xs
xsm
sm
md
lg

นักศึกษา ม.ดังร่วมค้าน! “ปรับเทอมตามอาเซียน” ไร้ความหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คิดว่าไม่จำเป็น” “ยังไม่เห็นข้อดีของมันเลย” “ไม่ค่อยเห็นด้วย” ฯลฯ เสียงโหวตจากการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษาประจำ 7 มหาวิทยาลัยดังทั่วกรุง ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือเห็นว่า “ระบบเปิด-ปิดเทอมแบบเก่าดีกว่า” เอื้อต่อบรรยากาศการเรียนการสอน และเหมาะสมกับบ้านเรามากกว่า และถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอยากให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวผู้เรียน จึงไม่ควรเมินเฉยต่อเสียงสะท้อนความจริงวันนี้!




ฟันธงจากใจ! ปรับเทอมแบบใหม่ ไม่ช่วยให้เรียนได้ดี

(กฤษณะ ขาวเรือง นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ)
“ถ้าจะให้ผมเลือก ผมคิดว่าแบบเดิมดีกว่า แบบไม่เลื่อนดีกว่าครับ” กฤษณะ ขาวเรือง นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอฟันธงจากใจในฐานะนิสิตที่เคยผ่านการเรียนระบบเดิมมาก่อน ซึ่งจะเปิดเทอมแรกช่วงเดือน มิ.ย.-ต.ค. และเทอมสองช่วง พ.ย.-มี.ค. บอกเลยว่าน่าหนักใจน้อยกว่าระบบใหม่หลายเท่า เพราะจะเปิดเทอมแรกช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค. และเทอมสองช่วง ม.ค.-พ.ค. ซึ่งนอกจากจะมีสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยแล้ว ยังมีวันหยุดยาวเข้ามาแทรกเยอะแยะจนปฏิทินชีวิตเดิมสับสนไปหมด

“ช่วงปี 1 ผมได้เรียนในช่วงที่เปิดภาคเรียนแบบเดิม พอมาเปลี่ยนเป็นแบบใหม่ เห็นเลยว่าส่วนหนึ่งกิจกรรมในรอบปีจะค่อนข้างกระจุกตัว เพราะปกติ กิจกรรมจะถูกจัดไว้ให้กระจายตามวันสำคัญด้วย ทุกอย่างจะกระจายอยู่ตลอดปี แต่พอเป็นแบบนี้ หลายๆ กิจกรรม เวลาเดิมมันเปลี่ยนไป ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมในเวลาเดิมได้ กิจกรรมถูกเลื่อนไปเลื่อนมา กิจกรรมมันก็จะไปกองๆ กันช่วงหนึ่ง ทำให้มีผลกระทบต่อเวลาเรียนเหมือนกัน

บรรยากาศเรื่องอากาศก็มีผลด้วยส่วนหนึ่งเหมือนกัน ถึงแม้เราจะเรียนอยู่ในห้องแอร์ แต่การเดินทาง หลายๆ คนก็ทำให้เกิดปัญหาว่ากว่าจะมาถึงห้องเรียนก็หมดแรงแล้ว ไม่มีสมาธิในการเรียน และเรื่องวันสงกรานต์ก็เป็นประเด็น เพราะมันจะมาอยู่ในช่วงเปิดเทอมและก่อนสอบ ซึ่งจะสอบประมาณช่วงต้น พ.ค. เลยกลายเป็นช่วงสงกรานต์ เราต้องมานั่งเตรียมตัวอ่านหนังสือสอบ การที่เราจะไปกับครอบครัวก็ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อน น้องที่อยู่มัธยมก็ปิดเทอม เราก็ปิดเทอม ครอบครัวก็หยุดงานได้พร้อมกัน สามารถไปพักผ่อนต่างจังหวัดได้ แต่ถ้าเป็นปัจจุบัน เราอาจจะต้องเตรียมตัวสอบแล้ว หยุดได้แค่ 3 วัน ในขณะที่น้องปิดเทอม ทำให้เวลาที่จะใช้ในครอบครัวลดลง

การเปลี่ยนมันอาจจะดีในส่วนที่ว่ามีความสัมพันธ์กับต่างประเทศได้ง่ายขึ้น แต่มันก็จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเรามากพอสมควรเหมือนกันครับ ผมมองว่าการที่เราเปิดเรียนให้ตรงกับอาเซียนมันก็มีประโยชน์ส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่ดูกันในส่วนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเดียว ผมว่ามันไม่ค่อยจะเหมาะสมเท่าไหร่ มันอาจจะเกิดความยุ่งยากกับคนส่วนมากมากกว่า


(วโรฒม์ คณานับ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ)
“ผมคิดว่าระบบเก่าน่าจะดีกว่าครับ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่สอดคล้องกับต่างประเทศ แต่โดยภาพรวมแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่น่าจะเรียนได้ดีและประสบความสำเร็จในสภาพอากาศแบบนี้” วโรฒม์ คณานับ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ ประจำรั้วจามจุรีช่วยเสริมอีกแรง


(ฐิตารีย์ พรโชคชัย นักศึกษาปี 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ)
“ไม่เห็นด้วยมากๆ เลยค่ะ เพราะสภาพภูมิอากาศของเมืองไทยก็แย่แล้ว พอปรับมาเป็นแบบนี้ยังมีวันหยุดเยอะอีก ทำให้การเรียนก็ไม่ค่อยจะต่อเนื่องเข้าไปใหญ่” ฐิตารีย์ พรโชคชัย นักศึกษาปี 4 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


(นิดหน่อย นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ)
“พออาเซียนเปิดพร้อมกันแล้ว ประชากรก็จะมากยิ่งขึ้น รถก็จะติดมากขึ้น มันจะทำให้ไปเรียนลำบากกว่าเดิม” นิดหน่อย นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระบายเอาไว้สั้นๆ ด้วยน้ำเสียงเอือมระอา


(นันท์นภัส ไตรวิชสุทธิทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์)
นันท์นภัส ไตรวิชสุทธิทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกเลยว่าแทบมองไม่เห็นข้อดี และที่เป็นข้อเสียชัดๆ เลยก็คือ “วันหยุดที่ไม่ตรงกับคนในครอบครัว ทำให้ต้องยกเลิกทริปการท่องเที่ยวต่างจังหวัดไป เพราะหลายๆ ครอบครัวอยากให้ไปด้วยกันได้ครบๆ พอเป็นแบบนี้มากๆ เข้า มันก็อาจจะทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยทรุดตัวลงได้ ส่วนเรื่องการแลกเปลี่ยนต่างประเทศที่มองกันว่าเป็นข้อดี ส่วนตัวคิดว่าบางทีคนระดับฐานะปานกลางอาจจะไม่มีโอกาสที่จะได้ส่งไปเรียนต่างประเทศเท่าไหร่ค่ะ เลยคิดว่าประเด็นนี้มันมีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่ข้อเสียน่าจะมีมากกว่าข้อดีเสียอีก


(น้องปราง ว่าที่นิสิตนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ผู้สอบได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศ)
แม้แต่ “น้องปราง” ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา นักเรียนโรงเรียนสาธิตศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ว่าที่นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สอบได้คะแนนสูงสุดถึง 91.60 เป็นอันดับ 1 ของประเทศ ยังเชื่อเลยว่าการเปิดเทอมตามช่วงเวลาเดิมจะช่วยให้เรียนได้อย่างมีประสิทธิผลมากกว่า เพราะการเปิดสอนในช่วงฤดูกาลไม่เหมาะสมอย่างช่วงหน้าร้อน นอกจากจะทำให้เรียนได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ยังเป็นฤดูท่องเที่ยวและมีวันหยุดยาวอีกตรึม
และการปรับเทอมของมหาวิทยาลัยเป็นแบบใหม่ แล้วไม่ได้ปรับเทอมของการศึกษาขั้นพื้นฐานในรั้วโรงเรียนไปด้วย ยิ่งทำให้รอยต่อตรงนั้นกินระยะเวลานานมากขึ้น “มันก็อาจจะดีสำหรับเด็กบางคนนะคะ แต่ส่วนตัวแล้ว คิดว่าเป็นช่วงเวลาที่นานเกินไป ดังนั้น ก็อยากให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพิจารณากันให้รอบด้านก่อนค่ะ ก่อนจะปรับตามอาเซียนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างที่เราหวังเอาไว้




ปรับเทอมไม่สำคัญ แค่เปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพก็พอ

“โดยรวมแล้ว ไม่เห็นด้วยค่ะ มีความรู้สึกว่ามันมีผลเสียมากกว่าผลดี ในเมื่ออุดมศึกษาระดับปริญญาตรี เปิดตาม AEC แล้ว แต่เด็กมัธยมยังเปิดตามปกติอยู่เลย มันทำให้มีช่วงรอยต่อระหว่างเด็ก ม.6 กำลังจะขึ้นปี 1 เป็นช่วงเวลา 6 เดือนที่นานมาก หนูว่ามันเป็นช่วงที่นานเกินไป อย่างปีพวกหนู หนูหยุดไปก็ไม่รู้จะทำอะไร แต่ต้องหาอะไรทำ ทั้งๆ ที่ควรจะเรียนได้แล้ว อย่างน้อง ม.6 ที่จบตอนนี้ ก็ว่างๆ กันอยู่ เพราะไม่รู้จะไปทำอะไร” ภานรินทร์ เจนเพิ่มสิน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยให้รายละเอียดผ่านมุมมองของตัวเอง

“หนูมีความรู้สึกว่า การเปิดปิดภาคเรียนแบบเดิมดีกว่าค่ะ พอเปิดตรงกับ AEC เทอมสองมันจะเปิดตรงกับช่วงหน้าร้อน ภูมิอากาศในประเทศไทยมันไม่เอื้ออำนวย อย่างคณะของหนู อยู่ในห้องแอร์เย็นมากนะ พอออกมาเจออากาศข้างนอกที่ร้อนมาก เพื่อนหลายคนเลยไม่สบายกันบ่อยมากๆ หรืออย่างเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่น บางวิชาที่เป็นแล็บหรือชอป พอเจออากาศร้อนมากๆ เนี่ย ก็หงุดหงิด ไม่อยากเรียนกันแล้ว


(จิรภิญญา เจียรวิชญ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร)
“ถ้าจะให้ข้อดี ตอนนี้ยังคิดไม่ออกเท่าไหร่ค่ะ” จิรภิญญา เจียรวิชญ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พูดจากใจอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะผลกระทบที่เห็นได้ชัดจากรุ่นน้องเฟรชชี่คณะเดียวกัน

น้องปี 1 ต้องมีไปวาดรูปนอกสถานที่ แล้วพอเลื่อนมาเปิดเทอมช่วง เม.ย. อากาศมันก็ร้อนมาก เอามือวาง สเกตช์ภาพบนกระดาษก็เป็นรอยเหงื่อ วาดแล้วกระดาษพองขึ้นมาก็มี แต่ว่าถ้าไปวาดตรงกับช่วงหน้าฝนอย่างที่เคยทำ ก็อาจจะมีปัญหาตรงที่ต้องแบกโมเดลมาไม่ให้โดนฝน ก็ตัดสินใจยากเหมือนกันค่ะว่าจะยังไง แต่คงดีหน่อยกับเด็ก ม.6 ค่ะที่เรียนจบแล้วไม่ต้องมาสอบเลย มีช่วงรอยต่อทำให้มีเวลาเตรียมตัวได้มากกว่าเดิม ซึ่งมันก็แฟร์กับเด็กที่ไม่ได้เรียนพิเศษดี”


ส่วน ปุณณภา สายทองอินทร์ นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (หลักสูตร 5 ปี ปริญาตรี-โท) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้คำตอบแบบภาพรวมดีกว่า คือไม่อยากตัดสินด้วยเงื่อนไขของช่วงเวลาเปิด-ปิดภาคเรียนให้ตรงกับอาเซียน แต่จุดใหญ่ใจความอยู่ที่การเชื่อมโยงกับนานาประเทศมากกว่า ถ้าทำได้ ไม่ว่าจะให้เรียนในเงื่อนเวลาไหน ก็ดีทั้งนั้น

“ข้อดีก็คือ หนูเห็นว่าการปรับเทอมใหม่ มันช่วยลดปัญหาในเรื่องของการจราจรค่ะ คือไม่ต้องมาบีบรวมกันเหมือนอย่างเมื่อก่อน เปิด-ปิดตูมเดียวทั้งมัธยมและมหาวิทยาลัย ส่วนขอเสียข้อใหญ่ๆ เลยก็คือ คนที่เป็นปี 4 หรือชั้นปีสูงๆ ที่จะจบออกไป ถ้าเราเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐที่เปิด-ปิดตามอาเซียน และมีเรียนเสริมเหมือนอย่างที่ธรรมศาสตร์ เราก็จะเสียเปรียบมหาวิทยาลัยเอกชนเขามากๆ ค่ะ เพราะว่ามหาวิทยาลัยเอกชนเขาจะปิดก่อนเรา ทำให้มีโอกาสได้เลือกงานก่อนเราประมาณครึ่งปี ถึงเราจะมั่นใจว่าเราสามารถแข่งกับเขาได้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าเราอาจจะเสียเปรียบตรงนี้

สำหรับหนูคิดว่า การปรับเปลี่ยนเวลาไม่ใช่สาระสำคัญค่ะ เพราะว่าเราควรจะไปโฟกัสไปที่เรื่อง ทำยังไงให้หลักสูตรการศึกษาของเราทัดเทียมกับต่างประเทศ มากกว่าที่จะมามองว่าแค่เรื่องควรปรับเปลี่ยนเวลาแบบอาเซียนหรือเปล่า


ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- ถกวุ่นทั่วรั้วมหาวิทยาลัย! ปรับเทอมตามอาเซียน มั่นใจหรือว่าดีมากกว่าเสีย?
- ฟังกระแส “เห็นด้วย” ยกเลิกเปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน!!!
- ยังยุ่งเหยิง! เปิด-ปิดเทอมตามอาเซียน ประจานการศึกษาไทย
- ผลพวง ดี หรือ เสีย ปรับเวลาเปิด-ปิดเทอมรับอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น