แน่นอนว่า "สื่อลามกเด็ก" เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย หลายประเทศมีกฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกเด็ก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการบังคับใช้กฎหมาย "สื่อลามกอนาจารเด็ก" แล้ว โดยผู้ครอบครองทั้งมือถือ-คอมพ์ ต้องจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสน ส่วนพวกแชร์โดน 7 ปี ปรับ 1.4 แสน และพวกจำหน่าย เจอคุก 10 ปี ปรับ 2 แสนบาท
แม้จะเป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เพื่อไม่ให้บุคคลนำไปแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย คลิปวิดีโอแต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาถึงตัวบทกฎหมาย โดยกังวลกันว่าอาจจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ตำรวจ (ที่ไม่ดี) หรือไม่ รวมไปถึงรายละเอียดอื่นๆ ที่ยังคลุมเครือ และไม่ชัดเจน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ จินตนันท์ ชญาตร์ ศุภมิตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมการมูลนิธิพิทักษ์ และคุ้มครองเด็ก ไขข้อข้องใจว่า หากไม่มีเจตนาที่จะครอบครองก็ถือว่าไม่มีความผิด ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ การจะตรวจค้นโทรศัพท์มือถือของประชาชน ต้องมีเหตุ หรือหลักฐานที่เชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวจะครอบครองสื่อลามกจริง
"อยู่ดีๆ ตำรวจจะเดินเข้ามาแล้วขอค้นมือถือประชาชน มันไม่ได้ค่ะ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจการค้นแก่ตำรวจ แค่บอกว่าถ้ามีไว้ในครอบครอง เป็นความผิด แต่ถ้าสมมติมีตำรวจบุกรุกเข้าตรวจค้นมือถือ คอมพิวเตอร์มันจะต้องอาศัยกฎหมายฉบับอื่นด้วย จะต้องมีหมายศาล มีหมายค้น แต่ถ้ามีเหตุสงสัยอันควรคิดได้ว่าคนคนนั้นจะไปมีอะไรกับเด็ก ตำรวจสามารถขอหมายศาลเข้าไปค้นได้ ถ้าค้นเจอว่าครอบครองคลิปโป๊เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีในโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ จะถือว่ามีความผิด เนื่องจากเสี่ยงที่นำภาพดังกล่าวไปใช้แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศของเด็ก" กรรมการมูลนิธิพิทักษ์ และคุ้มครองเด็กติขยายความ
ส่วนประเด็นที่ใครหลายคนกังวลเรื่องการส่งต่อทาง "ไลน์" จินตนันท์ บอกว่า ถ้าไม่คลิกเข้าไปดู และกดเซฟไว้ก็ไม่มีความผิด
"ถ้าคุณไม่ได้มีจิตใจฝักใฝ่ ถามว่าคุณจะคลิกเข้าไปดูหรือไม่ โดยเฉพาะคลิปผู้ชายมีอะไรกับเด็กหญิงอายุ 7 ขวบ แล้วถ้าคุณเซฟเก็บเอาไว้แสดงว่าคุณมีเจตนาละ อีกอย่างกฎหมายตัวนี้มันรวมถึง icloud, dropbox ด้วย ต่อให้คุณเซฟในอากาศ มันก็จะมีเทคโนโลยีที่จะสามารถตรวจดูได้ ซึ่งการจะเช็กได้ก็อย่างที่บอกไปว่า ต้องมีเหตุอันควรสงสัย สมมติดิฉันได้ข้อมูลมาจากตำรวจออสเตรเลียว่า เลข IP นี้ส่งไฟล์ภาพลามกของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเป็นจำนวน 1,881 รูป อันนี้ก็จัดได้ว่าเข้าข่ายมีเหตุอันควรสงสัยได้แล้ว"
ถามต่อไปว่า แล้วภาพไหนที่นับว่าเป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก เรื่องนี้ จินตนันท์ กรรมการมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก ได้อธิบายเอาไว้ดังนี้
"ถ้ามีไว้ครอบครองเพื่อการกระทำทางเพศ หรือความใคร่ของตัวเองและผู้อื่น แบบนี้ถือว่ามีเจตนาไม่ดีละ แต่ถ้าเป็นภาพที่พ่อแม่ถ่ายไว้ นั่งแก้ผ้าอยู่ในกะละมัง ซึ่งเชื่อว่าเป็นภาพที่ทุกบ้านมีหมด แบบนี้ไม่นับว่าเป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก เพราะไม่ได้ส่อแสดงถึงเรื่องเพศ หรือกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจมีไว้ครอบครอง แต่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการจับผู้ร้าย แบบนี้ก็ไม่เข้าข่ายความผิดเช่นกัน ซึ่งมันต้องดูที่เจตนาล้วนๆ"
ทั้งนี้ เธอหวังว่า กฎหมายตัวนี้จะช่วยให้สื่อลามกเด็กในสังคมไทยค่อยๆ หายไป
"อย่างน้อยๆ ก็ช่วยลดการถ่าย การส่งต่อลงไปได้ เพราะการส่งต่อโทษแรงกว่าการมีไว้ครอบครองอีกนะ เนื่องจากส่อแสดงถึงเจตนา มีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท นอกจากนี้การทำหรือผลิต ให้เช่าสื่อลามกอนาจารเด็กยังเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งจะก่อให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กเพิ่มขึ้น และเด็กยังเป็นผู้ที่ถูกชักจูงได้โดยง่าย การมีกฎหมายนี้จะช่วยให้ปัญหานี้ลดลงได้มาก" กรรมการมูลนิธิพิทักษ์ และคุ้มครองเด็ก ทิ้งท้าย
ASTVผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754