราก็เข้าใจแล้วว่าเหตุผลที่ทำแต่ละอย่างคืออะไร ตอนนี้หนูอยู่ในขั้นของการสร้างภูมิคุ้มกัน คือสร้างภูมิคุ้มกันระหว่างหนูกับเด็กๆ ให้เราเข้มแข็งพอที่จะตอบรับสังคมภายนอกที่เข้ามาได้ ส่วน 2 เงื่อนไข ความรู้คู่คุณธรรม เราค่อยๆ ใส่เข้าไปในสิ่งที่เราเรียนรู้แลกเปลี่ยนร่วมกันระหว่างหนูกับเด็ก แล้วก็คนภายในองค์กรของเรา

“มันไม่ได้จำเป็นว่าคุณต้องเป็นเกษตรกรจ๋า จะต้องอยู่อย่างมัธยัสถ์ ห้ามแต่งตัวสวย ห้ามทำอะไรเลย เราต้องยืดหยุ่นไปตามวิถีชีวิตของแต่ละคน เรามีสิทธิ์ที่จะแต่งตัวสวย เวลาว่าง เรามีสิทธิ์ที่จะชอปปิ้ง มันเป็นสิทธิ์ของเรา ในขณะที่เราอยู่อย่างพอแล้ว เราไม่ได้เป็นหนี้สินมากมาย เรามีการกินอยู่ เราใช้ แล้วมีเหลือเก็บ คุ้มกันตัวเองได้ หนูคิดว่านั่นก็เป็นสิทธิ์ที่มันไม่ต้องมีบีบบังคับให้เราทำอะไรในแบบที่หลายคนมองภาพเกษตรกรเหมือนในอดีตว่าต้องอยู่แค่นี้นะ”

ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดีๆ ของคนรุ่นใหม่ ที่สามารถดึงเอาทรัพยากรท้องถิ่นที่ตนเองมี ผนวกกับองค์ความรู้ที่ศึกษาเพิ่มเติม จนเกิดเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืนได้ และใครก็ตามที่ผ่านไปยังอำเภอภูเรือ ก็อย่าลืมแวะไปจิบกาแฟ หรือจะลองรับทานข้าวออแกนิก เคล้าบรรยากาศสงบๆ ของทุ่งนา ได้ที่ คาเฟ ดี มีนา รับรองว่าจะต้องได้รับความอิ่มเอมใจ และความรู้ด้านการทำนาจากชาวนาคนสวย “หนูดี-จิตชนก ต๊ะวิชัย” อย่างแน่นอน


สัมภาษณ์โดย : ผู้จัดการ Lite
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Jitchanok NuuDd Tahwichai”




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น