อุบัติเหตุอันน่าสลดใจพรากชีวิตนักปั่นเกิดขึ้นซ้ำรอยอย่างต่อเนื่อง หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุด มีการหยิบยกประเด็น 'ใบขับขี่จักรยาน' ขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง หลังจากที่ประเทศไทยยกเลิกไปหลายสิบปีเนื่องจากเป็นกฎหมายล้าหลัง
ในที่ประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ มีการถกประเด็นกำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้จักรยานในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งนโยบายการใช้จักรยานเพื่อการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นเป็นนโยบายหลักของ กทม. จึงให้ความสำคัญในประเด็นด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ ด้าน ตรีดาว อภัยวงศ์โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงมาตรการความปลอดภัย3 มาตรการ ความว่า
1. ด้านกายภาพเส้นทางจักรยาน วิศวกรรมจราจรเส้นทางจักรยาน เครื่องหมายสัญลักษณ์ต่างๆ และไฟฟ้าส่องแสงสว่าง ฯลฯ ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขพร้อมใช้งานอยู่เสมอ
2. ดำเนินการแก้ไขปัญหาระยะยาว กำหนดลักษณะจักรยานที่สามารถปั่นบนท้องถนนได้โดยเบื้องต้นจักรยานจะต้องมีอุปกรณ์ที่ปลอดภัย อาทิ ไฟกระพริบ ฯลฯ ซึ่งทาง กทม. หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก, กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) ฯลฯ ชูประเด็นการจัดทำใบขับขี่รถจักรยานและกำหนดอายุผู้ที่สามารถใช้จักรยานบนถนน และกำลังอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ
3. ด้านการประชาสัมพันธ์ ในประเด็นความปลอดภัยบนท้องถนนของผู้ขับขี่จักรยาน และผู้ใช้รถประเภทอื่นๆ ส่งเสริมนิสัยแบ่งปันการใช้รถบนท้องถนนสร้างจิตสาธารณะ
ใบขับขี่จักรยานที่ถูกยกเลิกไป
ด้าน ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยผ่านสื่อความว่า แนวคิดที่จะให้มีการทำใบขับขี่จักรยานนั้นเป็นเรื่องที่ดีซึ่งการกำหนดอายุของผู้ใช้จักรยานถนน หรือทางสายหลักจะเป็นการกำหนดในเรื่องความปลอดภัยของผู้ขับขี่เอง
อย่างไรก็ตาม การทำใบขับขี่จักรยานในประเทศไทยเคยมีการถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ล้อเลื่อนพ.ศ.2478 แต่ได้ถูกยกเลิกไป ตั้งแต่ปี 2546เพราะเป็นกฎหมายล้าหลัง ขณะที่ทางด้านประชาชนเองต่างหันมาใช้รถมอเตอร์ไซค์และรถยนต์ในการเดินทาง
ทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live สอบถามไปยัง ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ ผู้ประสานงานโครงการจักรยานกลางเมือง มูลนิธิโลกสีเขียว เขาวิพากษ์แนวคิดการนำใบขับขี่จักรยานมาปรับใช้ในยุคปัจจุบัน สำหรับแวดวงนักปั่นเองมีการพูดคุยในประเด็นนี้เช่นกัน
“ผมคิดว่าเราต้องมาคิดในเรื่องเจตนาของการมีใบขับขี่ วันก่อนผมเคยคุยกับรุ่นน้องปั่นจักรยานแล้วได้คุยเรื่องกฎหมาย การที่จักรยานยนต์และรถยนต์ต้องมีใบขับขี่เพราะว่าการขับพาหนะที่มีเครื่องยนต์เป็นพาหนะที่มีอันตรายถ้าหากควบคุมมันได้ไม่ดี มันก็จะเป็นอันตราย เกิดความเสียหายทรัพย์สินและชีวิตคนอื่นได้ ภาครัฐจึงต้องมีการทำใบอนุญาตขับขี่ เพื่อการันตีว่าคนที่ครอบครองสามารถใช้งานควบคุมมันได้อย่างถูกต้อง นี่คือเจตนาของการที่มีใบขับขี่ออกมา
“ถ้าเป็นตามนี้แล้วเราเอาจุดนี้มาใช้กับจักรยาน จักรยานเป็นพาหนะที่ไม่มีเครื่องยนต์ และทำอันตรายได้ค่อนข้างน้อยมาก ลองจินตนาการคนปั้นจักรยานเร็วๆ วิ่งเข้าใส่คนเนี่ย โอกาสเป็นอย่างนั้นมันยากมาก และก็ต่อให้ทำอย่างนั้นจริงๆ โอกาสที่จะบาดเจ็บถึงตายไม่ได้สูง ฉะนั้น หลักการคิดก็คงไม่ได้เปนไปตามหลักที่ให้เกิดใบขับขี่รถยนต์
“ถ้าอยากจะทำมันคงต้องมีเหตุผลอื่น อย่างเช่น ทำเพื่อกระตุ้น สนับสนุนให้คนออกมาสัญจรใช้จักรยานกัน อย่างตอนนี้มีกระแสสังคมออกมาบอกว่าถนนไม่ใช่พื้นที่ของจักรยาน คนบางคนอ้างว่าจักรยานไม่เห็นต้องมีใบขับขี่เลย จักรยานไม่เห็นต้องเสียภาษีเลยบอกว่าถนนไม่ใช่พื้นที่ของจักรยาน ถ้าเกิดเราเอาเรื่องของใบขับขี่จักรยานมาใช้เป็นตัวยืนยันว่า ถนนเป็นพื้นที่ๆ จักรยานขี่ได้จริง ตรงนี้ก็จะช่วยส่งเสริม”
เขาทิ้งท้ายว่า หากมีการทำใบขับขี่จักรยานไม่ควรเป็นภาคบังคับ น่าจะดำเนินการตามความสมัครใจและมอบสิทธิพิเศษแก่นักปั่นที่มีใบขับขี่มากกว่า
........................
ข่าวโดย Astv ผู้จัดการ Live
ภาพ : อธิเจต มงคลโสฬศ
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754