xs
xsm
sm
md
lg

ใบเซอร์ฯ ตปท.ไร้ความหมาย! เปิดเอง สักเอง สอนอีก ติดคุกได้!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ต่อกรณีบุคคลหนึ่งโพสต์ “ชี้แจงข่าว 'สักแก้มชมพู เทรนด์พาซวยมากกว่าสวย' จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 และผู้จัดการออนไลน์” ลงในพันทิป http://m.pantip.com/topic/34542474 พร้อมโพสต์ภาพใบประกาศนียบัตรจากต่างประเทศ ยันว่าจบจริง

ทว่ากลับจุดชนวนให้ชาวเน็ตตั้งคำถามมากมาย อาทิ ประกาศนียบัตรหรือใบรับรองจากต่างประเทศสามารถนำมาใช้ในการประกอบอาชีพในเมืองไทยได้หรือ?

“เพราะจบหลักสูตรจากต่างประเทศก็ไม่ได้หมายความว่า ได้รับการรับรองในไทยนี่น่า มีหลายวิชาชีพที่แม้จะจบจากต่างประเทศ ได้ใบอนุญาตของที่นั่น ทำอาชีพนี้มานานแล้ว แต่พอมาไทยก็ต้องอิงตามกฎหมายไทย ตามระเบียบข้อบังคับ เพื่อเปิดให้บริการในไทย ในสายวิชาชีพของเรา หลายคนก็ยังต้องสอบใหม่ในไทย เพื่อเอาใบอนุญาตให้ถูกต้องเลยน่ะ มันก็มีเหตุมีผลอยู่ล่ะว่า ทำไมถึงต้องควบคุม โดยเฉพาะยิ่งถ้าต้องทำงานที่เกี่ยวกับคนด้วยแล้วน่ะ เวลาเกิดเหตุขึ้นมา ผู้มารับบริการเขาไม่ได้ใช้กฎหมายต่างประเทศฟ้องร้องเจ้าของคลินิกหรือผู้ให้บริการนี่คะ…” (คห.12)

กังขาต่อว่า ทำไมคนที่ไปเรียนมา ไม่ได้ทำการสักเอง? มาตรฐานความปลอดภัยจากการติดเชื้ออยู่ที่ไหน?

“เรามีเรื่องสงสัยกับภาพข่าวน่ะค่ะ คุณบอกว่าคุณไปเรียน คุณได้ใบต่างๆ แต่ในภาพข่าวทำไมถึงเป็นคนอื่นที่เป็นคนทำล่ะคะ เค้าได้ไปเรียน ไปสอบใบด้วยรึเปล่า?” หรือคุณไปสอน? (ถ้าคุณไปสอนให้เค้าทำได้ แล้วคนทำมีอะไรเป็นตัวรับรองบ้างคะ? (คห.24)

“การสัก ก็ต้องระวังการติดเชื้อ ทุกขั้นตอน ไม่ใช่แค่ใส่ถุงมือปราศจากเชื้อเท่านั้น แล้วการนำผู้รับบริการ หรืออาจจะเป็นหุ่นเพื่อฝึกสอนมาแสดง ในการเรียนการสอน ก็ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาด โปร่ง มีการป้องกันการปนเปื้อนลงสู่บริเวณที่ทำ ไม่ควรมีผู้มุงดูใกล้ๆ แถมผู้มุงดูเหล่านั้นไม่ได้แต่งกายในลักษณะป้องกันการติดเชื้อ” (คห.44)

สงสัยอีกว่า การจะเปิดเป็นโรงเรียนหรือสถาบันต้องมีใบอนุญาตก่อนมิใช่หรือ?

“ถ้าเราเรียนจบมาสามารถสอนพนักงานได้ไหม ถามว่าได้ แต่คุณต้องได้มาตรฐานเป็นสถาบันเปิดสอนสิครับ ไม่ใช่ว่าได้มาตรฐานเป็นผู้ปฏิบัติไม่งั้นหมอเรียนจบมาก็สอนพยาบาลผ่าตัดได้นะสิครับ” (คห.45-3)

ผู้จัดการ Live ทำหน้าที่สื่ออย่างต่อเนื่อง ไปช่วยหาคำตอบ

2 พ.ร.บ.คุม การสักเป็นวิชาชีพเวชกรรม ต้องทำในสถานพยาบาล

ตามที่เจ้าของกระทู้อ้างอิง

“ตอบโดยอ้างอิงจากประกาศของสคบ.เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558 นะคะ เพราะการตอบอะไรโดยไม่มีข้อมูลอ้างอิงมันไม่ค่อยถูกต้องอะค่ะ -การสักไม่ใช่ ''หัตถการ" และไม่เกี่ยวกับการแพทย์ อุปกรณ์การสักก็ไม่ใช่เครื่องมือแพทย์” (คห.32-2)

แล้วมีสมาชิกผู้ใช้ชื่อว่า Dr OG แสดงความคิดเห็นอธิบายกลับว่า

“เอกสารที่ จขกท นำมาโพสต์ ในความเห็น 43 ว่า "สมาคมโรคผิวหนังแห่งประเทศไทย ไม่ถือว่าการสักเป็นหัตถการทางการแพทย์" อ่านดีๆ สิ เขาไม่ได้ว่าไม่เป็นหัตถการนะ เขาต้องการบอกว่า"ไม่ใช่ทางการแพทย์" เพราะไม่ใช่ "ทางการแพทย์" ไง กระทรวงสาธารณสุข จึงไม่ได้เข้ามาดูแล ให้ผู้ประกอบการ ดูแลคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อผู้รับบริการเอาเอง ไปเจอผู้ประกอบการไม่เข้าใจว่า จะต้องทำอย่างไรจึงปลอดภัย จึงน่าเป็นห่วงมาก” (คห.44-3)

ปัจจุบันนี้มีกฎหมายคุมคนที่กระทำการสัก ไม่ว่าจะตามร่างกายหรือบนใบหน้า ถือว่าเป็นการสักเพื่อความสวยงาม รวมทั้งสถานที่ประกอบการสักด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลผู้จัดการ Live ตามลำดับดังนี้

เมื่อก่อนการสักยังไม่ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะสักตามความเชื่อ เป็นวิธีสักแบบโบราณ แต่สมัยนี้เปลี่ยนไป มีเรื่องการใช้ยาเข้ามา และวัสดุอุปกรณ์เข้าข่ายเป็นเครื่องมือแพทย์ แพทยสภาเขียนไว้ชัด

พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 ออกเป็นประกาศควบคุมว่าสถานที่ที่จะทำการสัก ต้องขอเป็นสถานที่ประกอบการกับท้องถิ่น ในกรุงเทพฯ ก็ขอที่กทม. ในต่างจังหวัดก็แล้วแต่ว่าจังหวัดนั้นให้ไปขอที่เทศบาล หรืออบต.

ทีนี้พอหลังๆ มันมีปัญหา ตำรวจไปจับดำเนินคดี มี 2 ประเด็นว่า เป็นร้านสักทั่วไป ตำรวจไปเจอแถวข้าวสาร ที่เปิดเป็นแผงลอย เหมือนขายเสื้อผ้า สถานที่แบบนั้นไม่ถูก เพราะมันไม่สามารถขอได้

ตำรวจไปดำเนินคดีประกอบวิชาชีพแพทย์ วิชาชีพเวชกรรมหรือเปล่า แพทยสภาก็ตอบว่าสักเพื่อความสวยงามเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตีความอย่างนั้นเลย ทีนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่เลยสิ คนที่สักจะต้องเป็นหมอ

เมื่อไม่นานมานี้เอง ก็มีการประชุมกันโดยกรมอนามัยนัดประชุม ว่าด้วยตกลงเรื่องนี้จะเป็นไปในทิศทางไหน ก็ได้มติสรุปมา ว่าการสักเพื่อความสวยงาม ตัวแทนแพทยสภาก็ยังเห็นว่าเป็นเวชกรรม เพราะมีข้อมูลว่า ณ ปัจจุบันนี้มีการใช้ยาชา พอมียาเข้ามาเป็นส่วนประกอบ มันต้องประกอบโดยผู้มีวิชาชีพแล้ว ช่างสักทั่วไปทำไม่ได้แล้ว

เพราะฉะนั้นสักเพื่อความงาม สักร่างกายสักคิ้วสักแก้มก็เข้าข่ายเดียวกัน” เขาเล่าต่อว่า

แต่ถ้าเป็นการสักอีกประเภทหนึ่ง อย่างที่พระสักแบบโบราณ ไม่ถือว่าต้องเป็นวิชาชีพ แต่ ณ ปัจจุบันที่เขาเอาเข็มมาให้ดูในที่ประชุม มันมีเข็มอยู่ในหลอด ใส่สีฉีดเข้าไปในร่างกาย ซึ่งเป็นการฉีดสสารใดๆ เข้าไปในร่างกาย อย่างนี้ถือว่าเป็นการประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525

จนท.กระทรวงสาธารณสุข แนะผู้สนใจสามารถเปิด google โหลดอ่านดูได้ ทั้งพ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 และ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมพ.ศ.2525

พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมไม่ได้พูดเรื่องสัก เพราะว่าไม่ได้ทำสัก เพียงแต่การสักมันไปเข้าเงื่อนไขว่ามันเป็นเวชกรรม ในพ.ร.บ.พูดเรื่องการเสริมความงาม การสักโฆษณาว่าเสริมความงาม ทำให้สวยงาม และการกระทำ กรรมวิธีไปเข้าข่ายเป็นเวชกรรม” เขาแนะวิธีการอ่านตีความพ.ร.บ.อย่างนักกฎหมาย

“ทีนี้ทางแพทยสภาก็รับไปว่าจะทำยังไงให้ช่างสักสามารถดำเนินการประกอบธุรกิจอยู่ได้ ก็ต้องไปแก้ไขพ.ร.บ. ซึ่งการแก้ไขพ.ร.บ.ต้องตามขั้นตอน ไม่ใช่จะแก้ได้โดยเร็ว

ดังนั้น ณ ปัจจุบัน การสักถือว่าเป็นเวชกรรม และต้องทำในสถานพยาบาล จะเป็นรัฐหรือเอกชนก็แล้วแต่ หากใครทำผิด มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ

ใบเซอร์ฯ ตปท.ไร้ความหมาย เปิดสอนต้องขออนุญา

เอาง่ายๆ ชัดๆ ขนาดแพทย์ต่างประเทศจะมาประกอบวิชาชีพที่เมืองไทยยังไม่ได้เลย” จนท.กระทรวงสาธารณสุข ตอบข้อข้องใจเรื่องประกาศนียบัตรหรือใบรับรองการสักจากต่างประเทศ ที่เจ้าของกระทู้อ้างอิง

ดังนั้นไม่ว่าจะได้ใบเซอร์ฯ อะไรมาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ หรือไม่เป็นแพทย์ ถ้ามาทำในเมืองไทย ต้องมาสอบแพทย์ในเมืองไทย ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ในเมืองไทย

รวมทั้งการเปิดคอร์สสอนการสักแก้ม ที่เจ้าของกระทู้ใช้ชื่อสถาบันมิส…และโพสต์โฆษณาออกเฟซบุ๊กด้วย

ถ้าเกิดมีการเรียนการสอนจริง เป็นโรงเรียน เป็นสถาบัน ก็ต้องขอกระทรวงศึกษาธิการ อยู่ดีๆ ใครมาเปิดการเรียนการสอนแบบนี้ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว การเรียนการสอนทุกประเภทต้องขอที่กระทรวงศึกษาฯ” เขายกตัวอย่างว่าขนาดอาชีพหมอ ยังไม่สามารถสอนได้ถ้าไม่ได้ขอกระทรวงศึกษาฯ

หมอฉีดโบท็อกซ์ จะมาสอนคนฉีดโบท็อกซ์ยังไม่ได้เลย สอนให้คนทำผิดได้ไง ถึงแพทย์จะจ้องอยู่ ‘เอ้า คุณฉีด’ ก็ไม่ได้ หมอยืนดูฉีดตรงนี้ๆ ก็ไม่ได้ เพราะไม่ใช่วิชาชีพ มาฉีดไม่ได้ คนนั้นต้องไปเรียนแพทย์มาถึงมาฉีดได้

ชาวโซเชียลไม่เคลียร์มาตรฐานความสะอาดปลอดภัย

เมื่อมีคนเขียนถามประเด็นนี้ “ชุดทำการสอนของ จขกท ไม่ป้องกันการติดเชื้อเลย ตามรูปที่เขาฝึกกับหุ่น เขายังแต่งตัวเหมาะสมกับการทำหัตถการเลย”(คห.16)

และเจ้าของกระทู้ตอบแบบนี้ “ในรูปไม่ได้เป็นคนทำค่ะ เพราะกำลังบรรยายอยู่ ถึงการออกแบบ คนทำนั่งอยู่ด้านหลัง ใส่หมวกใส่ถุงมือกำลังเตรียมจะทำ”(คห.16-1)

เพราะตอบแบบนี้ บรรดาชาวโซเชียลจำนวนม่น้อยต่างเขียนแสดงความกังวล

“ตัวคุณผู้ทำการสอน แต่งตัวปิดเผยผิวหนังมากมาย รวมทั้งรักแร้ด้วย ผมก็ยาวมาก แม้จะรวบแต่ไม่ได้เก็บให้เรียบร้อย น้ำเหงื่อรักแร้และเส้นผม เชื้อโรคจากช่องปากช่องจมูก มีโอกาสลงไปปนเปื้อนกับบริเวณสักได้ เพราะคุณเข้าไปเสียชิดตัวผู้รับบริการเชียว เห็นชัดเลยว่า คุณเอามือไปจับหน้าผู้รับบริการด้วย ไม่ใช่แค่พูดบรรยายอยู่ไกลๆ มือน่ะก็คงไปจับอะไรๆ แถวนั้นมาไม่น้อยเลย ทักว่า ไม่ถูกหลักการป้องกันการติดเชื้อ คุณยังไม่รู้สึก แสดงว่า ที่คุณไปเรียนมา เขาไม่ได้สอนเรื่องสำคัญนี้เลยสินะ น่าเป็นห่วงผู้รับบริการมากเลย” (คห.44)

หากมีผู้ได้รับบริการเกิดผลข้างเคียงจากการสัก ไม่ว่าจะหน้าแพ้ หน้าพัง จนท.กระทรวงสาธารณสุข บอกว่ามีกฎหมายคุ้มครอง

ถ้ามีผู้เสียหาย จากการกระทำความผิดตรงนี้ ไปฟ้องคดีอาญาได้ มีกฎหมายอาญาอยู่ จงใจทำ ทำแล้วเกิดความเสียหาย ก็ผิดอาญา ทำให้บาดเจ็บร่างกาย ทำร้ายร่างกาย เอามีดไปกรีดเอาเข็มไปทิ่ม ถือว่าทำร้ายร่างกายแล้ว แต่ถ้าแพทย์ทำ มันมียกเว้นว่าทำด้วยประมาทเลินเล่อ” เขาพูดต่อ

ต้องยอมรับว่าการสักมีอยู่จริงในประเทศไทย เหมือนจัดฟันแฟชั่น ไปเรียน 2-3 ชั่วโมงก็ออกมาทำแล้ว โฆษณาทางโซเชียลกันแล้ว ทีนี้มันก้ำกึ่ง เพราะทำกับคน มีความเสี่ยง ถึงกลายเป็นเรื่องขึ้นมา ไปหลอกลวงผู้บริโภคหรือเปล่า เอาพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาจับ และก็มีคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข ฉบับที่2/2543 มาดำเนินการได้ คณะกรรมการของพ.ร.บ.การสาธารณสุขสำรวจเรื่องความสะอาดเครื่องไม้เครื่องมือ เพราะการสักเข้าเงื่อนไขในพ.ร.บ.ว่าเป็นเวชกรรม

ในประกาศของคณะกรรมการสาธารณสุขดังกล่าว เป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานการควบคุมกิจการสักผิวหนัง การเจาะหู หรือเจาะอวัยวะอื่น ซึ่งข้อ 3.10 ให้ผู้บริการผ่านการอบรมเรื่องการป้องกันและการทำลายเชื้อโดยสถานบริการสาธารณสุขของราชการส่วนท้องถิ่นหรือของรัฐ

มีกฎหมายอยู่แล้ว และไม่มีปัญหาหรอก ถ้าบังคับใช้กฎหมายจริงจัง” เขาทิ้งท้าย

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เกี่ยวข้องที่จะเข้าไปสอดส่อง และนำกฎหมายขึ้นมาใช้กับผู้ที่กำลังกระทำผิดอยู่หรือไม่?

หมายเหตุ ผู้จัดการ Live ได้ทำการค้นหาชื่อ Rose Darin ในเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นเพจที่โพสต์โฆษณาชวนคนมาเรียนการสัก ภาพการอบรม ภาพโปสเตอร์เปิดคอร์ส คนเดียวกับเจ้าของกระทู้ในพันทิป ทว่าไม่พบแล้ว?!?

ขอบคุณ pantip.com และภาพบางส่วนจาก themindunleashed.org, spcp.org, และ Macmep Ahha Cabuha
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น