"คอไส้กรอก" ผวาหนักมาก! เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผย "ไส้กรอก" 3 ยี่ห้อใส่สารกันบูดเกินมาตรฐาน ส่วนยี่ห้ออื่นๆ แม้จะใช้ในปริมาณที่กฎหมายกำหนด และสามารถซื้อกินได้ตามปกติ แต่ขึ้นชื่อว่า "สารเคมี" หากกินบ่อยๆ ก็อาจเป็นโทษต่อสุขภาพได้ แถมยังเสี่ยงต่อการได้รับโซเดียมจากเครื่องปรุงรสที่อาจสูงเกินจำเป็น ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และไตเสื่อมในอนาคต
"ไส้กรอก" ภัยสะดวกซื้อ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ไส้กรอก" เป็นอาหารที่หาซื้อได้ง่ายตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป แถมรสชาติอร่อยจนกลายเป็นอาหารยอดฮิตของใครหลายคน ทั้งนำไปเป็นอาหารหลัก หรืออาหารรับประทานเล่นระหว่างวัน ในขณะที่บางคนถึงขั้นต้องซื้อติดตู้เย็นเอาไว้ที่บ้านกันเลยทีเดียว
เกี่ยวกับ "ไส้กรอก" มีข้อมูลในเว็บไซต์ "ฉลาดซื้อ.com" เขียนบอกเอาไว้ว่า ไส้กรอก จัดอยู่ในกลุ่มอาหารเนื้อสัตว์แปรรูปสับบดที่ผ่านความร้อน เป็นอาหารแปรรูปที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่ต้องพึ่งสารเคมีหลายตัวในการผลิต หนึ่งในนั้นคือ "ไนเตรต และไนไตรต์" ซึ่งเป็นสารที่ช่วยในการคงสภาพของไส้กรอก
สำหรับ ไนเตรต และไนไตรต์ มีชื่อเรียกที่รู้จักกันหลายชื่อ ทั้งโซเดียมไนเตรต โซเดียมไนไตรต์ หรือโพแทสเซียมไนเตรต โพแทสเซียมไนไตรต์ และรวมถึงชื่อบ้านๆ ที่คนไทยรู้จักกันมานานอย่าง "ดินประสิว" ถูกนำมาใช้ในอาหารเนื่องจากมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม "คลอสตริเดียม โบทูลินัม" ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่มักจะเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่อยู่ในภาชนะปิดสนิท ไม่มีอากาศถ่ายเท เช่น พวกอาหารที่มีพลาสติกห่อปิดไว้อย่าง ไส้กรอก หมูยอ ทำให้ช่วยยืดอายุของอาหารออกไปได้อีก
นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติในการรักษาสีของเนื้อสัตว์ให้ยังคงสีแดงสดสวยงามดูน่ารับประทาน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมสารเหล่านี้ถึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ในการผลิตเนื้อสัตว์แปรรูป ไม่เฉพาะแค่ ไส้กรอก แฮม หรือ เบคอน แต่ยังรวมถึงพวก เนื้อแห้ง หมู/ไก่ยอ แหนม กุนเชียง ปลาแห้งด้วย
ปัจจุบัน แม้ว่ากฎหมายจะอนุญาตให้ใช้ไนเตรตและไนไตรต์ในผลิตภัณฑ์อาหารได้ แต่ก็มีการควบคุมปริมาณที่ใช้อย่างเข้มงวดด้วย เพราะถ้ารับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
ความอร่อยในความเสี่ยง
ทว่า ล่าสุด มีข้อมูลที่ผู้บริโภคอาจจะต้องคิดหนัก โดยเฉพาะใครที่ชอบรับประทานไส้กรอกเป็นชีวิตจิตใจ เพราะจากการสุ่มเก็บตัวอย่าง "ไส้กรอก" 15 ยี่ห้อที่วางขายตามท้องตลาดมาตรวจหาสารไนเตรต และสารไนไตรต์ หรือสารกันบูดในอาหาร ซึ่งตามมาตรฐานโคเด็กซ์ (Codex General Standard for Food Additives) หรือมาตรฐานอาหารสากล กำหนดให้นำมาผสมในอาหารได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม (มก.) ต่อกิโลกรัม (กก.)
โดย "ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ" มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะผู้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่างในครั้งนี้ พบว่า มีเพียงยี่ห้อเดียวที่ไม่พบทั้งไนเตรท และไนไตรท์ ขณะที่อีก 14 ยี่ห้อ หรือกว่า 93.33 เปอร์เซ็นต์ มีการเจือปนของสารดังกล่าว แต่ "ไม่เกิน" มาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด หรือตามข้อกำหนดของโคเด็กซ์ ส่วน 3 ยี่ห้อ หรือ 20 เปอร์เซ็นต์ พบปริมาณสารดังกล่าวเกินมาตรฐาน ได้แก่
1. ไส้กรอกฮอทดอก ตราเอโร่ พบไนเตรต 50.45 มก./กก. พบไนไตรต์ 40.82 มก./มก. รวมแล้วเท่ากับ 91.27 มก./กก.
2. NP ไบร์ทหมู พบไนเตรต 54.86 มก./กก. พบไนไตรต์ 77.47 มก./กก. รวมแล้วเท่ากับ 132.33 มก./กก.
3. บางกอกแฮม ไส้กรอกหมูคอกเทล พบไนเตรต 77.13 มก./กก. พบไนไตรต์ 71.48 มก./กก. รวมแล้วเท่ากับ 148.61 มก./กก.
ส่วน 1 ยี่ห้อที่ไม่ได้มีการผสมสารทั้ง 2 ชนิดเลยก็ คือ ค๊อกเทลซอสเซส ตราไทยซอสเซส ของบริษัทไทย-เยอรมัน มีท โปรดักส์ จำกัด นอกจากนั้น ในการสุ่มเก็บตัวอย่างในครั้งนี้ ยังพบด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดมีการแสดงข้อมูลว่ามีการใช้สารกันบูดทั้ง 2 ชนิดไว้ในฉลากโภชนาการเพียง 6 ชนิดเท่านั้น
แต่ปัญหาคือ ฉลากข้อมูลโภชนาการระบุรายงานส่วนผสมสารไนเตรต และไนไตรต์ เป็นรหัสตัวเลขทำให้ประชาชนไม่สามารถทราบได้ว่าแท้จริงแล้วเป็นอะไร จึงอยากให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจซื้อไส้กรอกมารับประทาน
สำหรับ 3 ยี่ห้อที่พบปริมาณสารดังกล่าวเกินมาตรฐานนั้น ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จะมีการส่งหนังสือไปยังบริษัทที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อแจ้งผลการทดสอบ และขอให้มีการปรับปรุงการใช้สารผสมในอาหารให้อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด รวมถึงส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้มีการติดตามตรวจสอบ และควบคุมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้ได้มาตรฐานต่อไป
ล่าสุด นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการ อย. ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ได้มีทีมลงพื้นที่ไปตรวจสอบยังสถานที่ผลิตไส้กรอกทั้ง 3 ยี่ห้อแล้ว เพื่อตรวจสอบสถานที่ผลิตว่าได้มาตรฐาน มีสารดังกล่าวเกินค่ามาตรฐานหรือไม่
รู้จัก "ไนเตรต-ไนไตรต์"
พูดถึงสาร ไนเตรต และไนไตรต์ นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ความรู้ไว้ว่า ในอุตสาหกรรมอาหารจะนำไปใช้เพื่อฟอกสีเนื้อสัตว์ให้มีสีสด ถือเป็นการถนอมอาหารแบบหนึ่งโดยใช้วัตถุกันเสีย และยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้อาหารเสียเร็ว ซึ่งยังไม่มีผลแน่นอนว่าจะก่อให้เกิดมะเร็งหรือไม่ แต่หากได้รับปริมาณมากเกินค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะคนที่แพ้สารดังกล่าวจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนหัว จากการได้รับพิษเฉียบพลัน
สอดรับกับข้อมูลจากภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เคยเขียนถึงเรื่องสารดังกล่าว โดยเฉพาะ "ไนไตรต์" ถ้าผู้บริโภคได้รับในปริมาณที่สูงมากทันที ไนไตรต์จะก่อให้เกิดภาวะอาการขาดออกซิเจน คือ มีอาการตัวเขียว เล็บเขียว หอบ เหนื่อย หัวใจเต้นแรง และอาจเสียชีวิตได้ เพราะไนไตรต์จับตัวกับฮีโมโกลบินในเลือดเกิดเป็นเมทฮีโมโกลบินทำให้ฮีโมโกลบินไม่สามารถจับตัวกับออกซิเจน
สำหรับปริมาณไนไตรต์ที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ในการบริโภคหนึ่งครั้ง คือ 32 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยถ้าคำนวณเทียบกับน้ำหนักตัวเฉลี่ยของวัยรุ่น (9-18 ปี, 44.5 กิโลกรัม) และผู้ใหญ่ (ตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป, 54.5 กิโลกรัม) พบว่า ปริมาณไนไตรต์ที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ในการบริโภคหนึ่งครั้ง คือ 1,424 และ 1,744 มิลลิกรัม ตามลำดับ
ในอดีตประเทศไทยเคยมีรายงานการเกิดโรคเมทฮีโมโกลบีนีเมียถึง 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรก (พ.ศ.2550) ผู้ป่วยเป็นเด็กนักเรียนที่บริโภคไส้กรอกไก่ที่มีปริมาณโซเดียมไนไตรต์สูงถึง 3,137 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และครั้งที่สอง (พ.ศ.2553) เป็นผู้ป่วยที่บริโภคไก่ทอดซึ่งมีการหมักด้วยสารไนไตรต์
สุดท้ายนี้ แม้ทางองค์การอนามัยโลกได้เคยออกมาเตือนว่า การรับประทานอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม ในปริมาณที่มากเกินไป อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายอย่างมะเร็งลำไส้ และกระเพาะอาหาร แต่ก็ไม่ได้บอกว่า "ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด" เป็นเพียงคำเตือนเพื่อให้ผู้บริโภคควรรับประทาน เบคอน ไส้กรอก ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป
ขอบคุณภาพจากเดลิเมล
ส่วนสาเหตุของโรคมะเร็งนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงแค่การกินเบคอน และไส้กรอกเพียงอย่างเดียว ทางที่ดีควรกินอาหารให้หลากหลาย โดยเฉพาะผัก และผลไม้ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้ ตลอดจนลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เช่นเดียวกับ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. ที่แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีและวิตามินอีสูงหลังมื้ออาหารเป็นประจํา ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดไนโตรซามีน (สารก่อมะเร็ง) ในกระเพาะอาหารได้ โดยอาหารที่มีวิตามินอีสูง เช่น นม ไข่ ธัญพืช ถั่วลิสง ผักโขม น้ำมันพืช ส่วนวิตามินซีจะมีมากในผักผลไม้ เช่น ผักคะน้า กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศสีดา ผักกวางตุ้ง ข้าวโพดอ่อน บร็อคโคลี่ ดอกกะหล่ำ ชะอม ฝรั่ง เงาะ มะละกอ มะขามป้อม พุทรา
นอกจากนั้น ยังแนะนำให้รับประทานอาหารหลากหลาย ไม่กินอาหารซ้ำซาก เพราะหากอาหารที่ชอบกินชนิดใดชนิดหนึ่งมีไนเตรตหรือไนไตรต์สูงเป็นประจํา และกินซ้ำทุกวัน ร่างกายจะได้รับสารเหล่านี้มากจนเกินไป เสี่ยงต่อการเกิดไนโตรซามีนในร่างกายได้
ขอบคุณภาพ และข้อมูลบางส่วนจากแฟนเพจ "นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" และเว็บไซต์นิตยสารฉลาดซื้อ
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754