ไม่ใช่เล่นๆ!! เมื่อ 9 ขุนพลคนดนตรีระดับอมตะ ลุกขึ้นมาปัดฝุ่นวงที่มีอายุกว่า 40 ปีอีกครั้ง เพื่อจัดคอนเสิร์ตใหญ่ 4 แห่งทั่วไทย หลังหายหน้าไปกว่า 14 ปี ท่ามกลางยุคที่โลกหมุนรอบคนหนุ่มสาวจนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้คนยุค 75'-85' คิดดูว่าจะมีวงดนตรีรุ่นเก๋าสักกี่วงทำได้อย่างนี้ ถ้าไม่ใช่ดาวค้างฟ้าบนเส้นทางดนตรี ถ้าไม่ใช่ศิลปินอมตะตัวจริงที่ชื่อว่า “แกรนด์เอ็กซ์”
กลับมาแบบตัวจริง กลับมาแบบออริจินัล!!
กรุงเทพฯ, หาดใหญ่, เชียงใหม่ และขอนแก่น เตรียมตัวให้ดี! อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ มหกรรมความยิ่งใหญ่แห่งแสง-สี-เสียง พร้อมศิลปินระดับตำนานกำลังจะเดินทางมาชวนย้อนวัยไปด้วยกัน ภายใต้ชื่อ “Grand Ex' Grand Concert” เพื่อฉลองการกลับมารวมตัวในรอบ 14 ปี ให้เพลงฮิตของคนรุ่นเก๋าอย่าง “เชื่อฉัน”, “หัวใจมีปีก”, “บุพเพสันนิวาส”, “รักในซีเมเจอร์” ฯลฯ ได้บรรเลงให้กระหึ่มฮอลล์กันอีกครั้ง
“ครั้งนี้เราตั้งใจกลับมาเล่นกันแบบออริจินัลจริงๆ” ต้อง-นคร เวชสุภาพร มือกีตาร์และหัวหน้าวง แกนนำผู้รวมทีมให้กลับมาผนึกกำลังในครั้งนี้ได้สำเร็จ เริ่มทำลายความเงียบขึ้นมาก่อน หลังประโยคคำถามจากคู่สนทนาถูกโยนออกไปกลางวง ซึ่งมีสมาชิกอีก 8 ชีวิตกำลังร่วมล้อมวงเพื่อบอกเล่าที่มาที่ไป เกี่ยวกับคอนเสิร์ตใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 18 มิ.ย.59 ที่อินแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี และตระเวนไปอีก 3 จังหวัดใหญ่ๆ ช่วงเดือน ส.ค. และ ก.ย.
[สมาชิกวง (ซ้าย-ขวา): เบิ้ม (กลอง), อ๊อด (คีย์บอร์ด), ตี๋ (ออร์แกน), เต๊ะ (ทรอมโบน), แอ๊ด (เบส), รัก (แซ็กโซโฟน), ต้อง (กีตาร์), แดง (ทรัมเป็ต) และ แจ้ (ร้องนำ)]
“ที่บอกว่าออริจินัล หมายถึงแบบที่เป็นต้นฉบับจริงๆ เลย อย่างคนที่เคยฟังเพลงแกรนด์เอ็กซ์ในแบบนั้นมาตั้งแต่เมื่อสมัยเด็กๆ ทุกวันนี้ถ้าเขาได้ยินโน้ตแบบนั้น ได้ยินอินโทรนั้นขึ้นมา อย่างเพลง 'เพียงสบตา' ขึ้นมา (ฮัมทำนองให้ฟัง) เขาก็จะจำได้ทันที ยิ่งช่วงท้าย มันจะมีลูกแฮมมอนด์ออร์แกนที่ฟังแล้วต้องจำได้ เราก็จะเก็บลูกนั้นแหละเอาไว้มาโชว์ว่า ต้องเป็นเสียงออร์แกนอย่างนี้เท่านั้นนะ ถึงจะใช่แบบต้นฉบับจริงๆ”
“สีสันใหม่ๆ ที่จะเอามา arrange กันใหม่ก็ต้องมีแน่นอนเหมือนกันครับ แต่จะปะปนอยู่สัก 30 เปอร์เซ็นต์” เสียงทุ้มๆ นุ่มๆ ของนักร้องนำประจำวง ผู้มีน้ำเสียงละมุนหูเป็นเอกลักษณ์อย่าง แจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์ ซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ กัน ช่วยเสริมข้อมูลส่วนที่ขาดหายไปอีกแรง
“เที่ยวนี้เราคุยกันว่า อยากให้คงความเป็นแกรนด์เอ็กซ์ไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะการที่ได้กลับมาดูการรวมตัวในรอบหลาย 10 ปี ถ้าเราจะมานำเสนออะไรใหม่ๆ ทั้งหมดเนี่ย บางทีมันอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกได้อย่างเสียอย่าง หลักๆ ก็เลยจะเป็นซาวนด์แบบออริจินัลที่หลายคนคิดถึงครับ”
[อ๊อด-ศรายุทธ มือคีย์บอร์ดและซินธิไซเซอร์]
ซาวนด์เพลงทุกวันนี้ส่วนใหญ่กลายเป็นอิเล็กทรอนิกส์ไปหมดแล้ว จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนบางกลุ่มเริ่มกลับมาใฝ่หาความเป็นออริจินัล อ๊อด-ศรายุทธ สุปัญโญ มือคีย์บอร์ดและซินธิไซเซอร์ โปรดิวเซอร์มือฉมังผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของศิลปินดังหลายราย ช่วยบอกเหตุผลว่าทำไมต้องเป็นแบบ “ออริจินัล” อีกแรง
“พอวิวัฒนาการของดนตรีมันจะเป็นอะไรที่สมัยใหม่มากขึ้นๆ เรื่อยๆ เป็นซาวนด์อิเล็กทรอนิกส์แทบจะหมดแล้ว คนกลุ่มหนึ่งก็จะใฝ่หาความเป็นออริจินัล อย่างที่หลายๆ คนเริ่มวิ่งไปหาอะคูสติกบ้างแล้ว ก็คงถือเป็นช่วงที่เหมาะที่เราจะมาย้อนความทรงจำถึงความเป็นออริจินัลของเราจริงๆ และเราก็มีความสุขที่จะได้มีโอกาสถ่ายทอดในแบบนี้ให้ไปถึงแฟนๆ ของพวกเรา”
ลองมองย้อนกลับไป อาจถือได้ว่าการรวมตัวครั้งใหญ่ครั้งแรกที่จัดขึ้นบนเวทีอิมแพ็ค อารีน่าฯ ตั้งแต่ช่วง มี.ค.45 คือเครื่องกระตุ้นที่ช่วยให้ประกายฝันของสมาชิกในวงทุกคนยังคงคุกรุ่นอยู่ภายใน กระทั่งหลังจากผ่านวันนั้นไปได้ 13 ปี ในวันที่ 'ต้อง' ได้มีโอกาสพูดคุยกับรุ่นน้องที่ BEO-Tero ก็ทำให้ภาพการรวมตัวกันที่เคยวาดเอาไว้ในใจอย่างเงียบๆ ถูกปลุกให้เป็นจริงขึ้นมาได้อีกครั้ง
“ผมคุยกับทาง BEC เรื่องโต๋ (ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร ลูกชายผู้เป็นศิลปิน-นักเปียโนระดับแถวหน้าของเมืองไทย) มาตลอดอยู่แล้ว ผมก็ถามว่าจะเอาคอนเสิร์ตรวมตัวแกรนด์เอ็กซ์หรือเปล่า เขาก็ถามผมกลับมาว่าจริงไหมพี่!!? (น้ำเสียงตื่นเต้น) ผมก็บอกจริงสิ แล้วอยากได้ไหมล่ะ เขาก็ถามว่าแน่ใจเหรอว่าจะรวมได้... ได้สิ ทำไมจะไม่ได้ เอาจริงไหมล่ะ? เขาบอกเอาจริง ผมก็เลยไปปรึกษาแจ้
คือจริงๆ มีคนมาติดต่อเราเยอะเหมือนกันนะก่อนหน้านี้ แต่เราเห็นว่าการทำงานของที่นี่เขาอินเตอร์ดี และเขาก็กล้าที่จะลงทุน ไม่ใช่เอาแต่กำไรอย่างเดียว เพราะความยิ่งใหญ่ของแสง-สี-เสียง มันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากนะ เราเลยต้องคุยกันให้รู้เรื่องก่อน จะได้ไม่ต้องมานั่งลำบากใจกันทีหลัง”
บอกตามตรงว่าถ้าไม่ได้กลับมารียูเนียนกันแบบนี้ ก็แทบไม่มีโอกาสได้เจอหน้าค่าตากันแบบครบๆ วงแบบนี้เสียที ว่าแล้ว เบิ้ม-ประสิทธิ์ ไชยะโท ผู้รับหน้าที่คุมจังหวะกลองประจำวง จึงขอแลกเปลี่ยนความรู้สึกของเขาขึ้นมาบ้าง
“เราเคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น ซ้อมกัน ทำงานหนักด้วยกัน สนุกสนานเฮฮา ผ่อนคลายด้วยกัน ทุกอย่างผ่านด้วยกันมาหมดแล้ว มันเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องใช้เวลา มันเหมือนกับเราอยู่กันมาเกือบครึ่งชีวิตน่ะ เราก็เลยคิดมาตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้รวมตัวเล่นคอนเสิร์ตแล้วว่า แค่ได้มารวมตัวกันก็มีความสุขแล้ว”
[แดง-เสน่ห์ มือทรัมเป็ต]
“ใช่ๆ ไม่เคยคิดเลยว่ามันจะเป็นไปได้” แดง-เสน่ห์ ศุภรัตน์ มือทรัมเป็ต หันไปพยักพเยิดให้เพื่อน ก่อนเสริมอีกหนึ่งมิติความรู้สึกเพิ่มเข้าไปให้คนทั้งวงได้รับรู้ “ครั้งแรกครั้งนั้น เราห่างจากกันไป 17 ปี ไม่ได้ติดต่อกันเลย บางคนก็ไม่ได้เจอกันเลย จู่ๆ พอได้รับโทรศัพท์ว่าจะมีการรวมตัวกันก็ตื่นเต้น จนได้มาเจอกันก็ดีใจ ได้เจอแฟนเพลงที่ไม่ได้เจอกันเลยด้วย ก็ยิ่งทำให้รู้สึกมีความสุขไปอีกแบบนึง”
“ภาพในอดีตหลายๆ อย่างมันเริ่มจะหวนกลับมานะ ทำให้เราได้ย้อนกลับไปถึงอดีตในตอนที่เราเคยฝ่าฟัน ต่อสู้ แข่งขันด้วยกัน สังเกตได้จากรูปสมัยก่อนว่าเราทุกคนจะผอมกันหมด (หัวเราะ)” ตี๋-วสันต์ สิริสุขพิสัย มือออร์แกนอารมณ์ดี ยังคงสร้างเสียงหัวเราะให้สมาชิกวงได้เสมอๆ ไม่เคยเปลี่ยน
[ตี๋-วสันต์ มือออร์แกนอารมณ์ดี]
“ก็คาดหวังว่าครั้งนี้จะเป็นการรวมตัวกันเล่นที่มีความสุขเหมือนเดิม เท่าที่ดูจากเฟซบุ๊กแล้ว เราก็มีความรู้สึกว่าเขากำลังรออยู่นะ รอว่าภาพในอดีตจะย้อนกลับมา คือคนฟังอาจจะไม่ได้นึกถึงเรื่องเพลงทั้งหมดหรอก เพลงมันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่การฟังเพลงมันเหมือนช่วยย้อนความทรงจำในช่วงอายุนั้นของเขาได้อีกครั้ง มันจะทำให้เขาย้อนกลับไปนึกถึงช่วงที่เคยลำบาก
เหมือนพวกเราเลย พอได้ยิน-ได้เล่นเพลงเก่าๆ ของเรา มันก็ทำให้เรานึกถึงเมื่อ 30-40 ปีแล้ว ตอนที่ต้องแข่งกับวงอื่นๆ อีกเยอะแยะ และพวกเราก็บ้าวิชา แกะเพลง เอามา arrange ใหม่กันเยอะมากๆ จนเกิดเป็นหลายๆ อัลบั้มขึ้นมา จนถึงทุกวันนี้ เราก็ยังบ้าวิชากันเหมือนเดิม (ยิ้ม) ก็พยายามจะไม่แก่แล้วแก่เลย ในเมื่อเรายังอยู่ในเรื่องวิชาการดนตรีตรงนี้ เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด ก็คงต้องคอยดูว่าจะออกมารูปแบบไหน”
แอ๊ด-ทนงศักดิ์ อาภรณ์ศิริ มือเบสของวง ผู้อยู่เบื้องหลังวงการเพลงรุ่นใหญ่ พยักหน้าเห็นด้วยกับเพื่อนเมื่อได้ยินคำว่า “ไม่แก่แล้วแก่เลย” แล้วขอขยายความในมุมมองของเขา “ส่วนใหญ่คนที่ปลดเกษียณตัวเองจะมีชีวิตที่เดียวดายในโลก ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าไหร่ แต่แกรนด์เอ็กซ์ถึงจะปลดเกษียณตัวเองแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยทำเอาไว้ก็ยังมีคุณค่าในวงการอยู่ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะยุคไหน เพลงก็ทำหน้าที่ของมัน นี่แหละคือคุณค่าของเพลง”
[เต๊ะ-โชคดี มือทรอมโบน]
ส่วนสมาชิกอีก 2 รายที่พูดไม่ค่อยเก่งอย่าง เต๊ะ-โชคดี พักภู่ มือทรอมโบน และ รัก-พนัส หิรัญกสิ มือแซกโซโฟน ก็ได้แต่บอกความรู้สึกของพวกเขาเอาไว้เบาๆ ว่า รู้สึกดีใจที่มีการรวมตัวครั้งนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง “ดีใจแทนแฟนเพลงของพวกเราด้วยครับ” เต๊ะบอกไว้สั้นๆ ก่อนให้รักเป็นคนพูดความในใจปิดท้าย
“ตั้งแต่เล่นคอนเสิร์ตมา ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนหรือกับใคร มันไม่เหมือนเล่นกับแกรนด์เอ็กซ์ เพราะเล่นกับแกรนด์เอ็กซ์ เพื่อนๆ ให้สิ่งที่ดีๆ กับเรา คือเราไม่ได้เก่งกาจหรอก แต่ที่เพลงมันดีขึ้นได้ ทุกอย่างมันสมบูรณ์ได้ ก็เพราะพวกเราทุกคน”
วงดนตรีผู้การปฏิวัติเพลงไทย!!
[ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “วงแกรนด์เอ็กซ์ Official”]
รู้ไหมว่าภาพสาวกแดนกิมจิ ต่อคิวซื้อบัตร-จองที่ในบ้านเราอย่างมหาศาลทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ปรากฏการณ์ผู้คนล้นหลามแบบเดียวกันนั้น เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว ตั้งแต่ยุคโด่งดังที่สุดของวงแกรนด์เอ็กซ์ อัลบั้ม “แกรนด์เอ็กซ์ โอ” พวกเขายืนยันด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่าไม่ได้โม้ แต่ถึงขั้นที่แฟนๆ เบียดกันจนกระจกหอประชุมแตก และอีกหลากหลายเหตุการณ์ที่ฝากรอยประวัติศาสตร์เอาไว้ ระหว่างวงสุดฮอตวงนี้เดินทางไปทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศ
“แกรนด์เอ็กซ์ไปเล่น จนบรรดาครูบาอาจารย์ไม่ให้ไปแล้ว เพราะหอประชุมพัง (ยิ้ม) ขนาดว่าเขาสร้างใหม่แล้ว เขายังพูดถึงกันมาจนทุกวันนี้อยู่เลยว่า หอประชุมเคยพังเพราะวงแกรนด์เอ็กซ์” หัวหน้าวงหัวเราะเบาๆ ให้กับความทรงจำในวันวาน ก่อนปล่อยให้นักร้องนำอย่างแจ้รับไม้ต่อไปขยายความ
[แจ้-ดนุพล สมัยเป็น "แกรนด์เอ็กซ์" วัยทีน]
“สิ่งเหล่านี้น้องๆ รุ่นหลังอาจจะไม่ทราบ อย่างตอนคอนเสิร์ตโลกดนตรี มีคนไปดูเราล้นมาถึงเกาะกลางถนนเลยนะ ต้อง ปีนต้นไม้ดูกันก็มี หรืออย่างเวลารู้คิวคอนเสิร์ตล่วงหน้าที่ไหน คนก็จะต่อแถวยาวเหยียด กางมุ้งไปนอน ถือปิ่นโตไปวางจองที่กันไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืนเลยก็มี”
“ที่เห็นเด็กต่อคิวดูศิลปินเกาหลีทุกวันนี้ จริงๆ แล้วรุ่นๆ พ่อแม่เขาเป็นมาก่อนแล้ว (หัวเราะ)” มือทรัมเป็ตของวง ยังคงหยิกแกมหยอกให้เหล่าเพื่อนๆ ร่วมวงของเขามีรอยยิ้มไปได้ตลอดช่วงบทสนทนา
“เราเห็นมาหมดแล้วครับตั้งแต่รุ่นนั้น” แจ้ช่วยคอนเฟิร์มอีกครั้งหนึ่ง “สมมติว่าพรุ่งนี้เราจะขายตั๋วกัน 10 โมงเช้า วันนี้คนไปจองที่กันเต็มหมดแล้ว เชื่อไหมเราเคยขับรถไปแอบดูแฟนๆ กันด้วยตอนกลางคืนว่า คนมาต่อคิวรอซื้อตั๋วเรายังไงบ้าง สบายดีไหม ปลอดภัยไหม (ยิ้ม)”
ส่วนสถานที่ทัวร์คอนเสิร์ตที่เคยฝากรอยประวัติศาสตร์เอาไว้ ก็ไม่ได้มีแค่การเบียดเสียดกันจนกระจกที่หอประชุมใหญ่ จุฬาฯ แตก แม้แต่ห้องจ่ายตั๋วประจำโรงหนังเอเธนส์สมัยนั้น ก็พังมาแล้ว หรือแม้แต่ภายในสตูดิโอถ่ายทอดรายการ “โลกดนตรี” ยังต้องย้ายออกมาจัดกันกลางแจ้ง เนื่องจากแฟนเพลงเบียดกันเข้าไปจนคนล้น“ทั้งประตู ทั้งกล้อง เกือบจะพังหมด จนต้องย้าย” มือกลองหุ่นบึ้กช่วยเพื่อนๆ รำลึกความหลังขึ้นมากลางวง
[เบิ้ม-ประสิทธิ์ ผู้คุมจังหวะประจำวง]
นอกจากเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ความคลั่ง กระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้แก่แฟนเพลงวัยรุ่นสมัยนั้นได้ทั้งประเทศแล้ว วงแกรนด์เอ็กซ์ยังเป็นผู้ปฏิวัติคำว่า “คอนเสิร์ต” ในบ้านเราอีกต่างหาก ถ้าใครมีชีวิตวัยใสในยุคไล่ๆ กันคงพอจำได้ว่า ก่อนหน้าปี 2525 ประเทศไทยมีเพียงคำว่า “มหกรรมดนตรี” เท่านั้น ยังไม่มีวัฒนธรรมการเล่นคอนเสิร์ตกระหึ่มฮอลล์ ว่าแล้ว 'ต้อง' ก็ขอรับช่วงเล่าเรื่องราวในส่วนนี้ต่อ เพื่อให้คู่สนทนานึกภาพตามไปได้ว่า ทำไมคนกลุ่มนี้จึงถูกขนามนามว่า เป็นผู้จุดกระแสการจัดคอนเสิร์ตมาตรฐานสากลให้แก่วงดนตรีไทย
“สมัยนั้นจะมีบริษัท Night Sport ที่ชำนาญเกี่ยวกับเพลงฝรั่ง ติดต่อนำคอนเสิร์ตวงดังๆ จากเมืองนอกมาแสดงในไทย แล้วพวกเราที่เป็นนักดนตรีก็ได้ไปดู ไปเห็นว่าเขาใช้คำว่าคอนเสิร์ต แล้วก็มีกันแค่ 4-5 คนเท่านั้นเอง แต่ทำไมเสียงดนตรีเขาดังกระหึ่มได้ขนาดนั้น เราก็ตกใจ ทำไมเวลาเราไปเล่นกันยกวง เครื่องดนตรีตั้งเยอะแยะ เสียงมันดังนิดเดียว เป็นเพราะของเขาเล่นตัว PA เป็นลำโพงใหญ่ๆ 2 ข้าง
[ต้อง-นคร มือกีตาร์และหัวหน้าวง]
เทียบกับสมัยก่อนในบ้านเรายังไม่มีใครเล่นอย่างนี้ ของเราจะมีแค่ลำโพงเล็กๆ ไม่กี่ตัว กลองก็ไม่มีลำโพงของตัวเอง กีตาร์ก็ไม่มีใครเอาไมค์ไปจ่อ คนที่ฟังเพลงอยู่ล่างเวทีก็จะได้ยินเสียงกีตาร์ เสียงกลอง จากที่ลอยออกมาโดยตรง ไม่ได้ผ่านลำโพง เราเลยรู้สึกว่าทำไมเขาทำได้ เลยติดต่อไปหาคนที่รู้จักใน Night Sport บอกเขาว่าเราจะทำคอนเสิร์ตอย่างนี้ เราจะเช่าเครื่องเสียงอย่างนี้ ไฟอย่างนี้ แล้วเราก็จะเรียกมันว่า 'คอนเสิร์ต' ซึ่งเราเป็นวงดนตรีวงแรกที่ทำได้แบบนั้น
ตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจให้เกิดปรากฏการณ์อะไรเลย มันแค่เกิดจากความรู้สึกว่า ทำไมฝรั่งทำได้ คนไทยจะทำไม่ได้ เราเป็นตัวแทนของนักดนตรีไทยที่รู้สึกว่าเราเสียเปรียบนี่นา เหมือนเราเล่นกันแค่นี้ ด้วยเครื่องมือเท่านี้ เสียงของเราจะไปดังสู้เขาได้ยังไง ทุกคนก็เลยคิดเหมือนกันว่าเราต้องทำ”
ยัง..วีรกรรมของพวกเขายังไม่หมดเพียงเท่านั้น! นอกจากจะปฏิวัติคำว่า “คอนเสิร์ต” ให้เข้ามาในวิถีการฟังเพลงของคนรักตัวโน้ตแล้ว แกรนด์เอ็กซ์ยังถือเป็นวงที่ปฏิวัติ “วัฒนธรรมการฟังเพลงของคนไทย” สมัยนั้นด้วย ถ้าพูดขึ้นมาลอยๆ แบบนี้ หลายคนคงไม่เชื่อหูหรืออาจไม่เข้าใจ เจ้าของเสียงนุ่มๆ ในบทเพลงอมตะ“หัวใจมีปีก” จึงช่วยโซโล่เรื่องราวให้ฟัง
“พูดตรงๆ ว่าคนฟังเพลงสากลยุคนั้น ร้อยละ 90 ฟังแล้วแปลไม่ออก เราเองก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน เราก็เลยพยายามทำให้เขาหันกลับมาฟังเพลงไทยให้ได้ ทำให้เขายอมรับเพลงไทยในรูปแบบใหม่ๆ จากวงของเรา ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องฟังเพลงฝรั่งอย่างเดียวเหมือนเดิมอีกต่อไป วิธีของแกรนด์เอ็กซ์ก็คือ ต้องพยายามพิชิตหัวใจคนฟังให้ได้ ต้องมีความต่อเนื่อง แล้วทำให้เขาค่อยๆ หันมามองเราจนได้”
“เป็นเพราะเราเบื่อที่ต้องมานั่งเล่นเพลงคนอื่นไงครับ” และแล้วบทสนทนาก็ถูกดึงกลับไปอยู่หัวหน้าวงอีกครั้งหนึ่ง เขาเริ่มย้อนอดีตให้ฟัง ภายใต้กรอบสี่เหลี่ยมบนใบหน้านั้น ยังคงฉายประกายไฟในดวงตาอย่างชัดเจน
“สมัยนั้น ยิ่งวงไหนเล่นเหมือนแผ่นยิ่งเก่ง วงแกรนด์เอ็กซ์เรานี่นั่งแกะเพลง เล่นเหมือนแผ่นเป๊ะเลย ปี 2520 เราเล่นตามไนต์คลับจนเป็นวงที่ดังมากในสถานที่เต้นรำ คืนนึงมีคิวเล่น 3-4 แห่ง แล้วก็เป็นที่ที่ดังที่สุดของกรุงเทพฯ ด้วย วัยรุ่นสมัยนั้นก็จะไปเต้นรำกันในนั้น และเพลงก็จะมีแต่เพลงฝรั่ง ไม่มีเพลงไทยเลย เมื่อไหร่คนเขาจะหันมาเต้นเพลงไทยสักที และเมื่อไหร่เราจะมีเพลงของเราบ้าง เราควรจะมีเพลงของเราเองได้แล้วนะ
สมัยนั้นเพลงอาบาดีบีนี่ดังมาก ดนตรีขึ้นมาคนต้องออกมาเต้นทั้งๆ ที่ฟังไม่ออกว่ามันร้องว่าอะไรด้วยซ้ำ เราก็เลยทดลองเล่นเพลงเราไปเรื่อย ขึ้นอินโทรมาเป็นเพลงอาบาดีบีนี่เลย แต่พอท่อนร้องกลายเป็นเพลงอื่นแทน เป็นเพลง 'ปูไข่ไก่หลง' มาใส่ อินโทรเพลงฝรั่งขึ้นมา แต่ร้องเพลง 'สาวขอนแก่น” เข้าไป (พูดไปยิ้มไป) คนก็งงๆ แต่เขาก็ชอบ เราเลยลองทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ กับหลายๆ เพลง พอคนเขารับได้ เราเลยแต่งเพลงของตัวเองขึ้นมาเลย
[หลักฐานจากยุคเฟื่องฟู]
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คนยุคนั้นก็เริ่มมาฟังเพลงไทย จนอัลบั้มที่พีคสุดของเรา ที่ทำให้คนไทยหันมาฟังเพลงไทยกันเยอะมากที่สุดก็คือ อัลบั้ม 'แกรนด์เอ็กซ์ โอ' เป็นอัลบั้มที่เราเอาเพลงโบราณยุคเก่าๆ มากๆ มา arrange ใหม่ในแบบของเรา จนทำให้ติดหูคนไทย จากสมัยก่อนที่คนจะไม่ฟังเพลงของวงไทยเลย ถ้าจะฟังก็จะจะเป็นเพลงของ ‘ดาวใจ ไพจิตร’, ‘สุเทพ วงศ์กำแหง’ แล้วก็ ‘ธานินทร์ อินทรเทพ’ ไปเลย”
“ล้านก๊อบปี้” คือยอดขายการันตีความดังระดับบิ๊กเบิ้ม จากอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จที่สุดของวงแกรนด์เอ็กซ์ ปรากฏการณ์ในครั้งนั้นส่งแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ ให้คอเพลงชาวไทยหันมาหลงรักเพลงไทย ซึ่งเกิดจากฝีมือการประดิษฐ์ท่วงทำนองโดยนักดนตรีไทยได้อีกครั้งหนึ่ง
“ยอดเทปผ่านหลักล้านก๊อบปี้ได้ สมัยนั้นถือว่าเป็นปรากฏการณ์เลยนะ ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน เพราะคนสมัยก่อนจะฟังจากแผ่นเสียงเล็กๆ ตลาดคาสเซตต์ก็เพิ่งจะมาบูมช่วงแกรนด์เอ็กซ์ชุดแรกๆ พอดี พอมาชุดแกรนด์เอ็กซ์-โอ มันเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จมากๆ ต้องตระเวนไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทุกบ้าน ทุกครัวเรือน มีอัลบั้มของเราหมด มันทำให้ดนตรีไทยเข้าไปอยู่ในหัวใจของคนได้จริงๆ” เจ้าของน้ำเสียงนุ่มๆ ในอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จที่สุด พูดทิ้งท้ายด้วยแววตาแห่งความภาคภูมิใจ
“อมตะ” ได้ เพราะ “สายเลือดแกรนด์เอ็กซ์”
[นิตยสาร IQ ออกรายปักษ์ รวมเรื่องราวสายเลือดแกรนด์เอ็กซ์]
“...ลองมองไปบนท้องฟ้า มันจะมีทั้งดาวประดับฟ้า กับดาวค้างฟ้า แต่ดาวประดับฟ้าทุกวันนี้มีเยอะมาก แถมบางทีมีอุกาบาตวิ่งไปวิ่งมาอีกต่างหาก มีผีพุ่งไต้เต็มไปหมด กว่าจะเกิดดาวค้างฟ้าที่อยู่ตรงนี้ได้ มันก็เลยยากมาก...”
ถามว่าอะไรทำให้วงแกรนด์เอ็กซ์ยังคงเป็นอมตะ ค้างฟ้าอยู่ในใจแฟนเพลงทั้งประเทศมาได้จนถึงทุกวันนี้ เจ้าของคำจำกัดความ “ดาวค้างฟ้าแห่งวงการเพลง” เมื่อครู่อย่างแจ้ จึงช่วยแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมอีกว่า...
“มันคือเรื่องผลงานครับที่ทำให้คนไม่ลืม ทำให้คนรุ่นใหม่ๆ ยังหันมาศึกษาแล้วก็ชื่นชอบชื่นชมอยู่ ปัจจุบันนี้มันไม่ใช่เรื่องของรูปร่างหน้าตา เรื่องอายุอานามแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของความศรัทธาล้วนๆ เลย... ความศรัทธาเป็นเรื่องสำคัญนะ เหมือนเวลาเราไปดูศิลปินบางท่าน เราไม่ได้ไปดูเพื่อให้เห็นว่าเขาแตกต่างไปจากเดิมซะเมื่อไหร่ แต่เราดูเพราะว่าเรารักเขา เราชื่นชมผลงานของเขา เพลงนั้นเขาก็ร้องเพราะ เพลงนี้ก็ร้องเพราะ เรานับถือในความสามารถของเขา”
[แจ้-ดนุพล นักร้องผู้มีน้ำเสียงนุ่มทุ้มเป็นเสน่ห์]
แค่บทเพลงอย่างเดียว คงไม่ทำให้เราเป็นอมตะในใจแฟนๆ มาจนถึงทุกวันนี้... 'ต้อง'มองว่าที่ยังทำให้เอกลักษณ์ความเป็นวง ตราตรึงอยู่ในใจแฟนๆ มายาวนานได้ขนาดนี้ เป็นเพราะความผูกพันที่พวกเขาตั้งใจมอบให้ไว้ตั้งแต่ต้น
“เราตั้งใจทำแกรนด์เอ็กซ์ให้เป็น consumer product คือเราจะไม่ทำให้แกรนด์เอ็กซ์เป็นเหมือนวงพิเศษที่เขานานๆ มาซื้อของทีแล้วก็ไป แต่เราทำให้เขารู้สึกว่าเราเป็นสินค้าที่เขาต้องใช้อยู่เสมอ เหมือนพวกสบู่ ยาสีฟัน แฟ้บ ฯลฯ และเราตั้งใจที่จะเข้าไปอยู่ในบ้านเขา เลยทำให้เราอยู่มาได้นาน เราผลิตงานให้เข้าถึงทุกคนในครอบครัว ให้แกรนด์เอ็กซ์เข้าไปเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นหลานของคนในบ้าน บางคนเดินมาบอกว่า ผมฟังเพลงพี่ตั้งแต่ 4 ขวบ ทุกวันนี้เราก็ยังมีแฟนเพลงตัวเล็กๆ เหล่านั้นอยู่ นี่แหละคือสิ่งที่ช่วยทำให้เราเป็นอมตะ ทำให้เรายังอยู่ในหัวใจของเขา
สมัยก่อน เรามีการให้คำปรึกษาเขาด้วยนะ ในช่วงที่เรายังมีสื่อของตัวเองทั้งทางวิทยุ, ทีวี, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, ทั้งทางจดหมาย ฯลฯ เราสื่อสารกับเขาทุกทางเลย กลับมาบ้านก็ต้องฟังวิทยุของแกรนด์เอ็กซ์แล้ว หรือทุกๆ 15 วัน ก็จะมีนิตยสาร IQ ออกมา เขาก็ต้องซื้อแล้ว และในนั้นมีแต่คำสอนของพวกเราทั้งนั้นเลยว่าให้ทำตัวเป็นเด็กที่ดียังไง ลองไปเปิดดูได้ มันเป็นการสื่อสารกันจริงๆ จังๆ ไม่เหมือนไลน์สมัยนี้ มันเลยเหมือนเราได้ติดต่อกันตลอดเวลา เขาเลยรู้สึกเหมือนเราเป็นครอบครัว พอเป็นครอบครัวแล้ว มันก็จะอยู่ในใจแล้ว ไม่ออกไปแล้ว มันไม่ใช่แค่เรื่องเพลงอย่างเดียว ความรู้สึกแบบนี้มันสร้างยากนะ
มีถึงขนาดต้องไปแก้ปัญหาครอบครัวให้กับเขาเลยนะ พอเขามีปัญหา คนบางคนจะฆ่าตัวตาย เราต้องไปหาเขาที่บ้าน ไม่ใช่เขามาหาเราแล้วนะ ไปคุยกับครอบครัวเขา ทุกคนในวงถ้ามีโอกาสก็จะต้องทำอย่างนี้ ถามว่ามีวงดนตรีวงไหนบ้างล่ะที่เป็นแบบนี้ ผมว่าไม่มีหรอก (ยิ้ม)
ทุกวันนี้คนเหล่านั้นที่เคยคิดจะฆ่าตัวตายก็ยังมีชีวิตอยู่ เขาเข้าใจดีเลยว่าวันนั้นเราได้ให้ข้อคิดอะไรเขา ช่วยอะไรเขาไว้ จนเขามีชีวิตมาถึงปัจจุบัน แล้วอย่างนี้ เราจะไม่อยู่ในใจเขาได้ยังไง มันเกินกว่าคำว่า ‘แฟนเพลง’ หรือ ‘แฟนคลับ’ แล้ว เราถึงใช้คำว่า 'สายเลือดแกรนด์เอ็กซ์' ไงครับ
ถามว่าเขาทำไมยังคิดถึงอยู่ เพราะเขาจำได้ว่าตอนที่เขาเด็กๆ เนี่ย พวกเราทุกคนได้สอนอะไรเขา ให้เขาตั้งใจเรียนหนังสือ ให้เขาเป็นเด็กดี ให้เขาเชื่อฟังพ่อแม่ ให้เขาไม่ต้องเอาดอกไม้มาให้หน้าเวที ไม่ต้องกอดจูบพวกเรา ปฏิบัติตัวให้ดีๆ ให้พ่อแม่ได้ภูมิใจในตัวเขา จนกระทั่งเขาจบมหาวิทยาลัย ไปเรียนนอกกลับมา คุณคิดว่าถ้าเป็นแบบนี้เขาจะมาดูไหม (ยิ้ม) อย่าว่าแต่มาเล่นคอนเสิร์ตเลย ต่อให้เจอที่ไหน เขายังดีใจ มาขอบคุณเราเลยว่าที่หนูเป็นตัวเป็นตนทุกวันนี้ได้ ก็เพราะพวกพี่ๆ นี่แหละ”
ถ้าใครเป็นแฟนตัวจริงจะรู้ว่า สิ่งที่พวกเขาตั้งปณิธานในทุกๆ อัลบั้มคือ การอุทิศ 1 เพลงในนั้นเป็น “แทร็กสร้างสรรค์สังคม” ในเมื่ออยากจะเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของแฟนๆ พวกเขาจึงไม่ลังเลที่จะตัดเรื่อง “เพลงขาย” ออกไป แล้วให้พื้นที่แก่ “เพลงดี” ที่ช่วยเตือนใจคนในสังคมแทน
“ปกติสมัยก่อน อัลบั้มนึงจะมีเพลง 10 เพลง และเพลงทั้งหมดในนี้ จะแบ่งง่ายๆ ออกเป็น ‘เพลงขาย’ ซึ่งจะมีทั้งแบบเร็วและช้า เป็นเพลงที่คิดว่าปล่อยไปแล้วต้องฮิตแน่นอน แล้วก็ 'เพลงรอง' อื่นๆ แต่วงเราจะขอไว้เพลงนึงในทุกอัลบั้มเลยที่ต้องมี คือ ‘เพลงสร้างสรรค์’ เอาไว้ให้พ่อแม่ฟัง เอาไว้สอนเด็ก อย่างเพลง ‘ไม้ใกล้ฝั่ง’ หรือเพลง ‘อย่าหย่ากันเลย’ ถ้าใครเคยฟังจะรู้ว่าเราต้องการจะสื่ออะไร” ว่าแล้วหัวหน้าวงก็ปล่อยให้ 'รัก' มือกีตาร์ ผู้เป็นเจ้าของเนื้อร้องสะท้อนสังคมเหล่านี้ เป็นคนอธิบายด้วยตัวเอง
“เพลง ‘ไม้ใกล้ฝั่ง’ จะพูดถึงเรื่องเด็กๆ ที่ลืมพ่อแม่ มองว่าจู้จี้ แต่พอเขาเสียไปแล้วถึงจะนึกได้ว่า พ่อแม่สอนเราดีนะ แต่เราไม่ยอมทำตาม กว่าจะนึกได้ก็สายไปเสียแล้ว หรือเพลง ‘อย่าหย่ากันเลย’ ก็จะพูดถึงเรื่องที่ผลกรรมหลังการหย่ากันของพ่อแม่ ที่มันจะมาตกที่เด็ก”
[รัก-พนัส มือแซกโซโฟน เจ้าของเนื้อร้องสะท้อนสังคมหลายๆ เพลงของแกรนด์เอ็กซ์]
“แล้วก็มีเพลง ‘เดียวดาย’ อีกเพลงครับ ที่พูดถึงชะตากรรมของเด็ก หลังพ่อแม่ที่หย่ากันแล้ว” บทสนทนาเวียนกลับมาที่ต้องอีกครั้ง
“เหลือเด็กคนเดียว ถามว่าเด็กมันจะไปทางไหนดี พ่อก็อยู่ทาง แม่ก็อยู่ทาง ตัวฉันจะอยู่กับใคร อยู่ยังไง ก็กลายเป็นปัญหาสังคม เพลงนี้เป็นการบอกให้ครอบครัวระมัดระวังเรื่องเหล่านี้ หรืออย่างเพลง ‘แม่ใจร้าย’ ก็พูดถึงการทิ้งลูกข้างถนน แล้วก็มีบางอัลบั้มที่ตั้งใจทำขึ้นมาเพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีอย่างเดียวเลยก็มี ถามว่าเป็นการตลาดไหม ก็เป็นการตลาดอย่างนึง แต่เป็นการตลาดแบบคืนให้สังคม
นี่เป็นข้อดีของการที่เรามีฐานแฟนเพลงที่เหนียวแน่นนะ ทำให้มีโอกาสทำอะไรแบบนี้ได้ เลยคิดว่าไหนๆ เราก็มีตั้ง 10 เพลงในอัลบั้มแน่ะ ขอแผ่นเสียงสักร่องนึงไม่ได้เลยเหรอให้กับเขา คนฟังไม่เพราะก็ไม่เป็นไรหรอก แต่เราตั้งใจจะให้มีเพลงอย่างนี้เอาไว้เพื่อสอนคน เพลงที่ไม่ใช่เพลงป็อปที่จะมานั่งร้องในไนต์คลับ อย่างเพลง ‘อย่าหย่ากันเลย’ เนี่ย ถ้าหยิบขึ้นมาร้องคนคงหนีกันหมด (ยิ้ม) แต่ขอให้พ่อแม่เขาได้ฟังเพลงเหล่านี้ ให้ได้ชื่นใจหน่อยว่า สังคมควรจะคิดถึงสิ่งเหล่านี้บ้าง” แจ้พยักหน้ารับมุมมองของเพื่อนร่วมวง ก่อนปิดท้ายคมๆ ในมิติของเขา
“ต้องยอมรับว่า บางทีเด็กวัยรุ่น เขาก็เชื่อฟังเรามากกว่าเชื่อฟังพ่อแม่อีกนะ เวลาเขารัก เขาหลงใหลใคร ยิ่งเขามั่นใจว่าเราจะชักจูงเขาไปในทางที่ดีแล้วด้วยเนี่ย เราก็อาศัยจังหวะตรงนี้แหละ ช่วยพ่อแม่เขาทางอ้อมแต่เราไม่ได้ไปดุเขา ไม่ได้ไปว่าเขา ให้เขารู้สึกว่าหนีทางนู้นแล้วยังมาเจอทางนี้อีก แต่เรามีวิธีการสอนให้เขาไม่ให้เบื่อ สอนเขาผ่านตัวเพลง
แต่สังคมปัจจุบัน มันไม่มีใครที่จะมาออกเพลงอะไรแบบนี้แล้ว ส่วนใหญ่มีแต่เพลงรักๆ ใคร่ๆ อกหัก-รักไม่เป็น ไปๆ มาๆ วนอยู่แค่นี้ บทเพลงที่มันสอดแทรกความคิดเข้าไปในเพลง มันไม่ค่อยมี ผิดกับสมัยก่อน คำว่า ‘นายทุน’ ยังไม่มีบทบาทเหนือกว่าศิลปิน โดยเฉพาะยุค 70-80’s คือยุคที่ศิลปะดีที่สุดในโลกแล้ว ทุกอย่างเกิดมาจากศิลปินจริงๆ นักแต่งเพลงดี นักดนตรีดี นักร้องดี คนฟังดี เพราะฉะนั้น นายทุนไม่มีความหมาย เลยทำให้คนฟังได้ความเป็น pure arts จากศิลปินจริงๆ ได้ผลงานที่ศิลปินเป็นคนกำหนด”
ไม่จำเป็นต้องหนี “สไตล์” ของตัวเอง! [แอ๊ด-ทนงศักดิ์ โปรดิวเซอร์มือทอง มือเก๋าเรื่องคุมซาวนด์คอนเสิร์ต] “คอนเสิร์ตของวงแกรนด์เอ็กซ์ของเราครั้งนี้ ผมอยากให้เสียงออกมาเป็นธรรมชาติมากที่สุด จะไม่เป็นเสียงอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาปะปน เพราะช่วงชีวิตเราตอนนั้น คอมพิวเตอร์ยังไม่ได้เข้ามามีบทบาทกับเพลงของเรา ทุกอย่างต้องอัดจริงหมด สมัยก่อนอัดแค่ 2 แทร็กเอง มีแค่ L/R ลำโพงซ้ายขวา นักดนตรีอัดพร้อมกัน คนไหนกระแอมขึ้นมาก็ต้องอัดใหม่หมดเลย มันเป็นอะไรที่ยุ่งยากมาก แต่เดี๋ยวนี้การอัดมันมีถึง 48 แทร็กแล้ว ต่างจากสมัยก่อนมาก เราเลยอยากให้ซาวนด์เราฟังแล้วเหมือนมีคนมาเล่นสดให้ฟังอยู่ใกล้ๆ อย่างตัวโน้ต บอกเลยว่าไม่เปลี่ยนแน่นอน อย่างเพลงที่เราชอบ ที่อยู่ในใจเราแล้ว เวลาเราไปดูคอนเสิร์ตแล้วเราไปเปลี่ยนตัวโน้ต มันเสียความรู้สึกคนตั้งใจมาฟังออริจินัลนะบางที มันหงุดหงิดนะบางทีสำหรับคนฟัง ก็เลยคิดว่าตรงนี้จะเหมือนเดิม ออริจินัลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะทุกอย่างมันลงตัวแล้ว นอกนั้นคือเพิ่มอีกนิดๆ หน่อยๆ ให้เป็นสีสัน ซึ่งจะไม่รบกวนความรู้สึกที่ดีของเพลงให้หายไป ผมคิดว่าถ้าเราหาสไตล์ของตัวเองได้แล้ว ก็ควรจะคงไว้แบบนั้น แล้วพัฒนาต่อไปอีกนิด บางทีก็ไม่จำเป็นต้องพยายามหาอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ เข้ามาใส่ตลอดเวลาก็ได้ ถ้าเรามีสไตล์ที่ชัดแล้ว เราจะหนีตัวเองไปเพื่ออะไร ถ้ามั่นใจว่ามาถูกทางแล้วก็ควรยึดทางนั้นไว้ ส่วนจะใส่สีสันอะไรเข้าไปเพิ่มเติม ก็ต้องดูว่ามันเข้ากับกาลเวลานี้หรือเปล่าเท่านั้นเอง” |
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “วงแกรนด์เอ็กซ์ Official”
สอบถามรายละเอียดคอนเสิร์ต: fb.com/bectero และ www.thaiticketmajor.com
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754