'พระสงฆ์' มักเป็นภาพแทนของความสงบ โลกทางธรรมมักอยู่ตรงข้ามกับเรื่องทางโลก ผ้าเหลืองคือความร่มเย็นที่พุทธศาสนิกชนหวังพึ่งพาเพื่อดับทุกข์คลายร้อนจากสิ่งปรุงแต่งทางใจ ไม่แปลกหากผู้คนจะไม่ทันฉุกคิด ภายใต้ผ้าเหลืองอันร่มเย็นนั้น อาจร้อนรุ่มด้วยผลประโยชน์!
เฉกเช่น นิทานเซนเปรียบความสัมพันธ์ของ “เรื่องทางโลก” กับ “โลกทางธรรม” คล้ายกังหันวิดน้ำ ทางธรรมต้องมีส่วนใดส่วนหนึ่งสัมผัสสัมพันธ์อยู่กับสังคมทางโลกอยู่เสมอ
'เงินทอง' จึงมิใช่เพียงของนอกกายอีกต่อไป ด้วยซองปัจจัยที่ชาวพุทธส่งมอบให้พระราวเลือกซื้อผงซักฟอกทางศีลธรรม วัดที่ดังที่สุดย่อมดีที่สุด ผลคือความเหลื่อมล้ำระหว่างวัดที่ร่ำรวยอย่างที่ไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร กับวัดที่ยากจนชนิดที่จะสร้างโบสถ์ศาลาก็ต้องเกณฑ์พระเกณฑ์เณรมาแบกอิฐถือปูน
ตัวเลขในบัญชีที่มากมายมหาศาลจนหลายคนต้องตกตะลึง! เมื่อรวมกับข่าวฉาวในแวดวงสงฆ์ที่ถูกตีแพร่ออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่แปลกที่ชาวพุทธก็เรียกหาการตรวจสอบ และ 'ภาษีพระ' เป็นแนวคิดหนึ่งที่ปรากฏขึ้น จุดประเด็นถกเถียงตั้งแต่เห็นด้วยจนถึงคัดค้าน กลายเป็นเรื่องร้อนที่สุดของวงการสงฆ์ ณ เวลานี้!
ดรามาผ้าเหลือง
เมื่อไม่นานมานี้ พระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จนฺทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) ได้มีการทำหนังสือเสนอแนวคิด “ภาษีพระสงฆ์” โดยมีใจความสรุปได้ว่า จะมีการจัดเก็บภาษีพระสงฆ์ที่มีรายได้เกิน 2 หมื่นบาท และวัดที่จัดกิจกรรมเชิงพุทธพาณิชย์ พร้อมทั้งให้เจ้าอาวาสมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี
แน่นอนว่า แนวคิดดังกล่าวสั่นสะเทือนวงการพระสงฆ์ไทยเป็นอย่างมาก ด้านหนึ่งชาวพุทธที่มองว่าการเงินในวัดควรได้รับการตรวจก็เห็นชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วยการตรวจสอบการเงินในวัดที่ตามมา แต่อีกด้านหนึ่งเรื่องนี้กลายเป็นข้อถกเถียงที่วงการสงฆ์ต่างแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยอย่างพร้อมเพรียง
พระเทพสิทธาจารย์ (น้อย ญาณวุฒฺโฑ) เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม และเจ้าอาวาสวัดมหาชัย พระอารามหลวง อ.เมือง จ.มหาสารคาม มองว่าการเก็บภาษีพระ จะทำให้คนไม่อยากบวชเป็นพระ เพราะพระสงฆ์ไม่มีลาภสักการะ ทั้งยังต้องเสียภาษีสังคม เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถ ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งบางครั้งยังไม่พอจ่ายเสียด้วยซ้ำ และที่สำคัญวัดในต่างจังหวัดบางวัดมีพระสังกัดอยู่ในวัดเพียงไม่กี่รูป
ด้านพระครูศรีรัตนาภิวัฒน์ (ทวี รตนเมธี) เจ้าคณะอำเภอเมืองสุพรรณบุรี และเจ้าอาวาสวัดพระลอย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี มองว่า อาจมีความแตกต่างระหว่างวัดในกรุงเทพฯ กับวัดต่างจังหวัด เพราะบางวัดในต่างจังหวัดกว่าจะหาเงินมาสร้างวัดได้ยากมากและใช้ระยะเวลานาน ต่างจากวัดในกรุงเทพฯ ที่มีเงินส่วนกลางสนับสนุนอยู่แล้ว ที่สำคัญอย่าศึกษาเฉพาะรายได้ของวัด ให้ศึกษารายจ่ายด้วย เนื่องจากวัดราษฎร์และวัดพระอารามหลวงรายได้ต่างกันมาก
แม้แต่ผู้ทำงานด้านพุทธศาสนาเองก็ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้นัก ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา เผยว่า คณะกรรมการไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีพระ เพื่อไม่ให้เป็นการรับรองให้พระภิกษุไปเป็นนักธุรกิจไปเป็นแสวงหาผลประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ในกรณที่มีรายได้ก็ทำการเสียภาษีตามปกติ แต่หากพระมีรายได้เกิน 20,000 บาท/เดือนเขามองว่าขัดต่อพระวินัยที่ต้องละเลิกศซึ่งกิเลสและเห็นเงินเป็นอสรพิษอยู่แล้ว
การเงินกับพระสงฆ์
เงินเป็นภาพแทนของกิเลส อาจจะแปลกสักนิดแต่การบริจาคเงินให้วัดก็เป็นเรื่องปกติที่ชาวพุทธทำเพื่อเป็นการทำนุบำรุงพุทธศาสนา เป็นเรื่องปกติที่วัดต้องใช้เงินบริจาคในการใช้จ่ายสิ่งต่างๆ และคงเป็นเรื่องปกติอีกหากชาวพุทธจะไว้ใจพระสงฆ์ที่ตนเองศรัทธา แต่คงเป็นเรื่องประหลาดชวนเคืองใจหากพระสงฆ์ที่ตนเองไว้ใจกลับนำเงินไปใช้จ่ายกับเรื่องส่วนตัว
เรื่องฉาวในหมู่สงฆ์จึงต้องถูกตีแพร่และวิพากษ์ มิใช่ด้วยเกลียดชัง แต่ด้วยศรัทธาแรงกล้าที่จะปกป้องพุทธศาสนา หลังจากหลายกรณีพระฉาวไม่แปลกที่ถึงตอนนี้ความโปร่งใสของสงฆ์จึงเป็นสิ่งที่ผู้คนเรียกร้องถามหา
การจัดการเงินในวัดจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรได้รับการตรวจสอบ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะผู้ทำวิจัยการบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันนี้ วัด ถือเป็นนิติบุคคลตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2535 เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งอำนาจหน้าที่ในการบริการจัดการอยู่ที่เจ้าอาวาสทั้งหมดโดยจะมีการแต่งตั้งฆราวาสหรือผู้ไว้วางใจเข้ามาช่วยดูแลงานกิจการบางอย่างแทนเรียกว่า ไวยาวัจกร ซึ่งโดยกฎมหาเถรสมาคมกำหนดไว้ว่าต้องได้รับการเสนอชื่อโดยเจ้าอาวาส และขึ้นไปแต่งตั้งตามลำดับชั้นการปกครองของสงฆ์ไป
“เจ้าอาวาสจะเป็นผู้รับผิดชอบโดยอาจจะมอบหมายให้ไวยาวัจกรดำเนินการให้ ฉะนั้นที่ผ่านมาก็จะมีการจัดทำบัญชีเรียกว่าอาจเป็นรูปแบบบัญชีอย่างง่าย ตรงนี้จะขึ้นอยู่กับวัดที่มีความแตกต่างกันมาก บางวัดก็สามารถทำบัญชีได้สมบูรณ์ แต่บางวัดไม่สามารถทำแบบนั้นได้ก็จะเป็นการทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายง่ายๆ ข้อมูลทางการเงินของวัดในปัจจุบันเป็นลักษณะนี้”
ปัญหาที่เป็นอยู่ในการบริหารจัดการด้านการเงินของวัดนั้น เธอมองว่ามีอยู่ 4 ประเด็นด้วยกัน
1 ไม่มีการนำข้อมูลเหล่านี้ส่งไปที่หน่วยงานใด แม้แต่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่น่าจะดูแลข้อมูลให้ภาพรวมของระบบวัดทั้งหมดก็ไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ ทำให้ข้อมูลทางการเงินของวัดในภาพรวมยังไม่สามารถสืบค้นได้อย่างชัดเจน
2 กฎหมายปัจจุบันยังไม่มีการระบุให้มีการตรวจสอบเกิดขึ้นเป็นประจำ กลไกการตรวจสอบนั้นจะตรวจสอบเมื่อมีกรณีร้องเรียนหรือกรณีผิดปกติถึงจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ
3 การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของวัด ในปัจจุบันกฎหมายไม่ได้ระบุว่าจะต้องทำในรูปแบบใด วัดที่ทำอยู่ในปัจจุบันก็อาจจะใช้วิธีเปิดเผยโดยติดประกาศไว้ในที่สาธารณะ แต่มันเป็นวิธีที่เข้าถึงในวงจำกัด มันไม่ได้เข้าถึงง่าย ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเห็นข้อมูลทางการเงินของวัดได้โดยทั่วไป
4 คือการจะได้มาซึ่งคณะกรรมการวัดหรือไวยาวัจกรที่จะมาช่วยเจ้าอาวาสบริหารงานในวัด กฎหมายก็ไม่ได้ระบุที่มาอย่างชัดเจน บอกแต่ว่าให้เจ้าอาวาสแต่งตั้งขึ้นไป ฉะนั้นที่มาจึงอาจไม่ได้มีส่วนร่วมจากชุมชนถ้าเจ้าอาวาสไม่ได้เปิดโอกาสให้ชุมชมหรือสังคมเข้าไปในของการบริหารจัดการวัด
“แต่แน่นอนหลายวัดทำได้ดีมาก แต่ก็จะมีบางวัดที่ไม่ได้มีรูปแบบหรือแบบแผนชัดเจน ทีนี้พอเรามาดูโครงสร้างทางด้านการเงินของวัด เราพบว่าในจำนวนวัดที่เราศึกษา 490 วัดจากการสุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ เราพบว่า รายรับ - รายจ่ายของวัดค่อนข้างกระจุกตัว หมายความว่ามีวัดจำนวนไม่มากที่มีรายรับมากกว่า 20 ล้านขึ้นไปต่อปี แต่ก็มีวัดจำนวนหนึ่งที่มีรายรับต่อปี 1 แสนบาท เพราะฉะนั้น จะเห็นว่ามันมีความแตกต่างกันระหว่างวัดที่มีฐานะ กับวัดที่มีฐานะไม่ค่อยดี ฉะนั้นก็จะมีความมแตกต่างกันในฐานะทางการเงินของวัดอยู่พอสมควร”
ภาษีจำเป็นหรือไม่?
ในมุมหนึ่งของการเก็บภาษีพระสงฆ์นั้นคือการเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบการเงินของวัด ผศ.ดร.ณดา มองว่าแนวคิดดังกล่าวต้องมีการพูดคุยในหลายประเด็นอีกมากหากจะใช้จริง และเป็นเรื่องที่ไกลตัวเกินกว่าจะถกเถียงเพราะจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยแนวคิดในการทำให้เกิดการตรวจสอบทางการเงินกับวัดมากขึ้นนั้น มีอยู่มากมายนอกจากแนวคิดเรื่องภาษี
“วัดโดยธรรมชาติถือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เป็นองค์กรประเภทไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งปกติแล้วจะมีประเด็นการยกเว้นภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่สำหรับวัดเอง เนื่องจากว่ากฎหมายที่เข้ามาให้ในการกำกับวัดไม่ใช่กฎหมายเหมือนกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรปกติ เพราะเป็นเรื่องของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉะนั้นเรื่องนี้ถ้าจะมีแนวคิดอย่างนี้ขึ้นมามันต้องมีการคุยกันค่อนข้างจะเยอะ ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ”
แนวคิดดังกล่าวเธอมองว่า ในทางปฏิบัติมีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น และอาจต้องทำความเข้าใจกันหลายเรื่อง ทั้งนี้กลไกการตรวจในปัจจุบันมีลักษณะเป็นคณะสงฆ์ตรวจสอบกันเอง แต่เนื่องจากการจัดทำข้อมูลทางการเงินเองก็ไม่สมบูรณ์ การตรวจสอบจึงมีไม่เยอะ
“ตอนนี้มันยังมีประเด็นอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการเงินของวัดที่น่าจะไปพัฒนาให้ตอบโจทย์ว่า ในอนาคตถ้าเราจะสร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ให้แก่วัดเราจะทำอะไรได้บ้าง ก่อนที่จะมาคุยเรื่องเก็บภาษีเพราะภาษีจะเก็บก็ต่อเมื่อความชัดเจนตรงนี้มันมีขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเรื่องทรัพย์สินของพระ ทรัพย์สินของวัด มันจะแยกจากกันอย่างไร? ทรัพย์สินของวัดเมื่อทำแล้วมีการเก็บข้อมูลเป็นระบบมั้ย? มีการรายงานอย่างเป็นระบบหรือเปล่า? มีการกำกับดูแลในเรื่องของข้อมูลเหล่านั้นอย่างรัดกุมพอมั้ย? พวกนี้น่าจะเป็นประเด็นที่น่าจะพูดคุยก่อนที่จะคุยกันถึงเรื่องของภาษี ภาษีดูจะเป็นเรื่องที่ไกลไปนิดหนึ่ง”
รายละเอียดของข้อมูลการเงินในเบื้องต้นจึงเป็นพื้นฐานที่เป็นประเด็นซึ่งต้องมีการรวบรวมอย่างเป็นทางการก่อน โดยอาจขยายไปสู่แนวคิดอีกมากมายที่เสนอขึ้นเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวัดมีฐานะกับวัดยากจน ตั้งแต่การรวมศูนย์เงินบริจาคเพื่อแบ่งเฉลี่ยให้วัดที่ยากจนกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการตัดสินใจที่จะนำแนวคิดใดไปปฏิบัติท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับคณะสงฆ์อยู่ดี
“สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ตราบใดที่พ.ร.บ.คณะสงฆ์ยังอยู่ มันก็เป็นเรื่องที่คณะสงฆ์ต้องเป็นผู้พิจารณาที่จะดำเนินการเพราะว่าการปกครองทางสงฆ์ พ.ร.บ.คณะสงฆฺระบุไว้ว่าการจัดการเป็นเรื่องของคณะสงฆ์ ฉะนั้นตรงนั้นเป็นเรื่องที่คณะสงฆ์ต้องสร้างกลไกกำกับดูแลให้เป็นระบบขึ้น
“จริงๆ มันเป็นหน้าที่ของเราในฐานะที่เป็นพุทธบริษัทสี่ในการทำนุบำรุงพุทธศาสนา เพียงแต่ว่าในปัจจุบันนี้โอากาสหรือช่องทางในการแสดงความเห็น เราพูดได้แต่ลงไปทำคงลำบากนิดนึงเพราะกฎหมายมันไม่ได้เปิดช่องในลักษณะที่ให้คนทั่วๆไป เข้าไปตรงนั้น ขนาดหน่วยงานอย่าง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเองซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่น่าจะมีบทบาทในการที่จะเข้าไปดูแลเรื่องนี้ บทบาทของเขาเองกลับเป็นแค่หน่วยงานที่เข้าไปอำนวยความสะดวกเท่านั้น ไม่ใช่หน่วยงานในลักษณะกำกับดูแล ฉะนั้นถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูปอะไรก็ควรจะมีการพูดคุยกันให้คณะสงฆ์เห็นชอบและดำเนินการไปในทิศทางที่ควรจะเป็น”
อย่างไรก็ตาม เธอเผยต่อว่า การมองพ.ร.บ.คณะสงฆ์เป็นปัญหาที่แยกประชาชนจากพระสงฆ์ก็ไม่ถูกต้องนัก ด้วยเพราะประวัติศาสตร์ความเป็นมารวมไปถึงหลักธรรมก็มีการระบุไว้ถึงการปกครองที่คณะสงฆ์ต้องปกครองกันเอง สิ่งที่เป็นอยู่
“ไม่ได้หมายความว่าประชาชนเองไม่สามารถทำอะไรได้เลย ส่วนหนึ่งที่เราสามารถทำได้ และเห็นกันอยู่เป็นประจำคือเรื่องของการสอดส่องดูแล พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พวกเราในฐานะประชาชนเองก็สามารถคอยดูและตั้งคำถาม เข้าสู่กระบวนการร้องเรียนให้เกิดการตรวจสอบได้ แต่เรื่องนี้ไม่สามารถที่จะมีใครคนใดคนหนึ่งไปปรับเปลี่ยนมันได้ มันต้องเป็นไปในลักษณะของการทำงานร่วมกัน”
…
สุดท้ายนี้ หากจะมีหนทางใดที่ทำให้พุทธศาสนานั้นยังคงงอกงามอยู่ในสังคม สิ่งที่เริ่มต้นได้ง่ายที่สุดก็คือตัวพุทธศาสนิกชนเอง หากเจอพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็จัดการ หากจะบริจาคก็ควรเลือกวัดที่ขาดแคลน ใส่ใจกับหน้าที่ในฐานะพุทธศาสนิกชนอย่างจริงจังมากขึ้น
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754