น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าเห็นผี เมื่อคนไข้เห็น กองทัพหนู ขณะนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านพระประแดง พอบอกพยาบาล กลับได้รับคำตอบว่าให้ไปร้องเรียนเอง ทว่าความที่ต้องนอนรักษาตัว จึงต้องช่วยตัวเองก่อน โดยนำกาวดักหนูมาแก้ปัญหา จับได้ 9 ตัว แถมเห็นหนูไต่เตียง ลิ้นชัก จิบน้ำในแก้ว ยั้วเยี้ยเต็มห้องผู้ป่วย!?!
ผงะ! พบหนูชุกขณะนอนรพ. ต้องจับเองด้วย
วาสนา รอดฉ่ำ ซึ่งเป็นชาวสมุทรปราการ เล่าให้สื่อฟังว่า ตนเองประสบอุบัติเหตุ หกล้มขาถลอก จึงใช้สิทธิบัตรทองเข้ามานอนรักษาตัวและนอนห้องผู้ป่วยรวมบนชั้น 7 ของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ย่านพระประแดง จ.สมุทรปราการ
นอนคืนแรก เธอได้ยินเสียงถุงพลาสติกกรอบแกรบๆ และเสียงช้อนดังเก๊งๆ ก็ยังไม่เอะใจอะไร คิดว่าคงเป็นเสียงของผู้ป่วยที่นอนเตียงข้างๆ
คืนต่อมา เธอได้ยินเสียงลักษณะเดียวกันนี้อีก จึงเปิดไฟดู ปรากฎภาพที่เห็นคือ
“หนู มันเยอะมาก มันไม่ใช่ตัวเดียว หนู 2-3 ตัวลงไปกินน้ำในแก้ว”
ปกติจะมีแก้วน้ำสำหรับผู้ป่วยวางที่หัวเตียง ซึ่งเป็นตู้มีลิ้นชักไว้เก็บของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย
“และมันก็เดินไปมาตรงที่ลิ้นชักเก็บของ ไม่รู้จะทำยังไง ก็ตะโกนเรียกพี่ที่นอนตรงข้าม พวกเราก็บอกพยาบาล แล้วพยาบาลบอกว่าให้ไปฟ้องเอาเอง”
ความที่ต้องนอนรักษาตัวต่ออีกหลายคืน เธอจึงวานสามีช่วยไปซื้อกาวดักหนูมา 2 แผ่น พอวางแผ่นแรกคืนนั้น ตื่นเช้าเห็นหนูติดมา 5 ตัว วางใหม่ตอนเช้า ติดมาอีก 4 ตัว รวม 9 ตัว คนไข้ในห้องผู้ป่วยรวมพากันผวากลัว ไม่กล้ากินน้ำในแก้วที่หัวเตียง และที่กังวลสุด ไม่รู้ว่ามีเชื้อโรคจากหนูปนเปื้อนมาตามเตียงตู้ลิ้นชักด้วยหรือเปล่า
“เห็นด้วยตาตัวเอง มันเยอะมาก มันขึ้นไต่จากเตียงนี้ไปเตียงโน้น บางคืนนอนอยู่ มองไปที่เตียงข้างๆ เห็นหนูไปอยู่ตรงปลายเท้าเขา ลากถุงอะไรต่ออะไร มันยั้วเยี้ยไปหมด” เธอเล่าด้วยใบหน้าขยะแขยง
อันตรายและเชื้อโรคจากหนู
ข้อมูลจากวิชาการ.คอม บ่งชี้ว่าหนูมีเชื้อโรคและก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพดังนี้
1. โรคไข้กัดหนู (Ratbite fever) ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่หนูอมเชื้อโรคไว้ในตัว เชื้อจะเข้าไปในแผลที่ถูกหนูกัด ทำให้เป็นไข้หนาวสั่น ต่อมน้ำเหลืองโตได้
2. โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Lymphocytic Choriomeningityus ทำให้มีไข้ปวดตามเนื้อตัว ปวดศีรษะมาก ที่สำคัญโรคนี้ยังไม่มียารักษาจำเพาะ
3. โรคไข้เลือดออกที่มีอาการทางไตร่วมด้วย หรือ Hemorrhagic Fever with Renal Syndrome โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสฮันตาน (Hantaan) ระบาดใหญ่เป็นครั้งแรกในเกาหลี ทำให้มีคนล้มป่วยและตายเป็นจำนวนหลายร้อยคน
อาการสำคัญคือ จะมีไข้สูง มีเลือดออกใต้ผิวหนังเป็นจ้ำๆ ห้อเลือดเป็นจุดๆ มีเลือดออกที่ตาและจมูก อาเจียนเป็นเลือด ปัสสาวะเป็นเลือด โรคนี้ก็ไม่มียารักษา
4. โรคไข้รากสาดใหญ่ หรือที่มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า (Typhus ) มีอาการคล้ายกับไทฟอยด์ แต่รุนแรงกว่า สำหรับไข้ไทฟัสที่มีหนูมาเกี่ยวข้อง มี 2 ชนิด คือ มูไรน์ซีไทฟัส และสครับไทฟัส
5. โรคเลปโตสไปโรซิส หรือ "ฉี่หนู" อาการของโรคคือ เป็นไข้หนาวสั่น ตับอักเสบ มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม และปัสสาวะเป็นเลือด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคข้อหลังสุด “ฉี่หนู” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เคยเตือนจริงจังว่าโรคฉี่หนูในเมืองอันตราย เพราะ ‘หนูบ้าน-หนูในที่ทำงาน’ ก่อโรคฉี่หนูได้เหมือน ‘หนูป่า-หนูนา’โดยอาจติดเชื้อผ่านโต๊ะอาหารโต๊ะทำงานได้
โรคฉี่หนูใกล้ตัวเว่อร์ มากับหนูบ้านหนูอาคาร
“ปัญหาหนึ่งของโรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู คือ ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าพบได้เฉพาะในทุ่งนาหรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเท่านั้น แต่ความเป็นจริงหนูบ้านหรือหนูตามอาคารสำนักงานต่างๆ ก็เป็นพาหะของโรคเช่นกัน โดยเชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของหนูที่ติดเชื้อได้นานหลายเดือน”
เห็นได้ว่า สิ่งที่นพ.ณรงค์พูดนั้น หมายความถึงห้องผู้ป้วยอาคารโรงพยาบาลด้วย
“ต้องดูแลความสะอาด อาคารสำนักงาน โต๊ะทำงาน โต๊ะอาหาร บ้านเรือน กำจัดขยะเศษอาหาร ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหนู ถังขยะเปียกต้องมีฝาปิดป้องกันหนูลงไปกินอาหาร หากมีหนูควรใช้อุปกรณ์ดักหนูและกำจัดทิ้ง เพราะการใช้วิธีไล่หนูหนีจากบ้านเรือน สำนักงาน ไม่สามารถป้องกันได้ และจะทำให้หนูแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
โดยทั่วไปเชื้อฉี่หนูจะเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทางคือ ปากจากการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน และทางแผล เยื่อบุในปากหรือตา หรือรอยผิวหนังถลอก รวมทั้งผิวหนังปกติที่แช่น้ำนานๆ เชื้อก็สามารถไชผ่านเข้าไปได้ หลังติดเชื้อประมาณ 10 วัน จะมีอาการป่วยที่มีลักษณะเฉพาะต่างจากโรคอื่นๆ ได้แก่ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะที่น่อง โคนขาทั้ง 2 ข้าง หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ แจ้งประวัติการลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการพบเห็นหนูในบ้านหรือสำนักงานให้แพทย์ทราบเพื่อให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมียารักษาให้หายขาดได้”
แต่ปัญหาตอนนี้คือ โรงพยาบาลกลับเป็นแหล่งกระจายเชื้อโรคซะเอง
รพ.อินเดียควัก 3 ล้านจ้างบริษัทกำจัดหนู
วาสนา สงสัยด้วยว่าเพราะตนใช้สิทธิบัตรทองและนอนในห้องผู้ป่วยรวมหรือเปล่า ถึงต้องเจอกับห้องสกปรกเยี่ยงนี้ ทั้งที่เธออุตส่าห์เลือกรพ.เอกชนแล้ว นึกว่าน่าจะมีสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะอนามัยกว่ารพ.รัฐบาล
ประเด็นคือ ไม่ว่าใช้สิทธิอะไร รพ.ประเภทไหน เจ้าของคือใคร ถ้าขึ้นชื่อว่าเป็นรพ.แล้ว ต้องรักษาความสะอาดที่สุด ตามระดับมาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องสอดส่องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดจริงจัง และเมื่อพบปัญหาเป็นข่าวออกสื่อเช่นนี้แล้ว ก็ต้องรีบเข้าไปจัดการแก้ไขโดยเร็ว
เมื่อปีก่อนนี้เอง รพ.มหาราชา เยชวันตรา ซึ่งเป็นรพ.รัฐที่ใหญ่ที่สุดในเมืองอินดอร์ รัฐมัธยประเทศ ภาคกลางของอินเดีย มี 400 เตียง มีคนไข้นอกมารักษาวันละเกือบ 1,000 คน ต้องเจอปัญหาหนู 70,000 ตัวอยู่ทั่วรพ. มีรูหนูราว 8,000 รู ซึ่งกองทัพหนูมหึมานี้ก่อกวน สร้างความเสียหาย กัดแทะอุปกรณ์การแพทย์ และกัดคนไข้
ทางรพ.จึงว่าจ้างบริษัทรับกำจัดสัตว์รบกวน ด้วยเงินถึง 5.5 ล้านรูปี หรือเกือบ 3 ล้านบาท
พนักงานกำจัดหนูจะนำเศษอาหารเช่น กุ้ง แอปเปิ้ล ฯลฯ พร้อมยาพิษไปว่างล่อไว้หน้ารูหนูเพื่อให้พวกมันออกมากินจากนั้นก็จะตาย และต้องคอยเปลี่ยนอาหารที่ใช้เป็นเหยื่อล่อ เพราะหนูเป็นสัตว์ฉลาด
พนักงานบริษัทกำจัดสัตว์รบกวนเล่าผ่านบีบีซีว่า หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจกำจัดหนูแล้ว รพ.แห่งนี้จะปลอดจากหนูและสัตว์รบกวนอื่นๆ ไปอีกนานนับหลายสิบปี
ดังนั้นหันกลับมาสะกิดรพ.เอกชน ที่เป็นแหล่งประชากรหนู รวมทั้งรพ.อื่นๆ ที่ประสบปัญหานี้อยู่ กรุณาลงทุนกำจัดหนูอย่างจริงจัง
“สำนักระบาดวิทยาได้วิเคราะห์จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคฉี่หนูพบว่า ในปีงบประมาณ 2551-2555 มีผู้เสียชีวิต 313 ราย ร้อยละ 70 เป็นเพศชาย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ปี 2556 มีผู้ป่วย 3,005 ราย เสียชีวิต 31 ราย”
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลกับ MGR Online ไว้ว่า
“จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ศรีษะเกษ 317 ราย, สุรินทร์ 231 ราย, บุรีรัมย์ 194 ราย, นครศรีธรรมราช 148 ราย, กาฬสินธุ์และขอนแก่นจังหวัดละ 125 ราย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตตลอดทั้งปี แต่มักจะสูงสุดในฤดูฝนช่วง ก.ค. และ ต.ค. เพราะมีการเพิ่มประชากรหนูมาก และเชื้อแพร่กระจายได้มากจากน้ำฝน ทั้งนี้ ม.ค. 2557 พบผู้ป่วยแล้ว 91 ราย เสียชีวิต 1 ราย”
หมดหน้าร้อนนี้ก็เข้าหน้าฝนแล้ว จึงควรรีบกำจัดก่อนขยายเป็นมวลมหาประชากรหนู เนื่องจากสิ่งน่ากลัวสุดคือ
“จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาเริ่มป่วยจนถึงเสียชีวิตเท่ากับ 5 วัน” นพ.โสภณ กล่าวไว้
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754