กล่าวได้ว่า ทั้งชีวิตของ "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช" คือ "งาน" ที่ทรงอุทิศพระวรกาย พลังความคิด บำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยะ อุตสาหะเพื่อพสกนิกรบนแผ่นดินไทย เช่นเดียวกับ "กษัตริย์จิกมี" แห่งราชอาณาจักรภูฏานที่พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อพสกนิกรในประเทศ อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างด้านการใช้ชีวิต "เรียบง่าย" บนพื้นฐานของหลักความ "พอเพียง"
นอกจากนั้น ยังมีความผูกพันกับโครงการหลวงในประเทศไทยหลายโครงการ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในพระมหากษัตริย์ของโลกที่ยึดหลัก และแนวทางการทรงงานของ "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" จนกลายเป็น The King ที่ยิ่งใหญ่ พร้อมด้วยพระจริยวัตรอันงดงาม ครองใจทั้งคนภูฏาน และคนไทย
ทำไมคนไทยถึงรักกษัตริย์จิกมี
เป็นหัวข้อคำถามที่ทางเพจ Bhutan Center ได้ตั้งขึ้นมา ก่อนจะให้คำตอบผ่านการบอกเล่าเรื่องราว และเปรียบเทียบพระราชกรณีของทั้งสองพระองค์ว่าคล้ายคลึงกันในหลายๆ ด้าน เช่น ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา เพื่อต้องการให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้ว่าเส้นทางในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจจะยากลำบากแค่ไหนก็ตาม, ทรงใกล้ชิดกับราษฎรโดยไม่ถือพระองค์, ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีพระทัยอ่อนโยน เป็นต้น
นอกจากนี้ ทางเพจยังได้นำพระราชดำรัสของ "กษัตริย์จิกมี" ที่แสดงความชื่นชมยกย่อง "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" มาโพสต์ให้อ่านกันด้วย
"...ข้าพเจ้ารัก เคารพ และชื่นชมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก พระองค์ท่านทรงเป็นสุดยอดพระมหากษัตริย์..." เป็นส่วนหนึ่งในพระราชดำรัสของ "กษัตริย์จิกมี" ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความศรัทธา และมี "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" เป็นต้นแบบในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ และนี่คงเป็นเหตุผลว่าทำไม "กษัตริย์จิกมี" จึงเป็นที่รัก และครองใจคนไทยได้มากขนาดนี้
ส่วนอีกหนึ่งความประทับใจของคนไทยที่มีต่อ "กษัตริย์จิกมี" โดยทันทีที่ทรงทราบข่าวพระอาการประชวรหนักของ "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" พระองค์ทรงมีพระราชโองการให้พระทุกวัดสวดมนต์ถวายพระพรทั่วประเทศ และเมื่อทรงทราบถึงการสวรรคต ทรงเสด็จพระราชดำเนินมายังประเทศไทย พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน และพระราชโอรส เพื่อร่วมพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล โดยทรงเขียนคำไว้อาลัยไว้ในสมุดคำอาลัยด้วยการเทิดพระเกียรติที่แปลได้ว่า การเสด็จสวรรคตเปรียบเหมือนการเข้าสู่นิพพานเพื่อไปสู่การเป็นพระธรรมราชา
นอกจากนั้น ยังรับสั่งให้มีการไว้ทุกข์ พร้อมทั้งลดธงครึ่งเสา พร้อมทั้งสั่งหยุดงานและหยุดโรงเรียนทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้เดินทางไปวัด เพื่อจุดเทียนและสวดมนต์ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย
ทั้งนี้ ก่อนเสด็จกลับราชอาณาจักรภูฏาน ยังเผยพระจริยวัตรอันงดงามที่ทรงน้อมพระวรกายพร้อมยื่นพระหัตถ์ไปจับมือคนขับรถชาวไทยอย่างเป็นกันเองโดยไม่ถือพระองค์เลยแม้แต่น้อย
"จิกมี" กษัตริย์ผู้เดินตามรอยพ่อหลวง
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน (พ.ศ.2549) คนไทยเริ่มรู้จัก "กษัตริย์จิกมี" ตั้งแต่เมื่อครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมารแห่งภูฏาน โดยในครั้งนั้นเสด็จฯ มาร่วมในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งนับว่าเป็นปีที่พิเศษต่อพระองค์อย่างมาก เพราะทรงรัก เคารพ และชื่นชม "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" เนื่องจากทรงเป็นสุดยอดพระมหากษัตริย์ของโลก
ไม่เพียงแต่ความรัก ความเทิดทูนต่อพระมหากษัตริย์ไทยแล้ว ด้วยพระสิริโฉม และพระจริยาวัตรที่งดงาม ทำให้พระองค์กลายเป็น "กษัตริย์" ในดวงใจของคนไทยทุกคน และยิ่งได้ทราบว่า พระองค์ทรงนับถือ "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" เป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศหลายๆ ด้าน ก็ยิ่งครองใจคนไทยมากขึ้น
เห็นได้จากความผูกพันกับโครงการหลวง ซึ่งพระองค์เคยเสด็จฯ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาด้านการเกษตรบนยอดดอยอินทนนท์และยอดดอยอ่างขาง รวมไปถึงหลักในการพัฒนาประเทศด้วยแนวทางคล้ายกับ "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" ซึ่งพระองค์เคยยกย่องว่ากษัตริย์นักพัฒนาของโลก และอยากคนไทยยึดเป็นแรงบันดาลใจในการปฏิบัติตนเพื่อดำรงชีวิตตามที่พระองค์ทรงปฏิบัติ
พระราชา "พ่อ" ของแผ่นดิน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพความนอบน้อม และอริยาบทที่งดงาม รวมไปถึงแววตาที่เปี่ยมด้วยเมตตาจากการปฏิบัติพระราชกรณีต่างๆ ของพระราชาแห่งราชอาณาจักรภูฏาน มองดูทีไรก็ชวนให้มีความสุข และคิดถึง "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" ที่พระองค์ทรงอุทิศพระวรกาย พลังความคิด บำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งชีวิตด้วยพระวิริยะ อุตสาหะเพื่อพสกนิกรชาวไทย ซึ่งเปรียบเสมือนความรักของพ่อที่มีต่อลูกๆ อย่างหาที่สุดมิได้
เช่นเดียวกับ "กษัตริย์จิกมี" แม้จะยิ่งใหญ่ในความเป็น "กษัตริย์" แต่คำว่า "พ่อ" คือความอบอุ่นที่พระองค์ทรงมอบให้แก่พสกนิกรมาโดยตลอด อย่างครั้งหนึ่งโทรทัศน์ช่องดังของอินเดียได้เผยแพร่ภาพสุดประทับใจ ขณะที่ "กษัตริย์จิกมี" ทรงลงมือหั่นผักและปอกหัวหอมเพื่อเตรียมประกอบอาหารให้แก่เด็กนักเรียน ณ โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในเขตชนบทของภูฏาน โดยไม่สนว่าบริเวณพื้นของโรงครัวจะเฉอะแฉะเพียงใด
แม้ทางโรงเรียนได้เตรียมแม่ครัว-พ่อครัวไว้ให้แล้ว แต่พระราชดำรัสเพียงสั้นๆ ที่ถ่ายทอดกับผู้ติดตามได้สร้างความอบอุ่นไปทั่วโลก "เราไม่ได้มาที่นี่ในฐานะกษัตริย์ของประเทศนี้ แต่เรามาที่นี่ในฐานะพ่อคนหนึ่งที่อยากได้มีโอกาสเข้าครัวทำอาหารให้ลูกได้กินบ้างสักครั้ง"
ไม่แปลกใจว่าทำไม "กษัตริย์จิกมี" แห่งภูฏานถึงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองใจทั้งคนภูฏาน และคนไทย นั่นเพราะส่วนหนึ่งทรงมีต้นแบบของ "กษัตริย์" ที่ดีอย่าง "ในหลวงรัชกาลที่ ๙" ไม่ว่าเป็นในเรื่องของความเรียบง่าย ความเอาใจใส่พสกนิกรที่เปรียบเสมือนลูกๆ ของพระองค์ รวมไปถึงการพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจ "พอเพียง" ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาทโดยใช้ความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต
ขอบคุณรูปจากสถานีโทรทัศน์เอ็นดีทีวี, รอยเตอร์, มูลนิธิโครงการหลวง และเพจเฟซบุ๊ก Bhutan Center
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754