บอก และย้ำกันอีกครั้ง สำหรับกิจกรรมบุญยอดฮิต "ปล่อยปลา" สะเดาะเคราะห์ หลังเพจดังบนโลกโซเชียลฯ ออกมาจุดประเด็นสะกิดให้คิดก่อนปล่อย โดยเฉพาะปลาดุกที่แสบพอๆ กับปลาชัคเกอร์ ซึ่งเป็นตัวทำลายระบบนิเวศทางอ้อมจนอาจทำให้สัตว์น้ำประจำถิ่นสูญพันธุ์ได้
ปล่อยสัตว์สะเดาะเคราะห์ เป็นบาป เรื่องนี้ทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้เคยนำเสนอไปแล้วหลายครั้ง เช่นเดียวกับทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ที่เคยติดต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำเพื่อขอความรู้นำมาไขข้อข้องใจว่าทำไมการปล่อย "ปลาดุก" ถึงเป็นการทำบุญได้บาป
"ถ้าจะให้แนะนำวิธีการปล่อยปลาที่ไม่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม ผมแนะนำครับว่าไม่ต้องปล่อย ทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้ดีที่สุด" ผศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่เคยให้สัมภาษณ์ผ่านทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์เอาไว้
สำหรับเหตุผลที่ไม่แนะนำให้ปล่อยปลานั้น "ผศ.ดร.อภินันท์" ให้ความรู้ว่า การปล่อยปลาลงแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับระบบนิเวศ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะปลาดุกบิ๊กอุย, ปลาดุกรัสเซียซึ่งเป็นปลาต่างถิ่น มีความอึด และมีความสามารถในการเอาตัวรอดสูง หากนำไปปล่อยลงแหล่งน้ำคราวละมากๆ ในครั้งเดียว ปลาเหล่านี้จะไปแย่งที่อยู่ แย่งที่กินของปลาเฉพาะถิ่น มิหนำซ้ำอาจกินปลาไทยจนหมดเกลี้ยง
เช่นเดียวกับ "ปลาชัคเกอร์" ที่ทีมข่าว Live ได้เคยนำเสนอไปผ่านสกู๊ปข่าว "สยองหนัก! ปลาดำราหู น่ากลัวกว่าที่คิด หยุดปล่อยสะเดาะเคราะห์" เอเลี่ยนสปีชีส์ตัวแสบที่นอกจากจะเป็นปลาชนิดเจริญเติบโต และแพร่ขยายพันธุ์ได้ดีแล้ว มันยังมีความสามารถในการแก่งแย่งอาหาร และที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกับปลาที่มีขนาดเล็กกว่าจนมีผลทำให้ประชากรปลาชนิดอื่นลดจำนวนลงและสูญหายไปในที่สุด
อีกทั้งพฤติกรรมการกินของมันที่ดูดกินอาหารจากพื้นใต้น้ำ รวมทั้งไข่ปลา และลูกปลาชนิดอื่น ขณะที่ตัวมันเองมีเกล็ดแข็ง ครีบด้านข้างตัวและครีบหลังเป็นเงี่ยงแข็งหนา จึงทำให้มีศัตรูธรรมชาติค่อนข้างน้อย ซึ่งหากปล่อยมันเพิ่มจำนวนต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อปลาพื้นเมืองในบริเวณนั้นได้
ส่วนความนิยมในการปล่อยปลาเล็กอย่างลูกปลาดุก หรือลูกปลาอื่นๆ ก็อาจได้บาปเช่นกัน เนื่องจากการปล่อยปลาเล็กนั้น นักวิชาการคนเดียวกันบอกว่า เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์จะตายทั้งหมด เพราะยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เมื่อถูกปล่อยลงแหล่งน้ำ ไม่ถูกน้ำซัดตายก็จะกลายเป็นอาหารปลาใหญ่ทั้งหมด
รู้แบบนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงจะฉุกคิดก่อนซื้อปลามาปล่อยกันได้มากขึ้น แต่ถ้าตัดเรื่องบาปบุญออกไป แล้วมองเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ นอกจากความอร่อยของยำปลาดุกฟูแล้ว จากข้อมูลการศึกษาของ รศ.ครรชิต จุดประสงค์ นักวิชาการประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ปลาน้ำจืดอย่าง "ปลาดุก" มีปริมาณไขมันทั้งหมด กรดไขมันโอเมก้า 3 และ 6 มากที่สุด
*** ลิงก์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บาปบริสุทธิ์! ปล่อยสัตว์สะเดาะเคราะห์ ตกนรกไม่รู้ตัว
รู้ไหมจ้ะ? ปล่อยปลาดุก 100 โลลงแหล่งน้ำนั้นเป็นบาป
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754