xs
xsm
sm
md
lg

ไม่รู้อะไรเจ็บกว่ากัน? สูญเงินให้ "ตันจริง" หรือ "ตันปลอม"!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ตัน-ภาสกรนที”, “ตันภาสกรนที”, “ตัน ภาสกรณที”, “ตัน.ภาสกรนที” ฯลฯ เฟซบุ๊กปลอม-แฟนเพจเก๊ เกลื่อนโลกออนไลน์ ตั้งชื่อเลียนแบบแฟนเพจจริง “ตัน ภาสกรนที” เพื่อเกาะกระแสลวงหลอกตังค์เหยื่อสารพัดวิธี เล่นเอา “เจ้าพ่อชาเขียวจอมแจก” ทนไม่ไหว ออกโรงยื่นฟ้องขอกำจัด 21 เพจปลอม ให้เหตุผล “เพราะไม่อยากเห็นใครถูกหลอกอีก” สะท้อนการตลาดตลกร้าย ตั้งคำถามเจ็บจี๊ดกลับไป ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าแบบไหนเรียกว่าถูกหลอกกันแน่ ระหว่าง “ตันจริง” กับ “ตันปลอม”!!?



เจ้าพ่อ “หวยชาเขียว” เดือด!! ไม่อยากเห็นใครถูกหลอกอีก...

“เพราะไม่อยากเห็นใครถูกหลอกอีก วันนี้ผมจึงมาแจ้งความเพจปลอม พร้อมสาวอุตรดิตถ์ที่ถูกหลอกเงินไป ที่ บก.ปอท. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ข้อมูลเพจปลอม 21 เพจ ผมมอบให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายครับ”
 
เจ้าพ่อชาเชียว “อิชิตัน” ออกโรงโพสต์บอกสาวก “ดื่มลุ้นโชค” ผ่านแฟนเพจจริงอย่างเป็นทางการของเขา แฟนเพจที่ใช้ชื่อว่า “ตัน ภาสกรนที” หลังเกิดกรณีเหยื่อสาวถูกเฟซบุ๊กปลอม ตั้งชื่อเลียนแบบแอบอ้างเป็น “ตัน” ลวงเงินผ่านการส่งแชตลวงให้ซื้อบัตรเติมเงินแล้วถ่ายรูปรหัสหลังบัตรส่งมาให้ สุดท้าย สูญเงินไป 2,000 บาทโดยไม่มีเงินหล่นทับและไม่ได้รับรถเบนซ์อย่างที่อีกฝ่ายกล่าวอ้างแต่อย่างใด ลองกลับไปเช็กข้อความในเฟซบุ๊กที่มิจฉาชีพส่งมา จึงได้รู้ตัวว่าถูก “ตันปลอม” เล่นงานเอาเสียแล้ว!!


[ถูก "ตันปลอม" ลวงเงิน 2,000 บาท]
“ยินดีด้วยนะครับ คุณคือผู้โชคดีที่จะได้รับเงิน 10 ล้านบาท และรถเบนซ์ 1 คัน คันละ 8 ล้านบาท ถ้าคุณอยากได้ แค่คุณไปซื้อบัตรทรูมันนี่ที่เซเว่นฯ 1,000 บาท 2 ใบ แล้วถ่ายรูปส่งมาให้ผม แค่นี้คุณก็เป็นผู้โชคดีแล้วครับ”

ครั้งแรกที่ได้รับข้อความนี้บนเฟซบุ๊ก อัจฉรา จิตรค่ำคูณ เหยื่อสาวผู้ถูกลวงเงินเจ้าของคดีไม่ได้เชื่ออย่างสนิทใจว่าคือ “เสี่ยตัน” ตัวจริง แต่เมื่อปรึกษาแฟนและเพื่อนๆ ดู ส่วนใหญ่ต่างแนะให้ลองเสี่ยง เธอจึงเดินไปซื้อบัตรเติมเงินมาตามที่ขอ ขูดเลขรหัสทั้ง 14 หลักถ่ายรูปส่งให้ ระหว่างนั้นก็พยายามกดโทร.ผ่านเฟซบุ๊กเพื่อหาคำตอบจากปลายสายว่าใช่ “เจ้าพ่อจอมแจก” ตัวจริงหรือไม่ แต่อีกฝั่งไม่รับสาย กระทั่งตรวจเช็กเงินตามรหัสบัตรอีกครั้ง จึงได้ทราบว่าถูกอีกฝ่ายนำไปใช้เรียบร้อยแล้ว

ผู้เสียหายจำได้แม่นว่า เฟซบุ๊ก “ตันปลอม” ที่มาลวงเงินของเธอ ใช้ชื่อเหมือนตัวจริงเป๊ะคือ “ตัน ภาสกรนที” แถมยังใช้รูปเสี่ยตันใส่หมวกสีขาวเป็นรูปโปรไฟล์อีกต่างหาก จึงไม่ได้นึกเอะใจตรวจสอบรายละเอียดอย่างอื่น

ด้าน “ตันจริง” ไม่อาจทนเห็นสาวกชาเขียวตกเป็นเหยื่อนักต้มตุ๋นต่อไปไหว จึงขอออกโรงเข้าแจ้งความเพื่อเอาผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในข้อหา “นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” และได้ประสานงานกับสำนักงานเฟซบุ๊กที่สิงคโปร์เพื่อช่วยติดตามตัวคนร้ายเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ยังได้แนะวิธีสังเกตแฟนเพจตัวจริงเอาไว้ให้รู้โดยทั่วกัน โดยเริ่มจาก อันดับแรก ให้ตรวจเช็กที่ URL หรือลิงก์ของเฟซบุ๊กก่อนว่า จะต้องเป็น “www.facebook.com/tanichitan/” เท่านั้น, อันดับสอง ชื่อเพจ ต้องเขียนว่า “ตัน ภาสกรนที” เท่านั้น จะไม่มี “.” คั่นกลางระหว่างชื่อ และไม่มี “ณ” เป็นตัวสะกดแม้แต่ตัวเดียว เพื่อความแน่ใจ ให้เช็กเครื่องหมายถูกสีฟ้าหลังชื่อทุกครั้ง, อันดับสาม ใต้ชื่อเพจจะต้องระบุว่า “บุคคลสาธารณะ (Pulic Figure)” เท่านั้น และ อันดับสี่ ต้องมียอดไลค์มากกว่า 12 ล้านคน จึงจะมั่นใจได้ว่าคือ “ตัน ภาสกรนที” ตัวจริง!!

[วิธีการเช็กว่าเป็นเพจของ "ตันจริง" หรือไม่?]

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เหล่ามิจฉาชีพใช้ชื่อเสี่ยตันลวงเหยื่อเพื่อล้วงเงินจากกระเป๋า หลายๆ ครั้งยุทธศาสตร์กระตุ้นการตลาดด้วยการแจกในรูปแบบนี้จากน้ำหวานยี่ห้อนี้ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง บ้างพูดถึงการฉวยโอกาสเล่นกับ “ความโลภ” ของคน บ้างตั้งคำถามถึงพฤติกรรม “พนันทางอ้อม” รูปแบบนี้ว่าตกลงแล้ว จะสร้างโอกาสจากการแจกรางวัล ปั้นให้เกิด “เศรษฐี” หรือจะยิ่งสร้างความโลภ ปั้นให้เกิด “มิจฉาชีพ” ออกมาล่อลวงผู้คนอย่างไม่มีวันจบสิ้นกันแน่!!?

“ผมว่าไอ้ที่หลอกชาวบ้านเนี่ย ไม่ใช่ไอ้พวกชั่วในเน็ตอย่างเดียวหรอกครับ ไอ้ตัวหลอกชาวบ้านตัวจริงเนี่ย ไอ้พ่อค้าขายน้ำนี่ล่ะตัวดีเลย...หลอกซะรวย

“แต่ตัวจริง เขาหลอกแบบถูกกฎหมายนะ 555”

“จริงๆ แล้ว เขามีกฎหมายคุ้มครองประชาชนเรื่องพวกนี้อยู่นะ แต่ไม่มีใครสนใจ คิดว่าได้ของฟรี ก็เลยไม่สนใจ...



อยากจี๊ดแบบไหน? ตันจริง-ตันปลอม

“อิชิตันรหัสรวยเปรี้ยง ตอนรางวัลแห่งชีวิต... แจกรางวัลยิ่งใหญ่มูลค่ามากกว่า 83 ล้านบาท แค่กด *711* ตามด้วยรหัสใต้ฝาหรือในกล่อง 10 หลัก # แล้วกดโทร.ออก ส่งรหัสฟรีทุกเครือข่าย จับแจกทุกวัน! ยกเว้นวันหยุดและนักขัตฤกษ์ ลุ้นรับ...
 
รางวัลที่ 1 คอนโดมิเนียม ห้องชุด Duplex 2 ชั้น สุดหรูกลางซอยทองหล่อ พื้นที่ 80.94 ตร.ม. มูลค่า 15 ล้านบาท จำนวน 1 รางวัล
รางวัลที่ 2 คอนโดมิเนียม เดอะ ริเวอร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ห้องชุดพื้นที่ 69 ตร.ม. มูลค่า 10 ล้านบาท จำนวน 1 รางวัล
รางวัลที่ 3 รถยนต์ เมอร์เซเดส เบนซ์ รุ่น GกLA 200 URBAN จำนวน 28 คัน พร้อมประกันภัยชั้น 1 มูลค่ารางวัลละ 2,090,000บาท จำนวน 28 รางวัล”


ปรากฏการณ์ดื่มลุ้นโชค ใช้รหัสที่แนบมากับสินค้ามาสุ่มแจกรางวัลแบบนี้ นักวิชาการหลายท่านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าถือเป็นการพนันทางอ้อม ไม่ต่างไปจากการแทงหวยเท่าใดนัก ผิดกันตรงที่หวยน้ำหวานชนิดนี้รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้หมุนเลขเฉลยรางวัล แต่อำนาจการสุ่มรหัสหนุนโปรโมชัน อยู่ในมือผู้ประกอบการที่มีแต่จะ “ได้” มากขึ้นไปเรื่อยๆ จาก “หวยชาเขียว” ในทุกๆ ล็อต

“การตลาดแบบนี้ ใช้จุดอ่อนของผู้บริโภคมาเป็นประโยชน์ แต่ก็ไม่ถึงขั้นผิดจริยธรรมทางธุรกิจ เพราะถ้ามีการจับฉลากอย่างถูกต้องโปร่งใสจริงๆ ก็ถือว่าลูกค้าตัดสินใจเสี่ยงโชคเข้าไปเอง ไม่ได้บังคับอะไร แต่ถ้ามองในแง่ของความสง่างามในการทำธุรกิจ อาจจะตั้งคำถามขึ้นมานิดนึงว่า ทำไมเราไม่ขายคุณประโยชน์ของสินค้า แทนที่จะขายในเรื่องของของแถม ที่ทำให้เรารวยขึ้นมาจากเรื่องของการเสี่ยงโชค


สังเกตดูดีๆ กลยุทธ์พวกนี้จะชอบปล่อยมาในช่วงหน้าร้อน เป็นช่วงที่ผู้บริโภคจะมองหาเครื่องดื่มดับร้อนอยู่พอดี ทำให้เขาอาจจะคิดมากขึ้นว่า แค่เสียเพิ่มอีกไม่กี่บาท มาดื่มชาเขียวยี่ห้อนี้ เพื่อจะได้ลุ้นโชคด้วยดีไหม และมันก็เข้ากับนิสัยคนไทยที่ชอบเล่นพนันขันต่อกันอยู่แล้วด้วย ยิ่งมีรางวัลที่มีมูลค่าสูงมาเป็นตัวล่อ เทียบกับเงินแค่ 15-20 บาทที่ต้องจ่ายไป ก็ถือว่าเป็นอะไรที่น้อยมาก ซื้อลอตเตอรี่ยังแพงกว่านี้เลย แถมโอกาสถูกก็น้อยกว่านี้อีก แต่คนยังซื้อกันเลยครับดร.เกียรติอนันท์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เคยวิเคราะห์เกี่ยวกับปรากฏการณ์สาวกดื่มลุ้นโชคเอาไว้

“รหัสโออิชิ ซิ่งทั่วไทย แจกรถยนต์ Toyota Yaris 50 คัน และ Yamaha Fino 550 คัน”

“est รหัสซ่า พาซิ่ง ส่ง SMS รหัสร่วมลุ้นบิ๊กไบค์ราคาแพง Ducati 899 Panigale”

“น้ำดื่มสิงห์โฉมใหม่ แจก iPhone6 เพียงส่งเลขที่ใบเสร็จ 7-ELEVEN ผ่าน SMS” ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่ “อิชิตัน” เท่านั้นที่ลงเล่นในโปรโมชันเสี่ยงโชคเพื่อต้องการล้วงเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคทั้งหลาย แต่ยิ่งนับวันยิ่งจะได้เห็นกลยุทธ์การตลาดลักษณะนี้มากขึ้นๆ เรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นการ "อาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย" หารายได้ให้กับตัวเอง รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เคยวิเคราะห์เอาไว้ผ่านงานวิจัยเรื่อง “การพนันหรือการเสี่ยงโชค”

"ธุรกิจชาเขียวมีมูลค่าตลาดสูงถึงปีละ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท บริษัทจึงใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการกระตุ้นยอดขาย จนกลายเป็นการมอมเมาประชาชน ทำให้ส่งเสริมพฤติกรรมการเสี่ยงโชคเป็นเรื่องที่น่าทดลอง เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ทำให้คนเชื่อว่าสามารถได้สิ่งที่ต้องการโดยง่าย สนุก ไม่เหนื่อย ไม่ต้องทำงาน แค่รอคอยโชควาสนา หากไม่ควบคุม เชื่อว่าสินค้าหลายตัวจะนำกลยุทธ์เช่นนี้ไปใช้จนกลายเป็นปัญหาของสังคมไทยได้"

ปัญหาหลักๆ อยู่ที่ พ.ร.บ.การพนัน 2478 ที่มีเนื้อหาล้าสมัย ยังไม่มีข้อความระบุให้ชัดเจนลงไปว่า ควรจะต้องจัดการการพนันในรูปแบบ “การเสี่ยงโชคผ่านการส่ง SMS” เหล่านี้อย่างไร จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ธนากร คมกฤส ผู้อำนวยการรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เคยพยายามออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาปรับแก้กฎหมายตัวนี้ให้ทันยุคทันสมัยและทันเล่ห์ของการตลาดแบบนี้เสียที!!


“ถ้าเทียบนิยามของการพนันตามคุณสมบัติที่เรียกว่าเป็นพนัน คือสิ่งที่เป็นพนันจะทำงานกับความโลภ มีการวางเดิมพัน มีความเสี่ยงไม่ได้ผลลัพธ์ที่แน่นอน และสุดท้ายคือมีรางวัลล่อใจ ซึ่ง SMS ชาเชียว เช่น เอารถเบนซ์, ไอโฟน 6 มาเป็นรางวัล ถือว่า กิจกรรมลุ้นโชคนี้ เข้าข่ายเป็นการพนันเป็นถึง 3 ใน 4 ข้อ คือทำให้เกิดความโลภ จะได้หรือไม่ได้ ไม่แน่ มีรางวัลล่อใจ

กิจกรรมที่เข้าข่ายแบบนี้ ถือเป็นการใช้การส่งเสริมการตลาดที่เป็นอันตรายต่อสังคม ตั้งแต่เรื่องความถี่ของการออกรางวัลตามหลักสากลแล้ว กิจกรรมส่งเสริมการขายในลักษณะนี้ จึงเป็นการซ้อนทั้งเรื่องการเข้าข่ายพนันและการตลาดอยู่ในกิจกรรมเดียวกัน

ผมเห็นว่าควรจัดตั้งให้มีคณะกรรมการอิสระเรื่องพนันขึ้นมา โดยแยกออกมาจากกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยชอบทำงานแบบนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ลงมือทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะเรื่องการให้คำนิยามของ 'การพนัน' เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เนื่องจากตัว พ.ร.บ.การพนัน 2487 ไม่มีแม้กระทั่งคำนิยาม ทำให้เกิดความสับสนว่าแท้จริงแล้ว อะไรคือพนัน หรือไม่ใช่พนันกันแน่

บริษัทที่ใช้กิจกรรมลักษณะนี้ฉลาด เพราะเขารู้ว่ากฎหมายยังไม่ได้มีการบังคับเท่าไหร่ คืออนุญาตให้ส่ง SMS ฟรี แต่ได้กำไรจากกิจกรรมสูง เป็นกิจกรรมที่ไม่ได้ใช้เงินวางเดิมพัน แต่เป็นการซื้อโชค แถมของ ซึ่งความจริงแล้วก็คือการพนันนั่นแหละ

สรุปแล้ว งานนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าใคร “หลอก” ใคร และยังไม่มีเหยื่อรายไหนออกมาเทียบระดับความจี๊ดว่า ถูกหลอกแบบไหนเจ็บลึกกว่ากันระหว่าง...

...ถูก “ตันปลอม” ลวงผ่านการแอบอ้าง หลอกให้รอลุ้นจากคำโป้ปด ก่อนฉกเงินแล้วหนีหายไป หรือ ถูก “ตันจริง” ล่อให้ลุ้นรหัสจากคำสัญญา แลกกับการสูญเงินไปกับน้ำหวานชนิดนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ว่าวงล้อแห่งโชคชะตา จะหมุนมาหยุดที่เหยื่อเมื่อไหร่... คงไม่ต่างจาก “ความโลภ” ของมนุษย์เท่าใดนัก ที่มักจะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด...


ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ "ตัน ภาสกรนที", "ICHITAN"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น