xs
xsm
sm
md
lg

คุมเข้มแล้วไง? เด็กมหา'ลัยหาที่อื่นดริงก์ต่อ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอาจริง! สั่งการทุกสถานีตำรวจ ตรวจเข้ม ร้านเหล้า รอบมหาวิทยาลัย เปิดเกินเวลา แอบขายให้เด็กเยาวชน ตรวจพบสั่งปิด เชื่อต้องเข้มหลังปล่อยปละละเลยมานาน ทำผิดกันจนชิน ชี้ไม่ได้ออกมาตรการอะไรใหม่ แค่เอากฎหมายมาใช้จริงจัง ด้านผู้ประกอบการสะอื้นหนัก! วิงวอนเห็นใจ กระทบหนัก นัดรวมตัวล่ารายชื่อร้านที่ได้รับผลกระทบหวังภาครัฐเยียวยา ย้อนผลสำรวจ ร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ด เปิดโปรโมชันลดแลกแจกแถมให้นักศึกษาใช้บริการกันคึกคัก แต่จะแก้ปัญหาเด็กติดเหล้า เลิกเหล้าได้จริงหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป




ทีมข่าว LIVE สอบถามไปยังหนุ่มๆ นักดื่ม มหาวิทยาลัยชื่อดังหอการค้าไทย และ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในจุดเจ้าหน้าที่ตำรวจกวดเข้มเป็นพิเศษสถานประกอบการร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย พบว่าไม่ได้วิตกกังวลใดกับข่าวการคุมเข้มมากนัก เพราะนักดื่มหรือผู้อยากดื่มก็สามารถนั่งรถไปกินเหล้าในสถานที่อื่นๆ จุดใกล้เคียงได้


กฤต หนุ่มปีสอง มหาวิทยาลัยหอการค้า ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาปิดร้านเหล้ารอบๆ มหาวิทยาลัย ก็เชื่อว่าคนที่อยากดื่มก็นั่งรถไปหาร้านที่อื่นๆ ในจุดใกล้เคียงได้ แถวหอการค้าก็จะมีแถวห้วยขวาง รัชดาฯ ดินแดง มีร้านอีกเพียบ ดังนั้นไม่มีผลใดๆ เลยกับความปรารถนาที่จะดื่ม

ขณะเดียวกัน นาตยา รุ่นพี่ปีสอง มหาวิทยาลัยรังสิต เชื่อว่าถ้าจะให้ร้านเหล้ารอบๆ มหาวิทยาลัย เจ๊งหรือเลิกกิจการไปเอง ภาครัฐต้องเข้ามารณรงค์ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัย จะได้ผลมากกว่า เช่น ช่วงรับน้องเปิดเทอมใหม่ ต้องพยายามรณรงค์ไม่ให้รุ่นพี่รับน้องด้วยการเลี้ยงเหล้า เพราะที่ผ่านมาได้กลายเป็นธรรมเนียมประเพณีไปแล้วว่า “ไปกินเหล้ากันน้อง พี่เลี้ยงเอง”

คำเปิดใจของนักศึกษาทั้งสองคน ดูจะสะท้อนบางอย่างได้ว่า อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาที่ตรงจุดนัก กับปัญหาสุรากับนักเรียน นักศึกษาได้มากนัก แม้ภาครัฐจะมองว่าต้องคุมเข้มให้ได้ก่อนกับสถานประกอบการร้านเหล้าที่นับวันจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และดูจะละเลยกฎหมาย เช่น การเปิดเกินเวลา บางแห่งเปิดถึงเช้า ทั้งยังอนุญาตให้เด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี เข้ามาใช้บริการ




ผู้ประกอบการวิงวอนรัฐ

“เห็นใจพวกผมเถอะ” คำวิงวอนจากผู้ประกอบการร้านอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณใกล้กับมหาวิทยาลัย ทั้งในสังกัดของรัฐและเอกชน รวมถึงระดับอาชีวศึกษา ได้กล่าวผ่านสื่อในวันนัดรวมตัวกันเพื่อเสนอข้อเรียกร้องและหาแนวทางต่อนโยบายดังกล่าว

เจ้าของร้าน รายหนึ่ง ย้ำว่า มาตรา 44 คุมเข้มที่ได้เริ่มประกาศใช้ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างๆ รอวันตาย ปิดกิจการลง ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ลูกจ้าง พนักงานต่างๆ ทั้งนี้เริ่มมีหลายร้านในย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ สยามฯ ห้าแยกลาดพร้าว ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจเข้ม เริ่มได้รับผลกระทบลูกค้าไม่เข้าร้านกันแล้ว

“เราไม่ต่อต้านกฎหมาย แต่เราจะขอความเห็นใจ ต่อไปคงจะรวบรวมรายชื่อที่ร้านที่ได้รับผลกระทบ ส่งให้ภาครัฐช่วยดูแล”

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เคยเข้ามาดูแลหรือพูดคุยใดๆ เลย ฝากถามจริงๆ ว่าเด็กจะเลิกเหล้า ไม่ดื่มเหล้า เพราะการออกมาบังคับใช้มาตรการได้จริงหรือ?




ฉุนร้านเหล้านัดรวมตัวกันเพื่อ?

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการนัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบังคับตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยกล่าวถึงกรณี การนัดรวมตัวของผู้ประกอบการร้านเหล้าว่า คสช.ไม่ได้ออกกฎหมายใดใหม่ กฎหมายห้ามเยาวชนที่อายุไม่ถึงเกณฑ์เที่ยวสถานบันเทิงก็มีอยู่แล้ว กฏหมายยาเสพติดก็มีอยู่แล้ว กฎหมายเรื่องเสียงดังก่อให้เกิดความรำคาญหรืออันตรายก็มี จึงไม่เข้าใจเจ้าของร้านเหล้าจะรวมตัวเพื่ออะไร หรืออยากให้ออกกฎหมายกำหนดไปเลยว่าพื้นที่รอบสถานศึกษา 300 เมตรห้ามขายเหล้า

ตอนนี้ถ้าร้านเหล้าขายอย่างถูกกฎหมาย ไม่ขายเหล้าให้เด็ก ก็ยังทำธุรกิจต่อไปได้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำให้ถูกต้อง ถ้าทำชั่วแล้วมารวมตัวเรียกร้องให้ตนเลิกทำสิ่งที่ดีต่อสังคมต่อประเทศ ตนไม่ยอม ลองดู คงต้องเจอกันหน่อย เพราะ ที่ผ่านมาเอาเปรียบสังคมมามากแล้ว

ทั้งนี้ มาตรการ 44 ที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นผู้ประกอบร้านอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการสถานบริการหรือสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการ ในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

1. ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์เข้าไปใช้บริการ
2. ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
3. เปิดทำการเกินกว่าเวลาตามที่มีกฎหมายบัญญัติ
4. ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่าเวลาที่กำหนดตามที่กฎหมายบัญญัติ
5. ยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้มีการพกพาอาวุธ วัตถุระเบิด หรือยาเสพติดเข้าไปในสถานที่ของตน

ข้อ 5. ในกรณีที่สถานบริการหรือสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญทางเสียงแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ให้เจ้าพนักงานสาธารณสุขสามารถสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ดังกล่าว ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเหตุเดือดร้อนรำคาญทางเสียงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้หยุดการใช้เสียงที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ หากครบกำหนดแล้วเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ดังกล่าว ยังไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้นำความในวรรคสองของข้อ 4 มาใช้บังคับ โดยอนุโลม

ข้อ 6. ห้ามมิให้มีสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา หรือหอพักในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา หากพบว่ามีผู้ฝ่าฝืน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานของรัฐ ดำเนินตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดและเคร่งครัด รวมทั้งให้มีอำนาจในการสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวทันที รวมถึงสถานบริการหรือสถานประกอบการใดที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกันด้วย




สำรวจพบร้านเหล้าผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด!

(นักศึกษาเคยออกมารณรงค์ตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว)
ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.ภัทรภร พลพนาธรรม อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สวนสุนันทา ได้เปิดเผยถึงงานวิจัยว่า จากการวิจัย “การกระจายตัวของจุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบมหาวิทยาลัยใน กทม. และปริมณฑล” เมื่อปี 2557 ในรัศมี 500 เมตร จากรั้วสถาบันจำนวน 15 แห่ง

ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มรภ.สวนดุสิต, มรภ.สวนสุนันทา, มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา, มรภ.ธนบุรี, มรภ.จันทรเกษม, ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร), ม.หอการค้าไทย, ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ, ม.รามคำแหง, ม.ธุรกิจบัณฑิตย์, ม.เกษตรศาสตร์, ม.รังสิต, ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต), ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, ม.มหิดล (ศาลายา) และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

จากวิจัย พบว่า มีทั้งสิ้น 2,869 ร้าน เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะ 11 พื้นที่ที่เคยสำรวจเมื่อปี 2552 พบว่า ในระยะเวลา 5 ปี มีจุดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 1,036 ร้าน จาก 1,448 ร้าน ในปี 2552 เป็น 2,484 ร้าน ในปี 2557 หรือคิดเป็น 72% โดย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นพื้นที่ที่มีร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ 125% รองลงมาคือ ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 119% และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 118% ทั้งนี้ เมื่อโฟกัสไปที่สถานบันเทิงมีเพิ่มขึ้นถึง 12% ในส่วนของหอพักยังมีการขายมากถึง 7% ซึ่งผิดกฎหมายชัดเจน

น.ส.เบญจพร บัวสำลี อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ปัญหาร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัย คือ การปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุมดูแล ส่งผลต่อการกระตุ้นพฤติกรรมของนักศึกษาให้เข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น


(ความต้องการที่เรียกร้องมานานแล้วในสังคม)
นอกจากนี้ ร้านเหล้ายังนิยมใช้กลยุทธ์ต่างๆ ทั้งโฆษณาป้าย จัดโปรโมชัน ลดแลกแจกแถม สร้างกลุ่มตามสื่อโซเชียลฯ ดึงดูดนักศึกษาให้ช่วยแชร์ช่วยบอกต่อโดยไม่เสียค่าโฆษณา สร้างเครือข่ายเพื่อนบอกเพื่อน รุ่นพี่บอกรุ่นน้อง สร้างพนักงานขายนุ่งน้อยห่มน้อย ดึงศิลปินดารามาแสดง ลงทุนครั้งเดียวได้ 2 ต่อ โดยสร้างนักศึกษาหรือ คนในชุมชนเป็นภาคี เพื่อเป็นเกราะป้องกันหากร้านเกิดปัญหา

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สอบถามเจ้าของธุรกิจเขายอมรับว่า เน้นลูกค้าให้ได้จำนวนมากเป็นหลัก ทำทุกทางให้ลูกค้ารู้จักร้าน ส่วนผลกำไรจะตามมาเอง จึงไม่แปลกที่ร้านเหล้ากลายเป็นช่องทางเพิ่มนักดื่มหน้าใหม่ มีวิธีเอาเปรียบสังคมใช้กลยุทธ์ต่างๆ หรือทำผิดกฎหมาย

ด้าน ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การดื่มสุราของเยาวชนก่อให้เกิดผลกระทบ ทั้งผลการเรียนตกต่ำ ทะเลาะวิวาท มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ตั้งใจ เมาแล้วขับรถจนเกิดอุบัติเหตุ สุขภาพ ความสัมพันธ์ในครอบครัว และการกระทำผิดกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่และออกกฎหมายใหม่ถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยจะช่วยลดปัญหาการดื่มของเยาวชนได้ คือ การไม่อนุญาตให้ร้านค้ารอบสถานศึกษาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เริ่มจากรัศมีในระดับมหาวิทยาลัยก่อน และค่อยขยายสู่สถานศึกษาระดับอื่น

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น