เสียงร้องคำรามดังกระหึ่มไกล ตลอดเส้นทางลาดยางที่ “สิงห์สองล้อรุ่นใหญ่” ควบแรงบิดฝากเอาไว้... ยิ่งนับวัน สิงห์นักบิดประเภทนี้ ยิ่งออกมาวาดลวดลายให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับข่าวเฉี่ยว-ชน จนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตถี่ขึ้นเป็นเงาตามตัว
ท่ามกลางอุบัติเหตุสะเทือนขวัญอันเกิดจากพลังบิดแบบไร้ลิมิตของสิงห์บางราย ส่งให้เพื่อนผู้ขับขี่ที่หัวใจใกล้วาย ลุกขึ้นมาร้องขอให้เพิ่มมาตรการใหม่ๆ “จัดทำใบขี่ขับเฉพาะสำหรับบิ๊กไบค์” ในเมื่อรถมันแรงและต้องการทักษะเฉพาะทาง จึงอยากจะขอร้องกันตรงๆ... ขอเถอะถ้ายังไม่คุ้น-ขับไม่คล่องจริง อย่าเพิ่งขี่ออกมา!!
กำหนดด้วยอายุ ก็แค่ “ยืดเวลาตาย”!!
ร้องเรียน กรมการขนส่งทางบก หัวข้อ "จัดทำใบขับขี่ Bigbike โดยเฉพาะ" คือความพยายามล่าสุดในฐานะผู้ใช้รถใช้ถนนคนหนึ่งอย่าง “ศิริอาทิตย์ เกื้อสกุล” ซึ่งได้ส่งเรื่องเข้าไปยังเว็บไซต์เพื่อการรณรงค์ Change.org ระบุเอาไว้ว่าต้องการชื่อสนับสนุนในเบื้องต้นอยู่ที่ 1,500 ราย โดยให้เหตุผลเอาไว้ว่า ชาวสองล้อหลายรายใช้มอเตอร์ไซค์ทั่วๆ ไป หรือ “รถเล็ก” ในการสอบ ทั้งๆ ที่เวลาขับขี่จริงบนท้องถนน เปลี่ยนมาเป็นบิ๊กไบค์ซึ่งต้องใช้ทักษะในการขับขี่ต่างออกไป จึงถือว่าไม่ครอบคลุมและยังไม่รัดกุมเพียงพอ
[ขอบคุณภาพ: แคมเปญรณรงค์ใน change.org]
“Bigbike มีขนาด พิกัดตั้งแต่ 300cc เป็นต้นไป แต่การสอบใบอนุญาตขับขี่ยังเป็นการทดสอบเดิมๆ อยู่ ซึ่งบางคนได้ใช้รถในการสอบ 100cc หรือรถเล็กในการสอบ ต่างจากต่างประเทศ ในการสอบใบอนุญาตขับขี่นั้น จะแบ่งตามขนาดความจุเครื่องยนต์ จะเห็นได้ว่า ณ ปัจจุบันมีข่าวการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของมอเตอร์ไซค์ใหญ่หรือ Bigbike ในข่าวตามสื่อต่างๆ แทบจะไม่เว้นวัน
ดังนั้น จึงอยากกราบเรียนผู้เกี่ยวข้องให้จัดทำการสอบใบขับขี่โดยเฉพาะของมอเตอร์ไซค์ใหญ่หรือ Bigbike โดยผู้ที่จะทำการสอบต้องอบรมทักษะในการบังคับมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่เสียก่อนกับผู้ชำนาญการ หรือสถาบันที่ทำการเปิดสอนหลักสูตรการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ใหญ่ หรือ Bigbike และนำมาประกอบกับการขออนุญาตใบขับขี่มอเตอร์ไซค์ใหญ่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่เองและความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ ต่อไป”
“250 cc - 2400 cc” คือความจุของเครื่องยนต์ที่ถูกเรียกว่า “บิ๊กไบค์ (Bigbike)” เนื่องจากเป็นรถสองล้อที่มีขนาดใหญ่กว่ามอเตอร์ไซค์ทั่วๆ ไป และด้วยขนาดที่ใหญ่ของเครื่องยนต์ ทั้งตัวเฟรม, ล้อ และยางรถ จึงถูกเรียกติดปากกันว่า “4 สูบ” อีกชื่อหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้ว มีตั้งแต่แบบสูบเดี่ยวไปจนถึง 6 สูบ ทำให้หลายๆ รุ่นมีแรงม้าและแรงบิดที่สูงมาก จนผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ท่านออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้ขับขี่จำเป็นต้องมีทักษะในการขับที่ดีพร้อมด้วยร่างกายที่แข็งแรง จึงจะควบคุมรถประเภทนี้ให้สามารถเดินทางจากไปสู่จุดหมายได้โดยสวัสดิภาพ
จากเรื่องรณรงค์ให้มีใบขับขี่เฉพาะทางสำหรับรถแรงบิดสูงประเภทนี้ มีความคิดเห็นหนึ่งที่น่าสนใจเสนอเอาไว้ เป็นทัศนะของ “ศราวุทธ วิจิตรวงศ์ไพศาล” ที่แนะให้มอบใบอนุญาตขับขี่ตามช่วงอายุ เพื่อให้คนรักความไวได้หัดขี่จากซีซีน้อยๆ แล้วค่อยเพิ่มสูงขึ้นไปตามประสบการณ์ที่มากขึ้น
“อายุ 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ขับได้ไม่เกิน 125 ซีซี
อายุ 18 ปี แต่ไม่เกิน 20ปี ขับได้ไม่เกิน 150 ซีซี
อายุ 20 ปี แต่ไม่เกิน 25 ปี ขับได้ไม่เกิน 300 ซีซี
อายุ 25 ปี แต่ไม่ถึง 30 ปี ขับได้ไม่เกิน 700 ซีซี
และ อายุ 30 ปีขึ้นไป ขับได้ไม่จำกัดซีซี”
ในขณะที่แฟนเพจ "มัธยมขี่ BigBike" เพจที่รวมเอากลุ่มเด็กนักเรียนที่มีใจรักรถสองล้อเอาไว้ด้วยกัน มีความเห็นที่แตกต่างออกไป มองว่าควรกำหนดด้วยตัว “ซีซี” ของรถดีกว่า คือให้สอบขอขับขี่ตามซีซีที่มากขึ้นแทน เพราะการเอาอายุมากำหนด เป็นเหมือนแค่การ “ยืดเวลาตาย” เท่านั้นเอง!
จากข้อมูลที่ผ่านมา เกิดความสูญเสียจากกรณีเด็กวัยรุ่นขับบิ๊กไบค์ไม่น้อย โดยเฉลี่ยอายุของกลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมต้น-มัธยมปลาย จากที่ปรากฏในเฟซบุ๊กแฟนเพจ “มัธยมขี่ Bigbike” พบว่าเฉลี่ยแล้วอยู่ระหว่าง 14-18 ปี ทั้งสิ้น แม้จะมีกฎหมายกำหนดอายุผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ระบุชัดเอาไว้ว่าต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป จึงจะสามารถขอทำใบขับขี่รถจักรยานยนต์ชั่วคราวได้ก็ตาม ทั้งยังระบุไว้ด้วยว่าเด็กในช่วงอายุนี้ ต้องใช้รถที่มีกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน 110 cc (ตามธรรมเนียมผู้ขอใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์)
อาจเพราะความหละหลวมในการกวดขันและตอบสอบ มองแค่เพียงว่ามีใบขับขี่ก็ปล่อยเลยผ่านไป จึงกลายเป็นว่าเด็กอายุระหว่าง 15-17 ปี สามารถขับขี่มอเตอร์ไซค์คันใหญ่เครื่องแรงอย่าง “บิ๊กไบค์” ออกสู่ถนนด้วยความคะนองได้เกลื่อนเมืองอย่างที่เห็น
“ใบขับขี่เฉพาะ” ไม่ช่วย ต้องแก้ด้วยการติวเข้ม!!?
["เฮียโฮ้-เรซซิ่ง" ผู้คร่ำหวอดแวดวงบิ๊กไบค์]
"สอบใบขับขี่เฉพาะบิ๊กไบค์ มันแค่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุครับ แถมยังเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่มมากกว่า” ชาติชาย แซ่ลิ้ม ผู้คร่ำหวอดในแวดวงบิ๊กไบค์ที่หลายๆ คนเรียกกันว่า “เฮียโฮ้-เรซซิ่ง” ช่วยวิเคราะห์ประเด็นเดือดนี้เอาไว้ในอีกมิติหนึ่ง บอกเลยว่าการสอบใบขับขี่เฉพาะทางของมอเตอร์ไซค์ใหญ่ประเภทนี้ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้ถนนคนอื่นๆ อย่างที่หลายคนคิด!
“ที่จะต้องทำและทำได้แล้วคือ บังคับเรียน โดยเฉพาะผู้ขับขี่ตั้งแต่ 650 ซีซีขึ้นไป เพราะปัญหาคือบางคนเพิ่งขับรถยนต์เป็น แล้วมาหัดขับจักรยานยนต์คันใหญ่ ยิ่งเป็นบิ๊กไบค์ซึ่งเป็นรถที่มีแรงม้าและแรงบิดที่สูงกว่ามอเตอร์ไซค์ปกติทั่วไปมาก หากไม่ได้รับการฝึกที่ดีก็จะไม่สามารถควบคุมความเร็วได้ ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุย่อมมีได้สูงตามมา
ปัจจุบัน นอกจากมีความเร็วที่สูงแล้ว หลายบริษัทมีการลดน้ำหนักด้วยการผลิตรถให้ดูเล็กลง แต่ตัวเครื่องยังคงมีความแรงสูง คนก็เลยเข้าใจว่ารถเล็ก เครื่องเล็ก เกิดเป็นความไม่สนใจ ประกอบกับขาดทักษะในการขับขี่ ปัญหามันก็เลยเกิด อุบัติเหตุมันถึงมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ"
สำหรับประเทศไทย กลุ่มคนขี่บิ๊กไบค์มีด้วยกันทั้งหมด 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ขับขี่สำหรับใช้งาน 2.ผู้ขับขี่เพื่อการท่องเที่ยว และ 3.ผู้ขับขี่เพราะอยากเท่ อยากโชว์ออฟ โดยกลุ่มที่เกิดอุบัติเหตุ และสร้างปัญหาบนท้องถนน ส่วนใหญ่เป็นสิงห์นักบิดในกลุ่มผู้ขับขี่ประเภทที่ 3 ทั้งนั้น สาเหตุหลักๆ ก็มาจากการไม่รู้จักมอเตอร์ไซค์ประเภทนี้ และอาจไม่ได้ชอบเครื่องยนต์สองล้อเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั่นเอง
ด้วยขนาดของมอเตอร์ไซค์ ด้วยล้อ และองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่ไซส์ “บิ๊ก” สมชื่อ แถมยังมีน้ำหนักเยอะ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การขับขี่และการควบคุม "บิ๊กไบค์" จึงแตกต่างจากจักรยานยนต์ธรรมดาทั่วไปอยู่หลายขุม
"ที่ล้มๆ คือ ไม่รู้วิธีการขับอย่างถูกต้อง อย่างวิธีการเลี้ยว ถ้าเป็นบิ๊กไบค์ต้องใช้ไหล่เลี้ยว ใช้บอดี้ ใช้ตัวเลี้ยว ซึ่งมันจำเป็นต้องไปเรียนก่อนที่จะซื้อรถ หรือขับออกถนนใหญ่ แต่ที่เห็นๆ กันอยู่คือ มันง่าย มอเตอร์ไซค์ออกง่าย ไม่ต้องใช้เงิน ไม่ดอก ไม่ดาวน์ แถมได้หม้อหุงข้าวกลับอีกต่างหาก ผิดกับต่างประเทศ การจะซื้อรถ 1 คัน คุณจะต้องเรียนก่อน หรือถ้าจะขยับซีซีขึ้น คุณก็ต้องไปเรียนจนขับได้อย่างดี แล้วถึงจะออกใบขับขี่ให้ ซึ่งกว่าจะได้มันยากมาก (ลากเสียงยาว)
กลับมาที่บ้านเรา ใบขับขี่รถเล็ก รถใหญ่ไม่สน ยื่นให้ดูก็ผ่านๆ ไป ไม่ค่อยดูกันหรอกว่าใบนี้ขาดอายุหรือเปล่า ดังนั้น ถ้าจะมีใบขับขี่เฉพาะบิ๊กไบค์ ผมว่ามันไม่ใช่ มันต้องแก้ที่ระบบ โดยเฉพาะคนที่มีมอเตอร์ไซค์ คุณต้องมาเรียน เรียนเพื่อการขับขี่อย่างถูกวิธี" ผู้คร่ำหวอดในแวดวงบิ๊กไบค์ให้ทัศนะ
ปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดอายุผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ โดยระบุชัดว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปจึงจะสามารถขอใบขับขี่รถจักรยานยนต์ชั่วคราว และต้องใช้รถที่มีกระบอกสูบรวมกันไม่เกิน 110 ซีซี (ตามธรรมเนียมผู้ขอใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราว ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์) แต่ด้วยความไม่กวดขันของเจ้าหน้าที่ มีใบขับขี่ก็ปล่อยไป หลายคนจึงแสดงความเป็นห่วง และมองว่าเป็นการสนับสนุนให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ขับขี่กลุ่มนี้
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพบางส่วน: bigbike.autoyim.com, www.rhinobiker.com
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754