xs
xsm
sm
md
lg

สัปดาห์หนังสือฯ มาพร้อม ‘ความหวัง’ ลบคำสบประมาท “คนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน8 บรรทัด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กลับมาอีกครั้งกับงานแฟร์ระดับชาติที่คนรักหนังสือไม่ควรพลาด “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 44 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 14” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ความหวัง” โดยมีแนวความคิดที่หวังจะให้คนไทยรักการอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นขุมทรัพย์แห่งปัญญาพัฒนาสังคมและประเทศชาติ เพื่อลบคำสบประมาทที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่เกิน 8 บรรทัด!”
ผู้จัดการ Lite ได้รับเกียรติจากนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย มาช่วยวิเคราะห์ถึงทางรอดของสำนักพิมพ์หน้าใหม่ และทิศทางของวงการหนังสือไทย ยืนยันว่าสำนักพิมพ์และนักเขียนตัวเล็กๆ ยังไงก็อยู่รอดแน่นอน!

สัปดาห์หนังสือ...แหล่งรวม “อัตลักษณ์” นักเขียนไทย


[ จรัญ หอมเทียนทอง]

“งานสัปดาห์หนังสือ เป็นงานที่ช่วยคนทำหนังสืออย่างแท้จริง”
จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และเจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว เปิดใจว่า “งานสัปดาห์หนังสือเป็นการทำลายร้านขายหนังสือรึเปล่า เป็นคำถามที่ผมเจอบ่อยมาก ถ้าพูดกันตรงๆ ผมว่าร้านขายหนังสือทำลายคนอ่านหนังสือมากกว่า บางร้านเขาขายแต่หนังสือตัวเอง ไม่เปิดโอกาสให้หนังสือจากสำนักพิมพ์เล็กๆ เข้าไปวางในร้านของเขา ลองคิดตามดูนะครับ ว่าแบบนี้ใครทำลายใครมากกว่า”

การที่งานสัปดาห์หนังสือฯจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง เพื่ออะไร ก็เพื่อเป็นการช่วยสำนักพิมพ์น้อยใหญ่ต่างๆ กว่าหลายร้อยแห่งทั่วประเทศให้อยู่ได้ เล็กก็มีตามเล็ก ใหญ่ก็มีตามใหญ่ ทำให้วงจรมันขับเคลื่อนไปได้ ดังนั้นคนทำหนังสือไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ จึงมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด
ที่บอกว่างานสัปดาห์หนังสือฯทำลายร้านหนังสือ คิดดูนะครับว่า ร้านหนังสือขายหนังสือตัวเองปีละ 365 วัน แต่งานสัปดาห์หนังสือปีหนึ่งมี 2 ครั้ง ครั้งละ 14 วัน ใครจะขายได้มากกว่า หรือจะลองเทียบกับงานมอเตอร์โชว์ดู เขาก็ไม่ได้ทำลายโชว์รูมขายรถรายย่อยเหมือนกัน” นี่คือเหตุผลที่ทำให้สัปดาห์หนังสือยังคงต้องมีอยู่ ก็เพื่อมีพื้นที่สำหรับสำนักพิมพ์เล็กๆ สามารถลืมตาอ้าปากได้ ภายใต้แรงกดดันของสำนักพิมพ์ชั้นนำต่างๆ ที่มีประสบการณ์มากกว่า

“สำนักพิมพ์เล็กๆ หรือสำนักพิมพ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ที่ยังอยู่ได้ นอกจากการมาเปิดบูทที่สัปดาห์หนังสือฯแล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะแต่ละที่มีอัตลักษณ์ของพวกเขาเอง และกระแสโซเชียลมีเดียลก็ยังส่งอิทธิพลมาถึงวงการนักเขียนด้วย อย่างใน Facebook ก็เป็นอีกแหล่งที่ทำให้เกิดนักเขียนใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น คิ้วต่ำ , มุนิน หรือเดอะดวง สิ่งสำคัญที่จะทำให้งานเขียนเป็นที่สนใจคือ ‘อัตลักษณ์’ และวิธีเล่นกับผู้อ่านตามสไตล์ของสำนักพิมพ์ หรือนักเขียนแต่ละคน
“ผมจะยกตัวอย่างนักเขียนชื่อดัง 3 คนคือ ประภาส ชลศรานนท์ , หนุ่มเมืองจันทร์ และนิ้วกลม ทั้ง 3 คนนี้มีลายเส้นเฉพาะตัวที่ชัดเจน และมีฐานแฟนหนังสือที่หนาแน่น คนรุ่นผมอาจจะชอบแนวการเขียนของ 2 คนแรก แต่ที่ตอบโจทย์กับสังคมสมัยนี้ก็เห็นจะเป็น นิ้วกลม โดยเฉพาะสาวๆ นี่รู้สึกว่าจะโดนใจกันมาก(หัวเราะ) ผมคาดว่าหนังสือของเขาจะยังเป็นที่นิยม ยังขายได้และขายดีด้วย


[ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ เจ้าของนามปากกา ‘นิ้วกลม’ ]

“ผมมองว่าเสน่ห์ของงานสัปดาห์หนังสือฯ คือการรวมตัวระหว่างนักเขียนกับนักอ่านให้มาเจอกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ที่สำคัญคือเป็นงานที่ไม่ต้องมีพริตตี้มาเรียกคนเข้าบูทหนังสือ(หัวเราะ) แต่อาจจะมีพริตตี้มาเดินเลือกซื้อหนังสือเพื่อประกอบความรู้ในอาชีพของตนก็ได้
อีกอย่างที่ผมสังเกตเห็นคือ ส่วนมากนักอ่านที่มางานสัปดาห์หนังสือ จะมาหาหนังสือเก่าลดราคากันทั้งนั้น เพราะหนังสือออกใหม่จะหาซื้อที่ไหน หรือตอนไหนก็ได้ งานสัปดาห์หนังสือฯ จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ยังไงคนที่เป็นนักอ่านอยู่แล้วก็ต้องมา แล้วไหนจะมีนักอ่านหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นอีก ทางสมาคมตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ไว้ที่ประมาน 600 ล้านบาท ซึ่งยอดขายไม่น่าจะตกลงจากปีก่อนๆ “

ถ้าไม่อยากรังแกห้องสมุดชนบท…หยุดขอรับบริจาคหนังสือ
นอกจากโอกาสที่จะได้พบปะนักเขียนในดวงใจ และยังได้ทำความรู้จักสำนักพิมพ์ใหม่ๆ แล้ว ผู้อ่านยังได้มีโอกาสร่วมทำบุญไปด้วยในคราวเดียวกัน กับโครงการ ‘1 อ่านล้านตื่น’ ซึ่งเป็นกิจกรรม CSR ที่ทำสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เป็น 1 ใน 6 เครือข่าย ที่จะมีการขอรับบริจาคเงินภายในงานสัปดาห์หนังสือฯ แล้วนำไปมอบให้กับชนบทต่างๆ เพื่อซื้อหนังสือที่ต้องการตามความเหมาะสม รวมทั้งความพยายามในการเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับ ‘การบริจาคหนังสือ’ ที่ประชาชนเข้าใจผิดมาโดยตลอด


[ ที่มา : http://pantip.com/topic/31846788 ]

“หากใครจะบริจาคเป็นหนังสือ ผมแนะนำให้ซื้อเลยครับ ไม่ต้องเป็นหนังสือใหม่แกะกล่องก็ได้ แต่ขอให้เป็นหนังสือที่สภาพดี ในงานสัปดาห์หนังสือมีหนังสือที่สำนักพิมพ์ต่างๆ นำมาลดราคาถูกๆ เยอะแยะ ถ้าไม่อยากบริจาคเป็นเงินก็มาซื้อหนังสือในงานแล้วนำไปบริจาคได้อีกทางหนึ่งครับ
ทางสมาคมมีความพยายามที่จะเปลี่ยนค่านิยมของคนไทยมาโดยตลอด ให้หยุดการรับบริจาคหนังสือ พอเราไปตั้งกล่องรับบริจาคปุ๊บ สิ่งที่เราได้กลับมาคืออะไร รายงานประจำปีบ้าง สมุดพกบ้าง นิยายผีสมัยก่อนเล่มละ 5 บาท 7 บาทบ้าง บางคนคู่มือการใช้ Iphone ไปทิ้งก็มี แล้วแบบนี้คนรับบริจาคจะได้ประโยชน์อะไร?”
“อย่าง Toyota ก็เคยทำ CSR เคยรับบริจาคหนังสือทั่วประเทศ แต่ต้องจ่ายเงิน 3 ล้านบาท เพื่อจ้างคนมาคัดแยกหนังสือ ผลปรากฏว่ามีหนังสือที่ใช้ได้ 20 % ส่วนอีก 80 % เขาเอาไปชั่งกิโลฯ ขาย แล้วเอาเงินมาซื้อหนังสือ แต่ตอนหลัง Toyota เลิกทำ เขาเอาเงินที่จ้างคนมาคัด ไปซื้อหนังสือใหม่เลยดีกว่า กรณีของ Toyota ยังดีที่เขาให้คนมาคัดแยกก่อน ถ้าเป็นที่อื่นที่ส่งไปให้แบบไม่ได้คัดแยก ลองคิดดูแล้วกันว่าห้องสมุดในชนบทจะได้หนังสือแบบไหนไปบ้าง

เราไม่ได้รังเกียจหนังสือที่มีคนนำมาบริจาค แต่เราเชื่อว่าคุณไม่ได้เอาของดีมาให้ เว้นแต่ว่าคุณจะตัดใจได้ ที่ผ่านมาผมยังไม่เคยเห็นใครนำ 'คู่กรรม’ หรือ ‘ต้นส้มแสนรัก’ มาบริจาคสักครั้งเลยนะ”(หัวเราะ)



“ ผมเคยไปห้องสมุดชนบทที่ อ.กุฉินารายณ์จอหนังสือนิตยสารเก่าฉบับปี 2538 คนที่ดูแลเขาไม่ยอมทิ้ง แต่เลือกที่จะเก็บไว้ เพราะไม่มีหนังสือใหม่ เวลาสร้างห้องสมุดประชาชน ทำชั้นหนังสือทำอะไรใหม่หมด สร้างสถานที่สวยงาม แต่หนังสือกลับขอรับบริจาค หัวใจของห้องสมุดคือหนังสือ แต่พอได้หัวใจเทียมมา แล้วจะแข็งแรงได้อย่างไร ห้องสมุดก็ตาย”
เสียงตัดพ้อพร้อมถอนหายใจของนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ขณะที่กล่าวถึงโครงการ CSR หลายๆ ตัว ที่มีการขอรับบริจาคหนังสือ เพื่อนำไปแจกจ่ายยังห้องสมุดในชนบท บ่อยครั้งที่พบว่าภายในกล่องขอรับบริจาคหนังสือ พบเพียงหนังสือที่ไม่มีประโยชน์ หรือหนังสือสภาพเก่าจนเรียกได้ว่าสภาพไม่ต่างจาก ‘ขยะ’
“ห้องสมุด TK Park ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะเขาเอาเงินจากสมาชิกห้องสมุดรายปี มาซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือฯ ทุกปี แต่ละครั้งใช้เงินไปกว่า 8 แสนบาท พอได้ส่วนลดในงานก็เอามาซื้อหนังสือเพิ่ม ห้องสมุดเขาเลยอยู่ได้ เพราะมีหนังสือใหม่มาเติมตลอด”


[ ห้องสมุด TK Park ]

หนอนหนังสือรุ่นใหญ่ยังพูดถึงความสำเร็จของห้องสมุดในประเทศไทย เขาได้ยกตัวอย่างว่า “โรงเรียน A วัดผลของห้องสมุดโดยที่ หนังสือห้ามหาย พอเล่มไหนแพง บรรณารักษ์ก็จะใส่ตู้ล็อกกุญแจเก็บไว้ เขากลัวหาย เป็นทรัพย์สินของทางราชการ ถ้าหายเขาก็ต้องซื้อมาใช้คืน แต่ในต่างประเทศเขาวัด KPI จากหนังสือเวียน ว่าเล่มไหนมีคนยืมมากเท่าไหร่ นั้นเท่ากับแสดงว่า เขาคำนึงถึงคนอ่านมากกว่ากลัวว่าหนังสือจะหาย”


น่าน้อยใจ...รัฐบาลไม่เคยหนุน ‘การอ่าน’ เป็นวาระแห่งชาติ
“สมัยผมเด็กๆ มีหนังสือเล่มหนึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์เรื่อง ‘ท้าวศรีสุดาจันทร์’ ถือว่าเป็นหนังสือเรต R เขาไม่ให้ยืมออกมา ต้องคอยไปอ่านตอนก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติ พอเรียกแถวปุ๊บ ผมก็เอาไปซ่อน พักกลางวันค่อยมาอ่านต่อ(หัวเราะ)”
ชายผู้คลุกคลีกับหนังสือจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เล่าถึงประสบการณ์ขำๆ ที่ตัวเองเคยใช้บริการห้องสมุดสมัยยังเป็น ด.ช.จรัญ ผ่านมาหลายปี เขาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการหนังสือมาทุกรูปแบบ แต่สิ่งที่ยังคงเหมือนเดิมไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย รัฐบาลไทยก็ไม่เคยให้ความสำคัญกับการอ่าน
“กระทรวงศึกษาธิการตกเป็นจำเลยสังคม เอะอะก็จะให้มีการปฏิรูป กระทรวงศึกษาฯ มีหน้าที่ทำให้คนอ่านออกเขียนได้ เรื่องการสร้างวัฒนธรรมการอ่านควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรม แต่กระทรวงวัฒนธรรมกลับไปให้ความสนใจกับละคร , ภาพยนตร์ หรือคอยจับผิดพริตตี้แต่งตัวโป๊ในงานมอเตอร์โชว์มากกว่า



ผมอยากให้พรรคการเมืองทุกพรรคมีนโยบายเรื่องการอ่านเป็นหลัก รวมไปถึงรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ด้วย ผมเคยร้องขอกับทาง กทม. ไปนะ ว่าควรมีโครงการ ‘1 Buildind 1 Library’ หรือ ‘1 อาคารสูง 1 ห้องสมุด’ โดยให้อาคารที่สูงเกิน 6 ชั้นขึ้นไป มีห้องสมุด 1 ห้อง แล้วความกว้างของห้องสมุดก็ตามขนาดชั้น ยกตัวอย่าง 6 ชั้นก็ 6 ตารางเมตร หรือ 9 ชั้นก็ 9 ตารางเมตร ตอนสร้างตึกยังกำหนดไว้ว่ามีห้องน้ำท่าไหร่ ทำไมห้องสมุดจะทำไม่ได้ เวลาไปต่างประเทศแล้วชอบพากันไปดูห้องสมุดของงเขา แล้วกลับมาบอกว่าสวยอย่างนั้นสวยอย่างนี้ ทำไมเราไม่เอาอย่างเขาบ้าง”



“นี่คือเด็กที่ไซด์งานก่อสร้าง (เปิดรูปในโทรศัพท์มือถือให้ดู) ผมเคยเอาหนังสือการ์ตูนไปให้ จากที่เขาเล่นของเล่นอยู่ เขาวางเลยนะ แล้วหันมาสนใจอ่านหนังสือทันที ธรรมชาติของเด็กทุกคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐบาลสามารถช่วยเขาได้ แต่ทำไมถึงไม่ช่วย ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ถึงได้มีโครงการที่พูดไปแล้วข้างต้น ก็ได้แต่หวังว่าอะไรได้บ้าง”
นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยังพูดต่อไปว่าด้วยน้ำเสียงจริงจังแฝงด้วยความน้อยใจว่า “คนทำหนังสือบ้านเราเหนื่อยนะครับ เพราะรัฐบาลไม่เคยเจียดเงินมาช่วยเหลือเลย ไม่ว่าจะรัฐบาลชุดไหนก็ไม่เคยมีนโยบายเรื่องการอ่าน ผมชื่นชมประธานาธิบดีคนใหม่ของพม่ามาก เขามีความคิดที่จะลดโควตารัฐมนตรีลง พอทำแบบนี้ประเทศชาติก็มีเงินเหลือ เขาก็เอาเงินส่วนนี้ไปพัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุขต่อ หรือย่างในเวียดนามก็มีนโยบายนำพาสังคมเวียดนามไปสู่ความเจริญ โดยการเพิ่มการลงทุนในหนังสือเด็ก ซึ่งจะช่วยให้การอ่านหนังสือในเด็กเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลของเขาใส่ใจเรื่องการอ่านมากจริงๆ”



[ บรรยากาศภายในงานสัปดาห์หนังสือฯ]

“การอ่านถือว่าเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญได้ ผมเคยทราบมาว่า ผู้นำระดับโลกก็ล้วนแต่เป็นนักอ่านกันทั้งนั้น อย่างที่ผมบอกไปก่อนแล้ว หลายๆประเทศในแถบอาเซียนก็เล็งเห็นความสำคัญ และพยายามผลักดันจนเป็นวาระแห่งชาติอย่างเขาบ้าง เมื่อเด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง ยังไงมันก็ต้องส่งผลต่อประเทศชาติในอนาคต ผมจึงได้แต่หวังว่าภาครัฐจะมีส่วนช่วยให้เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในชนบท ให้มีโอกาสได้เข้าถึงการอ่านมากขึ้น ซึ่งต่อไปเด็กพวกนี้นี่แหละ จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต” จรัญกล่าวทิ้งท้ายด้วยแววตาแห่งความเชื่อมั่นในทิศทางของวงการหนังสือไทย และหวังว่าทางภาครัฐจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอ่านบ้าง ไม่มากก็น้อย



งานสัปดาห์หนังสือฯ ในบ้านเรานั้น สังเกตได้จากสื่อต่างๆ พบว่าจำนวนประชาชนที่ไปในแต่ละปีไม่ได้น้อยลงเลย กลับยิ่งจะมีจำนวนมากขึ้นด้วยซ้ำ บางครอบครัวยังหอบลูกจูงหลานมากด้วย แสดงให้เห็นถึงความพยายามปลูกฝังให้ลูกหลานซึมซับบการเป็นนักอ่านกันตั้งแต่เด็ก อย่างสำนักพิมพ์รายใหญ่บางแห่ง ก็มีการจัดกิจกรรมเป็นค่ายเยาวชนรักการอ่าน ที่จะช่วยให้หนอนหนังสือตัวน้อยทั้งหลาย สนุกและรักในการมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากหากทุกคนในสังคมร่วมกันเห็นความสำคัญและรณรงค์เรื่องการอ่าน ต่อไปจะได้ลบคำประชดประชันที่ว่า “คนไทยอ่านหนังสือปีละไม่เกิน 8 บรรทัด” เสียที!


สถานการณ์หนังสือของไทยตอนนี้!



Q : เมื่อก่อนเคยทราบว่าหนังสือดูดวงมาแรงมาก ตอนนี้ยังนิยมอยู่ไหม
A : ครั้งหนึ่งหนังสือแก้กรรมขายดีมาก ออกมาให้เลือกเยอะแยะ ทั้งสแกนกรรม แก้กรรม กำไม่แบ(หัวเราะ) มันเป็นแค่กระแส สุดท้ายก็ไป

Q : เด็กๆ ไปต่อคิวแย่งกันซื้อหนังสือนิยายแนวแฟนตาซีแบบข้ามวันข้ามคืนมีจริงไหม
A : มีจริงๆ ครับ เด็กพวกนี้โตขึ้นมาก็กลายเป็นนักอ่าน มันก็ไม่ต่างจากสมัยก่อนที่พวกผู้ใหญ่ไปเข้าคิวรอหนังสือกำลังภายในอยู่หน้าแท่นพิมพ์ สมัยนี้ก็แบบเดียวกัน มันก็ไม่ต่างกับวัยรุ่นที่ไปรอศิลปินเกาหลี เป็นเรื่องปกติตามยุคสมัย


[ บรรยากาศงานเปิดตัวหนังสือนิยายชื่อก้องโลก Harry Potter ที่ประเทศไทย เมื่อปีที่แล้ว ]
[ ที่มา : https://www.facebook.com/media/set/?set=a.953458638054937.1073741977.127891137278362&type=3 ]

[ บรรยากาศงานเปิดตัวหนังสือนิยายชื่อก้องโลก Harry Potter ในต่างประเทศ ]

Q : หนังสืออะไรที่ยังขายดีและไปได้อยู่
A : พวกหนังสือที่เน้นรูปภาพประกอบ ใช้ภาพให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่าย ขนาดดิกชันนารีหรือหนังสือสอนภาษาก็ยังให้ภาพการ์ตูนเป็นสื่อ เป็นที่นิยมของนักอ่าน ซึ่งหนังสือพวกนี้ยังไงก็ขายได้และขายดีอยู่ ส่วนนิยายก็ยังไปได้ ปัจจุบันหนังสือปรับให้แต่ละบทมีความยาวไม่กี่หน้า เล่มไหนหนาๆ เขาก็ไม่นิยมอ่านกัน ยกเว้นบางเรื่องที่ชอบจริงๆ ส่วนรูปแบบการทำหนังสือถูกปรับให้เข้ากับชีวิตประจำวันของคนสมัยนี้ เอาไปอ่านระหว่างเข้าห้องน้ำได้ ตอนหนึ่งก็สั้นๆ พออ่านจบสักตอนก็มีกำลังใจ ส่วนพ็อกเก็ตบุ๊ก ผมมองว่าอยู่ได้อีก 50 ปีสบายๆ



Q : กระแส E-Book ในบ้านเราเป็นอย่างไร
A : คนอ่าน E - Book ก็ยังต้องอ่านหนังสืออยู่ เพราะ ‘หนังสือจับต้องได้’ ขนาด Ookbee ที่เป็นเว็บไซต์ E-Book ชื่อดัง ยังมีหนังสือที่เป็นเล่มขาย แถมมีโปรโมชันลดราคาด้วย(หัวเราะ) E-Book สามารถช่วยเราได้เวลาที่เราต้องการความรวดเร็ว อย่างเวลาจะเช็คผลบอล ตื่นเช้ามาเราดูผ่านสมาร์ทโฟนก็รู้แล้ว ซึ่งถ้าจะรออ่านจากหนังสือพิมพ์ก็จะช้าไปอีก

Q : ในอนาคตคิดว่าหนังสือจะหายไปไหม
A : ผมคิดว่าหนังสือเล่มจะยังคงอยู่นะ แต่หนังสือพิมพ์อาจจะแปรสภาพไปเป็น E-Book หรือ Free Copy แทน สรุปง่ายๆ ก็คือยังอยู่ แต่แค่แปรสภาพไป

Q : ธีมงานในปีนี้มีชื่อว่า ‘ความหวัง’ มีความหมายอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า
A : แล้วแต่จะตีความกันครับ แต่ผมก็หวังว่า จะมีคนไปงานสัปดาห์หนังสือในปีนี้กันมากขึ้นนะครับ(ยิ้ม)


สัมภาษณ์โดย : ผู้จัดการ Lite
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : พิมพรรณ มีชัยศรี
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Book Thai”




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น