ถ้า Instagram เป็นแหล่งรวมรูป, Youtube เป็นแหล่งรวมคลิป งั้น “Storylog” ก็ขอเป็นแหล่งรวมเรื่องเล่าผ่านตัวอักษรที่ใหญ่ที่สุดก็แล้วกัน!!
ใครจะว่ามันคือธุรกิจขายฝันที่ยากจะทำให้เกิดขึ้นจริงก็ไม่เป็นไร เพราะชายหนุ่มวัย 29 เจ้าของพื้นที่แห่งนี้ ขอยืนหยัดในความเชื่อหมดหัวใจ อย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็มีคนเดินร่วมเส้นทางฝันจนทำให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งรวมเรื่องเล่าที่โตไวที่สุดในไทยไปแล้ว!
แค่เวลาเพียง 6 เดือน มีผู้แวะเวียนเข้าไปใช้งานแล้วกว่า 1.2 ล้านคน! แถมยังมีแนวโน้มจะโตขึ้นอีกเรื่อยๆ อย่างที่เจ้าของไอเดียวาดฝันไว้ว่าจะให้เป็น “แหล่งรวมเรื่องเล่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก”!!
เหล่า “คนเดินดิน” ไม่ต้องดังก็เจ๋งได้!
(ปิ๊ปโป้ เจ้าของอาณาจักรล้านเรื่องเล่าที่มีชื่อว่า "Storylog")
คนเราทุกคนมีเรื่องราวดีๆ อยู่กับตัวอยู่แล้ว... ด้วยความเชื่อแบบนี้นี่เองที่ทำให้ “ปิ๊ปโป้-เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์” ตัดสินใจสร้าง “กระดาษเปล่าออนไลน์” ขึ้นมา เป็นหน้ากระดาษซึ่งอยู่บนเว็บ Storylog (storylog.co) ให้คนรักเรื่องเล่าได้ลุกขึ้นมาขีดๆ เขียนๆ ผ่านแป้นพิมพ์ในแบบของตัวเองแล้วเผยแพร่มันออกไปอย่างใจต้องการ
มองเผินๆ แล้วการบริการรูปแบบนี้ก็ไม่ต่างไปจากเว็บบล็อกที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในอดีต จนสร้างคอลัมนิสต์เลื่องชื่อขึ้นมาหลายต่อหลายราย กระทั่งเสื่อมความนิยมลงไปเมื่อมีโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Twitter, Instagram เข้ามาแทนที่ แต่ลองมองดีๆ จะเห็นมิติความต่างที่น่าสนใจ อย่างที่ผู้ก่อตั้งยืนยันเอาไว้อย่างแน่นหนักว่า พื้นที่แห่งนี้คือ “Story Telling Social Network” แห่งใหม่ของไทยที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน!
“ช่วงแรกๆ ที่ทำ มีคนถามเข้ามาเยอะเหมือนกันนะว่าตกลงแล้ว Storylog มันคืออะไรกันแน่ มันเป็นบล็อก (Blog) หรือเปล่า เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กไหม หรือมันเป็นไดอารี? ผมก็พอจะอธิบายได้ว่ามันคือพื้นที่เก็บเรื่องราวครับ หลายคนบอกว่างั้นมันก็ไม่ต่างอะไรจากบล็อกสิ แถมยังทำได้น้อยกว่าด้วยซ้ำ เพราะบล็อกมันใส่ได้ทั้งภาพ คลิปวิดีโอ แล้วก็แทรกลิงก์เข้าไปได้หมด
แต่คนยุคหลังเขาชอบกันแบบนี้ครับ จากที่เคยเก็บทุกอย่างไว้ในกล่องๆ เดียวอย่างในบล็อก ก็กลายเป็นว่าฉันขอเก็บรูปไว้ใน Instagram, เก็บวิดีโอไว้ใน Vine, เก็บไลฟ์สไตล์ไว้ใน Pinterest ฯลฯ กลายเป็นว่าทุกอย่างมันมีที่เก็บเฉพาะของมัน และ Storylog ก็เหมือนกัน เราก็ทำหน้าที่เก็บเรื่องราวตัวอักษรให้มันเฉพาะเจาะจงไปเลย”
หนุ่มร่างใหญ่วัย 29 พูดไปยิ้มไปด้วยท่าทีสบายๆ น้ำเสียงที่ก้องกังวานบวกกับแนวคิดวิเคราะห์การตลาดที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ชายหนุ่มที่มาพร้อมแนวเคราเข้มนายนี้ดูมีความคิดความอ่านที่โตกว่าขนาดตัวและอายุจริงเข้าไปอีก
(หน้ากระดาษเปล่าออนไลน์ พร้อมสำหรับนักเล่าเรื่องราว)
ใครจะไปคิดว่าเว็บเว็บหนึ่งที่อนุญาตให้พิมพ์เรื่องราวได้ไม่เกิน 20,000 ตัวอักษร และใส่ภาพเปิดได้เพียงภาพเดียว ไม่มากและไม่น้อยไปกว่านั้น จะมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาใช้สูงถึง 1,200,000 คน หลังจากเปิดให้บริการได้เพียง 6 เดือน ทั้งที่มีเว็บไซต์ทางเลือกอีกมากมายในยุคโซเชียลมีเดียที่อนุญาตให้ทำได้มากกว่านี้ แต่ทำไมคนกลับเลือกที่นี่? คนถูกถามหัวเราะนำก่อนให้คำตอบ คล้ายต้องการจะบอกเป็นนัยๆ ว่าเรื่องที่กำลังจะพูดมันมีมุมตลกเล็กๆ ซ่อนอยู่ แล้วจึงช่วยเฉลยความในใจว่า จริงๆ แล้วปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมันก็เกินคาดคิดสำหรับเขาเหมือนกัน
“มันก็แปลกๆ ดีนะครับ เพราะเว็บเราทำได้น้อยที่สุด แต่ก็ยังมีคนเข้ามาใช้ ถ้าจะให้วิเคราะห์ผมว่ามันน่าจะคล้ายๆ กับเคสของ Twitter นะ คิดดูว่าก่อนมันจะเกิดขึ้นมา ถ้ามีคนไปเที่ยวบอกใครต่อใครว่าเดี๋ยวจะให้บริการโซเชียลมีเดียตัวหนึ่งนะ แล้วกำหนดจำนวนตัวอักษรไว้ว่าห้ามพิมพ์เกิน 140 ตัวอักษร ให้คนมาแชร์กัน คนก็จะบอกว่า เฮ่ย! What the f_ck คิดอะไรของมันอยู่วะ!!? (หัวเราะร่วน) แต่พอมันออกมาจริงๆ ถามว่าทำไมมันได้รับความนิยมล่ะ
ผมว่ามันเหมือน Storylog นี่แหละครับ ถามว่าผมจะทำอะไร ก็ทำพื้นที่เล่าเรื่อง ให้ใส่รูปรูปหนึ่ง แล้วก็เล่าเลย คนก็อาจจะ... (ทำหน้าเอ๋อๆ ให้ดูอยู่พักใหญ่ๆ) อะไรวะเนี่ย!!? นี่เฟซบุ๊กป่ะ ไปตั้งกระทู้ในพันทิปดีกว่าไหม หรือไปสร้างบล็อกไหมล่ะ (พูดไปยิ้มไปพร้อมเสียงกลั้วหัวเราะเล็กๆ) ส่วนตัวผมเอง ผมไม่ค่อยไปเทียบกับคนอื่นนะ เพราะ Storylog ของเราทำได้น้อยกว่าเจ้าอื่นทุกเจ้าในประเทศไทยด้วยซ้ำ เราใส่รูปได้รูปเดียว เราปรับตัวหนา-ตัวเอียงไม่ได้ ใส่สีตัวหนังสือก็ไม่ได้ แต่ที่ทำให้เราต่างจากอย่างอื่นคือเรายังไม่ตาย
จากที่ Blog เคยได้รับความนิยมมากๆ แล้วมันตายไปเพราะมีของใหม่มาให้ใช้ มี Hi5 เสร็จแล้วก็มี Facebook เข้ามา แล้วถามว่าใครจะกลับไปใช้ของเดิมล่ะครับจริงไหม หรือที่คนไทยไม่ค่อยใช้ What's app แล้ว แต่ไปใช้ Line มากกว่า ถ้าถามผม ผมว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงเมื่อคนเจอสิ่งที่คิดว่าดีกว่าแค่นั้นเอง สมมติวันหนึ่งมีคนหันมาใช้ Storylog กันเยอะๆ แล้วมีตัวเลือกอื่นเพิ่มเข้ามา ถามว่าเราจะตายไหม? ตายนะถ้าเราไม่พัฒนา ถ้าเราปล่อยไว้อย่างนี้และไม่ฟังว่าโลกมันเป็นยังไง คนต้องการอะไร เราก็จะตายเหมือนกัน ทำธุรกิจแนวนี้ต้องหูไวตาไวจริงๆ ครับ”
แต่ที่แน่ใจได้ว่าจะไม่มีวันตายก็คือเรื่องเล่าและเรื่องราวที่อยู่ในนั้น ไม่ว่ารูปแบบของโซเชียลมีเดียจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร จึงทำให้ปิ๊ปโป้ยังคงมั่นใจว่าเรื่องราวที่ทุกคนหยิบมาบอกเล่าใน Storylog จะไม่มีวันหมดอายุ พอๆ กับที่เชื่อมั่นเสมอว่าตัวอักษรของนักเขียนนิรนามเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าน่าอ่านไม่น้อยไปกว่านักเขียนชื่อดังที่ไหนเลย
“ผมเคยชวนพี่เต๋อ (ฉันทวิชช์ ธนะเสวี นักแสดงและคนเขียนบทชื่อดังประจำค่าย GTH) มาลงเรื่องด้วยนะ แต่ไม่ได้ชวนเขาในฐานะคนดังนะครับ ชวนเพราะเรามองว่าเขามี Story ที่ดีอยู่ในตัว เรื่องพี่เขาก็อ่านสนุกดีครับ คนแชร์กันเยอะเลย แต่เรื่องที่แชร์เยอะที่สุดดันไม่ใช่เรื่องจากคนดัง แต่เป็นใครก็ไม่รู้ เป็น Nobody ที่เขียนเรื่องจากชีวิตเขา แต่อ่านแล้วรู้สึกเลยว่า โห! เจ๋งว่ะ คนแชร์กัน 30,000 บางคนเขียนเรื่องคนขายถั่ว แชร์กัน 20,000
(เหล่า "คนเดินดิน" ที่มีคนติดตามอ่านมากที่สุดจากพื้นที่ตัวอักษรใน Storylog)
นี่แหละครับคือสิ่งที่ผมอยากทำ ให้เรื่องพวกนี้มันถูกแชร์ต่อไปได้ยังไง อยากให้มีพื้นที่หนึ่งที่บอกว่ามันไม่ผิดหรอกนะถ้าจะมาเล่าเรื่องที่นี่ ซึ่งมันอาจจะเป็นอันเดียวกันกับที่ตั้งสเตตัสในเฟซบุ๊กก็ได้ ที่เพื่อนอ่านแล้วบอกว่ามึงเวิ่นเว้อว่ะ (หัวเราะเบาๆ) แต่ที่นี่คือที่เล่าเรื่องที่จะไม่มีใครมาว่าอะไรคุณ”
กว่าจะรุ่งก็เกือบร่วง ความโหดของ “Startup”
“Startup” ช่วงหลังๆ จะได้ยินคำคำนี้หนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย มันหมายถึงบริษัทเกิดใหม่ซึ่งโตขึ้นมาได้จากการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนเพียงหยิบมือเพื่อพัฒนาธุรกิจ บริษัทด้านเทคโนโลยีที่เคยโตขึ้นมาจากโมเดลแบบนี้ก็มีทั้ง Facebook และ Google ซึ่งเริ่มจากคนกลุ่มเล็กๆ จนกลายเป็นกระแสการใช้บริการบนโลกออนไลน์จากทั่วทุกมุมโลก
แม้แต่ “Storylog” เองก็เรียกได้ว่าเป็น Startup แห่งหนึ่งซึ่งเกิดจากทีมงานที่แข็งแกร่งเพียง 5 คน ทีมงานผู้มีความเชื่อไปในทิศทางเดียวกันว่าแหล่งรวมเรื่องเล่าแห่งนี้จะมีคนเห็น “คุณค่า” เพียงพอให้อยู่ได้และไปรอด แต่กว่าจะรอดจนอายุถึงครึ่งขวบได้อย่างวันนี้ ตัวตั้งตัวตีอย่างปิ๊ปโป้บอกเลยว่าเจอมาแล้วทุกสมรภูมิความโหด และที่ทำให้ต้องลำบากกันขนาดนั้น อาจเพราะความบ้าบิ่นของผู้นำที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องไอที แต่ดันใจกล้า กระโจนเข้าหาความเสี่ยงจนต้องฝ่าห่ามรสุมจนหืดขึ้นคอ!
“มันตรงข้ามกับสิ่งที่เราทำมากเลยนะตอนนั้น แต่ผมชอบหาคลิปเกี่ยวกับเรื่องราวของธุรกิจ Startup มาฟัง รู้สึกว่ามันเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนุกดี คือผมทำงานเขียนบทกับงานแสดง ที่บ้านทำโรงงานกระเป๋า เคยช่วยที่บ้านสักพักหนึ่ง แต่มันไม่ใช่ทาง เลยให้น้องที่จบมาทำแทน ตอนแรกเลยคิดว่าเรื่องแบบนี้มันไกลตัว ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งเรานี่แหละต้องมานั่งพัฒนาเว็บ พัฒนาแอปฯ (ยิ้มบางๆ)
(นักแสดง พิธีกร อีกมิติในตัวเจ้าของ "อาณาจักรล้านเรื่องเล่า")
แต่ผมเป็นคนชอบเรื่องราวอยู่แล้ว ตามประสาเด็กผู้ชายน่ะครับ ชอบอ่านการ์ตูน ที่บ้านมีอยู่ 4,000 กว่าเล่ม หรืออย่างตอนดูหนังเสร็จ เราจะชอบไปหาบทหนังมาอ่านอีกรอบ เอามาวิเคราะห์ว่าเขาร้อยเรียงเรื่องยังไง เล่ายังไงมันถึงได้สนุก แล้วพอได้ไอเดียของ Storylog ก็เลยลุยเข้าไปเลย! ตอนนั้นรู้แค่ว่าอยากทำแล้วก็มองว่ามันคือโอกาสเลยนะ คือถึงทำตรงนี้มันจะเสี่ยงมาก แต่มันก็เป็น “Hit or Miss” ถ้ามันติดตลาดที ผมก็สบายเลยนะ ถ้ามันเกิด Hit (ฮิต) ขึ้นมาเนี่ย แต่ถ้ามัน Miss (พลาด) ขึ้นมา มันก็ไม่เหลือเชี่ยอะไรเลยนะ (หัวเราะ)”
(สะสมการ์ตูน 4,000 กว่าเล่ม หลักฐานของคนรัก "เรื่องเล่า")
ช่วงที่หนักที่สุดสำหรับการปั้น Storylog คงหนีไม่พ้นช่วงแรกของการเดินฝ่าพายุมรสุมแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ เวลาเกือบปีที่ลงแรงไปกับการปั้นความฝันบนโลกออนไลน์กลับได้มาแค่ความว่างเปล่า ณ ช่วงเวลามืดบอดที่สุดในวินาทีนั้น คำถามมากมายผุดขึ้นมาในหัวชายหนุ่มวัย 28 ว่าจะปั้นธุรกิจขายฝันนี้ต่อไปเพื่ออะไร ในเมื่อครอบครัวก็ท้วงติง คนที่ยืนเคียงข้างก็เริ่มตั้งคำถาม แต่แล้วที่สุด ความเชื่อที่ยิ่งใหญ่อยู่ในใจก็ผลักให้เขาฝ่าพายุอุปสรรคครั้งนั้นออกมาได้ จนมาติด 1 ใน 5 ทีม Startup จากการประกวดโครงการ Dtac accelerate ปี 2 และได้เงิน 500,000 บาท มาเป็นทุนตั้งตัวในที่สุด
(ทีมที่แข็งแกร่งแห่ง “Storylog” ขอบคุณภาพ: www.it24hrs.com)
“จุดพีกสุดๆ คือช่วงที่เสียเวลาไป 10 เดือนแล้วเพิ่งมารู้ทีหลังว่ามันใช้ไม่ได้เลยครับ เป็นช่วงที่ทำ Storylog ขึ้นมาร่วมกับทีมแรก ผลปรากฏว่าต้องทำใหม่หมดเพราะโปรแกรมที่ทีมทำมามันหละหลวมมาก แล้วตัวผมเองก็เขียนโค้ดไม่เป็นด้วย ไม่รู้เรื่องเลย คนในทีมตอนนั้นก็จะไม่ทำต่อละ เงินก็ไม่มี ถ้าเป็นคนอื่น ผมฟันธงเลยว่าเลิกทำชัวร์เจอแบบนี้ (ยิ้มเนือยๆ) เสียเวลาไปเกือบปีแล้วไม่ได้อะไรกลับมาเลย แฟนก็กดดัน แม่ก็ถามว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ
ตอนนั้นไม่กล้าตอบใครเลยว่าต้องทำใหม่หมด อายุตอนนั้นก็ 28 แล้ว คำถามมันผุดขึ้นมาเลยนะว่าไปทำอะไรที่ถนัดไหม ทำไมต้องมาทำอันนี้ด้วย เราเป็นโปรแกรมเมอร์หรือไง กำลังใจไม่มีเลย ต้องสร้างเอง บิลต์ตัวเองด้วยเพลง “เรือเล็กควรออกจากฝั่ง” ของ Bodyslam (หัวเราะเบาๆ) คิดว่ายังไงก็ต้องออกเรือละ ถึงมันจะไปพัง ไปล่มกลางทะเลก็เอา คิดว่าถ้ามันจะเฟลก็ขอให้เว็บมันออกมาเป็นรูปเป็นร่างก่อนได้ไหม ไม่อยากให้มันจบลงโดยที่เรายังไม่ได้พิสูจน์อะไรเลย คงต้องบอกว่าที่รอดมาได้เป็นเพราะเราเป็นคนมองโลกแบบ Positive (คิดบวก) มากๆ ครับ เพราะถ้ามองแบบ Negative (คิดลบ) คงเลิกทำไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว
(บทเพลงแห่งความหวังที่ปลุกให้ปิ๊บโป้ลุกขึ้นมาสู้อีกสักตั้ง!!)
ผมมองว่า 10 เดือนที่เสียไป เหมือนเราไปเรียนปริญญาอีกใบหนึ่งเลยนะเว่ย เฮ้ย! นี่เราได้เรียนรู้อะไรจากมันมาเยอะมากเลยนะ โปรแกรมจากที่อ่านไม่ออก นี่ก็อ่านพอจะรู้เรื่องแล้ว เรื่องบริหารคนก็พอไหวละ โมเดลธุรกิจต่างๆ ก็พอได้ เอาล่ะ! ยอมรับว่าเฟล แต่ได้เรียนรู้อะไรๆ เยอะมาก (ลากเสียง) แล้วอย่างนี้จะถอยทำไมวะเมื่อเราได้องค์ความรู้ขนาดนี้มาแล้ว เราก็ลองเอามันมาใช้ตรงนี้ใหม่ดูซิ จากก่อนหน้านี้ที่คิดจะลด Cost (ต้นทุน) ให้มากที่สุด ไม่มีการจ่ายเงินเดือน แต่ดึงคนมาร่วมหุ้นกันแทน ก็เลยเปลี่ยนใจ
ตัดสินใจพักเรื่อง Product ไปเลย เลิกคิดไปก่อน มาคิดเรื่องสร้างทีมยังไงให้ทีมดีที่สุดก่อน เพราะรู้แล้วว่าคนสำคัญที่สุดครับ ต้องเริ่มจากคนก่อน จากนั้นก็หาเงินทุน ทีมที่ดียังไงก็ต้องมีเงิน เพราะคนเก่งๆ ทางเลือกชีวิตเขาเยอะนะ ถ้าเราไม่ให้เงินเขา เขาก็ไม่มา เพราะงั้น ถึงมันจะน้อยนิดแต่เราก็ต้องให้เขา ก็เลยไปเข้าโครงการประกวดจนได้ 500,000 นั้นมา
ถึงตอนนี้ พอผ่านมันมาได้ รู้ซึ้งเลยครับว่า Quote ที่เราเคยอ่านมันหมายความว่าอะไร คำที่บอกว่า You never know how strong you are until being strong is the only choice you have. คุณจะไม่มีวันรู้ว่าคุณแข็งแกร่งแค่ไหน จนกว่าความเข้มแข็งนั้นจะเหลือเป็นตัวเลือกเดียวของคุณ ตอนนี้ ต่อให้ต้องเจอกับเรื่องอะไรอีกในวันข้างหน้า มันก็จะเบาขึ้นละ คงรู้สึกว่านี่มันแค่จิ๊บๆ หนักกว่านี้กูก็ผ่านมันมาแล้ว”
ฝันไกลเทียบ “Line” อยากไปตลาดโลก!!
(แหล่งรวมเรื่องเล่าที่ตัวหนังสือไม่มีวันหมดอายุ)
มีโอกาสรอดได้แค่ 5 เปอร์เซ็นต์ และมีเพียง 0.25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทำแล้วรุ่งจนสามารถขายทอดกิจการให้แก่ผู้อื่นได้ สถิตินี้คือตัวเลขจากสัญญาณชีพจรของบริษัท Startup ที่ยังมีลมหายใจ จึงทำให้ผู้ก่อตั้ง “อาณาจักรหลากเรื่องเล่า” แห่งนี้มองตัวเองว่าถ้าไม่บ้าก็กล้ามากจริงๆ โดยเฉพาะการปักหมุดความฝันเอาไว้สูงเสียดฟ้าแบบนี้ ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้ทีมงานยังไม่ได้กำไรจากพื้นที่แห่งนี้แม้สักแดงเดียว
“ที่ที่มีวิดีโอมากที่สุดในโลก เขาก็ไม่ได้สร้างวิดีโอเอง ที่ที่มีหนังสือขายมากที่สุดในโลกอย่าง Amazon เขาก็ไม่ได้พิมพ์หนังสือขายเอง โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ผมก็อยากจะทำให้พื้นที่ Storylog เป็นแบบนี้เหมือนกัน ที่ที่มีเรื่องราวของคนมากที่สุดในโลกหรือในประเทศ เราจะไม่ผลิตคอนเทนต์เอง แต่เราจะเป็นพื้นที่ให้กับเขาครับ”
จะว่าไปแล้ว สิ่งที่ปิ๊บโป้กำลังทำถือว่ามีแรงเสียดทานทางด้านตัวอักษรอยู่สูงพอสมควรเลยทีเดียว เพราะแนวโน้มคนยุคปัจจุบันมีแต่จะ “อ่าน” น้อยลงและสั้นลงไปทุกวัน แต่เจ้าของไอเดียหนวดครึ้มคนนี้กลับยิ้มรับเรื่องราวอย่างใจเย็น คล้ายไม่รู้สึกกังวล ด้วยเหตุผลที่ว่านั่นไม่ใช่จุดโฟกัสที่เขาสนใจเท่าใดนัก
“คนไม่ชอบอ่านก็ไม่ชอบอ่าน ไม่เป็นอะไรครับ ผมไม่ว่าอะไรเขานะ คือเราไม่ได้ไปสนับสนุนว่า เฮ้ย! เรามารักการอ่านกับ Storylog กันเถอะไง (ยิ้ม) จริงๆ แล้วผมโฟกัสไปที่เรื่องคนเขียนมากกว่าด้วยซ้ำครับ ผมรู้สึกว่าถึงเขียนดีหรือไม่ดียังไง พอได้เขียนแล้วมันถือว่าคุณได้คุยกับตัวเอง ผมจะพูดตลอดว่าขอให้ได้เขียน ไม่มีคนอ่านก็ไม่เห็นต้องซีเรียสเลย การมีคนอ่านและมีคนมาชอบ มันคือโบนัสของการเขียนนะ”
“ลิขสิทธิ์” เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กวนใจเจ้าของคอนเทนต์บนโลกออนไลน์เสมอมา แต่ก็ไม่ถึงกับทำให้คนที่ลงมาเล่นกับตัวอักษรอย่างปิ๊บโป้รู้สึกเครียดกับปัญหาที่แก้ได้ยาก เพราะเขาเลือกจะมองมันอย่างเข้าใจและเตรียมการ์ดเอาไว้พร้อมตั้งรับแล้วระดับหนึ่ง
“ตอนนี้ใน Storylog ของเราก็ไม่ถึงกับห้ามไม่ให้ก๊อบฯ นะครับ แต่เวอร์ชันหน้าที่กำลังจะออกมา (เวอร์ชัน 2.0) ก็ไม่แน่ เราจะให้สิทธิของนักเขียนมากขึ้น อาจจะมีให้เห็นเป็นไอคอนบอกเลยว่าเรื่องนี้มีลิขสิทธิ์นะ ใครจะก๊อบฯ ไปแปะที่ไหนต้องให้เครดิตด้วย แต่คงไม่ถึงขนาดห้ามไม่ให้ก๊อบฯ เพราะถึงเราห้ามไป ก็คงกันได้แค่ระดับหนึ่ง ถ้าคนมันจะก๊อบฯ จริงๆ มันก็ก๊อบฯ ถ้าจะแก้เรื่องนี้ ผมคงมาเน้นที่ตัวนักเขียนเองมากกว่า
ถ้าเอกลักษณ์ของนักเขียนคนนั้นชัด คนจะรู้สึกได้เองว่ามันเป็นงานของเขานะผมว่า สมมติว่าถ้าไปโพสต์เรื่องเดียวกันในเว็บบอร์ด คนอาจจะก๊อบฯ ไปเลยโดยที่ไม่ให้เครดิตเพราะไม่รู้ว่าคือใคร มองว่าเป็นเจ้าของกระทู้หนึ่งคน แต่ใน Storylog เราจะเน้นว่านี่คือนักเขียนหนึ่งคนของเรานะ ตรงนี้แหละที่ผมคิดว่าน่าจะช่วยให้คนอื่นๆ เห็นความสำคัญว่านี่คืองานเขียนของเขา ถ้าคิดจะเอาไป ก็แชร์ไปละกัน นี่คือพื้นที่ของเขา
มองอีกมุม เรื่องก๊อบฯ ไปโพสต์ ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยเสียทีเดียวนะครับ เพราะมันก็ถือเป็นการช่วยแพร่กระจายได้ แต่เรื่องที่ผมติดจริงๆ คือเรื่องของการให้เครดิตมากกว่า ผมว่าการให้เครดิตที่มาไว้ด้านล่างสุดของเนื้อหามันน้อยไปด้วยซ้ำ มันเหมือนเราไปเอาเรื่องของคนอื่นไปเล่าให้เพื่อนฟังแล้วค่อยมาบอกทีหลัง
เหมือนจู่ๆ ก็เล่าขึ้นมาเลยว่าเรื่องราวมันเป็นยังไง พอเล่าเสร็จเพื่อนบอกว่า โห! เจ๋งว่ะ แล้วค่อยปิดท้ายเรื่องด้วยการตอบว่า เออ...กูฟังเขามาอีกทีหนึ่ง (ยิ้มมุมปาก) แล้วบางคนอ่านเรื่องไม่จบด้วยซ้ำ ปิดหน้าเว็บนั้นไปก่อนอ่านถึงเครดิตเสียอีก เพราะฉะนั้น ถ้าจะก๊อบฯ ไปก็ควรจะให้เครดิตและให้น้ำหนักที่เยอะ เปิดเรื่องมาก็บอกเลยดีกว่าว่าเอามาจากที่ไหน และติดตามอ่านเพิ่มได้จากที่ไหน แล้วทุกฝ่ายจะโอเคมากเลยกับการก๊อบฯ แบบนี้”
กุญแจสำคัญที่ทำให้แหล่งรวมเรื่องเล่าแห่งนี้ตั้งไข่และเริ่มเดินเตาะแตะได้ เป็นเพราะการเดินตามสูตร “Lean Startup” คือเน้นที่ “น้อยที่สุด” เข้าไว้ “คอนเซ็ปต์ของคำว่า Lean ก็คือทำอะไรก็ได้ให้เร็วที่สุด ที่พิสูจน์สมมติฐานของเราครับ สมมติฐานของผมก็คือคนต้องการ “ที่เล่าเรื่อง” เราก็สร้างพื้นที่นั้นขึ้นมา อย่างของผม ทำให้มันง่ายสุดๆ เลยคือให้เป็นหน้ากระดาษเปล่าในนั้นหนึ่งใบ เวอร์ชันแรกให้เขียนได้แต่ตัวอักษร ใส่วิดีโอก็ไม่ได้ แปะลิงก์ไม่ได้ ใส่รูปไม่ได้ด้วยนะ แล้วดูซิว่าถ้าเป็นกระดาษเปล่า จะมีคนใช้ไหม ปรากฎ... อ้าว! เฮ่ย! มีคนใช้เว่ย!” เขากลั้วหัวเราะเหมือนเด็กที่กำลังสนุกกับการทดลองของเล่นออนไลน์อยู่พักใหญ่ๆ แล้วเริ่มเดินเรื่องต่อ
ผมแปลกใจมาก รีบเข้าไปถามคนที่เข้ามาใช้เลยว่า ทำไมถึงเข้ามาใช้เหรอครับ แล้วผมก็ได้ฟีดแบ็กกลับมาว่าเขารู้สึกว่ามันดูสะอาดตาดี ผมเลยรู้สึกว่าสมมติฐานของเราเริ่มมาถูกทางแล้วนะกับคำว่า “กระดาษเปล่า” แต่ตอนนี้เราให้ใส่รูปได้แล้วนะครับ 1 รูป เป็นรูปปก (ยิ้ม) คือผมไม่ได้มองว่าเนื้อเรื่องดีๆ ต้องมีรูป แต่ผมมองว่าถ้าแชร์กันไปในเฟซบุ๊ก มันคงต้องมีภาพ Cover เลยหยวนๆ ไป แต่เวอร์ชันใหม่ที่กำลังจะออกมา อาจจะมีให้เพิ่มจำนวนรูปที่ใส่เข้าไประหว่างเนื้อเรื่องได้อีกนิดหน่อย เพราะตอนนี้คนเข้าใจแล้วว่า Storylog คืออะไร จะเพิ่ม Option เข้าไปอีกนิดหน่อย มันก็คงจะไม่กระทบ Brand แล้ว”
วาดฝันเอาไว้ในใจว่าอยากให้ “Storylog” กลายเป็นพื้นที่สร้างชื่อ-สร้างรายได้ให้แก่นักเล่ามือสมัครเล่น เป็นเหมือน Portfolio สำหรับนักเขียนฝีมือเจ๋งๆ เป็นแหล่งรวมเรื่องเล่าที่หวังดีต่อคนใช้ เก็บสะสมทุกงานเอาไว้ไม่ให้ตัวอักษรของพวกเขาต้องหล่นหายไปตามความฉับไวของโลกออนไลน์
และถ้าให้ลองปริปากพูดถึงความฝันอันสูงสุดที่ปักหมุดเอาไว้ ปิ๊บโป้ก็พร้อมยืดอกป่าวประกาศด้วยน้ำเสียงก้องกังวานว่า “ผมอยากทำให้ได้เหมือน Line ครับ เป็นแอปฯ ของเอเชียที่ไปได้ในหลายๆ ประเทศ หรือเอาง่ายๆ แค่ในปีหน้าก่อนก็ได้ เวลาขึ้นไปบนบีทีเอส ผมอยากเห็นคน scroll ดูเว็บ “Storylog” บนมือถือกันบ้าง แทนที่จะ scroll ดู Instagram อย่างที่ทำกันอยู่ ดูรูปคนนู้นคนนี้มันก็เพลินดีนะ แต่ลองเข้ามาดูเรื่องราวของคนนั้นคนนี้ดูบ้างไหม บางทีอาจจะได้อะไรๆ เพิ่มจากที่รูปให้ไม่ได้ก็ได้นะ”
(ก้าวเท้าเข้ามาค้นหาเสน่ห์ของตัวอักษรได้ที่นี่>>> Storylog)
สัมภาษณ์โดย ASTV ผู้จัดการ Lite
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ศิวกร เสนสอน
ขอบคุณข้อมูล: แฟนเพจ "Storylog" และ storylog.co
ขอบคุณสถานที่: PAH Creative Space
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754