เธอเริ่มเต้นด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้น ขยับร่างกายท่วงท่าตามทำนองดนตรี ตามจังหวะเร้าของเสียงเพลง ท่ามกลางแสงไฟที่ลามเลียและสายตาที่จับจ้องเรือนร่าง และท่วงท่าของเธอสร้างอารมณ์ปลุกเร้าดึงดูดจนยากจะเดินหนี ยากจะถอนสายตาออกห่าง หากแต่ความงดงามนี้กลับมิได้ถูกมองอย่างเป็นสุนทรียะ มิได้ถูกมองอย่างเป็นศิลปะหรือยกย่องให้คุณค่า ตรงกับข้ามมันกลับเป็นความฉาวคาวโลกีย์ที่ในบางครั้งกลับถูกมองถึงขั้นว่าเป็นอาชีพที่ต่ำกว่า...เราอาจบอกได้ว่า “โคโยตี้” มิใช่อาชีพที่ได้รับการยอมรับมากนักในสังคมไทย แต่กับ “นิวนิว - ชไมพร บุญไสย์” แชมป์โคโยตี้ประเทศไทย ท่ามกลางเด็กที่ฝันอยากเป็นหมอ คุณครู พยาบาล เธอฝันอยากเป็น โคโยตี้
“จำความได้ก็เต้นได้แล้วคะ โตมากับเสียงเพลง ร้องเพลง เต้นกับที่บ้านมาตั้งแต่ตอนเด็กๆ แล้ว” เธอเอ่ยถึงจุดเริ่มต้น
จากพื้นฐานครอบครัวนักดนตรีลูกทุ่งอีสาน เธอเติบโตมาพร้อมกับท่วงทำนองและการทำงานรับงานคอนเสิร์ต โชว์รื่นเริงเดินสายตามต่างจังหวัด เมื่ออายุครบ 15 ปี เธอผันตัวมารับงานโคโยตี้ พัฒนาตัวเองและก่อร่างสร้างเป็นวงดนตรีในชื่อ “ทีมงาน เอวเด้ง” ที่มีโคโยตี้รวมตัวกันอยู่ถึง 10 คน
วัยเด็กลูกเป็ดขี้เหร่
หลังจากเธอกลายเป็นกระแส เป็นที่รู้จัก ทีมงาน M- lite นัดพูดคุยกับเธอ หลังตารางนัดหมายที่เน้นขนัด ความฝันวัยเด็ก ความสุขของชีวิต การต่อสู้แข่งขันในวงการโคโยตี้ กระทั่งคำขู่จากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น จนได้แชมป์ระดับประเทศ เธอมาไกลเกินกว่าที่คิดไว้ อาจไม่ใช่เรื่องราวชีวิตงดงาม เป็นชีวิตที่วูบไหวท่ามกลางค่ำคืน หากแต่ก็เต็มไปด้วยสีสันงดงามแปลกตา ยากที่คนธรรมดาจะจินตนาการถึง
ฝันอยากเป็นโคโยตี้
“สมัยเด็กๆ ครูถามว่าทุกคนฝันอยากเป็นอะไร เพื่อนๆ ก็ตอบหมอ ทหาร พยาบาล คุณครูก็มี แต่หนูฝันอยากเป็นโคโยตี้คะ” น้ำเสียงเปี่ยมความสุขของเธอสะท้อนความจริงใจต่อความฝันวัยเด็กอย่างชัดเจน มันคือฝันวัยเด็กไร้เดียงสาที่ไม่คิดอะไรมากไปกว่าอยากแต่งตัวสวยๆ มีผู้คนห้อมล้อมยอมรับชื่นชม
หากย้อนกลับไปวัยเด็ก เธอถือเป็นเด็กที่เด่นด้านกิจกรรม มักจะเป็นคนที่ได้ร้องเพลงชาติ และเข้าร่วมกิจกรรมการประกวดร้องเพลงมากมาย
“เสียงไม่เท่าไหร่หรอกเน้นลีลาไว้ก่อน (หัวเราะ) ได้จากทั้งพ่อแม่ค่ะ ปลูกฝังให้เน้นลีลา การแสดงออก”
พ่อของเธอเป็นนักดนตรีครบเครื่องที่เล่นดนตรีได้ทุกแนว เล่นเครื่องดนตรีได้หลายประเภททั้งกีตาร์ กลองและถนัดเครื่องดนตรีอีสานเป็นพิเศษ ขณะที่แม่เป็นนักร้องเก่าที่เกษียณตัวเองแล้ว พื้นฐานตรงนี้ดูจะขัดกับภาพความเป็นโคโยตี้ที่ขายความสวยงามเพียงเรือนร่างเท่านั้น
“เล่นดนตรีได้เป็นบางอย่าง แต่ตอนนี้ลืมหมดแล้วเพราะไม่ได้เล่นนานแล้ว มาเน้นเต้นร้องตั้งแต่อายุ 15 คือตั้งแต่อายุ 15 หนูไม่ได้ขอเงินพ่อแม่แล้วคะ อยากได้อะไรก็เก็บเงินซื้อเอง”
หลังยุคสมัยอันโชติช่วงของวงดนตรีอีสาน “ร็อกลำโขง” คือชื่อวงดนตรีของพ่อที่เดินสายเล่นดนตรีไปทั่วประเทศ ยุคสมัยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยแห่งโคโยตี้โชว์ เธอในวัย 15 ปีได้รับคำแนะนำจากพ่อให้ลองรับงานโคโยตี้ดู จากแดนเซอร์วงดนตรีลูกทุ่งสู่การเป็นโคโยตี้ตามที่เธอฝัน และเธอเริ่มต้นด้วยความเป็นเด็กไม่คิดอะไรมาก คิดแต่เพียงว่าเป็นอาชีพที่สนุก ได้แต่งตัวสวย ได้เต้นและได้เงินค่าจ้าง
“พ่อแม่หนูรับงานเดินสายทำวงดนตรีมาหลายสิบปีแล้ว ทำงานอยู่ในวงการมานานเขารู้ว่าวงการนี้มันเป็นยังไง หนูโตมากับวงดนตรี หัดร้องหัดเต้นมาตั้งแต่เด็กๆ คือจำความได้ก็ร้องเพลงได้แล้ว”
หลังรับงานโคโยตี้ในชื่อทีมงานเอวเด้ง เธอก็รับงานได้หลากหลายมากขึ้น และเพียง 2 ปีหลังจากนั้นแดนเซอร์ก็หมดความนิยม และถูกแทนที่ด้วยโคโยตี้แทบทั้งหมด ทีมงานของเธอรับงานแทบทุกอย่างตั้งแต่เต้นโคโยตี้ตามงานเครื่องเสียง งานโชว์บนเวทีกับดีเจ หรือวงดนตรี เป็นพริตตี้ตามงานโชว์รถ กระทั่งถ่ายแบบจนถึงงานแห่นาค โดยเธอเป็นคนดูแลจัดการรับงานทั้งหมดและมีทีมโคโยตี้ประจำการอยู่ 10 คนด้วยกัน
ครั้งแรกที่เธอรับงานนั้น ได้ค่าแรงเพียง 700 บาทเท่านั้น แต่ก็ทำให้เธอรู้สึกดีใจ และไม่ได้มีความรู้สึกประหม่าหรือเขินอายแต่อย่างใดกับการเต้นเซ็กซี่ และสายตาของผู้คนที่มองเธอ ยิ่งคนเยอะกลับยิ่งทำให้เธอรู้สึกมั่นใจขึ้นด้วยซ้ำ
“คนดูเยอะไม่เขินค่ะ ถ้าน้อยจะเขินมากกว่า ทำไมไม่มีคนมาดูเรา เราไม่ดีเหรอ ไม่สวยเหรอ หรือเราเต้นไม่ดี(หัวเราะ) แต่ถ้าคนมาดูเราเยอะ เรายิ่งมั่นใจ เฮ่ย! มีคนมาดูเยอะ เขาต้องชอบเราแน่ๆ อาจจะเพราะว่า หนูร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กด้วย ขึ้นเวทีกับวงใหญ่ๆ ก็เลยชิน เหมือนพ่อแม่ก็ปลูกฝังเรื่องการแสดงออกที่โรงเรียนมาตลอด”
โดยที่มาของการพัฒนาการเต้นของเธอหาใช่การเข้าฝึกเรียนในสถาบันด้านการเต้นแต่อย่างใด หากแต่เป็นวิธีบ้านๆ เพียงไปยืนดูตามร้านขายแผ่นซีดีโคโยตี้ตามตลาดนัด
“หนูดูตามแผ่นที่เขาขายตามตลาดนัด แผ่นโคโยตี้อะไรแบบนี้ แต่ก่อนหนูก็เหมือนไม่ค่อยจะมืออาชีพสักเท่าไหร่ เต้นไม่สวยเหมือนเขา ก็มาดูแล้วค่อยๆ เก็บรายละเอียด พอเราโตขึ้นก็เริ่มทำงานหลายปีเราก็เริ่มเก่งขึ้นๆ เริ่มเจนเวทีมากขึ้น”
แต่เส้นทางชีวิตโคโยตี้นั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ใช่ว่าลุกขึ้นสลัดผ้าเต้นแล้วจะประสบความสำเร็จได้ ยิ่งความต้องการโคโยตี้มากขึ้น เด็กๆ รุ่นใหม่ก็ยิ่งรวมตัวตั้งเป็นทีมโคโยตี้แข่งกันมากขึ้น ดุเดือดมากขึ้น แน่นอนว่า ไม่ใช่สิ่งที่จะรับรู้ได้จากโลกภายนอกนัก หากไม่ได้อยู่ในวงการนี้
ในโลกของโคโยตี้
ชื่อเรียกอาชีพ “โคโยตี้” ที่มีมาจากภาพยนตร์เรื่อง coyote ugly ที่เนื้อหาเล่าถึงชีวิตสาวบาร์เต้นรำ โดยรากเดิมนั้นมาจากภาษาสเปนที่คำว่า coyote หมายถึงสุนัขร้องเพลง ถูกนำมาใช้เป็นคำสแลงในภาษาอังกฤษว่า coyote ugly ซึ่งหมายความถึงคนที่น่าเกลียด ใช้กับเหตุการณ์เมื่อผู้ชายหรือหญิงสาวร่วมหลับนอนข้ามคืนกับคนที่เพิ่งพบกันและได้รู้ว่า หน้าตาของอีกฝ่ายนั้นน่าเกลียดจนอยากจะตัดแขนตัดขาหนีสุดชีวิตคล้ายพฤติกรรมของหมาป่าไคโยตี้ที่ติดกับดัก โดยในประเทศไทยโคโยตี้มีนิยามความหมายถึง ผู้หญิงที่ยึดอาชีพเต้นในผับบาร์ด้วยท่วงท่าเซ็กซี่ แต่จนถึงตอนนี้โคโยตี้ก่อร่างสร้างนิยามไปไกลกว่านักเต้นในผับบาร์ แต่ก็ยังไม่ได้สลัดหลุดจากความโป้เปลือย ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นกับวงการโคโยตี้ที่ขยายตัว ด้านหนึ่งก็เปลี่ยนแปลงชีวิตเธอไปโดยสิ้นเชิง
“กว่าจะประสบความสำเร็จมันก็ต้องใช้เวลานานหลายปี ตอนแรกหนูก็สักแต่ว่าจะเต้น เต้นไปเด็กๆ 2 - 3 ปี หนึ่งเดือนมีงานครั้งสองครั้งจะตื่นเต้นมาก โทร.หากันวันนี้มีงานนะ เต้นหน้ากระจก คือนานๆ ทีจะมีงาน ช่วงนั้นก็ยังไปร้องเพลงกับพ่อ นานๆทีถึงจะได้งานโคโยตี้”
เธอมองว่า ก่อนหน้านี้เธอเองก็ยังเป็นเด็กๆ ยังไม่สวย ยังเป็นแค่เด็กกะโปโลจนคนไม่อยากจ้างงาน จนเธอบังเอิญไปเห็นการรับสมัครประกวดโคโยตี้ประเทศไทยซึ่งมีเงินรางวัลสูงถึงหนึ่งแสนบาท เธอคิดเพียงแต่เรื่องเงิน แต่แล้วเธอก็ต้องตกรอบและกลับมาฝึกฝนตัวเองเพื่อก้าวไปให้ไกลกว่าเดิมในเส้นทางนี้
“กลับมาปรับปรุงเรื่องการแต่งตัว เรื่องท่าเต้น เรื่องการเข้าถึงอารมณ์เพลง แล้วเกณฑ์การตัดสินก็จะมีอยู่สองอย่าง อย่างแรกเป็นกรรมการที่สนามเขาจัดมา เป็นเจ้าของสนาม เจ้าของหนังสือต่างๆ พวกรถซิ่ง แล้วก็เป็นเจ้าของแบรนด์ลำโพง อีกส่วนคือคนดูคนทั่วไปที่มาเป็นหมื่นคน เขาก็จะซื้อหนังสือให้ ถ้าเขาชอบใครก็จะซื้อให้คนนั้นใครได้มากสุดก็เอาคะแนนมารวมกับกรรมการ”
โดยเกณฑ์การตัดสินในวงการนั้น เธอให้ความสำคัญกับการเข้าถึงอารมณ์เพลง ต้องเต้นแล้วสนุกไปกับเพลง เพลงมันก็ต้องยิ้มสนุกสนาน ต้องทำให้คนดูไม่อยากเดินจากไป
“สมมติไปยืนดูโคโยตี้เจอ เฮ่ย! คนนี้ไม่ได้สวยเท่าไหร่ แต่เต้นมัน เต้นสนุก ยืนดูแล้วมีความสุข ไม่อยากเดินไปไหน ต้องทำให้ได้อย่างนั้น ไม่ใช่สวยแต่ยืนทื้อเป็นท่อนไม้หน้าไม่ยิ้มมันก็ไม่น่าดู”
จนเมื่อเธอคว้ากลับมาคว้าแชมป์ได้สำเร็จ ได้ตำแหน่งมากมายจากเวทีดังกล่าว เธอก็เริ่มเป็นที่จดจำและมีชื่อเสียงมากขึ้นและเริ่มมีงานเข้ามามากขึ้นจากการเป็นที่รู้จักในวงการ แต่องค์ประกอบเท่านั้นก็ยังไม่พอสำหรับอาชีพโคโยตี้
“แต่ก่อนหนูขี้เหร่มาก ดำมาก ปากก็ห้อย พอโตขึ้นมาเราก็รู้จักรักษาความสะอาด ขัดผิว หายามากิน หายามาทา คือหลังจากได้แชมป์แล้วหนูก็ยังขี้เหร่อยู่ ก็เลยไปกรีดตากับตัดปาก”
และเธอมาทำโดยไม่ได้บอกที่บ้าน 3 วันแรกเธอเช้าห้องพักรักษาตัว ตาก็มองไม่เห็น ปากก็ปวม ต้องทนอยู่ราว 1 เดือนถึงจะกลับสู่สภาพปกติ
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โคโยตี้เริ่มแพร่หลายได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ สื่อโซเชียลมีเดียทำให้เกิดการรวมตัวกันได้ง่ายขึ้น ทีมโคโยตี้เด็กๆ รวมตัวกันได้ไม่ยาก เต้นแต่พอเป็นก็เริ่มต้นทีมรับงานได้แล้ว
เธอมองว่า ในวงการนี้มีการแข่งขันกันสูงมาก ในการทำงานจึงต้องทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด และแข่งกับหน้าใหญ่ เด็กใหม่ที่ตั้งทีมกันขึ้นมาโดยมีทั้งชื่อที่ตั้งให้ใกล้เคียง มีท่าที่เลียนแบบ แต่เธอก็ต้องพัฒนาหาจุดเด่น และเอกลักษณ์ใหม่อยู่เสมอ
“เราต้องทำทุกอย่างให้เวิร์ก ทำทุกอย่างแข่งเพราะเด็กใหม่ๆ ตั้งชื่อทีมขึ้นมา อย่างเอวเด้งของเราเป็นชื่อทีมแรกที่เป็นแนวนี้ แต่หลังๆ ก็จะได้ยินชื่อทีมติดเด้งบ้าง โน่นนี่เด้งบ้าง เอวสปริงบ้าง คือตั้งชื่อเลียนแบบเรา พยายามจะทำตาม เราก็ต้องฉีก แต่ก่อนแรกๆ ที่สกรีนชื่อ เอวเด้งโคโยตี้ที่เสื้อ ตอนนี้มีกันเกลื่อน เราก็ต้องหาวิธีทำยังไงไม่ให้เหมือนคนอื่นเขา ไม่เอาแล้ว เอามาปักที่ตูดเอาเป็นเอวเด้งคือเราต้องแหวกแนว”
พ่อแม่ที่ทำงานในแวดวงดนตรีมาก่อนยังคงเป็นที่ปรึกษาให้กับเธอ จะว่าไปแล้ว ความสัมพันธ์ในครอบครัวโดยมากก็มักจะคุยเรื่องงานกันเสียส่วนใหญ่
“ด้านการแสดงบางทีเขามีแนะนำนะคะ เรื่องการวางตัวหรือมีแนะนำว่าเราควรจะแต่งตัวแบบนี้นะ แหวกแนวบ้าง เอาอันโน่นอันนี้มาเสริม แต่เขาคือจะไม่ค่อยมายุ่งมักจะดูอยู่ห่างๆมากกว่า ให้เราตัดสินใจด้วยตัวของเราเอง”
การทำงานเป็นโคโยตี้มีรายละเอียดในส่วนของการโชว์และการบริหารทีม มีการคิดท่าเต้นต่างๆ และสร้างจุดขาย มันคือศาสตร์ในการสร้างความบันเทิงอย่างหนึ่ง และทีมเธอก็จำเป็นต้องร่วมกันประชุมคิดหาแผนการใหม่เพื่อต่อสู้กับคู่แข่งไม่ต่างจากการต่อสู้กันในวงการธุรกิจอื่นๆ
“เราก็ต้องมาร่วมมือกันมีประชุมคุยกันเดือนละครั้ง ต้องมีทีมเวิร์ก ใครทำอะไรยังไง เราควรทำยังไงเพราะมันมีทีมที่เข้ามาแข่งกับเรา เคยได้งานนี้แล้วอยู่ดีๆ เขาไม่จ้างเราไปจ้างอีกทีม เราก็ต้องมาคุยกันว่า ทำไมเป็นแบบนั้นและทำยังไงเราถึงจะดึงงานตรงนั้นกลับมาได้
“เราก็ต้องมาคุยกัน สร้างจุดเด่นของเราที่ว่าจะทำยังไงให้เขาจ้างเราจนได้ ไม่ใช่เป็นโคโยตี้ช่างมันเถอะ ทำยังไงเดี๋ยวก็มีงาน คือโคโยตี้มันก็ต้องมีการวางแผนเหมือนกัน ไม่ใช่เต้นอย่างเดียว ไม่งั้นเราก็ไม่ก้าวหน้า”
เอวเด้งหลบกระสุน
เริ่มโด่งดังออกรายการทีวี
เพราะงานโคโยตี้คืองานกลางคืน และโลกของคนกลางคืนก็ไม่ใช่โลกที่สวยงามนัก หลายครั้งที่ออกต่างจังหวัดเธอจะต้องพบกับลูกค้าผู้ว่าจ้างกระทั่งแขกผู้มางานที่เป็นผู้มีอิทธิพล ทุกครั้งที่เจอกรณีแบบนั้นสิ่งที่ทำได้คือต้องเอาตัวรอด แต่หลีกเลี่ยงไม่รับงานอีกเป็นครั้งที่สอง
“บางทีหนูเจอพวกเส้นใหญ่ๆ หน่อย มานั่งกินกัน หนูเลิกงานแล้วเหนื่อยกันมากด้วย แต่พวกเขาพึ่งมาถึง ก็บอกเออ ไม่ได้ ต้องเต้นต่อ! จะให้พวกหนูเต้นต่ออีกชั่วโมง พวกหนูก็ถามว่า พี่ให้หนูเพิ่มได้มั้ย? หนูหมดเวลาแล้วนะ บ้านหนูก็ไกลอยากกลับบ้านบ้าง พรุ่งนี้ก็ต้องไปเรียน เขาบอกไม่ให้ ต้องอยู่ ไม่อยู่กูยิง!
“คือคนบ้านนอกมันมีผู้มีอิทธิพล มีแบบนี้ที่เจอ มองหน้ากันแทบร้องไห้ขึ้นไปเต้นแบบเหมือนผีตาย ตังค์ก็ไม่ได้ ถ้าตังค์ไม่ได้แต่มาบอก ช่วยพี่หน่อยนะ พี่อยากเห็นจริงๆ เต้นอีกสักรอบ เราก็โอเค แต่นี่มาขู่เราด้วย เราก็จิตใจหดหู่ ไม่ชอบ”
ปัญหาในชีวิตโคโยตี้ที่ทำงานของตัวเองอย่างจริงจัง รับงานเต้นโชว์ วิ่งงานหลายที่ เจอกับการทำงานหนัก กับกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบ ปัญหาหึงหวงระหว่างสามี - ภรรยา เธอก็เคยเจอ จากผู้ชมที่เรียกนักเต้นมาทิป กลับเจอสาดน้ำใส่โครมใหญ่เป็นของแถม แต่เธอก็ต้องอดทน เก็บอารมณ์เพื่อหน้าที่การงานที่ทำอยู่
“เราไม่ได้ไปยั่วไปล่วงอะไรเขา ให้เขาทิปหน่อย เปล่า เขาเรียกพวกหนูลงไปรับทิป แล้วเมียอยู่ดีๆ เดินมาโวยวาย สาดน้ำใส่พวกหนู ชี้หน้าด่าด้วย พวกมึงออกไปให้หมดเลยนะ พวกตอแหล คือโมโหมาก เอาจริงๆ หนูอยากจะกระชากไปต่อยหลังเวทีเลยนะคะ แต่หนูก็ต้องเก็บอารมณ์เพราะเขาจ้างเรามา เราก็ต้องเกรงใจเจ้าภาพ”
อีกปัญหาที่เจอบ่อยคือเหล่าหนุ่มใหญ่หื่นกามที่มักเข้ามาลวนลาม จับโน่นนี่ซึ่งเธอเจอแทบทุกงาน และก็ต้องเอาตัวรอดให้ได้ อาจจะด้วยการหลบหลีกเปลี่ยนที่ยืน หรือแจ้งกับเจ้าภาพให้จัดการ แต่จะไม่มีการโวยวายใส่เด็ดขาด
“มันมีบางคนที่ทำงานอย่างนี้แล้วไปโวยวายใส่ลูกค้า มันไม่ได้เสียแค่เราเอง แต่เสียถึงเจ้าของงานด้วย เราต้องยิ้มรับยิ้มสู้ บางทีเดินมาจับตูด เราก็บอก พี่จับไม่ได้นะ (เสียงอ่อนหวาน) ต้องเอาตัวรอดไม่ทำให้เขาโมโห ยิ่งด่ายิ่งโมโหเขายิ่งทำ”
แน่นอนว่า วงการนี้ถือเป็นวงการที่ต้องเปลืองตัว แต่เธอก็เริ่มชินกับการรับมือและมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว อาจมีโดนนิดโดนหน่อยบ้างแลกกับแบงก์ 1,000 แบงก์ที่เข้ามาเหน็บ แต่ก็มีเส้นแบ่งอยู่ หากเป็นแบงก์ 20 ก็คงไม่ไหว และหากลวนลามมากไปก็คงไม่ได้
และในวงการที่ขายเรือนร่างเช่นนี้ บางคนก็มองว่าจะขายไปเสียทั้งหมด เธอบอกเลยว่า ในวงการก็มีทั้งโคโยตี้ที่ดีและไม่ดี มีบางคนที่ขายและทำให้ผู้คนมองว่าโคโยตี้ขายบริการทั้งหมด เสี่ยใหญ่หลายคนมีวิธีตื้อและเธอต้องหลีกหนีไม่ให้อับอาย ไม่ให้หักหน้ากัน
“คืนนี้หมื่นนึง แต่พวกหนูไม่ไป บางทีก็งี่เง่า บอกต้องไป ต้องกลับกับพี่ หนูก็บอก พี่ต้องให้ทิปหนูก่อน คือเราหลอกเอาทิปก่อนพอเลิกงานก็ชิ่งหนี(หัวเราะ) มันจะปลอดภัยกว่าปฏิเสธตรงๆ คือบางคนมันงี่เง่า เป็นคนใหญ่คนโตมียศอะไรอย่างนี้ มางี่เง่ามาขู่เรา เราต้องเล่นตามเกม
“แต่เลิกงานปุบเรารับตังค์แล้วเรารีบชิ่ง บอกพี่หนูเปลี่ยนชุดแป๊บนึงแล้วไปเลย วันหลังมาถ้าสมมติเจอเขาอีก เขาทัก อ้าว วันนั้นหนีพี่เหรอ ก็บอก หนูไม่ได้หนี วันนั้นหนูหาพี่ไม่เจอ เราต้องใช้มารยาหญิง พวกหนูต้องเอาตัวรอดให้ได้ทุกวัน ต้องดูแลกัน ช่วยกัน สะกิดชวนกันไปเข้าห้องน้ำก็ไปกันหมด”
ไหวพริบการเอาตัวรอดอย่างมีชั้นเชิงคือสิ่งที่ต้องมีติดตัวอยู่เสมอในอาชีพที่ต้องทำงานกลางคืนอย่างเธอ
เซ็กซี่ไม่อุจาด...งานมาเต็ม
ในมาดนักศึกษา
จุดขายของโคโยตี้แน่นอนว่าต้องอยู่ที่การเต้น ลีลาท่วงท่าที่เซ็กซี่คือสิ่งที่ทุกคนนึกถึง แต่เซ็กซี่ก็มีเส้นแบ่งกับคำว่า อุจาดจนถึงอนาจาร และมันเป็นเส้นแบ่งจากยากจะให้ใครมาขีดเส้น ยิ่งเซ็กซี่เป็นร้อนแรงยิ่งเป็นกระแสให้คนพูดถึง ในมุมมองของเธอ โคโยตี้เด็กๆ เกิดใหม่เต้นแรงขึ้นจนน่าตกใจ
“พวกรุ่นเกิดใหม่จะเต้นกันแหกอ้ามาก เหมือนให้คนมาถ่ายคลิป แล้วก็บอกว่า พวกพี่เต้นกันได้แค่นี้เหรอ คือแต่ก่อนก็เคยเต้นแบบนี้แต่มันดูไม่ดี ไม่มีระดับ มันดูอุจาด พอถึงระดับนึงเราเต้นแล้วเราเน้นการแสดง เต้นให้คนสนุกไม่ให้คนมาถ่ายตรงนั้นอ้า ตรงนี้อ้า
“พวกหนูเต้นกันไม่น่าเกลียดเกิน มันก็ออกทีวีได้ อย่างจ๊ะ คันหูจริงๆ ถือว่าเป็นจุดขายของเขา ถ้าไม่เต้นแรงแบบนั้นคนก็ไม่สนใจ ไม่เป็นที่พูดถึง แต่มันต้องไม่น่าเกลียดเกินไป”
ตลอดระยะ 8 ปีในวงการโคโยตี้ เธอพบความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง จากที่มีทีมโคโยตี้อยู่น้อย และมักจะโคโยตี้รับงานตามผับตามบาร์ ถึงยุคนี้กลับมีทีมโคโยตี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น
“แต่เรื่องแบบนี้ใครดีใครได้ หนูทำงานมาไม่เคยบอก หนูต้องค่าตัวเท่านี้ๆ ใครเคยมีพระคุณบางทีงานช่วยงานฟรียังไปเลย ทิ้งงานได้ตังค์ไปให้คนที่เขาเคยจ้างเคยให้โอกาสหนูแรกๆ”
จุดขายของทีมงานเธอนั้น นอกจากท่าเอวเด้งอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว ความเป็นกันเองหลังลงจากเวทีก็ถือเป็นอีกจุดขายด้วยเช่นกัน
“ก็คือทีมงานเอวเด้ง เป็นเหมือนพวกเราจะมีท่าประจำทีมงานของเราคือเด้งน่ะคะ ที่ไม่เหมือนโคโยตี้คนอื่น คนอื่นอาจจะเลื้อยบ้าง แต่เราหลากหลายสไตล์มีทั้งมัน ทั้งเซ็กซี่ แต่ถ้าเกิดที่เราเน้นคือเด้งๆ ประมาณนี้ คนดูก็จะชอบสนุกกับเรา ถ้าจ่ายพวกหนูรับรองไม่ผิดหวัง เอ็นเตอร์เทนเก่งทุกคน ไม่หยิ่ง คุยได้ อ้อนได้ นั่งคุยกันได้สนุกสนาน”
และแต่ละงานจะไม่เกิน 3 - 4 ชั่วโมง หากเป็นช่วงปีใหม่อาจโชว์ได้เพียงที่ละ 1 ชั่วโมงและต้องวิ่งข้ามจังหวัดไปโชว์ต่อ ช่วงปีใหม่ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคมถือเป็นช่วงกอบโกยที่ตารางของเธอแน่นเอี๊ยด
“ทุกที่ต้องการโคโยตี้คะ ช่วงนั้นจะวันละ 2 - 3 งาน และคืนวันปีใหม่เคาท์ดาวน์วันเดียวจะวิ่งเกือบ 10 งาน งานละ 1 ชั่วโมงเท่านั้น คือแทบไม่ได้หลับไม่ได้นอน แต่งตัวเปลี่ยนเสื้อผ้าบนรถเลย”
ชีวิตการแสดงโชว์ของเหล่าโคโยตี้จึงแทบไม่ต่างจากทัวร์คอนเสิร์ตต่างจังหวัดของศิลปินนักร้อง มันเป็นงานเดียวกันกับที่พ่อแม่ของเธอทำมาก่อน เพียงแต่เป็นการให้ความบันเทิงที่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น
บ่อนเสรี / ผีโรงแรม
ระหว่างเส้นทางชีวิตโคโยตี้ เธอเคยได้รับงานไปเต้นไกลถึงบ่อนในประเทศกัมพูชา คนไทยที่อยู่ที่นั่นจัดจ้างเธอไปเต้นในกาสิโน เป็นประสบการณ์ที่ไม่เลวร้าย เงินเต็มไปหมด ทิปดีอย่างไม่น่าเชื่อ
“มันก็สนุกดีนะคะ เพราะคือมีแต่เงินทั้งนั้น คนที่เขาได้เยอะ เขาก็ให้ทิปเราเยอะ เงินดี”
แต่จากประสบการณ์ของเธอ แม้กาสิโนจะเป็นกิจการที่ทำเงินให้กับเธอได้ดี เธอได้ทิปเยอะ เธอกลับไม่เห็นด้วยหากจะให้มีการเปิดบ่อนเสรีในประเทศไทย
“หนูว่าจริงๆ ไม่น่าเปิดนะ เพราะคนเล่นมันดูงมงาย ที่หนูไปคือเล่นกันข้ามวันข้ามคืนเลยนะ บางทีที่ไปคนจ้างหนูเขาเล่นเป็นดอลล่าร์ ให้มาประมาณ 6,000 บาทไทย หนูไปเล่นตู้สล็อตหมดเลย มันก็ได้ช่วงแรกแต่ยิ่งเล่นยิ่งติด เล่นเล่นแล้วได้ก็ดีใจ แต่ไม่รู้จักพอ อยากได้อีก พอเล่นไปมันก็เสีย แล้วเสียไปหมดเลย แต่มันก็แล้วแต่คนชอบนะ ถ้าคนชอบคงอยากให้มี แต่หนูไม่เห็นด้วย”
ทว่าการพนันเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นเรื่องปกติที่เธอเล่นบ้าง เมื่อต้องเดินทางไปพักตามโรงแรมที่บางค่ำคืนอาจนอนไม่หลับเพราะเจอประสบการณ์หลอนๆ
“พวกหนูกลัวผีเวลาไปต่างจังหวัดนอนอยู่ห้องเดียวกันก็จะเล่นไพ่กันบ้าง แต่เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยๆ บางทีเจอเข้าบ้างเหมือนกัน”
ครั้งหนึ่ง เธอเล่าถึงประสบการณ์ที่โรงแรมย่านสถานท่องเที่ยวชื่อดังแห่งหนึ่ง ห้องราคาแพงถึงคืนละ 2,500 บาท แต่เข้าไปอยู่ในห้องได้เพียง 3 ชั่วโมงก็ต้องหนีออกมา
“วันนั้นมันเป็นวันอาทิตย์คนเยอะมาก ห้องเหลือแค่ห้องเดียวชั้นล่างสุด ไม่ได้คิดอะไรมากคะ ไปกัน 5 คนก็นอนๆ ไป มีเตียงคู่สองเตียง มีพี่คนขับรถไปคนหนึ่งกับโคโยตี้ 4 คน เราก็ค่อยๆ ผลัดกันเข้าไปอาบน้ำ คนหนึ่งอาบเสร็จออกมาบอกหนู เห็นผู้หญิงชุดขาวลอดเข้าตู้ไป จากนั้นน้องอีกคนที่เข้าไปอาบน้ำต่อก็บอกเหมือนว่า เห็นผู้หญิงชุดสีขาวทั้งที่ไม่ได้คุยกัน”
หลังจากนั้น เธอเล่าต่อว่า พอเข้านอนก็เริ่มได้ยินเสียงกระซิกคล้ายสะอื้นไห้อยู่บางเบา ทุกคนในห้องมองหน้ากัน ก่อนค่อยๆ ลุกขึ้นไปเปิดไฟ แต่ไฟกลับไม่ติด
“พอออกไปดูนอกห้อง ไฟดับห้องหนูห้องเดียว พอไปแจ้งทางโรงแรมให้มาจัดการเสร็จ เราถึงมาสังเกตว่า ที่ประตูข้างบนมียันต์ เสากลางห้องมียันต์ ห้องน้ำก็มียันต์ ระเบียงทางออกก็มียันต์ เราเลยตัดสินใจเก็บของกันออกมา”
นอกจากเหตุการณ์นี้ เธอยังเคยเจอประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องวิญญาณโดยเป็นน้องที่อยู่ในทีมโคโยตี้ของเธอซึ่งถูกแฟนยิงเสียชีวิต หลังรับรู้ข่าว เธอได้ไปเห็นหน้ารุ่นน้องร่วมงานในวาระสุดท้าย จากใบหน้าที่ดูสวยใสกลับเบี้ยวเละด้วยกระสุนปืน
“วิญญาณน้องเหมือนมาเข้าฝันคนข้างบ้านให้ไปเชิญวิญญาณมาจากรถที่เป็นที่เสียชีวิตของน้องเขา จากนั้นคนที่ถ่ายรูปที่โรงศพก็เห็นเงาๆ ในรูป ตอนนั้นหนูก็กลัวมากเพราะเรายังจำน้องเขาได้ ภาพน้องยังติดตา หลับตาทุกครั้งก็จะเห็นภาพนั้นขึ้นมา หลับๆ ตื่นๆ แต่เหตุการณ์นั้นมันทำให้คิดได้ว่าชีวิตมันไม่แน่จริงๆ ถ้าจะทำอะไรต้องทำให้เต็มที่”
ชีวิตธรรมดา
ชีวิตโคโยตี้อาจเป็นชีวิตที่ดูโลดโผน แต่แท้จริงแล้วก็คล้ายชีวิตคนปกติที่มีความฝัน ในมุมของเธอ ความฝันอยากเป็นโคโยตี้ก็ทำได้สำเร็จ มีเงินเพียงพอส่งเสียตัวเองเรียนตั้งแต่อายุ 15 ส่งเสียน้องสาวเรียนแบ่งเบาภาระครอบครัว ถึงตอนนี้เธอรู้สึกพอใจกับชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดแล้ว
ทั้งนี้ นอกเวทีชีวิตปกติในช่วงกลางวัน เธอยังเรียนระดับปริญญาตรีด้านการตลาดอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และแทบจะไม่แต่งตัวมากมายนัก เพราะต้องแต่งในเวลาทำงานอย่างมากล้นเกินพอแล้ว
“มันแต่งหน้าแต่งตัวกันทุกวันจนไม่อยากจะแต่งแล้ว เดินห้างอย่างนี้เสื้อยืดกางเกงคือมันเหนื่อยที่จะแต่งอยากพักบ้าง พักหน้าบ้าง พักการแต่งตัวบ้าง เห็นพวกหนูอย่างนี้ไปเที่ยวอาจจะไม่แต่งวับๆแวมๆเลย อาจจะเปลี่ยนเป็นอีกแนวเลย”
เสียงเพลงเร่งเร้าจังหวะตื๊ดยิ่งเป็นสิ่งที่เธอหนีห่าง เพราะต้องเจอในแทบทุกคืนอยู่แล้ว เดือนละครั้ง 2 ครั้งเป็นอย่างมากที่จะเธอจะได้ไปเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อน เพราะแต่เรียนและทำงานก็เอาเวลาชีวิตของเธอไปหมดแล้ว เรียนเช้า ทำงานค่ำมืดกลับถึงบ้านตี 1 เข้านอนและไปเรียนในเช้าอีกวันถัดมา
“หนูรับผิดชอบค่าน้ำ - ค่าไฟและค่าเทอม - ค่าหอน้องตอนนี้ก็ใกล้จะจบแล้ว หนูเต้นโคโยตี้เก็บเงิน แบ่งเบาภาระครอบครัวเท่าที่เราจะทำได้”
แต่ชีวิตทุกคนใช่ว่าจะสมบูรณ์การปลีกตัวมาทำงานโคโยตี้ทุกคืนทำให้ผลการเรียนของเธอไม่ดีนัก และไม่รู้ว่าเธอจะจบได้หรือไม่
“งานเยอะอย่างนี้เราก็เลือกเงินไว้ก่อน อาจารย์โทร.มาตามบ้างแต่หนูก็ไม่คิดอะไรก็ไปเรื่อยๆ เอาเวลามาเก็บเงินตรงนี้เพราะตอนนี้มันเป็นหน้ากอบโกยของหนู เรากอบโกยได้ก็ทำไปก่อน อาชีพตรงนี้มันทำไปตลอดชีวิตไม่ได้ มันถึงต้องรีบทำ อย่างหนูปีนี้ 23 แล้ว อาจจะได้อีกสัก 2 ปี ถ้ายังไม่แก่มากก็ 3 ปีก็คงต้องเก็บเงิน หาธุรกิจทำเป็นของตัวเอง แต่ไม่แน่ถ้าไม่เหนื่อยมาก มีเด็กรุ่นใหม่ๆ มา หนูอาจจะเลิกเต้น ทำธุรกิจส่วนตัวแล้วรับงานให้พวกน้องๆแทน”
ถึงตอนนี้อาชีพโคโยตี้สำหรับเธอจึงไม่ใช่อาชีพที่จะทำไปได้ตลอด หญิงสาวต่างผลัดเวียนเปลี่ยนหน้ากันมาทำและออกจากวงการไป สำหรับบางคนมันเป็นแค่อาชีพหนึ่งที่เงินดี และใช้เวลาไม่นาน สามารถทำระหว่างเรียนไปด้วยได้เท่านั้น
“บางคนในทีมหนูตอนนี้เรียนกฎหมาย ไม่น่าเป็นไปได้ใช่มั้ย? บางคนเขายังเรียนอยู่แต่มาทำงานโคโยตี้เพราะ เขาชอบการเต้นและโคโยตี้มันหาเงินได้ง่าย เราไม่ต้องเข้าทำงานโรงงาน 8 โมงเลิก 5 โมง ทำแบบนั้นเราจะเอาเวลาที่ไหนไปเรียน แล้วค่าแรงขั้นต่ำ 300 มันก็ยาก โคโยตี้มันง่ายที่สุดแล้วถ้ามีหน้าตาเป็นพื้นฐานเขาถึงอยากมาเป็นตรงนี้”
โคโยตี้สำหรับเธอจึงเป็นอาชีพหนึ่ง เป็นความฝันวัยเด็ก และแท้จริงแล้วก็เป็นอาชีพที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้คนอีกด้วย กับชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมดหากตายตอนนี้เธอก็มองว่า ชีวิตที่ใช้ไปคุ้มค่าแล้ว
“หนูตายตอนนี้ก็ไม่เสียดาย เพราะหนูคิดว่าโอเคแล้ว เต็มที่แล้ว ไม่ทำให้พ่อแม่เสียใจ ความฝันก็ทำได้แล้ว ถ้าตายหนูขอตายก่อนทุกคน หนูกลัวผี”
เรื่องโดย อธิเจต มงคลโสฬศ
ภาพโดย วรวิทย์ พานิชนันท์
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754