xs
xsm
sm
md
lg

"ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก" ไม่มี “แผ่นดินของพ่อ” ไม่มีชาวเผ่าในวันนี้ [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อะไรทำให้ชาวไทยภูเขาหลากหลายเผ่าบนยอดดอยอันไกลโพ้น ต่างพร้อมใจกันเดินทางมากราบสักการะพระบรมศพ แสดงความอาลัยด้วยใจมุ่งมั่น พร้อมบอกเล่าเรื่องราวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า...





หากลองมองย้อนรอยพระบาทกลับไปในวันที่เสด็จฯ ฝ่าป่าเขาลำเนาไพรเพื่อปลดเปลื้องทุกข์บนพื้นที่ห่างไกลความเจริญ เพื่อปูทางความหวังให้คนไร้ถิ่น ไร้หนทางทำกิน ให้ได้อยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนในการดูแลของโครงการหลวงตลอด 40 ปีที่ผ่านมา จะพบคำตอบว่า

...ระยะทางความพยายามจากบนดอยสู่เมืองหลวงในวันนี้ ยังไม่อาจเทียบเท่าระยะทางที่พระองค์ทรงทุ่มเทแรงพระวรกายและแรงพระราชหฤทัย เพื่อพลิกฟื้นแผ่นดิน หนุนนำใจพสกนิกรทุกชนเผ่าทุกเชื้อชาติมาทั้งชีวิต...



ซาบซึ้งน้ำพระราชหฤทัย... เพื่อ “กาแฟจากชาวเผ่า” เพียงต้นเดียว

จากพื้นที่บนดอยสูงที่ถูกแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอยจนเหี้ยน สู่ผืนป่าเขียวขจีเป็นที่พึ่งพิงให้แก่สรรพสัตว์ สู่แหล่งป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์สุดลูกหูลูกตา... จากชาวเผ่าชาวดอยที่ไม่รู้ว่าจะหาเลี้ยงชีพด้วยวิธีใดดี นอกจากปลูกฝิ่นและตัดไม้ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พวกเขา ด้วยโครงการจากพระราชดำรินำร่องค้นคว้าวิธีปลูกพืชเมืองหนาว จนชาวบ้านชาวเขามีรายได้ต่อปีเป็นหลักแสนบาทต่อไร่

ทุกวันนี้ “โครงการหลวง” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากพระราชดำริส่วนพระองค์ และตั้งพระราชปณิธานของโครงการเอาไว้ว่า ให้เป็นไปเพื่อช่วยเหลือราษฎรชาวไทยภูเขาให้มีอาชีพสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืน มีสถานีวิจัย 4 แห่งใหญ่ๆ ได้แก่ 1.สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง 2.สถานีเกษตรหลวงปางดะ 3.สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และ 4.สถานีโครงการหลวงแม่หลอด

พร้อมด้วยศูนย์พัฒนาอีก 38 แห่ง ครอบคลุมความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งหมด 288 หมู่บ้าน 39,277 ครัวเรือน คิดเป็นจำนวน 168,445 คน ทั่วพื้นที่เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, แม่ฮ่องสอน และพะเยา ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณเปลี่ยนแปลงสถานภาพโครงการหลวงจากโครงการส่วนพระองค์ เป็น "มูลนิธิโครงการหลวง" เพื่อให้เป็นโครงการสาธารณะอย่างถาวรเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อแผ่นดินสยามตราบนานเท่านาน

[กว้างใหญ่ไพศาล โครงการหลวงที่ช่วยพลิกฟื้นแผ่นดิน ชุบชีวิตชาวเขา]

หากลองย้อนตามรอยพระบาทไปซึมซับน้ำพระราชหฤทัยอันยิ่งใหญ่หาอย่างที่สุดมิได้ของพระองค์ จะพบเข้ากับเรื่องราวเล่าขานจากเรื่องจริงอีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความปลื้มปีติแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่าที่ได้เกิดภายใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ เช่นเดียวกับเรื่องราวในถิ่นทุรกันดาร จากบันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ซึ่งเล่าเอาไว้ผ่านหนังสือเรื่อง "รอยพระยุคลบาท บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร"



“ในท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่สับสนและวุ่นวายในปลายปีพุทธศักราช 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งมวลเป็นปกติโดยไม่ทรงหวั่นไหว โดยเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ ตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ที่เชียงใหม่ และเสด็จฯ ออกเยี่ยมเยียนราษฎรทั้งราษฎรชาวเขาเผ่าต่างๆ กับประชาชนซึ่งอยู่ในที่ราบลุ่มตามที่ทรงปฏิบัติเสมอมาทุกปี

ครั้งนั้น เจ้าอยู่หัวทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง ซึ่งทรงกระทำเช่นนี้เป็นปกติ ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งฝ่าฝุ่นแดงและความลุ่มดอนของถนนในสมัยนั้นออกเยี่ยมราษฎรอีกหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่

ในวันที่ 3 ธันวาคม 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จฯ เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยียนราษฎรซึ่งเป็นชาวเขาบนดอยอินทนนท์ ในการทรงเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาครั้งนี้ หลังจากเสด็จด้วยรถยนต์พระที่นั่งทรงเยี่ยมชาวเขาเผ่าม้งที่บ้านขุนกลาง ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง แล้ว



พระองค์และสมเด็จฯ ยังได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาท ไปตามไหล่เขาที่สูงบ้างต่ำบ้างเป็นระยะทางประมาณ 3 กม. เพื่อทรงเยี่ยมชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บ้านอังกาน้อย และทรงพระดำเนินต่อไปอีก 2 กม. เพื่อพระราชทานไก่พันธุ์โร้ดไอส์แลนด์เร็ดและผ้าห่มให้แก่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บ้านท่าฝั่งเช่นเดียวกับที่บ้านอังกาน้อย

ต่อจากนั้นยังทรงพระดำเนินต่อไปอีกประมาณ 1 กม. จนถึงไร่กาแฟที่ราษฎรชาวกะเหรี่ยงปลูกไว้ รวมเป็นระยะทางที่ทรงพระดำเนินทั้งสิ้นในบ่ายวันนั้นประมาณ 6 กม. เพื่อทอดพระเนตรไร่กาแฟที่มีต้นกาแฟให้พระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเพียงต้นเดียว


เสร็จจากการทอดพระเนตรต้นกาแฟต้นเดียวแล้ว พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จฯ ยังต้องทรงพระดำเนินกลับออกไปยังรถยนต์พระที่นั่งที่จอดไว้ที่แยกปากทางเข้าบ้านอังกาน้อย รวมเป็นระยะทางที่เสด็จพระราชดำเนินด้วยพระบาทในวันนั้นประมาณ 12 กม. แล้วพระเจ้าอยู่หัวยังต้องทรงขับรถยนต์พระที่นั่งกลับด้วยพระองค์เองอีกจนถึงพระตำหนักด้วย..."


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความสงสัยให้แก่คณะและผู้ที่ติดตามพระองค์เป็นอย่างมากว่า เหตุใดพระองค์จึงต้องทรงดั้นด้นเดินทางเป็นระยะทางไกลมากมายขนาดนั้น เพื่อไปทอดพระเนตรเพียงแค่ต้นกาแฟต้นเล็กๆ ต้นเดียว พระองค์จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งผ่านพระสุรเสียงที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ดังนี้

"...แต่ก่อนเขาปลูกฝิ่น เราไปพูดจาชี้แจง ชักชวนให้เขามาลองปลูกกาแฟแทน กะเหรี่ยงไม่เคยปลูกกาแฟมาก่อน ยังดีที่กาแฟไม่ตายเสียหมด แต่ยังเหลืออยู่หนึ่งต้นนั้น ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้า สำหรับกะเหรี่ยง... จึงต้องเสด็จฯ ไปทอดพระเนตร จะได้แนะนำเขาต่อไปว่า ทำอย่างไรกาแฟ จึงจะเหลืออยู่มากกว่าหนึ่งต้น"


กระทั่งในปีถัดมา ราษฎรชาวกะเหรี่ยง ดอยอินทนนท์ สามารถขายกาแฟได้เป็นเงินต่อไร่ต่อปี สูงกว่าที่เคยขายฝิ่นได้ ส่งให้ชาวเขาทั้งหลายจับมือร่วมใจกับภาครัฐช่วยกันปลูกและพัฒนาเมล็ดกาแฟกันอย่างจริงจัง กระทั่งกาแฟไทยมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกอย่างทุกวันนี้



ช่วยชาวเขา เพื่อชาวเราเอง

ไม่เพียงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงมอบให้แก่พสกนิกรชาวไทยสัญชาติไทยแล้ว พระองค์ยังทรงเป็น “ผู้ให้” อย่างไม่เคยเลือกปฏิบัติ ให้ด้วยพระราชหฤทัยใสบริสุทธิ์ ด้วยพระราชปณิธานที่ทรงต้องการให้ “เพื่อนมนุษย์” ได้อยู่ดีมีสุข ด้วยทรงเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า การช่วยเหลือเขาก็ไม่ต่างจากการช่วยเหลือตัวเราเอง ดังเช่นพระราชดำรัสที่ได้พระราชทาน ในโอกาสที่ทรงเยี่ยมคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2517

"เรื่องที่จะช่วยชาวเขาและโครงการชาวเขานั้น มีประโยชน์โดยตรงกับชาวเขาเพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุน ให้ชาวเขามีความเป็นอยู่ดีขึ้น สามารถที่จะเพาะปลูกสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นรายได้กับเขาเอง ที่มาโครงการนี้ จุดประสงค์อย่างหนึ่งก็คือมนุษยธรรม หมายถึงให้ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารสามารถที่จะมีความรู้และพยุงตัวมีความเจริญได้


อีกอย่างหนึ่งก็เป็นเรื่องช่วยในทางที่ทุกคนเห็นว่าควรจะช่วยเพราะเป็นปัญหาใหญ่ ก็คือปัญหาเรื่องยาเสพติด ถ้าสามารถช่วยชาวเขาปลูกพืชที่เนประโยชน์บ้าง เขาจะเลิกปลูกยาเสพติด คือฝิ่น ทำให้นโยบายการระงับการปราบปรามการปลูกฝิ่นและการค้าฝิ่นได้ผลดี อันนี้ก็เป็นผลอย่างหนึ่ง

ผลอีกอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากก็คือ ชาวบ้านตามที่รู้เป็นผู้ที่ทำการเพาะปลูกโดยวิธีที่จะทำให้บ้านเมืองของเราไปสู่หายนะได้ โดยที่ถางป่าและปลูกโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ถ้าพวกเราทุกคนไปช่วยเขา ก็เท่ากับช่วยบ้านเมืองให้มีความดี ความอยู่ดีกินดี และปลอดภัยได้อีกทั่วประเทศ


เพราะถ้าสามารถทำโครงการนี้ได้สำเร็จ ให้ชาวเขาอยู่เป็นหลักแป็นแหล่ง สามารถที่จะมีความอยู่ดีกินดีพอสมควร และสนับสนุนนโยบายที่จะรักษาป่าไม้ รักษาดินให้เป็นประโยชน์ต่อไป ประโยชน์อันนี้จะยั่งยืนมาก"

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทุกปีพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ไปทรงติดตามการดำเนินงานไม่เคยขาด โดยเสด็จฯ มาประทับที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ 3 เดือน แล้วเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชาวบ้านตามดอยต่างๆ เสด็จไปทั่ว เวลาทรงเยี่ยมชาวบ้านจะทรงคุกเข่าลงพูดคุยกับเขาอย่างเป็นกันเอง”

ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งถวายงานรับใช้องค์เหนือหัวมากว่า 40 ปี ให้ประธานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนด้วยน้ำเสียงสงบนิ่ง

“ผมเป็นข้าราชบริพาร ตอนเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรผมก็เดินอยู่กับพระองค์ท่าน ทรงเห็นเขาปลูกฝิ่น ก็ไม่ได้ทรงว่าอะไรเลย รับสั่งว่ามันผิดกฎหมาย แต่ถ้าจับเข้าคุกก็ไม่มีคุกใหญ่พอ เพราะฉะนั้น เราต้องหาพืชอื่นมาให้เขาปลูกแทน เขาเห็นว่าผมทำงานถวาย พอพูดอะไรกับเขา โดยมากเขาจะเชื่อ

อย่างสตรอเบอรี บอกว่าพระเจ้าอยู่หัวอยากให้ลองปลูก ก็มีชาวเขา 3-4 คนอาสาปลูก โดยเราจะส่งนักวิชาการไปให้คำแนะนำและสาธิตการปลูก พอสุกก็เอาไปขายให้ เราช่วยเขาทุกขั้นตอน ได้เงินมาก็เอาไปให้ทั้งหมด พอคนที่เหลือรู้ว่าได้เงินเท่าไหร่ ปีต่อมาทุกคนขอปลูกสตรอเบอรี่หมดเลย


โครงการของเราเป็นแห่งเดียวในโลกที่ทำแล้วสำเร็จ ผลสัมฤทธิ์ที่ได้คือชาวบ้านรวย บ้านเมืองเจริญ มีถนน ไฟฟ้า และคนข้างล่างได้ประโยชน์ได้กินของอร่อยๆ ป่าไม้บนดอยไม่ถูกทำลาย นี่คือความสำเร็จของโครงการหลวงจากพระเมตตาของพระเจ้าอยู่หัว

พระองค์รับสั่งให้ทำงานโครงการหลวงแบบ “ปิดทองหลังพระ” คือตั้งใจทำงานอย่างเงียบๆ ไม่โฆษณาออกตัว เพราะเป็นโครงการส่วนพระองค์ และเป็นโครงการต้นแบบที่ทรงริเริ่มเพื่อให้รัฐบาลเอาไปสานต่อ

ความสุขของพระองค์ท่านคือการได้ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านอยู่ดีกินดี มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และหากวันนี้ พระองค์ท่านได้เสด็จฯ ไปตามที่ต่างๆ ที่ได้ทอดพระเนตรสิ่งที่ทรงพัฒนาไว้ ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ผมเชื่อว่าพระองค์ท่านจะทรงมีความสุขมาก


เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในองค์พ่อหลวง ที่ได้พระราชทานวัตถุประสงค์ของโครงการหลวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยยึดหลักไว้ 3 ประการ คือ "ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก"

“ช่วยชาวเขา” หมายถึง ถ้าเขาจนมาก เราไปช่วยให้เขารวยขึ้น ก็เป็นการช่วยชาวเขา, “ช่วยชาวเรา” หมายถึงเมื่อสามารถช่วยให้ชาวเขาลดการตัดไม้ทำลายป่า ก็ถือเป็นการช่วยเหลือตนเองไปพร้อมกัน ส่งผลให้ต้นไม้ลำธารไม่ถูกทำลายและไม่เกิดน้ำท่วมจนชาวเราเดือดร้อน

และ “ช่วยชาวโลก” หมายถึงเมื่อนำพืชราคาดีๆ ที่ทำรายได้ดีกว่าฝิ่นไปให้ชาวเขาปลูก ก็ถือเป็นการสนับสนุนให้พืชพรรณดีๆ ไปสู่ตลาดโลก ด้วยกรรมวิธีไม่ทำร้ายโลก ดังนั้น ทั้ง “ชาวเขา ชาวเรา และชาวโลก” ต่างก็ได้รับประโยชน์จากโครงการหลวง ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้และสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระองค์








ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณข้อมูล" มูลนิธิโครงการหลวง (www.royalprojectthailand.com)




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น