xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแลนด์แดนขี้ยา! 'ยาบ้า 50 สตางค์' ทางแก้...หรือหายนะ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลูกค้ายานรกเฮลั่น!รัฐเล็งตัดวงจรดัดหลังพ่อค้ายาบ้า เล็งผลิตยาบ้าเสียเอง ดั้มป์ราคาเม็ดละ 50 สตางค์ ชี้เดินทางแก้ปัญหายาเสพติดผิดพลาดมาตลอด ตอนนี้นักโทษยาบ้าล้นคุก ไม่มีแนวโน้มลดลง เพราะไม่เคยมุ่งปราบแหล่งผลิตต้นตอ จ่อลดระดับยาบ้าเป็นยาเสพติดประเภทที่ 2 หลายคนตั้งคำถามทำไมการจัดการปัญหายาเสพติดของไทยนับวันยิ่งถอยหลังลงคลอง(น้ำเน่า) สำหรับวาทกรรม “คนเสพตาย คนขายติดคุก” ที่ปลูกฝังเยาวชนบ่มเพาะมาตั้งแต่เด็กนั้นเพื่ออะไร!?

ยาบ้า...สินค้าเศรษฐกิจ

สังคมฮือฮากับความคิดของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เชื่อว่า ยาบ้าเป็นสินค้าเศรษฐกิจไม่มีทางที่จะทำให้หมดไปได้ ดังนั้นขอถามไปที่กระทรวงสาธารณสุขว่าจะทำอย่างไรให้ยาบ้าเหลือเม็ดละ50 สตางค์ ขอให้บอกตนพร้อมทำให้ทันที

ทว่า ยังได้ยินศาลบอกอีกว่าไม่อยากสั่งคุมขังนักโทษยาบ้าแล้ว แต่จำเป็นต้องทำเพราะกฎหมายระบุไว้ ดังนั้น แสดงว่ากฎหมายยาเสพติดต้องมีปัญหา และจำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อให้การแก้ปัญหาเดินหน้าต่อไปได้ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเราเดินผิดทางมาตลอด เพราะหากถูกทางตนขอถามว่าทำไมผู้ต้องขังกว่า 70% ยังอยู่ในเรือนจำ มีคนตายไปเป็นพันคนแต่ทำไมปัญหาไม่จบ ทำไมชาวบ้านยังพูดว่ามียาเสพติดในชุมชน สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดว่าต้องมีจุดผิดพลาด

ขณะนี้สังคมโลกบอกว่าต้องยุติการทำสงครามและใช้ระบบสุขภาพแทน แต่การจะทำได้ต้องเตรียมความพร้อม และการแก้ต้องทำพร้อมกันทุกด้านไม่ได้ทำเฉพาะการปราบปราม ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ปปส.) ให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาไทยไม่เคยมุ่งไปที่แหล่งผลิต แต่ปราบเฉพาะในประเทศ

ลดระดับยาบ้า...เป็นยาเสพติดประเภท 2

หากใครเกิดทันและความจำยังดี ช่วงหนึ่งของสังคมไทย มีข่าวคนเสพยาบ้าเอามีดจี้ปาดคอตัวประกัน ปีนเสาไฟฟ้า คดีข่มขืนขึ้นหน้า 1หนังสือพิมพ์แทบทุกวัน คนไทยทุกคนล้วนหวาดกลัวขวัญกระเจิงเพราะไม่รู้จะเจอกับตัวเองเมื่อไร รัฐจึงได้เปลี่ยนชื่อจาก "ยาม้า" มาเป็น "ยาบ้า" นอกจากนี้ รัฐบาลก็เคยประกาศ “สงครามยาเสพติด” ด้วยมาตรการรุนแรงตาต่อตาฟันต่อฟัน ต่อผู้เสพ และ ผู้ค้า มีการใช้กำลังปราบแหล่งซ่องสุมยาเสพติดในชุมชน จนเกิดการ “ฆ่าตัดตอน” ครั้งยิ่งใหญ่ ทว่า ปัญหายาเสพติดก็ไม่ได้หายหน้าหายตาไปจากสังคมไทยเลย แต่ยิ่งเพิ่มทวีคูณส่วนผสมอันตราย มีการย้ายฐานผลิต เส้นทางขนส่ง ให้ลึกลับซับซ้อนมากขึ้น นับวันผู้ต้องโทษคดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีนรายย่อย ในเรือนจำ เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันนี้มีกว่า 3 แสนคน ที่สำคัญส่วนใหญ่เมื่อออกจากคุกไปแล้ว ล้วนกลับเข้าคุกใหม่ด้วยคดีเดิม

...กระทั่งวันนี้ รัฐบาลกำลังลดระดับยาบ้า เป็นยาเสพติดประเภท 2 เกิดอะไรขึ้น!

สำหรับการเปลี่ยนบัญชียาบ้าจากวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่ 1 ไปเป็นประเภทที่ 2 นั้น รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ขอทำความเข้าใจว่ายาบ้าไม่ว่าอยู่ในบัญชี 1 หรือบัญชี 2 ก็ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายรัฐบาลยังเดินหน้าการปราบปราม และกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน บัญชีรายชื่อนักค้ารายสำคัญมีเพิ่มมากขึ้น แบ่งเป็น 5 กลุ่ม 60 เครือข่าย พื้นที่สามเหลี่ยมทองคำจะเป็นโมเดลแก้ปัญหายาเสพติดระดับโลก ส่วนผู้เสพควรได้รับการบำบัดรักษา

ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ยอมรับยาเสพติดไม่มีแนวโน้มจะลดลง จึงจำเป็นต้องปรับวิธีโดยเฉพาะเรื่องการให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยต้องรับการรักษา ซึ่งการดูแลผู้ติดยาเสพติดควรขยายในวงกว้างทุกระดับ ไม่จำกัดเฉพาะโรงพยาบาลแต่ต้องรวมถึงโรงพยาบาลสุขภาพตำบลด้วย พร้อมกันนี้ยังต้องปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้อง กันสำหรับการปรับแก้สถานะยาบ้า จากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 1 เป็นประเภท 2 ถูกกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่อยู่ระหว่างยกร่าง คาดว่าอีกไม่นานจะมีผลบังคับใช้

นอกจากนี้ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.องค์การเภสัชกรรม ชี้แจงว่า ยาบ้าในเมืองไทยมีอยู่ 2 ตัว คือ เมทแอมเฟตามีน และ แอมเฟตามีน ซึ่ง 2 ตัวนี้จะคล้ายกัน ซึ่งในบางประเทศถือว่า “แอมเฟตามีน” เป็นยา ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยาเสพติด ก็จะมีการนำมาใช้เป็นยาทดแทน การเสพติดเมทแอมเฟตามีน เหมือนกับการใช้สารเมทาโดนมาใช้ทดแทนการเสพติดเฮโรอีน ดังนั้น หากจะมีนโยบายให้ผลิตยาบ้าในประเทศ ก็ต้องต้องชัดเจนว่าเป็นตัวใด ซึ่งหากเป็น แอมเฟตามีน อภ.สามารถผลิตได้โดยเทียบเคียงมาตรฐาน

ของต่างประเทศได้ แต่หากเป็นเมทแอมเฟตามีนไม่รู้จะเอาไปเทียบมาตรฐานใด เพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิง

ลดโทษยาเสพติด....ทางแก้หรือหายนะ!?

อย่างไรก็ดี แม้จะมีคนส่วนมากในโลกโซเชียลฯ ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเพราะดูจะเป็นความคิดที่นอกกรอบ แต่ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล นักเขียน ,คอลัมนิสต์ ,ผู้ก่อตั้งเว็บบล็อก exteen และเว็บไซต์ minimoreแสดงความคิดเห็นกับปรากฏการณ์นี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Teepagorn Champ Wuttipitayamongkol โดยได้อ้างอิงและหาข้อมูลจากเคสของต่างประเทศไว้ว่า


“เรื่องยาบ้า 50 สตางค์นี่ท้าทายความรู้เดิมๆ เรามาก (ซึ่งไม่มีเลย นอกจากความเชื่อที่ว่ายาบ้าแม่งเลว คนเสพตายคนขายติดคุกอะไรพวกนี้ วาทกรรมที่บ่มๆ กันมา) พอออกข่าวว่ามีแนวคิดจะทำยาบ้า 50 สตางค์ แล้วเห็นว่า สนข.หลายๆ หัวเอามาพาดว่า "ยาบ้าเป็นสินค้าเศรษฐกิจ" บ้าง หรือออกแนวว่า คนเสพกันทั่วเมืองล่ะทีนี้ ก็เลย

พยายามหาข้อมูลเท่าที่จะหาได้มาดูๆ ว่ามันเป็นยังไงจากนี้พูดในมุมของคนที่ไม่รู้อะไรมาก่อน

ก็ไปเจอเคสของโปรตุเกส ที่เขา Decriminalize(ลดโทษ) ยาเสพติดทั้งหมดเลย (ตั้งแต่ปี 2001) ก็คือถ้าใครถูกตรวจสอบแล้วพบว่ามียาเสพติดตั้งแต่กัญชาไปจนถึงเฮโรอีน ในปริมาณที่เสพได้ 10 วัน เขาก็จะถูกส่งไปที่คณะกรรมการร่วมที่มีทนาย, หมอ และคนทำงานด้านสังคมรวมกัน เพื่อให้แนะนำมาตรการที่เหมาะสมต่อไป (ซึ่งอาจเป็นการปรับเล็กน้อย ใช้คำว่า minor fine หรือไม่ลงโทษอะไรเลยด้วยซ้ำ ซึ่งอาจจะน่าช็อกมากสำหรับบ้านเรา)

ตอนนี้ 15 ปีหลังจากที่ decriminalize drug แล้ว ก็พบว่ามีการใช้ยาเสพติดลดลงตามกราฟ (สำรวจถึงปี 2012) มีการตายที่เกิดจากยาเสพติดลดลง (หลังๆ ทำไมเพิ่มไม่รู้) และมีอัตราการติดเชื้อ HIVจากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดลดลง

บทความจาก Mic ก็บอกว่า การ Decriminalize ยาเสพติด ไม่ใช่ทางแก้ (cure) แต่ก็ไม่ได้เป็นหายนะ (disaster) อย่างที่ใครกลัวกัน

ทีนี้ในรายงานก็บอกด้วยว่าในโปรตุเกสมีการย้ายอำนาจการควบคุมยาเสพติดโดยเปลี่ยนจากกระทรวงยุติธรรมไปเป็นกระทรวงสาธารณสุข และมีการปรับปรุงสวัสดิการพื้นฐานของประชาชนด้วย ซึ่งก็จะเห็นว่าก็ไม่ได้ทำแค่ Decriminalize ยาเสพติดแล้วจบแต่ก็ทำทั้งระบบ เปลี่ยนวิธีคิดไป

อีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจมาจาก Washington Post ปีนี้เอง (เดือนมีนาคม) รายงานว่า "ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์บอกว่าเราควร Decriminalize ยาเสพติดทั้งหมดและควรทำมากกว่านั้นอีกด้วยซ้ำ" โดยเป็นมติมาจาก panel ด้านการแพทย์ 22 คนที่เสนอให้ประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐฯ ค่อยๆ ขยับไปทางตลาดยาเสพติดที่ควบคุมดูแลโดยรัฐ (regulated) โดยผ่านวิธีการวัดผลอย่างเป็นระบบ โดยบอกว่าการลงโทษยาเสพติด การครอบครอง การใช้ การค้าขายนั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ โดยบอกว่า "การคิดว่าการใช้ยาเสพติดทั้งหมดเป็นการ 'abuse' นั้น จึงทำให้เกิดมาตรการดังกล่าว (ที่ว่าห้ามใช้ยาเสพติดทั้งหมด หรือ abstinence ไปเลย)" แล้วก็ยกตัวอย่างโปรตุเกสนี่แหละที่ประสบความสำเร็จในการจัดการยาเสพติดโดยการ decriminalize มันขึ้นมา

ทีนี้ส่วนตัวก็ไม่ได้จะบอกว่า Decriminalization นั้นโอเคแบบโอเคจบ ทำเลย ยาบ้า 50 สตางค์ แต่ก็ต้องมองด้วยว่าตัวแปรในประเทศเรานั้นเป็นอย่างไร สมมติรัฐทำยาบ้า 50 สตางค์จริงๆ หรือมีการ decriminalize ยาเสพติด

จริงๆ แล้วระบบการจัดการของรัฐรอบๆ จะเปลี่ยนไปอย่างไรไหม ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ มุมมองทางวัฒนธรรมต่อผู้เสพยา ก็ควรจะเปลี่ยนไปด้วยไหม ซึ่งการ decriminalization ทางวัฒนธรรมนี่น่าจะเป็นเรื่องที่ยากกว่าเรื่อง decriminalization ทางกฎหมายเสียอีก เพราะอย่างที่บอก รัฐมีความสำเร็จมากๆ ในการใส่วาทกรรมอะไรลงมาในประชาชน ผ่านทางการศึกษาและระบบศีลธรรม”

เสพโดยชอบธรรม...จะต่างอะไรกับบุหรี่

นายมนตรี สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ให้สัมภาษณ์สื่อถึงกรณีแนวคิด รัฐบาลผลิตยาบ้าเม็ดละ 50 สตางค์ว่า
การที่ให้กระทรวงสาธารณสุขไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้ราคาถูกลงเป็นเม็ดละ 50สตางค์ หรือรัฐบาลทำการผลิตยาบ้าเองปัญหาคือ เมื่อรัฐผลิตยาบ้าก็จะกลายเป็นของถูกกฎหมายจะไม่กลายเป็นของเถื่อนอีกต่อไป มันก็จะกลายเป็นความชอบธรรมโดยทันใด และเมื่อคนเสพเป็นผู้ใหญ่ หากมีการเสพต่อหน้าเด็กมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป เหมือนกับการสูบบุหรี่ผมเข้าใจว่า ถ้าเม็ดละ50สตางค์จริง มันจะต่างอะไรกับบุหรี่ และที่สำคัญคือเมื่อรัฐผลิตแล้วถ้าหากมีคนแอบผลิตแข่งโดยให้คุณภาพมันแรงกว่าของรัฐบาลเพื่อตอบสนองผู้บริโภค มันก็กลายเป็นของผิดกฎหมายเหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่าผลิตเป็นของถูกกฎหมายแล้วสิ่งผิดกฎหมายจะหมดไป

จากข้อมูลมีคนอยู่ 3ประเภทคือจะถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมายก็จะเสพ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่เสพเลยแม้จะถูกกฎหมาย และอีกกลุ่มหนึ่งคือไปตามกระแส ซึ่งกลุ่มนี้น่าเป็นห่วง เพราะเมื่อเป็นของถูกกฎหมายแล้วอาจจะมีการทดลอง และถ้าหากเป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กและเยาวชนจะแพร่ระบาดได้ง่ายเชื่อว่าในส่วนของความคิดตรงนี้ควรฟังหลายๆด้านและชั่งน้ำหนักดูดีๆ ซึ่งไม่มีอะไรรับประกันว่าเมื่อทำเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายแล้วจะทำให้สิ่งที่ผิดกฎหมายหมดไป



มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น