xs
xsm
sm
md
lg

“เด็กแว้น” กระตุกหนวดเสือ นัดซิ่งปิดเมือง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เด็กแว้นเหิมเกริมไม่เกรงกลัวกฎหมาย ปิดถนนวิภาวดีฯ เพื่อใช้เป็นสนามประลองความเร็ว ซิ่งเย้ยแผนปฏิบัติการ “ราชพฤกษ์ โมเดล” ทั้งๆ ที่ตำรวจเพิ่งจับกุมเด็กแว้นราชพฤกษ์ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน นายกฯ แจ้งทุกโรงพัก หากยังแก้ไขไม่ได้คงต้องสั่งย้ายตำรวจประจำพื้นที่!!

เหิมหนัก! เด็กแว้นผู้ไม่กลัวกฎหมาย

จากกรณีเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มเด็กแว้นกว่า 400 คน ถูกจับกุมบนถนนราชพฤกษ์ ตามแผนปฏิบัติการ “ราชพฤกษ์โมเดล” ในข้อหาสร้างความเดือดร้อนและความรำคาญให้กับชาวบ้านและผู้ใช้รถใช้ถนน ต่อมากลุ่มเด็กแว้นกว่าร้อยคน ท้าทายข้อกฎหมายอีกครั้ง รวมตัวปิดถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อใช้เป็นสนามประลองความเร็ว เย้ยปฏิบัติการ “ราชพฤกษ์โมเดล”

ขาแว้นส่วนใหญ่ยังเป็นเยาวชน นำรถจักรยานยนต์กว่า 70 คัน รวมตัวปิดถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงห้าแยกลาดพร้าวฝั่งขาเข้า ยาวไปจนถึงดินแดง ถนนพระราม 9 และต่อเนื่องไปถึงถนนเลียบด่วนรามอินทรา เพื่อแข่งรถจักรยานยนต์ประลองความเร็วกันอีกครั้ง โดยมีการเร่งเครื่องส่งเสียงดังเป็นระยะ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับชาวบ้านในละแวก

รวมถึงผู้สัญจรผ่านไปมาบนถนนสายดังกล่าวต้องขับรถด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะที่ถนนเลียบด่วนรามอินทรา กลุ่มเด็กแว้นได้มีการปิดเส้นทางการจราจร เพื่อใช้เป็นสนามประลองความเร็ว ส่งผลให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก ก่อนที่กลุ่มเด็กแว้นจะสลายตัวไป




จากกรณีข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่ากฎหมายบ้านเมืองเราไม่เข้มข้นพอ และไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทั้งๆ ที่เพิ่งมีการระดมพลปราบปรามวางแผนปิดประตูตีแมวจับกุมเด็กแว้นซิ่งป่วนเมืองตามแผนปฏิบัติการ “ราชพฤกษ์โมเดล” ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน "ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข" ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เธอให้ความเห็นกับทางทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ว่ามาตรการของรัฐนั้นหวังพึ่งแค่เพียงปลายทาง

“การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้เป็นเครื่องมือของรัฐที่มีประสิทธิภาพระงับยับยั้งพฤติกรรมการมาแว้นของเยาวชนหรือผู้ที่มาแว้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราย้อนกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์เราก็จะเห็นว่าลักษณะแบบนี้ดำรงอยู่มาทศวรรษแล้ว ในช่วงปี 2544-2545 ก็ขี่รถชนตำรวจเลยถ้าจำได้ แรงมาเป็นลำดับหลังจากนั้นเราก็เห็นความรุนแรงเรื่อยๆ ไม่ใช่ขี่แว้นอย่างเดียว มีการรวมกลุ่มก่อความเดือดร้อนรำคาญกลายเป็นเรื่องการก่ออาชญากรรมอื่นๆ ตามมามากมาย”

ปัจจุบันกฎหมายที่มีอยู่มีความเข้มข้นมากพออยู่แล้ว เพียงแต่ว่าด้วยระบบบริหารทางกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพได้

“เราก็มักจะเห็นมาตรการของรัฐหวังพึ่งแต่เพียงปลายทาง หวังพึ่งแต่เพียงบังคับใช้กฎหมายและการปราบปรามโดยการกำเนินการอย่างเข้มข้นของตำรวจ นี่ก็คือความล้าหลังและมุมมองที่คับแคบและไม่เอาประสบการณ์ของความล้มเหลวที่ผ่านมานับทศวรรษมาไตร่ตรองทบทวนว่าวิธีการนี้มันไร้ประสิทธิภาพ

และเราก็ยังจะบอกอีกว่ากฎหมายมันไม่แรงๆ แค่กฎหมายปัจจุบันที่มีอยู่ ไม่ใช่ไม่แรงนะคะ แต่การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพด้วยระบบบริหารทางกฎหมายก็ยังไม่สามารถทำได้เลย ยกตัวอย่างการบริหารทางกฎหมายมันไม่ได้แค่บทลงโทษ

อย่างกรณีที่อัยการต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาเนื่องจากฟ้องไม่ทัน ศาลสั่งปล่อย ก็คือเราจะต้องทำสำนวนให้เสร็จอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลา 48 ชั่วโมงกับการจับเด็กจำนวนมากไม่มีทางทำทันอยู่แล้ว และการไปปล่อยตัวไปและการไปตามจับกลับมามันใช้ทั้งต้นทุนและประสิทธิภาพต่ำมาก”

ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นมีการขัดขืน!

ด้วยความที่ว่าการบริหารกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพได้ เหตุนี้เองจึงทำให้ผู้ที่กระทำผิดเกิดความฮึกเหิม และท้าทายต่อกฎหมาย ดังนั้น การปราบปรามอย่างเดียวไม่พอต้องมีการป้องปรามด้วย

“มีผลกระทบตามจิตวิทยามากมายเลยในการที่จะลดทอนความหวาดกลัว ความเกรงกลัว มันก็เลยสร้างความฮึกเหิมให้กับผู้ที่เตรียมจะกระทำผิดหรือผู้ที่กระทำผิดแล้วไม่เข็ดหลาบ เพราะฉะนั้น ถ้าเราย้อนกลับมาในมิติทางกฎหมายมันไม่มีคำว่าปราบปรามอย่างเดียว มันต้องเป็นป้องปรามและปราบปราม คือป้องปรามไม่ให้คนที่มีโอกาสจะกระทำผิดมากระทำผิด

แต่การที่เห็นว่ามีข้อจำกัดเยอะแยะ ทำไม่ได้หรอก มันก็ทำให้คนที่มีความอยากตามวัย และก็มีแรงเสริมต่างๆ มากมาย เขาก็มองเห็นข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ มันก็เกิดความอุกอาจในการที่จะกล้ากระทำผิด คือไม่ขาดความระงับยับยั้งเกรงกลัวการบังคับใช้กฎหมาย เพราะรู้ว่าการบังคับใช้กฎหมายมีข้อจำกัด”




ต่อข้อซักถามที่ว่า ขณะนี้มีคำสั่งบังคับอย่างจริงจังเกี่ยวกับกรณีนี้ ให้รีบดำเนินการแก้ไขอย่างโดยเร็ว หากโรงพักไหนยังแก้ไขไม่ได้คงต้องถูกสั่งย้าย

“ตำรวจหน่วยเดียวไม่ได้ค่ะ อย่าลืมว่าตำรวจไม่ได้มีหน้าที่เดียว อย่างโรงพักเล็กๆ เขาดูแล 11 ตำบล และทำไมผู้ใหญ่บ้านที่ดูแลลูกบ้านตัวเองไม่กี่บ้าน ไม่ถูกสั่งย้ายบ้างคะ เราต้องมาดูที่ระดับจุลภาคค่ะ ต้องสแกนระดับนั้นแล้ว มันต้องย้ายหมดเลยไม่ใช่ย้ายอย่างเดียว ต่อให้ย้ายตำรวจหรือย้ายฝ่ายปกครองเท่าไหร่ก็ตาม แต่คุณไม่มีแผนในการพัฒนาเยาวชน เอาหัวเป็นประกันเลยในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กแว้นมาตั้งแต่ปี 2546 ว่าย้ายจนหมดโรงพักก็ไม่มีทางสำเร็จค่ะ”

เพราะฉะนั้น การที่ออกกฎหมายให้เข้มข้นมากขึ้นนั้นไม่จำเป็น แต่ควรเอาที่มีอยู่แล้วมาบริหารจัดการ ต้องทะลุกรอบความคิดเดิมๆ และแก้ไขที่ต้นตอของสาเหตุที่แท้จริง

“ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเลย ในการติดกับดักในการให้ความสำคัญกับปลายทางคือการปราบปราม คือเราต้องทะลุกรอบคิดและทำงานที่ลึกซึ้งถึงแม่มันจะยากแต่ก็ต้องทำเพราะมันปล่อยมานานแล้ว เราต้องไปแก้ไขที่ต้นตอสาเหตุ เราต้องหันกลับไปว่าทำไมเขาถึงมาแว้น คุณต้องตั้งโจทย์ก่อนไม่ใช่เอาแต่จะปราบๆ ทำไมการปราบปรามถึงไม่ได้ผล ทำไมพฤติกรรมการแว้นกลับมาและรุนแรงมากขึ้นอีก แต่จะไม่ใช่คนเดิมแต่เป็นคนรุ่นหลังที่ไม่ยุติยับยั้งพฤติกรรม ยังทำพฤติกรรมการแว้นตามรุ่นพี่ ต้องตั้งโจทย์แบบนี้ก่อนค่ะ”

สำหรับกรณีนี้หากมองว่าเป็นต้นเหตุมาจากตัวเยาวชน นั่นคือความเข้าใจผิด เยาวชนคือเหยื่อที่ผู้ใหญ่ไม่ให้ความสำคัญบกพร่อง ขาดความเอาใจใส่และดูแล

เมื่อที่ใดมีอำนาจที่นั่นมีการต่อต้านขัดขืน เมื่อไหร่ใช้อำนาจที่นั่นมีความรุนแรงในการต่อต้านกับอำนาจค่ะ ถ้าใช้ความรุนแรงอีก แว้นก็จะไม่ได้เกิดขึ้นที่วิภาวดีก็จะไปเกิดที่อื่นอีกต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ต้องกลับมามองเหตุของการต่อต้านขัดขืนนั้นถ้าคุณยังมองว่าเด็กเป็นตัวร้ายตัวผิดนะ เข้าใจผิดแล้ว

ทำไมคุณถึงไม่ไปจัดการกับร้านแต่งรถ ทำไมไม่จัดการกับผู้ใหญ่ที่เอาเด็กเป็นเหยื่อหรือข้าราชการต่างๆ ที่บกพร่องดูแลเด็กไม่ได้บอกว่าเด็กดีหมดนะคะ ถ้าเกิดว่าเราดูแลสนับสนุนเปิดพื้นที่ให้แล้ว แล้วเด็กยังไม่หยุด อันนั้นน่าไล่ปราบปราม คือมันต้องมีทั้งเปิดพื้นที่ทั้งการสกัดควบคุม เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่จับมือกันก่อนได้ไหม”

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เยาวชนมีพฤติกรรมเช่นนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากรัฐบาลที่ไม่เคยให้ความสำคัญ หรือมาตรการ และนโยบายใดที่จะสนับสนุนส่งเสริมกับเยาวชนไทยเลย

“เราก็จะพบว่าเหตุมันมาจากที่รัฐบาลไทย ราชการส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนไทย ไม่เคยให้ความสำคัญกับเยาวชนไทยเลย อย่างเช่น จะมีเพียงคำขวัญวันเด็กเท่านั้น ที่ประกาศออกมาว่าเด็กไทยต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ถามว่ามาตรการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐรวมถึงผู้กำหนดนโยบายสูงสุด มีมาตรการหรือนโยบายใดบ้างที่จะสนับสนุนส่งเสริมเด็กไทยให้สามารถพัฒนาศักยภาพให้หลากหลาย ได้หลายช่องทางที่เหมาะสม”

ความเหลื่อมล้ำ = จุดกำเนิดเด็กแว้น?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมในประเทศไทย เกิดความเหลื่อมล้ำอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการวางตัวในสังคม การศึกษา หรือแม้แต่กระทั่งในสถาบันครอบครัวเอง จึงทำให้เด็กเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อในพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงได้

“เราต้องเข้าใจความเหลื่อมล้ำทางสังคมของครอบครัวของไทยก่อน ตอนนี้เราจะเห็นว่าเด็กแว้นเริ่มตั้งแต่ป .5 วัยนี้เขากำลังสร้างเอกลักษณ์ตัวตน ในเมื่อเขาไม่สามารถประสบความสำเร็จตามระบบการศึกษาที่มีให้กับเขาได้ เขาก็ไปหาวิธีการสร้างตัวตนอย่างที่เขาสามรถสร้างได้และมีความสุข และภูมิใจ

เลยไปเป็นเหยื่อของร้านแต่งรถที่เขาต้องการเด็กตัวเล็กๆ มาเป็นตัวขี่ และเด็กผู้ชายตั้งแต่พัฒนาการตอนเด็กโดยธรรมชาติเลยชอบเครื่องยนต์กลไก แต่ถ้าหากเด็กคนนั้นมีตัวตนในพื้นที่อื่นด้วย เขาก็จะใช้เครื่องยนต์กลไกในสิ่งที่เขาชอบอย่างเหมาะสม เพราะว่าเขามีพื้นที่อื่นที่ได้แสดงศักยภาพด้วย เขามีเป้าหมายชีวิตของเขาที่จะต้องเดินด้วย”




เยาวชนที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่พร้อม รัฐบาลยิ่งต้องช่วยดูแลและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ควรปล่อยปะละเลย เพราะจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยิ่งขึ้นไปอีก

“ถ้าหากเด็กบางคนบางกลุ่มที่มาจากครอบครัวที่ไม่พร้อม ซึ่งครอบครัวเหล่านี้เขาดูแลลูกหลายของเขาไม่ได้หรอก รัฐต้องช่วย กระทรวงพัฒนาสังคมต้องช่วย ไม่ใช่คุณปล่อยปละละเลยแล้วบอกว่าเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องดูแลลูกเอง ถ้ารัฐยังตอบแบบนี้อยู่สังคมไทยมันก็เป็นแบบนี้แหละเพราะสังคมไทยมันมีความเหลื่อมล้ำ

พอพ่อแม่มีวิธีการดูแลพฤติกรรมลูกที่เหมาะสมกับความถนัดของเขา ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็จะใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ให้ถูกที่ถูกทางและตัวเขาเองก็มีพื้นที่ ดิฉันอยู่กับเด็กพวกนี้มานานกล้าพูดเลยว่าเด็กมีความบริสุทธิ์และมีศักยภาพ แต่เราไม่ได้พัฒนาศักยภาพที่เขามีจนเขาหลงทางไปแล้วมันก็กู่ไม่กลับ มองว่าการศึกษาต้องกลับมาใหม่กลับมาเปิดพื้นที่ แล้วก็ต้องซัปพอร์ตต้องสนับสนุนต้องช่วยเหลือประคับประคอง”

นี่คือสาเหตุหลัก การที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ทำให้เกิดผลเสียตามมาอย่างมากมาย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการที่เยาวชนไทยมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเป็นเพราะใช้ระบบรุนแรงกับเขาก่อน

“ตัวชี้วัดต่างๆ ที่พวกครูอาจารย์ถูกกำหนดว่าต้องปั้นเด็กเก่ง เขาก็สนใจแต่เฉพาะเด็กหน้าห้องเพราะคิดว่าอันนี้คือคะแนนของฉัน ตัวชี้วัดของฉัน แล้วเด็กท้ายห้องก็ปล่อยออกมาแว้นกันหมดเลย เยาวชนไทยเป็นเหยื่อของระบบความล้มเหลวมากๆ 1. ระบบครอบครัวล้มเหลว 2. ระบบการศึกษาแทนที่จะเป็นกำแพงที่จะช่วยกลับเปล่าเลยปล่อยอีก จะเห็นได้ว่าใช้ระบบรุนแรงกับเด็กก่อนค่ะ”

ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่าไม่เห็นด้วยกับการที่เสนอบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น ถ้าเรายังไม่แก้ไขเหตุที่ต้นเหตุ ต่อให้ลงโทษรุนแรงขนาดไหน ก็มีคนมาให้ลงโทษอยู่ไม่มีวันจบสิ้น

“เห็นถึงความไร้ระเบียบและก็เป็นอันตรายของการเกิดอุบัติเหตุ มีรถเกี่ยวกันของกลุ่มแว้นก็มีลักษณะนั้น แล้วก็เป็นที่เดือดร้อนรำคาญ มองว่าในขณะที่เด็กแว้นกัน ตี1-3 ผลกระทบคือเดือนร้อน เสียงดัง รำคาญ แต่สิ่งที่มีมากกว่านั้นคือวิถีอื่นๆ ของเขาเช่นการใช้อาวุธ และการขัดแย้งกันและนำไปสู่การกระทำรุนแรงต่อกัน เช่นเกิดการเรียนรู้ในการกระทำผิดในรูปแบบอื่นๆ พฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ เช่นติดยาเสพติดมันกลายเป็นว่าเปิดพื้นที่ในเชิงลบให้กับกลุ่มเยาวชน

เพราะว่าการรวมกลุ่มแบบนั้นมันไม่ได้มีแต่เด็ก มันเป็นลักษณะที่มีรุ่นเล็ก รุ่นกลาง รุ่นใหญ่ ไปถึง อายุ 30-40 ปี มันเป็นผลเสียงที่เรามองแต่ปลายทาง เหมือนมองอยู่แค่กรอบสั้นๆ ไม่เห็นด้วยกับการที่เสนอบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น ก่อนที่เราจะลงโทษเราเพิ่มป้องปรามไม่ให้มีการกระทำผิด และเราก็ต้องดูเหตุที่มาของการกระทำผิดว่ามันมีเหตุที่มาอย่างไร ถ้าเรายังไม่แก้ไขเหตุที่มาต่อให้ลงโทษรุนแรงแค่ไหน มันก็มีคนมาให้เราลงโทษอยู่ร่ำไป”


ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น