ในเวลาเพียง 3 วันเกิดเหตุสูญเสียในแวดวงจักรยานถึง 3 ครั้งที่เป็นข่าวใหญ่ ปัญหาที่หยั่งรากลึกมาโดยตลอดในการใช้รถใช้ถนนของคนไทยก็ผุดขึ้นและกลายเป็นสิ่งที่หลายคนต้องร่วมคิดหาทางออก
จากกรณีเมาแล้วขับที่เชียงใหม่ รถแจ็ซชนกลุ่มจักรยานที่รัชดาฯ ท่ามกลางความโศกเศร้าของการสูญเสีย จนล่าสุดเกิดอุบัติเหตุกับนักปั่นแขนเดียวระดับตำนานของประเทศ เหล่านักปั่นจักรยานจึงรวมตัวทวงถามหาความเป็นธรรมจากหลากกรณีสูญเสียที่เกิดขึ้น ชวนให้ตั้งคำถามว่า บนถนนหนทางของเมืองไทยต้องการอีกกี่ชีวิต อีกกี่ความสูญเสียจึงจะหลุดโศกนาฏกรรมเหล่านี้ได้
ในโลกของนักปั่น
ท่ามกลางเปลวแดดร้อนของวัน อาจเป็นเรื่องแปลกที่หลายคนยังคงเลือกจักรยานเป็นพาหนะในการขับขี่ หลังความสูญเสียที่เกิดขึ้นกระแสมากมายพัดโหมจับตาไปที่การใช้จักรยานของคนเมือง ด้านหนึ่งวิพากษ์ร้อนแรงถึงขั้นตั้งคำถาม “จักรยานควรอยู่บนถนนหรือไม่?” กลายเป็นกระแสต่อเนื่อง นักปั่นจักรยานจึงนัดรวมตัวเพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
บัญยง พูลทรัพย์ หรือ หม่อมลูกอ๊อด ประธานเฟซบุ๊กแฟนเพจ Thailand Piggy Bike หนึ่งในนักปั่นที่ออกมาร่วมรณรงค์เรียกร้องให้สังคมมีน้ำใจกับนักปั่นจักรยาน เปิดเผยกับทางทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ว่า ไม่อยากให้สังคมตั้งคำถามว่าการขี่จักรยานบนท้องถนนในเมืองไทยนั้นปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่อย่างไร เพราะในประเด็นนี้มันเป็นผลกระทบที่เกิดจากอุบัติเหตุสืบเนื่องจากความไร้ระเบียบวินัยและแล้งน้ำใจของผู้ขับขี่ที่ใช้ยานพาหนะประเภทอื่นๆ จำนวนหนึ่งที่ร่วมใช้เส้นทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์, รถเก๋ง, รถกระบะ, รถสิบล้อ ฯลฯ
ถ้าพิจารณาอุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่สะเทือนใจกลุ่มนักปั่นจักรยาน อย่างกรณี นักศึกษาสาวเมาสุราขับชนกลุ่มนักปั่นจักรยานเพื่อนสุขภาพ จ.เชียงใหม่ เสียชีวิต 3 ราย หรือกรณีโจ๋ขาซิ่งพุ่งชนนักปั่นสาวอนาคตไกลดับ ย่านรัชดาฯ ล้วนเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่รถประเภทอื่นที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
“ผมมองว่าอุบัติเหตุมันเกิดขึ้นได้เสมอ สิ่งที่เราป้องกันตัวเองได้ก็คือ ใส่หมวกกันน็อก และติดตั้งสัญญาณไฟครับ แต่ว่าบนท้องถนนอยากให้ทุกคนที่ใช้รถใช้ถนนร่วมกันอย่างมีน้ำใจครับ อยากให้ปลุกจิตสำนึกตรงนี้
“อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการลงโทษทางกฎหมาย ไม่อยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้นสั้นๆ อยากให้เกิดขึ้นระยะยาวสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนและอาจจะทำให้คนปั่นจักรยานเพิ่มขึ้น มั่นใจในการการขับขี่มากขึ้น”
ในประเด็นเรื่องบทลงโทษทางกฎหมาย เขามองว่าไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนเพิ่มโทษอะไรเพราะโทษเดิมทั้งจำทั้งปรับ กรณีอุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดจากความประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นบาดเจ็บและเสียชีวิตรุนแรงอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคือการบังคับใช้
ทางด้านของ ปรมัตภ์ เฉลิมวงษ์พิพัฒน์ นักปั่นวัย 16 ปีจากกลุ่ม coffee bike cafe ที่มารวมตัวด้วยครั้งนี้เล่าถึงประสบการณ์ การปั่นจักรยานตลอด 2 ปีว่า เป็นสิ่งที่สนุกและทำให้มีสังคมมีเพื่อนมากขึ้น แต่ที่ผ่านมานั้นก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเช่นกัน แม้จะเป็นเหตุเล็กน้อยผู้ขับขี่รถยนต์ก็ดูจะไม่สนใจให้ความสำคัญกับสิ่งที่เกิดขึ้นสักเท่าไหร่ บางครั้งถนนโล่งก็ยังมีรถมาขับจี้บีบแตรแกล้ง
“เคยเกิดอุบัติเหตุเหมือนกัน ปั่นๆ อยู่แล้วมีรถมาเฉี่ยว เป็นรถเบนซ์ขับมาเบี่ยงมาทางซ้าย ผมมาด้านขวาก็ล้มเลย เขาลงมาถามเฉยๆ ว่าเป็นอะไรหรือเปล่า ผมก็บอก รองเท้าผมขาด แล้วก็มีแผลบาดเจ็บเหมือนกัน เขาก็เออๆ แล้วขึ้นรถกลับ ไม่พูดขอโทษหรืออะไรเลย ผมก็หงุดหงิด เจอแบบนี้ไม่ไหว เคยมีครั้งหนึ่งผมกับเพื่อนขับตอนกลางคืน ถนนโล่ง รถสามารถแซงไปทางไหนก็ได้ แต่กลับมาจี้ท้ายและบีบแตรไล่พวกผม”
ทั้งนี้ ด้วยความเป็นเด็กจึงไม่แปลกที่หลังข่าวอุบัติเหตุร้ายแรงจะทำให้พ่อแม่ของเขาเป็นห่วงซึ่งส่วนตัวเขาเองก็มีความกลัวอยู่แล้ว ก็จะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
“ผมก็เตือนๆ เพื่อน ขับกันต้องระวัง มันก็ต้องรู้ คนไทยขับรถเป็นยังไง เพราะพวกผมก็ปั่นกันเร็ว บางทีออกมาพุ่งออกมาเรียบร้อยเลยทำอะไรไม่ได้”
ด้านของ บุญญาลักษณ์ ทรงศักด์ชัยกุล นักปั่นจักรยานวัย 17 ปีที่อยู่กลุ่มเดียวกันเผยถึงเหตุการณ์ในทำนองเดียกวันว่า เคยถูกรถขับพุ่งชนป็นแผลเป็น แต่รถก็ขับหนีไปทันที
“เวลาเรากลับรถ ข้ามถนนเสียเวลาให้เราจอดให้เราไม่ถึง 1 นาทีให้เราข้ามถนนหน่อยก็ไม่ได้ คนขับรถกันเร็วมากจริงๆ”
โดยทั้งสองให้เหตุผลถึงการที่ตัวเองยังคงขับจักรยานอยู่แม้ว่า เป็นสิ่งที่สนุก และทำให้ได้เพื่อนเนอะ ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับเพื่อนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมากมายนัก
ต้องการการเปลี่ยนแปลง
การยื่นหนังสือในครั้งนี้มีนักปั่นจักรยานมากมายเข้ามารวมตัวโดยมีจุดทวงถามถึงความเป็นธรรมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สันติ โอภาสปกรณ์กิจ อุปนายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย เผยว่า ได้มายื่นหนังสือโดยมีการร้องเรียนใน 2 ประเด็นด้วยกันคือ 1 ประเด็นด้านความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนรวมถึงผู้ใช้จักรยาน และประเด็นที่ 2 คือความยุติธรรมต่อผู้สูญเสียจากกรณีการชนจักรยานที่เกิดขึ้น
“ในส่วนของความปลอดภัยกับความสะดวก เรื่องความสะดวกพื้นที่ถนนในประเทศไทยมันก็ยังทำให้การใช้จักรยานเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะจักรยานจะวิ่งบนไหล่ทาง เลนซ้ายของประเทศไทยหรือไหล่ทางก็ไม่ค่อยเรียบเท่าไหร่ แล้วก็ไม่มีอุปสรรค์เป็นเรื่องสำคัญ
“แต่เรื่องที่น่ากังวลมากกว่าคือเรื่องของความปลอดภัยของการใช้จักรยาน เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยก็ติดระดับ 2 ของโลกอยู่แล้ว ฉะนั้น มันไม่น่าจะปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ถนนทุกคนรวมถึงผู้ใช้จักรยานด้วย ผู้ใช้จักรายานก็จะมีความเดือดร้อนมากกว่าผู้ใช้ถนนประเภทอื่นเพราะมีความบอบบางมากกว่า ใช้ความเร็วน้อยกว่า พอมีอุบัติเหตุก็จะได้รับผลกระทบมากกว่า ฉะนั้น ถ้าเราใช้ผู้ใช้จักรยานเป็นตัวชี้วัดเนี่ย ผู้ใช้จักรยานสามารถใช้ถนนได้อย่างปลอดภัยมันก็จะหมายถึงว่า ผู้ใช้ถนนประเภทอื่นก็จะได้รับความปลอดภัยไปด้วย”
ในส่วนประเด็น ข้อเรียกร้องขอความยุติธรรมกับผู้ที่สูญเสียจากการชนในหลายๆ ครั้ง เขาเรียกร้องตามกฎหมายโดยขอให้มีความเข้มงวดในการตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำผิดฐานเมาแล้วขับมากขึ้น และเคร่งครัดในเรื่องห้ามขับย้อนศรซึ่งสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดอันตรายได้
“ทุกอย่างที่เราเรียกร้องเป็นสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่แล้ว แต่เราเรียกร้องให้มีการเคร่งครัดเพื่อให้มีการละเมิดกฎหมายน้อยลง ความปลอดภัยก็จะมากขึ้น”
ทั้งนี้ เขามองว่าการเรียกร้องครั้งนี้ไม่ควรเป็นกระแสที่มาแล้วก็ไป เพราะความปลอดภัยเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีอย่างภาวร
“กลุ่มจักรยานคงไม่ใช่กลุ่มเดียวที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งก็มีอีกมากมาย มี สสส. มีมูลนิธิเมาไม่ขับ มีหลายองค์กรที่จะเข้าร่วมเพื่อแก้ปัญหานี้ อันนี้เป็นจุดร่วม เราไม่คิดว่าเป็นกระแส เราคิดว่ามันจะเป็นความร่วมมือที่ยั่งยืนและได้ผล”
ทางด้านของ ชาติชัย สิริภาค ประธานก่อตั้งชมรมจักรยานประชาชื่น ซึ่งเป็นกลุ่มจักรยานที่มีผู้เสียชีวิตคนหนึ่งอยู่ในกลุ่มนี้เผยว่า มีกลุ่มจักรยานทั่วประเทศที่ต่อต้านการเมาแล้วขับ ความสูญเสียครั้งน่าจะจุดประกายให้ทุกอย่างดีขึ้นได้บ้าง ในฐานะผู้ขับขี่จักรยานมองว่า การปั่นจักรยานเป็นกลุ่มนั้นโดยมากจะเน้นที่ความปลอดภัยกันอยู่แล้ว โดยมักจะมีการตั้งกฎต่างๆ ขึ้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อเพื่อนร่วมทาง
“เด็กของผมในกลุ่มที่ตายไป คุณกิฟท์เขาพึ่งมาอยู่ในกลุ่มของประชาชื่น แต่ยังไม่เคยได้ไปออกทริปด้วยกัน เมื่อคืนเราก็ไปงานศพกัน ซึ่งกลุ่มจักรยานหลายชมรมก็ไป ซึ่งเอากระแสของคุณทิพย์ในดวงวิญญาณของเขามาจุดประกายของวงการจักรยานของกรุงเทพฯ และทั่วประเทศเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น”
ในส่วนของการขับขี่ที่ปลอดภัย เขามองว่า แต่ละกลุ่มแต่ละชมรมในประเทศไทยจะมีการตั้งกฎทั้งการจัดกลุ่มตามความเร็วความชำนาญในการขับขี่ มีวิทยุสื่อสารเพื่อนำทางนำกลุ่มทั้งยังมีคนที่ขับเก่งมาดูแลความปลอดภัยท้ายกลุ่มอยู่เสมอ เขาจึงมองว่า อุบัติเหตุหลายครั้งเกิดจากวินัยในการขับขี่ของผู้คนบนท้องถนน
“เราต้องการให้ถามผู้ใหญ่ว่าเราจะทำอย่างไรให้เกิดเลนจักรยาน หรือแบ่งพื้นที่ให้เราหน่อย ในเมื่อรัฐบาลหันมารณรงค์ขี่เพื่อสุขภาพ แต่กลับไม่มีตรงนี้ไว้ให้ แบบท่านผู้ว่าเห็นมาไม่รู้กี่ปีแล้วแต่ไม่ทำ ทำก็ผ่าทางไปตรงท่อระบายน้ำ ขึ้นไปแผงขายลอตเตอรี่ ผ่านป้ายรถเมล์ โซนรัตนโกสินทร์ดูได้เลย นี่เหรอเลนจักรยาน”
กับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เขามองว่าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เหมือนลูกโป่งเป่าเสร็จก็แฟบ
…
อุบัติเหตุบนท้องถนนถือเป็นปัญหาใหญ่ที่หยั่งรากลึกสังคมไทยมาอย่างช้านาน กับยุคสมัยที่ผู้คนเริ่มหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น ปัญหาเดิมกลับยิ่งทวีความร้ายแรงขึ้น และโศกนาฏกรรมครั้งแล้วครั้งเล่าดูจะเป็นคำตอบได้อย่างดีกับคำถามที่ว่า สังคมต้องการการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754