โปรดักชั่นแย่ บทหนังอ่อนแอ เสียเวลาไปดูหนังไทยในโรง!!? ด้วยกรอบความคิดเช่นนี้เองจึงทำให้รายได้ในครึ่งปีแรกจากภาพยนตร์ไทยไปไม่ถึงเส้นชัย รวมค่าตั๋วกว่า 20 เรื่อง กลับทำเงินได้เพียง 70 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งคนวงนอกและวงในต่างเป็นห่วงกราฟที่ดิ่งลงมาเรื่อยๆ นักวิจารณ์ช่วยชี้ ถึงเวลาเปิดโรงให้หนังทางเลือกช่วยดึงคนดูเพื่อแก้ปัญหา!
จีทีเอชรุ่ง ค่ายอื่นร่วง!
(หนังโกยรายได้จากจีทีเอช เมื่อปีก่อน)
ภาพยนตร์ไทยกำลังอยู่ในช่วงตกต่ำที่สุดแล้วจริงหรือ? ในฐานะที่ติดตามความเคลื่อนไหวในวงการแผ่นฟิล์ม “ชญานิน เตียงพิทยากร” นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง บอกเลยว่าไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้อสงสัยนี้สักเท่าใดนัก เพราะกราฟรายได้ที่ดิ่งลงมานั้น ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้อย่างฉับพลัน แต่เป็นมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแล้วต่างหาก
“ยิ่งถ้าเทียบกับปีก่อนที่มีหนังไทยเข้าฉายทั้งปีเกือบ 70 เรื่อง แต่รายได้รวมแค่ประมาณ 1,000 ล้านบาทเท่านั้นเอง” และจุดที่น่าสนใจยิ่งกว่าเรื่องของตัวเลขรายได้ก็คือส่วนแบ่งการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปจนหลายฝ่ายตั้งรับแทบไม่ทัน!
“อย่างเมื่อก่อน เรามีหนังค่ายใหญ่อย่างพระนครฟิล์ม, สหมงคลฟิล์ม, จีทีเอช, ไฟว์สตาร์ ฯลฯ ปกติแล้ว หนังกลุ่มนี้จะได้รายได้เท่าๆ กันหรือห่างกันไม่เยอะ คือปีหนึ่งอาจจะได้ค่ายละ 100 ล้านเฉลี่ยกันไป แต่พอปีที่แล้ว ส่วนแบ่งตรงนี้มันเปลี่ยนจนเห็นได้ชัด มันเทมาให้ทางจีทีเอชตั้งแต่ปีก่อน จาก 1,000 ล้านบาท ของรายได้หนังไทยทั้งหมด เป็นของจีทีเอชไปแล้วประมาณ 500 ล้านบาท ถือเป็นการเปลี่ยนที่รุนแรงมาก และปีที่แล้วจีทีเอชมีหนังฉาย 3 เรื่อง แต่ได้รายได้ไปแล้วครึ่งหนึ่ง จากหนังไทยทั้งหมดที่มี 70 กว่าเรื่อง
ถ้าให้เทียบจากรายได้ที่คนดูจ่ายให้แก่หนังไทยปีที่แล้ว ผมมองว่าคนไทยยังดูหนังเหมือนเดิมคือ หนังกลุ่มที่คนดูเยอะก็ยังเป็นกลุ่มเดิมอย่าง หนังรักโรแมนติกคอมเมดี, หนังผี และหนังผีตลก แต่ที่เปลี่ยนไปคือมันเทมาให้แก่หนังรักของจีทีเอชมากขึ้นอีกหลายเท่า
ลองย้อนกลับไปไกลๆ เมื่อก่อนเรามีเรื่อง “ผีหัวขาด” ซึ่งเคยได้เงินอย่างง่ายๆ 80 ล้าน แต่พอมาทุกวันนี้ หนังแนวเดียวกันอย่าง “มอ 6/5 ปากหมาท้าผี” กลับได้เงินแค่ 20-30 ล้าน ซึ่งจำนวนเงินเท่านี้ในยุคนี้มันถือว่าเป็นรายได้ที่เยอะแล้วนะครับสำหรับหนังไทยที่ไม่ใช่จีทีเอช เพราะส่วนแบ่งการตลาดหนังไทยทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปแล้วจริงๆ
ตอนนี้ถือว่าค่ายจีทีเอชประสบความสำเร็จมากในด้านเศรษฐกิจ ไม่มีใครสู้ได้เลย แต่ปัญหาก็คือทางสตูดิโออื่นๆ ก็หนักใจเหมือนกัน เพราะสิ่งที่จีทีเอชคงมาตรฐานเอาไว้ได้คือเรื่องโปรดักชั่น เนื้องาน การผลิต เป็นหนังที่มีการลงทุน อย่างน้อยคนดูรู้สึกว่าหนังของจีทีเอชเป็นหนังที่ลงทุน ไม่ดูถูกคนดู ในขณะที่หนังของสตูดิโออื่นๆ มันยังมีภาพลักษณ์ในอีกด้านลบอยู่ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องโทษสตูดิโอเหล่านี้เองที่ไม่ได้มีวิสัยทัศน์ในการสร้างงานที่ดีพอ
กลายเป็นว่าทุกวันนี้ ค่ายอื่นๆ พยายามจะทำหนังแบบจีทีเอชหมดเลย แนวเดียวๆ กัน เพราะเชื่อว่าทำแล้วจะได้ตังค์ 150-300 ล้าน กลายเป็นทำออกมาแล้วไม่ได้ดีทั้งหมด บางทีทำออกมาแล้วแย่ไปเลยเพราะไม่ได้เข้าใจแนวนี้จริงๆ และไม่ได้ลงทุนมากพอ แน่นอนว่าเรื่องเงินทุน คนทำงาน มันไม่มีใครไปเหมือนใครอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับทรัพยากรที่มีอยู่ในมือที่จะทำให้งานออกมาดีแค่ไหน ถือว่าค่ายอื่นตามสังคมไม่ทัน มองไม่ออกว่าสังคมต้องการอะไร ผลที่ออกมาเลยทำให้เงินครึ่งหนึ่งของทั้งปีไปอยู่ที่จีทีเอชหมด
ยกตัวอย่างเรื่อง “ฉลุย แตะขอบฟ้า” เป็นหนังของค่ายทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม เป็นค่ายเพิ่งเกิดใหม่แต่ค่อนข้างใหญ่พอสมควร มีแบ็กอัปทางธุรกิจที่ค่อนข้างดี ได้รายได้ไป 3 ล้านบาทซึ่งในวงการถือว่าเป็นหนังที่เจ๊ง แต่ถึงขนาดเจ๊งแล้ว สำหรับหนังสตูดิโอยังได้ 3 ล้านบาท ในขณะที่หนังที่มีสเกลเล็กกว่านั้นอีก หนังของสตูดิโออิสระ, ผู้สร้างหน้าใหม่ หรืออินดี้คุณภาพ การทำเงินได้ 1 ล้านคือความสำเร็จแล้ว นี่แหละคือความแตกต่างที่ชัดเจนมากๆ”
อย่าเหมารวม “ถดถอย” เพราะ “อินดี้” ไม่กระทบ
(หนังนอกกระแสเฉพาะกลุ่ม อยู่ได้ ไม่กระทบ)
“กลุ่มหนังอินดี้คงไม่ค่อยได้รับผลกระทบอะไรมากกับรายได้ตรงนี้ที่หายไป เพราะเขาจะมีคนดูเฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว” นคร โพธิ์ไพโรจน์ หัวหน้ากองบรรณาธิการฝ่ายหนังไทย นิตยสารไบโอสโคป สิ่งพิมพ์ที่เน้นข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องหนังโดยเฉพาะช่วยวิเคราะห์ถึงกลุ่มคนภาพยนตร์ทางเลือกอีกกลุ่ม เพื่อให้มองประเด็นเรื่องนี้ในมิติที่หลากหลายได้มากขึ้น
“แต่สำหรับหนังตลาด ทั้งโรงและค่ายหนังหลายๆ รายก็พยายามหาทางให้คนออกจากบ้านมาดูหนังให้ได้มากขึ้น ซึ่งผมว่าเราอาจจะต้องแก้ด้วยการทำให้หนังมีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อดึงคนให้มาเข้าโรงให้ได้มากขึ้น เพราะตอนนี้ในไทยก็มีโรงหนังที่ผูกขาดอยู่ไม่กี่เครือ ทำให้มีหนังซ้ำๆ กันในทุกๆ โรง อย่างตอนนี้พอมี “Jurassic World” ก็มีเต็มโรงเหมือนกันหมดเลย คือมีได้นะครับ แต่ควรจะแบ่งพื้นที่ให้หนังเรื่องอื่น-แนวอื่นบ้าง
เทียบกับในต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลีที่มีระบบที่ดี เขาผ่านจุดแบบเรามาแล้ว เขาจะมีโรงที่ให้พื้นที่แก่หนังที่หลากหลายมาก ในโรงโรงหนึ่ง มีหนังให้เลือกได้อีกเยอะเลย หรืออย่างอเมริกา ไม่ใช่แค่หนังสเกลใหญ่ที่เขาให้ความสำคัญ หนังอินดี้ หรือแม้แต่หนังเก่าเขายังมีพื้นที่ให้มัน มีโรงฉายเฉพาะให้เลย
ถามว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องความถดถอยของวงการภาพยนตร์ไทยในตอนนี้ยังไง ผมว่าไม่ใช่แก้กันแค่ไปโทษทางโรงหนังว่าทำไมไม่เอาหนังทางเลือกมาฉายให้เยอะๆ เพราะเดี๋ยวนี้ก็มีการเอาหนังสารคดีมาฉายเพิ่มด้วย แต่สุดท้ายคนก็ไม่ค่อยมีคนไปดู ผมว่าเราอาจจะต้องไปแก้กันตั้งแต่วัฒนธรรมการดูหนัง ให้คนดูรู้จักดูหนังที่หลากหลาย หรืออาจจะต้องแก้กันตั้งแต่เรื่องทัศนคติ การศึกษาด้วยเลย มันอาจจะมีมิติอีกหลายอย่างที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของคนดูทุกวันนี้ แต่สุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่าไม่ว่าวงการภาพยนตร์จะถดถอย รายได้ต่ำยังไง แต่ทุกครั้งที่เดินมาถึงจุดตกต่ำ มันจะมีทางไปของมันได้ในที่สุด ซึ่งก็คงต้องรอดูกันต่อไป”
(หนึ่งในหนังอินดี้ของผู้กำกับชื่อดัง "เต๋อ-นวพล" ที่ขยายวงกว้าง เปิดตาผู้ชม)
จุดที่ตลกร้ายไม่น้อยเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ คนดูที่ไม่ใช่คอหนังจริงๆ มักพูดถึงภาพรวมของรายได้ในวงการนี้ด้วยการเหมาหนังอินดี้ไปตัดสินรวมกับหนังตลาด ซึ่งนักวิจารณ์หนังอย่าง ตี้-ชญานิน มองว่า “ผิดจุด” มากๆ
“ปัญหาของการพูดถึงเรื่องรายได้หนังคือ ถ้าลองไปไล่ดูชื่อหนังที่อาจจะได้เงินแค่ 5 แสนหรือแค่ 1 ล้าน คนที่ไม่ได้ติดตามวงการภาพยนตร์อาจจะตัดสินไปแล้วว่าหนังมันเจ๊ง ได้แค่นี้เอง ทั้งๆ ที่หนังพวกนี้อาจจะเป็นหนังอินดี้ ฉายโรงเดียว ซึ่งถ้าวัดจากตรงนี้ ได้ 1 ล้านก็ถือว่าประสบความสำเร็จทางรายได้แล้วครับ แต่เมื่อหนังพวกนี้ถูกเอาไปรวมกับหนังทำเงิน เลยทำให้การเหมารวมว่ารายได้น้อย วงการถดถอยเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระวังเหมือนกัน
ผมว่าเราไม่สามารถฟันธงได้ขนาดนั้นว่าหนังเรื่องนี้ล้มเหลวหรือวงการภาพยนตร์ถดถอย แค่เพราะดูจากปัจจัยเรื่องรายได้อย่างเดียว ทุกวันนี้มันยังมีความเชื่อของคนทั่วๆ ไปหลงเหลืออยู่หรือแม้แต่การนำเสนอที่มีภาพติดหัวว่า หนังไทยไม่ทำเงินหรือบทไม่แข็งแรงพอ ซึ่งมันเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียว จริงๆ แล้วยังมีหนังไทยที่ดีๆ อีกเยอะเลยซึ่งปีๆ หนึ่งอาจจะฉายแค่โรงเดียว หนังอินดี้ทั้งหลาย หนังพวกนี้มันไม่ได้เงินอยู่แล้ว ถ้าจะให้เทียบกับหนังตลาดที่คนดูเยอะๆ อย่าง “ไอฟาย แต๊งกิ้ว เลิฟยู๊”
เราต้องออกจากกับดักความคิดที่ว่า หนังไทยไม่ดี คนเลยไม่ดู ให้ได้เสียก่อน มันไม่ใช่แค่ถ้าหนังดี คนก็จะไปดูเองแหละ มันยังมีปัจจัยอย่างอื่นอีกเยอะแยะ ทั้งโรงภาพยนตร์ทรีตหนังไทยต่างกันยังไงบ้าง ทรีตหนังแต่ละค่ายแบบไหน ทรีตหนังคนเล็กต่างจากคนใหญ่ยังไง มันมีหลายปัจจัยมากเลย ไม่ใช่แค่คนทำไม่ลงทุน บทไม่ดี คนเลยไม่ดู เพราะหนังบางเรื่องบทก็แย่มากแต่คนก็ยังดูกันอยู่ก็มี มันยังมีอีกหลายแง่มุม
อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับหนังไทย ที่ออกไปสู่สายตาของคนในวงกว้าง มันก็ยังมีลักษณะที่จำกัดอยู่ จะเน้นหนังที่ฟอร์มยักษ์ๆ มากกว่าหนังเล็กๆ ที่ไม่ได้มีงบเชิญสื่อ ก็จะกลายเป็นหนังที่ถูกทิ้งไปจากหน้าสื่อ คนไม่รู้ว่ายังมีหนังไทยที่ฉายอยู่ที่นี่นะ พอคนไม่รู้ มันก็ทำให้เขามีภาพหนังไทยอยู่จำกัดแค่หนังจากค่ายใหญ่ๆ หรือหนังที่มีดาราดังๆ ผสมกับเรื่องของโรงภาพยนตร์ มันก็ไม่ใช่ว่าจะมีหลายโรงที่พร้อมเปิดให้หนังกลุ่มอินดี้มากนัก พอภาพหนังที่ออกมามันจำกัดรูปแบบ ซ้ำไปซ้ำมา ก็จะไปสร้างภาพจำให้คนรู้สึกว่าหนังไทยก็เหมือนกันไปหมด บทไม่ดี ไม่ลงทุน ทั้งที่หนังที่ลงทุน บทดีๆ มันก็มี แต่ไม่มีศักยภาพทางธุรกิจให้ไปต่อได้ไกลเท่านั้นเอง”
แสงสว่างปลายอุโมงค์ = พื้นที่และกองทุน
(หนังนอกกระแสอีกเรื่องที่น่าจับตามอง)
“พี่ชาย My Hero” คือหนึ่งในภาพยนตร์นอกกระแสที่มาแรงในช่วงนี้ จนหลายฝ่ายมองว่าแนวทางของมันอาจเป็นแสงสว่างแห่งความหวังช่วยฉุดให้ศิลปะชนิดนี้ขึ้นมาได้ แต่สำหรับ “อโนชา สุวิชากรพงศ์” โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ผู้ก่อตั้ง “Electric Eel Films” บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์อิสระชั้นนำของประเทศไทยแล้ว มองว่าคงไม่ถึงขั้นนั้น แต่ถ้าให้พูดถึงความหวังสำหรับวงการภาพยนตร์ เธอก็พอมีทางออกที่มองเห็นช่วยแนะไว้ให้
“เรื่อง “พี่ชาย My Hero” เป็นหนังนอกกระแสที่ทำมาแบบสเกลไม่ได้เล็กมาก เปิดตัวที่งานเบอร์ลินก่อน ฉายรอบปฐมทัศน์โลกเมื่อเดือน ก.พ. จากนั้นก็ไปฉายเทศกาลหนังอีกประมาณ 5-6 ประเทศ แล้วก็มาฉายในประเทศไทยใน “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 1" โดยที่ไม่ได้คาดหวังผล แต่ผลที่ตอบกลับมาดีมาก และเดี๋ยวเราจะมีฉายในโรงอีกวันที่ 16 ก.ค. เป็นจำนวน 3 โรงในกรุงเทพฯ และที่เชียงใหม่อีก 1 โรง แต่เราก็ไม่ได้มีงบโปรโมตหนังอะไรมากมายค่ะ คงต้องอาศัยโซเชียลเน็ตเวิร์กและกระแสปากต่อปากช่วย
ส่วนตัวแล้ว ทำหนังนอกกระแสมาตลอด และเรื่องนี้ก็เป็นการทำหนังนอกระบบสตูดิโอ วิธีการผลิตไม่ได้ทำกับค่ายไหน ให้อิสระกับผู้กำกับเต็มที่เพื่อให้เขาสื่อสารถึงคนดูให้ได้มากที่สุดโดยไม่ได้คาดหวังถึงผลทางการตลาด แต่ด้วยเนื้อหนังเรื่องนี้อาจจะแตกต่างจากหนังอินดี้ทั่วๆ ไป เพราะมันไม่ถึงกับเป็นหนังอาร์ตที่ต้องปีนบันไดดู ทำให้เข้าถึงคนให้ได้มากกว่าหนังอินดี้อื่นๆ ที่เคยทำมา ฟีดแบ็กที่กลับมาส่วนใหญ่ก็บอกว่าเป็นหนังที่เมืองไทยไม่ค่อยมี เพราะปกติถ้าไม่เป็นหนังตลาดจ๋าไปเลย ก็จะเป็นหนังที่อาร์ตมากๆ ดูไม่รู้เรื่องไปเลย แต่เรื่องนี้เป็นกลุ่มกลางๆ ที่ค่อนข้างขาดแคลนอยู่ เป็นหนังโปรดักชั่นดีและการเล่าเรื่องไม่ได้ซับซ้อน มีคนบอกเปรียบเทียบว่าหนังเราเป็นเหมือนหนังออสการ์ คือหนังแมสที่มีคุณภาพ แต่สุดท้ายก็คงต้องให้คนดูตัดสินเองค่ะ
ถ้าไม่อยากให้วงการภาพยนตร์ของเราถดถอยลงไป อาจจะต้องให้เทียบกับเมืองนอกอย่างเกาหลี น่าจะเป็นโมเดลที่ลงตัว เพราะเขามีอุตสาหกรรมบันเทิงที่แข็งแรง เขามีหนังหลากหลายมาก มีทั้งหนังที่ตลาดจ๋าเลย และมีหนังอินดี้สเกลเล็กๆ ด้วยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล มีกองทุนสนับสนุนคนทำหนังซึ่งได้เงินมาจากรัฐบาลโดยตรง เขามีระบบที่ตั้งเอาไว้เลยว่า ตั๋วหนังทุกตั๋วที่ขายจะถูกหักรายได้เข้าสภาภาพยนตร์ของประเทศ ทำให้เขามีเงินสนับสนุนตั้งแต่หนังใหญ่จนถึงหนังเล็ก ทำให้เขามีหนังหลากหลายมากทั้งหนังใหญ่และเล็ก ทำให้คนดูได้ดูหนังทุกแบบ ถ้าบ้านเราทำได้แบบนี้ก็จะเป็นอะไรที่ยั่งยืนต่อวงการภาพยนตร์ไทยมากเลย
และจริงๆ แล้ว ที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรมของเราก็มีทุนสำหรับภาพยนตร์บ้าง แต่มีไม่บ่อยและไม่สม่ำเสมอ และไม่เป็นที่รู้ในวงกว้าง ยังไม่มีการทำให้ต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการสนับสนุนวงการนี้ นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่จะทำให้หนังเรื่องนั้นประสบความสำเร็จหรือเปล่าด้วย มีทั้งเรื่องบท การแสดงของนักแสดง และโปรดักชั่น 3 ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมาก” บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สาขาภาพยนตร์ ช่วยแนะ
นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจโดยรวมก็เป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้คนอยากก้าวเท้ามาเข้าโรงด้วยหรือเปล่า หัวหน้ากองบรรณาธิการฝ่ายหนังไทย นิตยสารไบโอสโคป บอกอย่างนั้น
“เพราะถ้าพูดถึงเรื่องการถดถอย ผมว่าภาพรวมแล้วไม่ใช่แค่หนังไทยเท่านั้นนะครับ หนังต่างประเทศที่เข้ามาฉายในบ้านเรา อย่างหนังฮอลลีวูดอย่าง “Mad Max” หรือ “Tomorrowland” ที่น่าจะได้ถึงเรื่องละ 100 ล้านได้สบายๆ ถ้าเป็นเมื่อก่อน แต่ตอนนี้กลับได้แค่ 50 ล้าน กับ 30-40 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าผิดปกติมากนะครับถ้าเทียบจากเรื่องรายได้จากตั๋วหนัง ถือว่าน่าเป็นห่วงพอสมควร
อย่างเมื่อก่อน หนังเรื่องหนึ่งทำออกมา รายได้ต่ำกว่าล้านน้อยมาก แต่ทุกวันนี้เยอะมากเลย ไม่ว่าจะค่ายเล็กค่ายใหญ่ก็ได้ต่ำกว่าหลักแสน-หลักหมื่น ซึ่งถือว่าเจ๊งนะครับ เพราะถึงเป็นหนังต่างประเทศที่เอาเข้ามาก็มีต้นทุน ไม่ควรจะต่ำขนาดนี้ ต่ำมากจนน่าตกใจ ถ้าเทียบกับปีก่อนๆ ถ้าเอารายได้หนังแต่ละเรื่องมาเรียงๆ กัน จะเห็นตัวเลขที่ดีกว่านี้
อาจจะเป็นเพราะเศรษฐกิจโดยรวมด้วย แต่ถ้าจะพูดถึงประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ คงต้องย้อนกลับไปยุคต้มยำกุ้ง (พ.ศ.2540) ถึงเศรษฐกิจจะแย่ยังไง แต่หนังก็ยังรอด เพราะคนเครียดแล้วหันไปพึ่งสายบันเทิง พึ่งภาพยนตร์ แต่ทุกวันนี้มันไม่เป็นไปในทางนั้นเท่าไหร่แล้ว เพราะนอกจากคนจะไม่ค่อยมีเงินเจียดมาซื้อตั๋วหนังแล้ว ราคาค่าตั๋วยังแพงด้วย เกือบๆ 200 บาทแล้ว ไหนจะค่าเดินทางอีกรวมๆ แล้ว 500 บาท ก็ถือว่าเป็นราคาที่แพงสำหรับชนชั้นกลางทั่วๆ ไปในยุคนี้
เมื่อปีที่แล้ว มีผลการสำรวจคนดูหนังออกมาว่า ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นวัยรุ่น-นักเรียน-เด็กมหาวิทยาลัย แต่พอมาปีนี้ วัยรุ่นหายไปจากโรงเยอะเหมือนกัน ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะมีสื่ออื่นๆ มาเป็นทางเลือกเยอะขึ้นด้วย”
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754